รัฐมนตรีฯ พิมพ์ภัทรา นัดประชุมนัดแรก เร่งขับเคลื่อนนโยบายการส่งเสริมและพัฒนาอุตฯ ฮาลาลในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ สู่ตลาดโลก
กรุงเทพฯ 17 พฤศจิกายน 2566 - นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามนโยบายการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor : SEC) โดยมี นางสาวศิรินันท์ ศิริพานิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาการในตำแหน่ง เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม นายวาที พีระวรานุพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ผู้แทนจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้แทนจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ผู้แทนจากคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการฯ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม อก.1 ชั้น 2 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม โดยที่ประชุมแจ้งคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามนโยบายการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor : SEC) องค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นรองประธาน และมีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้แทนจากภาคเอกชน เป็นกรรมการ และผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เป็นกรรมการและเลขานุการ พร้อมแจ้งถึงภาพรวมอุตสาหกรรมฮาลาลโลก คาดปี 67 การเติบโตของตลาดอุตสาหกรรมฮาลาลทั้งหมด จะขยายตัวเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 7.5 โดยเฉพาะกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม คาดขยายตัวเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 7.1 มูลค่าส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลไทย ปี 65 มีมูลค่าถึง 213,816 ล้านบาท และในช่วง 7 เดือนแรก ปี 66 ขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 7.0 การรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ฮาลาลของไทย ณ เดือนกันยายน 66 ไทยมีบริษัทได้รับมาตรฐานฮาลาลกว่า 15,000 บริษัท รวมถึงมีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองฮาลาลมากกว่า 166,000 ผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ปัญหา อุปสรรคของอุตสาหกรรมฮาลาลในประเทศไทย เป็นเรื่องกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง หน่วยรับรอง การขอรับรอง นอกจากนี้ยังมีการรายงานผลการประชุมเพื่อหารือทิศทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพธุรกิจสินค้าและบริการฮาลาลของประเทศไทยภายใต้แผนงาน IMT-GT ว่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สคช.) อยู่ระหว่างขับเคลื่อนแผนระยะ 5 ปี (2565-2569) ภายใต้แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย อินโดนีเชีย มาเลเซีย ไทย สู่การยกระดับผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลในอนุภูมิภาค ให้กลายเป็นศูนย์กลางฮาลาลระดับโลก ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม มุ่งยกระดับอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลของไทยสู่ตลาดโลก ตั้งเป้าหมาย "ไทยเป็นผู้นำการผลิตอาหารฮาลาลในภูมิภาค" พร้อมทั้งร่าง 8 มาตรการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาล กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้งบประมาณสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เพื่อไปพัฒนากระบานการผลิตอาหารฮาลาล พัฒนาบุคลากรและให้คำแนะนำผู้ประกอบการฮาลาล และที่ประชุมได้นำเสนอ (ร่าง) กลไกขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยแนวทางการจัดตั้งคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ (กอฮช.) และแนวทางการจัดตั้งหน่วยงานรับผิดชอบอุตสาหกรรมฮาลาล และ (ร่าง) กรอบแนวทางการดำเนินงานของศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาล โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
20 พ.ย. 2566
รมว.พิมพ์ภัทรา ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าศูนย์ ATTRIC ตอกย้ำความเชื่อมั่นนักลงทุน
จ.ฉะเชิงเทรา 16 พฤศจิกายน 2566 - นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (Automotive and Tyre Testing, Research and Innovation Center - ATTRIC) จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยมี นางสาวศิรินันท์ ศิริพานิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมนายเอกภัทร วังสุวรรณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวไพลิน เทียนสุวรรณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายเอกนิติ รมยานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รักษาราชการแทนผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายวาที พีระวรานุพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมด้วย ณ ศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า รัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) เป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และยางล้อของไทย ไปสู่การเป็นซุปเปอร์คลัสเตอร์อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ และเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นเป้าหมายของการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต ที่รัฐบาลต้องการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์และยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก สามารถดึงดูดนักวิจัย และนักลงทุนจากทั่วโลกสู่ประเทศไทย ซึ่งโครงการนี้เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ แต่เมื่อมีการเปลี่ยนสมัยมาเป็นรัฐบาลของท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ก็ยังคงมีการสานต่อ พัฒนา และต่อยอด นโยบายได้เป็นอย่างดี โดยท่านนายกเศรษฐาก็ได้มีการกล่าวถึงการพัฒนาศูนย์สอบฯ แห่งนี้ เพื่อตอกย้ำความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนยางรถยนต์ที่เป็นสัญลักษณ์แห่งความเชื่อมั่นในความสำเร็จของประเทศไทยที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์ของอาเซียน ขณะนี้ศูนย์ทดสอบอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง และจะพร้อมเปิดให้บริการครบวงจรได้ในปี 2569 เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะเป็นศูนย์ทดสอบมาตรฐานโลกแห่งแรกในอาเซียน รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการทดสอบด้านมาตรฐานยานยนต์อันดับ 1 ในอาเซียน และอันดับที่ 11 ของโลก สร้างรายได้เข้าประเทศไม่น้อยกว่าปีละ 1,000 ล้านบาท ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตและแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
20 พ.ย. 2566
“ดีพร้อม” ผลักดันอาหารไทยให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ไทยก้าวไปสู่ครัวโลก
กรุงเทพฯ 16 พฤศจิกายน 2566 - นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติประชุมหารือคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ ร่วมด้วย นายวัชรุน จุ้ยจำลอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมด้วยนายชุมพร แจ้งไพร คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์เพาเวอร์แห่งชาติ คณะกรรมการจากภาคส่วนต่าง ๆ คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) ณ ห้องประชุม ชั้น 3 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กล้วยน้ำไท) ซอยตรีมิตร เขตคลองเตย การประชุมครั้งนี้ เป็นการพิจารณาในประเด็นต่าง ๆ ร่วมกับสรุปสาระของข้อเสนอโครงการ (Project Brief) ดังนี้ 1) โครงการ "หนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย เพื่อไทยซอฟพาวเวอร์" ที่จัดว่าอยู่ใน THACCA นโยบายเพื่อ “อาหาร” ไทยที่จะส่งเสริมในเรื่อง เรียนทำอาหาร งานดี มีเงินเดือน 2) โครงการ Thai Food Channel (Concept 4I 4S)(Super Product, Super Food, Special Menu ,Study) 4 I(Ingredient, Inspire, Influencer, In Thailand) คือการเพิ่มคุณภาพชีวิตภูมิปัญญาของไทย อาหารไทย การเรียน การสอน การสร้างทรัพยากรมนุษย์ สูตรอาหาร สินค้าอาหาร ร้านอาหารไทย การแปรรูปและผลิตอาหารไทยทั้งในและต่างประเทศรวมถึงการวิจัยพัฒนานวัตกรรมสินค้าอาหารใหม่ที่ทันสมัย รวมถึงการสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ทั่วโลกได้รู้จักอาหารไทย Soft Power ไทยเพื่อสร้างให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจต่ออุตสาหกรรมให้แก่คนไทยและประเทศไทยให้มั่งคั่งอย่างยั่งยืน 3) โครงการ ร้านอาหารเชฟชุมชนอาหารถิ่นอาหารไทย Local Chef Restaurant เพื่อสร้างอาชีพและรายได้ในท้องถิ่น ผ่านวัฒนธรรมอาหารไทยอาหารถิ่น ดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มาท่องเที่ยวเชิงอาหารและวัฒนธรรมทั้งในและต่างประเทศ ผ่านการรับรู้ว่าชุมชนแต่ละแห่งมีอาหารยอดนิยมหรือลักษณะทางอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
17 พ.ย. 2566
"ดีพร้อม" สืบสานช่างหัตถศิลป์ไทย ให้คงอยู่กับสถาบันการศึกษา
กรุงเทพฯ 16 พฤศจิกายน 2566 - นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานในการประชุมการประชุมวิสามัญคณะกรรมการมูลนิธิช่างหัตถศิลป์ไทย ครั้งที่ 2/2566 พร้อมด้วยนายวัชรุน จุ้ยจำลอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะกรรมการมูลนิธิช่างหัตถศิลป์ไทย คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) โดยมี นางกฤษณา รวยอาจิณ ประธานคณะกรรมการมูลนิธิช่างหัตถศิลป์ไทย นำการประชุม ณ ห้องประชุมนิทรรศการ ชั้น 1 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กล้วยน้ำไท) ซอยตรีมิตร เขตคลองเตย และในรูปแบบออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชั่น Zoom Meeting การประชุมดังกล่าว เป็นการแจ้งรายละเอียดต่าง ๆ ดังนี้ 1) ด้านผลการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนมูลนิธิฯ 2) ด้านการจัดการฐานข้อมูลช่างหัตถศิลป์ไทย 3) ด้านการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และขับเคลื่อนมูลนิธิฯ 4) ด้านสวัสดิการมูลนิธิช่างหัตถศิลป์ไทย นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ยังได้ร่วมพิจารณาหารือ 1) (ร่าง) แผนปฏิบัติการคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนมูลนิธิช่างหัตถศิลป์ไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 2) (ร่าง) ระเบียบมูลนิธิช่างหัตถศิลป์ไทย ว่าด้วยสวัสดิการสมาชิก 3) (ร่าง) ใบสมัครสมาชิกมูลนิธิฯ 4) (ร่าง) บันทึกความเข้าใจในข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างมูลนิธิกับสถาบันการศึกษา อสอ.ภาสกรฯ กล่าวว่า ต้องการให้บุคลากรของดีพร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับนักศึกษาในเรื่องการทำเครื่องเขิน เครื่องถม การจักสาน โดยพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความทันสมัย เทียบเท่าสินค้าชั้นนำ และเป็นความต้องการของตลาดต่อไปในอนาคต ###PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
17 พ.ย. 2566
“รสอ.วัชรุน” ร่วมประชุมคณะกรรมการจริยธรรม
กรุงเทพฯ 16 พฤศจิกายน 2566 – นายวัชรุน จุ้ยจำลอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมประชุมคณะกรรมการจริยธรรมประจำกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ครั้งที่ 3/2566 โดยมี นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานกรรมการฯ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 2 ชั้น 3 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Headquarter) การประชุมฯ ได้มีการรายงานให้ทราบเกี่ยวกับข้อมูลสถิติการเข้าชมเว็บไซต์ด้านจริยธรรม การเผยแพร่คำขวัญจริยธรรม การเผยแพร่ผลการประเมินองค์กรคุณธรรมของหน่วยงานในสังกัดกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม การเผยแพร่ผลการคัดเลือกองค์กรคุณธรรมต้นแบบโดดเด่นของหน่วยงานระดับกรมหรือเทียบเท่าในสังกัดและในกำกับกระทรวงอุตสาหกรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 การเผยแพร่ผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 การยกย่องเชิดชูประกาศเกียรติคุณหน่วยงานภายในกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ได้รับการคัดเลือกและเป็นแบบอย่างที่ดี และการเร่งรัดการจัดทำแผนปฏิบัติการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม ประจำปี 2567 นอกจากนี้ยังได้ร่วมพิจารณาร่างประกาศกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เรื่องนโยบายขับเคลื่อนเป็นองค์กรคุณธรรม และร่างแผนปฏิบัติการด้านส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมอีกด้วย ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
17 พ.ย. 2566
เลขานุการรัฐมนตรีฯ ไพลิน ประชุมเตรียมการลงพื้นที่ก่อนการประชุม ครม. อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2566 ณ จ.หนองบัวลำภู
กรุงเทพฯ 15 พฤศจิกายน 2566 - ดร.ไพลิน เทียนสุวรรณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานการประชุมเพื่อเตรียมการลงพื้นที่ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2566 โดยมี นายอดิทัต วะสีนนท์ รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ นายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ รองเลขาธิการ รักษาราชการแทน เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาการในตำแหน่ง อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมจังหวัด และคณะผู้บริหารระดับสูง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุม อก. 1 ชั้น 2 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เลขานุการรัฐมนตรีฯ ไพลิน กล่าวว่า รัฐบาลเตรียมจัดการประชุม ครม.นอกสถานที่อย่างเป็นทางการครั้งแรก ณ จังหวัดหนองบัวลำภู พร้อมตรวจราชการกลุ่มจังหวัดอีสานตอนบน 1 ระหว่างวันที่ 3-4 ธันวาคม 2566 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จะร่วมตรวจราชการ ณ จังหวัดอุดรธานี และ จังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่ง กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้นำเสนอข้อมูลผลการดำเนินโครงการเหมืองแร่โพแทชจังหวัดอุดรธานี ประเด็นติดตามความคืบหน้าโครงการเหมืองโพแทชตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ประโยชน์ของโครงการที่คาดว่าจะได้รับทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค และท้องถิ่น และรับฟังประเด็นข้อห่วงกังวลของชุมชนในพื้นที่ และแนวทางการชี้แจงทำความเข้าใจ ด้านสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้นำเสนอข้อมูลอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย และโครงการที่สำคัญของ สอน. ที่ดำเนินการในพื้นที่เพาะปลูกอ้อยในพื้นที่ ส่วนกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้นำเสนอข้อมูลด้านส่งเสริม ข้อมูลสถานประกอบการ และโครงการสำคัญในพื้นที่ และได้มอบหมายให้ กพร. สอน. กสอ. และ สปอ.เตรียมข้อมูลสำหรับการลงพื้นที่ต่อไป ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
17 พ.ย. 2566
“ศิรินันท์” ดันอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ต่อยอด Soft Power ลุยตลาดพรีเมียม พร้อมแนะเร่งรับรอง Thailand Textiles Tag สิ่งทอชุมชน สร้างความมั่นใจผู้บริโภค
กรุงเทพฯ 15 พฤศจิกายน 2566 - นางสาวศิรินันท์ ศิริพาณิชย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม ตรวจเยี่ยมหน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม โดยมี นายวาที พีระวรานุพงศ์ นายวัชรุน จุ้ยจําลอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และนายชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ให้การต้อนรับ ณ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กล้วยน้ำไท) และสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ในการนี้ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ตรวจเยี่ยมหน่วยงานกองพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน ศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ และสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ พร้อมเยี่ยมชมผลงานการส่งเสริมผู้ประกอบอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยการนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมเข้ามาต่อยอดเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์พรีเมียมให้สามารถใช้ได้ในหลากหลายโอกาส ทั้งการนำผ้าไทยมายกระดับให้เป็นเครื่องใช้ เครื่องตกแต่งภายในบ้าน ของที่ระลึก เพิ่มโอกาสการใช้งาน และส่งเสริมอัตลักษณ์ให้แพร่หลาย ทั้งยังเป็นการสร้างรายได้ผ่านการเจาะตลาดผู้บริโภคที่มีศักยภาพ พร้อมกันนี้ ได้เน้นย้ำให้เร่งขยายการรับรองมาตรฐานผ่านเครื่องหมาย Thailand Textiles Tag ให้สามารถเข้าถึงกลุ่มผลิตภัณฑ์สิ่งทอจากชุมชน เพื่อ สร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อ ยกระดับมาตรฐานให้กับอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
16 พ.ย. 2566
รมว.พิมพ์ภัทรา ชื่นชมอุตสาหกรรมไทย ปรับตัวแข่งขันดีขึ้น 3 อันดับ
กรุงเทพฯ 15 พฤศจิกายน 2566 - นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานและกล่าวปาฐกถาพิเศษเปิดงานสัมมนา Thailand Competitiveness Conference 2023 พร้อมด้วย นางเคอร์สตี คัลจูเลด (H.E. Kersti Kaljulaid) อดีตประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเอสโตเนีย นางสาวศิรินันท์ ศิริพานิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวไพลิน เทียนสุวรรณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้แทนภาครัฐ เอกชน รวมถึงผู้เชี่ยวชาญจากในประเทศและต่างประเทศ ร่วมด้วย โดยมีนายนิธิ ภัทรโชค ประธานสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย ให้การต้อนรับ ณ ห้อง Magnolia Ballroom โรงแรม Waldorf Astoria Bangkok รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ตามที่ TMA ได้เผยแพร่ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ประจำปี 2566 ของ 64 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก พบว่า ในภาพรวมไทยมีอันดับความสามารถในการแข่งขันปรับดีขึ้น 3 อันดับจากอันดับที่ 33 ในปีที่แล้ว มาอยู่ที่อันดับ 30 ซึ่งสอดคล้องกับการเป้าหมายของภาครัฐ ที่พยายามเพิ่มประสิทธิภาพในการผลักดันและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในหลากหลายมิติ “กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญกับภาคอุตสาหกรรมทุกระดับ โดยจะมุ่งการทำงานที่เดินไปข้างหน้าให้ทันกับยุคสมัยและเทคโนโลยี แต่ก็ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า แต่ยังให้ความสำคัญกับรถยนต์สันดาป การสนับสนุนอุตสาหกรรมภาคใหญ่ในการเจริญเติบโตในระดับสากล แต่ดูแลและผลักดันผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและมีโอกาสในการทุก ๆ ช่องทาง ให้รายใหญ่อยู่ได้และรายเล็กอยู่รอด โดยให้เป็นความรู้คู่กับเงินทุน เพื่อสร้างความแข็งแรงและเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกใหม่ได้อย่างสมดุล” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว สำหรับงานสัมมนาฯ ในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสที่ดีในการขับเคลื่อนให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมกับภาครัฐ เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และปรับแนวทางการดำเนินงานระหว่างกัน เพื่อให้นำความรู้ที่ได้ไปสร้างเป็นฐานเพิ่มความมั่นคงให้กับหน่วยงานต่อไป ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
16 พ.ย. 2566
"ดีพร้อม" ลุยเคาะโครงการ ปี 68 เร่งส่งเสริมผู้ประกอบการแบบเต็มสูบ
กรุงเทพฯ 14 พฤศจิกายน 2566 - นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานในการประชุมพิจารณากรอบงบประมาณขั้นคำขอ (Pre-Ceiling) และร่างกรอบแนวทางโครงการ (Concept Idea) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 พร้อมด้วย นายวาที พีระวรานุพงศ์ และนายวัชรุน จุ้ยจำลอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) จากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 6 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Headquarter) และในรูปแบบออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชั่น Zoom Meeting การประชุมดังกล่าว ได้ร่วมกันพิจารณารายละเอียดการจัดทำคำของบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ผ่านการนำเสนอร่างกรอบแนวทางโครงการในความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงาน เพื่อส่งเสริมพัฒนาศักยภาพแก่ผู้ประกอบการในมิติต่าง ๆ ทั้งด้านบริหารจัดการ พัฒนาองค์ความรู้ เชื่อมโยงเครือข่าย ด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัล ตลอดจนการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดรับภายใต้แนวนโยบายเศรษกิจและสังคมยุคใหม่ ได้แก่ เศรษฐกิจดิจิทัล กลุ่มผู้สูงวัยและด้านสุขภาพ อุตสาหกรรมสู่การเติบโตที่ยั่งยืน เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ระเบียบเศรษฐกิจพิเศษ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ชุมชนเปลี่ยน (Community Transformation) รวมถึงการพัฒนาเชิงพื้นที่ ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
15 พ.ย. 2566
รัฐมนตรีฯ พิมพ์ภัทรา เปิดงานประจำปี สศอ. OIE FORUM 2023 ครั้งที่ 15 "MIND : Set for Sustainability ปรับมุมคิด พลิกอุตสาหกรรมไทยสู่ความยั่งยืน"
กรุงเทพฯ 13 พฤศจิกายน 2566 - นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานประจำปี สศอ. OIE FORUM 2023 ครั้งที่ 15 "MIND : Set for Sustainability ปรับมุมคิด พลิกอุตสาหกรรมไทยสู่ความยั่งยืน" และปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทย สู่เศรษฐกิจไทยที่ยั่งยืน” พร้อมด้วย นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าร่วม โดยมี ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงผลการดำเนินงานของกระทรวงอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ยังมีมุมมองข้อเสนอแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมจากภาคธุรกิจของไทยโดยนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายสาโรช ชยาวิวัฒน์กุล รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย พร้อมแลกเปลี่ยนมุมมองในการเสวนาหัวข้อ “MIND : Set for Sustainability ปรับมุมคิด พลิกอุตสาหกรรมไทยสู่ความยั่งยืน” โดยผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมระดับแนวหน้าของไทย ได้แก่ นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม นายพิพิธ เอนกนิธิกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก และนายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน อีกทั้งยังมีการจัดแสดงนิทรรศการตามนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และการเปิดตัวผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์ต้นแบบ โดย สศอ. และสถาบันเครือข่าย อก. รวม 11 เรื่อง ทั้งนี้ มีผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้บริหารสถาบันเครือข่าย และประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมงานกว่า 2,000 คน ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท และผ่านระบบออนไลน์ (Live Streaming) ## PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
14 พ.ย. 2566