หมวดหมู่
“อธิบดีณัฐพล” นั่งหัวโต๊ะ หารือแนวทางนำร่อง แพ็คเกจ “ดีพร้อม-เปย์” 3-3-5 กว่า 30 ล้านบาท
กรุงเทพฯ 23 พฤศจิกายน 2564 - นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานการประชุมมอบนโยบาย “แนวทางการบริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียน เพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 โดยมี นายภาสกร ชัยรัตน์ และ นายเจตนิพิฐ รอดภัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และประธานคณะอนุกรรมการบริหารเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย พร้อมด้วย นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา เลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการเงินทุนหมุนเวียน เพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย (กสอ.) หรือ ดีพร้อม และคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ดีพร้อม ณ ห้องประชุม 1 ชั้น3 กสอ. โดย อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย มอบนโยบายและแนวทางการดำเนินงานของเงินทุนหมุนเวียนฯ ปีงบประมาณ 2565 โดยมีโครงการสินเชื่อพิเศษดีพร้อมเปย์ (DIProm Pay) เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้ดีพร้อม โดยกำหนดกรอบวงเงินอนุมัติสูงสุด 5 ล้านบาทต่อราย ในอัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดเริ่มต้น 3% ระยะเวลาชำระคืนไม่เกิน 3 ปี เป็นโครงการที่มีป้าประสงค์ในการดำเนินการ คือ เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจและมีความพร้อมจะฟื้นฟูกิจการอีกครั้ง ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID - 19) คลี่คลาย เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับการช่วยเหลือและการสนับสนุนผู้ประกอบการของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมในการหมุนเวียนกิจการ และต่อยอดธุรกิจ พัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือนวัตกรรม โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) และสตาร์ทอัพ ที่ผ่านการเข้าร่วมโครงการของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในช่วงปีงบประมาณ ๒๕๖๔ – ๒๕๖๕ ตามเป้าหมายที่วางไว้ 30 ราย นอกจากนี้ ยังได้กำหนดแนวทางให้ กองฯ และ ศูนย์ภาคฯ ดำเนินการคัดกรองกลุ่มเป้าหมายใหม่ที่มีความสามารถในการดำเนินธุรกิจ ได้อย่างเข้มแข็งตลอดระยะเวลาการกู้ภายใน 3 ปีขึ้นไป### PR.DIProm (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
24 พ.ย. 2564
7 อุตสาหกรรมที่ AI เป็นผู้ช่วยและทุ่นแรงให้กับมนุษย์
เห็นวันก่อนมีประเด็กถกเถียงกันเรื่องประโยชน์และโทษของ AI หรือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ระหว่าง Elon Musk ผู้ก่อตั้ง Tesla และ SpaceX กับ Mark Zuckerberg เจ้าของ Facebook ฝ่าย Elon Musk เห็นว่า AI น่ะมันน่ากลัวและจะเป็นภัยต่อมนุษย์เอง ส่วน Mark Zuckerberg มองโลกในแง่ดีว่า ใช้ AI ดีซะอีกจะได้เข้ามาช่วยเหลือมนุษย์ ซึ่งทั้งสองไม่ได้เผชิญหน้ากันตรงๆแต่มีการพูดถึงกันแบบอ้อมๆ และแอบกัดจิกกันไปมาผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค จนหลายสื่อในต่างประเทศหยิบไปเป็นประเด็นเล่าข่าวกันสนุกปาก ใครจะเป็นฝ่ายคิดถูกหรือคิดผิด คำตอบคงหาไม่ได้ภายในระยะเวลา 1-2 ปีนี้แน่นอน ต้องดูกันไปยาวๆ แต่เมื่อพูดถึง AI แล้วล่ะก็ ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันหลายอุตสาหกรรมเริ่มใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเข้าไปช่วยเหลือการทำงานของมนุษย์แล้วแบบจริง ๆ จัง ๆ ซึ่งวันนี้ได้คัดกรองอุตสาหกรรมใกล้ตัวที่มีการใช้ AI เป็นผู้ช่วยมาบอกเล่ากัน เพื่อให้เห็นว่าทุกวันนี้ AI ไม่ใช่เรื่องที่เราจะหนีพ้นครับ ! 1. การแพทย์ เป็นที่ทราบดีว่าไม่ใช่แค่ประเทศไทยที่ขาดแคลนเครื่องมือและบุคลากรทางแพทย์ แต่ปัญหานี้ยังเกิดขึ้นทั่วโลก ดังนั้นการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยจึงเป็นตัวเลือกที่อุดช่องว่างที่เกิดขึ้น ดังนั้น AI หรือปัญญาประดิษฐ์จึงถูกนำมาใช้เพื่อบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นและยังช่วยแพทย์ในการวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ นำ IBM Watson เทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยวิเคราะห์การรักษาโรคมะเร็ง หรือที่โรงพยาบาลเซี่ยงไฮ้ของประเทศจีน มีการใช้เทคโนโลยี AI จากบริษัท Infervison เข้ามาช่วยในการวินิจฉัยและเอกซเรย์โรงมะเร็งปอด 2. การเกษตร มีการคาดการณ์ว่าในปี 2050 ประชากรโลกจะมีถึง 9.8 พันล้านคน ประชากรจากชนบทจะเริ่มขยับขยายเข้าสู่ชุมชนเมืองมากขึ้น ก่อให้เกิดปัญหาผลผลิตทางการเกษตรไม่เพียงพอต่อความต้องการ ดังนั้นการเพิ่มและยกระดับประสิทธิภาพของผลผลิตด้วยเทคโนโลยีจึงเป็นทางแก้ปัญหาที่กำลังถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในเวลานี้ ระบบเกษตรอัจฉริยะ หรือเรียกสั้นๆ ว่า Smart Farm เริ่มถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการเกษตรบ้างแล้ว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยบรรเทาการใช้แรงงานมนุษย์และเพิ่มผลผลิตที่มีประสิทธิภาพ ตัวอย่างเช่น ฟาร์มปลูกแตงกวาในญี่ปุ่นของ Makoto Koike ได้นำเทคโนโลยี Machine learning และ Deep Learning ภายใต้ระบบ TensorFlow ของ Google พร้อมด้วย Raspberry Pi 3 มาใช้ในการคัดแยกแตงกวา ซึ่งให้ความถูกต้องถึง 95% มากกว่าการใช้คนที่ทำได้เพียง 70% เท่านั้น ส่วนในประเทศไทยก็เริ่มมีเกษตรกรบางรายเริ่มมีการใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีอันทันสมัยเข้ามาช่วยด้านการเกษตรบ้างแล้ว แต่ยังเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น 3. ประกันภัย หลายคนอาจสงสัยว่า AI จะเข้ามาช่วยในอุตสาหกรรมประกันภัยได้อย่างไร ยกตัวอย่างเช่น Fukoku Mutual บริษัทประกันภัยของญี่ปุ่น นำ IBM Watson ซึ่งเป็นเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์วิเคราะห์ข้อมูลผู้ถือกรมธรรม์ สามารถพิจารณาเงินประกันที่ต้องจ่ายกับผู้ถือกรมธรรม์ในแต่ล่ะกรณีได้ โดยดูจากประวัติทางการแพทย์เป็นหลัก และเชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีจะช่วยทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้น 30% และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายเงินเดือนของพนักงานได้ถึง 140 ล้านเยนต่อปี ผลที่เกิดขึ้นเมื่อนำ AI มาใช้ ปรากฏว่าบริษัทตัดสินใจเลิกจ้างพนักงานในแผนกที่เกี่ยวข้อง 34 คน 4. การเงิน การธนาคาร เทคโนโลยี AI กลายเป็นสิ่งที่ธุรกิจประเภทการเงิน การธนาคารหันมาให้ความสำคัญมากขึ้น และมีแนวโน้มสูงที่ AI จะกลายเป็นผู้ช่วยให้กับลูกค้า ซึ่งมีการประเมินว่า AI จะสามารถเป็นที่ปรึกษาด้านการทำธุรกรรมการเงินให้กับลูกค้า, เป็นเครื่องมือที่ช่วยตรวจสอบเส้นทางการเงิน เพื่อป้องกันการทุจริต, ทำหน้าที่วิเคราะห์ศักยภาพด้านการเงินเพื่อวางโครงสร้างธุรกิจและกลยุทธ์ให้กับธุรกิจการเงิน การธนาคาร เป็นต้น ตัวอย่าง City Union Bank ในอินเดีย มีการใช้หุ่นยนต์ที่ชื่อว่า Lakshmi เป็นผู้ช่วยลูกค้าในการบอกยอดเงินคงเหลือและอัตราดอกเบี้ย หรือ Bank of Tokyo Mitsubishi ของญี่ปุ่น ใช้หุ่นยนต์ที่เรียกว่า Nao เพื่อวิเคราะห์การแสดงออกทางสีหน้าและพฤติกรรมการโต้ตอบของลูกค้า ขณะที่ธนาคาร HSBC ผู้ช่วยฉลาดๆ ที่เรียกว่า Olivia ที่ให้บริการในรูปแบบออนไลน์ ทำหน้าที่ตอบคำถามเกี่ยวกับความปลอดภัยไปจนถึงปัญาอื่นๆ จากลูกค้า และ Capital One ธนาคาในสหรัฐอเมริกา ให้ลูกค้าสามารถพูดคุยโต้ตอบกับ Amazon Alexa ในการตรวจสอบบัญชี ชำระค่าบัตรเครดิต ได้ เป็นต้น 5. ระบบการขนส่งสาธารณะ หลายคนที่ติดตามข่าวไอทีกับ aripfan จะพบข่าวคราวของเทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับกันอยู่เรื่อยๆ ซึ่งการพัฒนารถยนต์ในลักษณะดังกล่าวจากบรรดาบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ก็ดี หรือบริษัทด้านเทคโนโลยีก็ดี ต่างมีเทคโนโลยี AI เป็นผู้ช่วยสำคัญในการติดตาม วิเคราะห์เส้นทางและหลบหลีกสิ่งกีดขวางเพื่อช่วยในการขับขี่ให้กับมนุษย์ แต่นอกเหนือจากการพัฒนาภายในรถยนต์ส่วนบุคคลแล้ว รถขนส่งสาธารณะยังเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่จะช่วยยกระดับการบริการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น Uber ที่จัดตั้ง AI Labs ขึ้นมา เพื่อสร้างอัลกอริทึมและเทคโนโลยีสำหรับใช้ในบริการของ Uber สามารถวิเคราะห์เส้นทางตามพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้รู้ว่าพื้นที่ใดมีความต้องการใช้รถบ้าง และ Uber จะเป็นบริการที่เข้าไปช่วยเหลือตามพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว หรือจะเป็น Waymo หนึ่งในบริษัทลูกของ Alphabet ที่มีการทดสอบให้บริการรถยนต์ไร้คนขับสาธารณะครั้งแรกแล้วในเมืองฟีนิกซ์ รัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา เริ่มด้วยการใช้รถยนต์มินิแวนจาก Chrysler จำนวน 500 คัน เป็นบริการสำหรับครอบครัว ซึ่ง Waymo มีการเปิดรับสมัครผู้ขับขี่ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป เป็นการทดลองให้ผู้ขับขี่ได้ร่วมสัมผัสประสบการณ์การขับขี่ของรถยนต์ขับเองอัตโนมัติ 6. งานก่อสร้าง อุตสาหกรรมงานก่อสร้างเริ่มนำเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยเหลือในงานก่อสร้างบ้างแล้ว เช่น บริษัท Komatsu ของญี่ปุ่น นำ AI เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานร่วมกับมนุษย์ ตั้งแต่ก่อนจนถึงหลังก่อสร้าง ได้แก่ การสำรวจข้อมูลและโครงสร้างต่างๆ ของงานก่อนส้ราง เพื่อการทำงานของเครื่องจักรโดยอัตโนมัติ หรือจะเป็นการวิเคราะห์และวางแผนการก่อสร้าง เพื่อให้คนงานก่อสร้างได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องและสามารถมทำให้งานก่อสร้างออกมามีประสิทธิภาพมากที่สุด เป็นต้น 7. อุตสาหกรรมการผลิต เชื่อว่ามีหลายคนที่รู้มานานแล้วว่าโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งมีการใช้เทคโนโลยี AI และหุ่นยนต์เข้ามาดำเนินการผลิตแทนแรงงานมนุษย์ อุตสาหกรรมหนึ่งที่หลายคนคงเห็นภาพชัดที่สุด คือ อุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งต่อไปหุ่นยนต์ในโรงงานเหล่านี้จะทำงานได้อย่างละเอียดมากขึ้น แม้กระทั่งงานที่มีความซับซ้อน จนเรียกว่ากระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นจนจบอาจไม่พึ่งพาแรงงานมนุษย์อีกต่อไป Credit : https://www.forbes.com/sites/jenniferhicks/2017/05/16/see-how-artificial-intelligence-can-improve-medical-diagnosis-and-healthcare/#7c89fa4f6223 https://cloud.google.com/blog/products/gcp/how-a-japanese-cucumber-farmer-is-using-deep-learning-and-tensorflow https://www.informationweek.com/big-data/how-artificial-intelligence-will-revolutionize-banking/a/d-id/1329218 https://asia.nikkei.com/Business/Companies/Komatsu-adding-artificial-intelligence-to-construction-advisory-service?page=1 https://asia.nikkei.com/Business/Companies/Komatsu-adding-artificial-intelligence-to-construction-advisory-service?page=1
24 พ.ย. 2564
เมื่อเราพูดถึง AI คุณนึกถึงอะไร?
AI คืออะไร คำนี้เราได้ยินกันมานานแสนนาน อาจจะถี่หน่อยก็ช่วงที่ผ่านมา ครั้งแรกที่ได้ยินคุณนึกถึงอะไร หลายคนอาจติดภาพของหุ่นยนต์ปัญญากลที่เราเคยเห็นจากในจอโทรทัศน์และภาพยนตร์ต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรา แต่บอกได้เลยว่าเราใช้ AI อยู่ในชีวิตแทบทุกวันโดยไม่รู้ตัว เพราะมันแทรกซึมไปทุกภาคกิจกรรมไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมเทคโนโลยี การผลิต การแพทย์ การคมนาคมและอีกหลายๆ ด้าน แม้กระทั่งการติดต่อสื่อสาร การตลาด การขาย และการบริการลูกค้า หากพูดถึงสิ่งที่เป็นผลิตภัณฑ์ล้ำยุคที่เกิดจาก AI ขณะนี้ยังมีอยู่ในตลาดโลกเพียง 5% แต่จากนี้ไปจะสำคัญกับทุกภาคธุรกิจต่อไปอีก 5-20 ปีข้างหน้าเลยทีเดียว ทีนี้คุณพอจะรู้ตัวแล้วรึยังว่า AI แค่ 5% ที่ว่านั้นอยู่ในชีวิตคุณจริงๆตรงไหนบ้าง AI มาจากไหน? คำว่า AI ย่อมาจาก Artificial Intelligence หรือ ปัญญาประดิษฐ์ ถือเป็นศาสตร์วิทยาการทางคอมพิวเตอร์ชนิดหนึ่งที่ผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยต่างลงมือทุ่มเทสุดตัวพยายามพัฒนาทำให้สิ่งนี้ฉลาด เหมาะสม และบริบูรณ์ด้วยความสามารถอันเปี่ยมล้น ศาสตร์นี้ไม่ได้เพิ่งจะมาพัฒนากันไม่กี่ปี หากแต่แนวความคิดนี้มีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ และถูกพัฒนาส่งต่อมากว่าหลายร้อยปีจนมาถึงยุคปัจจุบัน เราเชื่อว่าจากนี้ไปในปี 2018 ปัญญาประดิษฐ์จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ จนคุณแทบจะลืมไปเลยว่าก่อนหน้านี้เราต่างเคยใช้ชีวิตกันยังไงโดยที่ไม่มีเจ้านวัตกรรมใหม่นี้ขึ้นมา การทำงานของ AI คือ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ถูกพัฒนาให้มีตรรกะการคิดเป็นของตัวเอง เป็นตัวแทนของมนุษย์ที่มีความชาญฉลาด สามารถทำงานหรือใช้เหตุผลในการแก้ไขปัญหาในด้านความเป็นเหตุเป็นผล โดยเชาว์ปัญญานั้นสามารถแสดงเหตุผล การเรียนรู้ การวางแผนหรือนำเสนอความสามารถอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น การประมวลผลจากข้อมูลที่เราให้ไป หรือการแสดงผลอัตโนมัติจากข้อมูลที่มีอยู่ เรียกได้ว่าเลียนแบบโครงข่ายประสาทของสมองของมนุษย์เลยทีเดียว ซึ่งในปัจจุบันการทำงานของ AI มีความแม่นยำสูงมาก จนแทบไม่พบข้อมูลผิดพลาด ทั้งยังสามารถทำงานได้ในระยะเวลาที่กำหนด และทำได้ตลอดเวลา 24 ชม. 7 วันเลยทีเดียว สรุปแล้ว AI จะเข้ามามีบทบาทกับคนทั้งโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะมันคือสิ่งประดิษฐ์ที่สุดยอดที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษย์ AI ไม่ใช่เรื่องไกลตัว คุณต้องเคยใช้แล้วอย่างน้อยสักครั้งในชีวิตแหละน่า อนึ่ง… คุณเคยใช้ผู้ช่วยที่สั่งการด้วยเสียงอย่างเช่น Apple Siri, Google Now, Microsoft Cortana รวมถึงการสั่งพิมพ์ด้วยเสียงใน LINE หรือไม่ หรือเคยได้ยินกระแส Conversational Action จาก Smart Speaker หรือลำโพงอัจฉริยะอย่าง Google Home หรือ Amazon Echo หรือเปล่า เหล่านี้มี AI เป็นส่วนหนึ่งของระบบปฎิบัติการให้เราสามารถสั่งการและโต้ตอบได้ตั้งแต่ สตรีมเพลง ฟังวิทยุ ไปจนถึงการจัดการควบคุมเครื่องใช้ภายในบ้านให้สามารถเปิด-ปิด-ปรับอุณหภูมิ และฟังก์ชั่นอื่นๆได้ ทั้งยังสามารถช่วยจัดการตารางต่างๆของเรา ช่วยเตือนความจำ เรียกรถโดยสาร ไปจนถึงแนะนำร้านอาหาร ตรวจสอบสภาพอากาศ และการจราจรก่อนการเดินทาง เหล่านี้เกิดจากการพัฒนา AI ทั้งนั้น นอกจากนั้นยังมี Chatbot ที่เป็นผู้ช่วยคอยตอบคำถามเบื้องต้นของลูกค้าได้ตลอดเวลา ทำให้การทำธุรกิจดำเนินไปอย่างต่อเนื่องไม่ขาดตอน ในไทยเห็นจะมีตัวอย่างจากแอปพลิเคชัน Wong Nai ก็มีการใช้ Chatbot ที่สามารถโต้ตอบและบอกพิกัดร้านอาหาร จนตอนนี้ก้าวขึ้นมาอันดับ 1 ในไทยเป็นการเปิดมิติใหม่ของ Lifestyle Platform อย่างเต็มรูปแบบ ที่สามารถจ่ายเงินผ่านแอพ E-payment หรือจัดส่งอาหารผ่าน LINE MAN
24 พ.ย. 2564
4 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Big Data เปลี่ยนโลกธุรกิจ
ใครว่า Big Data เป็นสิ่งไกลตัว? หากคุณยังเป็นคนหนึ่งที่คิดว่า Big Data ฟังดูยิ่งใหญ่ไปและเป็นเรื่องไกลตัวมากมาก เรากำลังจะขอให้คุณคิดใหม่ เพราะ Big Data อยู่ใกล้ตัวกว่าที่คุณคิดไม่ว่าคุณเป็นธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อย ขนาดเล็ก หรือขนาดใหญ่มีพนักงานหลายร้อยชีวิต หากธุรกิจของคุณยังคงมีการแลกเปลี่ยนข้อมูล บันทึกข้อมูล และจัดเก็บข้อมูล เราขอแสดงความยินดีด้วย เพราะนั้นคือคุณมี Big Data อยู่กับตัวแล้วเพราะมันไม่สำคัญว่าธุรกิจของคุณจะอยู่ในประเภทไหนหรือธุรกิจของคุณมีขนาดเท่าไหร่ เพราะตราบใดที่ยังมีการเก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลและมีการแปลงข้อมูลเหล่านั้นมาใช้งาน เมื่อนั้น Big Data ก็จะมีผลต่อทุกธุรกิจเท่า ๆ กัน 1. ข้อมูลจะกลายเป็นสินทรัพย์ในทางธุรกิจ แม้แต่ธุรกิจที่เล็กจิ๋วก็ยังมีการสร้างข้อมูลขึ้นใหม่ทุกวัน หากธุรกิจนั้นมีเว็บไซต์ สื่อโซเชี่ยลมีเดีย มีการรับชำระเงินด้วยเครดิตการ์ด หรือมีการรับสมัครสมาชิก เพราะแม้แต่ร้านค้าที่มีคนดำเนินการและพนักงานคนเดียวก็ยังยังมีกิจกรรมการเก็บข้อมูลจากลูกค้าเกิดขึ้น รวมทั้งการข้อมูลที่ได้จากการเข้ามาใช้บริการของลูกค้า และหากมีเว็บฯก็จะรวมไปถึง Traffic ที่เกิดขึ้นบนหน้าเว็บฯนั้นๆ นั้นหมายความว่าทุกบริษัทไม่ว่าจะมีขนาดเท่าไหร่ จำเป็นต้องมีกลยุทธ์และแบบแผนในการดำเนินการว่าจะเก็บข้อมูลอย่างไร ใช้อย่างไร และป้องกันข้อมูลนั้นๆอย่างไร และหมายรวมไปถึงกลุ่มธุรกิจที่มีขนาดใหญ่จะเริ่มนำบริการด้านข้อมูลไปขายให้กับกลุ่มบริษัทที่มีขนาดเล็กกว่าในที่นี้บริษัทไหนที่ยังคงคิดว่า Big Data เป็นเรื่องไกลตัวและไม่ใช่สิ่งจำเป็นอาจจะต้องเริ่มคิดใหม่และหันมาใส่ใจตรงนี้มากขึ้น ตัวอย่างง่ายๆ เลย หากคุณเป็นเจ้าของกิจการหรือดำเนินการธุรกิจอะไรสักอย่าง และคุณเกิดคำถามขึ้นมาว่า จะทำยังไงเพื่อที่จะพัฒนาธุรกิจที่ทำอยู่ตอนนี้ดี? เราก็จะตอบคุณว่า คุณมีข้อมูลอยู่ในมือจงใช้มันในารวิเคราะห์ เพราะมันถือเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่า มันเป็นข้อมูลที่แสดงให้เป็นทั้งจุดอ่อนและจุดแข็ง จากการดำเนินงานที่ผ่านมา และมันจะช่วยให้คุณพัฒนาธุรกิจที่ทำอยูได้อย่างไม่ต้องสงสัย ง่ายๆแค่นั้นเลย 2. Big Data จะช่วยให้บริษัทได้ข้อมูลที่เข้าลูกค้าได้ดีขึ้น ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมาหลายๆบริษัทใช้ Big Data ในการเก็บข้อมูลของลูกค้า เพื่อให้ได้มาซึ่งบริการและสินค้าที่ตรงต่อความต้องการของลูกค้าแบบสุดๆ ไล่ตั้งแต่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไปจนถึงบริษัทอุปกรณ์กีฬา ต่างก็เร่งเก็บข้อมูลของลูกค้าเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลความต้องการของลูกค้าแบบอินไซด์ ทั้งความต้องการ ช่องทางที่สะดวกต่อลูกค้าในการซื้อ และช่องทางการชำระเงินที่ลูกค้าสะดวก เป็นต้น นอกจากจะทำให้ได้มาซึ่งข้อมูลเชิงลึกของลูกค้าแล้ว Big Data ยังทำให้แต่ละบริษัทเกิดความเปลี่ยนในด้านของการจัดการโดยเฉพาะข้อมูล ที่จะต้องมีการพัฒนาระบบจัดเก็บและระบบป้องกันรักษาข้อมูล นอกจากนี้ทางบริษัทยังต้องตื่นตัวในการสร้างและปรับปรุงนโยบายที่เกี่ยวกับการใช้ระบบข้อมูลให้มีความรัดกุมและทันสมัยอยู่เสมอ 3. Big Data ช่วยในการพัฒนาประสิทธิภาพและการทำงานภายใน ไล่ตั้งแต่การใช้เซ็นเซอร์เพื่อดูประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องจักร ไปจนถึงการวิเคราะห์เส้นทางในการจัดส่งสินค้า ติดตามประสิทธิภาพการทำงนของพนักงาน และแม้แต่การช่วยเลือกสรรบุคลากรที่มีคุณภาพ Big Data มีความสามารถที่จะช่วยด้านการพัฒนาประสิทธิภาพและการทำงานภายในของธุรกิจเกือบทุกประเภท อย่างเช่น นอกจากจะสามารถใช้เซ็นเซอร์เข้ามาช่วยในการติดตามสินค้าและวัดประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องจักรได้แล้วนั้น ยังสามารถเอามาติดตามประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานได้อีกด้วย ในหลายๆบริษัทเริ่มมีการนำเซ็นเซอร์เข้ามาใช้ติดตามการทำงานของพนักงาน ซึ่งรวมไปถึงการติดตามด้านสุขภาพและความเครียดที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการทำงาน ยิ่งไปกว่านั้นหากข้อมูลสามารถช่วยในการตัดสินของ CEO ได้ นั้นก็หมายความว่ามันสามารถช่วยพัฒนาในการทรัพยากรบุคคลและการจ้างงานได้ด้วยเช่นกัน 4. ข้อมูลช่วยให้บริษัทสามารถพัฒนาความพึงพอใจของลูกค้าและนำไปสู่การใช้ Big Data ในการส่งต่อผลิตภัณฑ์ที่ดียิ่งขึ้นได้ ประโยชน์ที่เด่นชัดที่สุดของข้อมูลที่เราไม่สามารถปฏิเสธได้ก็ คือ บริษัทจะสามารถใช้ข้อมูลที่เก็บมาได้จากลูกค้าในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และประสบการณ์การใช้สินค้าได้ ยกตัวอย่างเช่น บริษัท John Deere บริษัทผลิตแทร็คเตอร์ ที่ไม่ใช่แค่ใช้ข้อมูลเพื่อสิทธิประโยชน์ของลูกค้าเท่านั้น แต่ยังใช้เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆอีกด้วย เพราะแทร็ตเตอร์นุ่นใหม่ทั้งหมดของ John Deere จะมีการติดเซ็นเซอร์ที่จะช่วยให้บริษัทเข้าใจถึงวิธีการใช้งานของลูกค้า เพื่อคาดการณ์ถึงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นกับแทร็คเตอร์ในอนาคต นอกจากนี้บริษัทยังมีการติดเซ็นเซอร์เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ชาวนาในการสังเกตต้นข้าวหรือผลิตผลทางการเกษตรอื่นๆที่เพาะปลูกเอาไว้ ว่าเมื่อไหร่ควรไถ เมื่อไหร่ควรเก็บเกี่ยว เป็นต้นและนี่คือ 4 จุดใหญ่ที่ทำให้ Big Data เปลี่ยนโลกธุรกิจไปจากที่เราเคยชิน และตราบใดที่บริษัทยังคงต้องมีการเก็บข้อมูล Big Data ก็จะยังคงเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักของการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างแน่นอน
24 พ.ย. 2564
เชื่อมโยงช่องว่างทางทักษะด้านดิจิตัล – ความท้าทายทางด้านแรงงานของประเทศไทย
วิธีการที่มีนวัตกรรมและสร้างสรรค์ในการดึงดูดและรักษาไว้ซึ่งผู้มีทักษะด้านดิจิตอลเป็นหัวข้อที่ถูกพูดถึงอย่างมากในทั่วโลก แต่อันที่จริงนั้น ช่องว่างทางทักษะด้านดิจิตอลนับเป็นเรื่องใหญ่ที่สำคัญมาก สำหรับประเทศไทย ความท้าทายนั้นเกินกำลังของแผนกทรัพยากรบุคคลและ ผู้ที่มีหน้าที่คัดสรรบุคคลเข้าทำงาน “ประเทศไทยจำเป็นต้องสร้างแรงงานดิจิตอลที่มีทักษะทางด้าน IT อย่างเร่งด่วนเพื่อรับมือกับการปฏิรูปของธุรกิจและอุตสาหกรรมที่มีอยู่” จาก Bangkok Post 2017 จากผลของงานวิจัยโดย Online Marketing Institute พบว่า นี่คือวิธีการที่ผู้นำทางธุรกิจกำลังใช้วัดทักษะด้านดิจิตอลที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นช่องทางที่อ่อนแอมากที่สุด ได้แก่ การวิเคราะห์ การทำการตลาดทางโทรศัพท์มือถือ การทำการตลาดทางอีเมล์ และการทำการตลาด content ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 8 ในดัชนีการปฏิรูปทางดิจิตอลในเอเชีย รายงานจากเรื่อง Economist Intelligence ของดัชนีการปฏิรูปทางดิจิตอลในเอเชียแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ค่อนข้างต่ำจากบรรดา 11 ประเทศที่แสดงอยู่ในรายงานนี้ ดังนั้น ดัชนีให้ค่าน้ำหนักที่ 3 เสาหลักที่ประเทศไทยยังแสดงให้เห็นถึงจุดอ่อน ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานทางดิจิตอล ต้นทุนทางบุคลากร และความเชื่อมโยงของอุตสาหกรรม การขาดแคลนอย่างรุนแรงเรื่อง ความโดดเด่นในเรื่องดิจิตอล: การวิเคราะห์ และ ประสบการณ์ของผู้ใช้ ด้วยกระแสการตลาดแบบดิจิตอลที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยจากกิจกรรมทางดิจิตัลหลากหลายที่จัดขึ้นตลอดปี และเว็บไซต์จากประเทศไทยมากมาย เช่น Marketingoopsw ได้ปรากฏตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ดูเหมือนว่าประเทศนี้อุดมไปด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิตอล อย่างไรก็ตาม เสาหลักของการทำการตลาดดิจิตัลมาจากการวิเคราะห์ข้อมูล และจากผลของรายงาน การขาดแคลนทักษะทางด้านดิจิตอลอย่างรุนแรงถูกพบในสาขาที่มีความล้ำหน้าและเป็นที่ต้องการมากกว่า เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลและประสบการณ์ของผู้ใช้ ในด้านการจ้างงาน คุณ Le Louer นักลงทุนผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทออนไลน์สามบริษัทในประเทศไทยกล่าวว่า ปัญหาการขาดแคลนเป็นปัญหาที่เด่นชัด กระทั่งบริษัทใหญ่ๆยังหันไปดึงตัวผู้มีทักษะจากบริษัทเทคโนโลยีStartup “พวกบริษัทใหญ่ก็แค่จ่ายเงินเดือนให้พวกเขา เป็น 2เท่า ทำให้บริษัทเล็กๆไม่สามารถแข่งด้วยได้” อุปสรรคของกลยุทธ์ทางด้านดิจิตอล : นอกจากความท้าทายทางด้านแรงงานแล้ว ผู้ที่เกี่ยวข้องรู้สึกถึงการขาดกลยุทธ์และไอเดียใหม่ๆเพื่อให้บริษัทไล่ตามการปฏิรูปทางดิจิตอลได้สำเร็จ โดยธรรมชาติ กลยุทธ์นี้มีความเป็นดิจิตอลอยู่แล้วและท้ายที่สุดกลยุทธ์นี้จะขึ้นอยู่กับความมั่นใจในด้านความรู้และความสามารถทางดิจิตัลของบริษัท และไม่ว่าพวกเขาจะรู้สึกว่าขาดผู้เชี่ยวชาญที่แข็งแกร่งทางด้านความรู้เชิงดิจิตอลที่จะช่วยผลักดันให้เกิด ความคิดในการสร้างนวัตกรรมหรือไม่ : รายงานได้สรุปไว้ว่า การขาดผู้มีทักษะถือเป็นข้อจำกัดทางการพัฒนาของธุรกิจในประเทศไทย ในความท้าทายที่พบในปัจจุบันคือ บริษัทจะต้องเดินไปในทิศทางใดเพื่อให้แน่ใจได้ว่าความสามารถทางดิจิตอลของสถาประกอบการจะอยู่ในระดับที่คาดหวังไว้ เพื่อให้บริษัทสามารถแข่งขันได้และไปได้ไกลกว่าเดิม รักษาไว้ซึ่งความรู้ทางดิจิตอลขั้นสูงในบริษัทของคุณ : เมื่อการสรรหาทางดิจิตัลกลายมาเป็นเกมส์ดึงตัวและเงินเดือนด้านดิจิตอลที่ทะยานขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้บริหารและฝ่ายทรัพยากรบุคคลจะมั่นใจได้อย่างไรว่าพวกเขายังรักษาระดับความรู้ทางดิจิตอลขั้นสูงไว้ในบริษัทโดยไม่กระทบกระเทือนต่อความสมดุลของสถานประกอบการในทุกแผนก การสร้างสรรค์ คือ ชื่อของเกมส์นี้ และก็มีวิธีการอีกมากมายมากกว่าแค่การหันมาดึงตัวและจ่ายเงินให้เป็น 2 เท่า 1 ฝึกอบรมผู้ฝึกสอน สำหรับหลายบริษัทที่ค่อนข้างมั่นใจว่าทีมของพวกเขาสามารถศึกษาคอนเซ็ปใหม่ๆได้ด้วยตัวเองผ่านงานวิจัย หรือ การลองผิดลองถูก พวกเขาสามารถนำบรรยากาศการเรียนรู้แบบฝึกอบรมผู้ฝึกสอนมาปรับใช้ได้ ซึ่งอาจจะรวมถึงการลงมาพูดคุยกับทีมที่เกี่ยวข้องและตัวแทนจากแต่ละแผนกเป็นรายสัปดาห์เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ พนักงานคนหนึ่งอาจถูกมอบหมายให้ไปศึกษาสิ่งใหม่ๆเกี่ยวกับการทำการตลาดดิจิตอลและนำมาเล่าให้กับเพื่อนร่วมทีมในสัปดาห์ต่อมาเสมือนเป็นผู้ฝึกสอน และปรับเปลี่ยนหน้าที่ในแต่ละสัปดาห์ 2 ว่าจ้างที่ปรึกษาและผู้รับทำงานร่วมกัน จากผลการวิจัยที่รายงานโดย Deloitte Insights หนึ่งในวิธีที่สำคัญที่บริษัทสามารถสร้างความแข็งแรงของความรู้ด้านดิจิตอล คือ การจ้างที่ปรึกษา ณ ที่นี้ เราไม่ได้หมายถึงการว่าจ้างหน่วยงานทางดิจิตอล แต่หมายถึงที่ปรึกษาที่เป็นบุคคล รูปแบบของหน่วยงานมักจะเป็นรูปแบบจ่ายเงินเพื่อรับบริการที่ซึ่งความรู้ด้านดิจิตอลล้วนอยู่นอกขอบเขต ความท้าทายคือทำอย่างไรที่จะเพิ่มความเข้าใจด้านการตลาด ดิจิตอลและความรู้เกี่ยวกับลำดับขั้นตอนของบริษัททั่วทั้งองค์กร แทนที่จะมีผู้เชี่ยวชาญรับมือกับ โปรเจคด้านดิจิตอลโดยลำพัง การจ้างที่ปรึกษาในอีกนัยหนึ่งอาจหมายความว่าคุณกำลังจะถ่ายโอนความรู้จากผู้เชี่ยวชาญทางด้านดิจิตอลไปให้กับทีมและแผนกต่าง ๆ 3 ดึงผู้นำทางดิจิตอลมาเข้าร่วมงาน นอกเหนือจากการจ้างผู้รับทำงานร่วมและที่ปรึกษาแล้ว คุณอาจจะอยากสรรหาผู้นำทางดิจิตอลเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปทางดิจิตอลให้กับทุกแผนก และการทำเช่นนั้น เป็นเหมือนการเร่งวิธีการแก้ไขปัญหาช่องว่างทางทักษะด้านดิจิตอล ผู้นำทางดิจิตอลทำหน้าที่เสมือนโค้ชและผู้แนะนำ และปฏิบัติงานใกล้ชิดกับที่ปรึกษา(ทีมเสริม) ความท้าทายตรงจุดนี้ คือ การต่อต้านความเปลี่ยนแปลงโดยสถานประกอบการส่วนใหญ่ และหนึ่งในวัตถุประสงค์สำคัญสำหรับผู้นำ คือ ทำหน้าที่เป็นดิจิตอลโค้ชและกระจายความรู้ซึ่งแตกต่างไปจากหน้าที่ของหัวหน้างาน และเมื่อคุณพร้อมที่จะก้าวเข้าสู่การปฏิรูปทางดิจิตัลครั้งใหญ่แล้ว แรงผลักที่สำคัญคือการทำให้แน่ใจว่า ผู้บริหารของคุณมีการสื่อสารอย่างเป็นรูปธรรมและมอบอำนาจให้ผู้นำทางดิจิตอลและทีมผู้นำทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้น เชื่อมโยงช่องว่างทางทักษะด้านดิจิตอล นอกจากการสรรหาบุคลากร การพัฒนาทีมที่มีอยู่และดึงที่ปรึกษาและผู้นำทางด้านดิจิตอลมาเข้าร่วมเพื่อเชื่อมโยงช่องว่างของทักษะดิจิตอลให้สำเร็จได้นั้น การเก็บรักษาผู้เชี่ยวชาญทางดิจิตอลก็เป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญอย่างมาก นับเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องรู้ไว้ แม้ว่าแผนกทรัพยากรบุคคลมีความสามารถในการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญทางด้านดิจิตอลได้ แต่หากโครงสร้างของบริษัทและวิธีการทำงานไม่สามารถเก็บรักษาคนที่จ้างมาไว้ได้ คุณก็จะสูญเสียทักษะนี้ไปได้เร็วกว่าที่คุณจะจ้างใหม่ได้ทัน และก็ไม่มีทางที่จะปิดช่องว่างของทักษะดิจิตอลนี้ได้ การเก็บรักษาทักษะไว้เป็นความท้าทายที่แตกต่างโดยสิ้นเชิงและเป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกแผนกและทุกคนในองค์กร ความแตกต่างที่สำคัญ คือ วิธีการที่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านดิจิตัลคิด วิธีการที่จะมั่นใจได้ว่าแผนกทรัพยากรบุคคลเข้าใจว่าพวกเขาคิดอย่างไรเพื่อบูรณาการพวกเขาเข้ามาสู่ระบบได้สำเร็จ แผนกทรัพยากรบุคคลแผนกเดียวไม่สามารถทำได้สำเร็จและจำเป็นต้องพึ่งแรงสนับสนุนจากผู้บริหารของทุกแผนกเพราะมีความเกี่ยวข้องกับการบูรณาการแบบองค์รวม ตั้งแต่การปฏิบัติงานแต่ละวันไปจนถึง กลยุทธ์ระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นวิธีการบูรณาการร่วมกับแผนกพัฒนาเทคโนโลยี แผนกบัญชี ฝ่ายขาย หรือในกลุ่มทีมการตลาดต่าง ๆ (ทั้งการตลาดแบบ Above The Line และ Below The Line) นี่คือที่ที่เหล่าที่ปรึกษาและผู้รับทำงานร่วมสามารถเข้ามาช่วยเหลือได้ทั้งการบรรเทาและจัดตั้งทำให้เกิดโครงสร้างใหม่และเป็นแม่แบบให้กับระบบภายในองค์ที่มีอยู่ อีกนัยหนึ่ง เพื่อทำงานร่วมกับบริษัทเสมือนเป็นหุ้นส่วนเพื่อวางรากฐานที่สำคัญสำหรับการขับเคลื่อนการปฏิรูปทางดิจิตอลให้เกิดขึ้นทุกองค์กรในบริษัท เมื่อทำการว่าจ้าง ให้มองหาใครสักคนที่มีความรู้พื้นฐานแข็งแรงซึ่งจะมีความสำคัญอย่างมหาศาลต่อการ สรรหาเทคนิคใหม่ๆมาทำให้ในบริษัทของคุณเติบโต หากคุณกำลังเผชิญกับความท้าทายในการก้าวไปสู่การเป็นดิจิตอล โดยที่คุณไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มจากตรงไหนหรือช่องว่างทางทักษะด้านดิจิตอล นั่นหมายถึงคุณกำลังมองหาทีมเสริมที่ยืดหยุ่นได้(พร้อมให้เรียกใช้บริการ) โปรดอย่ากังวลในการติดต่อและพูดคุยกับ ที่ปรึกษาทางด้านการตลาดดิจิตอลในกลุ่มของเรา เราจะยินดีอย่างยิ่งที่จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับความท้าทายของคุณมากขึ้น และเรายินดีที่จะเสนอการประเมินผลและให้คำแนะนำโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ
24 พ.ย. 2564
FinTech ความท้าทายโลกบริการทางการเงินยุคใหม่
คลื่นลูกใหม่ทั้ง FinTech และ Startup กำลังก้าวสู่ยุคเฟื่องฟูในหลายประเทศ เป็นคลื่นที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะมีแนวโน้มว่าจะเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจสถาบันการเงินด้วยนวัตกรรมใหม่ ที่ช่วยให้ผู้ใช้บริการเกิดความสะดวก รวดเร็วและมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า FinTech กำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทั่วโลก เป็นผลมาจากเทคโนโลยี 4 ด้าน ประกอบด้วย Social Media, Mobile, Analytics และ Cloud ที่เกิดการประยุกต์ใช้บนแนวโน้มการเติบโตด้านอินเทอร์เน็ตที่มีผู้ใช้จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่อุปกรณ์ต่าง ๆ ชิ้นน้อยใหญ่ได้ถูกพัฒนาให้เหมาะกับอินเทอร์เน็ต (IoT) อำนวยความสะดวกให้ชีวิตง่ายขึ้น สถานการณ์ปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ตลาดหลักทรัพย์ ตลอดจนผู้ประกอบการด้านสถาบันการเงินต่างตื่นตัวให้ความสนใจ FinTech (Financial Technology) หรือเทคโนโลยีทางการเงินที่ในอนาคตจะเข้ามามีบทบาทต่อการทำธุรกรรมทางการเงินอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ทำให้สถาบันการเงินบางรายจัดตั้งLab เพื่อศึกษาเรื่องนี้โดยเฉพาะ บางรายสนับสนุนเงินลงทุนให้กับกลุ่ม Startup หรือบริษัทเกิดใหม่ที่พัฒนาบริการด้านการเงินรูปแบบใหม่ๆ การตื่นตัวและความพยายามในการปรับตัว แสดงให้เห็นว่า FinTech ไม่ใช่กระแส แต่จะเข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจในไม่ช้า FinTech จุดเปลี่ยนอุตสาหกรรมการเงิน FinTech คือ การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้หรือสร้างบริการในธุรกิจการเงิน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค เช่น การจ่ายเงินออนไลน์, การซื้อหุ้นออนไลน์ ฯลฯ ในช่วงที่ผ่านมา มีบริการรูปแบบใหม่เกิดขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน อาจกล่าวได้ว่าเป็นตัวอย่างหนึ่งของ FinTech นั่นคือ การชำระเงินค่าสินค้าและบริการผ่านช่องทางดิจิทัล (e-Payment) ที่ช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงการบริการได้อย่างรวดเร็วและลดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมอย่างมาก หรือแม้แต่ PromptPay ที่กำลังจะเปิดให้บริการในปลายเดือนตุลาคมนี้ ที่เปลี่ยนวิธีการโอนเงินให้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องใช้เลขที่บัญชีผู้รับโอน ไม่ต้องรู้ว่าธนาคารอะไร รู้เพียงหมายเลขโทรศัพท์มือถือก็สามารถทำธุรกรรมได้ ที่สำคัญค่าธรรมเนียมถูกมาก คือโอนเงินต่างธนาคารในจำนวนมากกว่า 20,000-50,000 บาท ค่าธรรมเนียม 2-5 บาท เมื่อเปรียบเทียบกับการโอนในปัจจุบันอยู่ที่ 25-35 บาท หรือหากโอนไม่เกิน 5,000 บาท PromptPay พร้อมให้บริการฟรี ส่วน FinTech ในประเทศไทยยังมีให้เห็นไม่มากแต่เกิดขึ้นแล้ว เช่น TrueMoney Wallet, mPay, Paysbuy, 2c2p เป็นต้น แต่สำหรับในต่างประเทศเกิดขึ้นมาระยะหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็น FinTech Startup เป็นผู้ประกอบการใหม่ที่พัฒนาเทคโนโลยี หรือบริการด้านธุรกรรมทางการเงิน บริษัทวิจัยและที่ปรึกษาทางธุรกิจระดับโลกรายหนึ่งฟันธงว่า FinTech เป็น Game Changer ของอุตสาหกรรมการเงินโดยจะมีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของระบบสถาบันการเงินไทยและธนาคารพาณิชย์ไทย ซึ่งโจทย์ส่วนใหญ่จะส่งผลดีต่อผู้บริโภค เพื่อให้ได้รับบริการที่รวดเร็ว สะดวก สบาย และมีค่าใช้จ่ายถูกลง ในยุคนี้จึงพบว่าผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อม ขณะเดียวกันมีข่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หรือ ก.ล.ต. มีการบรรจุเรื่อง FinTech เข้าไปในแผนยุทธศาสตร์ 3 ปี (พ.ศ. 2559-2561) โดยเป็นการปรับรูปแบบการให้ใบอนุญาต ในเบื้องต้นจะปรับปรุงประเด็นดังนี้ โครงสร้างการให้ใบอนุญาตประกอบกิจการ (License) เกณฑ์ขั้นต่ำของทุนจดทะเบียนของธุรกิจ คุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตและเกณฑ์การกำกับดูแล ในปี 2559 นี้มีความเป็นไปได้ที่จะเห็นความคืบหน้าที่ออกมาสนับสนุน FinTech ปัจจัยหนุน FinTech Startup นับเป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับผู้ที่เข้าสู่ FinTech Startup ในช่วงเวลานี้ เนื่องจากมีปัจจัยหลายด้านที่หนุนและเปิดโอกาสให้คนกลุ่มนี้ โดยในที่นี้จะสรุปปัจจัยเกื้อหนุนต่าง ๆ ดังนี้ โครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี : ปัจจุบันประเทศไทยมีความพร้อมในระดับหนึ่งและ ด้วยนโยบาย Digital Economy ที่ขับเคลื่อนการขยายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงลงสู่ระดับหมู่บ้านโดยมีเป้าหมายให้ครอบคลุม 76,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ รวมทั้งการขยายโครงข่าย 4G ต่างส่งเสริมให้การใช้อินเทอร์เน็ตและแอปพลิเคชันต่าง ๆ เติบโตขึ้นอีกมาก ซึ่งมีผู้ประกอบการใหม่จำนวนมากพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อให้บริการด้านต่าง ๆ รวมถึงแอปพลิเคชันด้านบริการการเงิน การส่งเสริมจากภาครัฐ และกลุ่มทุน การยกเว้นภาษีนิติบุคคล 5 ปีแรก เป็นอีกนโยบายที่สร้างแรงจูงใจ Startup ในขณะเดียวกันยังมีกลุ่มทุนทั้งในประเทศและจากต่างประเทศ (Venture Capital) ที่พร้อมให้เงินลงทุน Startup รวมไปถึงสถาบันการเงินบางแห่งเปิดโครงการสนับสนุนอย่างชัดเจน ซึ่งคล้ายกับกลุ่มโอเปอเรเตอร์ที่ผลักดัน Tech Startup ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา FinTech Startup จึงมีโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น นวัตกรรมกับโอกาสธุรกิจ FinTech Startup รายใดสามารถสร้างนวัตกรรมหรือบริการที่ตรงใจผู้บริโภคและมีการใช้งานต่อเนื่อง จะประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก เพราะปัจจุบันยังมีช่องว่างทางธุรกิจอยู่ในระดับหนึ่งที่สถาบันการเงินไม่ได้ให้ความสำคัญในช่วงที่ผ่านมา เทคโนโลยีกดดันให้รูปแบบบริการภาคการเงินเปลี่ยน : เห็นตัวอย่างได้จากกระแส Digital ที่ทุกอย่างหลอมรวมไปในแนวทางนั้น หลังจากอินเทอร์เน็ตแทรกซึมเข้าไปสู่การใช้ชีวิตประจำวันมากขึ้น ทำให้ทุกอย่างสะดวก ง่าย รวดเร็ว เช่นกันกับการมาของ Digital ในแวดวงการเงิน ที่วันนี้มี e-Payment มีการทำธุรกรรมผ่านออนไลน์อย่าง e-Bank, Mobile Bank แต่นับจากนี้ไปจะมีบริการใหม่ๆ เกิดขึ้น อีกมากที่จะอำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภค ซึ่งเกิดจากการปรับตัวของสถาบันการเงินเพราะหากไม่ปรับอาจจะต้องรับศึกหนักจากกระแส Digital Transformation อย่างแน่นอน
24 พ.ย. 2564
อาชีพที่เสี่ยงต่อการโดนแทนที่ด้วย AI
ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์จะต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะได้การรับรองหรือยอมรับ เช่นกันกับงานมนุษย์อาจจะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์โดยมีความเชื่อว่าอาชีพเหล่านี้ตกอยู่ในความเสี่ยง ที่อาจจะโดน AI เข้ามาแทนที่ ซึ่งอาจะใช้เวลาอยู่บ้างแต่มันจะเป็นจริงแน่นอน ครู : วิชาคณิตศาสตร์หรือวิทยาการคอมพิวเตอร์สามารถสอนโดยหุ่นยนต์ และอย่างน้อย 10% ของนักเรียนที่เรียนรู้ด้วยตนเอง โดยในปัจจุบันแล้วบทเรียนที่สอนโดยหุ่นยนต์แล้วในตอนนี้ ได้แก่ การบินบนเครื่องบินการฝึกอบรมเกี่ยวกับการจำลองด้วย AI แบบจำลองเหตุกาณ์บนเครื่องบินสามารถบินทำได้โดยไม่ต้องนักบินมนุษย์ แต่จากการศึกษาพบว่าผู้โดยสารจะกลัวมากที่จะขึ้นเครื่องบินที่ไม่มีนักบิน ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นสำหรับครูผู้ฝึกสอนไม่ใช่ AI แต่เป็นการฝึกอบรมออนไลน์ นั่นเอง การออกเกรดให้กับนักศึกษา ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่นักเรียนอาจจะมีการลอกข้อสอบหรือการทุจริต แต่เมื่อทำการควบคุมโดย AI ในการออกข้อสอบก็จะสามารถป้องกันการลอกหรือการโกงในรูปแบบต่าง ๆ ได้เพราะ AI จะสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบได้หลากหลาย เช่นการออกข้อสอบหลายชุด หรือ สลับคำตอบในข้อสอบชุดเดียวกัน ซึ่งทำให้การลอกหรือโกงทำได้ยากมากยิ่งขึ้น AI สามารถเขียนอัลกอริธึม AI หรือพูดสั้น ๆ ว่า AI สามารถทำให้ AI เป็นอัตโนมัติได้รวดเร็วและผิดพลาดน้อยกว่าคน แม้ว่าจะเป็นนักเขียนโปรแกรมที่เก่งสักเพียงไหน แต่อาจจะเขียนโปรแกรมหรือประมวลได้ช้ากว่า AI แน่นอน การวินิจฉัยอัตโนมัติ ในทางการแพทย์ได้มีการนำเอา AI มาเพื่อใช้ในการวินิจฉัยโรค อีกทั้งยังนำเอาเทคโนโลยีนี้มาพัฒนาให้เป็นหุ่นยนต์ AI ผ่าตัด หรือทำศัลยกรรม ซึ่งต่อไปอาจจะนำเอา AI มาใช้ในการผลิตยาหรือในรูปแบบทางการแพทย์อื่น ๆ อีกต่อไป พ่อครัว : AI แทนที่พ่อครัวที่มีค่าตัวแพง ๆ ในร้านอาหารหลายแห่ง เช่นร้าน McDonald ที่มีมนุษย์เพียงคนเดียวคือพนักงานรักษาความปลอดภัย ซึ่งหน้าที่อื่น ๆ เช่น พนักงานทำความสะอาด พนักงานเสิร์ฟ หรือแม้แต่พนักงานคิดเงินหรือคำนวณภาษี ก็ สามารถใช้ AI แทนคนได้ ซึ่งความคิดนี้เป็นได้อย่างแน่นอน ตำรวจหรือทหาร : AI ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้ถ้าสามารถกำหนดอัลกอลิทึมให้ AI สามารถแยกแยะหรือตัดสินใจได้ว่า นี่เป็นการทำผิด จะต้องจับกุมหรืออาจจะถึงการวิสามัญอีกด้วย แต่ตอนนี้ยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งถ้าจะเกิดขึ้นมาในโลกอาจจะเป็นที่สหรัฐอเมริการที่แรก รวมถึง AI ที่สามารถตรวจสอบเกี่ยวการก่อการร้ายอีกด้วย เพราะผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้นคือ ทางผู้ก่อการร้ายอาจจะใช้เทคโนโลยีนี้ด้วยเช่นกัน AI จะมาในรูปของ Application ที่ช่วยตรวจสอบในเรื่องต่าง ๆ มากมาย เช่น การตรวจสอบพื้นที่สำหรับทำฟาร์ม การคำนวณเวลาในการขนส่งหรือน้ำหนักอีกทั้งช่วยในการคำนวนปริมาณน้ำมันที่รั่วไหกรณีเกิดเหตการณ์น้ำมันรั่วในทะเลและอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งทุกวันนี้โลกได้ดำเนินไปโดยมี AI มีส่วนอยู่ด้วยทุก ๆ ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ในส่วนอื่น ๆ คาดว่า AI ถ้ามีการพัฒนามากกว่านี้ คาดว่าจะต้องเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งด้วยแน่นอน และแน่นอนว่าเมื่อสิ่งต่าง ๆ ถูกแทนที่ด้วย AI จะเกิดอะไรขึ้นกับมนุษย์ เป็นเรื่องที่น่าคิดจริง ๆ
24 พ.ย. 2564
“อธิบดีณัฐพล นำทีมดีพร้อม เดินหน้าหารือ สอท. แลกเปลี่ยนแนวทางการส่งเสริม SMEs ภายใต้บริบทใหม่”
กรุงเทพฯ 18 พฤศจิกายน 2564 - นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา เลขานุการกรม สำนักงานเลขานุการกรม นางสุชาดา โพธิ์เจริญ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม และคณะผู้บริหารดีพร้อม ร่วมหารือ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายปรีชา ส่งวัฒนา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายจำรัส สว่างสมุทร ผู้อำนวยการใหญ่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และคณะผู้บริหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) ถึงแนวทางการขับเคลื่อน SMEs ทิศทางการดำเนินธุรกิจ และมุมมองของภาคเอกชนที่มีต่อภาครัฐ พร้อมรับฟังเสียงสะท้อนถึงปัญหาที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์โรคระบาดโควิด-19 เพื่อหาแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสม รวมไปถึงการบูรณาการงานร่วมกันในอนาคต ณ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และคณะดีพร้อม ได้รับฟังแนวทางและข้อเสนอแนะจากทางสภาอุตฯ โดย ประธานสภาอุตฯ ได้กล่าวถึงการผลักดันโครงการรับรองสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย (Made in Thailand : MiT) ซึ่งได้รับความร่วมมือจากดีพร้อม เป็นอย่างดี ด้วยการผลักดัน SMEs เข้าสู่ระบบได้เป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดการซื้อขายกับภาครัฐ ซึ่งเป็นไปตามเป้าประสงค์ของโครงการ ขณะเดียวกัน สภาอุตฯ ยังมีความสนใจในการเร่งขับเคลื่อนให้เกิดผลกระทบในเชิงบวก คือ โมเดลเศรษฐกิจใหม่ หรือ BCG model และการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมในการนำพาธุรกิจให้อยู่รอดและเติบโตได้ในบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ สภาอุตฯ ยังได้เล็งเห็นถึงขีดความสามารถทางด้านอุตสาหกรรมอาหาร และการสนับสนุนขีดความสามารถของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicles: EV) ชิ้นส่วนยานยนต์ โดยรูปแบบการดำเนินงาน นั้น ทางสภาอุตสาหกรรมสะท้อนในมุมการพัฒนาในกลุ่ม SMEs ที่มีศักยภาพหรือความพร้อมที่จะขยายตัว ด้วยการนำเทคโนโลยี นวัตกรรม ระบบ Automation Sensor Robot ใช้ในกระบวนการต่าง ๆ เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งแพลตฟอร์มกลางที่มีเพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตได้อย่าง Realtime ก็จะสามารถช่วยลดการสูญเสียระหว่างกระบวนการผลิตได้ ซึ่งข้อดีของการตรวจสอบทุกกระบวนการจะมีการเก็บข้อมูล ทำให้สามารถวิเคราะห์ คำนวณปริมาณการผลิต การสต็อควัตถุดิบ การวางแผนการจัดจำหน่ายต่อไปได้ ขณะเดียวกัน สภาอุตฯ ยังได้นำเสนอ 5G Use case ในสถานประกอบการ อาทิ กระบวนการ Precision Monitoring & remote control AI Machine Vision (Defect Detection) Surveillance & Inspection ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในสถานประกอบการท่ามกลางวิกฤตการณ์เปลี่ยนแปลง ซึ่งมี Case Study ด้านการนำระบบ Automation เข้าไปในกระบวนการผลิต พบว่าการคืนทุน IRR ได้รวดเร็วกว่าการใช้เเรงงาน แต่ยังพบข้อจำกัดในเรื่องของเงินลงทุน อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยี นวัตกรรมเหล่านี้สามารถตอบโจทย์ปัญหาการขาดแคลนแรงงานได้เป็นอย่างดี สำหรับการพัฒนาใน Micro SME สอท. ได้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาด้านคุณภาพ มาตรฐานสินค้าเกษตร การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อการจำแนกสินค้า ดูแลเรื่องมาตรฐานให้ตรงกับความต้องการของกลุ่มผู้บริโภค Consumer Products โดยคาดหวังให้ SMEs up scale จากผู้ประกอบการขนาด Small (S)ไปเป็น Medium (M) ด้วยนวัตกรรม Inovation ที่สร้างความแตกต่างและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า นอกจากการปรับคุณภาพมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับ สอท. ได้ให้ข้อเสนอแนะว่าการผลิตอย่าง OEM ที่อาจเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งในการผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายโดยลดขั้นตอนในการบริหารจัดการด้านการผลิต โดยให้ไปมุ่งเน้นด้านการตลาดให้มากขึ้น นอกจากนี้การให้บริการเครื่องจักรกลการเกษตรผ่านแพลทฟอร์มออนไลน์ ทาง สอท. ยังได้ให้ความสนใจในการต่อยอดร่วมกันในอนาคต สำหรับการส่งเสริมให้ SMEs ใช้ Digital มากขึ้น โดยมี SI Digital เข้าไปช่วย Support ทั้งนี้ การดำเนินงานของ ดีพร้อม มีหลายเรื่องที่มีการดำเนินงานเป็นไปในทิศทางเดียวกับ สอท. ไม่ว่าจะในเรื่อง Influencer SI digital Automation ITC Medical Packaging รวมถึงด้านเกษตรอุตสาหกรรม ที่มีบริการแพลตฟอร์มออนไลน์นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางเกษตรครบวงจร IAID Application และแพลตฟอร์มคัดเกรดคุณภาพวัตถุดิบ ตลอดจนการนำกลไกของ SI (System Integration) มาใช้ในการพัฒนา SMEs ในอุตสาหกรรมดิจิทัล วางโครงสร้างการผลิตเชิงวิศวกรรมทั้ง Hardware และ Software ประสานงานเครื่องจักรเยอะ แต่ใช้คนควบคุมน้อยเพื่อเพิ่มผลิตภาพให้กับ SMEs มากยิ่งขึ้น ซึ่งหากทั้ง สอท. และ ดีพร้อม ได้มีการบูรณาการงานร่วมกัน จะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับภาคอุตสาหกรรมต่อไปในอนาคตภายภาคหน้า ### PR.DIProm (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
19 พ.ย. 2564
“อธิบดีณัฐพล รุกหารือภาคีเครือข่าย ประเดิมสภาหอการค้าไทย แลกเปลี่ยนแนวทางการส่งเสริม SMEs ภายใต้บริบทใหม่ (Next Normal)”
กรุงเทพฯ 17 พฤศจิกายน 2564 - นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมหารือ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และผู้บริหาร เพื่อแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ แนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ไทย ภายใต้บริบทใหม่ (Next Normal) โดยมี นางสุชาดา โพธิ์เจริญ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เข้าร่วมหารือดังกล่าว ณ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้หารือกับทางสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในเรื่องสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ด้วยกระแสของ VUCA (V-Volatility ความผันผวน U-Uncertainty ความไม่แน่นอน C-Complexity ความซับซ้อน และ A-Ambiguity ความคลุมเครือ) และแบ่งปันมองมุมการพัฒนา SMEs จากภาคเอกชน ตลอดจนแนวโน้มของการดำเนินธุรกิจ อาชีพใหม่ที่จะเกิดขึ้นหลังโควิด-19 รวมไปถึงเทคโนโลยีใหม่อย่าง Metaverse ที่จะเปลี่ยนภาคอุตสาหกรรม และเตรียมรับมืออย่างไร ขณะเดียวกัน หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้ดำเนินงาน ภายใต้ นโยบาย Connect the dots เพื่อเร่งสร้างความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างสร้างสรรค์และมีพลังในการขับเคลื่อน เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการทำงานจากเครือข่ายภาครัฐ เอกชน และประชาชน โดยสภาหอฯ มีรูปแบบการขับเคลื่อนงานเชิงรุก RACI : R - Responsible ผู้รับผิดชอบ หรือเจ้าภาพในการแก้ปัญหา A - Accountable ผู้มีอำนาจตัดสินใจเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องเชื่อมโยงเพื่อให้บรรลุผล C - Consult ต้องหาผู้รู้และที่ปรึกษาที่สามารถให้ข้อมูล การชี้แนะที่ถูกต้อง และ I - Inform เมื่อได้ทุกองค์ประกอบครบแล้วต้องแจ้งให้ทุกคนทราบเพื่อความเข้าใจร่วมกัน ซึ่งหากภาครัฐทำงานในเชิงรุกการขับเคลื่อนในทุกมิติจะเกิดผลสำเร็จ ทั้งนี้ สภาหอฯ ได้เข้าไปสนับสนุน พัฒนา ผู้ประกอบการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงาน ผ่านโครงการ/กิจกรรมต่าง ๆ อาทิ Big Brother พี่สอนน้อง Young Entrepreneur Chamber of Commerce: YEC, Service Provider หลักสูตรสำหรับการนำสินค้าเข้าสู่ตลาด Modern trade หรือ Platform LiVE Exchange เพื่อให้ Start Up หรือ SMEs มีโอกาสสู่การเป็น springboard เพื่อเข้าตลาดอย่าง SET หรือ mai นอกจากนี้ ทางสภาหอฯ ยังได้มีข้อเสนอแนะสำหรับภาครัฐ ในการที่จะมุ่งเน้น พัฒนา Ecosystem ในการให้บริการประชาชนเมื่อติดต่อราชการจุดเดียวจบ การพัฒนากลุ่ม Start Up ที่มีศักยภาพที่ดำเนินธุรกิจในกลุ่ม Future Food มีทิศทางการเติบโตที่ดี SMEs รายเก่าต้องการพัฒนากระบวนการผลิตด้วยการใช้ระบบ Automation แทนแรงงานที่กำลังประสบปัญหาขาดแคลน โอกาสของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ประเทศมหาอำนาจลำดับต้น ๆ อย่างจีนที่กำลังให้ความสนใจที่จะลงทุนในไทย ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ภาครัฐและภาคเอกชนควรเร่งผลักดันคว้าโอกาส สร้างปัจจัยเอื้อที่เหมาะสม แลกเปลี่ยนเรียนรู้โมเดลการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในเชิงเทคโนโลยีของจีน ease of doing business ภาครัฐช่วยผลักดัน กฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจได้สะดวก สำหรับการบูรณาการงานร่วมระหว่างสภาหอฯ และ กสอ. ในอนาคต จากที่สภาหอฯ ได้ดำเนินโครงการ Happy model เตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในอนาคตที่มุ่งเน้นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ การเป็นศูนย์กลาง Health & Wellness รวมถึงการพัฒนากำลังคน Reskill / Upskill / Newskill ในการสร้างผู้ประกอบการ และกำลังคนที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด รวมทั้งส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดช่วงชีวิต (Lifelong Learning) เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง จากการร่วมพบปะหารือในครั้งนี้ทำให้ กสอ. ได้เห็นถึงทิศทางการดำเนินงานจากมุมมองของภาคเอกชน ตลอดจนโมเดลของการพัฒนา ส่งเสริม SMEs Start Up ที่ประสบความสำเร็จ และที่สำคัญได้รับฟังความต้องการที่สะท้อนมาจากภาคเอกชนสู่ภาครัฐ ซึ่งจากการรับฟังความคิดเห็นในหลาย ๆ เวทีทีผ่านมานำมาซึ่งโครงการ/กิจกรรมที่สอดรับกับปัญหาและความต้องการที่แท้จริงในปีงบประมาณ พ.ศ 2566 ที่จะถึงนี้อย่างแน่นอน ### PR.DIProm (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
18 พ.ย. 2564
“อธิบดีณัฐพล” ร่วมงาน Powering Digital Thailand 2022 พร้อมบรรยายพิเศษ “การยกระดับอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อเร่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยหลังวิกฤตการณ์โควิด”
กรุงเทพฯ 17 พฤศจิกายน 2564 - นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้รับมอบหมายจาก นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าร่วมงาน Powering Digital Thailand 2022 HUAWEI CLOUD & CONNECT ASIA-PACIFIC INNOVATION DAY พร้อมกล่าวบรรยายพิเศษ หัวข้อ “การยกระดับอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อเร่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยหลังวิกฤตการณ์โควิด” โดยมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานการเปิดงานและกล่าวบรรยายพิเศษ ร่วมด้วย นายชัยวุฒิ ธนาคมานสุรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายเกาผิง ประธานกรรมการ HUAWEI นายหลิน ไป๋เฟิง ประธาน HUAWEI เอเชียแปซิฟิก นายหยาง มี เอิ๋ง กรรมการบริหารมูลนิธอาเซียน นายวรชัย พิชาญจิตร รองประธานกรรมการ บริษัท บางกอกโพสต์ จำกัด (มหาชน) นายเลอ กวาง หลาน ผู้ช่วยผู้อำนวยการ หัวหน้ากอง ICT และการท่องเที่ยว สํานักเลขาธิการอาเซียน นายหยาน เรียนโต้ รักษาการรองผู้ว่าการโครงสร้างพื้นฐาน การวิจัยและนวัตกรรม สํานักงานวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย นายเอเบิล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จํากัด ผู้บริหารภาครัฐ เอกชน และองค์การระหว่างประเทศ และคณะผู้บริหารบริษัท HUAWEI เข้าร่วมงานดังกล่าว ณ เซ็นทารา แกรนด์ คอนเวนชั่น ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ปทุมวัน โดยอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ภายหลังจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย โลกจะปรับตัวเข้าสู้ New Normal และจะมีความท้าทายใหม่ ๆ เกิดขึ้นกับภาคธุรกิจและภาคการผลิตของไทย โดยระบบการผลิตแบบเดิมที่เน้นการผลิตปริมาณมาก ๆ จะลดบทบาทลง ในขณะที่การผลิตแบบ Small Lot ที่มีประสิทธิภาพ ความยืดหยุ่นจะมีบทบาทเพิ่มขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ เทคโนโลยี Digital IoT 5G และ AI จะถูกเร่งให้มีการนํามาใช้เร็วขึ้น สําหรับภาคอุตสาหกรรมไทย แม้ที่ผ่านมาจะได้รับผลกระทบ แต่ก็ยังสามารถฟื้นตัวได้รวดเร็วและเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบัน ซึ่งรัฐบาลเล็งเห็นถึงความสําคัญในการยกระดับภาคอุตสาหกรรมเดิมของประเทศให้เข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ขณะเดียวกัน กระทรวงอุตสาหกรรม มีแผนที่จะยกระดับศักยภาพในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมทั่วประเทศให้เข้าสู่การผลิตแบบอุตสาหกรรม 4.0 โดยให้ความสําคัญกับการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น ควบคู่ไปกับการปฏิรูปโครงสร้างอุตสาหกรรมของประเทศในระยะยาว โดยส่งเสริมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และมุ่งพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมภายในประเทศให้สามารถพึ่งพาตนเองได้และต่อยอดอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่า รวมทั้งการผลักดันโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจ สีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว ทั้งนี้ ได้กําหนดแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมครอบคลุมในมิติต่าง ๆ 6 ด้าน หรือ เรียกว่า 6S ประกอบด้วย การพัฒนาอุตสาหกรรม S-Curve โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิสก์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต เป็นต้น Smart Agricultural Industry โดยใช้ศาสตร์การบริหารจัดการแบบอุตสาหกรรมมาปรับใช้ในการทำเกษตร เพื่อยกระดับเกษตรกรให้เป็นนักธุรกิจเกษตร 3.ส่งเสริม SME & Start up โดยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นพื้นฐานในการช่วยยกระดับ SME และขยายธุรกิจให้ Startup SEZ (Special Economic Zone) & Investment Promotion ส่งเสริมและจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อรองรับแรงงานกลับถิ่นและการขยายตัวของเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ Smart factory 4.0 การยกระดับการประกอบการอุตสาหกรรม โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสนับสนุนการพัฒนาตามแนวทาง BCG Model เพื่อพัฒนาและยกระดับเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เพื่อให้อยู่ร่วมกันได้กับชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน 6.Service Transformation การยกระดับการให้บริการ เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรม 4.0 โดยปฏิรูปองค์กรไปสู่ Smart Government อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม 4.0 ของไทย จะประสบความสําเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่จะร่วมกันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยให้ก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก และสามารถสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนไปพร้อมกัน ทั้งนี้ งาน Powering Digital Thailand 2021 HUAWEI CLOUD & CONNECT จัดขึ้นเป็นเวลา 4 วัน โดยมีพันธมิตรกว่า 60 รายร่วมออกนิทรรศการและมีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 3,500 คน ซึ่งในปีนี้ จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ Powering Digital Thailand และเจาะลีกถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ใช้งานได้จริง อาทิ Cloud 5G AI และ Digital Power ในทุก ๆอุตสาหกรรม ### PR.DIProm (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
17 พ.ย. 2564