โทรศัพท์ 1358

ปลัดฯ ณัฐพล มอบโชคใหญ่รางวัลสลากกาชาดร้านกระทรวงอุตสาหกรรม ประจำปี 2565
กรุงเทพฯ 6 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 11.00 น. - ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานมอบรางวัลสลากกาชาดร้านกระทรวงอุตสาหกรรม ประจำปี 2565 ณ อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ร่วมออกร้านในงานกาชาด ประจำปี 2565 ณ บริเวณสวนลุมพินี ระหว่างวันที่ 8 – 18 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา ภายใต้แนวคิด “อุตสาหกรรมรวมใจ ใต้ร่มพระบารมี สดุดี 90 พรรษา” เพื่อเป็นการร่วมเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา 90 พรรษา และทรงดำรงตำแหน่งองค์สภานายิกาสภากาชาดไทย ครบ 66 ปี และเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ภารกิจของกระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้นโยบาย MIND ใช้หัวและใจปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดทำสลากบำรุงสภากาชาดไทยทั้งสิ้น 60,000 ใบ มีรางวัลมูลค่ากว่า 1.8 ล้านบาท สำหรับผู้โชคดีได้รับรางวัลสลากบำรุงสภากาชาดไทย ร้านกระทรวงอุตสาหกรรม มีดังนี้ รางวัลที่ 1 รถยนต์ MG EP PLUS สีขาว ผู้โชคดี ได้แก่ นางสาวภคภัทร สุวรรณเรือง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน รางวัลที่ 2 รถยนต์ SUZUKI SWIFT รุ่น GL PLUS 1.2L สีแดง ผู้โชคดี ได้แก่ นางสาวน้ำใส ศุภรัชชานนท์ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม รางวัลที่ 3 รถจักรยานยนต์ 4 คัน ประกอบด้วย รถจักรยานยนต์ HONDA รุ่น New Scoopy จำนวน 2 คัน ผู้โชคดี ได้แก่ นายศุภากร โพธิ์ศรี อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และนายวิเชียร เล็กวิจิตรธาดา อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร รถจักรยานยนต์ YAMAHA รุ่น Fazzio จำนวน 2 คัน ผู้โชคดี ได้แก่ นายนคร ศรีมงคล เขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ และนายวศพล งางาม อำเภอดอนพุด จังหวัดสระบุรี โดยมี นายสุรพล ชามาตย์ นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายภาสกร ชัยรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายใบน้อย สุวรรณชาตรี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวด้วย ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
07 ก.พ. 2566
ดีพร้อม - เมืองนานาโอะ จับมือลงนาม MOU ผลักดันการสร้างเครือข่ายธุรกิจ
จ.สุพรรณบุรี 2 กุมภาพันธ์ 2566 - นางสุชาดา โพธิ์เจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเป็นผู้แทนกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม ลงนามบันทึกความเข้าใจกับนายชาทานิ โยชิทากะ นายกเทศมนตรีเมืองนานาโอะ ผู้แทนรัฐบาลท้องถิ่น จังหวัดอิชิกาวะ ประเทศญี่ปุ่น ผ่าน รูปแบบออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชั่น Zoom Webinars การลงนาม MOU ในครั้งนี้ เป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันของไทย-ญี่ปุ่นเพื่อผลักดันการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมของทั้งสองฝ่าย และขยายความร่วมมือในการพัฒนาพร้อมต่อยอดการค้าการลงทุนให้ไทยเป็นฐานการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและยกระดับภาคอุตสาหกรรมร่วมกัน โดยภายหลังจากเสร็จพิธีได้มีการจัดกิจกรรมสัมมนาเชื่อมโยงความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่นภายใต้แนวคิด OTAGAI (OTAGAI Forum) ครั้งที่ 22 โดยมีเมืองนานาโอะ จังหวัดอิชิกาวะรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดงานดังกล่าว ทั้งนี้ งาน OTAGAI Forum ครั้งที่ 22 ถูกจัดขึ้นเพื่อสร้างโอกาสแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคโนโลยี รวมทั้งสร้างโอกาสในการเชื่อมโยงผู้ประกอบการไทย-ญี่ปุ่น และได้มีการกำหนดให้สาขาอุตสาหกรรม BCG เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายในครั้งนี้ ### PRDIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
03 ก.พ. 2566
ดีพร้อม ลงพื้นที่เยี่ยมชมสถานประกอบการผู้นำด้านอาหารสุขภาพ
จ.สุพรรณบุรี 2 กุมภาพันธ์ 2566 - นายใบน้อย สุวรรณชาตรี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (อสอ.) พร้อมด้วย นางสุชาดา โพธิ์เจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (รสอ.) คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) ลงพื้นที่เยี่ยมชม บริษัท ซองเดอร์ ไทยออร์กานิคฟูด จำกัด โดยมี นางสุวรรณา จิวัฒนไพบูลย์ รองประธานบริษัทฯ ให้การต้อนรับพร้อมสรุปภาพรวมของบริษัทฯ ณ ตำบลหนองโอ่ง อำเภออู่ทอง บริษัท ซองเดอร์ ไทยออร์กานิคฟูด จำกัด คือ ผู้ผลิตธัญพืชสำเร็จรูปในรูปแบบอาหารและเครื่องดื่มจากเกษตรอินทรีย์ไร้สารพิษ (Organic) แบบเต็มเมล็ด ไม่สกัดเปลือก (Whole Grains) ในท้องถิ่นแถบอำเภออู่ทอง โดยมีผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้แก่ ขนมธัญพืช โจ๊กข้าวกล้องเต็มเมล็ด ข้าวกล้องงอกบด เครื่องดื่มธัญญาหาร และซุปธัญพืช โดยที่ผ่านมา ดีพร้อม ได้ส่งเสริมผู้ประกอบการในการประกอบธุรกิจผ่านหลากหลายกิจกรรม ให้มีทักษะด้านต่าง ๆ ได้แก่ กิจกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของวิสาหกิจและพัฒนาศักยภาพบุคลากรภาคอุตสาหกรรม กิจกรรมการส่งเสริมผลิตภาพและสุขภาวะองค์กรฯ (SHAP) กิจกรรมยกระดับ SMEs อุตสาหกรรมแปรรูปนวัตกรรมและเทคโนโลยีแปรรูป กิจกรรมปั้น SMEs สู่ B2C ฝ่าวิกฤตโควิด-19 กิจกรรมเสริมสร้างความร่วมมือด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน และกิจกรรมการยกระดับมาตรฐานเกษตร (Agro Genius Standardization) พร้อมกันนี้ ผู้ประกอบการยังได้นำคณะดีพร้อมเดินชมสายการผลิตสินค้าธัญพืชในขั้นตอนต่าง ๆ โดย อสอ.ได้แนะนำให้ผู้ประกอบการเข้ารับคำปรึกษาการพัฒนาธุรกิจเพื่อจะได้สามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ### PRDIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
03 ก.พ. 2566
“อธิบดีใบน้อย” ลงพื้นที่สุพรรณบุรี ตรวจเยี่ยมและมอบแนวทางการปฏิบัติงานแก่บุคลากรดีพร้อมเซ็นเตอร์ 8
จ.สุพรรณบุรี 2 กุมภาพันธ์ 2566 - นายใบน้อย สุวรรณชาตรี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (อสอ.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมชมการดำเนินงานของศูนย์ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 8 (DIPROM CENTER 8) ร่วมด้วย นางสุชาดา โพธิ์เจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (รสอ.) คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) โดยมี นางสาวอัญชลีย์พร เขียวเกษม ผู้อำนวยการศูนย์ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 8 ข้าราชการ พนักงาน และเจ้าหน้าที่ศูนย์ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 8 ให้การต้อนรับและสรุปภาพรวมการดำเนินงาน ณ ศูนย์ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 8 โดย อสอ.ได้เยี่ยมชมการฝึกอาชีพ ในโครงการนักส่งเสริมอาชีพดีพร้อม หลักสูตร การเพาะเห็ดในเชิงธุรกิจ และดอกไม้ประดิษฐ์จากผ้า นอกจากนี้ยังได้เยี่ยมชมการทำงานของส่วนต่าง ๆ ภายในศูนย์ ได้แก่ ศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอี หรือ SSRC ห้องออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ของศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมดีพร้อม (DIPROM ITC) รวมถึงสภาพแวดล้อมห้องทำงานของแต่ละกลุ่มงาน นอกจากนี้ อสอ. ได้เข้ารับฟังการรายงานสรุปภาพรวมผลการดำเนินงานและการให้บริการต่าง ๆ ของ ศูนย์ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 8 รวมถึงแนวทางการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่มีเป้าหมายการทำงาน 17 โครงการ 30 กิจกรรม เพื่อสอดรับกับนโยบายดีพร้อมโต อาทิ การช่วยเหลือผู้ประกอบการให้มีมาตรฐานทางธุรกิจและปรับตัวได้ การพัฒนาธุรกิจโดยนำหุ่นยนต์เข้ามาช่วยเหลือ ซึ่ง อสอ.ใบน้อย และ รสอ.สุชาดา ได้กล่าวชื่นชมทั้งในส่วนของการทำงาน และสภาพภูมิทัศน์ของศูนย์ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 8 พร้อมมอบแนวทางการปฏิบัติงานให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ ในด้านของการพัฒนาศักยภาพในหลาย ๆ ด้าน เช่น การจับคู่ธุรกิจระหว่างหน่วยงานภายในดีพร้อม การฝึกบุคลากรดีพร้อมรุ่นเยาว์สู่การเป็นวิทยากร เพื่อเสริมทักษะความชำนาญจนเป็นความสามารถติดตัว และเพื่อขยายผลการบริการในกิจกรรม/โครงการต่าง ๆ ได้กว้างขึ้น ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
03 ก.พ. 2566
ดีพร้อม เตรียมเคาะแผนยกระดับรางวัลอุตสาหกรรม ปี 66
กรุงเทพฯ 1 กุมภาพันธ์ 2566 – นางสุชาดา โพธิ์เจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (รสอ.) เป็นประธานการประชุมคณะทำงานเลขานุการรางวัลอุตสาหกรรมประจำปี 2566 ร่วมด้วย คณะทำงานฯ คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) และทีมเลขานุการคณะทำงานรางวัลอุตสาหกรรมประจำปี 2566 ณ ห้องประชุม1 ชั้น 3 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม การประชุมครั้งนี้ คณะทำงานเลขานุการฯ ได้ร่วมกันพิจารณาในส่วนของแผนงาน แนวทาง การดำเนินกิจกรรมการจัดรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี 2566 โดยในปีนี้ได้วางแนวทางยกระดับให้สอดคล้องกับนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรมภายใต้แนวคิด “อุตสาหกรรมดี อยู่คู่กับชุมชนอย่างยั่งยืน” เพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจฐานรากมุ่งส่ความสำเร็จผ่านนโยบาย 4 มิติ คือ ส่งเสริมธุรกิจ ดูแลสังคม รักษาสิ่งแวดล้อม และ กระจายรายได้สู่ชุมชน การปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมสู่ S-curve เน้นการผลิตและโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ รวมทั้งพิจารณาการเตรียมจัดงานในส่วนของ การประชุมคณะกรรมการจัดงานฯ งานแถลงข่าว และการจัดทำคู่มือรางวัลอุตสาหกรรม เพื่อนำเสนอคณะกรรมการจัดงานรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี 2566 ต่อไป ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
02 ก.พ. 2566
ปลัดฯ ณัฐพล ลงพื้นที่ จ. นครสวรรค์ เร่งเดินหน้านโยบาย MIND เน้นย้ำ สอจ. ดูแลชุมชนรอบโรงงาน บูรณาการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ ตอบรับแนวนโยบายของรัฐที่ส่งเสริม Bioeconomy
วันนี้ (1 กุมภาพันธ์ 2566) ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ (สอจ.นครสวรรค์) โดยมีนายชัชพล อินทโฉม อุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ นายสิทธิรงณ์ เร่งเงียบ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 3 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้การต้อนรับ อุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ ได้รายงานผลการดำเนินงานของ สอจ.นครสวรรค์ ประกอบด้วย โครงสร้างบุคลากร การเบิกจ่ายงบประมาณ โครงการแผนปฏิบัติราชการประจำปี 2566 และคำของบประมาณ 2567 นอกจากนี้ทาง สอจ. ยังได้รายงานถึงการพัฒนาศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ ภายใต้แนวคิด BCG Model เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมฐานชีวภาพ มุ่งสู่การพัฒนาและปรับเปลี่ยนการประกอบการอุตสาหกรรมสู่วิถีใหม่ 4 มิติ ได้แก่ ความสำเร็จทางธุรกิจ ชุมชน/สังคม สิ่งแวดล้อม และกระจายรายได้ อันจะนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคการเกษตรและชุมชน และเชื่อมโยงตลอดห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ผ่านกิจกรรมการดำเนินงาน ดังนี้ 1) การจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมฐานชีวภาพจังหวัดนครสวรรค์ โดยพัฒนาระบบการผลิตทางการเกษตร เพื่อเพิ่มผลผลิตอ้อย มุ่งสู่เป้าหมาย 10 ล้านตัน/ปี ภายในปี 2570 2) ส่งเสริมการนำเศษวัสดุหรือกากอุตสาหกรรมที่ไม่ใช้แล้วมาเป็นวัตถุดิบในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อส่งเสริมงานฝีมือและหัตถกรรมสร้างรายได้กระจายสู่ท้องถิ่น 3) พัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ตำบลหนองโพ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ตามเกณฑ์และตัวชี้วัดการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ผ่านเกณฑ์การประเมินฯ ระดับที่ 4 ภายในปี 2570 และ 4) การสร้างและพัฒนาเครือข่ายอุตสาหกรรมรักษ์สิ่งแวดล้อม รณรงค์และส่งเสริมการใช้ระบบธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการ ตามหลักธรรมาภิบาลอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบนโยบายให้ สอจ.นครสวรรค์ เน้นการดำเนินงานภายใต้แนวคิด “MIND ปรับอุตสาหกรรมเข้าสู่วิถีใหม่” โดยให้ความสำคัญในการยกระดับทุกองค์ประกอบของภาคอุตสาหกรรม ควบคู่กับการสร้างความเข้มแข็งและกระจายรายได้สู่ชุมชน ด้วย “หัว” และ “ใจ” ของคนกระทรวงอุตสาหกรรม การสร้างภาพลักษณ์และคุณค่าใหม่ของอุตสาหกรรม ด้วยหลักการ “อุตสาหกรรมดี ชุมชนดี หน่วยงานดี” ตามแนวอุตสาหกรรมวิถีใหม่ เพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จ 4 มิติ พร้อมทั้งการให้รางวัลกับคนทำดี ได้แก่ มิติที่ 1 ความสำเร็จทางธุรกิจ มิติที่ 2 การดูแลสังคมโดยรอบโรงงานอุตสาหกรรม มิติที่ 3 การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมที่ตอบโจทย์ไทยและประชาคมโลก มิติที่ 4 การกระจายรายได้ให้กับประชาชนและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พร้อมเน้นย้ำให้ สอจ.นครสวรรค์ ช่วยเหลือประชาชนที่อยู่โดยรอบโรงงานอุตสาหกรรมและสถานประกอบการเหมืองแร่ และผู้ที่เข้าร่วมโครงการฝึกอาชีพดีพร้อมในจังหวัดนครสวรรค์ที่ผ่านมา กว่า 40,000 คน โดยต่อยอดและผลักดันให้สามารถเป็นผู้ประกอบการ มีอาชีพ และสร้างรายได้ที่ยั่งยืน รวมทั้งให้เชื่อมโยงการทำงานกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย เพื่อให้บริการด้านการเงินสำหรับนำไปพัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการ SMEs ต่อไป หลังจากนั้น ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมคณะ ได้ตรวจเยี่ยมธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย สาขาจังหวัดนครสวรรค์ เพื่อรับฟังการดำเนินงานและให้กำลังใจบุคลากรทุกระดับ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป
02 ก.พ. 2566
อธิบดีใบน้อย ประชุมคณะกรรมการจัดทำระบบและกลั่นกรองการประเมินผลการปฏิบัติราชการของดีพร้อม
กรุงเทพฯ วันที่ 31 มกราคม 2566 - นายใบน้อย สุวรรณชาตรี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดทำระบบและกลั่นกรองการประเมินผลการปฏิบัติราชการกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมด้วย นางสุชาดา โพธิ์เจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) เข้าร่วมประชุมดังกล่าว ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 3 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Headquarter) การประชุมดังกล่าว เป็นการพิจารณามาตรฐานและความเป็นธรรม การประเมินผลการปฏิบัติราชการของข้าราชการประเภทอำนวยการ ประเภทวิชาการ และประเภททั่วไป ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 รอบที่ 2 (1 เมษายน - 30 กันยายน 2565) เพื่อให้การประเมินผลการปฏิบัติราชการของข้าราชการพลเรือนสามัญของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยตามแนวทางที่สำนักงาน ก.พ. กำหนด ## PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
01 ก.พ. 2566
รสอ.สุชาดาฯ ร่วมประชุมบอร์ดคณะอนุกรรมการฯ พิจารณากรอบการปฏิบัติงานของ สสว. ประจำปี 67 - 68
กรุงเทพฯ วันที่ 31 มกราคม 2566 - นางสุชาดา โพธิ์เจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (รสอ.) เป็นผู้แทนจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเข้าร่วมประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองและติดตามการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ครั้งที่ 1/2566 ร่วมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาคีเครือข่าย โดยมี นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (NCB) เป็นประธานอนุกรรมการ ณ ห้องประชุม 1801 ชั้น 18 อาคาร สสว. และรูปแบบออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชั่น Zoom Meeting การประชุมครั้งนี้ ในที่ประชุมได้ร่วมรับทราบการดำเนินงานในส่วนของแผนการส่งเสริมเอสเอ็มอี ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566 - 2570) และแผนปฏิบัติการส่งเสริมเอสเอ็มอี ประจำปี 2566 และติดตามความก้าวหน้าแผนปฏิบัติการส่งเสริม เอสเอ็มอี ประจำปี 2567 ที่ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2566 ในวงเงินคำของบประมาณ 6,244.7064 ล้านบาท พร้อมกันนี้ ยังได้ร่วมกันพิจารณากรอบการปฏิบัติงานด้านแผนปฏิบัติการและงบประมาณของ สสว. ประจำปี 2567 - 2568 ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดงบประมาณเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี 2567 ในวันที่ 14 มีนาคม ที่จะถึงนี้ ## PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
01 ก.พ. 2566
ดีพร้อม กางแผนอัพเดทคู่มือ/มาตรฐานการปฏิบัติงาน ยกระดับประสิทธิภาพองค์กร
กรุงเทพฯ วันที่ 31 มกราคม 2566 - นางสุชาดา โพธิ์เจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการการจัดทำคู่มือหรือมาตรฐานการปฏิบัติงานของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมด้วย คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) จากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 160 คน โดยมี นางเกษราภรณ์ โกวิทลวากุล ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กล่าวรายงาน ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (DIPROM Thai-IDC) กส.กสอ. และ รูปแบบออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชั่น Zoom Meeting การประชุมครั้งนี้ เป็นการเปิดโอกาสให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องได้ร่วมมือกันจัดทำ ทบทวนคู่มือมาตรฐานการปฏิบัติงานของแต่ละกระบวนงานทำงานทั้งในส่วนงานหลักและงานสนับสนุน ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม ภายใต้หัวข้อการนำเสนอ ดังนี้ 1. นิยาม รูปแบบ ประโยชน์และความสำคัญของการจัดทำคู่มือฯ 2. องค์ประกอบคู่มือมาตรฐานการปฏิบัติงาน และ 3 กิจกรรมประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เพื่อให้คู่มือการปฏิบัติงานมีมาตรฐานและเป็นปัจจุบัน ตามเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ 4.0 (PMQA 4.0) อีกทั้งยังเป็นการยกระดับประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของหน่วยงาน โดยการจัดทำคู่มือหรือมาตรฐานการปฏิบัติงาน ถือเป็นหนึ่งในการปฏิบัติตามเกณฑ์การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ที่กำหนดให้หน่วยงานแสดงข้อมูลหรือคู่มือแนวทางการปฏิบัติให้ผู้รับบริการใช้เป็นข้อมูลในการติดต่อกับหน่วยงาน และสอดคล้องกับหลักการพัฒนาสู่ระบบราชการ 4.0 เพื่อรองรับนโยบายการหมุนเวียนการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรและเป็นแนวทางการถ่ายทอดองค์ความรู้แก่บุคลากรต่อไป ## PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
01 ก.พ. 2566
อธิบดีใบน้อย ร่วมหารือ บีโอไอ เตรียมแนวทางความร่วมมือ เพื่อส่งเสริมกิจการนวัตกรรมและวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup)
กรุงเทพฯ วันที่ 31 มกราคม 2566 - นายใบน้อย สุวรรณชาตรี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานการประชุมแนวทางความร่วมมือเพื่อส่งเสริมกิจการนวัตกรรมและวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ในการส่งเสริมภายใต้พระราชบัญญัติการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย พ.ศ. 2560 ร่วมด้วย นางสุชาดา โพธิ์เจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) โดยมี นายวิรัตน์ ธัชศฤงคารสกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เข้าร่วมประชุมดังกล่าว ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 3 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Headquarter) การประชุมดังกล่าว ดีพร้อม และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้หารือแนวทางความร่วมมือเพื่อส่งเสริมกิจการนวัตกรรมและวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ในการส่งเสริมภายใต้พระราชบัญญัติการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย พ.ศ. 2560 ซึ่ง ดีพร้อม มีเป้าหมายในการส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สร้างประโยชน์อย่างสูงต่อเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ พร้อมทั้งสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้อย่างยั่งยืน โดยแนวทางของดีพร้อมได้เน้นเรื่องการใช้เครือข่าย (Networking) มาเติมเต็มในการสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เอื้ออำนวยต่อการส่งเสริมและสนับสนุนสตาร์ตอัพ ให้สามารถเติบโตและประสบความสำเร็จ ซึ่งประกอบด้วย 4 แนวทาง ได้แก่ 1) การขยายเครือข่ายสตาร์ตอัพ 2) การขยายเครือข่ายเงินทุน 3) การขยายเครือข่ายตลาด และ 4) การขยายเครือข่ายวิชาการนานาชาติ นอกจากนี้ ยังมีมาตรการพิเศษภายใต้พระราชบัญญัติการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย พ.ศ. 2560 ประกอบด้วย 1) มาตรการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น 2) มาตรการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรทักษะขั้นสูง และ 3) การสนับสนุนการนำผลงานวิจัยและพัฒนามาต่อยอดเป็นการผลิตในเชิงพาณิชย์ ## PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
01 ก.พ. 2566