หมวดหมู่
“รสอ.ดวงดาว” หารือสถาบันอาหารผลักดัน Soft Power อาหารไทย
กรุงเทพฯ 7 มิถุนายน 2567 – นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เข้าร่วมการประชุมหารือรายละเอียดโครงการ Soft Power ร่วมกับสถาบันอาหาร โดยมี คณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สถาบันอาหาร ณ ห้องประชุม รสอ. ชั้น 3 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Headquarter) และในรูปแบบออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชั่น Zoom Meeting การหารือในวันนี้ เป็นการร่วมเสนอโครงการขออนุมัติใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองเพื่อกรณีฉุกเฉินสำหรับดำเนินงานโครงการหนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย และโครงการพัฒนาร้านอาหารเชฟชุมชน อาหารถิ่นอาหารไทย (Local Chef Restaurant) เพื่อดำเนินการโครงการยกระดับทักษะคนไทยให้เป็นแรงงานทักษะสูงด้วยการส่งเสริมองค์ความรู้ และทักษะด้านอาหารไทยให้ประชาชนได้นำความรู้ไปประกอบอาชีพตามมาตรฐานของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ตามนโยบายในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม Soft Power ไทย ซึ่งผ่านมติของคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ โดยต้องเร่งผลักดันเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในปี 2567 และเกิดประโยชน์สูงสุด จึงมีความจำเป็นต้องขอรับจัดสรรงบประมาณจากงบกลาง รายการเงินสำรองเพื่อกรณีฉุกเฉินสาหรับดำเนินงาน เพื่อช่วยสร้างอาชีพให้แก่คนในชุมชน ลดการแออัดในเมืองใหญ่ ขยายโอกาสทางธุรกิจให้แก่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการด้านอาหาร รวมทั้งเป็นการพัฒนาด้านบุคลากรอาหารเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหาร ให้เกิดซอฟต์พาวเวอร์ด้านอาหารของประเทศไทย ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไปในอนาคต
11 มิ.ย. 2567
"รสอ.วัชรุน" เข้าร่วมประชุม คปก. ครั้งที่ 4/2567
กรุงเทพฯ 7 มิถุนายน 2567 - นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม มอบหมายให้ นายวัชรุน จุ้ยจำลอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ครั้งที่ 4/2567 โดยมีร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุมไชยยงค์ ชูชาติ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ถนนราชดำเนินนอก การประชุมดังกล่าว ได้สรุปประเด็นสำคัญต่าง ๆ ดังนี้ 1) รายงานผลการดำเนินงานของ สปก. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และความคืบหน้าแผนงานและงบประมาณของ สปก. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 2) โครงการตรวจสอบคุณสมบัติการใช้ประโยชน์ในที่ดินของผู้ได้รับจัดสรรที่ดินและผู้ถือครองที่ดินโดยมิชอบตามกฏหมายการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และยังอนุมัติโครงการและใช้เงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เพิ่มเติม 3) การขออนุญาตใช้ที่ดินเพื่อกิจการและสาธารณูปโภคในเขตปฏิรูปที่ดิน 4) หลักเกณฑ์ของ สปก. เกี่ยวกับแนวทางการจัดที่ดินชุมชนในที่ดินเอกชน ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า “ที่ประชุม คปก. มีการอนุมัติหลายโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร และโครงการที่ทำให้เจ้าหน้าที่ ส.ป.ก. สามารถขับเคลื่อนงานในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถตรวจสอบคุณสมบัติการใช้ประโยชน์ในที่ดินของผู้ได้รับการจัดที่ดินและผู้ถือครองที่ดินเพื่อให้เกษตรกรผู้ได้รับการจัดที่ดินปฏิบัติตามระเบียบกฎหมายของ ส.ป.ก. เพื่อให้สอดรับกะบเจตนารมณ์ของการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่ตระหนักถึงความเป็นอยู่ของประชาชน และการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งการใช้ประโยชน์ในที่ดินที่สอดคล้องกับบริบทการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจและสังคม ในปัจจุบันและอนาคต”
11 มิ.ย. 2567
“รัฐมนตรีฯ พิมพ์ภัทรา” ดันสมาร์ทฟาร์มสวนทุเรียนสู่ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนตำบลฉลอง อำเภอสิชล
จ.นครศรีธรรมราช 7 มิถุนายน 2567 – นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่สวนทุเรียนแบบสมาร์ทฟาร์ม องค์การบริหารส่วนตำบลฉลอง โดยมี นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรม ผู้เข้าร่วมอบรม เข้าร่วม ณ สวนทุเรียนแบบสมาร์ทฟาร์ม องค์การบริหารส่วนตำบลฉลอง อำเภอสิชล การลงพื้นที่ในวันนี้ นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับฟังความคิดเห็นขององค์การบริหารส่วนตำบลฉลอง อำเภอสิชล ที่มีความต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านระบบให้น้ำในพื้นที่นำร่องแปลงเพาะปลูกทุเรียนเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้แก่เกษตรกร โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ส่งผู้เชี่ยวชาญไปให้คำปรึกษาแนะนำในด้านการพัฒนาระบบให้น้ำในพื้นที่นำร่องแปลงเพาะปลูกทุเรียน ซึ่งได้วางแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาพื้นที่ ดังนี้ 1) การออกแบบระบบให้น้ำในพื้นที่ 2) การวางแผนผังในพื้นที่นำร่องแปลงเพาะปลูกทุเรียน 3) การปรับปรุงขนาดและแนววางท่อเพื่อแบ่งพื้นที่โซนการจ่ายน้ำให้มีความเหมาะสมกับขนาดของปั้มน้ำ 4) การติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์เพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงานของปั้มน้ำ และ 5) การติดตั้งระบบการเปิด-ปิดน้ำ โดยใช้ระบบ IoT เข้ามาช่วยในการปฏิบัติงาน เพื่อลดเวลาการทำงานให้แก่เกษตรกร ทั้งนี้ ปัจจุบันสวนทุเรียนแบบสมาร์ทฟาร์ม องค์การบริหารส่วนตำบลฉลอง อำเภอสิชล กำลังอยู่ในช่วงระหว่างพัฒนาพื้นที่ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชนตำบลฉลอง อำเภอสิชล ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จและจัดกิจกรรมถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรหรือผู้สนใจภายในเดือนกรกฎาคม 2567 นี้
11 มิ.ย. 2567
ดีพร้อม เปิดตัวศูนย์ “Happy Workplace Center”ภาคเหนือ
จ.เชียงใหม่ 7 มิถุนายน 2567 - นายวาที พีระวรานุพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์ “Happy Workplace Center” พร้อมด้วย นายอนุพงษ์ แสงอรุณทอง ผู้อำนวยการอาวุโสภาค 1 ธนาคารเอสเอ็มอี ผู้แทนจากหน่วยงานภาคีเครือข่าย คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) โดยมี นายสุรพล ปลื้มใจ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 กล่าวรายงาน ณ บริเวณชั้น 1 อาคาร Unit 1C ศูนย์ Happy Workplace Center ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 ศูนย์ Happy Workplace Center เป็นการดำเนินงานภายใต้โครงการส่งเสริมสุขภาวะองค์กรในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมตามแนวทางมาตรฐานองค์กรแห่งความสุข (SMEs Happy and Productive Workplace : SHAP) ที่ดีพร้อมได้รับความร่วมมือจาก “สสส.” ในการขับเคลื่อนการส่งเสริมการสร้างสุขภาวะองค์กร โดยใช้ 3 ยุทธศาสตร์หลัก ประกอบด้วย พลังองค์ความรู้ พลังเครือข่าย และพลังในด้านนโยบาย ซึ่งดีพร้อมได้มีส่วนในการทำหน้าที่สนับสนุนพลังองค์ความรู้ ด้านข้อมูลข่าวสารสุขภาวะองค์กรและการส่งเสริมการสร้างสุขภาวะองค์กร พร้อมสร้างพลังเครือข่ายหน่วยงานผู้สนับสนุนการสร้างสุขภาวะองค์กรในเอสเอ็มอี และได้ดำเนินการสร้างศูนย์ “Happy Workplace Center” ไปแล้ว เป็นจำนวน 6 แห่งทั่วประเทศ กิจกรรมดังกล่าว เป็นกิจกรรมภายใต้แนวคิด Happy 8 หรือ ความสุข 8 ประการที่ทำให้เกิดสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตน ภายใต้ความเชื่อที่ว่า คน คือ หัวใจขององค์กร การสร้างคนที่มีความสุขให้อยู่รวมกัน จะเกิดเป็นองค์กรแห่งความสุข (Happy workplace) ประกอบไปด้วย 1) Happy Heart 2) Happy Body 3) Happy Money 4) Happy Soul 5) Happy Society 6) Happy Family 7) Happy Brain และ 8) Happy Relax
11 มิ.ย. 2567
“รัฐมนตรีฯ พิมพ์ภัทรา” จับมือคนคอน พัฒนาปลาเค็มร้า ของดีชุมชนบ้านทอนตะเกียง
จ.นครศรีธรรมราช 7 มิถุนายน 2567 – นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลาเค็มร้าปากน้ำกลาย โดยมี นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายโดม ถนอมบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรม ผู้เข้าร่วมอบรม เข้าร่วม ณ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลาเค็มร้าปากน้ำกลาย ตำบลกลาย อำเภอท่าศาลา "กลุ่มปลาเค็มร้าปากน้ำกลาย" ก่อตั้งขึ้นหลังจากการเข้าอบรมโครงการ "ฝึกอบรมอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนตำบลกลาย" เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2566 ณ ศูนย์จริยธรรมบ้านในไร่ หมู่ 11 ตำบลกลาย ซึ่งเป็นการจัดอบรมให้ความรู้แก่บุคคลทั่วไปที่มีความสนใจ โดยมีการบรรยายและสอนกรรมวิธีการทำปลาเค็มร้า ตั้งแต่การคัดเลือกวัตถุดิบ การออกแบบผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงการส่งเสริมการตลาด ซึ่งภายหลังจากการอบรมในโครงการ ได้กลับมาทดลองทำรับประทานเองในครอบครัว พร้อมทั้งมีการปรับปรุงและพัฒนาสูตรเฉพาะจนลงตัว จึงได้มีการชักชวนกันมาตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลาเค็มร้าปากน้ำ โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญคือ การสร้างงานและสร้างรายได้เสริมเพิ่มเติมจากรายได้หลักของคนในชุมชน ภายใต้การส่งเสริมสนับสนุนของ นายยุทธยา พิมเสน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลกลาย ตั้งแต่เริ่มคิดเริ่มทำ ให้คำชี้แนะปรึกษาแนวทางการดำเนินงาน หลักเกณฑ์และวิธีการต่าง ๆ จนได้มีการรวมทุนกัน โดยมีสมาชิกจำนวน 15 คน การลงพื้นที่ในวันนี้ นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับฟังความคิดเห็นของสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลาเค็มร้าปากน้ำซึ่งมีความต้องการพัฒนาสินค้าในชุมชน ในการทำ “ปลาเค็มร้าปากน้ำกลาย” ของดีขึ้นชื่อชุมชนบ้านทอนตะเกียง ตำบลกลาย อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช เลือกสรรวัตถุดิบที่หาได้จากธรรมชาติในท้องถิ่น ได้แก่ ปลากุเลา และปลากระบอก จากพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านที่หาปลาบริเวณปากน้ำกลาย สืบสานการใช้ภูมิปัญญาถนอมอาหารรุ่นปู่ย่าที่ถ่ายทอดกันมา ต่อยอดด้วยนวัตกรรมสมัยใหม่ในการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ และในขณะนี้มีหลากหลายผลิตภัณฑ์ที่ทางกลุ่มได้ทำออกจำหน่ายสู่ท้องตลาด ได้แก่ ปลากุเลาเค็มร้า ปลากระบอกเค็มร้า ปลากุเลาแดดเดียว ปลากระบอกแห้ง ไตปลาบรรจุขวด ไตปลาแห้งสูตรเตาถ่าน หลนปลาเค็ม เป็นต้น โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลาเค็มร้าปากน้ำกลายมีความต้องการในการพัฒนาสูตรสินค้าให้มีความโดดเด่น มีมาตรฐาน เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ ต้องการให้ภาครัฐเข้าไปสนับสนุนในเรื่องของเครื่องจักร อุปกรณ์การผลิต โดยเฉพาะตู้แช่ปลาขนาดใหญ่ และการปรับปรุงโรงตากปลา นอกจากนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจะเดินหน้าขยายความร่วมมือตามนโยบาย DIPROM Connection กับหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ พัฒนาผลิตภัณฑ์ปลาเค็มร้าปากน้ำกลายและเชื่อมโยงด้านการตลาดกับไปรษณีย์ไทยเพื่อขยายช่องทางการตลาดให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และเตรียมแผนสำหรับขอรับการสนับสนุนจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เพื่อพัฒนาต่อยอดให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนดังกล่าวเป็นศูนย์เรียนรู้ปลาเค็มร้า ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนสินค้าชุมชนเป็นการเพิ่มศักยภาพของเศรษฐกิจฐานรากให้สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นกระจายรายได้สู่ชุมชน และยกระดับวิสาหกิจชุมชนให้มีความเข้มแข็ง นำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจชุมชนที่สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนและมีบทบาทต่อระบบเศรษฐกิจทั้งในระดับท้องถิ่น ภูมิภาค และระดับประเทศ
11 มิ.ย. 2567
เชิญสมัครเข้าร่วมกิจกรรมการพัฒนาการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงพืชเศรษฐกิจสู่แนวทาง BCG Model (BCG Network)
เชิญผู้ประกอบการที่สนใจสมัครเข้าร่วมกิจกรรม การพัฒนาการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงพืชเศรษฐกิจสู่แนวทาง BCG Model (BCG Network) ภายใต้โครงการ : การยกระดับธุรกิจ SMEs ด้วยการประยุกต์ใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ดำเนินการโดย : ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ระยะเวลาโครงการ มิถุนายน - กันยายน 2567 กลุ่มเป้าหมาย ผู้ประกอบการ ผู้ปลูก/ผลิต ผู้แปรรูป และผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์โกโก้ คุณสมบัติของผู้สมัคร เป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ผู้ปลูก/ผลิต และแปรรูปโกโก้ สถานประกอบการมีการจดทะเบียนนิติบุคคล หรือ ทะเบียนพาณิชย์ ประกอบกิจการในจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง เชียงราย พะเยา แพร่ มีความประสงค์และมีความพร้อม ในการเข้าร่วมเป็นเครือข่ายเพื่อเชื่อมโยงและพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมโกโก้ภาคเหนือ สู่แนวทาง BCG Model (BCG Network) กิจกรรมตลอดโครงการ ร่วมวิเคราะห์ความต้องการ ศักยภาพ จุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส อุปสรรค และกำหนดรูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสม เพื่อผลักดันโกโก้สู่พืชเศรษฐกิจของพื้นที่ไปสู่สากล สร้างความสัมพันธ์ของการเป็นเครือข่ายผู้ประกอบการโกโก้ภาคเหนือ ร่วมปลูกจิตสำนึก สร้างความเข้มแข็งในการเป็นเครือข่าย และการทำงานเป็นทีม เพื่อพัฒนาศักยภาพธุรกิจร่วมกัน ร่วมพัฒนาเครือข่ายและเชื่อมโยงอุตสาหกรรมโกโก้สู่แนวทาง BCG Model (BCG Network) ในลักษณะการพัฒนาโครงการนำร่อง (Pilot Project) โมเดลนำร่อง (Pilot Model) อาทิ การเจรจา/จับคู่ธุรกิจ (Business Matching) การศึกษาดูงาน การเพิ่มผลิตภาพการผลิต การลดต้นทุน การส่งเสริมการขาย และการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ - 12 มิถุนายน 2567 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม คุณหัสนัย 09 5631 3331 คุณพัฒน์ 08 6918 5553 คุณฐิติญาดา 09 9094 9646
10 มิ.ย. 2567
“รัฐมนตรีฯ พิมพ์ภัทรา” ลงพื้นที่สวนโกโก้ป้าเตี้ยงหัวคู
จ.นครศรีธรรมราช 6 มิถุนายน 2567 – นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่สวนโกโก้ป้าเตี้ยงหัวคู แปลงใหญ่สวนโกโก้สระแก้ว โดยมี นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายศุภกิจ บุญศิริ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นางดวงธิดา จันทร์พุ่ม อุตสาหกรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช นายวัชรินทร์ ไชยานุพงศ์ อุตสาหกรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายโดม ถนอมบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรม เข้าร่วม ณ แปลงใหญ่สวนโกโก้สระแก้ว ตำบลสระแก้ว อำเภอท่าศาลา การรวมกลุ่มโกโก้แปลงใหญ่ตำบลสระแก้ว ตั้งขึ้นตามความต้องการของเกษตรกรผู้ปลูกโกโก้ตำบลสระแก้วและพื้นที่ตำบลใกล้เคียง เพื่อร่วมกันผลิตโกโก้คุณภาพ แก้ไขปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ ตัดปัญหาพ่อค้าคนกลาง นอกจากนี้ ยังทำให้เกษตรกรได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาและพัฒนาศักยภาพสินค้า ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 40 ราย ลักษณะเด่นของโกโก้แปลงใหญ่ตำบลสระแก้ว คือ เป็นโกโก้พันธุ์ดั้งเดิมที่มีอายุมากกว่า 40 ปี เหมาะสำหรับการแปรรูปช็อคโกแลตเนื่องจากมีปริมาณน้ำมันสูง รสชาติเป็นเอกลักษณ์ ผลโต เปลือกบางไส้เล็ก เมล็ดโต เกษตรกรผู้ปลูกโกโก้ตำบลสระแก้วและพื้นที่ตำบลใกล้เคียงแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความได้เปรียบในเรื่องผลผลิตทางการเกษตรโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นแหล่งที่มีทรัพยากรและวัตถุดิบที่อุดมสมบูรณ์ สามารถนำองค์ความรู้และทรัพยากรในพื้นที่มาเป็นวัตถุดิบในการผลิตและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่าง ๆ ให้มีคุณลักษณะตรงกับความต้องการของตลาด รวมทั้งการสร้างมูลค่าเพิ่มโดยการพัฒนาคุณภาพ ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ให้มีมาตรฐานตรงกับความต้องการของผู้บริโภค การลงพื้นที่ในวันนี้ นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับฟังความคิดเห็นของสมาชิกกลุ่มสวนโกโก้ป้าเตี้ยงหัวคูซึ่งมีต้องการการสนับสนุนในด้านเครื่องมือและอุปกรณ์การผลิต โดยเฉพาะเครื่องโม่เมล็ดแห้ง 20 กิโลกรัม นอกจากนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 ได้เตรียมการจัดหลักสูตรการหมักโกโก้ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อเสริมสร้างความรู้ด้านโกโก้ให้กับผู้ประกอบการต่อไป ซึ่งการสนับสนุนจากภาครัฐจะส่งผลให้มีการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของประชาชนในพื้นที่ เพื่อเตรียมความพร้อมของเศรษฐกิจฐานรากรองรับอนาคต นำไปสู่การสร้างงานสร้างอาชีพ มีการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจและการกระจายได้รายสู่ชุมชนภายในจังหวัดนครศรีธรรมราชที่เพิ่มขึ้น
07 มิ.ย. 2567
"รสอ.วาที" ติวเข้มบุคลากรเงินหมุนเวียนฯ พร้อมมอบนโยบายเพื่อยกระดับศักยภาพการทำงานอย่างมีประสิทธิผล
จ.นครนายก 6 มิถุนายน 2567 - นายวาที พีระวรานุพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้รับมอบหมายจาก นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เป็นประธานเปิดงานสัมมนา หลักสูตร "การเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานเงินทุนหมุนเวียน เพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรม ในครอบครัวและหัตถกรรมไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567" พร้อมด้วย นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านเงินทุนหมุนเวียนฯ จากส่วนกลางและภูมิภาค ณ รอยัล ฮิลล์ กอล์ฟ รีสอร์ต แอนด์ สปา ตำบลสาลิกา อำเภอเมืองนครนายก การสัมมนาดังกล่าว เป็นการมอบนโยบายการปฏิบัติงานเงินทุนหมุนเวียนฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เพื่อยกระดับการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกในการเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการตามนโยบาย RESHAPE THE FUTURE : โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต ภายใต้กลยุทธ์ ปรับเพิ่มการเข้าถึงโอกาส (RESHAPE THE ACCESSIBILITY) ผ่านการสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยการดำเนินงานของเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทยในปีนี้จะเป็นการยกระดับการปฏิบัติงานเชิงรุกเพิ่มมากขึ้น ตั้งแต่การบริหารหนี้ค้างชำระโดยติดตามลูกหนี้ในปีแรกอย่างใกล้ชิด และเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้อย่างเต็มที่ พร้อมหามาตรการลดหนี้คงค้างและหาผู้รับสินเชื่อรายใหม่ เพื่อสร้างการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการขยายกิจการให้แก่ผู้ประกอบการ รวมถึงเน้นการประชาสัมพันธ์การให้บริการเงินทุนหมุนเวียนฯ และบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานเครือข่ายพันธมิตร เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจไปยังกลุ่มเป้าหมายให้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ รสอ.วาทีฯ ได้ให้คำแนะนำเพิ่มเติมถึงการปรับโครงสร้างทีมงานให้สร้างแรงจูงใจในการทำงาน การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเพิ่มประสิทธิภาพการวิเคราะห์สินเชื่อ และบริหารจัดการลูกค้าเงินทุนหมุนเวียนฯ ให้มีศักยภาพในการประกอบการธุรกิจผ่านเครื่องมือและกลไกต่าง ๆ ของดีพร้อม เพื่อให้มีความสามารถในการชำระหนี้ตามกฎหมายต่อไป
07 มิ.ย. 2567
“รัฐมนตรีฯ พิมพ์ภัทรา” เปิดอบรมแปรรูปอาหาร ยกระดับเศรษฐกิจชุมชนสู่ความยั่งยืน
จ.นครศรีธรรมราช 6 มิถุนายน 2567 – นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “แปรรูปอาหาร” ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจชุมชนสู่ความยั่งยืน โดยมี นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายศุภกิจ บุญศิริ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายโดม ถนอมบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 นางดวงธิดา จันทร์พุ่ม อุตสาหกรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช นายวัชรินทร์ ไชยานุพงศ์ อุตสาหกรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายวัฒนา แก้วประจุ ผู้อำนวยการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ภาค 7 นายเอกชัย สุนทร นายอำเภอท่าศาลา คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรม ผู้เข้าร่วมอบรม เข้าร่วมงานดังกล่าว ณ ศาลาอเนกประสงค์ประจำหมู่บ้าน หมู่ที่ 4 ตำบลกลาย อำเภอท่าศาลา การอบรมในวันนี้ จัดขึ้นโดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM) เพื่อขับเคลื่อนนโยบายในการส่งเสริมเศรษฐกิจระดับชุมชนท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง พัฒนาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ผนวกกับวิถีและอัตลักษณ์ท้องถิ่น ให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำ และเติมเต็มโอกาสในการสร้างรายได้จากต้นทุนที่มีในพื้นที่ ส่งเสริมอัตลักษณ์ของชุมชนเพื่อนำไปสู่การผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของตลาดและเชื่อมโยงการท่องเที่ยว และอุตสาหกรรม Soft power การจัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร “แปรรูปอาหาร” ในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมอบรมจำนวน 200 คน ถือเป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคใต้ โดยการสร้างองค์ความรู้และพัฒนาต่อยอดธุรกิจให้กับประชาชนในพื้นที่ประยุกต์ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นให้เกิดมูลค่าเพิ่ม ยกระดับวิสาหกิจชุมชน สร้างงาน สร้างรายได้ สร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนให้กับชุมชนต่อไป โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการจัดกิจกรรมการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้เกิดการนำองค์ความรู้ไปต่อยอดเพื่อสร้างอาชีพ กระจายรายได้ให้แก่ชุมชนในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดใกล้เคียง
07 มิ.ย. 2567
เชิญสมัครเข้าร่วม “กิจกรรมยกระดับสถานประกอบการด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติและดิจิทัลให้ดีพร้อม
เปิดรับสมัครผู้ประกอบการ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ภาคการผลิต เข้าร่วม กิจกรรมยกระดับสถานประกอบการด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติและดิจิทัลให้ดีพร้อม ภายใต้โครงการ : การพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติและดิจิทัล ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ดำเนินการโดย : ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมกับ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สิ่งที่ท่านจะได้รับ การให้คำปรึกษาแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ เทคโนโลยีดิจิทัล และปัญญาประดิษฐ์ มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ด้านการลดต้นทุน หรือลดการสูญเสีย (SMEs ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นไปตามเงื่อนไขเกณฑ์การคัดเลือกฯ และสิ้นสุดตามที่คณะกรรมการฯ กำหนด) ในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา นราธิวาส พัทลุง และ ตรัง สมัครออนไลน์ตั้งแต่วันนี้ - วันที่ 16 มิถุนายน 2567 รับจำนวนจำกัด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม วันวิสาข์ คงเพ็ชร 08 7550 9074
07 มิ.ย. 2567