“รสอ.วาที” ลงพื้นที่เตรียมความพร้อมการจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “ยกระดับเศรษฐกิจชุมชนสู่ความยั่งยืน”
จ.ระนอง 14 พฤษภาคม 2567 - นายวาที พีระวรานุพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ลงพื้นที่เตรียมความพร้อมการจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ภายใต้โครงการ “ยกระดับเศรษฐกิจชุมชนสู่ความยั่งยืน” จำนวน 3 หลักสูตร ในพื้นที่ อำเภอกระบุรี อำเภอเมือง และอำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง โดยมี นายโดม ถนอมบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 และนายวิชญพรรณ พลอยทับทิม อุตสาหกรรมจังหวัดระนอง ซึ่งเป็นหน่วยร่วมดำเนินการ ให้การต้อนรับ การลงพื้นที่ดังกล่าว เป็นการติดตามการเตรียมความพร้อม การจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการภายใต้โครงการ “ยกระดับเศรษฐกิจชุมชนสู่ความยั่งยืน” จำนวน 3 หลักสูตร โดยจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 15 - 16 พฤษภาคม 2567 หลักสูตรที่ 1 “การทำขนมโดนัท” ณ ศาลาอเนกประสงค์ หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านนา อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง หลักสูตรที่ 2 “การทำผ้ามัดย้อม (ย้อมเย็น)” ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา องค์การบริหารส่วนจังหวัดระนอง อำเภอเมือง จังหวัดระนอง และหลักสูตรที่ 3 “การทำผลิตภัณฑ์ตะกร้าหวายเทียม” ณ อาคารอเนกประสงค์ (สระน้ำหนองใหญ่) หมู่ที่ 7 ตำบลปากจั่น อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง นอกจากนี้ รสอ.วาทีฯ ได้ให้กำลังใจแก่ทีมเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM CENTER 10) ที่ได้ปฏิบัติงานอย่างทุ่มเท และเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
19 พ.ค. 2567
“อสอ.ภาสกร” ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เตรียมผลักดันโกโก้ไทยสู่โกโก้ฮับ
จ.เชียงใหม่ 15 พฤษภาคม 2567 – นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม และรับฟังข้อคิดเห็นจากผู้แทนผู้ประกอบการโกโก้ภาคเหนือ ร่วมด้วย คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) โดยมี นายธนา คุณารักษ์วงศ์ ผู้ก่อตั้งบริษัท กานเวลา ช๊อคโกแลต จำกัด ผู้แทนผู้ประกอบการโกโก้ภาคเหนือ ให้การต้อนรับ ณ บริษัท กานเวลา ช๊อคโกแลต จำกัด ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ การลงพื้นที่ในครั้งนี้ ดีพร้อม ได้รับฟังปัญหาของ บริษัท กานเวลา ช๊อคโกแลต จำกัด ผู้แทนผู้ประกอบการโกโก้ภาคเหนือ อาทิ ปัญหาการปลูกกระจัดกระจาย ปัญหาราคาซื้อผลโกโก้ ปัญหาผังเมือง ปัญหาการขาดเครื่องมือ และเครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพในการแปรรูป พร้อมขอสนับสนุนงบประมาณในการส่งตรวจการยื่นขอรับรองมาตรฐานอาหารและยา (อย.) ตลอดจนการส่งเสริมการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงอุตสาหกรรมโกโก้ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมโกโก้ไทยให้พร้อมแข่งขันได้ในระดับสากล บริษัท กานเวลา ช๊อคโกแลต จำกัด เป็นผู้ผลิตช็อกโกแลต โดยเน้นวัตถุดิบจากธรรมชาติ ที่ใช้ผลผลิตจากต้นโกโก้ที่ปลูกในไทย ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่วันที่เริ่มปลูกต้นโกโก้เมื่อหลายปีก่อน โดยมีความตั้งใจว่าอยากผลิตช็อกโกแลตไทยที่มีคุณภาพในระดับโลก จึงได้ศึกษา คันคว้า ทดลอง จนสุดท้ายสามารถค้นพบรูปแบบวิธีการที่เหมาะสมกับผลผลิตในประเทศไทย จนเป็นที่มาเรียกผลลัพธ์นี้ว่า รสชาติและคุณภาพช็อกโกแลตในแบบของ “กานเวลา” ที่เริ่มต้นจากมาตรฐานการดูแลต้นโกโก้ ทั้งในสวนของกานเวลาและเกษตรกรผู้ปลูกที่ส่งผลผลิตให้ และเมื่อได้ผลผลิตมาแล้ว จึงออกแบบกระบวนการหมักเพื่อดึงรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ จนผลิตออกมาเป็นช็อกโกแลตด้วยเครื่องมือที่ได้มาตรฐาน คุณภาพของสินค้าได้รับการยืนยันผ่านรางวัลในระดับนานาชาติ อาทิ International Rising Star Award ปี 2021 จาก Academy of Chocolate ประเทศอังกฤษ Quality Produce นอกจากนี้ อธิบดีภาสกรฯ ยังได้มอบแนวทางในการพัฒนาให้ความรู้ผู้ประกอบการโกโก้ โดยมุ่งเน้นพัฒนาเจรจาความร่วมมือกับจีนในการส่งออกเมล็ดโกโก้ พัฒนากระบวนการผลิต อีกทั้ง ยังมีการส่งเสริมในเชิงพาณิชย์ และสร้างให้เกิดมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ด้วยการผลักดันอุตสาหกรรมโกโก้ต่อไปในอนาคต
19 พ.ค. 2567
"ดีพร้อม" เตรียมความพร้อมการประเมินสมรรถนะร่วมที่ปรึกษาอุตสาหกรรม
กรุงเทพฯ 15 พฤษภาคม 2567 – นายวัชรุน จุ้ยจำลอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานประชุมชี้แจงกิจกรรมการประเมินสมรรถนะร่วมที่ปรึกษาอุตสาหกรรม ประจำปีงบประมาณ 2567 ร่วมด้วย คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 3 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Headquarter) การประชุมครั้งนี้ เป็นการหารือถึงการประเมินสมรรถนะร่วมที่ปรึกษาอุตสาหกรรม ประจำปีงบประมาณ 2567 ซึ่งสมรรถนะร่วมสำหรับที่ปรึกษาอุตสาหกรรม คือ คุณสมบัติที่ผู้ให้บริการธุรกิจอุตสาหกรรมทุกคนควรมีเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ประกอบการจะได้รับคำปรึกษาแนะนำและบริการที่มีคุณภาพ โดยขอความร่วมมือหน่วยงานภายใต้สังกัดดีพร้อม ทั้งจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เชิญชวนที่ปรึกษาสมัครเข้ารับการประเมินดังกล่าวฯ ทั้งนี้ ผู้ที่ได้เข้ารับการประเมินสมรรถนะร่วมที่ปรึกษาอุตสาหกรรม จะได้รับสิทธิ์เป็นผู้เชี่ยวชาญและให้คำปรึกษาแนะนำออนไลน์แก่ผู้ประกอบการผ่านระบบให้บริการของดีพร้อม (DIPROM Service) ซึ่งจะเป็นช่องทางสำหรับการสะสมผลงาน สร้างการรับรู้ เป็นที่รู้จัก อีกทั้ง ยังเพิ่มโอกาสในการได้รับการคัดเลือกรับงานของดีพร้อม หน่วยงานเครือข่าย และผู้ประกอบการอีกด้วย
19 พ.ค. 2567
ดีพร้อม ร่วมกับ เมติ สรุปผลสำเร็จโครงการพัฒนาระบบขึ้นทะเบียนที่ปรึกษาและโครงการพัฒนาบุคลากรด้าน IoT
กรุงเทพฯ 14 พฤษภาคม 2567 – นายวัชรุน จุ้ยจำลอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานการประชุมสรุปผลสำเร็จโครงการพัฒนาระบบขึ้นทะเบียนที่ปรึกษาและโครงการพัฒนาบุคลากรด้าน IoT ระหว่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ดีพร้อม) และ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม หรือ เมติ (METI) ประเทศญี่ปุ่น โดยมี Ms.Kayo Matsumoto, Director of Techical Cooperation Division พร้อมคณะ ผู้แทนจากกระทรวงเมติประเทศญี่ปุ่น และคณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) ณ ห้องประชุม 2 ชั้น 3 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Headquarter) และในรูปแบบออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชั่น Zoom Meeting การประชุมดังกล่าว เป็นการสรุปผลความสำเร็จจากการที่กระทรวงเมติให้การสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญและงบประมาณในการดำเนินโครงการพัฒนาระบบขึ้นทะเบียนที่ปรึกษาด้าน Digital Transformation และโครงการพัฒนาบุคลากรด้าน IoT ผ่านการอบรมหลักสูตร SMST ,LASI และ LIPE ซึ่งทางดีพร้อมมีแผนในการต่อยอดโครงการดังกล่าวในปี 2568 ต่อไป
19 พ.ค. 2567
"รสอ.ดวงดาว" ติดตามความคืบหน้าการจัดงานพิธีปิด คพอ. ภาคอีสาน
กรุงเทพฯ 14 พฤษภาคม 2567 – นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (รสอ.) ประชุมติดตามความคืบหน้าการจัดพิธีปิดโครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม (คพอ.) ภาคอีสาน โดยมี นายติณห์ เจริญใจ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 4 นางรุ่งอรุณ เปี่ยมปัจจัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 5 นางคนึงนิจ ทยายุทธ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 6 นางละเอียด มธุรส ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 7 คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม รสอ. ชั้น 3 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Headquarter) และในรูปแบบออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชั่น Zoom Meeting การประชุมดังกล่าว เป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการจัดงานพิธีปิดโครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม (คพอ.) ในพื้นที่จังหวัดภาคอีสาน เป็นการดำเนินการ่วมกันระหว่างศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 4, 5, 6 และ 7 โดยโครงการดังกล่าว เป็นการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อต่าง ๆ อาทิ การสร้างแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ การสร้างภาวะความเป็นผู้นำ และการเสริมองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการธุรกิจในหลากหลายด้าน เช่น ด้านการเงิน การตลาด การจัดทำแผนธุรกิจ และด้านดิจิทัล เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการให้เป็นนักธุรกิจที่พร้อมจะพัฒนาและรองรับการเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น และเกิดการเรียนรู้หลักการบริหารธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ สมาชิก คพอ. ยังได้สร้างเครือข่าย พร้อมเชื่อมโยงและจับคู่ธุรกิจ ซึ่งก่อให้เกิดโอกาสในการต่อยอดธุรกิจหรือขยายการลงทุนในอนาคตต่อไป
19 พ.ค. 2567
ดีพร้อม ปลื้มองค์กรร่วมมหกรรมคิวซีลดต้นทุน-เพิ่มผลิตกว่า 100 ล้านบาท พร้อมตั้งเป้ายกระดับคุณภาพอุตสาหกรรมไทยสู่สากล
กรุงเทพฯ 13 พฤษภาคม 2566 – นายใบน้อย สุวรรณชาตรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานในงานมหกรรมคิวซีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 38 มหกรรมคุณภาพภาครัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 35 และมหกรรมคุณภาพข้ามสายงาน ครั้งที่ 7 ร่วมด้วย นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ผู้บริหารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม คณะกรรมการจัดงานสมาคมส่งเสริมคุณภาพแห่งประเทศไทย และบุคลากรจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยมี นายวัชรุน จุ้ยจำลอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวรายงาน ณ ห้องประชุม 2 ชั้น 6 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Headquarter) พระรามที่ 6 ราชเทวี งานดังกล่าว จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้นำกิจกรรมกลุ่มคุณภาพ หรือคิวซี ไปปรับใช้ในองค์กรทำให้บุคลากรมีส่วนร่วมในการพัฒนาองค์กรและแก้ไขปัญหานำมาสู่การปฏิบัติที่ก่อให้เกิดผลด้านบวก ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพอุตสาหกรรมไทยสู่สากล ทั้งนี้ การดำเนินการกลุ่มคุณภาพขององค์กรที่เข้าร่วมกิจกรรมในปีที่ผ่านมาสามารถลดค่าใช้จ่ายให้กับองค์กรได้มากกว่า 100 ล้านบาท
14 พ.ค. 2567
“พิมพ์ภัทรา” ยกคณะลงพื้นที่ภาคกลางตอนล่าง 2 ตรวจเยี่ยมการฝึกอาชีพชุมชน-รับฟังปัญหา ก่อนชงเข้าที่ประชุม ครม.สัญจรนอกสถานที่ ครั้งที่ 3
จ.ราชบุรี - จ.เพชรบุรี 13 พฤษภาคม 2567 - นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร นางสาวศิรินันท์ ศิริพานิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายบรรจง สุกรีฑา นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายเดชา จาตุธนานันท์ นายเอกนิติ รมยานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม นางสาวณิรดา วิสุทธิชาติธาดา ผู้ช่วยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายวาที พีระวรานุพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายอนันต์ ฟักสักข์ รักษาการรองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ นายพิชิต มิทราวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย คณะผู้บริหารระดับกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่จังหวัดราชบุรี และจังหวัดเพชรบุรี การลงพื้นที่ดังกล่าว เป็นการตรวจเยี่ยมกิจกรรมฝึกอาชีพของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อมใน 4 จุด ดังนี้ จุดที่ 1 ตรวจเยี่ยมกิจกรรมฝึกอาชีพ ณ โรงเรียนรัตนราษฎร์บำรุง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งมีการอบรมในหลักสูตรการตัดต่อภาพ/คลิป การทำไข่เค็ม การทำยาหม่องน้ำ และการทำสบู่สมุนไพร มีผู้เข้ารับร่วมกิจกรรมจุดนี้ ประมาณ 300 คน จุดที่ 2 ตรวจเยี่ยมกิจกรรมฝึกอาชีพ ณ วิทยาลัยเทคนิคราชบุรี อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ซึ่งมีการอบรมในหลักสูตรเค้กกล้วยหอมนึ่ง ซาลาเปานึ่ง สบู่น้ำผึ้งหัวไชเท้า และการตัดต่อภาพ มีผู้เข้ารับร่วมกิจกรรมจุดนี้ ประมาณ 300 คน จากนั้นในช่วงบ่าย ได้เดินทางไปยังจังหวัดเพชรบุรี เพื่อตรวจเยี่ยมกิจกรรมฝึกอาชีพ ในจุดที่ 3 ณ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเพชรบุรี อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งมีการอบรมในหลักสูตรการทำไข่เค็ม การทำเค้กกล้วยหอม การทำซาลาเปา และการทำสบู่สมุนไพร มีผู้เข้ารับร่วมกิจกรรมจุดนี้ ประมาณ 300 คน และจุดที่ 4 ตรวจเยี่ยมกิจกรรมฝึกอาชีพของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ณ โรงเรียนบ้านลาดวิทยา อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งมีการอบรมในหลักสูตรการทำไข่เค็ม การทำเค้กกล้วยหอม การทำซาลาเปา และการทำสบู่สมุนไพร มีผู้เข้ารับร่วมกิจกรรมจุดนี้ ประมาณ 300 คน
14 พ.ค. 2567
"รสอ.วาที" ลงพื้นที่เตรียมความพร้อมการจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการส่งเสริมทักษะอาชีพดีพร้อม
จ.เพชรบุรี - จ.ราชบุรี 12 พฤษภาคม 2567 - นายวาที พีระวรานุพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ติดตามการเตรียมความพร้อมการจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการส่งเสริมทักษะอาชีพดีพร้อม พร้อมด้วย นายเดชา จาตุธนานันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) โดยมี นางสาวอัญชลีย์พร เขียวเกษม ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 8 ให้การต้อนรับ การลงพื้นที่ดังกล่าว เป็นการติดตามการเตรียมความพร้อมการจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการส่งเสริมทักษะอาชีพดีพร้อม จำนวน 3 จุด ได้แก่ จุดที่ 1 โรงเรียนบ้านลาดวิทยา ตำบลบ้านลาด อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี จุดที่ 2 วิทยาลัยอาชีวศึกษาเพชรบุรี ตำบลคลองกระแชง อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี และ จุดที่ 3 วิทยาลัยเทคนิคราชบุรี ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี เพื่อเตรียมการให้กิจกรรมดังกล่าวดำเนินการไปอย่างเรียบร้อย และมีประสิทธิภาพต่อไป
13 พ.ค. 2567
“รัฐมนตรีฯ พิมพ์ภัทรา” นั่งหัวโต๊ะ แถลงยืนยัน เหตุเพลิงไหม้ที่มาบตาพุดไร้กังวลแจงดับสนิทแล้ว พร้อมส่งทีมแพทย์ดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่ ด้าน “วีริศ” กำชับทุกนิคมฯ เข้มงวดมากขึ้น อย่าให้เกิดซ้ำอีก!
จ.ระยอง 10 พฤษภาคม 2567 - นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่บริษัท มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด จ.ระยอง โดยมี นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวไพลิน เทียนสุวรรณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายวิษณุ ทับเที่ยง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม รองศาสตราจารย์วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย และคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ณ บริษัท มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด การลงพื้นที่ดังกล่าว สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว โดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และบริษัทฯ ได้ทำการควบคุมเพลิงไว้ได้อย่างเด็ดขาด แต่ขณะเดียวกันยังทำการฉีดโฟมหล่อเย็นไว้ เพื่อควบคุมอุณหภูมิจากสภาวะอากาศที่มีอุณหภูมิสูง ด้านการดูแลประชาชนในพื้นที่โดยรอบนั้น ได้อพยพประชาชนไปยังที่ทำการชุมชนตากวนอ่าวประดู่ จ.ระยอง รวมทั้งประสานกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยคณะสหเวชศาสตร์ เพื่อส่งทีมแพทย์เข้ามาดูแลสุขภาพ และตรวจรักษาให้กับพี่น้องประชาชนแล้ว ส่วนการตรวจวัดคุณภาพน้ำชุมชนโดยรอบพื้นที่ โดยรถโมบายของสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด (สนพ.) จำนวน 2 จุด ได้แก่ คลองชากหมาก และบริเวณบริษัท ไทยพลาสติกเคมีภัณฑ์ พบว่าคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ขณะที่คุณภาพในบรรยากาศพบว่า ผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศจำนวน 3 จุด ได้แก่ จุดตรวจสถานีอนามัยตากวน จุดตรวจสถานีหนองเสือเกือก และจุดตรวจสถานีเทศบาลเมืองมาบตาพุด อยู่ในเกณฑ์ปกติ “สำหรับผู้ได้รับบาดเจ็บ 5 ราย และเสียชีวิต 1 ราย เบื้องต้นทางบริษัทฯ ยืนยันว่าจะดูแลและเยียวยาอย่างเต็มที่ และดิฉันได้มอบเงินช่วยเหลือให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย นอกจากนี้ ยังกำชับ กนอ. ให้กำกับดูแลการประกอบกิจการในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม และท่าเรืออุตสาหกรรมอย่างเข้มงวดและรัดกุมมากขึ้น อีกทั้งต้องกำกับให้ปฏิบัติตามกฎข้อบังคับตาม พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535 ที่แก้ไขเพิ่มเติมอย่างจริงจังด้วย” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า กนอ. จะตรวจวิเคราะห์หาสาเหตุของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยเร่งด่วน จัดทำมาตรการด้านความปลอดภัยเพื่อป้องกันการเกิดซ้ำ ซึ่งต้องได้รับการรับรองจากหน่วยงานภายนอกที่ให้การรับรองด้านความปลอดภัย (Third Party) พร้อมทั้งชี้แจงแนวทางและมาตรการในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเกิดอุบัติเหตุดังกล่าวด้วย อย่างไรก็ตาม ได้กำชับทุกนิคมอุตสาหกรรมให้เพิ่มความเข้มงวดของมาตรการรักษาความปลอดภัยภายในพื้นที่ ตามมาตรฐาน “การจัดการความปลอดภัยกระบวนการผลิต”(Process Safety Management : PSM) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบกิจการ และประชาชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรม เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน
13 พ.ค. 2567
ดีพร้อม โชว์ผลสำเร็จ “BCG Model” นำร่อง 10 กิจการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 2,000 ตันต่อปี พร้อมขยายผลปี 67 เตรียมเปิดตัวเดือนมิถุนายนนี้
กรุงเทพฯ 9 พฤษภาคม 2567 - นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานเปิดกิจกรรมการแสดงศักยภาพอุตสาหกรรมไทย พร้อมด้วย นายวาที พีระวรานุพงศ์ และนายวัชรุน จุ้ยจำลอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหารดีพร้อม (DIPROM) โดยมี นายวุฒิชัย ประชาพร ผู้อำนวยการกองพัฒนาขีดความสามารถธุรกิจอุตสาหกรรม กล่าวรายงาน ณ อาคารเพิร์ล แบงก์ค็อก พญาไท กิจกรรมดังกล่าว เป็นการดำเนินงานภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจ BCG พร้อมเชื่อมโยงพันธมิตรทางธุรกิจ (BCG DIPROM Open House) เป็นการมุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะการสร้างการเปลี่ยนแปลงภาคอุตสาหกรรมสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ในโครงการยกระดับธุรกิจ SME ด้วยการประยุกต์ใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยที่ผ่านมาสามารถนำร่องและยกระดับผู้ประกอบการจำนวนกว่า 10 กิจการ สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 60 ล้านบาท และสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้แล้วมากกว่า 2,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์อีกด้วย รวมถึงบูรณาการเครือข่ายความร่วมมือให้เป็นกลไกสนับสนุนและสร้างแรงจูงใจให้ลงทุนในกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ในปี 2567 ดีพร้อมยังได้ตั้งเป้ายกระดับผู้ประกอบการไทยจำนวนกว่า 1,800 ราย และเตรียมเปิดตัวโครงการในเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป
13 พ.ค. 2567