หมวดหมู่
“ปลัดณัฐพล" เปิดงาน DIPROM Creative Products Fair 2022" พร้อมหนุนยอดขายอุตสาหกรรมสร้างสรรค์
กรุงเทพฯ 10 พฤศจิกายน 2565 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานกิจกรรมส่งเสริมการตลาดผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ "DIPROM Creative Products Fair 2022" พร้อมเยี่ยมชมบูธจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์กว่า 80 ร้านค้า ร่วมด้วย นายใบน้อย สุวรรณชาตรี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายภาสกร ชัยรัตน์ และนางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) ผู้ประกอบการ และสื่อมวลชนเข้าร่วมงานในครั้งนี้ ณ พระราม 2 ฮอลล์ ชั้น 4 ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซ่า พระราม 2 สำหรับงาน DIPROM Creative Products Fair 2022 จัดขึ้นเพื่อทดสอบตลาดผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เกิดจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์จากกิจกรรมต่าง ๆ ของดีพร้อม (DIPROM) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคต่อสินค้าที่ผ่านการพัฒนา และยกระดับให้มีความเป็นสากล รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้มีพื้นที่ในการจัดจำหน่ายสินค้าตลอดจนการให้บริการปรึกษาแนะนำด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การตลาด และการเงิน อีกทั้ง ยังเป็นการเผยแพร่ผลการดำเนินงานของดีพร้อมในการยกระดับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งงานดังกล่าวจัดระหว่างวันที่ 10-13 พฤศจิกายน 2565 ณ ชั้น 4 ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซ่า พระราม 2 โดยแบ่งออกเป็น 4 โซน คือ โซนที่ 1 การจัดจำหน่ายสินค้า "DIPROM Creative Products Fair 2022" ที่คัดสรรผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์กว่า 80 ร้านค้า โซนที่ 2 นิทรรศการแสดงผลงาน (Showcase) ที่ผ่านการพัฒนาจากกิจกรรมต่าง ๆ ของดีพร้อม โซนที่ 3 การให้คำปรึกษาแนะนำการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ จากศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Thai-IDC) และ โซนที่ 4 กิจกรรมพิเศษต่าง ๆ อาทิ กิจกรรมเสวนา Workshop ที่จะมาเสริมสร้างองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ พร้อมติดอาวุธให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เพื่อยกระดับไปสู่ความเป็นสากล ทั้งนี้ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์เป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่นับว่ามีบทบาทสำคัญและสร้างรายได้ให้กับประเทศไทย กระทรวงอุตสาหกรรม โดยดีพร้อม (DIPROM) ได้มีการสนับสนุนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์มาอย่างต่อเนื่อง ในการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการ และผู้ให้บริการธุรกิจอุตสาหกรรมให้มีสมรรถนะและขีดความสามารถในการประกอบการที่เป็นเลิศ มีความยั่งยืนสู่สากล พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาคอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน /ภาพข่าว
11 พ.ย. 2565
ขอเชิญชวนผู้ประกอบการสมัครเข้าร่วมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร "ปรับมุมคิดผู้ประกอบการธุรกิจรุ่นใหม่ THINK LIKE A STARTUP"
ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 6 หรือ ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 6 (DIPROM CENTER 6) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ......................................... ขอเชิญชวนผู้ประกอบการสมัครเข้าร่วมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร "ปรับมุมคิดผู้ประกอบการธุรกิจรุ่นใหม่ THINK LIKE A STARTUP" ภายใต้โครงการเร่งการจัดตั้งและขยายธุรกิจของผู้ประกอบการอัจฉริยะ (NEC) จังหวัดนครราชสีมา 2566 กิจกรรมฝึกอบรมสร้างจิตวิญญาณในการเป็นผู้ประกอบการ ระหว่างวันที่ 13-22 ธันวาคม 2565 ณ โรงแรมสีมาธานี อ.เมือง จ.นครราชสีมา สนใจสมัครได้ที่ กรอกข้อมูลการสมัครได้แล้ว วันนี้ - 6 ธันวาคม 2565 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณอริศรา/คุณแววมณี 044-419-622 ต่อ 401
10 พ.ย. 2565
EP.4 l SMEs DIPROM THE ICONIC
SMEs DIPROM THE ICONIC "ท๊อฟฟี้เค้ก 100 ล้าน !!! ตำนานความอร่อยคู่ไทยกว่า 36 ปี" SMEs DIPROM Move Forward To Success สัปดาห์นี้พาไปบุกโรงงาน สวนดุสิตโฮมเบเกอรี่ ล้วงลึกเคล็ดลับความอร่อย และเทคนิคที่ทำให้ธุรกิจจากร้านเล็ก ๆ ในรั้วมหาวิทยาลัย กลายเป็นเบเกอรี่ที่ส่งต่อความอร่อยไปทั่วประเทศ สร้างรายได้กว่า 100 ล้านบาทต่อปี และมาเรียนรู้เคล็ดลับการตีตลาดของ บริษัท จีเอฟ.แมนนูแฟคเจอริ่ง จำกัด เจ้าของผลิตภัณฑ์ พียู โฟม ฝีมือคนไทย ที่สามารถพาธุรกิจก้าวไกลไปตลาดต่างประเทศ
10 พ.ย. 2565
ขอเชิญชวนผู้ประกอบการ SMEs เข้าร่วมกิจกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้วยการจำลองสถานการณ์ (Simulation)
ขอเชิญชวนผู้ประกอบการ SMEs พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และใกล้เคียง เข้าร่วมกิจกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้วยการจำลองสถานการณ์ (Simulation) ภายใต้โครงการเพิ่มขีดความสามารถของวิสาหกิจไทยด้วยดิจิทัล ประจำปีงบประมาณ 2566 หลักสูตรการอบรมที่จะทำให้คุณ เปิดโอกาสการเรียนรู้ และทราบถึงประโยชน์จากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีซอฟต์แวร์จำลองสถานการณ์ (Simulation) สามารถตรวจสอบการทำงานในกระบวนการผลิตด้วยแบบจำลองสถานการณ์ (Simulation Model) เพื่อค้นหาจุดบกพร่อง ได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ สร้างและเพิ่มทักษะ องค์ความรู้ วิเคราะห์เปรียบเทียบผลการใช้งานแบบจำลอง (Run) ก่อนการปรับปรุง และหลังการปรับปรุง (Before and After) เพื่อใช้เป็นแนวทางในการตัดสินใจปรับปรุง พัฒนากระบวนการผลิต ให้สามารถลดต้นทุน หรือเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตได้มากขึ้น คุณสมบัติผู้เข้าร่วมกิจกรรม จดทะเบียนนิติบุคคล หรือทะเบียนการค้า หากท่านสนใจปรับปรุง หรือต้องการพัฒนากระบวนการผลิต สมัครเลย รับสมัครตั้งแต่วันนี้ ถึง วันที่ 20 พฤศจิกายน 2565 หรือจนกว่าจะเต็ม ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมกิจกรรม วันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ผ่านทาง Website และ Facebook ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย รับจำนวนจำกัด สมัครเข้าร่วมโครการ Click สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณทิพย์มณฑา จินะวงค์ โทรศัพท์ : 085-122-5299
10 พ.ย. 2565
ขอเชิญเข้าร่วมกิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “เศรษฐกิจวิถีใหม่กับการค้าชายแดน”
โอกาสดีสำหรับ SMEs / ผู้ประกอบการ /วิสาหกิจชุมชน/ OTOP ขอเชิญเข้าร่วมกิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “เศรษฐกิจวิถีใหม่กับการค้าชายแดน” ภายใต้โครงการการเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสู่การแข่งขันเศรษฐกิจวิถีใหม่ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 9 (DIPROM Center9) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมรับฟังการเสวนาเพื่อการบริหารจัดการเงินทุน และการจัดหาแหล่งทุนเพื่อ SMEs จากผู้เชี่ยวชาญและสถาบันการเงิน ระหว่างวันที่ 7-8 ธันวาคม 2565 ณ โรงแรมเอวาด้า อำเภอเมือง จังหวัดตราด ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ตลอดการเข้าร่วมกิจกรรม สมัครได้ตั้งแต่วันนี้ - 2 ธ.ค. 2565 ลงทะเบียนสมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ตามลิงก์ สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ DIPROM Center 9 Tel : 0-3878-4064-7
10 พ.ย. 2565
ทางออกประเทศไทย ต้องมุ่งไปสู่เศรษฐกิจชีวภาพ
คอลัมน์ : คิดเห็นแชร์ (มติชนออนไลน์) ผู้เขียน : นายพลาวุธ วงศ์วิวัฒน์ (ผู้อำนวยการกลุ่มสนับสนุนการจัดตั้งธุรกิจ กองส่งเสริมผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) สวัสดีท่านผู้อ่านคอลัมน์คิดเห็นแชร์ทุกท่านครับ เศรษฐกิจไทยปีนี้ คาดว่าจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.5 โดยมีแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของธุรกิจภายในประเทศและภาคการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อ ยังส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันและสินค้าหลายรายการ ทำให้ต้นทุนของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจสูงขึ้น แนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปี 2566 อาจชะลอตัวและเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) นี่จึงยังคงเป็นอีกปีที่ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในสถานการณ์เช่นนี้ ภาครัฐมักอัดฉีดสภาพคล่องเข้าไปในระบบการเงิน โดยมีฐานคิดว่า ยิ่งมีเงินหมุนเวียนมาก ยิ่งมีรายได้มาก ซึ่งการทำเช่นนี้ส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อและหนี้สินตามมา ภาครัฐจึงต้องกู้เงินจากต่างประเทศกว่า 1 ล้านล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาโควิด-19 รวมทั้งกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ จึงเกิดมาตรการคนละครึ่ง ที่ช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายของประชาชน ตั้งแต่ปลายปี 2563 ซึ่งมีมาแล้ว 5 เฟส ใช้งบประมาณไปแล้วกว่า 2 แสนล้านบาท และกำลังเตรียมการในเฟสที่ 6 อีก 17,000 ล้านบาท ซึ่งมาตรการนี้ มีการร่วมจ่ายเงิน ทำให้ดีกว่าการให้เงินเปล่า และยังเป็นการดึงเงินออกมาหมุนเวียนแทนการเก็บออมเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม การอัดฉีดลักษณะนี้ จะเกิดประโยชน์สูงสุดกับคนไทย เมื่อเม็ดเงินหมุนเวียนภายในประเทศ แต่เมื่อดูโครงสร้างต้นทุนสินค้าแล้ว พบว่าเม็ดเงินส่วนหนึ่งถูกใช้เป็นค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและโลจิสติกส์ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลพวงจากสถานการณ์โลกที่ดันให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยประเทศไทยจัดเป็นผู้นำเข้าน้ำมัน แม้จะผลิตเองได้บ้าง ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่เราต้องปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและหันมาพึ่งพาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) ที่ใช้ทรัพยากรพื้นฐานภายในประเทศ ด้วยเกษตรอุตสาหกรรมและยกระดับเทคโนโลยีทางชีวภาพ เศรษฐกิจชีวภาพ เป็นการนำเทคโนโลยีชีวภาพมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ ด้วยการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรให้มีคุณค่าและมูลค่าสูงขึ้น ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพและมีความสมบูรณ์ของทรัพยากรเป็นทุนเดิม ที่ผ่านมา จึงไม่ได้โฟกัสในการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพให้เป็นรูปธรรมเท่าที่ควร ซึ่งผมจะอธิบายถึงเศรษฐกิจชีวภาพในมุมมองของนักวิชาการอุตสาหกรรม ดังนี้ ภาคอุตสาหกรรมการผลิตหรือแปรรูปสินค้า มีทั้งที่ใช้วัตถุดิบที่มาจากสิ่งมีชีวิต เช่น พืช สัตว์ หรือจุลินทรีย์ ที่ผลิตเพิ่มและสร้างทดแทนได้โดยอาศัยภาคการเกษตร และที่ใช้วัตถุดิบไม่มีชีวิต ได้แก่ เชื้อเพลิง โลหะ และแร่ธาตุต่างๆ ที่ใช้แล้วหมดไป ซึ่งรูปแบบของเทคโนโลยีการผลิตหรือแปรรูปสินค้าใช้วัตถุดิบจากสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็น 1) การผลิตหรือแปรรูปวัตถุดิบจากภาคการเกษตร และ 2) การใช้เทคโนโลยีของกระบวนการดำรงชีวิตของจุลินทรีย์เพื่อแปรรูปและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ จึงเป็นเทคโนโลยีสำคัญในเศรษฐกิจชีวภาพของไทย ทั้งยังสอดรับกับหลักความยั่งยืน เนื่องจากลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีจำกัด ในมุมมองของการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย เป้าหมายสำคัญ คือ การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ ซึ่งหมายถึงการลดการนำเข้าวัตถุดิบและพลังงานต่างๆ เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ผมจึงอยากแนะนำให้รู้จักตลาดพื้นฐานสำคัญของภาคอุตสาหกรรม 4 ประเภท ได้แก่ 1. ส่วนประกอบของอาหาร (Food Ingredients) เป็นการแปรรูปวัตถุดิบทางการเกษตรหรือการใช้เทคโนโลยีชีวภาพในการแปรรูปให้เป็นส่วนประกอบอาหาร เครื่องปรุง หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งไทยมีจุดเด่นด้านนี้ หากเราสามารถเพิ่มการใช้เทคโนโลยีเพื่อแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเป็นส่วนประกอบของอาหาร เช่น โปรตีนผง วัตถุดิบผง ที่เก็บได้นานขึ้นและสามารถใช้ปรุงเพิ่มเติมเพื่อเสริมคุณค่าได้ ก็จะช่วยลดความสูญเสียและความเสี่ยงด้านราคา และนำไปสู่การสร้างสรรค์สินค้าใหม่ๆ ที่เรียกว่าอาหารแห่งอนาคตได้ 2. วัสดุฐานชีวภาพ (Bio-based Materials) ซึ่งไม่ใช่วัสดุชีวภาพ (Biomaterials) ที่เข้ากันได้กับร่างกายมนุษย์ แต่เป็นการแปรรูปวัสดุจากพืชเพื่อทดแทนโลหะ หรือพลาสติก อาทิ ไม้อัด กระดาษ ยางธรรมชาติ หรือพลาสติกชีวภาพ ตัวอย่าง เช่น การเปลี่ยนรั้วกั้นถนนที่ทำจากแผ่นปูนเป็นแผ่นยาง หรือการใช้ยางธรรมชาติผสมกับยางมะตอยราดพื้นถนน เพื่อลดการใช้ยางมะตอยที่ผลิตจากปิโตรเคมี 3. เชื้อเพลิงชีวภาพ (Bio Fuels) เป็นเชื้อเพลิงที่ได้จากอินทรียวัตถุ ประกอบด้วย 1) ประเภทของแข็ง เช่น ไม้ ถ่าน ชีวมวล 2) ประเภทของเหลว เช่น เอทานอล เมทานอล น้ำมันพืช 3) ประเภทก๊าซ เช่น ก๊าซมีเทน หากเราส่งเสริมการปลูกพืชพลังงาน เช่น มันสำปะหลังและข้าวโพด ก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการลดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงและเพิ่มการใช้พลังงานทดแทน เพื่อช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานและการขนส่ง 4. เคมีชีวภาพ (Biochemicals) เป็นการผลิตสารเคมีชีวภาพที่ใช้ทดแทนสารเคมีจากปิโตรเลียม ด้วยกระบวนการทางชีวภาพ เรียกว่า อุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรี่ (Biorefinery) ซึ่งใช้การหมักดองหรือกลั่นวัตถุดิบเพื่อให้ได้สารเคมีชีวภาพประเภทกรดหรือแอลกอฮอล์ รวมถึงการใช้เส้นใยจากวัสดุชีวมวลทางการเกษตร เช่น ฟางข้าว ทะลายปาล์ม ชานอ้อย มาย่อยเป็นเส้นใยขนาดเล็กในรูปแบบโพลิเมอร์ เพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อื่นต่อไปเช่น พลาสติกชีวภาพ ที่คงความแข็งแรงแต่ย่อยสลายง่าย หรือเพื่อใช้ทดแทนวัสดุปกติ แล้วแต่ชนิดของพลาสติกนั้นๆ ท่านผู้อ่านครับ การมองตลาดพื้นฐานสำคัญของภาคอุตสาหกรรม ทั้ง 4 ประเภทนั้น เปรียบเสมือนการมองโครงสร้างพื้นฐานของอุตสาหกรรมสนับสนุนใหม่ ซึ่งส่งผลถึงซัพพลายเชนที่เป็นวัตถุดิบทางการเกษตรใหม่ๆ ของไทย ช่วยเพิ่มทางเลือกในการเพาะปลูกที่มากกว่าพืชเศรษฐกิจเดิม ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด ปาล์ม มันสำปะหลัง ยางพารา อีกทั้งยังเป็นการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ลดการนำเข้า โดยใช้ฐานการผลิตจากสภาพแวดล้อมที่เกื้อหนุนเกษตรกรรมในประเทศ ที่ยังต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน เพราะหากไม่มีการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม ก็คงไม่มีใครกล้าเสี่ยง เนื่องจากไม่มีตลาดรองรับ แต่หากวัตถุดิบในประเทศไม่เพียงพอ ภาคอุตสาหกรรมก็คงไม่ลงทุน เพราะการนำเข้าจะทำให้ต้นทุนสูง ดังนั้น เศรษฐกิจชีวภาพจึงเป็นทางออกของประเทศไทย ที่จะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อทุกภาคส่วนร่วมมือร่วมใจกันและเกษตรอุตสาหกรรมจะเป็นกลไกสำคัญที่ส่งไปถึงครับ ที่มา : https://www.matichon.co.th/economy/news_3656098
10 พ.ย. 2565
เปิดรับสมัครผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)
เปิดรับสมัครผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริม SMEs ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ในสาขาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง หรืออุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ( ในพื้นที่ จังหวัดอุดรธานี หนองคาย และจังหวัดบึงกาฬ ) เกษตรแปรรูปเชิงพาณิชย์ (Agro SMEs DIPROM) ปีงบประมาณ 2566 เพื่อพัฒนา หรือต่อยอดผลิตภัณฑ์ โดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการพัฒนา ผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์ เข้าให้คำแนะนำเชิงลึก ณ สถานประกอบการ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เข้าร่วมโครงการดังกล่าว...สามารถสมัครทางออนไลน์ได้ที่ ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มพัฒนาการส่งเสริมธุรกิจอุตสาหกรรม ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 4 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม น.ส.พรรณิการ์ บัวงาม ตำแหน่งนักวิชาการอุตสาหกรรม โทร. 086-639-1109
09 พ.ย. 2565
ขอเชิญเข้าร่วมหลักสูตรปั้นนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม
โครงการปั้นนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม เปิดรับเกษตรกรรายย่อยที่อยู่ในวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร สถาบันเกษตรต่าง ๆ ทายาทเกษตรกร ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จำนวน 40 คน เข้าร่วมหลักสูตรปั้นนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม ฟรี!! ลงทะเบียนสมัครได้ตั้งแต่ บัดนี้ จนถึง 30 พฤศจิกายน 2565 สนใจสมัครได้ที่ ได้ที่ลิงค์ สแกน QR code เพื่ออ่านรายละเอียดโครงการ ดำเนินการโดย ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 3 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ติดต่อสอบถาม jasmine.mumu 0805044173 พรวิไลลักษณ์ (มะลิ)
08 พ.ย. 2565
ขอเชิญสถานประกอบการเข้าร่วมกิจกรรม พัฒนาระบบโลจิสติกส์ภายในองค์กร Logistics Simulation
กลุ่มพัฒนาระบบโลจิสติกส์ ขอเชิญสถานประกอบการเข้าร่วมกิจกรรม พัฒนาระบบโลจิสติกส์ภายในองค์กร Logistics Simulation สมัครฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย รับจำนวนจำกัด วันนี้ ถึง 30 พ.ย.65 ลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมได้ที่ สิ่งที่ผู้ประกอบการจะได้รับตลอดโครงการ โปรแกรม/เครื่องมือที่ช่วยบริหารจัดการโลจิสติกส์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่จะให้คำปรึกษา และวินิจฉัยสถานประกอบการเชิงลึก จำนวน 6 ครั้ง ณ สถานประกอบการ การวิเคราะห์ปัญหาและการแก้ปัญหาเชิงลึก
08 พ.ย. 2565
ประกาศรับสมัครจ้างเหมาบริการ ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานสนับสนุนด้านทรัพยากรบุคคล
ประกาศรับสมัครจ้างเหมาบริการ ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานสนับสนุนด้านทรัพยากรบุคคล กลุ่มบริการทรัพยากรบุคคล สำนักงานเลขานุการกรม Download ใบสมัครที่นี่ Download รายละเอียดการรับสมัครได้ที่นี่
08 พ.ย. 2565