หมวดหมู่
“อธิบดีภาสกร" ร่วมพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
กรุงเทพฯ 5 ธันวาคม 2566 - นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นางสาวประเทือง พฤกษาพิทักษ์กุล เลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เข้าเฝ้าตามหมายกำหนดการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานฯ ณ อุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร สำนักพระราชวัง ดำเนินการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พุทธศักราช 2566 ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงวางพานพุ่มดอกไม้ถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ณ อุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
05 ธ.ค. 2566
เชิญเข้าร่วมโครงการยกระดับสินค้าเกษตรสู่เกษตรอุตสาหกรรม
เปิดรับสมัครผู้ประกอบการ SMEs และโอทอป เข้าร่วมโครงการ ยกระดับสินค้าเกษตรสู่เกษตรอุตสาหกรรม กิจกรรม : พัฒนาผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปเป้าหมาย ภายใต้โครงการ : ยกระดับสินค้าเกษตรสู่เกษตรอุตสาหกรรม ดำเนินการโดย : ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คุณสมบัติผู้สมัคร จดทะเบียนการค้า/ทะเบียนนิติบุคคล สาขาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป สิ่งที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการ ได้รับการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ใหม่หรือผลิตภัณฑ์เดิม ได้รับการออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ สถานประกอบการที่สมัครต้องอยู่พื้นที่ปัตตานี ยะลา และ นราธิวาส สมัครได้ที่ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ นางสาวรัตนาพร แจ่มประเสริฐ (08 2260 8782) นายสุรวุท หวันประรัตน์ (09 5076 7850)
04 ธ.ค. 2566
เชิญผู้ประกอบการด้านอาหาร นักธุรกิจอาหาร สมัครเข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการ
การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร วิถีธุรกิจที่เปลี่ยนไป ธุรกิจอาหารต้องปรับตัวอย่างไรให้ปัง จัดทำโดย : ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 6 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ระหว่างวันที่ 6 - 8 ธันวาคม 2566 ณ โรงแรมเรย์ โฮเทล อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ คุณสมบัติผู้สมัคร : เป็นผู้ประกอบการสาขาอุตสาหกรรมอาหาร ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหาร ผู้ประกอบการธุรกิจอาหาร ผู้ประกอบการร้านอาหาร/คาเฟ่ หัวข้ออบรม ประกอบด้วย กลยุทธ์ธุรกิจอาหาร ปรับ Mindset ผู้ประกอบการยุคใหม่ เทคนิคการขยายสาขา การทำธุรกิจอาหารออนไลน์ พัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงอัตลักษณ์ การถ่ายภาพอาหารและทำคอนเทนต์ หลักสุขาภิบาลอาหาร สมัครได้ถึงวันที่ 3 ธันวาคม 2566 รับจำนวนจำกัด คน เท่านั้น เรียนฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม สตางค์ 08 3697 4649
04 ธ.ค. 2566
ขอเชิญสมัครเข้าร่วม กิจกรรมส่งเสริม SME ไทย ให้ดีพร้อม (DIPROM) ในการบริหารจัดการธุรกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
ขอเชิญชวนผู้ประกอบการ SMEs ที่สนใจนำเทคโนโลยีดิจิทัล ไปประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการองค์กรและเพิ่มผลิตภาพให้แก่ธุรกิจ สมัครเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริม SME ไทย ให้ดีพร้อม (DIPROM) ในการบริหารจัดการธุรกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ดำเนินการโดย : ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ภายใต้โครงการ : เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจไทยด้วยดิจิทัล สิ่งที่จะได้รับ : ได้รับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลด้านซอฟต์แวร์ ไปใช้สำหรับการบริหารจัดการธุรกิจ เช่น ระบบบริหารบัญชี ระบบบริหารการจัดซื้อจัดจ้าง ระบบบริหารการผลิต ระบบบริหารการขาย ระบบบริหารสินค้าคงคลัง ระบบการควบคุมเครื่องจักร หรือแอปพลิเคชัน ในการบริหารจัดการต่างๆ สมัคร วันนี้ - 15 ธันวาคม 2566 ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย รับจำนวนจำกัดเพียง กิจการที่ผ่านการคัดเลือก เท่านั้น สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม 08 6193 3803 (คุณอนุรักษ์) 09 5631 3331 (คุณหัสนัย)
04 ธ.ค. 2566
เชิญผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรม สร้างจิตวิญญาณในการเป็นผู้ประกอบการอย่างดีพร้อม”
ขอเชิญ ผู้ประกอบการ SMEs วิสาหกิจชุมชน ผู้สนใจ เข้าร่วมอบรมหลักสูตร สร้างจิตวิญญาณในการเป็นผู้ประกอบการอย่างดีพร้อม (Entrepreneurship Spirit DIProm) วัตถุประสงค์ : เพื่อส่งเสริมให้ SME จัดตั้งหรือขยายธุรกิจรูปแบบใหม่ ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นและอยู่รอดในสังคมอย่างยั่งยืน ดำเนินกิจกรรมโดย : ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 5 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ - 14 ธันวาคม 2666 สัมมนาแนะนำโครงการ/คัดเลือก/สัมภาษณ์ วันที่ 15 ธันวาคม 2566 ช่วงอบรมระหว่างวันที่ 18- 26 ธ.ค.66 กลุ่มเป้าหมาย ผู้ประกอบการ SME/วิสาหกิจมีอายุ ไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ในวันรับสมัคร และไม่เกิน 60ปีในวันรับสมัคร ผู้ประกอบการอาชีพอื่นอยู่แล้ว เช่นข้าราชการ พนักงานผู้ประกอบอาชีพอิสระ/ทายาทธุรกิจ ผู้ประกอบการที่เริ่มต้นประกอบธุรกิจในระยะ 1-3 ปีทียังไม่เข้มแข็งจำเป็นต้องได้รับความรู้ในการสร้างธุรกิจให้เติบโตอย่างมั่นคง นักศึกษาจบใหม่ซึ่งมีแนวความคิดและตั้งใจจะเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (Young Entrepreneur) ผู้ว่างงาน ที่มีความตั้งใจจะเป็นผู้ประกอบการ เนื้อหาหลักสูตร (การฝึกอบรม 36 ชม. / ศึกษาดูงาน 1 วัน รวม 8 วัน) Module 1 สร้างจิตวิญญาณในการเป็นผู้ประกอบการดีพร้อม AMT (6 ชม.) Module 2 พัฒนาผู้ประกอบการใหม่สร้างธุรกิจเชิงนวัตกรรม และ (BMC) จำนวน 18 ชม. Module 3 ส่งเสริมการตลาด/กลยุทธ์ด้านการตลาดบนแพลตฟอร์มโซเชียล จำนวน 12 ชม. Module 4 เข้าถึงแหล่งเงินทุน และนำเสนอแผนธุรกิจ ศึกษาดูงาน 1 วัน รับจำนวนจำกัดเพียง คนเท่านั้น ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม 08 7373 9887 (คุณธีรพงษ์) 09 9468 2333 (คุณแหวนเพชร) ap0803184282
04 ธ.ค. 2566
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดงาน สมอ. สัญจร ครั้งที่ 1 ณ จังหวัดนครศรีธรรมราช
จ.นครศรีธรรมราช 30 พฤศจิกายน 2566 - นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาภายใต้กิจกรรม “สมอ. สัญจร” ครั้งที่ 1 ณ โรงแรมทวินโลตัส จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมี นายขจรเกียรติ รักพานิชมณี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวต้อนรับ และ นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนเลขาธิการ สมอ. กล่าวรายงาน ประกอบด้วยการสัมมนาจำนวน 4 เรื่อง ได้แก่ 1) การสัมมนาให้ความรู้ด้านการมาตรฐานแก่เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2) การสัมมนา เรื่อง “มอก. : ทางเลือกสู่ “ทางรอด” ในการดำเนินธุรกิจ” เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานปูนซิเมนต์และคอนกรีตแก่ผู้ประกอบการ 3) การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “พัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนเชิงสร้างสรรค์ด้วยแนวคิดเศรษฐกิจใหม่” เพื่อส่งเสริมความรู้ด้านการมาตรฐานแก่ผู้ผลิตชุมชน 4) สัมมนาเรื่อง “ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ทางรอดของภาคอุตสาหกรรมไทย” เพื่อให้ความรู้ผู้ประกอบการเกี่ยวกับการดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยมีผู้เข้าร่วมการสัมมนาทั้งสิ้น 516 คน นอกจากนี้ ยังได้จัดให้มีพิธีมอบใบรับรองมาตรฐาน มผช. แก่ผู้ผลิตชุมชน จำนวน 10 ราย ใบรับรองมาตรฐาน มอก. เอส แก่ผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 10 ราย และใบอนุญาต มอก. แก่ผู้ประกอบการ จำนวน 9 ราย โดยมี นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายศุภกิจ บุญศิริ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม รักษาการในตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นางบุบผา กวินวศิน รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายวาที พีระวรานุพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในจังหวัดนครศรีธรรมราช เข้าร่วมด้วย ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
04 ธ.ค. 2566
รัฐมนตรีฯ พิมพ์ภัทรา หารือผู้ประกอบพื้นที่ภาคใต้ หนุนภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรม รองรับอุตสาหกรรมฮาลาล
จ.นครศรีธรรมราช 29 พฤศจิกายน 2566 - นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมพื้นที่ภาคใต้ พร้อมด้วย นายเอกภัทร วังสุวรรณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายศุภกิจ บุญศิริ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมรักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรมรักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายอดิทัต วะสีนนท์ รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ นายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย นายวาที พีระวรานุพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม โดยมี หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน และผู้ประกอบการ เข้าร่วมหารือ ณ โรงแรม แกรนด์ ฟอร์จูน การประชุมหารือในครั้งนี้ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ รวมถึงภาคเอกชน และผู้ประกอบการ ได้เสนอให้กระทรวงอุตสาหกรรม ส่งเสริม สนับสนุน ในเรื่องผังเมืองสำหรับการก่อสร้าง ซึ่งบางพื้นที่ไม่มีโซนที่สามารถก่อสร้างได้ จึงทำให้การก่อสร้างของโรงงานใหม่เป็นไปได้ยาก เรื่องการขนส่งโลจิสติกส์ เช่น ถนนสี่เลนที่มีอยู่มีความจำเป็นต้องขยายออกไป จากอำเภอทุ่งสงมาอำเภอปากพนัง หากมีการขยายถนนจากสองเลนเป็น 4 เลนได้ ด้านการขนส่งจะดีขึ้นโดยไม่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ๆ เรื่องการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก จังหวัดนครศรีธรรมราช มีพื้นที่ติดทะเลประมาณ 250 กม. หากมีท่าเรือขนส่งเป็นศูนย์กระจายสินค้า ซึ่งจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างมาก นอกจากนี้ ในด้านของพืชเศรษฐกิจ ซึ่งในพื้นที่ภาคใต้ มีพืชเศรษฐกิจเป็นจำนวนมาก ได้แก่ ยางพารา ปาล์ม และผลไม้ต่าง ๆ โดยอยากให้มีการส่งเสริม และโครงสร้างของการสนับสนุน อยากให้มีกระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้ในอุตสาหกรรม ที่ชี้เป้าของภาคใต้ ให้ผู้ประกอบการ SME ในภาคใต้ มีการอบรมให้ความรู้ พัฒนาความสามารถมากขึ้น รัฐมนตรีฯ พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า อุตสาหกรรมเป้าหมายในเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ SEC ที่กำหนดไว้ ได้แก่ ด้านเกษตรและอาหาร เป็นการใช้เทคโนโลยีระดับสูง ไม่ใช่เกษตรและอาหารทั่วไป ด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ ซึ่งมาจากฐานของน้ำมันปาล์ม และสารสกัดจากยางพารา และด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ จากข้อมูล GDP ที่ผ่านมา มูลค่าจากสินค้าด้านการเกษตร คิดเป็น 40% เป็นการบริการ คิดเป็น 44% ซึ่ง GDP ในภาคอุตสาหกรรมมีมูลค่าน้อย อาจมาจากปัญหาด้านผังเมือง จึงทำให้โรงงานในการแปรรูปก่อตั้งไม่ได้ โดยในพื้นที่ภาคใต้มีการขอการส่งเสริมการลงทุนเป็นอันดับสอง รองจากพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งในการขอการส่งเสริมการลงทุนในปีหน้าเป็นต้นไป จะเริ่มมีการลงทุนซึ่งจะเป็นตัวกระตุ้นพื้นที่ให้ทำหน้าที่ในฐานะเป็นระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ กระตุ้นให้เกิดการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นนักลงทุนจากในพื้นที่ และส่วนหนึ่งมาจากนักลงทุนจากภายนอกพื้นที่ นอกจากนี้ ในเรื่องของ โกโก้ จากที่ศึกษาข้อมูล จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นพื้นที่ที่มีการปลูกโกโก้คุณภาพดีที่สุดในประเทศไทย ต้องยอมรับว่าโกโก้ไทยไม่เหมือนในต่างประเทศ เปรียบเทียบกับโคลอมเบียไม่ได้เพราะสภาพการปลูกไม่เหมือนกัน เวลาส่งเสริมต้องไม่ทำเหมือนคนอื่น สิ่งที่ต้องทำคือส่งเสริมเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น คือ โกโก้นครศรีธรรมราช รสชาติเป็นแบบนี้ ต้องส่งเสริมแบบไหน การเพิ่มมูลค่าให้โกโก้ต้องยึดเอกลักษณ์ท้องถิ่น นอกจากนี้ ในด้านของอุตสาหกรรมฮาลาล อยากเห็นการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า โดยพื้นที่ภาคใต้ เป็นเกษตรกรผู้เลี้ยง โค แพะ เป็นจำนวนมาก แต่ขายเป็นตัว ไม่มีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ ซึ่งการแปรรูปต้องใช้ปัจจัยหลาย ๆ อย่าง เช่น โรงเชือด ตลาด การส่งออก โดย ฮาลาล เป็นอุตสาหกรรมที่มีอนาคต ถ้าเราดูอุตสาหกรรมฮาลาลของโลก เฉพาะด้านอาหาร สองล้านล้านเหรียญสหรัฐทั่วโลก เรามีส่วนแบ่งตลาดเพียงแค่ 2.7% (หกพันล้าน) เป็นผลิตภัณฑ์ฮาลาลจำพวกข้าว น้ำตาล ถั่ว ประมาณ 60% แต่ในด้านสินค้าฮาลาลจริง ๆ มีน้อยมาก แทบจะไม่มีส่วนแบ่งตลาดในนั้นเลย เราต้องส่งเสริมสินค้าฮาลาลในรูปแบบที่เป็นสินค้าไทย ซึ่งหน่วยงานส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาลในประเทศไทย มีกว่า 10 หน่วยงาน ไม่มีหลักแบบแผนแม่บทใหญ่เพื่อวางตัวชี้วัดหรือแนวทางการพัฒนาที่ชัดเจน ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม จะรีบนำเสนอการจัดตั้ง กรมอุตสาหกรรมฮาลาล อย่างรวดเร็ว เพื่อให้อุตสาหกรรมฮาลาลของไทยมีความชัดเจนในการโดยจะเน้นการส่งเสริมฮาลาล ไม่ใช่การขอการรับรอง โดยต้องตั้งเป้าหมายตัวชี้วัดการพัฒนาต่อไป ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
04 ธ.ค. 2566
รัฐมนตรีฯ พิมพ์ภัทรา ล่องใต้ เปิดงาน MIND: Your Industrial Power หนุนผู้ประกอบการ ยกระดับศักยภาพภาคอุตสาหกรรมไทย
จ.นครศรีธรรมราช 1 ธันวาคม 2566 - นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดการสัมมนา “การส่งเสริมและยกระดับอุตสาหกรรม ในพื้นที่ภาคใต้ MIND: Your Industrial Power” โดยมี นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายศุภกิจ บุญศิริ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม รักษาการแทนผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายเอกนิติ รมยานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรักษาการแทนผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมรักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรมรักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นางสาวณิรดา วิสุทธิชาติธาดา ผู้ช่วยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายวาที พีระวรานุพงศ์ นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าร่วม ณ โรงแรม แกรนด์ ฟอร์จูน ปลัดฯณัฐพล กล่าวว่า สํานักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทในการส่งเสริม และสนับสนุนผู้ประกอบการในทุกมิติ สร้างธุรกิจให้เข้มแข็งเติบโตอย่างแข็งแกร่ง นําไปสู่ความสําเร็จอย่างยั่งยืน ภายใต้กรอบความแนวคิดและทิศทางการทํางานด้วย “MIND” ใช้ หัว และ ใจ เพื่อบรรลุเป้าหมาย การสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน เปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมวิถีใหม่ ซึ่งการดําเนินงานภายใต้กรอบแนวคิด “MIND” ของกระทรวงอุตสาหกรรมนั้น มุ่งเน้นความสําเร็จ 4 มิติ ประกอบด้วย มิติที่ 1 ความสําเร็จทางธุรกิจ มิติ ที่ 2 ความอยู่ดีกับสังคมโดยรวม มิติที่ 3 ความลงตัวกับกติกาสากล และมิติที่ 4 การกระจายรายได้สู่ชุมชนที่ตั้ง ผ่านการดําเนินการพัฒนาอุตสาหกรรม ไปสู่อุตสาหกรรมศักยภาพสูงและการสร้างธุรกิจรูปแบบใหม่ ควบคู่ไปกับการดูแลสังคม การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน และส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก โดยการจะสร้างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืนได้นั้น จําเป็นต้องมีความเข้มแข็งของผู้ประกอบการในพื้นที่เป็นองค์ประกอบสําคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นภาคส่วนที่สําคัญอย่างยิ่ง ในการร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม จึงให้ความสําคัญกับการเสริมสร้างองค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการ อุตสาหกรรมในประเด็นที่จะช่วยยกระดับการดําเนินธุรกิจอุตสาหกรรมให้แก่ผู้ประกอบการ รัฐมนตรีฯ พิมพ์ภัทรา กล่าวเพิ่มเติมว่า พื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ มีความโดดเด่นในหลากหลายมิติ เช่น ด้านการท่องเที่ยว ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลระดับโลก เป็นทางเลือกในการพักผ่อนระยะยาว หรือ Long Stay ของชาวต่างชาติที่มีกําลังซื้อสูง ในด้านการเกษตร ภาคใต้มีความโดดเด่นเช่นเดียวกัน โดยมีพืชเศรษฐกิจที่สําคัญมากมาย เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ทุเรียน และโกโก้ เป็นต้น นอกจากนี้ ภาคใต้ ยังเป็นศูนย์กลางการแปรรูปอาหารทะเล รวมทั้งอาหารฮาลาล และมีความโดดเด่นในด้านการค้าและโลจิสติกส์ เนื่องจากทําเลที่ตั้งของ ภาคใต้เป็นประตูสู่ตลาดมาเลเซียและสิงค์โปร์ ซึ่งการดําเนินงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ผู้ประกอบการในพื้นที่จะสอดคล้องกับนโยบายล่าสุดของรัฐบาล ที่ต้องการสร้างความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรมฮาลาล ต่อยอดสู่สากล ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลให้ความสําคัญกับภาคใต้เป็นอย่างยิ่ง จึงได้มีการกําหนดทิศทางการพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยได้มีการประกาศระเบียงเศรษฐกิจ ภาคใต้ หรือ SEC ที่ครอบคลุมพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ได้แก่ จังหวัดระนอง ชุมพร นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี ซึ่งรัฐบาลไทยต้องการผลักดันให้เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาค เพื่อรองรับการขนส่งทางทะเลและทางบก นอกจากนี้ยังกําหนดให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่สําหรับดําเนินโครงการ Land Bridge ซึ่งเป็นโครงการสร้างท่าเรือน้ําลึกเชื่อมทะเลอ่าวไทยและอันดามัน เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการขนส่งและการค้าของไทย ซึ่งจะทําให้มีความสะดวก และสามารถเชื่อมต่อกับเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรปได้รวดเร็วยิ่งขึ้น กล่าวได้ว่าภาคใต้เป็นพื้นที่ศักยภาพและเต็มไปด้วยโอกาสด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานหลักในการสนับสนุนผู้ประกอบการในการดําเนินธุรกิจอุตสาหกรรม จึงมีความจําเป็นที่จะต้องส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการในด้านการเพิ่มขีดความสามารถ การประกอบการและการผลิตอย่างรอบด้าน เพื่อยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรมไทย ให้สามารถแข่งขันได้ในภาพรวมการดําเนินงานในปัจจุบันของกระทรวงอุตสาหกรรม มุ่งเน้นไปที่การสร้างธุรกิจ ให้เข้มแข็งเติบโตอย่างแข็งแกร่ง นําไปสู่ความสําเร็จอย่างยั่งยืน ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเพื่อพัฒนาศักยภาพเชิงพื้นที่ ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการสร้างงานและ อาชีพให้แก่ผู้คน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้มีความเข้มแข็ง ผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรม มีการดําเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และชุมชน สร้างระบบนิเวศอุตสาหกรรมที่สังคมและอุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกันได้เป็นอย่างดี สำหรับ การสัมมนา “การส่งเสริมและยกระดับอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคใต้ : MIND Your Industrial Power” ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ภาคใต้ แนะนําช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่จะเป็นประโยชน์ในการดําเนินธุรกิจ เปิดโอกาสรับฟังความคิดเห็นของผู้ประกอบการ ตลอดจนเป็นการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคใต้ให้เข้มแข็งได้อย่างยั่งยืน ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ในจังหวัดพื้นที่ภาคใต้ทั้ง 14 จังหวัด จํานวนกว่า 150 คน โดยมีกิจกรรม 3 กิจกรรม ประกอบไปด้วย 1. การบรรยาย เรื่อง “การส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคใต้” โดยผู้แทนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI 2. การอภิปราย เรื่อง “การแนะนําช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุน” โดยผู้แทนจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และผู้แทนจากธนาคารออมสิน และ 3. การเสวนา เรื่อง “การส่งเสริมและยกระดับ อุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคใต้ : แนวคิดและประสบการณ์” โดย ผู้แทนจาก คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ผู้แทนภาคการศึกษา ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผู้แทนจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยร่วมเสวนา นอกจากนี้ เพื่อเป็นการเน้นย้ำความสําคัญทางเศรษฐกิจของพื้นที่ภาคใต้ สํานักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมยังได้มีการจัดกิจกรรมพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมสู่ต้นแบบอัจฉริยะ หรือ MIND STAR เพื่อดําเนินการสร้าง ผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมที่เข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมในพื้นที่อีกด้วย ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
04 ธ.ค. 2566
ดีพร้อม เดินหน้าพัฒนานักโลจิสติกส์ เชื่อมโยงเครือข่ายซัพพลายเชน
จ.นครศรีธรรมราช 1 ธันวาคม 2566 - นายวาที พีระวรานุพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีมอบวุฒิบัตรให้กับผู้ผ่าน การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “ผู้นำกลยุทธ์การบริหารซัพพลายเชนอย่างยั่งยืนและกิจกรรมเชื่อมโยงเครือข่ายซัพพลายเชน เครือข่ายผู้ประกอบการ คพอ. ดีพร้อม Business Matching และ Executive Dinner Talk โดยมีคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) คพอ.ดีพร้อมในพื้นที่ภาคกลางและภาคใต้ และผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เข้าร่วมกิจกรรม ณ ห้องปทุมลาภ 1-2 โรงแรม เดอะทวิน โลตัส การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการสร้างนักโลจิสติกส์สู่ความเป็นมืออาชีพเพื่อสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนภาคอุตสาหกรรมให้กับผู้ประกอบการและผู้บริหารในสถานประกอบการอุตสาหกรรมและผู้ให้บริการโลจิสติกส์พื้นที่ภาคใต้ ให้มีองค์ความรู้และทักษะด้านการบริหารจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน สู่การวางกลยุทธ์สำหรับองค์กร พร้อมกับเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างซัพพลายเชน สร้างโอกาสในการร่วมลงทุนระหว่างกิจการ ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
04 ธ.ค. 2566
ดีพร้อม เร่งเชื่อมโยงเครือข่าย คพอ. ดีพร้อม จับคู่ธุรกิจกับผู้ประกอบการเมืองคอน
จ.นครศรีธรรมราช 30 พฤศจิกายน 2566 - นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติกล่าวเปิดพิธี การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร “ผู้นำกลยุทธ์การบริหารซัพพลายเชนอย่างยั่งยืน” (Leadership Sustainable Supply Chain Strategy) และกิจกรรมเชื่อมโยงเครือข่ายซัพพลายเชน เครือข่ายผู้ประกอบการ คพอ. ดีพร้อม & Business Matching และ Executive Dinner Talk พร้อมด้วย นายวาที พีระวรานุพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายณัฐพล แสงฟ้า นายกสหพันธ์สมาคมผู้ประกอบการไทย (FA SME) ผู้ประกอบการสมาชิก คพอ. ดีพร้อม ในพื้นที่ภาคกลาง และภาคใต้ คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) เข้าร่วมกิจกรรม โดยมี นายมนตรี วงค์มั่นกิจการ ผู้อำนวยการกองโลจิสติกส์ กล่าวรายงาน ณ ห้องปทุมลาภ 1-2 โรงแรมเดอะทวิน โลตัส กิจกรรมดังกล่าว จัดขึ้นเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการและบุคลากรที่เป็นเจ้าของธุรกิจทั้งผู้ประกอบการในภาคการผลิต ภาคการค้า และภาคบริการ รวมถึงผู้ที่ให้บริการด้านโลจิสติกส์ในพื้นที่ภาคใต้ ให้มีองค์ความรู้และทักษะด้านการบริหารจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน ตลอดจนสามารถนำองค์ความรู้ไปปฏิบัติงานสู่การวางกลยุทธ์สำหรับองค์กรและซัพพลายเชนอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้ง ยังเกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการและจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดใกล้เคียง ร่วมกับ เครือข่าย คพอ. ในพื้นที่ภาคกลาง และภาคใต้ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางธุรกิจ รวมถึงสร้างโอกาสในการร่วมลงทุนระหว่างสถานประกอบการในระดับภูมิภาคอีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมพิเศษ Executive Dinner Talk สำหรับผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคกลางและภาคใต้ให้สามารถรวมกลุ่มและเชื่อมโยงการยกระดับศักยภาพอุตสาหกรรม พร้อมต่อยอดและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนในระดับภูมิภาคและในระดับสากลต่อไป สำหรับกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 2 ธันวาคม 2566 ณ โรงแรมเดอะทวิน โลตัส ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
04 ธ.ค. 2566