“รสอ.ดวงดาว" ร่วมประชุมบอร์ดสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ วิเคราะห์ปัจจัยความเสี่ยงเพื่อกำหนดแผนการดำเนินงานด้านอัญมณีและเครื่องประดับไทย ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมตามนโยบายของ "รมว.เอกนัฏ"
กรุงเทพฯ 22 เมษายน 2568 - นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้ นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2568 โดยมีคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมชั้น 6 อาคารสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ และในรูปแบบออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชั่น Zoom Meeting
การประชุมดังกล่าว มีการรายงานให้ที่ประชุมให้ทราบเกี่ยวกับสถานการณ์การนำเข้าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2568 มีมูลค่าการนำเข้า 4,768.29 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีการนำเข้าสินค้าหลัก คือ ทองคำ รองลงมา คือ เครื่องประดับแท้ พลอยสี เพชรเจียระไน และโลหะเงิน ในด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น คิดเป็นมูลค่า 6,133.71 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งตลาดสำคัญในการส่งออกของไทย ได้แก่ อินเดีย สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และอิตาลี โดยปัจจัยบวกส่งเสริมการส่งออก คือ ความต้องการบริโภคอัญมณีและเครื่องประดับเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลสำคัญ และความนิยมพลอยสีทั้งพลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไนเพิ่มมากขึ้น ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม คือ การปรับเปลี่ยนนโยบายการค้าของสหรัฐอเมริกา ซึ่งการขึ้นภาษีนำเข้าอาจทำให้ไทยส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไปยังสหรัฐอเมริกาได้ลดลง ในขณะที่ความผันผวนของราคาทองคำ ซึ่งมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อความต้องการ ทั้งนี้ มีการรายงานให้ที่ประชุมทราบข้อมูลรายได้จากผลการดำเนินงานประจำเดือนมีนาคม 2568 ที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นรายได้ที่มาจากค่าบริการการตรวจสอบอัญมณี การตรวจสอบโลหะ และการฝึกอบรม เป็นหลัก
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้ร่วมกันพิจารณาผลการดำเนินงานของสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ ตามข้อกำหนดของสำนักงาน ก.พ.ร. รอบ 6 เดือน (ตุลาคม 2567 - มีนาคม 2568) โดยประเมินจากการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ คือ 1. การยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมอัญมณี โลหะมีค่าและเครื่องประดับของประเทศไทยให้ครอบคลุมด้านธรรมาภิบาลและความยั่งยืน 2. การส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรม โดยมุ่งเน้นการพัฒนาต่อยอดเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่ออุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทย 3. การเป็นศูนย์กลางความร่วมมือของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในตลาดโลก 4. การเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านอัญมณีและเครื่องประดับของไทยอย่างครบวงจร และ 5. การพัฒนาไปสู่องค์กรดิจิทัลที่มีสมรรถนะสูงและเสริมสร้างภาพลักษณ์ความเป็นมืออาชีพขององค์กรไปสู่ระดับสากล รวมทั้งมีการพิจารณาการบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายในของสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ เพื่อให้การดำเนินงานด้านอัญมณีและเครื่องประดับไทย เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรม ตามนโยบาย “ปฏิรูปอุตสาหกรรม สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส” ของ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
24
เม.ย.
2568