ดีพร้อม เร่งปฏิบัติการส่งเสริมด้านคุณธรรม จริยธรรม เป็นต้นแบบ องค์กรคุณธรรม ประจำปี 67
กรุงเทพฯ 11 พฤศจิกายน 2566 – นางสาวประเทือง พฤกษาพิทักษ์กุล เลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เข้าร่วมประชุมคณะทำงานจัดทำและขับเคลื่อนแผนส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ครั้งที่ 2/2566 พร้อมด้วย คณะกรรมการฯ คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) โดยมี นางบุญเจือ วงษ์เกษม ประธานคณะทำงาน นายเพทาย ล่อใจ รองประธานคณะทำงาน และนายเจตนิพิฐ รอดภัย คณะทำงาน ณ ห้องประชุม 2 ชั้น 3 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Headquarter) และผ่านระบบออนไลน์ด้วยโปรแกรม Zoom Meeting การประชุมครั้งนี้ เป็นการหารือผู้ปฏิบัติงานด้านส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ของหน่วยงานในสังกัด กสอ. และผู้แทนคณะทำงานโครงการส่งเสริมสุขภาวะองค์กรในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ตามแนวทางมาตรฐานองค์กรแห่งความสุข (SMEs Happy and Productive Workplace : SHAP) เข้าร่วมประชุม เพื่อกำหนดแนวทางร่วมกัน ในการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และคณะทำงานได้ติดตามผลการดำเนินงานในส่วนต่าง ๆ เพื่อให้การขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรม มีความสอดคล้องแผนปฏิบัติการด้านส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของกระทรวงอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับแนวทางดังกล่าว และกฎหมาย ยุทธศาสตร์ นโยบายระดับชาติ และแผนงานที่เกี่ยวข้องเกิดการบูรณาการทุกภาคส่วนของหน่วยงานในสังกัด กสอ. เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ คณะทำงานฯ ได้ร่วมพิจารณา 1) ร่างประกาศกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เรื่อง นโยบายขับเคลื่อนเป็นองค์กรคุณธรรม 2) ร่างแผนปฏิบัติการด้านส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เพื่อรักษามาตรฐานการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวคงมาตรฐานดังเดิม ## PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
13 พ.ย. 2566
"ไพลิน" เลขานุการรัฐมนตรีฯ ก.อุตฯ เปิดฝึกอบรม "สร้างโอกาส พัฒนาอาชีพ สู่เศรษฐกิจชุมชน” ส่งผลต่อเศรษฐกิจฐานรากให้เติบโตและยั่งยืน
กรุงเทพฯ 11 พฤศจิกายน 2566 - ดร.ไพลิน เทียนสุวรรณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดกิจกรรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “สร้างโอกาส พัฒนาอาชีพ สู่เศรษฐกิจชุมชน” พร้อมเยี่ยมชมฐานการเรียนรู้ และร่วมฝึกปฏิบัติ โดยมี นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ ของการจัดกิจกรรมฯ และมีนางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปฏิบัติราชการประจํารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวขอบคุณ ณ วัดจันทวงศาราม (กลาง) แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันนโยบายสำคัญของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี คือ เศรษฐกิจของไทยที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิรัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของโลกที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ความแปรปรวนของสภาพอากาศ และโรคอุบัติใหม่ พร้อมกับประเทศไทยที่กำลังเผชิญกับการเข้าสู่สังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์ (Aged Society) โดยมีคนสูงวัยมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด มีความจำเป็นต้องฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ทางกระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้ความสำคัญกับนโยบายเพื่อฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ กำหนดนโยบายในมิติการกระจายรายได้ให้กับประชาชนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ได้จัดกิจกรรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “สร้างโอกาส พัฒนาอาชีพ สู่เศรษฐกิจชุมชน” ณ วัดจันทวงศาราม (กลาง) แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพ ขึ้นในวันนี้ เพื่อเป็นถ่ายทอดองค์ความรู้ จำนวน 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรที่ 1 การผลิตบ๊ะจ่าง สร้างโอกาส และ หลักสูตรที่ 2 การผลิตน้ำยำ ให้กับผู้สูงวัย ประชาชนผู้สนใจทั่วไป หรือผู้ประกอบการ อุตสาหกรรมชุมชน หรือกลุ่มวิสาหกิจชุมชน หรือกลุ่มอาชีพในชุมชน จำนวน 100 คน ในการสร้างโอกาสให้กับสังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์ (Aged Society) ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ ช่วยก่อให้เกิดการยกระดับมาตรฐาน การครองชีพและความเป็นอยู่ของประชาชนในชุมชนให้ดีขึ้น รวมถึงการแก้ไขปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้า โดยได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ผ่านผู้มีองค์ความรู้ เป็นการเสริมสร้างทักษะให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ในสาขาอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ ด้วยตนเอง ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าและเกิดมูลค่าเพิ่มขึ้นได้ นอกจากนี้ยังทำให้ผู้ประกอบการหรือประชาชนในพื้นที่สามารถนำองค์ความรู้และสั่งสมความเชี่ยวชาญ ที่ได้รับไปถ่ายทอดให้คนในชุมชนรุ่นต่อไป สามารถขยายผลการดำเนินงานไปยังพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งสามารถช่วยยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจฐานรากทำให้เกิดการสร้างรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกิดการกระจายรายได้ ลดรายจ่ายในครัวเรือน เกิดการสร้างงานและสร้างอาชีพในชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจฐานรากเติบโตและมีความเข้มแข็ง และเป็นพลังสำคัญ ในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความยั่งยืนต่อไป ## PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
13 พ.ย. 2566
รัฐมนตรีฯ พิมพ์ภัทรา มอบนโยบาย สอจ.สุราษฎร์ธานี - ศูนย์ฯ ภาคที่ 10 ย้ำนโยบายสำคัญ “อุตสาหกรรมเติบโตอย่างยั่งยืน ชุมชนมีความสุข”
จ.สุราษฎร์ธานี 10 พฤศจิกายน 2566 - นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตรวจราชการและมอบนโยบายให้แก่หน่วยงานภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีนายวัชรินทร์ ไชยานุพงศ์ อุตสาหกรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี (อสจ.สุราษฎร์ธานี) นางสาวอริยาพร อำนรรฆสรเดช ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ผู้แทนศูนย์วิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงานภาคใต้ สาขาย่อยจังหวัดจังหวัดสุราษฎร์ธานี กรมโรงงานอุตสาหกรรม ผู้การภาค 7 ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย สาขาสุราษฎร์ธานี ร่วมต้อนรับ ณ ห้องประชุมศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 จังหวัดสุราษฎร์ธานี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กล่าวให้กำลังใจการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี และศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 ผู้บริหาร บุคลากรทุกคนเป็นกำลังหลักสำคัญในการขับเคลื่อนองคาพยพของกระทรวงอุตสาหกรรม และยังต้องมีหน้าที่เป็นผู้ประสานระหว่างชุมชนถึงโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมเดินหน้าอยู่คู่ชุมชนได้อย่างมีความสุข ทั้งนี้ขอให้หน่วยงานทุกภาคส่วนร่วมกันขับเคลื่อนประเทศสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้เติบโตอย่างสมดุลในระยะยาวทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามนโยบาย "ปฏิรูปอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจ ให้เติบโตคู่ชุมชนยั่งยืน" ซึ่งเป็นแนวทางของการพัฒนาอุตสาหกรรมยุคใหม่ที่สามารถเติบโตไปได้ อยู่ได้ร่วมกับชุมชนอย่างมีความสุขนั่นเอง อสจ.สุราษฎร์ธานี ระบุว่า พื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีผู้ประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมที่ดำเนินกิจการ จำนวน 934 โรง มีจำนวนการจ้างงาน 36,419 คน โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มการผลิตอื่น ๆ เช่น ขุดดิน ดูดทราย ผลิตไฟฟ้า คัดแยกวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว จำนวน 364 โรงงาน กลุ่มแปรรูปไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ จำนวน 232 โรงงาน กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร เช่น ผลิตน้ำแข็ง เครื่องดื่ม แปรรูปผลผลิตทางการเกษตร จำนวน 135 โรงงาน กลุ่มยางและผลิตภัณฑ์ยาง จำนวน 69 โรงงาน และกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม จำนวน 10 โรงงาน มีเงินลงทุน จำนวน 65,334.48 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีประทานบัตรเปิดการทำเหมือง จำนวน 33 ประทานบัตร และยังได้รายงานการปฏิบัติงานที่เห็นผลสำคัญ คือ โครงการยกระดับสินค้าเกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดภัยด้วยนวัตกรรมสร้างสรรค์ ที่มีแนวโน้มมุ่งสู่ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ มีคุณค่าทางโภชนาการ และมีความสะดวกในการบริโภค มีบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม สามารถคงคุณภาพผลิตภัณฑ์ไว้ได้ยาวนาน การเตรียมความพร้อมให้กับเกษตรกร ผู้ผลิต หรือเอสเอ็มอี มีขีดความสามารถพร้อมเข้าสู่การผลิตสินค้าที่มีคุณค่าเพิ่ม (Value Creation) ภายใต้กระบวนการผลิตอาหารปลอดภัย (Food Safety) ทั้งนั้มีโครงการค่าใช้จ่ายแปรรูปสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม 1 จังหวัด 1 ชุมชน เสริมสร้างความรู้ด้านการสร้างมูลค่าเพิ่ม การพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ต้นแบบ และทดสอบตลาด ในปี 2566 โดยมีกรณีที่ประสบความสำเร็จ คือ ซอสคั่วกลิ้งปรุงสำเร็จ จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรบ้านควนไทร ต.ท่าโรงช้าง อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี ผลิตภัณฑ์ตัวนี้ได้พัฒนาต่อยอดมาจากส่วนผสมพื้นถิ่นที่ได้รับความนิยมอย่างมาก นอกจากนี้ยังได้รายงานถึงการดำเนินงาน “พลอยได้..พาสุข” ผลิตภัณฑ์ปุ๋ยหมักอินทรีย์ ภายใต้โครงการเสริมสร้างขีดความสามารถเพื่อสนับสนุนการแข่งขันแบบจำลองธุรกิจและการนำไปดำเนินการ” เป็นโครงการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรายย่อย วิสาหกิจชุมชน หรือ กลุ่มบุคคล ที่มีศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ในการนำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว (Waste) หรือ วัสดุพลอยได้ (By-product) จากภาคอุตสาหกรรม มาต่อยอดทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มตามหลักแนวคิด “การพึ่งพาอาศัยกันระหว่างภาคอุตสาหกรรมและชุมชน” ซึ่งเห็นผลและสอดคล้องกับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมอีกด้วย ## PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ศภ.10 ภาพข่าว
13 พ.ย. 2566
รัฐมนตรีฯ พิมพ์ภัทรา หารือผู้ว่าไซตามะ ขยายความร่วมมือเศรษฐกิจการลงทุนทุกระดับ
กรุงเทพฯ 10 พฤศจิกายน 2566 – นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้การต้อนรับนายโอโนะ โมโตฮิโระ (Mr. OHNO Motohiro) ผู้ว่าราชการจังหวัดไซตามะ และคณะผู้แทนจากภาคเอกชนและสถาบันการเงินประเทศญี่ปุ่น ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยเพื่อร่วมหารือแนวทางการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการลงทุนในอุตสาหกรรมของประเทศไทย และเพื่อเข้าร่วมงาน Saitama Business Networking in Thailand โดยมีนางสาวศิรินันท์ ศิริพานิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวไพลิน เทียนสุวรรณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าร่วมด้วย ณ ห้องประชุม อก.1 ชั้น 2 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม การประชุมดังกล่าว จังหวัดไซตามะเน้นย้ำว่าประเทศไทยยังเป็นเป้าหมายแรกในภูมิภาคอาเซียนที่ผู้ประกอบการให้ความสนใจเข้ามาลงทุน เนื่องจากศักยภาพและความพร้อมด้านทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ โดยเฉพาะบรรยากาศการลงทุนและนโยบายความร่วมมือระหว่างรัฐบาล ที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจของทั้งสองประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทจากจังหวัดไซตามะเข้าลงทุนในประเทศไทยแล้วมากถึง 262 บริษัท ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ขับเคลื่อนความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่น ผ่านการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ทั้งในระดับรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น รวม 28 แห่ง เพื่อเดินหน้าพัฒนาความร่วมมือในรูปแบบ Local to Local ที่เน้นเชื่อมโยงอุตสาหกรรมที่โดดเด่นของจังหวัดต่าง ๆ ของญี่ปุ่น เข้ากับภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย จังหวัดไซตามะถือเป็นรัฐบาลท้องถิ่นแห่งแรกที่ลงนาม MOU กับกระทรวงอุตสาหกรรม ตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งนับเป็นต้นแบบความร่วมมือที่สำคัญในการเริ่มต้นสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ยกระดับองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรม รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรระหว่างทั้งสองประเทศ ซึ่งตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ดำเนินงานร่วมกัน ได้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ## PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
13 พ.ย. 2566
กระทรวงอุตฯ หารือ กมธ.อุตสาหกรรม ปูทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
กรุงเทพฯ 8 พฤศจิกายน 2566 - นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร นำคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม ที่ปรึกษา นักวิชาการ และเลขานุการประจำคณะกรรมาธิการ และ ข้าราชการสำนักกรรมาธิการ 1 สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เข้าหารือกับคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีนางสาวศิรินันท์ ศิริพานิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวไพลิน เทียนสุวรรณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายเอกภัทร วังสุวรรณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายใบน้อย สุวรรณชาตรี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายวิษณุ ทับเที่ยง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมหารือ ณ ห้องประชุม ชั้น 6 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Headquarter) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร นำเสนอแผนการขับเคลื่อนนโยบายอุตสาหกรรมเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน การปรับภารกิจเข้าสู่ดิจิทัลอย่างเป็นระบบ (Digital Government) การบูรณาการการกำกับดูแลโดยใช้กลไกทางกฎหมาย และกองทุนพัฒนาอุตสาหกรรม ตลอดจนแผนการดำเนินงานของหน่วยงานในสังกัด ในโอกาสที่คณะกรรมาธิการฯ เดินทางเข้าพบ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นสำหรับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมในชั้นกรรมาธิการต่อไป โดยที่ประชุมได้หารือในประเด็นต่าง ๆ อาทิ การส่งเสริมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเดิมให้สามารถปรับไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า สำหรับผู้ประกอบการที่มีศักยภาพความพร้อม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และการนำเสนอแนวโน้มทิศทางอุตสาหกรรมโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการที่ยังไม่พร้อมปรับแผนการผลิต รวมทั้งการสนับสนุนแหล่งเงินทุนสำหรับการเปลี่ยนผ่านจากกองทุนพัฒนาอุตสาหกรรม และการส่งเสริมการทำเหมืองโพแทช ให้สามารถผลิตปุ๋ยได้เองภายในประเทศ ซึ่งช่วยลดรายจ่ายจากการนำเข้าปุ๋ยปีละกว่า 2 หมื่นล้านบาท โดยในส่วนนี้คณะกรรมาธิการฯ ได้เน้นย้ำให้ผู้ประกอบการเหมืองแร่ ประกอบธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ และบริหารความสัมพันธ์ให้สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างเป็นสุข ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
09 พ.ย. 2566
"ดีพร้อม" เข้าเฝ้ารับเสด็จในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ถวายผ้าพระกฐิน พุทธศักราช 2566
กรุงเทพฯ 7 พฤศจิกายน 2566 - พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒนวรขัตติยราชนารี เสด็จแทนพระองค์ ในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดราชาธิวาสวราชวรวิหาร เขตดุสิต โดยมี นายวัชรุน จุ้ยจำลอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นางสาวประเทือง พฤกษาพิทักษ์กุล เลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม เป็นผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมเข้าเฝ้ารับเสด็จ ณ วัดราชาธิวาสวิหาร เขตดุสิต กรุงเทพฯ ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
08 พ.ย. 2566
"ดีพร้อม" เดินหน้าประชุมนโยบายการจัดทำคำของบประมาณ ประจำปีงบฯ 2568
กรุงเทพฯ 7 พฤศจิกายน 2566 - นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานในการประชุมมอบนโยบายการจัดทำคำของบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 พร้อมด้วย นายวาที พีระวรานุพงศ์ และนายวัชรุน จุ้ยจำลอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 6 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Headquarter) และ และในรูปแบบออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชั่น Zoom Meeting การประชุมดังกล่าว ได้ร่วมกันพิจารณารายละเอียดการจัดทำคำของบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ประกอบด้วย สรุปผลการจัดรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากการดำเนินงานของดีพร้อม แนวทางการเชื่อมโยงของโครงการ เป้าหมายแผนแม่บทย่อย และ ยุทธศาสตร์ชาติ กรอบคำขอโครงการ การมอบหมายหน่วยบริหารโครงการ (ระดับค่าใช้จ่าย) และปฏิทินการจัดทำงบประมาณฯ 68 โดยจำแนกตาม 5 หมวดงบ (งบบุคลากร งบดำเนินงาน งบเงินอุดหนุน งบลงทุน และ งบรายจ่ายอื่น) พร้อมทั้ง ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดทำโครงการ/กิจกรรมในแผนงานด้านต่าง ๆ เพื่อจัดทำคำของบประมาณ พ.ศ. 2568 ภายใต้เศรษฐกิจและสังคมยุคใหม่ ได้แก่ เศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจสูงวัย/สุขภาพ อุตสาหกรรมสู่การเติบโตที่ยั่งยืน เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ระเบียบเศรษฐกิจพิเศษ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ชุมชนเปลี่ยน (Community Transformation) รวมถึงการจัดทำคำของบประมาณเชิงพื้นที่ต่อไป ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
08 พ.ย. 2566
“รสอ.วาที” ต้อนรับคณะผู้แทน AOTS ร่วมหารือการขึ้นทะเบียนที่ปรึกษา DX
กรุงเทพฯ 7 พฤศจิกายน 2566 – นายวาที พีระวรานุพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นำคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ดีพร้อม(DIPROM) ให้การต้อนรับ คณะผู้เชี่ยวชาญจาก The Association for Overseas Technical Cooperation and Sustainable Partnerships (AOTS) นำโดย นายโทชิฮิโกะ วาตานาเบะ ในโอกาสขอเข้าพบเพื่อหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นการขึ้นทะเบียนที่ปรึกษาเฉพาะด้าน Digital Transformation (DX) ณ ห้องประชุม 2 ชั้น 3 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Headquarter) การพบกันครั้งนี้ ได้มีการหารือการดำเนินโครงการพัฒนาระบบการขึ้นทะเบียนที่ปรึกษาเฉพาะด้าน Digital Transformation หรือ DX ประกอบด้วย การกำหนดสมรรถนะเฉพาะด้านของที่ปรึกษา ความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมหรือสาขาที่เกี่ยวข้อง รวมถึงหารือความร่วมมือกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (TPQI) ในการใช้ระบบการขึ้นทะเบียน DX บนเว็บไซต์ www.thaisp.org โดยมีแผนจะทำให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2567 ## PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าวดีพร้อม
08 พ.ย. 2566
"ลสล.ประเทือง" ร่วมประชุมเตรียมการดำเนินงาน วันสตรีสากล ประจำปี 2567
กรุงเทพฯ 6 พฤศจิกายน 2566 – นางสาวประเทือง พฤกษาพิทักษ์กุล เลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ลสล.กสอ.) เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการดำเนินงาน วันสตรีสากล ครั้งที่ 1/2566 โดยมี นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานการประชุม ณ ณ ห้องประชุมสำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (สป.) 1 ชั้น 8 การประชุมในครั้งนี้ เป็นการการรายงานผลการจัดงานวันสตรีสากล ประจำปี 2566 การปรับประเภทรางวัลและจำนวนรางวัล เนื่องในวันสตรีสากล ประจำปี 2567 กำหนดการจัดงานรางวัลสตรีสากล ประจำปี 2567 พร้อมแนวคิดหลักในการจัดงาน "เสริมพลังสตรีและเด็กหญิง ขจัดความยากจน สู่ความเท่าเทียมระหว่างเพศ บนพื้นฐานครอบครัวที่อบอุ่น" รวมถึงได้กำหนดแผนการจัดเตรียมงานวันสตรีสากล ประจำปี 2567 นอกจากนี้ ยังมีการทบทวนคำสั่งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ 736/2561 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานวันสตรีสากล และคำสั่งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคง ของมนุษย์ ที่ 845/2562 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานวันสตรีสากล (เพิ่มเติม) พร้อมพิจารณาองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการคัดเลือกสตรีดีเด่น ด้านกระบวนการยุติธรรมอีกด้วย ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
07 พ.ย. 2566
"ดีพร้อม" จับมือพันธมิตรไทย-ญี่ปุ่น จัดงาน Open House จับคู่ธุรกิจนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม
กรุงเทพฯ 6 พฤศจิกายน 2566 – นายวัชรุน จุ้ยจำลอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดงาน Open House : Environmental Innovation & Green Product for Japan x Thai Business Matching ร่วมด้วย คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) คณะเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานภาคีเครือข่าย และ ผู้ประกอบการ โดยมี ดร.ภัทรชาติ โกมลกิติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสำนักเคเอกซ์ และ นายอาโอโตะ ทาคาชิ ผู้อำนวยการสำนักงานด้านขยายธุรกิจในต่างประเทศ แผนกส่งเสริมผลิตภัณฑ์ จังหวัดชิมาเนะ ร่วมกันกล่าวต้อนรับและวัตถุประสงค์ของการจัดงาน ณ อาคาร Knowledge Exchange Center (KX) คลองสาน งานดังกล่าว เป็นกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ ระหว่างกลุ่มผู้ประกอบการไทยและญี่ปุ่น สำหรับธุรกิจนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจ การวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกัน โดยมุ่งเน้นผู้ประกอบการกลุ่มธุรกิจ Environmental & Green Technology และร่วมกันแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ Product & Services จาก 5 บริษัทจากจังหวัดชิมาเนะ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือระหว่างหน่วยงานไทย-ญี่ปุ่น ในการผลักดัน BCG Model มาใช้ในภาคอุตสาหกรรมเพื่อบรรลุผลสำเร็จในการพัฒนาสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม ให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
07 พ.ย. 2566