หมวดหมู่
บริษัท ลี้ กิจเจริญแสง จำกัด สร้างวิสัยทัศน์ใหม่ จากคนขายหลอดไฟสู่การขายแสง
จากธุรกิจห้องแถวเล็กๆ สร้างธุรกิจมานานกว่า 40 ปี เติบโตจากการรับจ้างผลิตแบบ OEM ปัจจุบันบริษัท ลี้ กิจเจริญแสง จำกัด คือผู้ผลิตอุปกรณ์แสงสว่างครบวงจร สร้างแบรนด์ Lekise จนโด่งดัง มีผลิตภัณฑ์มากกว่า 150 ชนิด คุณสมนึก โอวุฒิธรรม กรรมการผู้จัดการ ทายาทธุรกิจผู้เข้ามาบริหารงานในช่วงสิบปีที่ผ่านมา วางวิสัยทัศน์ขององค์กรไว้ว่า ที่นี่คือองค์กรแห่งการเรียนรู้ที่ไม่เคยหยุดพัฒนาตลอดระยะเวลาที่เข้ามาบริหารงาน คุณสมนึกส่งพนักงานไปอบรมสัมมนา แล้วนำความรู้เรื่องต่าง ๆ กลับเข้ามาอบรมให้กับพนักงานในบริษัท แม้กระทั่งระบบ ISO ก็อบรมแล้วทำด้วยตนเองจนสำเร็จมาแล้ว แม้เรียนรู้ไม่เคยหยุด แต่แล้ววันหนึ่งก็รู้สึกว่าถึงทางตัน ช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมาถือว่าองค์กรแห่งนี้พัฒนาได้เร็ว แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งก็เริ่มรู้สึกว่าไม่รู้จะพัฒนาต่อไปในทิศทางใดถึงเวลาที่ต้องมองหาแนวทางใหม่ๆ เมื่อรู้ว่ากรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจัดทำโครงการ MDICP รุ่น 11 ซึ่งพัฒนาศักยภาพ 5 แผน คุณสมนึกจึงได้เข้าร่วมอบรม ด้วยความหวังว่าอยากเปิดโลกทัศน์และมองหาแรงบันดาลใจใหม่ ๆ ให้กับองค์กร หลังเข้าร่วมโครงการ บริษัทมี Road Mapที่ชัดเจนเกี่ยวกับแผนการผลิต โดยเลือกทำหลอด T5 ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์เน้นไปที่สินค้าที่มีนวัตกรรม จึงจัดตั้งทีมงานเรียนรู้เรื่อง Technology Road Map ให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ที่วางไว้ ในด้านงานบัญชีมีการนำระบบ ERP มาใช้ และมีการวางแผนการตลาดเพื่อสร้างแบรนด์ด้วยงประมาณ 50 ล้านบาท “เราได้เรียนรู้และพัฒนาค่อนข้างเยอะ ที่สำคัญทีมงานก็สนุกกับการทำงาน ผมมองธุรกิจเป็นระบบมากขึ้น สุดท้ายผลจากการเข้าโครงการ MDICP สะท้อนมาที่ผลประกอบการ ยอดขายของเราเพิ่มขึ้นในเปอร์เซ็นต์ที่น่าพอใจมาก” นอกจากได้เรียนรู้การวางแผนงานอย่างเป็นระบบแล้ว องค์กรยังได้ค้นพบแนวคิดใหม่จากการเข้าอบรม นั่นคือ การเปลี่ยนวิสัยทัศน์เกี่ยวกับตนเอง จากที่เคยเป็นเพียงคนขายหลอดไฟ ปรับไปเป็นคนขายแสง เพราะวันหนึ่งหากโลกเปลี่ยนไปจนไม่จำเป็นต้องใช้หลอดไฟ คนขายหลอดไฟก็คงต้องตกงาน แต่คนขายแสงไม่มีวันตกงาน สิ่งที่ทำให้เกิดแสงจึงไม่ได้จำกัดอยู่ที่หลอดไฟอีกต่อไป คุณสมนึกจึงมีโครงการตั้ง R&D Center เพื่อวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว คุณสมนึก โอวุฒิธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลี้ กิจเจริญแสง จำกัด 29/22 ถ.พระราม 2 ต.นาดี อ.เมือง จ.สมุทรสาคร โทรศัพท์ : 0 3441 9200 โทรสาร : 0 3441 9205 เว็บไซต์ : www.lekise.com ที่มา : หนังสือ 72 ปี แห่งการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมสู่ความสำเร็จ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ธ.ค. 2557
ห้างหุ้นส่วนจำกัด จิราพร ฟู๊ด เพิ่มมูลค่าด้วยบรรจุภัณฑ์
คุณจิราพร พงศ์รุจิกรพันธ์ เริ่มขายกล้วยตากจากการซื้อกล้วยที่ชาวบ้านตากไว้แล้วมาบรรจุเอง ต่อมาหลังจากมีแผงตากเป็นของตนเอง จึงเริ่มใช้ชื่อกล้วยตาก “จิราพร” เรื่อยมาตั้งแต่ พ.ศ. 2534 โดยใช้กล้วยน้ำว้าขึ้นชื่อจากอำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลกด้วยความใส่ใจในคุณภาพของวัตถุดิบและกระบวนการผลติ จนเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อการแข่งขันสูงขึ้น แม้กล้วยตากจิราพรจะมีรสชาติอร่อยและคุณภาพดี แต่กลับต้องประสบกับปัญหายอดขายไม่เติบโต แถมยังมีคู่แข่งผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด คุณจิราพรจึงเริ่มคิดหาวิธีให้ยอดขายกระเตื้องขึ้น การเปิดโลกทัศน์ทางธุรกิจครั้งสำคัญเกิดขึ้น เมื่อครั้งได้เข้ารับการอบรมโครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม (คพอ.) ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จนสามารถวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อนของผลิตภัณฑ์ นำไปสู่การพลิกโฉมทางด้านการตลาด โดยปรับรูปลักษณ์แพ็กเกจจิ้งให้มีเอกลักษณ์โดดเด่น “หลังจากทำ SWOT ทำให้รู้ว่าแม้ผลิตภัณฑ์ของเราจะมีดีที่รสชาติ แต่ไม่มีจุดเด่นพอจะดึงดูดสายตาเวลาอยู่บนชั้นวาง พอเปลี่ยนแพ็กเกจจิ้งให้ดูทันสมัย จากยอดขายที่ไม่กระเตื้องมานาน กลับโตขึ้นถึงร้อยเปอร์เซ็นต์เพียงแค่เราแก้ปัญหาแพ็กเกจจิ้งได้เท่านั้น” เมื่อแก้ปัญหาด้านรูปลักษณ์ของกล้วยตากจิราพรได้สำเร็จ คุณจิราพรจึงนำไอเดียแพ็กเกจจิ้งโฉมใหม่มาพัฒนาร่วมกับผลิตภัณฑ์กล้วยตากทางเลือกอื่นที่ทำอยู่ก่อนหน้ากลายเป็นผลิตภัณฑ์กล้วยตาก “Snack To Go” ที่มีรสชาติแปลกใหม่ เช่น กล้วยตากเคลือบช็อคโกแลต กล้วยตากรสสตรอเบอร์รี่ เป็นการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับกล้วยตากจากเดิมเป็นเพียงสินค้าซื้อฝากประเภทของดีประจำจังหวัด กลายเป็นขนมขึ้นห้างสรรพสินค้าในไทย และส่งออกตลาดต่างประเทศ คุณจิราพร พงศ์รุจิกรพันธ์ กรรมการผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด จิราพร ฟู๊ด 174/1 หมู่ 5 ต.บางกระทุ่ม อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก โทรศัพท์ : 0 5539 1024 โทรสาร : 0 5539 1284 เว็บไซต์ : www.jirapornbanana.com ที่มา : หนังสือ 72 ปี แห่งการพัฒนาอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ธ.ค. 2557
บริษัท แพนเอเซีย (1981) จำกัด รักษาความเป็นหนึ่งด้านอาหารทะเลแปรรูป
บริษัท แพนเอเซีย (1981) จำกัด เริ่มต้นธุรกิจด้วยการผลิตอาหารทะเลแช่แข็งส่งออกจนเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในตลาดโลก นอกจากนี้ยังเป็นเจ้าแรกแห่งเอเชียที่ส่งออกอาหารทะเลในโหลแก้วและอาหารทะเลรมควันรูปแบบกระป๋องปัจจุบันแพนเอเซียขึ้นแท่นเป็นผู้นำตลาดจำหน่ายและส่งออกอาหารทะเลแปรรูป ซึ่งทางบริษัทได้ทำงานร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมาโดยตลอดในด้านการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานสากล จวบจนระยะหลัง แพนเอเซียประสบภาวะด้านวัตถุดิบในไทยเริ่มหายาก ราคาแพง และค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำปรับสูงขึ้น ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านมีศักยภาพในการผลิตเพิ่มขึ้นและยังคงมีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ ทำให้เกิดภาวะการแข่งขันสูง บริษัทจึงต้องปรับตัวด้วยการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ซึ่งทำให้ต้นทุนสูงขึ้นถึงร้อยละ 60-70 ขณะเดียวกันการนำเข้าสินค้าก็กินระยะเวลานานหลายเดือน ผลประกอบการจึงไม่ดีเหมือนเมื่อแรกดำเนินกิจการ คุณวุฒิศักดิ์ แสงศิวะฤทธิ์ ผู้บริหารของบริษัท จึงตัดสินใจเข้ารับการสนับสนุนโครงการ Training Fund (TF) เมื่อปี 2553 และต่อเนื่องด้วยโครงการ Consultancy Fund (CF) ในปี 2554 จากศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ซึ่งมีการปรับปรุงระบบการบริหารจัดการ วางแผนการผลิตและการตลาดใหม่ โดยนำเครื่องมือคำนวณและวิเคราะห์มาช่วยในการวางแผนทำให้การสั่งวัตถุดิบสัมพันธ์กับยอดขาย และผลิตโดยคำนึงถึงมาตรฐาน HACCP, GMP และ ISO 9000 เป็นสำคัญ “อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการได้ชี้แนะให้เรารู้จักวางแผนการผลิตล่วงหน้า ตั้งแต่ต้นทางการรับออร์เดอร์ลูกค้า ระยะเวลานำเข้าสินค้า และชี้ให้เห็นหนทางแก้ปัญหาที่เราไม่เคยมองออก จะทำอย่างไรให้การผลิตไม่ต้องหยุดชะงักเพราะกำลังคนไม่พอ ตอนนี้เราสามารถผลิตสินค้าได้อย่างคล่องตัว และยังช่วยลดต้นทุนได้ถึงหลักล้าน” คุณวุฒิศักดิ์ พูดถึงการปรับระบบการจัดการ ซึ่งเป็นการพลิกฟื้นประสิทธิภาพภายในขององค์กรให้คงความเป็นหนึ่งด้านอาหารทะเลแปรรูปและเตรียมรับการแข่งขันในตลาดเสรี AEC ที่กำลังจะมาถึง คุณวุฒิศักดิ์ แสงศิวะฤทธิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการโรงงาน บริษัท แพนเอเซีย (1981) จำกัด 17 ถ.เจริญลาภ ต.ท่าข้าม อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี โทรศัพท์ : 0 7731 1025-8 โทรสาร : 0 7724 0487 เว็บไซต์ : www.panasia.co.th ที่มา : หนังสือ 72 ปี แห่งการพัฒนาอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ธ.ค. 2557
บริษัท นิธิฟู้ดส์ จำกัด อย่าใส่ไข่ในตะกร้าใบเดียว
ก่อนจะก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตสินค้าเครื่องเทศและสินค้าเกษตรแปรรูประดับแนวหน้า และมีแบรนด์สินค้าของตนเองที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางเช่นทุกวันนี้ บริษัท นิธิฟู้ดส์ จำกัด เริ่มต้นด้วยการผลิตเครื่องเทศคุณภาพสูงส่งให้ลูกค้ารายใหญ่ในประเทศเป็นหลัก เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป อาหารกึ่งสำเร็จรูป รวมถึงเครื่องปรุงรส จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นหลังจากได้เข้าร่วมอบรมโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน (Manufacturing Development to Improve Competitiveness Programmer : MDICP) ใน พ.ศ. 2547 ทำให้พบว่าถึงเวลา แล้วที่บริษัทต้องปรับเปลี่ยน และวางหมากธุรกิจเสียใหม่ แม้นิธิฟู้ดส์จะมีรายได้เป็นกอบเป็นกำจากการเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าเครื่องเทศรายใหญ่ระดับประเทศ แต่การมีจำนวนลูกค้าน้อยรายเกินไป วันหนึ่งหากลูกค้ารายใหญ่เหล่านั้นไม่สั่งซื้อสินค้า ย่อมหมายถึงการเผชิญความเสี่ยงได้ทุกเมื่อในคราวเดียวกัน “อย่าใส่ไข่ไว้ในตะกร้าใบเดียว จงออกไปหาความสามารถใหม่” คุณสมิต ทวีเลิศนิธิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นิธิฟู้ดส์ จำกัดสรุปบทเรียนสำคัญที่ได้เรียนรู้จากการเข้าโครงการนี้ จากจุดนั้นทำให้นิธิฟู้ดส์หันกลับมาทบทวนตนเอง และเริ่มต้นทำในสิ่งที่แตกต่างไปจากเดิม โดยเน้นการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ กระทั่งใน พ.ศ. 2551 จึงตัดสินใจขยายฐานลูกค้า โดยสร้างผลิตภัณฑ์ด้วยแบรนด์ของตนเอง ชื่อว่า “เออร์เบิร์นฟาร์ม” (Urban Farm) ผลิตสินค้าผักอบแห้งกึ่งสำเร็จรูปออกสู่ตลาดผู้บริโภคของไทยเป็นครั้งแรก ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ตลอดจนได้รับรางวัลเชิงนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ระดับประเทศหลายรางวัล “โครงการ MDICP ชี้จุดอ่อน และสร้างจุดเริ่มต้นให้เราทำการตลาด สร้างแบรนด์สร้างเครือข่ายและซัพพลายเออร์ของตัวเอง หลังจากที่เคยเป็นผู้รับจ้างอยู่เบื้องหลังอุตสาหกรรมอาหารมาโดยตลอด” เป็นเวลากว่า 10 ปี ที่นิธิฟู้ดส์ขยายฐานการผลิต ขยายห้องวิจัย เพิ่มแผนก Research & Development Kitchen และเจาะกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างไป จากกระสอบเครื่องปรุงรสอันเป็นรายได้หลักของบริษัท ปัจจุบันได้ต่อยอดมาในกลุ่มสินค้าเครื่องปรุงรสภายใต้แบรนด์ Urban Farm ซอสผงปรุงข้าวอบ Pocket Chef ซอสผงข้าวผัด และ East Kitchen ผงปรุงอาหารตำรับตะวันออกเพื่อเจาะกลุ่มตลาดพรีเมียมต่างประเทศ ทั้งหมดนี้ล้วนเริ่มต้นมาจากแนวคิด “อย่าใส่ไข่ไว้ในตะกร้าใบเดียว” ที่มาจากห้องเรียนของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมในครั้งนั้น คุณสมิต ทวีเลิศนิธิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นิธิฟู้ดส์ จำกัด 21/6 ม.2 ถ.เชียงใหม่-ฮอด ต.บ้านกลาง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ โทรศัพท์ : 0 5348 1484 เว็บไซต์ : www.nithifoods.co.th ที่มา : หนังสือ 72 ปี แห่งการพัฒนาอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ธ.ค. 2557
บริษัท สุคันธา ไทยสแน็ค จำกัด ยกระดับสแน็คท้องถิ่นสู่สากล
ข้าวตังสุคันธาเริ่มต้นจากการเป็นร้านขนมไทยของฝากเล็กๆ ในจังหวัดเพชรบุรี ด้วยกรรมวิธีการผลิตที่พิถีพิถัน จึงทำให้ร้านโด่งดังเป็นที่รู้จัก จากรุ่นแม่สู่ไม้ผลัดสองในรุ่นลูกอย่างคุณจุฑารัตน์ ตั้งพาณิชย์ ยังคงคุณภาพและความซื่อสัตย์ในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะขนมขึ้นชื่อของทางร้านอย่างข้าวตังที่เลือกใช้ข้าวหอมมะลิมาตรฐานส่งออก ทอดในน้ำมันพืช เพิ่มความหอมกรุ่นชวนรับประทาน ปรุงแต่งด้วยเครื่องเทศของไทยสูตรเฉพาะตำรับดั้งเดิม อุดมด้วยคุณค่าทางโภชนาการ และนำวัตถุดิบท้องถิ่นอันเป็นจุดเด่นอย่างตาลโตนดมาเป็นตัวชูโรงเช่นเดิม แต่จุดอ่อนของข้าวตังสุคันธารุ่นแม่ คือมีอายุผลิตภัณฑ์สั้นเพียง 2 เดือน คุณจุฑารัตน์จึงคิดค้นหาวิธีการที่จะถนอมอาหารไว้ได้นานเพื่อยืดอายุในการขายให้มีเชลฟ์ไลฟ์นานยิ่งขึ้น นี่เองเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณจุฑารัตน์เข้าร่วมอบรมกับโครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ (NEC) ซึ่งย่อโลกธุรกิจทั้งใบมาไว้ตรงหน้า “โครงการ NEC ให้แนวคิดที่เป็นระบบ เมื่อก่อนดิฉันเคยเห็นภาพการทำธุรกิจ แต่อาจจะไม่ชัดเจน แทนที่จะเริ่มนับ 1 เราก็ข้ามสเต็ปมาอยู่ที่ 5 แล้วดูว่าเราขาดอะไรจากสิ่งที่ได้เรียนรู้มา บางอย่างก็เรียนรู้จากเพื่อนในกลุ่มแม้จะเป็นคอร์สสั้นๆ แต่เปรียบเหมือนหลักสูตรมินิเอ็มบีเอที่ย่อโลกธุรกิจให้ได้เรียนรู้” หลังเข้าอบรมร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมทิศทางของข้าวตังสุคันธาเปลี่ยนไป จากเดิมที่มีอายุผลิตภัณฑ์ 2 เดือน ก็ใช้เทคโนโลยีมาช่วยยืดอายุผลิตภัณฑ์เป็น 1 ปี ลดขนาดลงให้พอดีค????ำ รวมทั้งเข้าสู่ระบบโรงงานตั้งแต่ พ.ศ. 2546 เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาด และขยายตลาดจากร้านของฝากสู่ห้างสรรพสินค้าก้าวย่างต่อไปของข้าวตังสุคันธา คือการเตรียมสู่มาตรฐานฮาลาลแห่งชาติ เพื่อต้อนรับการเปิดตลาด AEC และเดินหน้าสู่ระบบการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คุณจุฑารัตน์ ตั้งพาณิชย์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท สุคันธา ไทยสแน็ค จำกัด 228 หมู่ 5 ซอย 9 ถ.บันไดอิฐ ต.บ้านหม้อ อ.เมือง จ.เพชรบุรี โทรศัพท์ : 0 3248 8311 เว็บไซต์ : www.kaotang.com ที่มา : หนังสือ 72 ปี แห่งการพัฒนาอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ธ.ค. 2557
บริษัท สวนผึ้งหวาน จำกัด ชุบชีวิตสร้างธุรกิจใหม่
วิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของประเทศเมื่อปี 2540 ทำให้ธุรกิจล้มระเนระนาด คุณพัชรี และคุณนิวัฒน์ โฆวงศ์ประเสริฐ เป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบในครั้งนั้น พร้อมกับมีหนี้สูญ 30 ล้านบาท จากโครงการรับเหมาติดตั้งเฟอร์นิเจอร์ให้กับคอนโดมิเนียมจนต้องตัดสินใจปิดบริษัท การล้มครั้งนั้นแม้จะทำให้ท้อแท้บ้างในช่วงแรก แต่ทำให้ทั้งคู่ได้ค้นพบธุรกิจใหม่ นั่นคือการแปรรูปมะขามหวาน พืชเศรษฐกิจขึ้นชื่อของเพชรบูรณ์ บ้านเกิดของคุณพัชรี มาทำเป็นของทานเล่นรสชาติถูกปากคนไทย ไม่น่าเชื่อว่าจากแค่มะขามคลุกพริกเกลือน้ำตาลธรรมดา กลับกลายเป็นสินค้าทำเงินจนต้องหันมาพัฒนาธุรกิจนี้อย่างจริงจัง ปัจจุบันบริษัท สวนผึ้งหวาน จำกัด เจ้าของแบรนด์ “บ้านมะขาม” ผลิตมะขามหลากหลายเมนูเพื่อจำหน่ายตามร้านค้าต่างๆ ทั่วประเทศ รวมถึงส่งออกไปต่างประเทศด้วยเมื่อธุรกิจโตวันโตคืนเช่นนี้ ทั้งคุณนิวัฒน์และคุณพัชรีคิดตรงกันว่าต้องเพิ่มพูนความรู้ทางธุรกิจให้มากขึ้น จึงได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม (คพอ.) ต่างรุ่นกัน โดยคุณนิวัฒน์ เข้าร่วมอบรมรุ่น 118 จังหวัดนครปฐม โดยศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 8 จังหวัดสุพรรณบุรี หน่วยงานของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมในภูมิภาค เมื่อ พ.ศ.2547 ส่วนคุณพัชรีเข้าร่วมอบรมรุ่น 126 เมื่อ พ.ศ. 2548 การเข้าร่วมอบรมโครงการ คพอ. ของทั้งคุณนิวัฒน์ และคุณพัชรี ทำให้พวกเขาได้เรียนรู้ลงลึกเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับรายสาขาอุตสาหกรรมอาหาร ช่วยให้บ้านมะขามวางแผนการผลิตได้ตามมาตรฐานยิ่งขึ้น มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยยึดหลัก ทุกผลิตภัณฑ์ต้องมีความแตกต่าง เมื่อมะขามคลุกเสวยไปได้ดี จึงเริ่มหาสูตรใหม่ๆ มีทั้งมะขามหยีมะขามแช่อิ่ม มะขามเคี้ยวหนึบ มะขาม เปรี้ยวแซ่บ มะขามโยเกิร์ต ฯลฯ โดยคัดสรรวัตถุดิบคุณภาพทุกขั้นตอน เมื่อธุรกิจเติบโตมาได้ระดับหนึ่ง บริษัทยังได้เข้าร่วมอบรมโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขัน(Manufacturing Development to Improve Competitiveness Programmer : MDICP) ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเพื่อต่อยอดความรู้ “เราผูกพันกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมค่อนข้างมาก เป็นเหมือนพ่อแม่เราเลย พอถึงระยะหนึ่งก็ให้เรามาอบรม MDICP ผมถือว่าเป็นขั้น advance เราโตมาถึงระดับหนึ่งต้องเรียนรู้เพิ่ม เพราะระบบผลิตเดิม จากเล็กมาใหญ่จะเริ่มมั่ว ทำอย่างไรจะประหยัดคนประหยัดพลังงาน เรื่องการตลาด โมเดิร์นเทรดยิ่งขายเยอะ ก็ยิ่งบีบเรา MDICP จะเป็นการให้ความรู้เราอีกขั้น ภายใต้โครงการนี้เป็นการเรียนรู้การวางแผนธุรกิจคือ แผนการผลิต แผนการตลาด แผนการเงินและบัญชีการบริหารจัดการและการพัฒนาบุคลากรโดยจะมีที่ปรึกษามาสำรวจ วิเคราะห์ปัญหาร่วมกับพนักงาน” ด้วยความที่ไม่เคยหยุดนิ่งอยู่กับที่ นับจากวันที่พบวิกฤตจนถึงวันนี้ คุณพัชรีสวมหัวใจนักขาย ส่วนคุณนิวัฒน์เป็นนักบริหาร นำพาองค์กรแห่งนี้เติบใหญ่มีผลิตภัณฑ์มะขามและแบรนด์ย่อยนานาชนิด มีรายได้เฉลี่ยเติบโตปีละ 30% เป็นธุรกิจที่เรียกได้ว่าเกิดจากทรัพย์ในดิน สินในฝัก ที่สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดได้อย่างไม่รู้จบ คุณพัชรี – คุณนิวัฒน์ โฆวงศ์ประเสริฐ ผู้บริหาร บริษัท สวนผึ้งหวาน จำกัด 7 ซอยรามคำ แหง 118 แขวงสะพานสูง เขตสะพานสูง กรุงเทพฯ โทรศัพท์ : 0 2372 0298-9 โทรสาร : 0 2372 0300 ที่มา : หนังสือ 72 ปี แห่งการพัฒนาอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ธ.ค. 2557
บริษัท เฉาก๊วย ชากังราว จำกัด ลดต้นทุน เพิ่มมุมมองธุรกิจ
จากข้าราชการที่ปรารถนาให้สมาชิกในครอบครัวอยู่อย่างสุขสบาย คุณเสริมวุฒิ สุวรรณโรจน์ เลือกที่จะทำงานหลากหลายเพื่อสร้างรายได้เสริม จนกระทั่งได้ลงมือทำเฉาก๊วยขาย และพยายามคิดค้นสูตรความอร่อยเฉพาะตัวจนสำเร็จ ทำให้มีรายได้จากการขายเฉาก๊วยเดือนๆ หนึ่งมากกว่าเงินเดือนประจำในขณะนั้น สุดท้ายจึงตัดสินใจลาออกจากงาน เพื่อมาทำธุรกิจเฉาก๊วย “ชากังราว” อย่างเต็มตัว จุดเปลี่ยนในการทำธุรกิจของคุณเสริมวุฒิเกิดขึ้นเมื่อได้มีโอกาสเข้าร่วมอบรมโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน หรือ MDICPของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โครงการนี้ช่วยพัฒนาการจัดการธุรกิจให้เป็นระบบมากขึ้น รวมถึงผลักดันให้ไอเดียของคุณเสริมวุฒิที่ต้องการจะเปลี่ยนแพ็คเกจเฉาก๊วยจากถุง เป็นรูปแบบกระป๋อง เพื่อส่งออกต่างประเทศเป็นจริงขึ้นมาได้ ทำให้ธุรกิจก้าวไปอีกขั้น ที่สำคัญยังช่วยลดต้นทุนการผลิตลงได้อย่างมากทำให้คุณเสริมวุฒิเปลี่ยนมุมมองในการทำธุรกิจ โดยหันมาคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น “เมื่อก่อนผมมองข้ามเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่น รูรั่วของท่อไอน้ำ ไฟหนึ่งดวงที่เปิดทิ้งไว้จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ของกรมฯ สอนให้คิดถึงมูลค่าความสูญเสียที่เกิดขึ้น เป็นชั่วโมง เป็นวัน เป็นเดือน เป็นปี โอ้โห มันมหาศาลจริงๆ แล้วพอลองทำตามคำแนะนำ เพียงแค่ปรับปรุงสิ่งเหล่านี้ให้มันดีขึ้น ต้นทุนลดลงไปมากอย่างเหลือเชื่อ แล้วการลดการใช้พลังงานยังเป็นสิ่งที่ดีต่อองค์กรและดีต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวมอย่างมหาศาล” คุณเสริมวุฒิ กล่าวถึงตัวอย่างแนวคิดที่ได้จากการเข้าอบรมในครั้งนั้นที่เจ้าตัวยอมรับว่า ได้เปลี่ยนแปลงวิธีการทำธุรกิจแบบเดิมๆ ของเขาไปอย่างสิ้นเชิง คุณเสริมวุฒิ สุวรรณโรจน์ (ประธาน) บริษัท เฉาก๊วย ชากังราว จำกัด 141/3 บ่อสามแสน หมู่ 6 ต.หนองปลิง อ.เมือง จ.กำแพงเพชร โทรศัพท์ : 0 5585 4821 โทรสาร : 0 5585 4822 เว็บไซต์ : www.chaoguay.com ที่มา : หนังสือ 72 ปี แห่งการพัฒนาอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ธ.ค. 2557
บริษัท ลัมเบอร์ไลน์ จำกัด พลังใจที่มาพร้อมกับสายน้ำ
บริษัท ลัมเบอร์ไลน์ จำกัด ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ส่งออกต่างประเทศ เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ในปี 2554 โรงงานเกือบ 20 ไร่ที่จังหวัดนนทบุรี จมอยู่ใต้น้ำที่สูงกว่าสองเมตร เครื่องจักรและสต็อกไม้ที่เตรียมจะผลิตได้รับความเสียหายจนไม่สามารถทำงานต่อไปได้ ประเมินมูลค่าความเสียหายเกือบ 10 ล้านบาท ขณะที่คุณจันทร์จิรา หาญรัตนกูล ผู้บริหารของบริษัท กำลังมืดแปดด้าน ข่าวการเปิดศูนย์พักพิงอุตสาหกรรม โดยกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อช่วยเหลือ SMEs ที่ประสบอุทกภัยให้เข้ามาใช้พื้นที่เป็นฐานการผลิตชั่วคราว ภายใต้โครงการคลินิกอุตสาหกรรมเพื่อการฟื้นฟูสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย จึงเปรียบเหมือนแสงสว่างในยามมืดมิด คุณจันทร์จิราตัดสินใจยื่นเรื่องขอรับความช่วยเหลือ ซึ่งก็ได้รับอนุมัติอย่างทันท่วงที โดยได้เข้าไปใช้พื้นที่ของศูนย์พักพิงอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี (ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 9) เป็นฐานการผลิตชั่วคราว ทำให้สายพานการผลิตเดินเครื่องอีกครั้ง จนสามารถผลิตงานได้ทันตามความต้องการของลูกค้าต่างประเทศ “ตอนนั้นถ้าไม่ได้กรมฯ ช่วยคงจะแย่ เพียงแค่ความเสียหายของเครื่องจักรจากเหตุการณ์น้ำท่วมก็แย่อยู่แล้ว ถ้าทำงานส่งตามออเดอร์ไม่ทันก็ไม่รู้ว่าต้องถูกปรับเพิ่มอีกเท่าไหร่ ที่เลวร้ายที่สุดอาจทำให้ถึงขั้นต้องปิดโรงงาน อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ทางกรมฯ มอบให้ทางอ้อมคือกำลังใจ เมื่อเผชิญเหตุการณ์ร้ายแรงครั้งนี้แล้ว พบว่ายังมีทางออก ทำให้เรามีแรงฮึด สู้ และเป็นแรงใจให้พนักงานมีความหวังขึ้นอีกครั้ง” หลังสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลาย คุณจันทร์จิรายังได้รับคำแนะนำจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้หันมาเจาะตลาดในประเทศ เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยง หลังจากที่ก่อนหน้านี้พึ่งพาตลาดส่งออกเพียงอย่างเดียว สำหรับคุณจันทร์จิรา สิ่งที่เธอได้รับมิใช่เพียงน้ำใจ หากแต่เป็นพลังใจในการขับเคลื่อนธุรกิจไปข้างหน้า คุณจันทร์จิรา หาญรัตนกูล ผู้บริหารบริษัท ลัมเบอร์ไลน์ จำกัด 9/3 หมู่ 6 ซ.สุขาประชาสรร 27 ถ.สุขาประชาสรร 2 ต.บางพูดอ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี โทรศัพท์ : 0 2963 1452 เว็บไซต์ : www.livelaughlove.in.th ที่มา : หนังสือ 72 ปี แห่งการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน
31 ธ.ค. 2557
บริษัท อำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัด พัฒนาความคิดสู่ความยั่งยืน
คุณเกรียงศักดิ์ เทพผดุงพร กรรมการผู้จัดการบริษัท อำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัด ผู้สร้างตำนานน้ำกะทิสำเร็จรูปชาวเกาะจนเป็นที่รู้จักแพร่หลาย ก่อนจะพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ออกสู่ตลาดตามมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ น้ำนมข้าวกล้อง V-fit เครื่องดื่มบุกผสมน้ำผลไม้ Fit-C น้ำแกงพร้อมปรุงรอยไทย จนเป็นที่ยอมรับของลูกค้ามากว่า 30 ปี เขาคือนักบริหารที่ฝ่าฟันอุปสรรคมามากมายจนสามารถเติบโตมาได้ถึงทุกวันนี้ ด้วยหลักคิดที่ว่าการทำธุรกิจต้องมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา เพราะหากหยุดนั่นหมายถึงกำลังถอยหลังคุณเกรียงศักดิ์ได้ตัดสินใจนำอำพลฟูดส์ฯ เข้าร่วมโครงการ MDICP (โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขัน) ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมซึ่งเน้นการให้คำปรึกษาแบบโค้ชชิ่ง จากทีมที่ปรึกษาที่มีความชำนาญเฉพาะทาง โดย MDICP ประกอบด้วย 5 แผนย่อยคือ แผน 1 การผลิต แผน 2 ระบบคุณภาพ แผน 3 เทคโนโลยี แผน 4 การเงินและแผน 5 การตลาด อำพลฟดู ส์ฯ นำที่เรียนรู้มาปรับปรุงเทคโนโลยีเพิ่มผลผลิต และลดต้นทุน อาทิ ในแผน 3 เรื่องเทคโนโลยี อาจารย์ที่ปรึกษาแนะนำให้ปรับความเร็วมอเตอร์และตั้งองศาใบมีดของเครื่องปอกมะพร้าวให้ถูกต้อง ทำให้ได้เนื้อมะพร้าวมากขึ้นกว่าเดิม ลดการสูญเสียลง ส่วนเนื้อมะพร้าวที่ติดผิวสีดำๆ แต่เดิมนำไปขายเป็นอาหารสัตว์กิโลกรัมละ 2-4 บาท อาจารย์แนะนำว่าถ้านำไปคั้นแล้วอาจจะได้กะทิสีน้ำตาลนิดๆ นำไปขายถูกกว่าปกติ 10% ก็สามารถขายได้ถึงกิโลกรัมละ 20 บาท หรืออย่างค่าเชื้อเพลิง เดิมต้องจ่ายค่าน้ำมันเตา สำหรับบอยเลอร์ (Boiler) เดือนละ 2 ล้าน แต่ปัจจุบันค่าใช้จ่ายส่วนนี้เป็นศูนย์ เพราะหันมาใช้กะลากับเปลือกมาอัดเป็นเชื้อเพลิงแบบเม็ดแข็ง “ยอมรับว่าเมื่อก่อนเรามุ่งแต่จะเพิ่มยอดขายโดยไม่ให้ความสำคัญเรื่องการลดต้นทุน สมมติว่าเราขายได้ 100 ล้าน นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะได้กำไร 100 ล้าน แต่เราลดต้นทุนได้ 100 ล้าน ก็เท่ากับว่าเรากำไร 100 ล้านทันที ปัจจุบันเราจึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ ถ้ามองลึกๆ กรมฯ สอนให้เราคิดแต่ไม่ใช่ทำให้ หลายแห่งคิดว่าเทคโนโลยีคือเครื่องจักร คืออุปกรณ์ แต่มันไม่ใช่ มันคือความคิด เป็นวิธีการ เป็นกระบวนการการปรับปรุงในโรงงาน สิ่งที่เราได้ คือการพัฒนาความคิดขององค์กร และนั่นคือการพัฒนาที่ยั่งยืน” อำพลฟูดส์ฯ ยังได้เข้าร่วมโครงการEDIPP ซึ่งเน้นการพัฒนาแผนการผลิตและแผนเทคโนโลยี และเข้าร่วมโครงการ TEMที่เน้นการจัดการพลังงานแบบสมบูรณ์เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการใช้พลังงานสำหรับอุตสาหกรรม ซึ่งช่วยลดการใช้พลังงานได้อย่างน้อยร้อยละ 5 ต่อปี การมุ่งมั่นพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิตอย่างต่อเนื่องทำให้บริษัทอุตสาหกรรมอาหารแห่งนี้เติบโตอย่างยั่งยืน และพร้อมที่จะก้าวต่อไปอย่างมั่นคง คุณเกรียงศักดิ์ เทพผดุงพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท อำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำ กัด อาคารเทพผดุงพร 392/56-57 ซ.ปรีชาพาณิชย์ ถ.มหาราช แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ โทรศัพท์ : 0 2622 3434 ,0 2622 3838 ,0 2622 3737 โทรสาร : 0 2226 1829 เว็บไซต์ : www.ampolfood.com ที่มา : หนังสือ 72 ปี แห่งการพัฒนาอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ธ.ค. 2557
บริษัท ทองม้วนไทยพัฒนา จำกัดปรับโฉมขนมขบเคี้ยวไทยโกอินเตอร์
เมื่อห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ขยายฐานมาปักหลักที่จังหวัดกาญจนบุรี ห้างสรรพสินค้าเก่าแก่ของคนไทยต้านกระแสไม่ไหวต้องปิดตัวลง เจ้าของห้างท้องถิ่นอย่างคุณสุกัญญากิจสวัสดิ์ ต้องแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าด้วยการหันมาขายขนมทองม้วน ของฝากขึ้นชื่อประจำจังหวัด พร้อมกับขบคิดหาทางออกให้กับวิกฤตเศรษฐกิจของตนเอง วันหนึ่งขณะคุณสุกัญญานั่งดูโทรทัศน์เห็นข่าวกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมช่วยเหลือผู้ประกอบการจนประสบความสำเร็จจึงมองเห็นลู่ทางว่าทองม้วนของตนน่าจะมีอนาคตสดใสได้ จึงหอบทองม้วนอันใหญ่ๆ พองๆ รูปทรงดั้งเดิม บรรจงเรียงอยู่ในถุงพลาสติกมัดหนังสติ๊ก มาขอพบผู้บริหารของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ออกรายการทีวีเมื่อวันก่อน คุณมนูญ จันทร์ประสิทธิ์ ผู้อำนวยการส่วนพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตร สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขาผู้ที่ออกรายการในวันนั้นได้ตั้งโจทย์ให้คุณสุกัญญาตีให้แตกดังนี้ 1. ทำทองม้วนให้มีขนาดพอคำ 2. เมื่อกัดทองม้วนแล้วต้องไม่แตกไม่ร่วงเลอะเทอะ ไม่ต้องแหงนหน้ากิน 3. ต้องทำทองม้วนให้แตกต่างจากคนอื่น และ 4. ต้องใส่บรรจุภัณฑ์ที่พอดีทองม้วนกระทบกันแล้วไม่แตกหัก พร้อมตบท้ายด้วยการให้ภาพของการพาทองม้วนไทยไปต่างประเทศ คุณสุกัญญาใช้เวลาขบคิดจนตีโจทย์แตกอย่างหมดเปลือก พลิกโฉมทองม้วนไทยหน้าตาบ้านๆ ให้กลายเป็นทองม้วนไฮโซ ลดขนาดให้พอดีคำ พัฒนารสชาติทองม้วนให้แตกต่างจากที่มีทั่วไปในท้องตลาด เช่น ทองม้วน ช็อคโกแลต ทองม้วนหมูหยอง ทองม้วนฝอยทอง ทองม้วนน้ำพริกเผา พร้อมจับใส่บรรจุภัณฑ์อันทันสมัยหลากหลายรูปแบบรวมทั้งคุณสุกัญญายังเข้ารับการอบรมเรื่องมาตรฐานการผลิตอาหารตามเกณฑ์ต่างๆ จนได้รับการรับรองจาก อย.ตลอดจนการผลิตตามมาตรฐาน GMP และ HACCP ไปร่วมออกงาน แสดงสินค้ากับกรมฯ แสวงหาความรู้ในการนำสินค้าออกจำหน่ายต่างประเทศ ทั้งหมดนี้ส่งให้ “ทองม้วน” ขนมขบเคี้ยวแบบไทยๆออกไปประกาศศักดิ์ศรีบุกตลาดต่างประเทศได้จนถึงทุกวันนี้ จากทองม้วนโมเดล “ส่งขนมไทยไปไกลถึงต่างแดน” กลยุทธ์สำคัญคือ การพัฒนาตนเองแบบไม่เคยหยุดนิ่ง สมกับชื่อ “ทองม้วนไทยพัฒนา” เพราะไม่หยุดที่จะค้นคว้าทดลองสิ่งใหม่ๆ ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์อาหารมากมายได้จากการสังเกตและลงมือทำ พัฒนาสูตรจนมีทองม้วนถึง 30 รสชาติ ตอบสนองลูกค้าในหลายประเทศทั่วโลก มีสัดส่วนลูกค้าต่างประเทศถึง 70% ส่วนในประเทศมีขายเฉพาะห้างสรรพสินค้าระดับพรีเมียมยกฐานะขีดความสามารถทองม้วนท้องถิ่นกลายเป็นทองม้วนไฮโซที่เป็นสินค้าส่งออกทำเงิน สร้างงานให้กับชาวบ้านในท้องถิ่นและสร้างรายได้เข้าประเทศปีหนึ่งๆ จำนวนไม่น้อย คุณสุกัญญา กิจสวัสดิ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ทองม้วนไทยพัฒนา จำกัด 284/53 ถ.แสงชูโต ต.บ้านเหนือ อ.เมือง จ.กาญจนบุรี โทรศัพท์ : 0 3451 3505 โทรสาร : 0 3451 1533 ที่มา : หนังสือ 72 ปี แห่งการพัฒนาอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ธ.ค. 2557