การพัฒนาความรู้ความสามารถของเจ้าของกิจการ
24
พ.ย.
2564
nutnaree
218
ธุรกิจ SMEs มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจของประเทศไทย เจ้าของกิจการธุรกิจ SMEs จำนวนมากที่เริ่มต้นธุรกิจจากศูนย์โดยการเริ่มทำธุรกิจด้วยตนเองและทำคนเดียว หลายคนอาจไม่ได้เรียนมาสูงแต่มีความสามารถในด้านการผลิต เมื่อธุรกิจเติบโตขึ้นเรื่อยๆเจ้าของกิจการเหล่านี้ก็เริ่มมีปัญหาในการบริหารจัดการ การเริ่มต้นธุรกิจกับครอบครัวด้วยการใช้คนทำงานเพียงไม่กี่คนในตอนเริ่มแรกจะไม่พบปัญหาใดๆที่แก้ไขไม่ได้ แต่เมื่อมีการจ้างคนทำงานมากขึ้นถ้ายิ่งเกิดนกว่า 10 คนขึ้นไปปัญหาก็เริ่มตามมา ทำให้เจ้าของกิจการบางคนเริ่มท้อใจและอยากรักษาธุรกิจของตนเองให้อยู่ในระดับเดิมเพราะเกรงว่าจะควบคุมดูแลกิจการไม่ได้ ความคิดเหล่านี้ถือว่าขัดต่อความเจริญรุ่งเรืองของอาชีพตนเองและเสียโอกาสที่ธุรกิจจะได้เติบโตในวันข้างหน้า มีหน่วยงานรัฐหลายแห่งที่ให้การสนับสนุนเจ้าของธุรกิจ SMEs และผู้ประกอบการในการพัฒนาความรู้ความสามารถในการบริหารธุรกิจ เช่นโครงการพัฒนาผู้ประกอบการรายใหม่ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม, โครงการปรับแผนธุรกิจของสำนักงานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม, โครงการเสริมสร้างนวัตกรรมทางธุรกิจของกรมพัฒนาผู้ประกอบการ กระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น
เจ้าของกิจการที่รักความก้าวหน้าและต้องการที่ให้กิจการเจริญเติบโตจากขนาดกลางจนกลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่และมั่นคงต้องมีการพัฒนาความรู้ความสามารถของตนเองอย่างต่อเนื่อง ด้วยวิธีการต่างๆที่เหมาะกับความรู้ ความสามารถและความต้องการของตนเอง เจ้าของกิจการในยุคปัจจุบันควรต้องพัฒนาความรู้และความสามารถในเรื่องต่อไปนี้
1. พัฒนาความรู้ด้านการบริหารจัดการธุรกิจ
การบริหารจัดการธุรกิจได้ดีจำเป็นต้องมีความรู้ด้านการบริหารตลาด บริหารบัญชีและการเงิน การบริหารจัดการทั่วไปและการบริหารด้านการผลิตหรือบริการ ความรู้ในสี่ด้านนี้สามารถเข้าอบรมสัมมนาได้ตามโครงการต่างๆของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและหน่วยงานภาครัฐที่จัดให้อบรมและสัมมนาฟรีทุกปีงบประมาณ หากเจ้าของกิจการที่ไม่ได้จบการศึกษาในด้านบริหารจัดการมาก่อน อาจศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่มีการสอนในภาคค่ำหลังเวลาทำงานก็ได้ ความรู้เรื่องการจัดการมีความจำเป็นอย่างมากในการบริหารกิจการ เพื่อจะได้วางแผนธุรกิจ ควบคุมดูแลและนำพาธุรกิจให้ก้าวหน้าไปได้
2. พัฒนาความสามารถในทักษะต่างๆของผู้นำ 3 ทักษะ
การสร้างทักษะผู้นำจะต้องพัฒนาความสามารถของผู้ประกอบการให้เป็นที่ยอมรับของลูกน้องและคนรอบข้างได้ การสร้างทักษะเป็นการสร้างปัญญาให้กับเจ้าของกิจการโดยเริ่มจากการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง 10 แบบคือ การช่างสังเกต, การชอบบันทึก, ฝึกการนำเสนอ, รู้จักการรับฟัง, รู้จักการถาม, ชอบวิเคราะห์หาสาเหตุ, ค้นหาคำตอบที่อยากรู้จากแหล่งความรู้, รู้จักการเขียนด้วยการเรียบเรียงความคิด และสุดท้ายรู้จักการเชื่อมโยงเรื่องราวจนเกิดความคิดสร้างสรรค์ได้