หมวดหมู่
พี ไอ อินดัสทรี ลดการสูญเสีย ด้วยการจัดการระบบคลังสินค้า
บริษัท พี ไอ อินดัสทรี จำกัด เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายวัตถุดิบยางคอมปาวด์ เช่น Rubber Compound, Chemical Master Batch ฯลฯ สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์และอุตสาหกรรมต่าง ๆ ภายใต้กลุ่มบริษัทอินโนเวชั่น กรุ๊ป บริหารโดย ดร.บัญชา ชุณหสวัสดิกุล ประธาน และผู้ก่อตั้งบริษัท ตลอดระยะเวลา 35 ปี ดร.บัญชา บริหารธุรกิจด้วยความมุ่งมั่น โดยมุ่งสร้างสรรค์นวัตกรรม พัฒนางานวิจัยด้านยางและพลาสติก ตลอดจนนำเทคโนโลยีอันทันสมัยเข้ามาใช้เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้า บริษัทฯ สามารถผลิตวัตถุดิบยางได้ทุกประเภทที่มีใช้อยู่ในอุตสาหกรรมปัจจุบันตั้งแต่ Low Performance จนถึง High Performance มีเทคโนโลยีการผลิตด้วยระบบ Advance Automate Rubber compounding เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยมีกำลังการผลิต 90,000 ตันต่อปี และได้รับมาตรฐานการรับรองคุณภาพ ISO 9001, ISO18001, OHSAS 18001 ปัจจุบันได้ขยายฐานการตลาดและการผลิตไปยังประเทศเวียดนามส่งผลให้ธุรกิจเติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่ง แต่เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในระดับสากล ดร.บัญชา จึงเห็นความสำคัญของการเข้าร่วมกิจกรรมเชื่อมโยงเครือข่ายโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน (Coaching For Logistics and Supply Chain Network) ผลปรากฏว่าบริษัทสามารถเพิ่มขีดความสามารถของระบบจัดการคลังสินค้าให้รองรับการเบิกจ่ายวัตถุดิบเพื่อการผลิต การส่งคืนเมื่อเหลือใช้ การหมุนเวียนนำกลับใช้งานต่อเนื่อง การควบคุมโดยยึดหลัก First-In First-Out หรือ FIFO ช่วยสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เพิ่มความแม่นยำของวัตถุดิบในคลังสินค้าจากร้อยละ 95 เพิ่มเป็นร้อยละ 98 ซึ่งสามารถลดการสูญเสียปีละกว่า 9 ล้านบาท และสามารถก้าวต่อไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน คุณบัญชา ชุณหสวัสดิกุล บริษัท พี ไอ อินดัสทรี จำกัด (สำนักงานใหญ่) 20 ซ.รามคำแหง 30 (บ้านเรา) แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ 10240 โทรศัพท์ 0 2375 5197 ต่อ 366 http://www.elastomer-polymer.com ที่มา : รายงานประจำปี 2562 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
24 มี.ค. 2563
ยงสง่า ใช้ระบบอัตโนมัติ เพิ่มผลิตภาพธุรกิจสิ่งทอ
บริษัท ยงสง่า จำกัด ก่อตั้งโดย คุณสง่า มานัสทน เป็นผู้ผลิตเสื้อผ้า เสื้อผ้าแฟชั่น เสื้อผ้ากีฬา ชุดยูนิฟอร์ม มาอย่างยาวนานกว่า 5 ทศวรรษ ด้วยคุณภาพการตัดเย็บสูง ตลอดจนความพร้อมของบุคลากร เครื่องจักร และกำลังการผลิต บริษัทฯ จึงได้รับความไว้วางใจจากดีไซเนอร์ เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ ให้ร่วมเป็นหนึ่งในฐานการผลิตเสื้อผ้าแบรนด์ต่าง ๆ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้ธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มต้องปรับตัวให้ทันยุค 4.0 อีกทั้งปัญหาแรงงานขาดแคลน การปรับค่าแรงขั้นต่ำ บริษัทจึงเรียนรู้ที่จะนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับธุรกิจ ซึ่งจากการเข้าร่วมโครงการเพิ่มผลิตภาพสถานประกอบการด้วยระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีสารสนเทศด้านสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม พบว่าผลิตภาพหลังการปรับปรุงอยู่ที่ร้อยละ 81.44 คิดเป็นต้นทุนตัวละ 7.44 บาท ผลิตภาพเพิ่มขึ้นร้อยละ 99.12 จะทำให้ต้นทุนลดลง 7.67 บาทต่อตัว หรือ 4,602,000 บาทต่อปี นอกจากนี้ การใช้จักรลาเจียนลมอัตโนมัติทำให้เวลาเจียนชายเหลือ 0.12 นาที คิดเป็นประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นร้อยละ 350 คิดเป็นค่าแรงทางตรง 14,218.75 บาทต่อเดือน หรือ 170,625 บาทต่อปี ทั้งยังเห็นความสำคัญของการใช้โปรแกรม ERP มาช่วยวางแผนและบริหารการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับการผลิตชิ้นงานในปริมาณที่แตกต่าง และสามารถจัดส่งสินค้าถึงมือลูกค้าในระยะเวลาที่กำหนดได้ คุณสง่า มานัสทน บริษัท ยงสง่า จำกัด 185 -185/1 ซ.ประชาอุทิศ 15 ถ.ประชาอุทิศ แขวงราษฎร์บูรณะ เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพฯ 10140 โทรศัพท์ 0 2428 5967-9 เว็บไซต์ https://www.yongsanga.com/ ที่มา : รายงานประจำปี 2562 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
24 มี.ค. 2563
บ้านปางงุ้น เปลี่ยนอัตลักษณ์ชุมชน เป็นของฝากสร้างรายได้ที่ยั่งยืน
ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติและความหลากหลายทางวัฒนธรรมในชุมชน บ้านปางงุ้น จังหวัดแพร่ มีเสน่ห์ดึงดูดให้ผู้คนสนใจเดินทางมาท่องเที่ยวที่นี่ เช่น อ่างแม่อาง ม่อนสรอย สวนกนกกร ร้านหมอนไม้ไออุ่น รวมทั้งพิชิตยอดโด่แม่อางที่มีความสูง 350 เมตรจากระดับน้ำทะเล ซึ่งถือว่าสูงที่สุดใน อำเภอวังชิ้น อย่างไรก็ดี คุณสินชัย พุกจินดา ประธานกลุ่มปางงุ้นสีเขียว ท่องเที่ยวสุขใจ ต้องการจะสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ของฝากของที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยว ซึ่งภายหลังจากเขาได้เข้าร่วมการพัฒนาผู้ประกอบการชุมชนในการยกระดับหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน (Creative Industry Village : CIV) ปรากฏว่าชุมชนบ้านปางงุ้นมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการธุรกิจชุมชนอย่างแท้จริง โดยสามารถนำอัตลักษณ์ของชุมชนมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น เมล็ดกาแฟอาราบิก้า ผลผลิตที่ได้จากการเปลี่ยนไร่ข้าวโพดเป็นไร่กาแฟ เพื่อรักษาดิน น้ำ ลดมลพิษทางอากาศ ทั้งยังน้อมนำหลักการเรื่องปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่างของในหลวง รัชกาลที่ 9 มาใช้เพื่อให้นักท่องเที่ยวเลือกซื้อเป็นของฝากของที่ระลึก นอกจากนี้ ยังได้เรียนรู้กลยุทธ์การนำเสนอวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ชุมชนให้เป็นที่แพร่หลายผ่านสื่อออนไลน์และสื่อออฟไลน์ รวมทั้งกำหนดกิจกรรมการท่องเที่ยวชุมชนเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้บ้านปางงุ้นมีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 25,000 บาทต่อเดือน หรือคิดเป็น 300,000 บาทต่อปี คุณสันชัย พุกจินดา บ้านปางงุ้น 170 หมู่ 6 ต.สรอย อ.วังชิ้น จ.แพร่ 54160 โทรศัพท์ 089 851 4603 http://บ้านปางงุ้น.com ที่มา : รายงานประจำปี 2562 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
24 มี.ค. 2563
ประกาศเลื่อนการรับผลงานส่งเข้าประกวดบรรจุภัณฑ์ไทย ประจำปี 2563
ประกาศเลื่อนการรับผลงานส่งเข้าประกวดบรรจุภัณฑ์ไทย ประจำปี 2563 (ThaiStar Packaging Awards 2020) เนื่องจากสถานการณ์ Covid-19 ทางคณะผู้จัดงานประกวดขออนุญาตเลื่อนวันปิดรับสมัครและส่งผลงานเป็นวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 การส่งผลงานยังสามารถส่งทางไปรษณีย์ได้เหมือนเดิม ส่วนท่านที่จะส่งผลงานด้วยตัวเอง โทรแจ้งเจ้าหน้าที่ที่หมายเลข 061 423 4926 สำหรับวันประกาศผลประกวดและงานรับรางวัลทางผู้จัดงานประกวดจะแจ้งให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง
24 มี.ค. 2563
ไตรวิวัฒน์ อินเตอร์เทรด คิดค้นนวัตกรรม เข็มเจาะชิ้นเนื้อพยาธิวิทยา รองรับตลาดสุขภาพ
กว่า 40 ปีที่ บริษัท ไตรวิวัฒน์ อินเตอร์เทรด จำกัด สั่งสมประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในการผลิตหลอดฉีดยาแก้ว มาถึงวันนี้ บริษัทภายใต้การบริหารของ คุณสุธี ไตรวิวัฒน์วงศ์ ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง และไม่หยุดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการแพทย์ ซึ่งถือเป็นหนึ่งใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต ด้วยความต้องการนำผลงานวิจัยมาต่อยอดการผลิตสู่เชิงพาณิชย์ ด้วยความมุ่งหวังให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ คุณสุธีจึงเข้าร่วมกิจกรรมขับเคลื่อนผลงานวิจัยเพื่อสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์หรือสู่บัญชีนวัตกรรม ภายใต้โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพครบวงจร ผลลัพธ์ที่ได้คือ ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเข็มเจาะชิ้นเนื้อพยาธิวิทยา ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ในเรื่องการวินิจฉัยโรค เนื่องจากสามารถเจาะตัดชิ้นเนื้อเล็ก ๆ ภายในร่างกายได้อย่างแม่นยำ ปลอดภัย และเพียงพอต่อการวินิจฉัยโรค โดยไม่ต้องผ่าตัด ส่งผลให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาให้กับผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญนวัตกรรมดังกล่าว สามารถดำเนินการผลิตได้ภายในประเทศ ทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นการสร้างโอกาสให้กับธุรกิจ และเตรียมความพร้อมของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพแห่งเอเชียในอนาคต คุณสุธี ไตรวิวัฒน์วงศ์ บริษัท ไตรวิวัฒน์ อินเตอร์เทรด จำกัด 117/14, 117/33 หมู่ 5 ต.บางไผ่ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000 โทรศัพท์ 0 2446 0387, 0 2808 7376-8 https://www.triviwat.com/ ที่มา : รายงานประจำปี 2562 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
24 มี.ค. 2563
กสอ. หารือแนวทางสานความร่วมมือ อว. พัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในชุมชนอย่างมีส่วนร่วม
กรุงเทพฯ 23 มีนาคม 2563 - นายใบน้อย สุวรรณชาตรี รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานในการประชุมหารือแนวทางการขับเคลื่อนโครงการ Creative Economy ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมด้วยผู้บริหารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เข้าร่วมการประชุมผ่านการประชุมทางไกล (Video Conference) ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคาร กสอ. การประชุมดังกล่าวเป็นการหารือแนวทางการดำเนินงานร่วมกันในการขับเคลื่อนโครงการ Creative Economy (กิจกรรมต่อรากสร้างสรรค์) ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เพื่อบูรณาการกับแผนงานยุวชนสร้างชาติของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยร่วมมือกันพัฒนาหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสร้างสรรค์ (Creative Industry Village: CIV) อย่างเป็นยั่งยืนและให้เยาวชนหรือบัณฑิตอาสาในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนของตนเองอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมในภูมิภาคเร่งหารือกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่เพื่อวางแผนการดำเนินการในระยะต่อไป ### PR.DIP (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน /ภาพข่าว
23 มี.ค. 2563
“แม่ทัพ กสอ. นั่งหัวโต๊ะ เคาะมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการจากสถานการณ์แพร่ระบาดโรคโควิด-19
กรุงเทพฯ 20 มีนาคม 2563 - นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย ครั้งที่ 2/2563 โดยมี นายใบน้อย สุวรรณชาตรี รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา เลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) คณะกรรมการบริหารเงินทุนหมุนเวียนฯ และเจ้าหน้าที่ กสอ. เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 2 ชั้น 3 อาคาร กสอ. การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อพิจารณามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทีได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (covid-19) สำหรับบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทยให้สามารถดำเนินประกอบธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องและไม่ก่อให้เกิดหนี้เสียในอนาคตได้ โดยมีจะมาตรการพักชำระหนี้เงินต้นและขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้จากสัญญาเงินกู้เดิม ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหารเงินทุนหมุนเวียนฯ ร่วมกันพิจารณาหลักเกณฑ์ต่าง ๆ และให้คณะทำงานปรับหลักเกณฑ์ให้มีความชัดเจนและสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้ผู้ประกอบการยื่นขอความช่วยเหลือได้ประมาณต้นเมษายนนี้ ขณะเดียวกันยังร่วมกันพิจารณาข้อบังคับเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย รวมถึงการปรับแผนประมาณการรายจ่ายเงินทุนหมุนเวียนฯ ปีงบประมาณ 2563 นอกจากนี้ ยังมีการรายงานผลการดำเนินงานภาพต่าง ๆ ที่ผ่านมาของเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย ของ กสอ. ต่อคณะกรรมการบริหารเงินทุนหมุนเวียนฯ ให้ได้รับทราบอีกด้วย ### PR.DIP (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน /ภาพข่าว
20 มี.ค. 2563
แนปปี้ เบบี้ ผลิตภัณฑ์ใยไผ่สำหรับเด็ก สร้างแบรนด์ ยอดขายโตในโลกออนไลน์
เมื่อลูกน้อยประสบปัญหาด้านสุขภาพ ด้วยโรคปัสสาวะไหลย้อน (Vesicoureteral Reflux- VUR) จากความผิดปกติของกรวยไต ส่งผิดให้ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะได้ง่ายกว่าปกติ คนเป็นแม่อย่าง คุณเณริศา อิศรางกูร ณ อยุธยา จึงไม่อาจทนอยู่เฉยได้ โดยพยายามสรรหาผลิตภัณฑ์ที่มีความเป็นธรรมชาติมากที่สุดมาให้ลูกได้ใช้แทนผ้าอ้อมสำเร็จรูปเพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ เธอไม่เพียงค้นพบผลิตภัณฑ์จากใยไผ่ที่นอกจากนุ่มมากแล้ว ยังปลอดภัยต่อลูกน้อยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยังสามารถต่อยอดเป็นธุรกิจและทำการตลาดภายใต้แบรนด์ “แนปปี้ เบบี้” ด้วย ช่องว่างทางการตลาดทำให้ผลิตภัณฑ์จากใยไผ่ “แนปปี้ เบบี้” ได้รับการตอบรับดีมากจากกลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครอง ส่งผลให้ บริษัท เอ ลิทเทิล ลัลลาบาย จำกัด เติบโตอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันมีการเพิ่มผลิตภัณฑ์อย่างหลากหลาย ครอบคลุมของใช้จำเป็นสำหรับเด็กอ่อนถึง 5 ปี เช่น ผ้าอ้อมสาลูใยไผ่ ผ้าห่อตัวสาลูใยไผ่ ผ้าห่มใยไผ่ เครื่องนอนใยไผ่ ชุดเด็กใยไผ่ เป็นต้น เพื่อเพิ่มพูนความรู้ในเรื่องของการประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศในการประกอบการ คุณเณริศาจึงตัดสินใจเข้าอบรมในโครงการเพิ่มศักยภาพ SMEs ด้วยระบบเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital for SMEs) ทำให้มีความเข้าใจในกระบวนการทำแบรนด์ดิ้งที่ชัดเจนมากขึ้น ตั้งแต่การสร้างเนื้อหาจนถึงการนำเครื่องมือดิจิทัลไปใช้ในการสื่อสารภาพลักษณ์ของแบรนด์กับกลุ่มผู้บริโภคได้อย่างถูกต้อง ตลอดจนการบริหารจัดการกระบวนการทำงานอย่างเป็นระบบ เพื่อช่วยให้ทีมงานทำงานง่ายยิ่งขึ้น ธุรกิจจึงเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพจากการทำตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น เวียดนาม ลาว บรูไน ฟิลิปปินส์ อเมริกา หลังจากเข้าร่วมโครงการส่งผลให้ยอดขายรวมเพิ่มขึ้น 30% นอกจากนี้ยังมีแผนการขายทางออนไลน์ไปยังนานาชาติอีก 6 ประเทศ โดยคาดการณ์ว่าในปี 2563 ยอดขายจะเติบโตมากถึง 100% คุณเณริศา อิศรางกูร ณ อยุธยา บริษัท เอ ลิทเทิล ลัลลาบาย จำกัด 155 ห้อง 114A ซ.สุขุมวิท 49 (แรคเก็ตคลับ) แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 10110 โทรศัพท์ 08 5920 3284 https://www.nappibaby.com/ ที่มา : รายงานประจำปี 2562 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
18 มี.ค. 2563
อินฟราเซท ก้าวสู่ตลาดหลักทรัพย์ mai เพิ่มขีดความสามารถธุรกิจก้าวไกล
จากบริษัทเล็ก ๆ ที่เก็บเกี่ยวประสบการณ์ในการออกแบบและดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางวิศวกรรม จนมาถึงปัจจุบัน บริษัท อินฟราเซท จำกัด (มหาชน) สามารถผงาดอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ได้ภายใต้ชื่อ INSET ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้ก่อตั้งคือ คุณศักดิ์บวร พุกกะณะสุต กรรมการผู้จัดการ คิดใหญ่และมองการณ์ไกล ด้วยความเป็นหนึ่งในบริษัทเพียงไม่กี่รายที่ทำธุรกิจแบบครบวงจร ทั้งธุรกิจก่อสร้างศูนย์ข้อมูลและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและโครงข่ายโทรคมนาคม ตลอดจนธุรกิจซ่อมบำรุงและบริการ ซึ่งถือว่ามีแนวโน้มเติบโตที่ดี ทั้งยังอยู่ในอุตสาหกรรมที่ภาครัฐสนับสนุนผ่านโครงการไทยแลนด์ 4.0 แต่เพราะมีข้อจำกัดด้านเงินลงทุนเพื่อที่จะไปต่อ คุณศักดิ์บวรจึงเข้าร่วมโครงการเตรียมความพร้อม SMEs เพื่อเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ปีงบประมาณ 2562 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ส่งเจ้าหน้าที่มาช่วยปรับปรุงและพัฒนาระบบควบคุมภายในให้ครอบคลุมกับธุรกิจทั้งหมด เช่น กำหนดแนวทางในการประเมินคุณภาพผู้รับเหมาร่วมกัน จัดทำแผนบริหารความเสี่ยงระดับแผนก พัฒนาระบบบริหารทรัพยากรบุคคล โดยจัดทำขอบเขตงาน กำหนด Career Path รวมทั้งวางแนวทางสร้างแรงจูงใจในการทำงานให้มีประสิทธิภาพที่ดี ส่งผลให้บริษัทมีการดำเนินการที่เป็นระบบ ที่สำคัญมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ที่กำหนด และมีความพร้อมในการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai ทั้งนี้ อินฟราเซทได้เปิดซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ mai วันแรก คือวันที่ 8 ตุลาคม 2562 ในราคา 2.69 บาทต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่าระดมทุน 392.74 ล้านบาท และมีมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 1,506.4 ล้านบาท ซึ่งคุณศักดิ์บวรตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายใน 5 ปี บริษัทจะต้องติดหนึ่งใน 3 ของบริษัทที่ได้งานโครงการพื้นฐานโทรคมนาคมขนาดใหญ่ของประเทศ คุณศักดิ์บวร พุกกะณะสุต บริษัท อินฟราเซท จำกัด (มหาชน) 165/37-39 อาคารอินฟราเซท ถ.รามอินทรา แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพฯ 10220 โทรศัพท์ 0 2092 7444 https://infraset.co.th/ ที่มา : รายงานประจำปี 2562 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
18 มี.ค. 2563