"ดีพร้อม" เปิดประตูภาคอีสานรับฟังความคิดเห็น พร้อมเร่งยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการไทย
จ.อุดรธานี 17 กันยายน 2567 - นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานในการประชุมการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อเป็นแนวทางในการจัดทำคำของบประมาณ ประจำปี พ.ศ. 2569 ครั้งที่ 4 พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) กลุ่มผู้ประกอบการ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เข้าร่วม เพื่อรับฟังปัญหาและความต้องการของผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินงานให้สอดคล้องกับแผนงานต่าง ๆ นำไปกำหนดนโยบายการส่งเสริมและพัฒนาให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากหลายภาคส่วน ประกอบด้วยสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยจังหวัด (กาฬสินธุ์ นครราชสีมา) หอการค้าจังหวัด (อุดรธานี นครราชสีมา ชัยภูมิ) สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (อุดรธานี อุบลราชธานี หนองคาย บุรีรัมย์ ชัยภูมิ มหาสารคาม กาฬสินธุ์ นครพนม บึงกาฬ) สภาเกษตรกรจังหวัด (อุดรธานี บุรีรัมย์) สถาบันการเงิน (บสย. / ธนาคารออมสิน /และ ธพว.) สาขาจังหวัดอุดรธานี และสุรินทร์ ผู้ประกอบการ SME และวิสาหกิจชุมชน ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งนี้ ทุกหน่วยงานได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมถึงข้อเสนอแนะต่าง ๆ เพื่อให้ ดีพร้อม นำไปพัฒนาการให้บริการให้สอดคล้องกับความต้องการและปัญหาที่แท้จริงของผู้ประกอบการไทยให้มีการยกระดับศักยภาพและปรับตัวได้เท่าทันสถานการณ์ระบบเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต
11 ต.ค. 2567
"อธิบดีภาสกร" ร่วมประชุม ค.ต.ป.อก. เพื่อตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ ประจำปี 2567
กรุงเทพฯ 16 กันยายน 2567 - นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผล ประจำกระทรวงอุตสาหกรรม (ค.ต.ป.อก.) เรื่อง การประชุมหารือหน่วยงานเพื่อจัดเก็บข้อมูลการจัดทำรายงาน การตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รอบ 12 เดือน (ฉบับสมบูรณ์) พร้อมด้วย นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย อดีตรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นางรัชดา อิสระเสนารักษ์ อดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวนิสากร จึงเจริญธรรม อดีตอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ นายวิษณุ ทับเที่ยง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายวัชรุน จุ้ยจำลอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะกรรมการฯ โดยมี นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ประธานกรรมการประชุม เพื่อรายงานผลการดำเนินงานตามประเด็นการตรวจสอบและประเมินผลของ ค.ต.ป.อก. รอบ 12 เดือน โดยสาระสำคัญตามประเด็นการตรวจสอบและประเมินผลของ ค.ต.ป.อก. ของดีพร้อม มีดังนี้ 1) ประเด็นการตรวจสอบและประเมินผลตามห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) โดยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจไทยด้วยดิจิทัล ภายใต้โครงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจไทยด้วยดิจิทัล (กท.กสอ.) 2) ประเด็นการตรวจสอบและประเมินผลตามภารกิจของกระทรวง โดยการส่งเสริมเกษตรอุตสาหกรรมครบวงจร ภายใต้โครงการส่งเสริมเกษตรอุตสาหกรรมครบวงจร (กอ.กสอ.) ทั้งนี้ คณะกรรมการ ค.ต.ป.อก ได้มีการลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมสถานประกอบการ ในพื้นที่ ศภ.10 (จ.สุราษฎร์ธานี) และ ศภ.4 (จ.อุดรธานี) แล้ว ได้มีข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงพัฒนาการดำเนินโครงการของดีพร้อมให้มีประสิทธิภาพต่อผู้รับบริการมากขึ้นต่อไปในอนาคต
11 ต.ค. 2567
"รองอธิบดีดวงดาว" ร่วมประชุมคณะกรรมการทุน ก.พ. ประจำปี 68
กรุงเทพฯ 16 กันยายน 2567 - นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อดำเนินการทุนของรัฐบาล (ทุน ก.พ.) ของ อก. ครั้งที่ 1/2567 พร้อมด้วย คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรม โดยมี ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุมชุณหะวัณ ชั้น 3 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งการประชุมดังกล่าว เป็นการพิจารณาจัดสรรทุนตามความต้องการของส่วนราชการ/หน่วยงานของรัฐ (ส่วนกลางและส่วนภูมิภาค) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดย ดีพร้อมได้มีการจัดทำรายละเอียดคำขอรับจัดสรรทุนตามแนวทางที่สำนักงาน ก.พ. กำหนด จำนวน 5 ทุน เป็นทุนพัฒนาบุคลากรภาครัฐ (ทุนฝึกอบรม) จำนวน 3 ทุน และทุนพัฒนาบุคลากรภาครัฐ (ทุนศึกษา-ระดับปริญญาโท) จำนวน 2 ทุน
11 ต.ค. 2567
"รองอธิบดีดวงดาว" นำทีมดีพร้อมจัดทำถุงยังชีพ MIND ช่วยผู้ประสบอุทกภัย​ จังหวัดเชียงราย
กรุงเทพฯ 12 กันยายน 2567 - นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นำทีมดีพร้อมช่วยจัดทำถุงยังชีพ MIND ช่วยผู้ประสบอุทกภัย จังหวัดเชียงราย ซึ่งภายในบรรจุเครื่องอุปโภค บริโภค และสิ่งของจำเป็น ที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการทั่วประเทศที่รวมใจส่งมอบรอยยิ้ม เพื่อเป็นกำลังใจให้กับผู้ประสบอุทกภัยในการก้าวข้ามช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้ พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) เข้าร่วม ณ ห้องนิทรรศการ ชั้น 1 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Headquarter)
11 ต.ค. 2567
“รองอธิบดีวัชรุน“ Reshape the industry ยกระดับขีดความสามารถธุรกิจอุตสาหกรรมด้วยดิจิทัล
จ.นครปฐม 12 กันยายน 2567 - นายวัชรุน จุ้ยจำลอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานในการกล่าวแถลงผลสำเร็จพร้อมมอบเกียรติบัตรให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรม “การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และการเผยแพร่ความสำเร็จ” จากการดำเนินกิจกรรมการพัฒนาและบริหารธุรกิจเพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขันด้วยดิจิทัล หรือ Digital MDICP และกิจกรรมการเตรียมความพร้อม SME ศักยภาพเพื่อรองรับการขยายการลงทุนอย่างยั่งยืน หรือ ESG ภายใต้โครงการปรับธุรกิจให้รองรับการเปลี่ยนแปลง ณ โรงแรมไมด้า แกรนด์ ทวารวดี จังหวัดนครปฐม โดยผลจากการดำเนินกิจกรรมทั้ง 2 กิจกรรม คือ กิจกรรม MDICP และกิจกรรม ESG ทำให้สถานประกอบการที่เข้าร่วมกิจกรรมมีผลิตภาพเพิ่มขึ้น คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นรวมทั้งสิ้น 220 ล้านบาท โดยมียอดขายเพิ่มขึ้นกว่า 206.4 ล้านบาท จากการทำการตลาดผ่านช่องทางต่าง ๆ การสร้าง Branding และนำของเสียที่ได้จากกระบวนการผลิตไปเพิ่มมูลค่า ลดต้นทุนการใช้พลังงาน ต้นทุนวัตถุดิบ ต้นทุนการขนส่ง และต้นทุนในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรลดลงกว่า 13.6 ล้านบาท รวมถึงมีแผนปฏิบัติการเพื่อเป็นแนวทางการดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องตามหลักการ ESG สำหรับนำไปต่อยอดเพื่อขยายการลงทุน และสามารถสร้างเครือข่ายและเชื่อมโยงสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งจะทำให้สถานประกอบการสามารถต่อยอดการดำเนินธุรกิจได้ต่อไปในอนาคต
11 ต.ค. 2567
"อธิบดีภาสกร" ต้อนรับกลุ่มบริษัทรถบรรทุกไฟฟ้าจากจีน พร้อมหารือการลงทุนในไทย
กรุงเทพฯ 12 กันยายน 2567 – นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานการประชุมร่วมกับ กลุ่มบริษัทรถบรรทุกพลังงานไฟฟ้าจากจีน เพื่อหารือแนวทางการลงทุนในไทย ร่วมด้วย นายวัชรุน จุ้ยจำลอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยบริษัท เอแซดไอ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท แคปปิตอล ทรัสต์ กรุ๊ป ประเทศนิวซีแลนด์ ร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตรถบรรทุกพลังงานไฟฟ้าชั้นนำจากจีน เพื่อการลงทุนดัดแปลงจากรถบรรทุกที่ใช้น้ำมันเป็นรถบรรทุกพลังงานไฟฟ้า ได้ขอรับการแนะนำจากดีพร้อมเกี่ยวกับการลงทุนประกอบรถยนต์ในประเทศไทย โดยดีพร้อมได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินงาน และหน่วยงานผู้รับผิดชอบด้านต่าง ๆ ตั้งแต่ หน่วยงานในการขออนุญาตการผลิต การรับรองมาตรฐานรถ การก่อตั้งโรงงาน การสนับสนุนชิ้นส่วนภายในประเทศ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภาษีและส่งเสริมการลงทุน หน่วยงานเครือข่ายผู้ประกอบการในการสนับสนุนการผลิตภายในประเทศ (Local Content) ทั้งนี้ ในส่วนของ ดีพร้อม ได้ดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ เพื่อพัฒนาศักยภาพให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมยานยนต์ผ่าน 4 กลไก ได้แก่ การพัฒนาบุคลากร การพัฒนาสถานประกอบการ การพัฒนาห่วงโซ่อุปทานและเชื่อมโยงเครือข่าย การส่งเสริมและสนับสนุนเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์สมัยใหม่ พร้อมบูรณาการร่วมกับ หน่วยงานภาครัฐ-เอกชน เพื่อรองรับการเติบโตในอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมและทำให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าระดับโลกได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป
11 ต.ค. 2567
"อธิบดีภาสกร" นำทีมดีพร้อมประชุมหารือแผนปฏิบัติงานโครงการซอ​ฟต์​พาวเวอร์​สาขาอาหารและแฟชั่น
กรุงเทพฯ 11 กันยายน 2567 – นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงาน กำกับและติดตามการดำเนินงานโครงการซอฟต์พาวเวอร์ สาขาอาหารและแฟชั่น ของ กสอ. ภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ครั้งที่ 2/2567 พร้อมด้วย นายวัชรุน จุ้ยจำลอง นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายเจตนิพิฐ รอดภัย ที่ปรึกษากรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะกรรมการจากหน่วยงานต่าง ๆ คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 6 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Headquarter) การประชุมครั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้ร่วมกันพิจารณาแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณโครงการซอฟต์พาวเวอร์ 2 สาขา ได้แก่ สาขาแฟชั่น โดยได้นำเสนอโครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในอุตสาหกรรมสาขาแฟชั่นผ่าน 2 กิจกรรมหลัก คือ กิจกรรมฝึกอมรม Upskill - Reskill บุคลากรในสาขาแฟชั่น จำนวน 2,000 คน และกิจกรรมการพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ออนไลน์ 10 หลักสูตร ส่วนในสาขาอาหาร ได้นำเสนอโครงการ หนึ่งหมู่บ้านหนึ่งเชฟอาหารไทยด้วยหลากหลายกิจกรรม อาทิ การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาหลักสูตรเชฟอาหารไทยมืออาชีพ การจัดทำหลักสูตรอาหารไทย โดยเผยแพร่ผ่านทั้งระบบออนไลน์และออนไซต์พร้อมทั้งจัดทำคู่มืออาหารไทย การอบรมครูผู้สอน (Train The Trainer) เพื่อนำองค์ความรู้ไปถ่ายทอดให้กับผู้เข้ารับอบรมทั่วประเทศในปีถัดไป โดยเน้นการขับเคลื่อนโครงการซอฟต์พาวเวอร์ทั้งสาขาอาหารและแฟชั่นดำเนินไปอย่างเป็นรูปธรรม มีประสิทธิภาพ บรรลุผลสำเร็จ และเกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งเพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณฯ เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด
10 ต.ค. 2567
เปิดฉาก ”ปฏิรูปอุตสาหกรรม“ เอกนัฏ เตรียมงานเชิงรุกก่อนลุยเก็บข้อมูลกากของเสียรั่วไหลที่ระยอง
กรุงเทพฯ 11 กันยายน 2567 - นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมคณะ เดินทางเข้ากระทรวงอุตสาหกรรมเป็นวันแรก เพื่อเตรียมการทำงานแลกเปลี่ยนมุมมองกับคณะผู้บริหารระดับสูง โดยมีนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นำเสนอภาพรวมการดำเนินงาน พร้อมแนะนำนายเอกภัทร วังสุวรรณ นายบรรจง สุกรีฑา นายใบน้อย สุวรรณชาตรี นางสาวณัฎฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายวัชรุน จุ้ยจำลอง และนางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงอุตสาหกรรม ณ ห้องประชุม อก.1 ชั้น 2 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายเอกนัฏ กล่าวถึง “การปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย” (Industrial Reform) เพื่อรับโอกาสใหม่ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของโลกใน 3 พันธกิจสำคัญเร่งด่วน 1. จัดการกากอุตสาหกรรมตกค้างทั้งระบบอย่างเข้มงวด 2. ปกป้องอุตสาหกรรมไทยจากการทุ่มตลาด: ช่วยผู้ประกอบการรายย่อย ที่รับผลกระทบจากการทะลักเข้าของสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน และยกระดับขีดความสามารถ SME ไทย 3. สร้างอุตสาหกรรมแห่งอนาคต สร้าง new S-Curve กับประเทศ ด้วยสินค้าเกษตรเทคโนโลยีสูง พลาสติกชีวภาพ โอลีโอเคมี น้ำมันเชื้อเพลิง อุตสาหกรรมยานยนต์ EV ชิพเซมิคอนดักเตอร์ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมที่จะรื้อปรับปรุง กฎหมาย กฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง พร้อมผสานความร่วมมือกับภาคประชาชน เอกชน ท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาการงานให้สำเร็จตามเป้าหมายภายในระยะเวลาที่ชัดเจน รวมถึงการจัดตั้ง “กองทุนเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม” แบบครบวงจร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถผู้ประกอบการไทย อัพสกิลผลิตแรงงานคุณภาพสูง ส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยี บริหารจัดการค่าจับปรับด้านสิ่งแวดล้อมแบบไม่ต้องพึ่งพางบกลาง หลังจากประชุมกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงแล้วนายเอกนัฏ และคณะ ได้ออกเดินทางทันที เพื่อสำรวจพื้นที่ที่มีสารเคมีรั่วไหลใน อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ตามข้อร้องเรียนของประชาชน
10 ต.ค. 2567
“อธิบดีภาสกร“ มอบรางวัล DIPROM STAR โชว์อัตลักษณ์สุราชุมชนไทย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่สากล
กรุงเทพฯ 10 กันยายน 2567 - นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานในการมอบรางวัลการประกวดสุราชุมชน DIPROM STAR ภายในงาน “CRAFT DRINK by DIPROM” ศาสตร์และศิลป์เครื่องดื่มไทย นำธุรกิจไกลสู่สากล ซึ่งเป็นเวทีให้ผู้ประกอบการได้แสดงความสามารถในการผลิตสุราชุมชนที่มีคุณภาพและส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล ซึ่งผู้ได้รับรางวัล การประกวดสุราชุมชน DIPROM STARS ประกอบด้วย รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด เดอะ สปิริต ออฟ ชัยภูมิ ดิซทีลเลอรี่ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ บริษัท วินเนอร์โฮม จำกัด และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ บริษัท เมรัย มาร์เกตติ้ง จำกัด การประกวดครั้งนี้ เป็นเครื่องยืนยันถึงความมุ่งมั่น ทักษะ และความคิดสร้างสรรค์ที่ผู้ประกอบการได้ทุ่มเทในการผลิตสุราชุมชนให้มีคุณภาพ โดดเด่นในด้านสี รสชาติ กลิ่น เนื้อสัมผัส รวมไปถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สวยงามและเป็นเอกลักษณ์ อีกทั้งเป็นการยกระดับผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มชุมชนของไทย ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและส่งเสริมเศรษฐกิจของท้องถิ่น เกิดเป็นพลัง SOFT POWER ขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับประเทศได้อย่างยั่งยืน
10 ต.ค. 2567
"อธิบดีภาสกร" เข้าร่วมงาน พร้อมมอบดอกไม้ให้ศิลปินภายในงาน "CRAFT DRINK by DIPROM"
กรุงเทพฯ 9 กันยายน 2567 - นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเข้าร่วมงาน พร้อมมอบดอกไม้ให้ศิลปิน คริส พีรวัส ภายในงาน “CRAFT DRINK by DIPROM ศาสตร์และศิลป์เครื่องดื่มไทย นําธุรกิจ ไกลสู่สากล” ที่ได้รวบรวมเครื่องดื่มไทยที่โดดเด่นจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ซึ่งเป็นร้านค้ากลุ่มผู้ประกอบการกาแฟ โกโก้ และสุราชุมชนจาก ทั่วประเทศกว่า 122 ร้านค้า ทั้งนี้ งานดังกล่าวจัดขึ้นตลอด 6 วัน ระหว่างวันที่ 5 - 10 กันยายน 2567 เวลา 10.00 – 22.00 น. ณ ลานหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ #กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม #DIPROM #CraftDrinkbyDIPROM #KristPerawat #CraftDrinkbyDIPROMxKRIST
10 ต.ค. 2567