หมวดหมู่
กสอ. ผนึกกำลัง ก.ยุติธรรม สทบ. ลุยเมืองเก่าฯ สุโขทัย เดินหน้าถอดรหัสอัตลักษณ์ ปั้น 20 “ผลิตภัณฑ์แห่งการให้โอกาส” ตั้งเป้ากระตุ้นรายได้ชุมชนกว่า 10 ล้านบาท
จ.สุโขทัย 6 มีนาคม 2564 - นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้เกียรติเป็นประธานและกล่าวปาฐกถาในพิธีเปิดงานกิจกรรม “ถอดรหัส อัตลักษณ์ วิถีถิ่น สุโขทัย” ภายใต้ โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของฝากของที่ระลึก เพื่อเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพในพื้นที่ ร่วมด้วย นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สมาชิกสภาผู้แทนจังหวัดสุโขทัย นางสาวพัชรอร วงศ์กำแหง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย นายบรรจง สุกรีฑา ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสหกรรม นายมนู พุกประเสริฐ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัย ผู้แทนรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ คณะผู้บริหารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) คณะผู้บริหารกรมราชทัณฑ์ คณะผู้บริหารสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) คณะผู้บริหารส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ประชาชนในพื้นที่ และสื่อมวลชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก โดยมี นายวิรุฬ พรรณเทวี ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย กล่าวต้อนรับ นายนที ขลิบทอง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ กล่าวถึงความร่วมมือระหว่าง สทบ. และ กสอ. นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวรายงาน ณ ลานดงตาล อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง การจัดงานดังกล่าว เป็นความร่วมมือของไตรภาคี ได้แก่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาชุมชนและท้องถิ่นให้มีการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ช่วยเร่งฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจของประเทศให้ฟื้นตัวกลับมาโดยเร็วหลังจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงการถอดรหัสอัตลักษณ์ชุมชน เพื่อการต่อยอดในเชิงพาณิชย์ พร้อมทั้งส่งเสริมวิชาชีพผู้ต้องขัง ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน ดึงอัตลักษณ์พื้นถิ่น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มเชิงพาณิชย์ ขยายผลต่อเนื่องจากจังหวัดชัยนาท มายังจังหวัดสุโขทัย เพราะจังหวัดสุโขทัย ถือเป็นเมืองมรดกโลก มีต้นทุนทางวัฒนธรรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นอยู่เป็นจำนวนมาก โดยในระยะนำร่องของการถอดรหัสอัตลักษณ์ของจังหวัดสุโขทัย กสอ. ได้แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ส่วนสำคัญ ประกอบด้วย 1. การจับจุดเด่นเป็นจุดขาย ผ่านกระบวนการถ่ายทอดอัตลักษณ์ในรูปแบบที่ง่ายต่อการจดจำ เพื่อให้เป็นตัวแทน หรือ มาสคอตในการสื่อสารความเป็นตัวตน 2. การจับจุดใหม่โดยใช้จุดเดิม ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่เดิม โดยอาศัยองค์ความรู้ทางด้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เข้ามามีส่วนในการผลิต เพื่อให้เกิดสินค้าใหม่ที่ตอบโจทย์ ความต้องการของผู้บริโภค ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการถอดรหัสอัตลักษณ์ จะถูกถ่ายทอดทักษะในกระบวนการผลิตไปยังผู้ต้องขังในเรือนจำ เพื่อให้ผู้ต้องขังที่ได้รับการฝึกฝนทักษะอาชีพโดย กสอ. ได้มีโอกาสสร้างรายได้ในรั้วเรือนจำที่จะสามารถต่อยอดไปสู่การประกอบอาชีพสุจริต เมื่อพ้นโทษสู่โลกภายนอก ถือเป็น “ผลิตภัณฑ์แห่งการให้โอกาส” ที่จะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจในไทยได้อีกทางหนึ่ง ขณะเดียวกัน ยังมีวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่จังหวัดสุโขทัยเข้าร่วม จำนวน 20 กลุ่ม เพื่อพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ ให้พร้อมรับการจับจ่ายของนักท่องเที่ยว จำนวน 20 ผลิตภัณฑ์ โดยคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนเพิ่มขึ้นกว่า 10 ล้านบาท และจะสามารถต่อยอดโมเดลการดึงอัตลักษณ์ของชุมชน เพื่อถ่ายทอดสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ผ่านผลิตภัณฑ์สินค้าของฝาก เพื่อยกระดับภาคการท่องเที่ยวยั่งยืนในอนาคต นอกจากนี้ ยังเป็นการรักษาการจ้างงานกว่า 200 คน ในพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอคีรีมาศ อำเภอศรีสัชนาลัย และพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งเมื่อสถานการณ์ COVID-19 ผ่อนคลายขึ้น คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวมาในพื้นที่ ประมาณ 600,000 คนต่อปี ก่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย การพักแรม การรับประทานอาหาร การซื้อของที่ระลึกของนักท่องเที่ยว โดยจะมีมูลค่าหมุนเวียนทางเศรษฐกิจกว่า 1,800 ล้านบาท ### PR.DIProm (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
08 มี.ค. 2564
กสอ. เดินหน้ารุกเสริมเติมแกร่งผู้ประกอบการภาคใต้ เน้นสร้างเทคนิคเพิ่มยอดขายผ่านตลาดออนไลน์แบบเชิงลึก
จ.สงขลา 6 มีนาคม 2564 - นายเจตนิพิฐ รอดภัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติกล่าวรายงานในพิธีเปิดโครงการสร้างการรับรู้ “ก้าวทันการตลาด ฉลาดกับออนไลน์” ร่วมด้วย นายวาที พีระวรานุพงศ์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาดิจิทัลอุตสาหกรรม นางนวลจิตต์ เรืองศรีใส นักวิเคราะห์นโยบายและแผนเชี่ยวชาญ นายสิทธิรงค์ เร่งเงียบ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 นายธนบูรณ์ เซ่งง่าย อุตสาหรรมจังหวัดสงขลา และเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เข้าร่วม โดยมี นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดดังกล่าว ณ โรงแรมสยามออเรียนทัล อำเภอหาดใหญ่ การจัดโครงการฝึกอบรมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับองค์ความรู้ เทคนิค แนวคิด และกระบวนการใหม่ ๆ ในการดำเนินธุรกิจบนโลกออนไลน์ที่สอดคล้องกับสภาวการณ์ของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเน้นรูปแบบในการถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้จากเพจเฟสบุ๊คชื่อดังอย่าง เพจอีจัน รวมทั้ง เทคนิคการค้าขายในตลาดออนไลน์จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเรียนรู้ได้ง่าย มีประสิทธิภาพ นำไปปรับใช้ได้จริง และสามารถเพิ่มรายได้จากช่องทางการตลาดใหม่ ๆ สร้างผลกำไรให้กับธุรกิจในต้นทุนที่ไม่มากนัก เกิดการขยายธุรกิจให้เข้มแข็งและเติบโตได้ ซึ่งการจัดอบรมในครั้งได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการในพื้นที่สมัครและเข้าร่วมการอบรมกว่า 300 ราย ### PR.DIProm (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
08 มี.ค. 2564
รสอ.เจตนิพิฐ ลงพื้นที่หาดใหญ่ ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานส่งเสริมและช่วยเหลือผู้ประกอบการพื้นที่ภาคใต้
จ.สงขลา 5 มีนาคม 2564 - นายเจตนิพิฐ รอดภัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (รสอ.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานและมอบนโยบายการทำงานให้แก่ ข้าราชการ พนักงาน และเจ้าหน้าที่ ของศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ศภ.11 กสอ.) โดยมี นายสิทธิรงค์ เร่งเงียบ ผู้อำนวยการ ศภ.11 กสอ. และเจ้าหน้าที่ให้การต้อนรับ ณ ห้องกระจูด ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 อ.หาดใหญ่ การประชุมฯ ครั้งนี้ เป็นการรับฟังข้อมูลการดำเนินงานของ ศภ.11.กสอ. ในปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ตลอดจนโครงการ/กิจกรรมการให้บริการแก่กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ สงขลา สตูล ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส พร้อมทั้ง รับฟังเรื่องเร่งด่วนของ ศภ.11 กสอ. อาทิ การปรับปรุงพื้นที่ให้บริการของศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 (ITC 4.0) ให้เป็นพื้นที่ตัวอย่างที่ได้รับมาตรฐาน และสามารถกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งในเดือนเมษายนนี้ การปรับปรุงอาคารบ้านพักราชการ และการสำรวจการก่อสร้างอาคารที่พักหลังใหม่ เป็นต้น ทั้งนี้ รสอ.เจตนิพิฐ ได้มอบนโยบายและแนวทางการดำเนินงานให้แก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ ศภ.11 กสอ. โดยเน้นย้ำเรื่องการให้บริการแก่ผู้ประกอบการในพื้นที่ตามความต้องการจากผลสำรวจการขอรับความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านการตลาดออนไลน์และการสร้างนักขายมืออาชีพ
08 มี.ค. 2564
รับสมัครผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการสู่การเป็นสมาร์ท SME และโกลบอล SME : คพอ.รุ่นที่ 374 ยโสธร
คพอ.รุ่นที่ 374 ยโสธร DIProm for New Normal 2021 ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 7 รับสมัครผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการสู่การเป็นสมาร์ท SME และโกลบอล SME : คพอ.รุ่นที่ 374 ยโสธร (หลักสูตร 21 วัน) คุณสมบัติเบื้องต้น SME สาขาอุตสาหกรรมเกษตร/ อาหารแปรรูป (ผลิต,การค้า,บริการ และอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับเกษตร) ผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของธุรกิจ/หุ้นส่วน หรือทายาทธุรกิจ ผู้บริหารที่มีอำนาจในการตัดสินใจ ดำเนินธุรกิจมาไม่น้อยกว่า 3 ปี เนื้อหาการฝึกอบรม กิจกรรมเสริมสร้างแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ การบริหารธุรกิจ ยุค New Normal การจัดทำแผนธุรกิจ ปฏิทินกิจกรรม รับสมัคร : บัดนี้ - 25 มีนาคม 2564 สัมภาษณ์ : 30 - 31 มีนาคม 2564 ประกาศรายชื่อ : 1 เมษายน 2564 ประชุมชี้แจงโครงการ - 2 เมษายน 2564 ด่วน...รับจำนวนจำกัด สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 7 คุณหนึ่ง 085-4953432 คุณเก่ง 086-2461388
08 มี.ค. 2564
คิดเห็นแชร์ : สตาร์ตอัพไทย ความฝันของเถ้าแก่คนรุ่นใหม่ ที่ไม่ได้เป็นเพียงในซีรีส์
คอลัมน์ : คิดเห็นแชร์ (มติชนออนไลน์) ผู้เขียน : นายณัฐพล รังสิตพล (อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) สวัสดีแฟน ๆ คิด เห็น แชร์ ทุกท่านครับ กระแสของสตาร์ตอัพนั้นมีมาระยะหนึ่งแล้ว แต่มาฮิตติดลมบนอีกครั้งเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมาจากซีรีส์เกาหลีเรื่อง Start-Up ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่กล้าฝันเป็นเถ้าแก่จากการเริ่มต้นทำธุรกิจให้เติบโตก้าวไปสู่ระดับโลก ดังเช่นบริษัทที่มีชื่อเสียงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Apple Amazon Facebook หรือ Tesla เป็นต้น แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศไทยและทั่วโลกชะลอตัว หลายธุรกิจได้รับผลกระทบ และมีหลาย ๆ สิ่งไม่มีทางกลับไปเป็นเหมือนเดิม อย่างไรก็ตาม หากประเทศไทยพลิกวิกฤตโดยใช้โอกาสนี้สร้างนักรบเศรษฐกิจใหม่ ด้วยการผลักดันและส่งเสริมให้เกิดสตาร์ตอัพ ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่สามารถตอบโจทย์แนวโน้มความต้องการของโลกในยุคความปกติถัดไป (Next Normal) สตาร์ตอัพจะเป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์สำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ของประเทศไทยได้ในอนาคต หลายท่านคงคุ้นเคยกับคำว่า “สตาร์ตอัพ” (Startup) กันบ้างแล้ว แต่อาจยังมีข้อสงสัยว่า สตาร์ตอัพกับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มีความแตกต่างกันอย่างไร อันที่จริงแล้ว สตาร์ตอัพก็คือเอสเอ็มอีที่ประกอบธุรกิจใน 3 กลุ่ม ได้แก่ การผลิต การค้า และการบริการ หากแต่เป็นเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพในการเริ่มทำธุรกิจใหม่ ๆ โดยมีแนวคิดหรือโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ ที่สามารถทำซ้ำ (repeatable) และขยายธุรกิจได้อย่างก้าวกระโดด (Scalable) ซึ่งสตาร์ตอัพส่วนใหญ่ที่ประสบความสำเร็จ จะใช้ไอทีเป็นหัวใจหลักในการประกอบธุรกิจ เพราะไอทีเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจขยายตัวได้อย่างก้าวกระโดด นอกจากนี้ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน ก็เป็นอีกหนึ่งจุดแตกต่างระหว่างสตาร์ตอัพกับเอสเอ็มอี โดยเข้าถึงแหล่งเงินทุนของสตาร์ตอัพนั้น จะใช้วิธีหาเงินทุนจากการนำเสนอไอเดียและโมเดลธุรกิจให้กับนักลงทุน (Venture Capital : VC) ที่สนใจเข้ามาร่วมลงทุนในธุรกิจนั้น เพราะการมีแหล่งเงินทุนที่เพียงพอถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยแห่งความสำเร็จในการเติบโตของสตาร์ตอัพในอนาคต สำหรับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ซึ่งมีภารกิจส่งเสริมและพัฒนาเอสเอ็มอี ได้ให้นิยาม “สตาร์ตอัพ” ไว้ว่า “วิสาหกิจเริ่มต้น” ซึ่งหมายถึง บุคคล กลุ่มบุคคล หรือธุรกิจที่เริ่มต้นจากการมีแนวคิด โมเดลทางธุรกิจ เทคโนโลยี หรือนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่สามารถตอบโจทย์และแก้ปัญหาชีวิตประจำวัน ธุรกิจ อุตสาหกรรม เศรษฐกิจ สังคม หรือสิ่งแวดล้อมได้ โดยมีขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างรายได้และผลกำไรของธุรกิจให้ขยายตัวแบบก้าวกระโดดและเติบโตไปสู่ธุรกิจขนาดใหญ่ได้ โดยจุดเน้นของสตาร์ตอัพหรือวิสาหกิจเริ่มต้น ที่ได้รับการดูแลและบ่มเพาะอยู่นั้น จะมีคุณลักษณะสำคัญ ดังนี้ 1) มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมเชิงลึก (Deep Technology) ที่ได้จากการศึกษา วิจัยและพัฒนา และลอกเลียนแบบได้ยาก 2) มีรูปแบบธุรกิจใหม่ที่สามารถแก้ปัญหาและตอบโจทย์ความต้องการของตลาด มีกลุ่มลูกค้าที่ชัดเจน และเป็นปริมาณที่มากเพียงพอต่อการทำซ้ำและขยายธุรกิจอย่างก้าวกระโดดได้ และ 3) มีเป้าหมายในการขยายตัวและเติบโตทางธุรกิจ พร้อมรับการลงทุนหรือร่วมทุนจากนักลงทุนหรือกองทุนต่างๆ ได้ นอกจากนี้ จะเน้นเรื่องการใช้เครือข่าย (Networking) ซึ่งเป็นจุดแข็งของกรม มาช่วยเติมเต็มในการสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เอื้ออำนวยต่อการส่งเสริมและสนับสนุนสตาร์ตอัพให้สามารถเติบโตและประสบความสำเร็จ ซึ่งประกอบด้วย 4 แนวทาง ได้แก่ 1.การขยายเครือข่ายสตาร์ตอัพ โดยการเฟ้นหาสตาร์ตอัพที่มีศักยภาพจากหน่วยงานเครือข่ายจากทั้งสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยต่าง ๆ พร้อมบ่มเพาะให้มีความพร้อมสำหรับการนำเสนอโมเดลธุรกิจกับนักลงทุน 2.การขยายเครือข่ายเงินทุน โดยการสร้างเครือข่ายกับบริษัทเอกชนที่สนใจร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการสตาร์ตอัพที่ได้รับการบ่มเพาะ ด้วยการจัดกิจกรรมเครือข่ายนักธุรกิจอุตสาหกรรมและนักร่วมลงทุน (Industry & Investor Forum) เพื่อให้สตาร์ตอัพมีโอกาสได้เข้าถึงแหล่งเงินทุน 3.การขยายเครือข่ายตลาด โดยส่งเสริมให้หน่วยงานภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมหรือเครือข่ายธุรกิจอุตสาหกรรมนำโซลูชั่นของสตาร์ตอัพไปใช้งานจริง และเป็นตลาดให้ภายในประเทศ 4.การขยายเครือข่ายวิชาการนานาชาติ โดยการจัดกิจกรรมสร้างเครือข่ายวิชาการระดับนานาชาติในประเทศไทย เชื่อมโยงภาคีเครือข่ายระหว่างสตาร์ตอัพและนักลงทุนไทย กับสตาร์ตอัพและนักลงทุนต่างประเทศ เพื่อให้มีเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ ข้อมูลทางธุรกิจ ซึ่งจะเป็นการต่อยอดไปยังตลาดนานาชาติที่มีมูลค่าตลาดสูงขึ้น ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ดำเนินโครงการส่งเสริมสตาร์ตอัพทั้งในระยะเริ่มต้น (Early Stage) คือ โครงการ Angel Fund และในระยะเติบโต (Growth Stage) คือ โครงการ Startup Connect มีเครือข่ายสตาร์ตอัพที่บ่มเพาะมาตั้งแต่ปี 2559 และปัจจุบันในปี 2564 มีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมมากกว่า 500 ราย โดยมีคนรุ่นใหม่ที่อยากเป็นเถ้าแก่ ผ่านการคัดเลือกและได้รับการบ่มเพาะอย่างเข้มข้นกว่า 75 ราย เพื่อให้พร้อมสำหรับกิจกรรมการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) อีกทั้งจะได้นำเสนอโมเดลธุรกิจต่อนักลงทุน (Pitching) เพื่อให้เขาเหล่านี้ได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากผู้ร่วมลงทุนที่อยู่ในเครือข่ายของกรมต่อไป โดยในปี 2563 มีสตาร์ตอัพจำนวน 6 ราย ได้นำเสนอโมเดลธุรกิจ และมีนักลงทุนได้ร่วมลงทุนกับสตาร์ตอัพ รวมมูลค่ากว่า 350 ล้านบาท ถือเป็นก้าวสำคัญที่น่าภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง สุดท้ายนี้ หากเราสามารถส่งเสริมและผลักดันให้คนรุ่นใหม่ที่มีฝันอยากทำธุรกิจ ด้วยแนวคิดธุรกิจใหม่ ๆ ให้กลายเป็นสตาร์ตอัพหรือจนเป็นยูนิคอร์นสัญชาติไทยได้ ประเทศไทยจะมีนักรบเศรษฐกิจใหม่ ที่จะช่วยสร้างเศรษฐกิจในไทยให้เข้มแข็ง สร้างรายได้ให้คนไทย และนำพาประเทศก้าวข้ามปัญหากับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปได้อย่างแน่นอน ซึ่งท่านที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารของการพัฒนาสตาร์ตอัพได้ที่ Facebook: Angelfundthailand นะครับ ที่มา https://www.matichon.co.th/economy/news_2610890
07 มี.ค. 2564
SDGs ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมปรับเปลี่ยน สู่ความยั่งยืนของไทยและโลกเรา
ด้วยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้จัดทำชุดวิดีทัศน์เพื่อเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ภายใต้หลักแนวคิด “ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมปรับเปลี่ยนสู่ความยั่งยืนของไทยและโลกเรา” และได้ทำการแนบลิงค์วิดีทัศน์เพื่อทำการเผยแพร่ โดยมีรายละเอียดของแต่ละตอนดังต่อไปนี้ ตอนที่ 1 : SDGs ความรู้เกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ตอนที่ 2 : SDGs ในทศวรรษแห่งการดำเนินการอย่างจริงจัง (Decade of Action) ตอนที่ 3 : SDGs กับเยาวชน ตอนที่ 4 : SDGs กับภาคธุรกิจ ตอนที่ 5 : SDGs กับความหลากหลายทางเพศ ตอนที่ 6 : SDGs กับเกษตรกร ตอนที่ 7 : SDGs กับชีวิตคนเมือง ตอนที่ 8 : SDGs กับอาหารริมทาง YouTube Channel: https://www.youtube.com/channel/UCjMyIXHto5XgR2cSvX4I2xA/videos
05 มี.ค. 2564
กสอ. ผนึกกำลัง AOTS ติดอาวุธเทคโนโลยีดิจัลอุตสาหกรรมไทย หวังยกระดับศักยภาพการแข่งขันสู่สากล
กรุงเทพฯ 5 มีนาคม 2564 - นายภาสกร ชัยรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และ นายยูเฮ วาดะ หัวหน้าผู้แทน สมาคมศิษย์เก่าศูนย์วัฒนธรรมเอเชียและทุนฝึกอบรมเทคนิคโพ้นทะเล (ประเทศไทย) (The Association for Overseas Technical Scholarship; AOTS) ให้เกียรติเปิดงานสัมมนา “Lean IoT Management Seminar” on Smart and Effective IoT Introduction towards Thailand 4.0 ร่วมด้วย ดร. ภาสกร ประถมบุตร รองผู้อํานวยการกลุ่มโครงการพิเศษและ ศูนย์พัฒนาดิจิทัลและนวัตกรรม สํานักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม คณะผู้บริหารหน่วยงานภาคีเครือข่าย และผู้ประกอบการเข้าร่วมงานสัมมนาดังกล่าว ณ โรงแรมแมริออท กรุงเทพฯ สุขุมวิท งานสัมมนาดังกล่าว จัดขึ้นเพื่อมุ่งเน้นพัฒนาบุคลากรสาขาวิศวกรรมโดยนำระบบ IoT มาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศไทย เพื่อพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น โดยอาศัยประสบการณ์กว่าครึ่งศตวรรษที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตของญี่ปุ่นได้สั่งสมมา ประกอบกับความร่วมมือของผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมการผลิตและเทคโนโลยีดิจิทัลของไทยและญี่ปุ่น มาร่วมพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพกระบวนการผลิตที่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดย่อย (MSME) เพื่อให้ผู้ประกอบการมีศักยภาพเพียงพอที่จะสามารถลงทุนนำระบบ IoT ไปใช้ปรับตัวได้จริงในภาคอุตสาหกรรม เพื่อสร้างโอกาสในการพัฒนารูปแบบกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพและเป็นมาตรฐานให้สามารถแข่งขันในภาคอุตสาหกรรมระดับสากลได้ ### PR.DIProm (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
05 มี.ค. 2564
2 ขุนพล กสอ. ร่วมพิธีเปิดศูนย์ฝึกอบรม Lean IoT Plant Management Execution (LIPE)
กรุงเทพฯ 3 มีนาคม 2564 - นายภาสกร ชัยรัตน์ และนายเจตนิพิฐ รอดภัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเข้าร่วมพิธีเปิดศูนย์ฝึกอบรม Lean IoT Plant management and Execution (LIPE) โดยมี นายจุลพงษ์ ทวีศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายอัตสึชิ อิการาชิ รองประธาน องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan External Trade Organization; JETRO Bangkok) และนายภาสกร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการ กลุ่มโครงการพิเศษและศูนย์พัฒนาดิจิตัลและนวัดกรรม สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวเปิดงาน และนายยูเฮ วาดะ หัวหน้าผู้แทน สมาคมศิษย์เก่าศูนย์วัฒนธรรมเอเชียและทุนฝึกอบรมเทคนิคโพ้นทะเล (ประเทศไทย) (The Association for Overseas Technical Scholarship; AOTS) กล่าวรายงาน ณ ห้องสัมมนา 101 ชั้น 1 กองพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พระรามที่ 4 คลองเตย ศูนย์ดังกล่าวจัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยยกระดับการพัฒนาบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมในการนำระบบ IoT มาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศ เพื่อการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น รวมทั้งสร้างรากฐานที่สำคัญสำหรับการนำเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทยมากขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมประเทศให้ก้าวสู่ Industry 4.0 ตามนโยบายของรัฐบาล อีกทั้งยังเป็นความร่วมมือกับรัฐบาลประเทศญี่ปุ่น ผ่านทางกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงอุตสาหกรรม (METI) เพื่อยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 ภายใต้กรอบโครงการ “Connected Industry” ### PR.DIProm (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
04 มี.ค. 2564
กสอ. หารือ กระทรวงยุติธรรม กองทุนหมู่บ้านฯ เดินหน้าถอดรหัสอัตลักษณ์ จ. สุโขทัย
กรุงเทพฯ 3 มีนาคม 2564 - นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมลงพื้นที่ในกิจกรรม "ถอดรหัส อัตลักษณ์ วิถีถิ่น สุโขทัย" ภายใต้โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของฝากของที่ระลึกเพื่อเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพในพื้นที่ พร้อมด้วย คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) คณะผู้แทนจากกรมราชทัณฑ์ และ คณะผู้แทนจากสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.) ร่วมประชุมหารือกำหนดแนวทางการส่งเสริมและเผยแพร่เศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่เป้าหมาย ครั้งที่ 3/2564 ณ ห้องประชุมทางไกล ชั้น 2 อาคาร กสอ. กสอ. ได้ร่วมหารือกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย ในกิจกรรมดังกล่าว ที่จะจัดขึ้นใน จ.สุโขทัย ด้วยเล็งเห็นว่าเป็นจังหวัดที่มีความพร้อมในด้านของพื้นที่ อีกทั้งยังมีต้นทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นจำนวนมากที่พร้อมจะได้รับการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก โดย กสอ. มีเป้าหมายเข้าช่วยเหลือในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของฝากของที่ระลึกและบรรจุภัณฑ์เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยว ยกระดับชุมชน อีกทั้งยังได้การสนับสนุนจากกระทรวงยุติธรรมในส่วนของแรงงานฝีมือดีจากผู้ต้องขังในเรือนจำในพื้นที่จังหวัด ได้ฝึกฝนทักษะอาชีพเพื่อต่อยอดไปสู่การประกอบอาชีพสุจริตในอนาคต ### PR.DIProm (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
03 มี.ค. 2564
ขอเชิญเข้าร่วมอบรมรับความรู้ "ก้าวทันการตลาด ฉลาดกับออนไลน์"
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ขอเชิญชวนผู้ประกอบการชาวสงขลาและหาดใหญ่ ร่วมสัมมนา เรื่อง “ก้าวทันการตลาด ฉลาดกับออนไลน์“ วิทยากรคือ คุณพิชิต สุขไผ่ตา CEO เพจอีจัน และวิทยากรผู้มีชื่อเสียงอื่นๆ ในวันที่ 6 มีนาคม 2564 ระหว่างเวลา 08.30 – 16.30 น. ณ โรงแรมสยามโอเรียลทัล หาดใหญ่ โดยท่านสามารถลงทะเบียนอบรมได้ที่ https://ddi.appthaimenu.com/ ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทรศัพท์ 0855192916
03 มี.ค. 2564