“อธิบดีณัฏฐิญา” เดินเครื่องดีพร้อมคอมมูนิตี้ เร่งให้ทักษะชุมชนท่าค้อ ดึงอัตลักษณ์อาหารพื้นถิ่น หวังสร้างอาชีพ กระจายรายได้สู่เศรษฐกิจชุมชน ตามนโยบาย รวอ.เอกนัฏ
จ.นครพนม 29 เมษายน 2568 - นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานเปิดกิจกรรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “DIPROM Community ที่นี่มีแต่ให้ : ให้ทักษะเพื่อสร้างเศรษฐกิจชุมชน นครพนม” หลักสูตร "แซ่บหลายอีสานเฮา ซอฟต์พาวเวอร์ อาหารถิ่นอาหารไทย (สร้างสรรค์อาหารพื้นบ้าน)" ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ในโอกาสการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 2/2568 พร้อมด้วย นายศุภกิจ บุญศิริ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายอำนาจ เฮี้ยะหลง รองกรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย นายกฤศ จันทร์สุวรรณ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายสุรพล ปลื้มใจ และ นายดุสิต อนันตรักษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายสมพร ปองไว้ อุตสาหกรรมจังหวัดนครพนม นายพิชญา โพชราษฎร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าค้อ คณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมจากส่วนกลางและภูมิภาค และประชาชนในพื้นที่ ต.ท่าค้อ 14 หมู่บ้าน เข้าร่วมอบรม จำนวน 150 คน ณ องค์การบริหารส่วนตำบลท่าค้อ ตำบลท่าค้อ อำเภอเมืองนครพนม นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กิจกรรมในครั้งนี้ จัดขึ้น ภายใต้นโยบาย ดีพร้อมคอมมูนิตี้ ที่นี่มีแต่ให้ ผ่านกลยุทธ์ 4 ให้ ได้แก่ (1) ให้ทักษะ : ผ่านการอบรมเพื่อเพิ่มพูนองค์ความรู้ พัฒนาเป็นอาชีพและต่อยอดสู่ธุรกิจ (2) ให้เครื่องมือ : เสริมศักยภาพด้วยเครื่องมือที่จะช่วยในการแปรรูปและเพิ่มมูลค่าสินค้า (3) ให้โอกาส : เข้าถึงตลาด ช่องทางจัดจำหน่าย และการเข้าถึงแหล่งทุน และ (4) ให้ธุรกิจที่ดีคู่ชุมชน : สร้างความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการ ชุมชน และหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างธุรกิจที่ยั่งยืน สำหรับกิจกรรมดังกล่าว มุ่งเน้นการ “ให้ทักษะ” ภายใต้หลักสูตร “หลักสูตรแซ่บหลายอีสานเฮา ซอฟต์พาวเวอร์ อาหารถิ่นอาหารไทย (สร้างสรรค์อาหารพื้นบ้าน)” แก่ผู้เข้าร่วมอบรมในพื้นที่ ต.ท่าค้อ ทั้ง 14 หมู่บ้าน จำนวน 150 คน ซึ่งเป็นการกระจายโอกาสในการเข้าถึงองค์ความรู้และทักษะ เพื่อสร้างเชฟอาหารไทยมืออาชีพทั่วประเทศ ผ่านการเรียนรู้และฝึกปฏิบัติจริงด้านการสร้างสรรค์อาหารพื้นถิ่นให้มีความร่วมสมัย เพิ่มคุณค่า และสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างเศรษฐกิจของชุมชนด้วยแนวคิด “ซอฟต์พาวเวอร์” ที่สะท้อนอัตลักษณ์ท้องถิ่นของ จ.นครพนมอย่างชัดเจน ประกอบด้วย การทำน้ำพริกสมุนไพรปลาน้ำโขง การทำข้าวเหนียวมูน 3 สีหน้าสังขยา และการทำแหนมหมูใบตองโบราณ โดยตลอดระยะเวลาผู้เข้าร่วมอบรมจะได้รับองค์ความรู้และฝึกฝนทักษะเชิงปฏิบัติในการสร้างสรรค์เมนูอาหารจากวัตถุดิบพื้นถิ่น อันเป็นการปลุกศักยภาพทางเศรษฐกิจที่แฝงอยู่ในมรดกวัฒนธรรมอาหารท้องถิ่นของชุมชนให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง และนำไปต่อยอดอาชีพเพื่อก่อให้เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชน สอดรับกับนโยบายปฏิรูปอุตสาหกรรม สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวกโปร่งใส ของ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มุ่งเน้นสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนเคียงคู่กับชุมชน
30 เม.ย. 2568
“ดีพร้อม” หารือมาตรการประหยัดไฟ ลดใช้พลังงาน ประจำปี 2568
กรุงเทพฯ 25 เมษายน 2568 - นายดุสิต อนันตรักษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธาน การประชุมคณะกรรมการด้านการจัดการพลังงานและการลดใช้พลังงาน ครั้งที่ 1/2568 โดยมีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ดีพร้อมเข้าร่วม ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 3 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Headquarter) ถ.พระรามที่ 6 ราชเทวี ในการประชุมได้กล่าวถึง ประเด็นราคาพลังงานมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด ซึ่งมีสาเหตุสำคัญจากสภาวะโลกร้อน ทำให้มีการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นทุกปี จึงจำเป็นต้องมีการเพิ่มงบประมาณในการนำเข้าพลังงาน เพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจและสังคม และมีการปรับรูปแบบการใช้พลังงานให้เหมาะสม ดังนั้น การอนุรักษ์พลังงาน จึงเป็นประเด็นสำคัญ และต้องอาศัยความร่วมมือจากบุคลากรภายในองค์กรทุกระดับ โดยเฉพาะระดับผู้บริหารจะเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการชี้นำและผลักดันการอนุรักษ์พลังงานขององค์กรให้ประสบความสำเร็จ โดยที่ประชุม ได้ร่วมพิจารณามาตรการประหยัดพลังงาน ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ปี 2568 โดยมีมาตรการลดระบบปรับอากาศ ระบบแสงสว่าง ระบบลิฟต์ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง และเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ รวมถึงมาตรการประหยัดค่าน้ำมันเชื้อเพลิง นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาแผนการจัดกิจกรรมศึกษาดูงาน ด้านการจัดการพลังงาน ปี 2568 เพื่อสร้างความตระหนัก ถึงการอนุรักษ์พลังงานในหน่วยงาน สร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับแนวทางการลดพลังงาน ตลอดจนสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการลดใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
29 เม.ย. 2568
“อธิบดีณัฏฐิญา” ร่วมเข้าเฝ้ารับเสด็จ สมเด็จพระเทพฯ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดหน่วยผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน SAF
กรุงเทพฯ 25 เมษายน 2568 - นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และ นายสุรพล ปลื้มใจ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมเข้าเฝ้ารับเสด็จ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดหน่วยผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) ของกลุ่มบริษัทบางจาก โดยมี นายเร็มโก โยฮันเนิส ฟัน ไวน์คาร์เดิน (H.E. Mr. Remco Johannes van Wijngaarden) เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย นายโอตากะ มาซาโตะ (H.E. Mr. Otaka Masato) เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย พลตำรวจเอก สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ประธานกรรมการ นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร พนักงานกลุ่มบริษัทบางจาก พันธมิตรธุรกิจ แขกผู้มีเกียรติ ร่วมเฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จ ณ โรงกลั่นน้ำมันบางจาก พระโขนง สุขุมวิท 64 ในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเปิดแพรคลุมป้ายหน่วยผลิตน้ำมันเชื้อเพลิง อากาศยานยั่งยืน (SAF) เสด็จฯ ทอดพระเนตรนิทรรศการ “จากผู้นำพลังงานทดแทน สู่ผู้นำพลังงานแห่งอนาคต” บริเวณโถงหน้าห้องพิธี ทรงฉายพระฉายาลักษณ์ร่วมกับคณะกรรมการ คณะผู้บริหารกลุ่มบริษัท บางจากและแขกผู้มีเกียรติ ทรงลงพระนามาภิไธยในสมุดที่ระลึกและทรงปลูกต้นอินทนิลน้ำ บริเวณหน่วยผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) ของกลุ่มบริษัทบางจาก บริหารโดย บริษัท บีเอสจีเอฟ จำกัด บริษัทในกลุ่มบริษัทบางจาก ซึ่งเป็นหน่วยผลิต SAF บริสุทธิ์ หรือ Neat SAF 100% จากน้ำมันใช้แล้วจากการปรุงอาหารและวัตถุดิบทางเลือกอื่น ๆ แห่งแรกของประเทศไทย ภายใต้ระบบที่ได้รับการรับรองในระดับสากล มีกำหนดเริ่มดำเนินการผลิตในไตรมาสที่ 2 ของปี 2568 ด้วยกำลังการผลิตเริ่มต้น 1 ล้านลิตรต่อวัน นับเป็น อีกก้าวสำคัญของกลุ่มบริษัทบางจากในการดำเนินธุรกิจพลังงานยั่งยืน น้อมนำแนวพระราชดำริด้านการพัฒนาพลังงานทดแทนและการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาสู่การพัฒนา Neat SAF ที่มีศักยภาพในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าร้อยละ 80 เมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงดั้งเดิม อันเป็นการสนับสนุนการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของ อุตสาหกรรมการบิน และส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG
29 เม.ย. 2568
ดีพร้อม รับรางวัล "ศูนย์ข้อมูลข่าวสารของราชการโดดเด่น" สอดคล้องนโยบาย รวอ. เอกนัฏ เน้นใช้ข้อมูลข่าวสาร เพื่อสร้างความโปร่งใส
กรุงเทพฯ 25 เมษายน 2568 - นายดุสิต อนันตรักษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้รับมอบหมายจาก นางสาวณัฎฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นผู้แทนกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมรับมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ "ศูนย์ข้อมูลข่าวสารของราชการโดดเด่น" ประจำปี พ.ศ. 2567 โดยมีนางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานมอบรางวัลฯ ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โล่ประกาศเกียรติคุณดังกล่าว เป็นรางวัลที่รัฐบาลมอบให้แก่หน่วยงานของรัฐที่มีผลการบริหารจัดการ ศูนย์ข้อมูลข่าวสารของราชการโดดเด่น ประจำปี 2567 จำนวน 81 หน่วยงาน เพื่อเป็นกำลังใจในการบริหารจัดการศูนย์ข้อมูลข่าวสารของราชการ และหวังให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่งเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการให้ประชาชนเข้าถึงได้โดยสะดวกรวดเร็วมากขึ้น รวมถึงมีการจัดแสดงข้อมูลข่าวสารสาธารณะในศูนย์ข้อมูลข่าวสารของราชการทางเว็บไซต์ หรือในรูปแบบดิจิทัลให้ครบถ้วนทุกหน่วยงาน เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวก แก่ประชาชนมากยิ่งขึ้นในอนาคต โดย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เป็นหนึ่งหน่วยงานที่ได้รับโล่ระดับมาตรฐาน (โล่ใส) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความใส่ใจในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ รวมถึงการพัฒนาช่องทางการเข้าถึงข้อมูลที่ทันสมัย สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน และจะมุ่งมั่นพัฒนาต่อไป โดยมีเป้าหมายจะส่งเข้าประกวดเพื่อโล่ระดับดี (โล่ทองแดง) ในปีถัดไป เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร เพื่อสร้างความโปร่งใส และเน้นย้ำการใช้ข้อมูล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน และส่งเสริมการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน
29 เม.ย. 2568
“ดีพร้อม" ร่วมประชุมถกคณะกรรมการควบคุมยาง สร้างความเข้าใจ ภาคเอกชน-เกษตรกรไทย ร่วมแก้ไขปัญหาราคายาง เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนตามนโยบาย รมว.เอกนัฏ
กรุงเทพฯ 22 เมษายน 2568 - นายดุสิต อนันตรักษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้รับมอบหมายจาก นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการควบคุมยาง ครั้งที่ 1/2568 โดยมี ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุม ร่วมด้วย นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล ผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุม 123 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการประชุมดังกล่าว ได้มีการรายงานสถานการณ์ยางพาราและผลกระทบของมาตรการภาษีสหรัฐอเมริกาต่ออุตสาหกรรมยางไทย โดยประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกยางพาราเป็นอันดับ 1 ของโลก ซึ่งในปี 2567 มีการส่งออกยางพารา จำนวน 3.96 ล้านตัน โดยส่งออกยางแท่งเอสทีอาร์มากที่สุด จำนวน 1.76 ล้านตัน อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ โดย การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้ดำเนินการศึกษามาตรการการเรียกเก็บภาษีของสหรัฐอเมริกา พร้อมทั้งติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อกำหนดแนวทางการรับมือกับมาตรการดังกล่าว ให้เกิดผลกระทบกับเกษตรกรให้น้อยที่สุด โดยได้มีการหารือแนวทางการดูแล แก้ไขปัญหาด้านราคายางพารา แลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคเกษตรกร โดยดำเนินการตามแนวทางการขับเคลื่อนภารกิจของกระทรวงเกษตรฯ ในการดูแลเกษตรกรให้ได้รับความเป็นธรรมในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม อย่างไรก็ตาม มาตรการภาษีดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อเนื่องกับภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในฐานะผู้รับซื้อยาง “ดีพร้อม” จึงได้กำหนดแนวทางการหารือและรับฟังความคิดเห็นร่วมกับภาคอุตสาหกรรมในหลายสาขา รวมทั้งผู้ประกอบการ SMEs ที่อาจได้รับผลกระทบเนื่องจากการเป็นส่วนหนึ่งของ Supply Chain ในอุตสาหกรรม ในวันที่ 23 เมษายน 2568 เพื่อกำหนดมาตรการส่งเสริมและสนับสนุน SMEs ตามนโยบาย “ดีพร้อมคอมมูนิตี้ ที่นี่มีแต่ให้” ของ นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยมีเป้าหมายให้ธุรกิจสามารถปรับตัวและอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องตามนโยบาย “ปฏิรูปอุตสาหกรรม สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส” ของ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง เขตควบคุมการขนย้ายยางพารา พ.ศ. . . . . ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ 1. อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก 2. อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 3.อำเภอเมือง ประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 4. อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง และ 5. อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางให้มีความมั่นคง และป้องปรามการลักลอบนำยางเข้าราชอาณาจักร อีกทั้ง มีมติเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การกำหนดมาตรฐานยางและวิธีการมัดยางและการบรรจุหีบห่อยางเพื่อการส่งออก พ.ศ. . . . . เพื่อสร้างความชัดเจนในมาตรฐานการส่งออกของผู้ประกอบการและเกษตรกรในอนาคต
29 เม.ย. 2568
"รสอ.ดุสิต" มอบนโยบาย ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศฯ ย้ำความสำคัญเทคโนโลยีดิจิทัล ขับเคลื่อนดีพร้อม ยุคใหม่ ตามแนวนโยบาย รมว.เอกนัฏ
กรุงเทพฯ 24 เมษายน 2568 - นายดุสิต อนันตรักษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานในการประชุมรับมอบนโยบาย ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ศส.กอส.) โดยมีนายวุฒิชัย ประชาพร ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ผอ.ศส.กสอ.) พร้อมคณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อมในสังกัด ศส.กสอ. เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 3 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Headquarter) การประชุมครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อติดตามผลการดำเนินงาน และวางแนวทางการปฏิบัติงานของ ศส.กสอ. ในปี 2568 โดยหน่วยงานได้นำเสนอภาพรวมแผนการดำเนินงาน ภายใต้แนวคิด BCDE ซึ่งประกอบด้วย Business Service Center (DIPROM BSC) การให้บริการข้อมูลและคำปรึกษาธุรกิจเบื้องต้น, Computer & Communications Technology ดูแลครุภัณฑ์และระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์, Digital Government การเตรียมความพร้อมสู่รัฐบาลดิจิทัล และ Ecosystem การพัฒนาระบบนิเวศอุตสาหกรรม “รสอ.ดุสิต” ได้ให้แนวคิดและข้อเสนอแนะในการดำเนินงานของแต่ละกลุ่มงานของ ศส.กสอ. โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับการปฏิบัติงานให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงการปรับแนวทางการทำงานให้มีความยืดหยุ่นและคล่องตัว เช่น การใช้อุปกรณ์พกพาอย่างโน้ตบุ๊ค และแท็บเล็ตคอมพิวเตอร์ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานได้ทุกที่ทุกเวลา การเสริมสร้างจุดแข็งในการแบ่งปันข้อมูล ตามแนวทางของ I-industry เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากข้อมูลอย่างคุ้มค่าสูงสุด พร้อมทั้งการตรวจสอบและปรับปรุงข้อมูลให้มีความถูกต้องและทันสมัย ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบที่คำนึงถึง “User Friendly" หรือ การออกแบบที่ใช้งานง่าย เพื่อดึงดูดให้ผู้ใช้งานเข้าถึง และช่วยให้การตอบสนองต่อข้อสั่งการของผู้บริหารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อีกทั้งได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytic) ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญในการวางแผนและออกแบบโครงการในอนาคต ซึ่งหากมีการบริหารจัดการข้อมูลที่ดี จะส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพสูงสุดของการดำเนินงานโดยรวม การดำเนินการของ ศส.กสอ. ดังกล่าว ถือเป็นการทำงานตามกรอบนโยบาย “ดีพร้อมคอมมูนิตี้ ที่นี่มีแต่ให้” ภายใต้กลยุทธ์ “4 ให้ 1 ปฏิรูป” ของ นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ที่เน้นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลและเครื่องมือที่จำเป็น เพื่อยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการ พร้อมกับการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ให้มีความรู้ ความสามารถ ซึ่งสอดคล้องกับการขับเคลื่อนนโยบาย “ปฏิรูปอุตสาหกรรม สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส” ของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มุ่งยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทย สู่ความแข็งแกร่งในยุคดิจิทัล
28 เม.ย. 2568
“ดีพร้อม” ปั้นสตาร์ตอัพแฟชั่น ต่อยอดเศรษฐกิจ 3.9 แสนล้าน ติดอาวุธผู้ประกอบการ พร้อมเชื่อมโยงแหล่งทุนจัดตั้งธุรกิจตามนโยบาย รวอ.เอกนัฏ
กรุงเทพฯ 24 เมษายน 2568 - นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม แถลงเปิดตัวกิจกรรมการพัฒนาและบ่มเพาะผู้เริ่มต้นทำธุรกิจแฟชั่น" (Soft Power Startup : Ignite the Future of Fashion) ร่วมด้วย นายดุสิต อนันตรักษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ผู้แทนจากคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านแฟชั่น ผู้แทนจากสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ผู้แทนจากเครือข่ายภาครัฐและเอกชน ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIPROM) ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแฟชั่น และสื่อมวลชน ณ Gaysorn Urban Resort ชั้น 19 อาคารเกษตร ทาวเวอร์ ปทุมวัน นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลมีนโยบายเรือธงสำคัญในการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ไทย ด้านแฟชั่น ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศทั้งในด้านมูลค่าและการจ้างงาน โดยปี 2564 สามารถสร้างรายได้ราว 3.9 แสนล้านบาท การส่งออกสินค้าแฟชั่นมีมูลค่ากว่า 2.2 แสนล้านบาท และเกิดการจ้างงานราว 8 แสนคน ซึ่งดีพร้อมรับลูกต่อนโยบายดังกล่าวผ่านการดำเนินงานกิจกรรมการพัฒนาและบ่มเพาะผู้เริ่มต้นทำธุรกิจแฟชั่น "Soft Power Startup : Ignite the Future of Fashion" ที่มุ่งพัฒนาและยกระดับศักยภาพผู้เริ่มต้นทำธุรกิจด้านแฟชั่น (Startup) จำนวน 4 สาขา ได้แก่ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและความงาม หัตถอุตสาหกรรมไทย และอัญมณีและเครื่องประดับ โดยการพัฒนาและสร้างทักษะที่จำเป็นในการเริ่มต้นประกอบธุรกิจแฟชั่น การบริหารจัดการ การเขียนและวางแผนธุรกิจ การสร้างโมเดลธุรกิจ รวมถึงการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการเชื่อมโยงเครือข่ายและสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับจัดตั้งและยกระดับธุรกิจแฟชั่น โดยผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะเข้าสู่กระบวนการบ่มเพาะทักษะทางธุรกิจและการตลาดอย่างเข้มข้น จำนวน 16 หลักสูตร พร้อมทั้งเชื่อมโยงเครือข่ายกับผู้ผลิตคอนเทนต์ เพื่อปั้นเทรนด์อุตสาหกรรมให้สร้างสรรค์ สามารถตอบโจทย์และเข้าถึงช่องทางการตลาดใหม่ซึ่งจะเป็นการขยายฐานลูกค้า นอกจากนี้ ยังมีการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึก โดยที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ (Mentor) ที่จะช่วยเสริมทักษะที่จำเป็น ก่อนเข้าสู่กระบวนการนำเสนอโมเดลธุรกิจต่อแหล่งทุนในกิจกรรม Pitching Day ต่อไป ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวจะสามารถยกระดับผู้ประกอบการสตาร์ทอัพด้านแฟชั่นให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงยกระดับองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม ดิจิทัล การบริหารจัดการธุรกิจ ตลอดจนสร้างเครือข่ายอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยให้ก้าวไกลได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับนโยบาย "ดีพร้อมคอมมูนิตี้ ที่นี่มีแต่ให้" ที่มุ่งยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการในทุกด้านผ่านกลไก Soft Power ของดีพร้อม ประกอบด้วย การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ การโน้มน้าวผ่าน Storytelling และการเผยแพร่ผ่านเครื่องมือต่าง ๆ ซึ่งสอดรับกับนโยบายปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส ของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มุ่งเสริมแกร่งห่วงโซ่อุปทาน สร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ พัฒนาทักษะบุคลากร รวมถึงสร้างความเท่าเทียมให้เอสเอ็มอีไทยให้สามารถนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิต ออกแบบผสมผสานความร่วมสมัย คงอัตลักษณ์ความเป็นไทยรักษาไว้ซึ่งภูมิปัญญา และความเป็นไทยให้ก้าวสู่ Soft Power ในระดับสากลได้อย่างยั่งยืน
28 เม.ย. 2568
“อธิบดีณัฏฐิญา” ระดมทีมดีพร้อม รับฟังความเห็นจากภาคเอกชน เพื่อหาแนวทางรับมือการขึ้นภาษีสหรัฐฯ เน้นตรวจสอบแหล่งกำเนิดในไทย ป้องกันการสวมสิทธิส่งออก พร้อมเซฟ ผปก.ไทย ให้ปรับตัวทุกมิติ ตามนโยบาย รมว.เอกนัฏ
กรุงเทพฯ 23 เมษายน 2568 - นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานการประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรมไทยที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการขึ้นภาษีของประเทศสหรัฐอเมริกาต่อไทย ร่วมด้วย นายสุรพล ปลื้มใจ และ นายดุสิต อนันตรักษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาพันธ์สมาคมอุตสาหกรรมสนับสนุน สมาคมสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย สถาบันยานยนต์ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIPROM) ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 6 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Headquarter) ถ.พระรามที่ 6 ราชเทวี การประชุมครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไทยที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการขึ้นภาษีของสหรัฐอเมริกาในกลุ่มประเทศที่ทำการค้าเกินดุล จำนวน 60 ประเทศ ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยที่มีผู้ประกอบการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ จำนวน 15 รายการ ใน 5 อุตสาหกรรม ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยางและผลิตภัณฑ์ยาง สินค้าเกษตร และอัญมณีและเครื่องประดับ โดยผู้แทนจากเอกชนร่วมกันเสนอข้อคิดเห็นและสะท้อนมุมมองความต้องการที่จะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เพื่อเสริมความเข็มแข็งให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมไทย รวมถึงลดผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว อาทิ การกำหนดมาตรการ กฎหมาย และบทลงโทษอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะสาระสำคัญในกระบวนการผลิต การยืนยันแหล่งที่มาของสินค้าว่ามีแหล่งกำเนิดในไทยเพื่อป้องกันการสวมสิทธิส่งออก การกำหนดมาตรฐานสินค้าเพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าราคาถูกแต่ไม่ได้คุณภาพ การส่งเสริมและเชื่อมโยงผู้ประกอบการไทยให้สามารถเข้าถึงตลาดใหม่ ๆ การทบทวนหลักเกณฑ์ในการส่งเสริมการลงทุน เพื่อกลั่นกรองประะเภทอุตสาหกรรมจากต่างประเทศที่เข้ามาลงทุน การเป็นคนกลางเพื่อเชื่อมโยงและอำนวยความสะดวกในการเจรจาคู่ค้าทางธุรกิจในสหรัฐฯ เพื่อรักษาตลาดส่งออก รวมถึงกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อการป้องกันสินค้าจีนเข้ามาแย่งพื้นที่ส่วนแบ่งตลาดสินค้าของไทย นอกจากนี้ มีการเสนอให้รัฐบาลบูรณาการการทำงานเชิงนโยบาย รวมถึงการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ - เอกชน เพื่อปรับแผนรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ทันท่วงที ตลอดจนการสนับสนุนการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐให้มีสัดส่วนการใช้สินค้าของไทยเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ “ดีพร้อม” ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่มีบทบาทและภารกิจในการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไทย จะเร่งนำข้อมูลและความคิดเห็นในการประชุมฯ ไปใช้ในการกำหนดแนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไทยที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้รับผลกระทบจากการออกมาตรการดังกล่าวของสหรัฐฯ โดยการใช้กลไกและเครื่องมือต่าง ๆ ของดีพร้อม คือ 1) การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก 2) การนำเทคโนโลยี ดิจิทัล นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์มาประยุกต์ใช้ 3) การสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน 4) การเชื่อมสิทธิประโยชน์ 5) การเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตร และ 6) การผลักดันธุรกิจสู่สากล โดยใช้กลไก 4 ให้ 1 ปฏิรูป ภายใต้นโยบาย “ดีพร้อมคอมมูนิตี้ ที่นี่มีแต่ให้” ของนางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมเน้นการพัฒนาให้ผู้ประกอบการของไทยมีขีดความความสามรถและศักยภาพในการแข่งขัน พร้อมรับมือและสามารถปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในทุกมิติ สอดรับกับตามนโยบาย "สู้ เซฟ สร้าง" ภายใต้แนวทาง "ปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส" ของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มุ่งพัฒนาภาคอุตสาหกรรม ควบคู่กับการปกป้องเอสเอ็มอีไทยโดยการเสริมแกร่งห่วงโซ่อุปทาน และสร้างโอกาส และความเท่าเทียมในการแข่งขัน เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน
28 เม.ย. 2568
“อธิบดีณัฏฐิญา” มอบแนวทางการส่งเสริมข้าราชการดีพร้อมที่รับทุนรัฐบาล (ทุน ก.พ.) มุ่ง "ปฏิรูป" การพัฒนาศักยภาพและการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง
กรุงเทพฯ 23 เมษายน 2568 - นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณารับทุนรัฐบาลตามความต้องการของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ครั้งที่ 1/2568 พร้อมด้วยนายสุรพล ปลื้มใจ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 3 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Headquarter) และในรูปแบบออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชั่น Zoom Meeting การประชุมในครั้งนี้ ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการฯ ได้รายงานผลการคัดเลือกข้าราชการเพื่อรับทุนรัฐบาลตามความต้องการของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ซึ่งคณะกรรมการมีมติพิจารณาจัดสรรทุนรัฐบาล (ทุน ก.พ.) ของ ดีพร้อม จำนวน 2 ทุน คือ 1. ทุนศึกษา (ปริญญาโท) หน่วยทุนที่ 113 Social and Behavioural sciences สาขา Economics และ 2. ทุนฝึกอบรม หน่วยทุนที่ 205 Natural Sciences, Mathematics and Statistics สาขา Climate change and industrial development โดยมีเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกข้าราชการเพื่อรับทุนรัฐบาลดังกล่าวโดยใช้วิธีการสัมภาษณ์ ซึ่งผู้ที่ผ่านเกณฑ์จะต้องได้รับคะแนนเฉลี่ยรายข้อไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 และคะแนนเฉลี่ยภาพรวมไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 โดย “อธิบดีณัฏฐิญา” ได้ให้แนวทางในที่ประชุมว่า ควรมีการกำหนดกรอบแนวทางในการหมุนเวียนการปฏิบัติงาน สำหรับข้าราชการที่ได้รับการคัดเลือกให้ได้รับทุนรัฐบาล เพื่อให้มีโอกาสได้นำความรู้และทักษะที่ได้จากการเรียนหรืออบรมมาปฏิบัติงานอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ โดยให้คณะกรรมการฯ พิจารณากำหนดการหมุนเวียนการปฏิบัติงานต่อไป ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปดีพร้อม ภายใต้นโยบาย "ดีพร้อมคอมมูนิตี้ ที่นี่มีแต่ให้"
28 เม.ย. 2568
“รสอ.สุรพล” ร่วมประชุมกับคณะอนุฯ ของบปี 69 เน้นยกระดับทักษะ ผปก.ไทย รับเศรษฐกิจใหม่ ตามนโยบาย “อธิบดีณัฏฐิญา”
กรุงเทพฯ 24 เมษายน 2568 - นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม มอบหมายให้นายสุรพล ปลื้มใจ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมด้วยนายพลาวุธ วงศ์วิวัฒน์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน (กง.กสอ.) เข้าร่วมประชุมกับคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ CB 401 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา โดยมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมเข้าประชุมด้วย ในการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาคำของบประมาณด้านการพัฒนาทักษะ (Reskill) และการส่งเสริมอุตสาหกรรม เพื่อรวบรวมข้อมูลสำหรับการศึกษา วิเคราะห์ และจัดทำรายงานเสนอรัฐสภา โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM) ได้เสนอคำของบประมาณโครงการพัฒนาทักษะ ความรู้ และศักยภาพของประชาชนทั่วไปและผู้ประกอบการ มุ่งเน้นการ ยกระดับทักษะเดิม (Upskill) สร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นต่อการทำงาน (Reskill) และทักษะใหม่ที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างเศรษฐกิจอุตสาหกรรมยุคใหม่ (New Skill) ทั้งนี้ กรมฯ ยังได้เสนอแนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านจากอุตสาหกรรมเดิมสู่เศรษฐกิจใหม่ ภายใต้นโยบาย “ดีพร้อมคอมมูนิตี้ ที่นี่มีแต่ให้” ของอธิบดีณัฏฐิญา เนตยสุภา
28 เม.ย. 2568