หมวดหมู่
การจัดโครงสร้างขององค์กร
การจัดโครงสร้างขององค์กร (ธุรกิจ)ก็คือการจัดรูปแบบการทำงานของกิจการหรือธุรกิจนั้นนั่นเอง เป็นการกำหนดงานที่แต่ละคนต้องทำ งานที่หน่วยงานแต่ละหน่วยงานรับผิดชอบ กำหนดสายการบังคับบัญชาว่าใครจะขึ้นตรงกับหัวหน้าคนไหนเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการทำงานของธุรกิจนั้นๆ กิจการขนาดใหญ่ทุกแห่งจะมีการจัดโครงสร้างองค์กรที่ชัดเจนโดยออกมาเป็นรูปแบบของแผนภูมิองค์กร (Organization chart) ซึ่งมักจะประกาศอย่างเป็นทางการให้ทั้งบุคคลภายในและภายนอกทราบโดยติดไว้ภายในบริษัทและพิมพ์ในรายงานประจำปีของบริษัท สำหรับกิจการ SME จะไม่ค่อยนิยมจัดทำโครงสร้างองค์กรหรือกิจการของตนเองเพราะเจ้าของกิจการมักคิดว่ากิจการยังเล็กไม่ซับซ้อน ไม่จำเป็นต้องมีซึ่งเป็นเรื่องเข้าใจผิดอย่างมาก ทาง BSC ขอเสนอให้กิจการที่มีคนทำงานมากกว่า 5 คนขึ้นไปควรมีการจัดโครงสร้างองค์กรเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นกิจการใหม่ที่กำลังจะก่อตั้งหรือกิจการที่ดำเนินการมาแล้วควรกำหนดโครงสร้างของธุรกิจให้ชัดเจนเพื่อเป็นประโยชน์ในการบริหารงานและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานเมื่อกิจการเติบโตและขยายตัวมากขึ้น การจัดโครงสร้างองค์กร(ธุรกิจ)จำเป็นต้องใช้เครื่องมือที่สำคัญเพื่อให้เกิดความเข้าใจต่อคนในองค์กรก็คือ การเขียนแผนภูมิองค์กร (Organization chart) นั่นเอง แผนภูมิที่ว่านี้ก็คือแผนผังที่แสดงถึงตำแหน่งงานของคนทำงานในกิจการ แผนภูมิองค์กรที่ชัดเจนจะช่วยให้เกิดประโยชน์ในการประสานงาน การควบคุม การสั่งงานและการมอบหมายงานได้ รวมทั้งคนทำงานจะทราบถึงขอบข่ายความรับผิดชอบของตนเองอีกด้วย ประโยชน์สำคัญของการจัดโครงสร้างองค์กร มีดังนี้ • มีการกำหนดหน้าที่งานและความรับผิดชอบที่ชัดเจนโดยมีการกำหนดตำแหน่งงานของแต่ละคน • มีการจัดสายการบังคับบัญชาทำให้คนทำงานทราบว่าใครเป็นหัวหน้างานของตนและใครจะเป็นคนให้คุณให้โทษกับตนเองได้ • ทำให้ผู้บริหารสามารถคัดเลือกคนที่เหมาะสมกับตำแหน่งงานและยังสามารถพัฒนาความรู้ความสามารถของคนคนนั้นให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น • การจัดโครงสร้างที่ดีต้องมีการเขียนระเบียบการทำงาน วิธีปฏิบัติเป็นลายลักษณ์อักษรด้วย เพื่อให้คนทำงานทราบถึงวิธีการและการปฏิบัติงานตามระเบียบที่กำหนดไว้ • ทำให้การทำงานไม่ซ้ำซ้อนและไม่ก้าวก่ายงานกัน ลดความขัดแย้งในองค์กรได้ • ทำให้เจ้าของธุรกิจสามารถจัดสรรการใช้งบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้นโดยกำหนดการใช้งบประมาณหรือทรัพยากรต่างๆในแต่ละฝ่ายงานได้อย่างเหมาะสม วิธีการจัดทำโครงสร้างขององค์กร (ธุรกิจ) สำหรับเจ้าของธุรกิจ SME มีขั้นตอนง่ายๆดังนี้ 1. ไตร่ตรองและแยกแยะว่าในกิจการของตัวเองควรมีงานหลักด้านใดบ้างและฝ่ายงานใดที่มีความสำคัญต่อกิจการ เช่น ต้องมีฝ่ายขาย ฝ่ายผลิต ฝ่ายบัญชีการเงิน และที่เหลือควรมีฝ่ายใดอีก หากมีพนักงานจำนวนไม่มากก็อาจจะต้องควบรวมฝ่ายงานที่คล้ายกันให้อยู่ที่เดียวกันเช่น จัดซื้อ บัญชี การเงิน และธุรการอาจอยู่ในฝ่ายงานเดียวกันและใช้ทรัพยากรบุคคลร่วมกันเป็นต้น 2. พิจารณางานแต่ละงานในกิจการว่ามีงานใดที่ใกล้เคียงกันหรือต้องมีการประสานงานกันเพื่อให้เกิดผลสำเร็จเจ้าของอาจนำส่วนงานเหล่านี้มารวมกันได้เช่น งานที่ติดตั้งผลิตภัณฑ์นอกสถานที่จะมีความเกี่ยวข้องกับสายงานการผลิตก็อาจนำส่วนงานติดตั้งมาอยู่ภายใต้ฝ่ายผลิต หากกิจการที่ต้องขนส่งสินค้าไปให้ลูกค้าซึ่งจะมีความเกี่ยวข้องกับงานขายก็อาจนำไปส่วนงานขนส่งไปอยู่ภายใต้การดูแลของฝ่ายขายเป็นต้น 3. พิจารณางานว่าฝ่ายงานใดที่มีปริมาณงานมากก็อาจต้องแบ่งให้เป็นทีมงานหลายๆทีมงานเพื่อให้มีหัวหน้าของแต่ละทีมดูแลและเจ้าของจำเป็นต้องแบ่งพื้นที่รับผิดชอบหรือแบ่งตามกลุ่มหรือประเภทของลูกค้าเพื่อป้องกันการทำงานซ้ำซ้อนภายหลัง 4. การพิจารณางานและคนทำงานควรร่างเป็นแผนภูมิคร่าวๆเพื่อพิจารณาว่าหัวหน้าของแต่ละส่วนงานมีความสามารถเพียงพอหรือไม่ มีความอาวุโสและเป็นที่ยอมรับหรือไม่ หากสายงานที่มีงานที่แตกต่างกันก็ควรแบ่งออกมาเป็นอีกฝ่ายหนึ่งให้ชัดเจน 5. เจ้าของกิจการควรเขียนหน้าที่ความรับผิดชอบของคนทำงานไว้ให้แต่ละคนด้วย รวมทั้งทางเดินของงานหรือการไหลเวียนของงาน(Workflow)ว่าจากไหนไปไหนเพื่อป้องกันการทำงานซ้ำซ้อนและเกิดความล่าช้าในการทำงาน แผนภูมิองค์กรหรือผังองค์กร (Organization chart) เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้บุคคลภายในและภายนอกของกิจการเข้าใจถึงการจัดโครงสร้างองค์กรของกิจการที่ตนทำงานหรือเข้ามาติดต่อ แผนภูมิองค์กรสำหรับธุรกิจ SME ที่นิยมใช้คือ แผนภูมิแนวดิ่ง (ปิรามิด) ตามแบบนี้ เจ้าของกิจการ SME อาจใช้การจัดรูปแบบโครงสร้างองค์กร(ธุรกิจ๗) ตามหน้าที่ความรับผิดชอบซึ่งเป็นรูปแบบที่นิยมกันมาก คือแบ่งเป็นฝ่ายขาย ฝ่ายผลิต ฝ่ายบริการ ฝ่ายบัญชีการเงิน ฝ่ายจัดซื้อเป็นต้น สำหรับกิจการขนาดกลางที่เกือบเป็นกิจการใหญ่อาจมีการขายผลิตภัณฑ์หลายๆชนิดก็อาจใช้วิธีการแบ่งงานเพิ่มเติมในส่วนของฝ่ายขายและฝ่ายผลิตซึ่งจะแยกให้เห็นเป็นงานของแต่ละผลิตภัณฑ์เช่นกิจการมีผลิตภัณฑ์อยู่สามประเภทใหญ่ๆเช่น ผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้ ผลิตภัณฑ์เยลลี่ ผลิตภัณฑ์ลูกอม ก็อาจแบ่งฝ่ายขายเป็นสามทีม ฝ่ายผลิตเป็นสามสายการผลิตก็ได้
25 พ.ย. 2564
การบริหารเวลาอย่างมีประสิทธิภาพ
เวลาก็คือชีวิต การบริหารเวลาก็คือการบริหารชีวิตนั่นเอง ในหนึ่งวันมี 24 ชั่วโมงเท่ากับ 86,400 วินาทีทุกคนได้เวลาที่เท่ากันหมดแต่คนที่รู้จักการวางแผนและรู้วิธีการบริหารเวลาจะประสบความสำเร็จได้ดีและเร็วกว่าคนที่ไม่บริหารเวลาเลยเพราะเขาสามารถทำงานโดยใช้เวลาที่น้อยกว่าและเขาก็ยังเหลือเวลาที่จะทำกิจกรรมส่วนตัวได้ ทำให้มีความเครียดน้อยกว่าคนที่ไม่วางแผนและไม่บริหารเวลา ปัญหาของคนที่ไม่ชอบบริหารเวลาก็คือ • ขาดการวางแผนไว้ล่วงหน้า ว่าจะทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ และทำอย่างไร • เกิดจากการชอบผัดวันประกันพรุ่ง คนเหล่านี้ชอบพูดว่า “เอาไว้ก่อน เดี๋ยวค่อยทำ” • ไม่รู้จักการจัดอันดับความสำคัญของงาน ทำเรื่องที่ไม่สำคัญและไม่เร่งด่วนก่อนเสมอ • ชอบเล่นมากเกินไป งานยังไม่เสร็จแต่ไปเที่ยวเล่นเพราะยังไม่อยากทำงานตอนนี้ • ชอบมีส่วนร่วมกับสังคมมากเกินไป ชอบไปคุยเรื่องชาวบ้านตามโต๊ะนั้นโต๊ะนี้โดยอยากรู้อยากเห็นเรื่องของผู้อื่นจนทำงานของตนเองไม่เสร็จ • เกิดจากการจับประเด็นไม่ถูก ทำให้เสียเวลาในการทำงานเพราะทำงานผิดประเด็น หรือแก้ไขปัญหาผิดประเด็น หากปัญหาข้างต้นยังเกิดกับคุณ ก็ควรจะปรับเปลี่ยนตัวเองให้รู้จักการบริหารเวลาให้ได้โดยมีวิธีง่ายๆดังนี้ 1. ปฏิเสธคนที่ทำให้คุณละเลยงานที่ต้องทำ เช่นคนมาชวนคุย ชวนเม้าส์ อาจให้เวลา 5 นาทีหากเกินเวลานี้ก็ควรตัดบทเพราะจะเสียเวลาการทำงานหรือวางแผนงานได้ 2. อย่ายุ่งกับงานที่ต้องทำประจำวันซึ่งเป็น Routine Job หากเราเป็นเจ้าของกิจการหรือหัวหน้างานแล้วควรมอบหมายงานที่ทำซ้ำซากทุกวันให้ลูกน้องทำแทนเพื่อจะได้ทำงานที่ต้องใช้สมองคิดมากขึ้น 3. จัดอันดับความสำคัญของงานที่ต้องทำก่อนและทำหลังเพื่อประหยัดเวลาและได้งานที่สำคัญมากขึ้น 4. อย่าใช้เวลาโทรศัพท์นาน และอย่าให้การติดต่อใดๆมาขัดขวางการทำงานที่สำคัญ รู้จักปฏิเสธหากพบเพื่อนโทรมาคุยนาน 5. สอนพนักงานหน้าห้อง เลขาหรือลูกน้องให้กลั่นกรองงานของคุณก่อนที่จะส่งมาถึงคุณ งานบางอย่างก็สอนให้เลขาหรือลูกน้องทำเพื่อประหยัดเวลาและทำแต่งานที่สำคัญ 6. อย่าให้แขกที่ไม่ได้นัดหมายมาขัดจังหวะการทำงาน มีคนเป็นจำนวนมากที่ชอบมาแบบ walk in เช่นพนักงานขายเป็นต้น ขอให้เขานัดหมายและแจ้งเรื่องที่จะเข้าจะมาพบเพื่อเราจะได้ทราบว่าจำเป็นต้องพบกับแขกคนนั้นหรือไม่หรือให้คุยกับลูกน้องเราแทน 7. จัดระเบียบเอกสารของตนเองให้หาง่าย และจัดการเอกสารบนโต๊ะให้หมดไปเพื่อทำงานให้เสร็จได้เป็นวันๆไม่มีงานคั่งค้าง นอกจากวิธีง่ายๆที่กล่าวมาแล้ว เราก็ควรใช้เครื่องมือ เครื่องใช้ในการบริหารเวลาเพิ่มขึ้นอีกเพราะยุคปัจจุบันเป็นยุคดิจิตอล มีเครื่องมือสื่อสารมากมายที่ทำให้ประหยัดเวลาและรวดเร็วไม่เหมือนสมัยเมื่อ 20 ปีที่แล้วโดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือที่สามารถใช้งานการติดต่อได้ทุกอย่าง เครื่องมือในบริหารเวลามีดังนี้ • อีเมล์ (Electronic mail), • ใช้โปรแกรมในคอมพิวเตอร์เพื่อวางแผนงาน • ใช้ line ในการติดต่อทั้งโทรศัพท์ วีดีโอคอล (Video call) , ส่งรูป, ส่ง file ต่างๆ • โอนเงินโดยใช้บริการอินเตอร์เน็ตของแต่ละธนาคาร • เขียนหรือบันทึกสิ่งที่ต้องทำใน note หรือ diary ในมือถือหรือในสมุดไดอารี่ • ใช้เครื่องมือประหยัดเวลาต่างๆที่เป็น application ในมือถือเช่น app ที่สั่งพิมพ์, app ที่สแกน, app การลงบันทึกการเงิน app ที่ออกบิลเงินสด ฯลฯ หากเราต้องการประสบความสำเร็จเป็นผู้บริหารที่ work smart ไม่ใช่ work hard ก็ควรเริ่มต้นปรับเปลี่ยนนิสัยให้รู้จักการบริหารเวลาแก้นิสัยที่ไม่ดีที่ทำให้เสียเวลารวมถึงนิสัยผัดวันประกันพรุ่งด้วย การตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนและมอบหมายงานให้กับลูกน้องทำแทนจะทำให้ประหยัดเวลาได้ดีขึ้นอีกด้วยและหากคุณยังไม่เคยใช้เครื่องมือสื่อสารให้เป็นประโยชน์ในการประหยัดเวลาก็ควรเริ่มต้นศึกษาการใช้เพราะในอนาคตเครื่องมือเหล่านี้ก็จะพัฒนาไปอีกมากหากเรายังใช้ไม่เป็นก็อาจเสียเปรียบคนรุ่นใหม่ที่ทำงานได้เร็วกว่าเพราะรู้จักการใช้เครื่องมือทันสมัยเหล่านี้
25 พ.ย. 2564
การเตรียมพร้อมสู่ความเป็นหัวหน้างาน
คนทำงานทุกคนก็มีความฝันอยากเป็นหัวหน้า ผู้จัดการและผู้บริหาร แต่หลายคนที่ได้เป็นหัวหน้าก็ทำให้ตัวเองและลูกน้องผิดหวังเพราะได้เลื่อนแค่เป็นหัวหน้าแต่ไม่สามารถเลื่อนไปถึงผู้จัดการหรือผู้บริหารระดับสูงได้เพราะไม่รู้จักการพัฒนาตนเองและไม่เคยเตรียมความพร้อมในการเป็นหัวหน้าคน ซึ่งตำแหน่งที่ได้อาจมีอำนาจแต่ไร้บารมีที่ลูกน้องจะยอมปฏิบัติตามคำสั่ง เป็นเพียงแค่ตำแหน่งลอยเท่านั้น บทบาทของหัวหน้างานมีหน้าที่หลักๆดังนี้ • การวางแผนงาน • จัดรูปแบบงานและจัดรายละเอียดกิจกรรมที่ต้องทำงาน • การมอบหมายงานให้ลูกน้องหรือการกระจายงาน ดังนั้นคุณเริ่มรู้จักการวางแผนงานตั้งแต่วันนี้เพื่อคุณจะมีความพร้อมที่จะเป็นหัวหน้าคนอื่นๆได้ในวันข้างหน้า หน้าที่สำคัญของการบริหารจัดการธุรกิจก็คือ การวางแผน การจัดองค์กร การสั่งการ การคัดสรรพนักงาน การประสานงาน และการควบคุมงบประมาณ ซึ่งการวางแผนถือเป็นสิ่งแรกและเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุดในตอนที่เป็นหัวหน้าใหม่ๆ เพราะจะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพบรรลุเป้าหมายได้ ปัจจัยที่จะทำให้การวางแผนสำเร็จผลได้คือ 1. การออกแบบแผนงาน (Design plan) 2. การสื่อสารกับทีมงานทำงาน (Communication) 3. การยึดหยุ่นได้ตามความเหมาะสมของงาน (Flexibility) 4. แผนงานที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงและได้ผล (Implementation) 5. มีการติดตามและควบคุมดูแลแผนงานนั้น (Control) เจ้าหน้าที่, เสมียน, คนงาน, พนักงานทั่วไปที่ได้เลื่อนตำแหน่งควรทราบถึงหน้าที่และความรับผิดชอบของหัวหน้างานเพื่อจะได้เลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้นเป็นผู้จัดการและผู้บริหารได้ต่อไปในอนาคต ซึ่งการเป็นหัวหน้างานที่ดีก็ต้องทำหน้าที่อย่างอื่นๆเพิ่มเติมไปด้วยดังนี้ 1. วางแผนและควบคุมการทำงาน การวางแผนจำเป็นที่หัวหน้างานจะต้องติดตามควบคุมแผนที่วางไว้ว่าบรรลุเป้าหมายหรือไม่และเพื่อปรับเปลี่ยนแผนให้ดีขึ้นได้เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นในระหว่างปฏิบัติตามแผนงานที่วางไว้ 2. ต้องปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายให้ได้ผลงานตามมาตรฐานและมีคุณภาพตามที่กำหนด สมมติว่าได้เลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้าคนงานก็ต้องปฏิบัติงานโดยสั่งและดูแลลูกน้องให้ผลิตสินค้าได้ตามมาตรฐานที่กำหนดและมีคุณภาพด้วย 3. ใช้วิธีการทำงานที่ดีที่สุด คนเราสามารถออกแบบการทำงานของตนเองได้ตามที่ตนเองคิดว่าจะเร็วกว่าและดีกว่า หากไม่ไปกระทบเพื่อนร่วมงานหรือระเบียบขององค์กรที่เราทำงานอยู่ การหาวิธีการทำงานที่เร็ว และดีที่สุดก็เพื่อประหยัดเวลาและสร้างทักษะความสามารถของเราให้เป็นผู้นำได้ในวันข้างหน้า 4. รู้จักการลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการทำงาน การทำงานที่มีประสิทธิภาพจะช่วยลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายได้ หากเราทำงานและรู้จักการใช้ทรัพยากรขององค์กรอย่างประหยัดและมีค่าจะทำให้เราก้าวหน้าในหน้าที่การงานได้ ยิ่งเป็นกิจการของตนเองก็จะยิ่งได้รับผลตอบแทนมากขึ้น 5. ดูแลรักษาสถานที่ทำงานและดูแลอุปกรณ์เครื่องใช้ ลูกจ้างหลายคนมักไม่สนใจที่จะใส่ใจเครื่องมือเครื่องใช้ขององค์กรตนเอง เราจะสังเกตได้ว่าคนนั้นมักจะไม่ค่อยก้าวหน้าในอาชีพเพราะไปคิดว่าไม่ใช่ของส่วนตัวหากเป็นของส่วนตัวก็จะประหยัด เมื่อเราได้เป็นหัวหน้างานแล้วต้องรู้จักการดูแลรักษา อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้และสถานที่ทำงาน จะทำให้เกิดกำไรต่อองค์กรและมีผลทำให้องค์กรมีความมั่นคงตามไปด้วย 6. ให้ความรู้และสอนงานกับผู้ใต้บังคับบัญชา คำว่า”ลูกน้อง” มีทั้งคำว่า “ลูก” และมีทั้งคำว่า “น้อง” นั่นก็แปลว่าลูกน้องเราเป็นทั้งลูกและน้องของเรา จึงต้องสอนงานให้เขาทำงานได้ ควรให้ความรู้เพื่อเขาจะได้พัฒนาตนเองเพื่อทำงานให้เราได้และควรดูแลใส่ใจเมื่อเขามีปัญหาเหมือนลูกของเรา หากใครไม่เคยสอนงานเลยก็จะต้องรีบฝึกฝนการสอนเพื่อให้เป็นหัวหน้างานที่ดีได้ 7. รักษาระเบียบวินัยขององค์กรและการทำงาน ทุกๆองค์กรมักจะมีการกำหนดระเบียบการทำงาน เวลาการเข้างาน จำนวนวันลากิจ ลาป่วย และระเบียบการเบิกค่าใช้จ่ายต่างๆ การฝึกฝนตัวเองให้มีระเบียบวินัยจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกน้องที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชา การเป็นหัวหน้างานอาจจะเป็นตำแหน่งที่ไม่สูงเท่ากับผู้บริหารระดับสูง คนที่เป็นหัวหน้างานก็ควรมาตรงตามเวลาที่องค์กรกำหนดไม่ใช่ได้เลื่อนตำแหน่งแล้วไม่ต้องเซ็นชื่อแล้วก็เลยมาสาย หากไม่รู้จักการเคารพกฎระเบียบของที่ทำงานก็จะทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชานำไปนินทาว่าร้ายได้ภายหลัง 8. สร้างทีมงานและทำงานเป็นทีม การเป็นหัวหน้าที่ดีต้องสามารถนำพาลูกน้องทำงานให้เป็นทีมได้และยังสร้างทีมที่แข็งแกร่งได้ในอนาคต การสร้างทีมงานจำเป็นที่หัวหน้าจะต้องมีภาวะผู้นำที่ดีเพื่อนำทีมงานบรรลุเป้าหมายได้ การเป็นหัวหน้างานนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเริ่มฝึกการวางแผนการทำงานให้ได้ดีและปฏิบัติตนตามหน้าที่หลัก 8 ข้อที่กล่าวมาแล้วเพื่อจะได้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน หรือหากเป็นเจ้าของกิจการก็จะได้เพิ่มความสามารถในการบริหารงานได้ในอนาคต การเป็นหัวหน้าไม่ใช่เป็นเพียงตำแหน่งที่ถูกมอบหมายเท่านั้น ควรสอนงานให้ลูกน้องทำงานได้ดีเพื่อความสบายของหัวหน้าในวันข้างหน้าเพราะลูกน้องไม่เก่ง หัวหน้าก็เลื่อนตำแหน่งยาก
25 พ.ย. 2564
“อธิบดีณัฐพล นำทีม ดีพร้อม เดินหน้าหารือสมาพันธ์ SME ไทย แลกเปลี่ยนแนวทาง การส่งเสริม SMEs ภายใต้บริบทใหม่”
กรุงเทพฯ 23 พฤศจิกายน 2564 - นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา เลขานุการกรม นางสุชาดา โพธิ์เจริญ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน และคณะผู้บริหารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม ร่วมหารือ ดร.ณพพงศ์ ธีระวร ประธานกิตติมศักดิ์สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวโชนรังสี เฉลิมชัยกิจ ประธานกิตติมศักดิ์สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และคณะผู้บริหารสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ร่วมหารือถึงแนวทางการขับเคลื่อน SMEs และทิศทางการดำเนินธุรกิจ ในมุมมองของภาคเอกชนที่มีต่อภาครัฐ พร้อมทั้งรับฟังเสียงสะท้อนถึงปัญหาที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์โรคระบาดโควิด-19 เพื่อหาแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสม รวมไปถึงการบูรณาการงานร่วมกันในอนาคต โดยอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และคณะดีพร้อม ได้รับฟังแนวทางและข้อเสนอแนะจากทางสมาพันธ์ฯ โดย ประธานสมาพันธ์ฯ ได้กล่าวถึง ทิศทางการพัฒนาประเทศของมหาอำนาจอย่างประเทศจีนในการขับเคลื่อนประเทศ ภายใต้ นโยบาย MADE IN CHINA 2025 : Dual Circulation หรือ ยุทธศาสตร์วงจรคู่ขนานป็นแผนการพัฒนาให้ความสำคัญกับหลักการ ‘การหมุนเวียนภายในประเทศ (Internal Circulation)’ เพื่อเพิ่มความต้องการของคนในประเทศ และลดการพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากต่างประเทศเป็นแกนหลัก ในขณะเดียวกันจะต้องมีการหมุนเวียนภายนอกประเทศ (External Circulation)’ เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดส่งออก โดยเป้าหมายในระยะยาวจะเป็นการเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับความต้องการการบริโภคภายในประเทศ และลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาความต้องการจากต่างประเทศ ขณะที่สถานการณ์ SMEs ของไทยในปัจจุบันอยู่ในภาคการค้าและการบริการ โดย SMEs ส่วนใหญ่ของประเทศเป็น Micro SMEs ซึ่งมูลค่าการนำเข้า-ส่งออก พบว่า SMEs มีการนำเข้ามากกว่าการส่งออก สำหรับอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจของ SMEs กลุ่มนี้คือ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน ต้องการระบบพี่เลี้ยง (Coaching) ในการดำเนินธุรกิจ การเชื่อมโยงข้อมูลที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ การอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (Ease of doing Business) รวมไปถึงการส่งเสริมพัฒนาของภาครัฐที่ยังมีข้อจำกัดทางด้านงบประมาณทำให้กระจายความช่วยเหลือได้ไม่ทั่วถึง สำหรับอุปสรรค (Pain Point) ในการพัฒนา SMEs จากมุมมองของสมาพันธ์ฯ ได้กล่าวถึง การพัฒนาใน 3 ด้าน ได้แก่ Financial Scale Up และ Development Service ซึ่งในแต่ละด้านยังขาดความเชื่อมต่อซึ่งกันและกัน หากทั้ง 3 ด้านมีการบูรณาการงานภายใต้ภารกิจของแต่ละหน่วยงานร่วมกันจะขับเคลื่อน MSMEs ให้เติบโตมากขึ้น นอกจากนี้ สมาพันธ์ฯ ยังได้สะท้อนความต้องการในการจัดตั้ง 3 กองทุน อันเนื่องมาจากข้อมูลที่จะสะท้อนถึงศักยภาพในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ MSMEs เมื่อเทียบ 100 ราย พบว่าเข้าถึงแหล่งเงินทุนหรือสามารถผ่านเงื่อนไข หรือ การอนุมัติสินเชื่อเพียง 30% อีก 70% เป็นกลุ่มที่ขาดคุณสมบัติ หรือเป็น NPL สิ่งเหล่านี้จึงเป็นที่มาของกองทุน (1) กองทุนนวัตกรรม MSMEs เป็นกองทุนที่จะมุ่งพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยี มาตรฐาน องค์ความรู้ ตลาด สิทธิประโยชน์ ให้กับกลุ่มเป้าหมาย (2) กองทุนพัฒนา MSMEs เพื่อให้การสนับสนุนกลุ่มที่ยังขาดโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน (3) กองทุนพัฒนา NPLs MSMEsคือกลุ่มที่มีหนี้ NPL รวมถึงหนี้นอกระบบ ให้มีโอกาสไปต่อ แข็งแรงขึ้น โดยมีสถาบันการเงิน ธนาคารพาณิชย์ และธนาคารรัฐเป็นผู้ดูแล สำหรับปัญหาด้านแรงงานที่ขาดแคลนในภาคอุตสาหกรรม พบว่า มีปัญหาด้านแรงงานที่ตกงาน ซึ่งเป็นประเด็นที่ผกผันในสังคมปัจจุบัน กรณีขาดแคลนแรงงาน สมาพันธ์ฯ ได้เสนอ Thailand e-Job Platform เพื่อลดการว่างงาน เพิ่มการจ้างงาน พัฒนาทุนมนุษย์ โดยองค์ประกอบหลักของแพลตฟอร์มนี้จะเป็นเรื่องของการสรรหาคนเพื่อเข้าสู่การเป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรม แรงงานฝีมือ นักเรียนนักศึกษาที่จบใหม่ หรือการพัฒนาบ่มเพาะเพิ่มขีดความสามารถเพิ่มทักษะในด้านต่าง ๆ MSMEs เปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล ปัจจุบันการสร้าง Ecosystem Economy Innovation เป็นเรื่องสำคัญที่จะเป็นพลังในการลดต้นทุนส่วนเกิน สร้างการมีส่วนร่วม และสร้างแต้มต่อในการดำเนินธุรกิจ สมาพันธ์ฯ มีแนวทางการดำเนินงาน “อยู่รอด อยู่เป็น อยู่เย็น อยู่ยาว” สำหรับสาขาอุตสาหกรรมที่ควรสนับสนุน โดยใช้ Customized Function ในการพัฒนา ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต (Function Food) มีมูลค่าการส่งออกค่อนข้างสูง อุตสาหกรรมการค้าปลีกการพัฒนาหรือนำระบบ Point of Sales (POS) เพื่อ tracking or modify ธุรกิจให้เติบโต แต่ยังคงติดกับดักด้านการลงทุน/เงินทุน สมาพันธ์ฯ ได้กล่าวถึง 3K : Knowledge / Know How / Know Who เพื่อเป็นพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปอย่างเข้มแข็ง และยั่งยืน และโอกาสสำคัญคู่กับความรู้ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรมที่พัฒนาเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว SMEs อาจฉกฉวยโอกาส สร้างความแตกต่าง ลดต้นทุนในธุรกิจไม่ว่าจะเป็นด้าน Solar Farm Energy ที่ยังรอการสนับสนุนจากภาครัฐ และประเด็นที่กำลังอยู่ในความสนใจของโลกอย่าง Metaverse ที่กำลังจะเปลี่ยนโลกธุรกิจ เปลี่ยนวิถีการท่องเที่ยวไปอย่างสิ้นเชิงในอนาคต สำหรับเทคโนโลยีในภาคการผลิต สะท้อนภาพในมุมของการพัฒนา Machine Data People ควบคู่กันไป ในส่วนของการพัฒนา Creative Content / Economy เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่มีความน่าสนใจสร้าง High Impact โดยสอดคล้องกับห่วงโซ่ที่เกี่ยวข้อง และประเด็นการพัฒนา Start up ต้องการรับการสนับสนุนในส่วนของเงินทุนเป็นสำคัญ จากภาพสะท้อนของภาคเอกชนที่ส่งต่อมายังภาครัฐ ซึ่งดีพร้อมได้มีทิศทางการดำเนินงานที่สอดคล้องกับโจทย์ หรือความต้องการไม่ว่าจะในประเด็นของการพัฒนาด้าน Financial / non Finance อาทิ เงินทุนหมุนเวียนฯ ได้ออกแพคเกจ “ดีพร้อมเปย์” เพื่อให้ผู้ประกอบการที่มีขีความสามารถซึ่งเป็นผู้เข้าร่วมโครงการของดีพร้อมได้เข้าถึงแหล่งเงินทุน Training Package ผ่านรูปแบบออนไลน์, การใช้ระบบ Automation / Ecosystem / กลไกของ ITC ที่ในอนาคตอันใกล้นี้จะใช้ Pilot Plant ให้กับ SMEs เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และ Matching กับ OEM ลดขั้นตอนในกระบวนการผลิตและการประกอบธุรกิจ ให้ SMEs มุ่งเน้นการขายสินค้า สร้าง Return of Investment ได้อย่างรวดเร็ว / Big Data โดยดีพร้อมได้ใช้ iSingle Form เพื่อจัดเก็บข้อมูลของผู้รับบริการเพื่อ Tracking Progress เพื่อแนะนำการพัฒนาที่เหมาะสมในระยะต่อไป ซึ่งหากทั้ง สมาพันธ์ฯ และ ดีพร้อม ได้มีการบูรณาการงานร่วมกัน จะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับภาคอุตสาหกรรมต่อไปในอนาคต ### PR.DIProm (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
25 พ.ย. 2564
ศิลปะการมอบหมายงานอย่างมีประสิทธิภาพ
การมอบหมายงานเป็นภารกิจสำคัญอันหนึ่งในการบริหารงาน และบริหารจัดการธุรกิจ หากไม่มีการมอบหมายงานให้ผู้อื่นทำก็ไม่มีการบริหารงานเกิดขึ้น การมอบหมายงานจะรวมถึงการสั่งงาน (Assignment) และการกระจายงาน (delegation) การสั่งงาน (Assign งาน) จะแตกต่างกับการกระจายงาน (delegate งาน) คือ งานที่ถูกสั่งมักเป็นงานที่ถูกแบ่งส่วนไว้อยู่แล้วตามสายงานการบังคับบัญชาโดยมีแผนงาน มีขั้นตอนการปฏิบัติอยู่เป็นประจำที่ผู้ปฏิบัติแต่ละคนต้องทำงานนั้น สำหรับการกระจายงานจะเป็นงานที่หัวหน้าจะกระจายอำนาจในความรับผิดชอบของตนให้ผู้ใต้บังคับบัญชาไปทำงานหรือปฏิบัติงานนอกเหนือจากงานประจำ ซึ่งหัวหน้างานที่ดีต้องพิจารณางานที่จะมอบหมายให้เหมาะสมกับคนทำงานเพื่อให้งานลุล่วงไปด้วยดี จากรูปด้านบนจะเห็นได้ว่าขั้นตอนการมอบหมายจำเป็นต้องมีการตรวจสอบทุกครั้งว่าผู้รับมอบหมายงานเข้าใจคำสั่งหรือไม่ เพราะการสื่อสารสองทางจะได้ผลที่แน่นอนกว่าการสื่อสารทางเดียว หัวหน้าจะไม่ปล่อยให้ลูกน้องไปทำงานโดยยังไม่เข้าใจว่าต้องทำอะไร เพราะงานที่ออกมาอาจไม่ตรงกับความต้องการของหัวหน้าก็ได้ เมื่อหัวหน้าได้มอบหมายงานไปแล้วก็จำเป็นต้องติดตามการปฏิบัติงานของลูกน้องเป็นระยะๆเพื่อประเมินว่างานที่มอบหมายไปนั้นได้บรรลุเป้าหมายหรือไม่ การมอบหมายงานให้กับผู้ใต้บังคับบัญชาจำเป็นต้องพิจารณาทั้งเนื้องานและความสามารถของผู้รับมอบหมายด้วย จึงควรใช้กลยุทธ์การมอบหมายงานให้ลูกน้องตามภาพด้านล่างที่กำหนดให้แกนนอนเป็นเรื่องของทัศนคติ แรงจูงใจ ความรับผิดชอบของงาน ส่วนแกนตั้งกำหนดให้เป็นเรื่องความรู้ความสามารถในการทำงานหรือปฏิบัติงาน โดยดูจากคะแนนของทั้งสองแกน ในองค์กรทุกองค์กรจะมีคนทำงานทุกประเภทแต่เราก็ต้องเรียนรู้ว่าแต่ละประเภทเหมาะกับงานประเภทใดบ้าง จึงต้องมีการวางกลยุทธ์การให้งานแก่ลูกน้องซึ่งมีการแบ่งประเภทคนทำงานเป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆดังนี้ 1. กลุ่มไม้ตายซาก (Dead wood) ในช่อง M1 ความหมายของไม้ตายซากพวกเราก็คงเข้าใจเองอยู่แล้ว คนกลุ่มนี้จะมีทัศนคติต่ำ ไม่มีแรงจูงใจ ไม่จงรักภักดีต่อองค์กรและมีความรู้น้อยและความสามารถในการทำงานต่ำ คอยยุแยงพนักงานใหม่ว่าบริษัทนี้ไม่ดี เจ้าของไม่ดี เดี๋ยวก็เจ๊งแล้ว ถ้าเรามีอำนาจเพียงพอที่จะให้ออกก็ไล่ออกไปดีกว่า แต่หากเราไม่มีอำนาจและเผอิญเขามาเป็นลูกน้องของเราก็จำเป็นที่ต้องมอบหมายงานเช่นกัน งานที่เราควรพิจารณาให้คนจำพวกนี้ทำก็คืองานประจำแบบไม่ต้องรับผิดชอบสูงไม่เกี่ยวกับเงินทองหรือดูแลลูกค้า และควรจูงใจด้วยการจ่ายผลตอบแทนตามเป้าหมายที่วางไว้ และพยายามเข้าใจคนกลุ่มนี้ว่าปัญหาที่เขาเป็น Dead wood เพราะอะไรเผื่อให้พวกไม้ตายซากฟื้นกลับมามีชีวิตได้ 2. กลุ่มม้างาน (Work horses) ในช่อง M2 จากตารางจะเห็นว่ากลุ่มนี้มีทัศนคติที่ดีต่อองค์กร มีแรงจูงใจในการทำงานสูงและมีความรับผิดชอบในการทำงาน แต่มีความรู้น้อยและมีความสามารถในการทำงานต่ำ คนกลุ่มนี้จำเป็นที่ต้องพัฒนาความรู้และความสามารถในการทำงานให้สูงขึ้นด้วยการสอนงาน ส่งไปอบรมสัมมนา ส่งไปเรียนเพิ่มเติมเพราะจะเป็นกำลังสำคัญให้กับองค์กรได้เนื่องจากมีทัศนคติที่ดีต่อการทำงานและองค์กรที่ทำงานอยู่ งานที่ควรมอบหมายก็ควรเป็นงานที่ต้องใช้ความรับผิดชอบสูงเช่นดูแลเงินทอง ดูแลการลดต้นทุน งานที่ทำก็ควรเป็นงานแบบ Routine Job ที่ต้องทำซ้ำๆและเป็นประจำทุกวันเพราะไม่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์มากนัก หากคนกลุ่มนี้สามารถพัฒนาตนเองจนมีแนวคิดใหม่ๆได้ก็จะเป็นดาวเด่นขององค์กรต่อไป (Star) 3. กลุ่มเด็กมีปัญหา (Problem child) ที่อยู่ในช่อง M3 ซึ่งมีทัศนคติที่แย่ มีแรงจูงใจการทำงานที่ต่ำและไม่ค่อยรับผิดชอบงานแต่มีความรู้ความสามารถในการทำงานสูง อาจจบการศึกษาดี แต่ไม่มีความจงรักภักดีต่อองค์กร หากเรามีลูกน้องประเภทนี้ก็ควรมอบหมายงานที่ใช้ความรู้ความสามารถสูงแต่เป็นโครงการหรือแผนงานที่มีระยะเวลาสั้นมากเพราะเขาอาจลาออกหรือพร้อมทิ้งงานได้เสมอ ให้รางวัลเพื่อจูงใจให้เขาทำงานให้ได้ 4. กลุ่มดาวเด่น (Star) ในช่อง M4 ผู้บริหารและเจ้าขององค์กรใฝ่ฝันว่าเมื่อรับพนักงานใหม่เข้ามาพวกเขาจะเป็นดาวเด่นขององค์กรและช่วยงานได้มาก คนกลุ่มนี้จะมีความรู้ความสามารถในการทำงานสูงส่วนใหญ่จะมีการศึกษาดี มีทัศนคติที่ดีต่อองค์กร และคนรอบข้าง มีความจงรักภักดีต่อองค์กรและรักงานที่ทำมาก คนกลุ่มนี้จำเป็นที่ต้องได้รับการสนับสนุนจากหัวหน้างาน ซึ่งงานที่มอบหมายให้ควรเป็นงานที่ยากเพื่อเหมาะสมกับความสามารถของเขาและเป็นงานที่มีความสำคัญและมีความท้าทายโดยการมอบหมายงานจะต้องมีการจูงใจด้วยเงินหรือคำชมเชยประกอบด้วย เพื่อไม่ให้ดาวเด่นของเราลาออกไปอยู่กับคู่แข่งขันของเราเมื่อเขาเป็นที่รู้จักในวงการ นอกจากกลยุทธ์ในการมอบหมายงานให้กับลูกน้องใน 4 กลุ่มใหญ่ๆที่กล่าวมาแล้วนั้น หัวหน้างานหรือผู้บริหารควรที่จะมีเทคนิคในการมอบหมายงานด้วย เช่น อย่ามอบหมายงานทั้งหมดให้กับพนักงานที่มีความสามารถสูงเพียงคนเดียว (เพราะเขาอาจทนไม่ได้และลาออกไป) เวลามอบหมายงานควรระบุวัตถุประสงค์และเป้าหมายไม่ใช่บอกวิธีการทำงานด้วยเพราะคนที่มีประสบการณ์การทำงานสามารถออกแบบวิธีการทำงานได้ และหัวหน้าที่ดีควรมอบหมายอำนาจและหน้าที่ให้กับลูกน้องแต่อย่าหลีกเลี่ยงความผิดชอบเมื่อลูกน้องที่เรามอบหมายทำผิด ดังนั้นเทคนิคในการมอบหมายสั่งการก็ขึ้นอยู่กับวิธีการของแต่ละคนซึ่งควรใช้จิตวิทยาในการจูงใจให้ลูกน้องทำงานได้ด้วย
24 พ.ย. 2564
ศิลปะการสื่อสาร สั่งงานอย่างมีประสิทธิภาพ
กิจการหรือองค์กรใดที่มีการสื่อสารภายในองค์กรดีจะทำให้การบริหารงานขององค์กรนั้นประสบความสำเร็จเพราะการสื่อสารเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการดำเนินงานเพื่อมุ่งไปในทิศทางเดียวกันและร่วมกันปฏิบัติงานตามนโยบายของกิจการนั้นได้ เจ้าของกิจการหรือผู้บริหารที่มีศิลปะและความสามารถในการสื่อสาร สั่งงานกับผู้ใต้บังคับบัญชาตนเองได้ดี ก็จะทำให้องค์กรมีความรักและผูกพัน เข้าใจซึ่งกันและกันได้มากขึ้นกว่าองค์กรที่ไม่มีการสื่อสารหรือปฏิสัมพันธ์กันเลย การต้องการที่จะสื่อสารของเจ้าของกิจการหรือผู้บริหารกับลูกน้องตนเองก็เพื่อให้เกิดความเข้าใจในการสั่งงานที่ให้ไปทำและเพื่อจูงใจและผลักดันให้งานบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ผู้บริหารบางคนที่เก่งในการสื่อสารก็ใช้การสื่อสารเป็นเครื่องมือให้เกิดการประสานงานระหว่างฝ่ายงานเพื่อให้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในองค์กร ป้องกันการแตกแยกของแต่ละฝ่ายงานด้วย การติดต่อสื่อสารและสั่งงานที่มีประสิทธิภาพมีหลักการ 5 C ดังนี้ 1. มีความชัดเจน (Clear) 2. มีความสมบูรณ์ (Complete) 3. มีความกะทัดรัด (Concise) 4. มีความแน่นอน (Certain) 5. มีความถูกต้อง (Correct) จากหลักการ 5 C ข้างต้นทำให้เราทราบว่าไม่ว่าจะสื่อสารอะไรหรือสั่งงานใคร ต้องให้ข้อความนั้นชัดเจนไม่ใช่พูดในขณะที่อยู่ในร้านอาหารมีเสียงเอะอะโวยวายหรือขณะที่กำลังข้ามถนนหรือขับรถ คำสั่งหรือสิ่งที่สื่อสารต้องสมบูรณ์เช่นจะให้ส่งงานวันไหน ส่งที่ไหน ในรายงานต้องมีอะไรบ้างจะต้องสั่งการลูกน้องให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการสื่อสารได้ภายหลัง นอกจากความสมบูรณ์ชัดเจนของข้อความสื่อสารแล้วยังมีความจำเป็นที่จะต้องมีความกะทัดรัดไม่ใช่สั่งงานเป็นชั่วโมงเพราะหัวหน้ามัวแต่ยืดเยื้อ สั่งไปด่าไป ลูกน้องก็จะไม่อยากฟังและทำให้ไม่ทราบว่ากำลังสั่งให้ทำอะไร การสั่งงานและสื่อสารข่าวสารแก่ลูกน้องอย่าให้มีข้อสงสัยว่าจะเปลี่ยนแปลงไหม หัวหน้าควรมีข่าวสารที่แน่นอนแล้วค่อยสื่อสารไปยังลูกน้องหรืองานที่ต้องทำ หากไม่แน่ใจและสั่งงานไป เมื่อเกิดเปลี่ยนแปลงภายหลังก็จะทำให้ลูกน้องมีความไม่มั่นใจในคำสั่งอีกจนอาจไม่ยอมรับในตัวหัวหน้าตนเองได้ สำหรับความถูกต้องของการสั่งงานก็คือความเหมาะสมในงานที่สั่งนั่นเอง ไม่ใช่ให้งานที่ไม่สมควรให้หรือสื่อสารในสิ่งที่ไม่ถูกต้องจนเกิดการเข้าใจผิดได้ หากเจ้าของกิจการท่านใดที่มีปัญหาเรื่องการสื่อสารกับลูกน้องในกิจการตนเองก็คงต้องปรับเปลี่ยนการสื่อสารสั่งงานให้เป็นไปตาม 5 C ก่อนในเบื้องต้นและมาศึกษาเรื่องศิลปะการพูดจูงใจผู้อื่นด้วยการไปฝึกอบรมสัมมนายังสถาบันฝึกอบรมที่จัดขึ้นหลายแห่ง การเป็นผู้บริหารที่ดีจำเป็นที่ต้องสื่อสารกับคนในองค์กรให้ดีด้วยเพราะจะรวมไปถึงการสอนงานและการสั่งงานที่ต้องใช้การสื่อสารทั้งสิ้น การสื่อสารมักมีอุปสรรคมากมายที่ทำให้คนรับข่าวสารเข้าใจผิดหรือทำงานผิดได้ เช่นอุปสรรคที่เกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้ • การศึกษาและอายุ เจ้าของกิจการหรือหัวหน้าที่มีอายุมากกว่าลูกน้องและมีการศึกษาที่ต่างกันมากทำให้การสื่อสารสั่งงานมีประสิทธิภาพด้อยลง • อารมณ์และความรู้สึก หากทั้งผู้รับข่าวสารและผู้สื่อสารกำลังอยู่ในอารมณ์ที่เศร้า หรืออารมณ์ที่ไม่อยากทำงานการสื่อสารสั่งงานก็ไม่ได้รับการตอบสนอง หรือไม่มีประสิทธิภาพ • ภาษาที่แตกต่างกัน การสื่อสารก็จะมีปัญหาไม่เข้าใจกันได้ • สังคมและวัฒนธรรมของสังคมที่แตกต่างกัน • อุปสรรคจากสภาพแวดล้อมเช่น มีเสียงรบกวนเวลาสื่อสาร การสื่อสารมีระยะห่างกันมากไม่ได้ยินสิ่งที่สั่งให้ทำ การเขียนคำสั่งเป็นตัวอักษรไว้ไม่ชัดเจนเช่นเขียนโน้ตทิ้งไว้แล้วอ่านไม่ออกเป็นต้น ดังนั้นการสื่อสารให้มีความเข้าใจได้ง่ายขึ้นมักมีอุปสรรคมากมาย คนที่สื่อสารเก่งจึงได้เปรียบเสมอ ผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs จำนวนมากไม่ชอบการสื่อสารสั่งงานลูกน้องและคิดว่าลูกน้องจะทำงานได้ ซึ่งการสื่อสารเป็นเรื่องยากเพราะการศึกษาและประสบการณ์ที่น้อยจะทำให้มีความเข้าใจยากตามไปด้วย บางครั้งลูกน้องที่ไม่เข้าใจสิ่งที่หัวหน้าต้องการแต่ก็ไม่อยากถามเพราะกลัวถูกด่าจึงเกิดปัญหาทำงานผิดเสมอ วิธีขจัดอุปสรรคของการสื่อสารและสั่งงานมีดังนี้ 1. การใช้ข้อมูลย้อนกลับ ด้วยการสื่อสารสองทาง (Two way communication) คือสั่งงานหรือสื่อสารและถามกลับถึงความเข้าใจของผู้รับข้อมูลหรือผู้รับคำสั่ง 2. รู้จักฟังให้มากขึ้น หัวหน้าหรือเจ้าของกิจการควรฟังให้มากขึ้น การฟังที่ดีคือ การสร้างบรรยากาศให้ลูกน้องพูดในสิ่งที่คิด หลีกเลี่ยงการโต้เถียงกับผู้พูด ฟังและพยายามเข้าใจผู้พูดโดยไม่พยายามหาข้อโต้แย้ง รวมทั้งต้องควบคุมอารมณ์ตนเองให้ได้ ไม่ขัดจังหวะเพื่อให้ลูกน้องได้ระบายความรู้สึกบ้าง 3. ควบคุมอารมณ์ของตนเอง แม้ว่าเรากำลังโกรธ เศร้าหรือมีปัญหาไม่ควรใส่อารมณ์ไปยังลูกน้องตนเองในขณะที่ต้องการสื่อสารและสั่งงานเขา 4. ใช้หลักการติดต่อสื่อสารตาม 5 C ที่ได้กล่าวมาข้างต้น 5. ใช้เครื่องมือสื่อสารต่างๆให้มีศักยภาพในองค์กร เช่น ตั้งกลุ่ม line, ใช้อีเมล์และใช้ google drive,ออกแบบคู่มือการทำงาน, ออกแบบฟอร์มรายงาน เป็นต้น สุดท้ายเจ้าของกิจการหรือผู้บริหารต้องเข้าใจว่าการมีคู่มือการปฏิบัติงานหรือการออกแบบฟอร์มต่างๆเพื่อให้ได้รายงานหรือตัวเลขที่คุณต้องการเป็นสิ่งที่ช่วยให้การสื่อสารเร็วขึ้นเพราะบริษัทระดับใหญ่ๆทั่วไปจะมีการออกแบบรายงาน คู่มือการทำงาน ระเบียบการเบิกจ่ายต่างๆเพื่อสื่อสารให้คนทำงานเข้าใจได้ง่าย ดังนั้นผู้บริหารที่ดีก็ควรฝึกการออกแบบฟอร์มให้คนทำงานใช้เพื่อประหยัดเวลาการอธิบายและก็เป็นเครื่องมือหนึ่งในการสื่อสารองค์กรที่ดีด้วย
24 พ.ย. 2564
การจัดอันดับความสำคัญของงาน
การจัดอันดับความสำคัญของการทำงานว่างานอันใดควรทำก่อนและงานอันใดควรทำทีหลังเป็นวิธีการบริหารเวลาอย่างหนึ่งและยังช่วยฝึกฝนให้เราเลือกทำงานที่มีความสำคัญก่อนได้เพื่อจะเกิดประโยชน์สูงสุดและจะทำให้ประสบความสำเร็จได้เร็วกว่าคนที่ไม่ได้วางแผนการจัดอันดับความสำคัญในการการทำงานเลย ผู้ประกอบการรายเล็กและรายใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์ทำงานมักจะทำงานทุกประเภทจนไม่เหลือเวลาในการวางแผนหรือคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆเพื่อนำเสนอและขยายตลาดได้ เนื่องจากผู้ประกอบการกลุ่มนี้มักชอบไปทำงานประเภทธุรการเสียเป็นส่วนใหญ่ เคยได้ยินมีคนพูดกันบ่อยๆว่า”ผู้จัดการคนนี้เป็นผู้จัดการแต่สันดานเสมียน” คำพูดนี้หมายถึงการที่เป็นหัวหน้าแต่ไปทำงานของลูกน้องแทนที่จะใช้ลูกน้องทำงานก็กลับไปทำเสียเอง เป็นประเภท คิดเอง ทำเอง แก้ปัญหาเอง แทนที่จะเป็นผู้บริหารกลับกลายเป็นเสมียน ดังนั้นผู้บริหารหรือเจ้าของกิจการที่เริ่มมีลูกน้องอยู่ภายใต้บังคับบัญชาก็ควรรู้จักการมอบหมายและสั่งงานไม่ใช่ไปแย่งลูกน้องทำงาน ยกเว้นคนไม่พอก็อาจรับบทเสมียนบ้างบางครั้ง การจัดอันดับความสำคัญของงานควรพิจารณาปัจจัย 2 ด้านคือ ความสำคัญของงานและความเร่งด่วนของงาน ผู้ไม่มีประสบการณ์การทำงานมานานและอยากทำงานให้ง่ายขึ้นและเร็วขึ้นลองฝึกฝนการจัดงานตามตารางที่เป็นแนวคิดของ Dwight D.Eisenhower อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาคนที่ 34 โดยตารางนี้เรียกว่า Eisenhower Box กำหนดให้แกนนอนเป็นเรื่องของความเร่งด้วยของงานและให้แกนตั้งเป็นเรื่องความสำคัญของงานดังนี้ โดยทั่วไปทุกคนจะมีงานอยู่สี่ประเภทคือ A B C D ตามข้างบน อันดับหนึ่ง (งาน C) ผู้บริหารหรือเจ้าของกิจการต้องรู้จักการมอบหมายงานหรือสั่งงานให้กับลูกจ้างหรือผู้ใต้บังคับบัญชาก่อนด้วยการมอบหมายงานที่ด่วนแต่ไม่ความสำคัญให้เขาไปทำเพื่อจะได้ทันเวลาและไม่เสียงานที่มีการตกลงกับลูกค้าไว้ อันดับสอง (งาน A) ผู้บริหารหรือเจ้าของกิจการควรทำงานที่ด่วนและสำคัญทันที อันดับสาม (งาน B) งานไม่ด่วนแต่มีความสำคัญ ผู้บริหารหรือเจ้าของกิจการค่อยมาวิเคราะห์ว่าควรทำเองทั้งหมดหรือให้ลูกน้องคนสำคัญแบ่งไปทำบ้างเพราะงานสำคัญอาจหมายถึงการวางแผน การพบลูกค้ารายใหญ่ การประชุมที่สำคัญด้วย อันดับสี่ (งาน D) เป็นงานที่ไม่เร่งและไม่สำคัญ งานในช่องนี้ถ้าไม่เกิดประโยชน์ใดๆกับกิจการก็อาจไม่ต้องทำมันเลย หากเป็นงานที่ต้องทำก็มอบหมายให้ลูกน้องหรือลูกจ้างไปทำเมื่อมีเวลาว่าง ผู้บริหารที่ดีควรทำงานในช่อง B คืองานสำคัญแต่ไม่เร่งด่วน (ไฟในเตา) เพื่อป้องกันการเกิดงานสำคัญที่เร่งด่วนตามมาเพราะไม่ได้ทำงานตอนที่งานนี้ไม่เร่งด่วน งานเร่งด่วนมักเกิดจากการวางแผนผิดพลาดหรือไม่ได้ทำงานที่ไม่เร่งด่วนไว้ก่อนจนงานนั้นกลายเป็นงานเร่งด่วนไป จากตารางข้างบนที่อธิบายไปแล้วนั้น เจ้าของกิจการควรให้ความสำคัญกับงานช่อง B ให้มากเพราะเป็นงานวางแผน งานคิด งานพบลูกค้ารายใหญ่และงานประชุมที่สำคัญเพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาให้มีงานช่อง A และงานช่อง C เกิดขึ้น และหากเจ้าของกิจการ ผู้บริหารหรือผู้ที่สนใจจะบริหารเวลาด้วยการจัดอันดับความสำคัญของงานก็ลองฝึกฝนดูด้วยการนำกระดาษเปล่ามาวาดช่องตามตัวอย่างและเติมงานของตนเองที่ต้องทำพร้อมทั้งวิเคราะห์ว่างานที่ต้องทำควรอยู่ในช่องอะไรบ้างและก็เริ่มดำเนินการทำงานตนเองตามอันดับการทำงานที่ได้อธิบายไปข้างต้นแล้ว
24 พ.ย. 2564
การพัฒนาความรู้ความสามารถของเจ้าของกิจการ
ธุรกิจ SMEs มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจของประเทศไทย เจ้าของกิจการธุรกิจ SMEs จำนวนมากที่เริ่มต้นธุรกิจจากศูนย์โดยการเริ่มทำธุรกิจด้วยตนเองและทำคนเดียว หลายคนอาจไม่ได้เรียนมาสูงแต่มีความสามารถในด้านการผลิต เมื่อธุรกิจเติบโตขึ้นเรื่อยๆเจ้าของกิจการเหล่านี้ก็เริ่มมีปัญหาในการบริหารจัดการ การเริ่มต้นธุรกิจกับครอบครัวด้วยการใช้คนทำงานเพียงไม่กี่คนในตอนเริ่มแรกจะไม่พบปัญหาใดๆที่แก้ไขไม่ได้ แต่เมื่อมีการจ้างคนทำงานมากขึ้นถ้ายิ่งเกิดนกว่า 10 คนขึ้นไปปัญหาก็เริ่มตามมา ทำให้เจ้าของกิจการบางคนเริ่มท้อใจและอยากรักษาธุรกิจของตนเองให้อยู่ในระดับเดิมเพราะเกรงว่าจะควบคุมดูแลกิจการไม่ได้ ความคิดเหล่านี้ถือว่าขัดต่อความเจริญรุ่งเรืองของอาชีพตนเองและเสียโอกาสที่ธุรกิจจะได้เติบโตในวันข้างหน้า มีหน่วยงานรัฐหลายแห่งที่ให้การสนับสนุนเจ้าของธุรกิจ SMEs และผู้ประกอบการในการพัฒนาความรู้ความสามารถในการบริหารธุรกิจ เช่นโครงการพัฒนาผู้ประกอบการรายใหม่ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม, โครงการปรับแผนธุรกิจของสำนักงานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม, โครงการเสริมสร้างนวัตกรรมทางธุรกิจของกรมพัฒนาผู้ประกอบการ กระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น เจ้าของกิจการที่รักความก้าวหน้าและต้องการที่ให้กิจการเจริญเติบโตจากขนาดกลางจนกลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่และมั่นคงต้องมีการพัฒนาความรู้ความสามารถของตนเองอย่างต่อเนื่อง ด้วยวิธีการต่างๆที่เหมาะกับความรู้ ความสามารถและความต้องการของตนเอง เจ้าของกิจการในยุคปัจจุบันควรต้องพัฒนาความรู้และความสามารถในเรื่องต่อไปนี้ 1. พัฒนาความรู้ด้านการบริหารจัดการธุรกิจ การบริหารจัดการธุรกิจได้ดีจำเป็นต้องมีความรู้ด้านการบริหารตลาด บริหารบัญชีและการเงิน การบริหารจัดการทั่วไปและการบริหารด้านการผลิตหรือบริการ ความรู้ในสี่ด้านนี้สามารถเข้าอบรมสัมมนาได้ตามโครงการต่างๆของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและหน่วยงานภาครัฐที่จัดให้อบรมและสัมมนาฟรีทุกปีงบประมาณ หากเจ้าของกิจการที่ไม่ได้จบการศึกษาในด้านบริหารจัดการมาก่อน อาจศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่มีการสอนในภาคค่ำหลังเวลาทำงานก็ได้ ความรู้เรื่องการจัดการมีความจำเป็นอย่างมากในการบริหารกิจการ เพื่อจะได้วางแผนธุรกิจ ควบคุมดูแลและนำพาธุรกิจให้ก้าวหน้าไปได้ 2. พัฒนาความสามารถในทักษะต่างๆของผู้นำ 3 ทักษะ การสร้างทักษะผู้นำจะต้องพัฒนาความสามารถของผู้ประกอบการให้เป็นที่ยอมรับของลูกน้องและคนรอบข้างได้ การสร้างทักษะเป็นการสร้างปัญญาให้กับเจ้าของกิจการโดยเริ่มจากการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง 10 แบบคือ การช่างสังเกต, การชอบบันทึก, ฝึกการนำเสนอ, รู้จักการรับฟัง, รู้จักการถาม, ชอบวิเคราะห์หาสาเหตุ, ค้นหาคำตอบที่อยากรู้จากแหล่งความรู้, รู้จักการเขียนด้วยการเรียบเรียงความคิด และสุดท้ายรู้จักการเชื่อมโยงเรื่องราวจนเกิดความคิดสร้างสรรค์ได้ 3. พัฒนาความสามารถด้านภาษา ในยุคที่โลกไร้พรมแดน ภาษาอังกฤษและภาษาจีน กลายเป็นภาษาที่สองที่เจ้าของกิจการขนาดกลางและขนาดใหญ่มีความสามารถในการสื่อสารกับลูกค้าและผู้ขายสินค้าได้ทำให้มีความได้เปรียบกว่าเจ้าของกิจการขนาดเล็กที่ยังต้องใช้ล่ามหรือตัวแทนในการติดต่อกับต่างชาติ หากเจ้าของกิจการมีความตั้งใจที่จะนำพาธุรกิจสู่ความเป็นสากลก็จำเป็นต้องไปศึกษาและฝึกฝนในการพูดและเขียนภาษาอังกฤษให้มีความชำนาญซึ่งมีโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาเปิดสอนให้กับผู้ใหญ่ที่ต้องการเรียนจำนวนมาก หากไม่สามารถเรียนรู้และใช้ภาษาต่างประเทศได้ก็จำเป็นต้องจ้างพนักงานที่มีความสามารถด้านภาษาแต่ก็มีความเสี่ยงในการลาออกหรือเปิดธุรกิจแบบเดียวกันมาแข่งขันในอนาคต 4. พัฒนาความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ประเทศไทยอยู่ในช่วงพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและอินเตอร์เน็ตมาใช้ในการผลิตสินค้า ผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจที่ไม่สามารถใช้คอมพิวเตอร์เป็นและยังไม่ได้นำสมาร์ทโฟนมาใช้ให้เกิดมีประสิทธิภาพในการทำงานได้จำเป็นต้องไปเรียนเพิ่มเติมจากหน่วยงานที่มีการสอนให้ใช้งานเป็นหรือจะไปเรียนตามสถาบันหลายแห่งที่จัดอบรมระยะสั้น ในอนาคตการแข่งขันธุรกิจจะใช้เทคโนโลยีกันมากขึ้นมีการใช้หุ่นยนต์อัตโนมัติเป็นผู้ช่วยในสายงานผลิต, มีการขึ้นรูปงานในระบบ 3 มิติ, มีการจัดเก็บข้อมูลผ่านระบบออนไลน์เป็นต้น 5. พัฒนาความสามารถในด้านมนุษย์สัมพันธ์ ด้านจิตวิทยาและการสื่อสาร ผู้ประกอบการหรือเจ้าของกิจการควรหาความรู้ในด้านจิตวิทยาการจูงใจพนักงานและคนงานให้ทำงานของธุรกิจได้ตามเป้าหมาย และรู้จักการสร้างมนุษย์สัมพันธ์กับลูกค้า ลูกน้องและสังคมเพื่อจะได้รับการยอมรับและได้รับความร่วมมือในการดำเนินกิจการให้ราบรื่นได้ ผู้ประกอบการที่ดีควรต้องรู้จักการสื่อสารที่ดีกับลูกน้องและลูกค้าเพื่อให้กิจการก้าวหน้าเติบโตในอนาคตด้วย ปัจจุบันมีหนังสือมากมายที่สอนเรื่อง HOW TO เกี่ยวกับการจูงใจ สื่อสารและสร้างสัมพันธ์ภาพกับผู้อื่นซึ่งผู้ประกอบการลองไปหาอ่านได้และเลือกหนังสือเล่มที่ชอบได้ที่ร้านหนังสือต่างๆทั่วไป การพัฒนาความรู้ความสามารถของเจ้าของกิจการไม่ใช่เรื่องยากที่จะพัฒนาเลย เพียงแต่เจ้าของกิจการต้องไม่ทำตัวเป็นแก้วน้ำที่มีน้ำเต็มแก้วตลอดเวลา หากเจ้าของกิจการเป็นแก้วน้ำที่ยังเติมน้ำได้อยู่เสมอการพัฒนาความรู้ความสามารถตนเองก็จะพัฒนาได้รวดเร็วและทำให้ตนเองมีศักยภาพมากยิ่งขึ้นในการบริหารกิจการ นอกจากการเรียนรู้และพัฒนาด้วยตนเองแล้วเจ้าของกิจการยังควรสมัครเข้าร่วมกับโครงการต่างๆที่มีที่ปรึกษาธุรกิจซึ่งมีความชำนาญเฉพาะด้านมาให้คำปรึกษาและขอให้คุณกอบโกยความรู้และประสบการณ์จากที่ปรึกษาเหล่านั้นเพื่อจะได้ย่นระยะเวลาในการเรียนรู้ด้วยตนเองให้สั้นลง
24 พ.ย. 2564
การสร้างภาวะผู้นำ
เจ้าของธุรกิจ SMEs จำนวนมากมีปัญหาการสั่งงานลูกน้อง การควบคุมคน และการสร้างขวัญกำลังใจให้กับลูกน้องตนเอง นั่นก็เพราะเจ้าของกิจการคนนั้นไม่มีภาวะผู้นำ ศูนย์ BSC ได้มีผู้ประกอบการจำนวนมากขอคำปรึกษาว่าลูกน้องออกบ่อย ลูกน้องไม่ยอมทำงาน ลูกน้องดื้อชอบชักสีหน้า สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะเจ้าของไม่ได้สร้างความเป็นผู้นำให้ลูกน้องทำงานให้หรือลูกน้องพึ่งลูกพี่ไม่ได้เวลามีปัญหา เราสังเกตได้ว่าพอพูดถึงหัวหน้าหรือเจ้านาย หากบอกว่าคนๆนี้พึ่งพาได้ เราก็จะยอมทำงานให้โดยศิโรราบและมั่นใจว่าหากเกิดปัญหาอะไรขึ้นมาเจ้านายคนนี้ไม่ทิ้งเราแน่ การที่เจ้าของธุรกิจขนาดเล็กไม่ได้สร้างภาวะผู้นำนั้นอาจเป็นเพราะเขายังไม่ได้สะสมประสบการณ์การเป็นหัวหน้าหรือผู้บริหารมาก่อน จบมาไม่นานก็ทำธุรกิจของตนเองจึงขาดประสบการณ์ที่จะนำพาผู้ใต้บังคับบัญชาได้ หรืออีกเหตุผลหนึ่งคือครอบครัวมีธุรกิจอยู่แล้วพอเรียนหนังสือจบมาก็ได้เป็นผู้บริหารธุรกิจเลย จึงไม่สามารถควบคุมลูกน้องเก่าๆของพ่อแม่ให้เชื่อฟังได้ ดังนั้นการจะให้ธุรกิจเติบโตได้เจ้าของกิจการจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ หาประสบการณ์รวมทั้งฝึกอบรม ฝึกฝนการมีภาวะผู้นำที่ดี เพราะหัวดีหางก็จะตามไปได้ดีด้วย หากผู้ประกอบการหวังพึ่งให้ลูกน้องทำและควบคุมลูกน้องคนอื่นอีกไม่นานลูกน้องคนที่เราไว้ใจก็จะออกไปทำธุรกิจเอง การเป็นผู้นำที่ดีควรต้องเริ่มจากการมีคุณลักษณะและคุณสมบัติที่ดีเพื่อการเป็นผู้นำจะได้รับการยอมรับซึ่งเจ้าของกิจการหรือผู้บริหารควรพัฒนาตนเองให้ได้ตามคุณลักษณะและคุณสมบัติเหล่านี้ 1. สุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ผู้นำที่สุขภาพดีจะได้รับการยอมรับมากกว่าผู้นำที่มีสุขภาพไม่แข็งแรง 2. มีความรู้และการศึกษา ผู้นำที่มีความรู้ความสามารถในงานที่ทำจะได้รับการยอมรับมากกว่าการที่ความรู้น้อยหรือไม่มีความรู้ในงานที่ทำ 3. มีความสามารถและสติปัญญาดี ผู้นำที่ฉลาดและมีความสามารถในการแก้ปัญหาได้ดีจะได้รับการยอมรับมากกว่าผู้นำที่ไม่มีความสามารถและเรียนรู้ยาก 4. บุคลิกภาพดี การเป็นผู้นำต้องฝึกบุคลิกภาพตนเองให้ดี ไม่หลุกหลิก กัดเล็บ หรือมีเสียงในคอแปลกๆ การมีบุคลิกภาพดี แต่งตัวตามกาลเทศะทำให้สังคมยอมรับการเป็นผู้นำได้ดี 5. ขยัน อดทน ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค ผู้นำที่ดีจะต้องเป็นผู้นำให้ผู้ตามเห็นว่าการทำอะไรต้องไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค ขยันอดทนเพื่อให้งานสำเร็จแม้ว่าจะต้องกลับดึกเพื่อให้งานสำเร็จได้ ก็จะได้รับการยอมรับมากกว่าผู้นำที่ขี้เกียจ ได้แต่สั่งให้ลูกน้องทำงาน 6. มีมนุษย์สัมพันธ์ดี การเป็นผู้นำต้องฝึกฝนการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีทั้งลูกน้อง ลูกค้าและสังคมรอบข้างเพื่อได้รับความร่วมมือที่ดีเมื่อต้องการความร่วมมือจากสังคม คุณสมบัติการเป็นผู้นำที่ดีมีดังนี้ 1. เป็นผู้มีความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์ มองการณ์ไกล (มีวิสัยทัศน์ที่ดี) ไม่ใช่ความคิดแบบเพ้อฝันแต่เป็นความคิดที่ช่วยให้กิจการเจริญเติบโตได้ 2. เป็นผู้สั่งงานและกระจายงานให้ลูกน้องได้เหมาะสม ผู้นำที่ดีต้องมีความยุติธรรมในการมอบหมายงาน และมีศิลปะในการสั่งงานให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเต็มใจที่จะทำและทำงานนั้นอย่างเต็มที่ 3. รู้จักสอนงานและพัฒนาผู้อื่น ผู้นำที่ดีต้องรู้พัฒนาความรู้ ความสามารถของลูกน้องตนเองให้เก่งขึ้นด้วยการสอนงานหรือส่งไปสัมมนาอบรมให้ลูกน้องตนเองมีความสามารถมากขึ้นในการทำงาน 4. สร้างขวัญ กำลังใจให้กับลูกน้องและทีมงานตนเอง การสร้างขวัญกำลังใจบางคนก็เป็นเรื่องของค่าตอบแทน คำชมเชย รางวัลเพื่อให้ลูกน้องตนเองมีขวัญและกำลังใจในงานต่อไป 5. รู้จักสร้างแรงบันดาลใจ และจูงใจให้ทีมงานหรือลูกน้องในกิจการให้สามารถทำงานร่วมกันไปสู่เป้าหมายของกิจการหรือส่วนงานของตนเองได้ พยายามอย่าให้มีความขัดแย้งในงานที่ต้องร่วมทำงานเป็นทีม การมีภาวะผู้นำที่ดีจำเป็นต้องฝึกฝนและพัฒนาจนบุคลิกและความคิดเปลี่ยนไปจนกระทั่งเป็นผู้นำที่ดีได้ เจ้าของกิจการสามารถเลือกรูปแบบผู้นำตามทฤษฎีของภาวะผู้นำของ Kurt Lewin (นักจิตวิทยาชาวเยอรมันปี 1890-1947) โดยการเลือกลักษณะผู้นำควรจะคำนึงถึงลูกน้องหรือผู้ปฏิบัติงานที่เราดูแลเป็นหลักเพราะลูกน้องจะมีการศึกษาและภูมิหลังที่ต่างกัน โดยการเลือกลักษณะผู้นำก็ขึ้นอยู่กับว่าเรากำลังเป็นผู้นำของกลุ่มไหน โดย Kurt Lewin แบ่งลักษณะผู้นำเป็น 3 แบบคือ 1. ผู้นำแบบเผด็จการ (Autocratic Leader) เป็นผู้นำที่ชอบออกคำสั่งให้ปฏิบัติตามโดยใช้การติดต่อสื่อสารทางเดียว ใช้อำนาจควบคุม มีบทลงโทษและรางวัลชัดเจน เน้นผลงานและเป้าหมาย ชอบตัดสินใจด้วยตัวเอง จะเน้นงานมากกว่าเน้นสัมพันธภาพของคน ผู้นำลักษณะนี้เหมาะกับการเป็นผู้นำของคนงานที่เป็นแรงงานมีการศึกษาต่ำ ไม่สนใจการพัฒนาความรู้และความสามารถ ผู้นำจึงควรใช้วิธีเผด็จการเพื่อสั่งงานและกำหนดบทลงโทษและรางวัลให้เพื่อบรรลุเป้าหมายขององค์กร 2. ผู้นำแบบประชาธิปไตย (Democratic Leader) เป็นลักษณะผู้นำที่มีประสิทธิภาพที่สุด มีผู้นำจำนวนมากที่นิยมการนำแบบประชาธิปไตย คือ เน้นการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจกับลูกน้อง ฟังความคิดเห็น คำนึงถึงความต้องการและความรู้สึกของผู้ใต้บังคับบัญชา เน้นดูแลและมีสัมพันธภาพของคนมากกว่าเน้นงาน เพื่อจูงใจให้คนทำงานได้ตามเป้าหมาย ลักษณะผู้นำประเภทนี้เหมาะกับการปกครองพนักงานที่มีความรู้ ความสามารถ มีการศึกษาสูงเพระการให้อิสระในการออกความเห็นจะทำให้เขาพอใจและพร้อมที่จะทำงานที่ตนได้ออกความเห็นไป 3. ผู้นำแบบเสรีนิยม (Laissez-faire Leader) เป็นผู้นำที่ให้ความอิสระแก่ลูกน้องในการทำงาน ให้เสรีภาพในการแก้ปัญหาเองโดยผู้นำจะให้ทรัพยากรต่างๆทั้งเครื่องใช้และงบประมาณที่จำเป็นแก่การทำงานเพื่อให้ลูกน้องทำงานได้ด้วยตัวเอง โดยหลีกเลี่ยงการมีปฏิสัมพันธ์และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองและลูกน้อง ผู้นำประเภทนี้จะเหมาะกับการปกครองลูกน้องที่มีงานประเภทสร้างสรรค์, งานศิลปะ, งานวิจัย หรืองานที่ไม่มีเวลาทำงานที่แน่นอน ต้องอาศัยความสามารถพิเศษของผู้ใต้บังคับบัญชา จากลักษณะผู้นำทั้งสามแบบที่กล่าวมานั้นจะมีบรรยากาศการทำงานที่แตกต่างกัน การจะเป็นผู้นำแบบใดก็ต้องขึ้นอยู่กับผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นใคร อาจจะผสมปนเปหรือเลือกวิธีใดวิธีหนึ่งเพื่อผู้ประกอบการจะสามารถนำพาให้กิจการไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้เพราะไม่ว่าจะเป็นผู้นำแบบใดก็ควรมีใจยุติธรรม ไม่ลำเอียง รู้จักแก้ปัญหาและไม่ผลักความรับผิดชอบทั้งหมดให้ลูกน้องตนเอง การสร้างภาวะผู้นำจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนบุคลิกภาพและเพิ่มพูนความรู้ความสามารถในการบริหารงานตามทักษะของผู้นำทั้งสามประการด้วย
24 พ.ย. 2564
ทักษะของผู้บริหารที่ดี
การบริหารจัดการธุรกิจให้ดีได้ไม่ใช่แค่ วางแผน กำหนดกิจกรรม สั่งการ และควบคุมการทำงานเท่านั้น ผู้บริหารที่ดีจำเป็นต้องมีทักษะในการบริหารงานด้วย ทักษะในการบริหารงานคือความสามารถ ความชำนาญการของผู้บริหารในการจัดการธุรกิจอย่างมีระบบ และบรรลุผลตามเป้าหมายที่ตั้งไว้โดยผ่านการใช้ทรัพยากรทั้ง คน เงิน และเครื่องจักรอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะการบริหารจัดการธุรกิจเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่เจ้าของกิจการหรือผู้บริหารต้องฝึกฝนความสามารถตนเองให้มีความชำนาญในการจัดการและมีความรวดเร็ว ถูกต้อง จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้เร็วขึ้นและดีกว่าผู้บริหารที่ไม่สนใจที่จะเพิ่มทักษะการบริหารธุรกิจเลย ทักษะจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีการลองผิดลองถูกและฝึกปฏิบัติบ่อยๆจนมีความสามารถและความชำนาญในสิ่งนั้น มีผู้บริหารจำนวนมากนิยมใช้ทักษะในการบริหารงานตามแนวคิดของโรเบิร์ต แอล แคทซ์ (Katz. 1974:91) ให้ความหมายว่า ทักษะคือ ความสามารถในการเปลี่ยนแปลงความรู้และความเข้าใจออกมาในรูปแบบของการกระทำได้ ซึ่งกล่าวไว้ว่าผู้บริหารที่ประสบผลสำเร็จได้ต้องมี 3 ทักษะ คือ 1. ทักษะทางด้านเทคนิค (Technical Skills) 2. ทักษะทางด้านมนุษย์สัมพันธ์(Human Skills) 3. ทักษะด้านความคิดรวบยอด(Conceptual Skills) หลายคนอาจจะไม่เข้าใจว่าจะเริ่มฝึกทักษะอย่างไรถึงจะครบทั้งสามด้าน ทาง BSC ขออธิบายให้กระจ่างว่าการเป็นผู้บริหารที่ดีได้ควรเริ่มจากการฝึกทีละทักษะซึ่งต้องเริ่มที่ทักษะแรกก่อนคือ 1. ทักษะทางด้านเทคนิค (Technical Skills) เมื่อเราเรียนหนังสือจบมาใหม่ๆยังไม่มีประสบการณ์และความสามารถในด้านเทคนิคหรือด้านการทำงานนั่นเอง จึงจำเป็นต้องฝึกฝนจนชำนาญ ยกตัวอย่าง คนที่จบบัญชีมาใหม่ๆยังลงบัญชีไม่เป็น เมื่อเขาฝึกฝนการทำบัญชีจนเกิดความเชี่ยวชาญและแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องภาษี เรื่องการปิดบัญชีได้ จนถือว่ามีทักษะหรือมีความเชี่ยวชาญด้านบัญชี แบบนี้ถึงเรียกว่าเขามีทักษะด้านเทคนิคหรือด้านบัญชี เหมือนคนทำอาหารบ่อยๆและทำมานานจนเกิดความเชี่ยวชาญก็ถือว่ามีทักษะทางด้านการทำอาหารเช่นกัน ดังนั้นคนทำงานหรือผู้ประกอบการรายเล็กก็ควรเริ่มจากการมีทักษะด้านเทคนิคจนเกิดความเชี่ยวชาญเสียก่อน เมื่อมีโอกาสได้ฝึกและสอนงานคนอื่นมากขึ้นก็ยิ่งเกิดความเชี่ยวชาญในด้านนั้น มีผู้บริหารหลายคนที่มีครอบครัวรวยเป็นเจ้าของกิจการทันทีที่เรียนจบก็จะไม่มีทักษะด้านการทำงานมาก่อนเมื่อไปเป็นผู้บริหารก็มักจะถูกลูกน้องดูถูกว่าทำงานไม่เป็นซึ่งผู้ประกอบการประเภทนี้ควรฝึกฝนให้มีทักษะด้านการทำงานไปด้วยเพื่ออนาคตข้างหน้า จะไม่มีใครว่าได้ว่าผู้บริหารงานคนนี้ทำงานยังไม่เป็นเลยและจะบริหารคนได้อย่างไร 2. ทักษะทางด้านมนุษย์สัมพันธ์(Human Skills) การมีทักษะเรื่องคน นั่นคือมีความสามารถในเรื่องการทำงานร่วมกับผู้อื่น เรื่องการทำงานเป็นทีม และสามารถสร้างแรงจูงใจ เสริมสร้างบรรยากาศให้กับทีมงานและผู้ร่วมงานได้ ทักษะนี้จำเป็นต้องมีเมื่อเป็นหัวหน้าคน เป็นผู้จัดการฝ่าย หรือผู้บริหารระดับกลาง เพราะการเป็นหัวหน้างานมีความจำเป็นต้องติดต่อ ปฏิสัมพันธ์กับฝ่ายอื่นๆในองค์กร รวมทั้งยังต้องสร้างแรงจูงใจให้ลูกน้องตนเองทำงานได้อีก การสร้างทักษะด้านมนุษย์สัมพันธ์จึงเป็นเรื่องยากกว่าการสร้างทักษะด้านการทำงานเพราะมีคนรอบๆตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง หัวหน้างานหรือผู้บริหารระดับกลางจำนวนมากไม่สามารถสร้างทักษะด้านมนุษย์สัมพันธ์ได้ทำให้มีปัญหาในการสื่อสารกับคนภายนอกและลูกน้องตนเองจนไม่สามารถเติบโตได้ในสายงานการทำงาน สำหรับเจ้าของกิจการที่ไม่สามารถสร้างทักษะด้านนี้ได้ก็จะมีลูกน้องที่ลาออกอยู่เสมอหรือสั่งงานแล้วไม่ยอมทำงาน ชอบแข็งข้อจนทำให้ธุรกิจสะดุดปัญหาอยู่เสมอๆ 3. ทักษะด้านความคิดรวบยอด(Conceptual Skills) คือความสามารถในการใช้สติปัญญา ริเริ่มสร้างสรรค์ คิดวางแผนเป็นระบบ สามารถวิเคราะห์ภาพรวมทั้งองค์กร ทักษะนี้จะสร้างวิสัยทัศน์ในการบริหารธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล สามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานให้ทันต่อโลกในยุคปัจจุบัน มีการนำแนวคิดและวิธีการใหม่ ๆ มาใช้ในบริหารงานได้ มีการกระจายอำนาจและความรับผิดชอบให้กับลูกน้องและยังสามารถบริหารเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทักษะด้านความคิดนี้จำเป็นอย่างมากสำหรับผู้บริหารระดับสูงและเจ้าของกิจการ เพราะการมีประสบการณ์จากสองทักษะแรกคือการทำงานและการบริหารคนแล้ว จำเป็นต้องมีความคิดที่สร้างสรรค์จะนำพาธุรกิจโดดเด่นได้ เหมือนบริษัทใหญ่ๆระดับโลกและระดับชาติที่มีเครือข่ายและบริษัทในเครือจำนวนมากก็เกิดจากเจ้าของกิจการหรือผู้บริหารมีทักษะด้านความคิดรวบยอดนั่นเอง เราสามารถแบ่งระดับชั้นการบริหารตามทักษะที่มีดังนี้ จากภาพด้านบนจะเห็นได้ว่าระดับปฏิบัติการจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้ทักษะการทำงานหรือด้านเทคนิคมากที่สุด สำหรับผู้จัดการหรือหัวหน้าระดับกลางต้องใช้ทั้งทักษะการทำงานและทักษะด้านมนุษย์สัมพันธ์ สำหรับผู้บริหารระดับสูงส่วนใหญ่จะใช้ทักษะด้านความคิดและด้านมนุษย์สัมพันธ์ ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมที่เพิ่งเริ่มกิจการก็ควรสร้างทักษะด้านการทำงานก่อนเพื่อธุรกิจเติบโตขึ้นจนต้องจ้างพนักงานเข้ามาและมีฝ่ายอื่นๆที่ต้องบริหารก็ควรใช้ทักษะด้านมนุษย์สัมพันธ์ให้มาก สำหรับทักษะด้านความคิดอาจจำเป็นต้องใช้ในการคิดสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆช่องทางการขายใหม่ๆและสร้างวิสัยทัศน์ที่เหมาะสมให้กับองค์กรตั้งแต่เริ่มธุรกิจจนประสบความสำเร็จเพราะการเป็นเจ้าของกิจการก็เปรียบเหมือนผู้บริหารระดับสูงนั่นเอง
24 พ.ย. 2564