หมวดหมู่
ขอเชิญชวนผู้สนใจ เข้าร่วมสมัครผลงานการออกแบบบรรจุภัณฑ์ไทย ประจำปี 2565 (ThaiStar Packaging Awards 2022)
ขอเชิญเข้าร่วมสมัครผลงานการออกแบบบรรจุภัณฑ์ไทย ประจำปี 2565 ภายใต้หัวข้อ " Sustainability for next normal...วิถีใหม่ ที่ยั่งยืน " ตั้งแต่วันนี้ - 1 มิถุนายน 2565 สมัครออนไลน์ได้ที่ หรือ www.propakasia.com AWARDS Thaistar Packaging Awards 2022 ติดตามความเคลื่อนไหวของการประกวดได้ที่ Thaistar Packaging Awards 061-423-4926 ppid.packaging@gmail.com
24 พ.ค. 2565
ประกาศรายชื่อผู้สมัครจ้างเหมาบริการ ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานสนับสนุนด้านทรัพยากรบุคคล
ประกาศรายชื่อผู้สมัครจ้างเหมาบริการ ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานสนับสนุนด้านทรัพยากรบุคคล กลุ่มบริการทรัพยากรบุคคล สำนักงานเลขานุการกรม รายละเอียดดังแนบ
23 พ.ค. 2565
"รปอ.จุลพงษ์ พร้อมด้วย รสอ.ณัฏฐิญา" รับนโยบายพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการประชุมคณะกรรมการประสานงานและสนับสนุนงานโครงการหลวง (กปส.) ช่วยผลักดันโครงการที่ดีพร้อมเสนอเรื่องการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพนอกภาคเกษตร และการพัฒนาระบบการจัดการหลังการเก็
กรุงเทพฯ 18 พฤษภาคม 2565 - นายจุลพงษ์ ทวีศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายวัชรุน จุ้ยจำลอง ผู้อำนวยการกองพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการประสานงานและสนับสนุนงานโครงการหลวง (กปส.) ครั้งที่ 1/2565 โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมดังกล่าว ในรูปแบบออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน Zoom Meetings การประชุมดังกล่าวเป็นการติดตามผลการดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวง และหน่วยงานสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนแม่บทศูนย์พัฒนาโครงการหลวง และแผนแม่บทโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง ระยะ 6 ปี (พ.ศ. 2560 - 2565) ติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ และ การตั้งสถาบันการเรียนรู้การพัฒนาทางเลือกอย่างยั่งยืน มูลนิธิโครงการหลวง ดีพร้อม ในฐานะหน่วยงานร่วมบูรณาการได้เสนอรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ของแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาพื้นที่โครงการหลวง และแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 2 เรื่องการพัฒนาส่งเสริมอาชีพการตลาด แผนงานที่ 2.2 พัฒนาและส่งเสริมอาชีพนอกภาคเกษตร และแผนงานที่ 2.3 การพัฒนาระบบการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว การตลาดและโลจิสติกส์ ประกอบด้วย โครงการพัฒนาเทคโนโลยีการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าเกษตรบนพื้นที่สูง โครงการพัฒนาและต่อยอดภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นสู่งานศิลปาชีพเพื่อสร้างรายได้ และโครงการพัฒนาเทคโนโลยีการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าเกษตรบนพื้นที่สูง เพื่อประกอบการประชุมดังกล่าวต่อไป ### PRDIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
20 พ.ค. 2565
'ดีพร้อม' ดันโลจิสติกส์ไทย ดึงฮุนได โกลวิส ร่วมลงทุนภาคเอกชน
กรุงเทพฯ 17 พฤษภาคม 2565 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเข้าร่วมงานและกล่าวแสดงความยินดี พิธีเฉลิมฉลองการเปิดสำนักงานในประเทศไทยของบริษัท ฮุนได โกลวิส โลจิสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมด้วยนายจอน โจยอง อุปทูต สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย นายจัง ฮุน คิม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฮุนได โกลวิส จำกัด นายกรกฤช จุฬางกูร ประธานบริหาร บริษัท ซัมมิท โอโต บอดี้ อินดัสตรี จำกัด นางสาวนันท์นภัส นามนาค ผู้บริหาร บริษัท อีสเทิร์น แอร์ โลจิสติกส์ จำกัด นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) นายธรินทร์ ธนียวัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออลล์ นาว แมนเนจเม้นท์ จำกัด ณ ห้องโฟร์ซีซั่นส์ แกรนด์ บอลลูม ชั้น 3 โรงแรมโฟร์ ซีซั่นส์ โฮเต็ล แบงค็อก แอท เจ้าพระยาริเวอร์ บริษัท ฮุนได โกลวิส โลจิสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นการร่วมทุนของ 3 บริษัท นำโดยบริษัท ฮุนได โกลวิส ประเทศเกาหลีใต้ในเครือฮุนได มอเตอร์ ร่วมกับ บริษัท ซัมมิท โอโต บอดี้ อินดัสตรี จำกัด เพื่อร่วมในธุรกิจโลจิสติกส์ชิ้นส่วนยานยนต์ และ บริษัท อีสเทิร์น แอร์ โลจิสติกส์ จำกัด บริษัทชั้นนำด้านโลจิสติกส์ ที่จะเข้ามาส่งเสริมในส่วนของการปฏิบัติการด้านซัพพลายเชน และโลจิสติกส์ ด้านพิธีการทางศุลกากร การจัดเก็บ และการขนส่ง ภายใต้ความร่วมมือมุ่งมั่นที่จะเป็นบริษัทผู้นำด้านโลจิสติกส์ในประเทศไทย และพร้อมขยายฐานไปยังประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย และประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน ขณะเดียวกัน บริษัท ฮุนได โกลวิส โลจิสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ยังวางแผนที่จะนำรถบรรทุกไฟฟ้า 150 คัน มาใช้ในการขนส่งผลิตภัณฑ์จากศูนย์กระจายสินค้าไปยังร้าน 7-11 เพื่อลดมลภาวะและช่วยอนุรักษ์พลังงาน พร้อมทั้งมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมในกระบวนการขยายผลิตภัณฑ์ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ รวมถึงอาหารสด ไปยังประเทศในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้อื่น ๆ เช่น กัมพูชา และมาเลเซีย เป็นต้น ### PRDIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
18 พ.ค. 2565
FUTURE FOOD IS HERE : Future Food Pavilion ThaiFex 2022
FUTURE FOOD IS HERE : Future Food Pavilion ThaiFex 2022 MEET & UNITE for our future of food วันที่ 24 - 28 พฤษภาคม 2565 ณ เมืองทองธานี ฮอล 10 ลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรม Future Food Tasting Future Food Talk Future Food Ideation w/s Future Food Networking สามารถลงทะเบียนกิจกรรมได้ที่
17 พ.ค. 2565
"ดีพร้อม" ลงพื้นที่ชัยนาท เปลี่ยน วิถีใหม่ ปรุง 7 วิธี ปั้นชุมชนดีพร้อม
จ.ชัยนาท 14 พฤษภาคม 2565 - นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานพิธีเปิดและแถลงข่าวโครงการ “DIPROM ยกระดับสินค้าชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก นำสู่รายได้คืนถิ่นชุมชน” ในพื้นที่จังหวัดชัยนาท ร่วมด้วย นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) ผู้แทนชุมชนและประชาชนในพื้นที่จำนวนกว่า 200 คน โดยมี ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ของโครงการ ณ หอประชุมโรงเรียนชัยนาทพิทยาคม อําเภอเมืองชัยนาท กิจกรรมในวันนี้ อธิบดีณัฐพล ได้แถลงความสำเร็จกลไกการพัฒนาชุมชนของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมในยุคที่ 4 ซึ่งเป็นการต่อยอดจากยุคที่ 1 “หมู่บ้านอุตสาหกรรม” ยุคที่ 2 “หมู่บ้านอุตสาหกรรมชนบทเพื่อการท่องเที่ยว หรือ หมู่บ้าน JBIC” และยุคที่ 3 “หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ดีพร้อม หรือ DIPROM CIV” สู่กลไกปัจจุบัน ยุคที่ 4 “ชุมชนดีพร้อม หรือ DIPROM Community” ด้วย 7 วิธี ปั้นชุมชนดีพร้อม คีย์ลัดสู่ความสำเร็จในการพัฒนาชุมชน ชุมชนดีพร้อม หรือ DIPROM Community จะเป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็งสามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืน โดยต่อยอดภาคการท่องเที่ยวจากสถานการณ์ในปัจจุบัน มุ่งยกระดับไปสู่ Gen ใหม่เน้นการปรับรูปแบบการดำเนินงานให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลง ด้วย 7 วิธี ประกอบด้วย – แผนชุมชนดีพร้อม ศึกษาศักยภาพเชิงพื้นที่ และวิเคราะห์จุดเน้นของจังหวัด เพื่อชี้เป้าการพัฒนาให้สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ โดยยึดหลักการเข้าถึง เข้าใจ และพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมกับชุมชนด้วยการอัพเกรดหมู่บ้าน DIPROM CIV สู่ DIPROM Community – คนชุมชนดีพร้อม ปั้นผู้นำชุมชนให้มีความเป็นผู้นำยุคใหม่ของชุมชนที่มีองค์ความรู้ในทุกมิติและสามารถถ่ายทอดกลไก 7 วิธี ปั้นชุมชนดีพร้อมให้กระจายไปในชุมชนได้อย่างครบวงจร รวมทั้งเชื่อมโยงเครือข่ายภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน – แบรนด์ชุมชนดีพร้อม เน้นการสร้างแบรนด์ของท้องถิ่นที่สามารถสื่อถึงความโดดเด่นของพื้นที่ โดยได้สร้าง 4 แบรนด์ชุมชนดีพร้อมในชัยนาท ได้แก่ 1) ชุมชนสรรพยา อำเภอสรรพยา โดยใช้โรงพักสรรพยา 100 ปี 2) ชุมชนเนินขาม อำเภอเนินขาม 3) ชุมชนหนองมะโมง อำเภอหนองมะโมง และ 4) ชุมชนตลาดย้อนยุคสรรคบุรี อำเภอสรรคบุรี – ผลิตภัณฑ์ชุมชนดีพร้อม ยกระดับผลิตภัณฑ์ให้มีความโดดเด่นและมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ให้สามารถจำหน่ายได้ในเชิงพาณิชย์ อาทิ ขนมเปี๊ยะกุยหลี เป็นต้น – เครื่องจักรชุมชนดีพร้อม ดีพร้อม มี ดีพร้อมเซ็นเตอร์ (DIPROM CENTER) ที่จะช่วยยกระดับเทคโนโลยีการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงกลางน้ำ โดยการส่งเสริมการนำเครื่องจักรกลการเกษตรมาให้บริการตามความต้องการของชุมชน – ตลาดชุมชนดีพร้อม มุ่งเน้นการสร้างโอกาสทางการตลาดให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงชุมชนใน 3 มิติ 1) ดึงดูดนักท่องเที่ยวมาซื้อของในชุมชน 2) กระจายสินค้าไปขายตามร้านสะดวกซื้อ หรือ Modern Trade และ 3) ผลักดันไปสู่ตลาดออนไลน์ อาทิ ดีพร้อมมาร์เก็ตเพลส (DIPROM Marketplace) และแพลตฟอร์มอื่น ๆ – เงินหมุนเวียนดีพร้อม ออกมาตรการสินเชื่อระยะสั้นเพื่อผู้ประกอบการ หรือที่เรียกว่า ดีพร้อมเปย์ (DIPROM Pay) โดยให้บริการอัตราดอกเบี้ยคงที่แบบขั้นบันได ภายในระยะเวลา 3 ปี ร้อยละ 3-5 นอกจากนี้ดีพร้อม ยังร่วมมือกับ สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ผ่านโครงการ กสอ. คิด กทบ. ช่วยธุรกิจชุมชน เรียนแล้ว สร้างได้ ขายเป็น เพื่อส่งเสริมทักษะอีคอมเมิร์ชให้กับชุมชน และเพิ่มสภาพคล่องผ่านเงินทุนจากกองทุนหมู่บ้าน “ชุมชนดีพร้อม หรือ DIPROM Community มุ่งเน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนด้วยรูปแบบการพัฒนาที่ถอดบทเรียนจากแผนชุมชนดีพร้อมที่สอดรับกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ตอบโจทย์ ความต้องการทั้งในเชิงพื้นที่ และรองรับความต้องการของตลาดภายใต้นโยบายปี 2565 ดีพร้อมแคร์ (DIPROM CARE) เพื่อเป็นพลังในการขับเคลื่อนชุมชนดีพร้อมให้มีรายได้ สร้างความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ตามเป้าหมายของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม” ซึ่งในวันนี้ ดีพร้อม ได้นำ 1 ใน 7 วิธี ปั้นชุมชนดีพร้อม คนชุมชนดีพร้อม เป็นการพัฒนาทักษะอาชีพให้กับคนในชุมชนผ่านการวิเคราะห์แผนชุมชนดีพร้อมมาเป็นหลักสูตรในการฝึกอาชีพและพัฒนาทักษะให้กับแรงงานกลับถิ่นและคนว่างงานเป็นอาชีพเสริมและสร้างรายได้ โดยผู้เข้ารับการอบรม จำนวน 200 คน จะได้เรียนรู้การพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามฐานการเรียนรู้ 4 ฐาน ประกอบด้วย ฐานที่ 1 การทําไม้กวาดดอกหญ้า ฐานที่ 2 การทําไม้กวาดทางมะพร้าว ฐานที่ 3 การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเศษผ้า และฐานที่ 4 การทําบรรจุภัณฑ์จากผักตบชวา ### PRDIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
17 พ.ค. 2565
“อธิบดีณัฐพล” นำคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่เยี่ยมชมต้นแบบชุมชนสร้างสรรค์แบรนด์จากอัตลักษณ์พื้นถิ่น พร้อมเยี่ยมชมการสาธิตโดรนเพื่อการเกษตรอุตสาหกรรม
จ.ชัยนาท 13 พฤษภาคม 2565 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นางสาวณัฏฐิญา เนตรยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และคณะผู้บริหารดีพร้อม (DIPROM) นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมชมต้นแบบการพัฒนาชุมชนสรรพยา อำเภอสรรพยา ณ อำเภอสรรพยา และวิสาหกิจชุมชนสวนยางกลางนาต้นแบบการปรับตัวด้วยเทคโนโลยีโดรนการเกษตร ณ อำเภอเมืองชัยนาท ดีพร้อม นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ชุมชนสรรพยา ณ โรงพักเก่า อำเภอสรรพยา เพื่อเยี่ยมชมผลสำเร็จของการส่งเสริมและพัฒนาการสร้างอัตลักษณ์ผลิตภัณฑ์ชุมชนเชื่อมโยงการท่องเที่ยวจังหวัดชัยนาท โดยดีพร้อมได้เข้าไปยกระดับเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็งด้วยการนําจุดแข็งในด้านวัฒนธรรม วิถีชีวิตและภูมิปัญญาของชุมชนมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีอัตลักษณ์ มีความโดดเด่นของพื้นที่ เพื่อเชื่อมโยงสู่การท่องเที่ยวของชุมชนผ่านกลไกต่าง ๆ อาทิ การพัฒนาเพิ่มทักษะการผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนให้มีอัตลักษณ์และเป็นที่ต้องการของตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ของฝากของที่ระลึก การสร้างเรื่องราวชุมชน และการสร้างโอกาสเพื่อการเข้าสู่ช่องทางการตลาดต่าง ๆ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ให้กับชุมชนอันจะส่งผลให้ชุมชนได้ยกระดับและเพิ่มศักยภาพในพื้นที่ให้เกิดการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง และในเวลาต่อมาได้ไปเยี่ยมชมการสาธิตการใช้อากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรนสำหรับภาคเกษตรอุตสาหกรรม ณ กลุ่มวิสาหกิจสวนยางกลางนา อำเภอเมืองชัยนาท ซึ่งได้รับการพัฒนาโดรนต้นแบบสำหรับการทำการเกษตรอัจฉริยะ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจวัดคุณภาพดิน คุณภาพอากาศ การหว่านปุย การพ่นยาฆ่าแมลง หรือการถ่ายภาพวิเคราะห์โรคพืชหรือศัตรูพืช เพื่อเพิ่มผลผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้เป็นอย่างดี ช่วยลดค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการได้ 30-50% ซึ่งเป็นการดำเนินงานภายใต้เครือข่าย “Chainat AGRO Tourism สวนยางกลางนา ชัยนาทกลางใจ” ### PRDIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
17 พ.ค. 2565
“อธิบดีณัฐพล” ร่วมแสดงความยินดีพร้อมมอบวุฒิบัตรผู้ประกอบการ คพอ. พื้นที่ภาคกลาง เสริมความเข้มแข็งเครือข่ายผู้ประกอบการอย่างยั่งยืน
จ.ระยอง 12 พฤษภาคม 2565 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมให้เกียรติเป็นประธานในพิธีปิดและมอบวุฒิบัตรการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการรูปแบบ Hybrid หลักสูตร “การพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม (คพอ.)” พื้นที่ภาคกลาง ร่วมด้วย นายเจตนิพิฐ รอดภัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายวีรยุทธ อนุจิตรอนันต์ นายกสมาคมส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการไทยจังหวัดระยอง คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ดีพร้อม นายปวีย์ภัทร วัฒนศิริเศรษฐ ประธาน คพอ. รุ่นที่ 365 จังหวัดชลบุรี นางสาวภิญรดา สุประเสริฐ ประธาน คพอ. รุ่นที่ 377 จังหวัดนครปฐม นางสาวณัฐณิชา สุวิมล ประธาน คพอ. รุ่นที่ 378 จังหวัดระยอง นายชาญวิทย์ คุ้มโชคไพศาล ประธาน คพอ. รุ่นที่ 381 กรุงเทพมหานคร และสมาชิก คพอ. ผู้สำเร็จการฝึกอบรม โดยมี นายณัฐพล แสงฟ้า นายกสมาคมส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการไทย กล่าวแสดงความยินดี และนางสาวหนึ่งหทัย ธรรมพิทักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 9 (DIPROM CENTER 9) กล่าวรายงาน ณ โรงแรมโกลเด้น ซิตี้ อำเภอเมืองระยอง กิจกรรมดังกล่าว เป็นการดำเนินงานภายใต้โครงการเร่งการจัดตั้งและขยายธุรกิจของผู้ประกอบการอัจฉริยะ คพอ. พื้นที่ภาคกลาง จำนวน 4 รุ่น คือ รุ่นที่ 365 จังหวัดชลบุรี รุ่นที่ 377 จังหวัดนครปฐม รุ่นที่ 378 จังหวัดระยอง และ รุ่นที่ 381 กรุงเทพมหานคร โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้รับการอบรมไม่น้อยกว่า 90 ชั่วโมง ผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการประกอบธุรกิจอย่างเป็นระบบจากวิทยากรภาครัฐ-เอกชน ที่มีความรู้และประสบการณ์ในการประกอบธุรกิจจริง ในรูปแบบ Workshop ร่วมกันจัดทำแผนพัฒนาธุรกิจของตนเอง เพื่อนำเสนอ ก่อให้เกิดการสังเคราะห์องค์ความรู้ต่างๆ จนสามารถนำไปประยุกต์และปฏิบัติได้จริงกับธุรกิจของตนเองโดยในพื้นที่ภาคกลางมีผู้ผ่านการฝึกอบรมทั้งสิ้น 146 คน ทั้งนี้ โครงการ คพอ. เป็นโครงการที่ดีพร้อมดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 - ปัจจุบัน มีผู้ผ่านการฝึกอบรมแล้วจำนวน 12,294 คน ทั่วประเทศ ส่งผลให้ผู้ประกอบการได้ปรับปรุงการบริหารจัดการ เกิดประสิทธิภาพและเพิ่มศักยภาพ รวมไปถึงเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้เป็นอย่างดี รวมทั้งเกิดการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงธุรกิจในจังหวัดตนเองและในระดับภูมิภาคไปจนถึงในระดับประเทศต่อไป ### PRDIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
17 พ.ค. 2565
คิดเห็นแชร์ : Financial Literacy สิ่งสำคัญต่อการดำเนินชีวิตและขับเคลื่อนธุรกิจ ที่ไม่มีสอนในห้องเรียน
คอลัมน์ : คิดเห็นแชร์ (มติชนออนไลน์) ผู้เขียน : นายพลาวุธ วงศ์วิวัฒน์ (ผู้อำนวยการกลุ่มสนับสนุนการจัดตั้งธุรกิจ กองส่งเสริมผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) เงินอาจไม่ใช่คำตอบของความสุขในชีวิต แต่การมีเงินไม่เพียงพอกับการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานตามปัจจัยสี่ของมนุษย์นั้น จะทำให้เกิดเป็นความทุกข์ได้ สวัสดีท่านผู้อ่านคอลัมน์คิดเห็นแชร์ทุกท่าน วันนี้ผมจะมาแชร์มุมมองถึงทักษะความรู้หนึ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ก็คือ ทักษะการเงินหรือความรู้ด้านการเงิน หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Financial Literacy ซึ่งเป็นการประยุกต์เอาความรู้ทางด้านคณิตศาสตร์มาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน รวมถึงการใช้ทักษะทางการเงินนี้ ยังสามารถใช้ในการบริหารกิจการ หรือธุรกิจได้เป็นอย่างดี ทักษะหรือองค์ความรู้ที่สำคัญและจำเป็นเช่นนี้ควรปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็ก แต่ในประเทศไทยนั้นกลับไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญกับองค์ความรู้นี้ในโรงเรียนมากนัก สิ่งที่อาจเห็นได้บ้าง คือ การสอนเกี่ยวกับ “การออม” ซึ่งเป็นการปลูกฝังค่านิยมในการออมเบื้องต้นให้กับเด็กและเยาวชน เนื่องจากอาจมองว่าเด็กสามารถฝึกออมเงินจากค่าขนมที่ได้รับจากพ่อแม่ตอนไปเรียนหนังสือ จึงทำให้เด็กที่ได้รับการเรียนรู้และฝึกฝนทักษะด้านการเงินนี้ มักอยู่ในครอบครัวที่พ่อแม่ทำธุรกิจ ร้านอาหาร หรือร้านค้า จนหล่อหลอมให้เด็กเหล่านั้น เรียนรู้การคิดเงิน การหาเงิน และการบริหารจัดการเงินจากประสบการณ์จริง สำหรับความรู้ด้านการเงินพื้นฐานที่จำเป็นนั้น ประกอบด้วย 1) การหารายได้และหน้าที่ในการเสียภาษี 2) การลดต้นทุนและค่าใช้จ่าย 3) การเก็บออมเงินและอัตราดอกเบี้ย 4) การลงทุนและการจัดการหนี้สิน จะเห็นได้ว่าเพียง 4 ด้านนี้ หากนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพจะทำให้ชีวิตดำเนินได้อย่างราบรื่นในสังคมประเทศไทยได้ หากไม่มีปัจจัยอื่น เช่น สุขภาพ โรคภัยไข้เจ็บ อุบัติเหตุ หรือภัยธรรมชาติ เข้ามาเกี่ยวข้อง บ่อยครั้งที่เราได้เห็นข่าวการฆ่าตัวตายที่น่าสลดจากสื่อต่างๆ เนื่องจากไม่สามารถจัดการกับภาระหนี้สินที่ตนเองและครอบครัวมีอยู่ได้ ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้ห้างร้านต่างๆ ต้องปลดพนักงานออกจำนวนมาก เพื่อลดภาระต้นทุนและพยุงกิจการให้อยู่รอดต่อไปได้ จากเหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่ายังมีคนไทยอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่มีทักษะความรู้ทางการเงิน จึงทำให้หาทางออกให้กับชีวิตไม่ได้ ส่วนในต่างประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชากรวัยทำงานทั่วประเทศ พบว่า 88% สนับสนุนให้กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดวิชาการเงินส่วนบุคคล บรรจุไว้ในหลักสูตรสำหรับนักเรียนมัธยมปลายทั่วประเทศอย่างน้อยหนึ่งภาคการศึกษา หรือทั้งปีการศึกษาก็ได้ เพื่อให้นักเรียนเหล่านั้นได้มีทักษะด้านการบริหารจัดการด้านการเงิน ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตในอนาคต ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าชาวอเมริกันหันมาตระหนักถึงความสำคัญของความรู้ทางการเงินให้แก่เยาวชนตั้งแต่อายุยังน้อย เพื่อปลูกฝังและสร้างนิสัยการบริหารจัดการด้านการเงิน ซึ่งเยาวชนกลุ่มนี้จะเติบโตไปเป็นประชากรในวัยทำงานของอเมริกาในวันข้างหน้า การให้ความรู้ทางการเงินจะเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายของประเทศที่ต้องนำเงินสวัสดิการไปช่วยเหลือผู้ยากไร้ อีกทั้งยังสร้างการตระหนักรู้หน้าที่ของพลเมืองในการเสียภาษี เพื่อนำเงินภาษีมาบำรุงและพัฒนาประเทศต่อไป เมื่อหันมามองในภาคธุรกิจของประเทศไทย มีผู้ประกอบการบางรายยังคงมีความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการเงินและการทำบัญชีเพื่อหลบเลี่ยงภาษี โดยใช้วิธีการทำบัญชีของกิจการให้ขาดทุนมาโดยตลอด แต่ก็ลืมคำนึงถึงเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างที่เราประสบกันอยู่คือ สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นับตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน และเมื่อการดำเนินกิจการขาดทุนมาโดยตลอดก็เป็นการยากที่สถาบันการเงินจะมั่นใจในความสามารถการชำระหนี้ จึงไม่ปล่อยกู้สินเชื่อให้เพราะกลัวว่าจะเป็นหนี้สูญ และจากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ประเมินว่า ในระยะถัดไปคาดว่าหนี้สินครัวเรือนของประเทศไทยมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้น จากกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ซึ่งยังมีความต้องการสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภค เพื่อมาชดเชยสภาพคล่องจากรายได้ที่ยังไม่ฟื้นเต็มที่ นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบจากสถานการณ์การสู้รบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ที่ยาวนานมากว่า 2 เดือน ทำให้ราคาน้ำมันปัจจัยหลักสำคัญในด้านโลจิสติกส์และการขนส่งของประเทศพุ่งสูงขึ้น และมีแนวโน้มขึ้นถึงลิตรละ 50 บาท ย่อมทำให้ต้นทุนการผลิตและการขนส่งสูงขึ้นเป็นอย่างมาก และหลายกิจการจำเป็นต้องปรับราคาสินค้าให้สูงขึ้น จนทำให้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น โดยจากตัวเลขในเดือนเมษายน 2565 เงินเฟ้อพุ่งสูงอยู่ที่ 4.65% และมีแนวโน้มขยับขึ้นไปอีก ส่งผลกระทบให้บางธุรกิจอาจไปต่อไม่ไหว ถูกซ้ำเติมจากวิกฤตเก่าจนต้องขายและปิดกิจการลง ดังนั้นทักษะทางการเงินจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยประคองให้ธุรกิจอยู่รอดได้ ดังเช่นที่ อลัน กรีนสแปน นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ได้กล่าวไว้ว่า ปัญหาอันดับหนึ่งในยุคและเศรษฐกิจในปัจจุบันคือ “การขาดความรู้ทางการเงิน” ดังนั้น ไม่ว่าท่านจะอยู่ในวัยเรียนหรือวัยทำงาน ก็ควรศึกษาหาความรู้ทักษะทางการเงินไว้เพื่อตัวท่านเอง ปัจจุบันมีสื่อการเรียนรู้มากมายให้ท่านได้ศึกษาค้นคว้าได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือการสมัครเข้าร่วมอบรมหลักสูตรทางการเงินกับหน่วยงานภาครัฐต่างๆ อย่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งจะช่วยให้ทุกท่านสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข ที่มา : https://www.matichon.co.th/economy/eco-report/news_3344541
13 พ.ค. 2565