Category
“อธิบดีณัฏฐิญา” ระดมทีมดีพร้อม รับฟังความเห็นจากภาคเอกชน เพื่อหาแนวทางรับมือการขึ้นภาษีสหรัฐฯ เน้นตรวจสอบแหล่งกำเนิดในไทย ป้องกันการสวมสิทธิส่งออก พร้อมเซฟ ผปก.ไทย ให้ปรับตัวทุกมิติ ตามนโยบาย รมว.เอกนัฏ
กรุงเทพฯ 23 เมษายน 2568 - นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานการประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรมไทยที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการขึ้นภาษีของประเทศสหรัฐอเมริกาต่อไทย ร่วมด้วย นายสุรพล ปลื้มใจ และ นายดุสิต อนันตรักษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาพันธ์สมาคมอุตสาหกรรมสนับสนุน สมาคมสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย สถาบันยานยนต์ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIPROM) ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 6 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Headquarter) ถ.พระรามที่ 6 ราชเทวี การประชุมครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไทยที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการขึ้นภาษีของสหรัฐอเมริกาในกลุ่มประเทศที่ทำการค้าเกินดุล จำนวน 60 ประเทศ ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยที่มีผู้ประกอบการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ จำนวน 15 รายการ ใน 5 อุตสาหกรรม ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยางและผลิตภัณฑ์ยาง สินค้าเกษตร และอัญมณีและเครื่องประดับ โดยผู้แทนจากเอกชนร่วมกันเสนอข้อคิดเห็นและสะท้อนมุมมองความต้องการที่จะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เพื่อเสริมความเข็มแข็งให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมไทย รวมถึงลดผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว อาทิ การกำหนดมาตรการ กฎหมาย และบทลงโทษอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะสาระสำคัญในกระบวนการผลิต การยืนยันแหล่งที่มาของสินค้าว่ามีแหล่งกำเนิดในไทยเพื่อป้องกันการสวมสิทธิส่งออก การกำหนดมาตรฐานสินค้าเพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าราคาถูกแต่ไม่ได้คุณภาพ การส่งเสริมและเชื่อมโยงผู้ประกอบการไทยให้สามารถเข้าถึงตลาดใหม่ ๆ การทบทวนหลักเกณฑ์ในการส่งเสริมการลงทุน เพื่อกลั่นกรองประะเภทอุตสาหกรรมจากต่างประเทศที่เข้ามาลงทุน การเป็นคนกลางเพื่อเชื่อมโยงและอำนวยความสะดวกในการเจรจาคู่ค้าทางธุรกิจในสหรัฐฯ เพื่อรักษาตลาดส่งออก รวมถึงกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อการป้องกันสินค้าจีนเข้ามาแย่งพื้นที่ส่วนแบ่งตลาดสินค้าของไทย นอกจากนี้ มีการเสนอให้รัฐบาลบูรณาการการทำงานเชิงนโยบาย รวมถึงการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ - เอกชน เพื่อปรับแผนรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ทันท่วงที ตลอดจนการสนับสนุนการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐให้มีสัดส่วนการใช้สินค้าของไทยเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ “ดีพร้อม” ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่มีบทบาทและภารกิจในการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไทย จะเร่งนำข้อมูลและความคิดเห็นในการประชุมฯ ไปใช้ในการกำหนดแนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไทยที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้รับผลกระทบจากการออกมาตรการดังกล่าวของสหรัฐฯ โดยการใช้กลไกและเครื่องมือต่าง ๆ ของดีพร้อม คือ 1) การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก 2) การนำเทคโนโลยี ดิจิทัล นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์มาประยุกต์ใช้ 3) การสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน 4) การเชื่อมสิทธิประโยชน์ 5) การเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตร และ 6) การผลักดันธุรกิจสู่สากล โดยใช้กลไก 4 ให้ 1 ปฏิรูป ภายใต้นโยบาย “ดีพร้อมคอมมูนิตี้ ที่นี่มีแต่ให้” ของนางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมเน้นการพัฒนาให้ผู้ประกอบการของไทยมีขีดความความสามรถและศักยภาพในการแข่งขัน พร้อมรับมือและสามารถปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในทุกมิติ สอดรับกับตามนโยบาย "สู้ เซฟ สร้าง" ภายใต้แนวทาง "ปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส" ของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มุ่งพัฒนาภาคอุตสาหกรรม ควบคู่กับการปกป้องเอสเอ็มอีไทยโดยการเสริมแกร่งห่วงโซ่อุปทาน และสร้างโอกาส และความเท่าเทียมในการแข่งขัน เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน
28 เม.ย. 2025
“อธิบดีณัฏฐิญา” มอบแนวทางการส่งเสริมข้าราชการดีพร้อมที่รับทุนรัฐบาล (ทุน ก.พ.) มุ่ง "ปฏิรูป" การพัฒนาศักยภาพและการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง
กรุงเทพฯ 23 เมษายน 2568 - นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณารับทุนรัฐบาลตามความต้องการของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ครั้งที่ 1/2568 พร้อมด้วยนายสุรพล ปลื้มใจ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 3 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Headquarter) และในรูปแบบออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชั่น Zoom Meeting การประชุมในครั้งนี้ ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการฯ ได้รายงานผลการคัดเลือกข้าราชการเพื่อรับทุนรัฐบาลตามความต้องการของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ซึ่งคณะกรรมการมีมติพิจารณาจัดสรรทุนรัฐบาล (ทุน ก.พ.) ของ ดีพร้อม จำนวน 2 ทุน คือ 1. ทุนศึกษา (ปริญญาโท) หน่วยทุนที่ 113 Social and Behavioural sciences สาขา Economics และ 2. ทุนฝึกอบรม หน่วยทุนที่ 205 Natural Sciences, Mathematics and Statistics สาขา Climate change and industrial development โดยมีเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกข้าราชการเพื่อรับทุนรัฐบาลดังกล่าวโดยใช้วิธีการสัมภาษณ์ ซึ่งผู้ที่ผ่านเกณฑ์จะต้องได้รับคะแนนเฉลี่ยรายข้อไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 และคะแนนเฉลี่ยภาพรวมไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 โดย “อธิบดีณัฏฐิญา” ได้ให้แนวทางในที่ประชุมว่า ควรมีการกำหนดกรอบแนวทางในการหมุนเวียนการปฏิบัติงาน สำหรับข้าราชการที่ได้รับการคัดเลือกให้ได้รับทุนรัฐบาล เพื่อให้มีโอกาสได้นำความรู้และทักษะที่ได้จากการเรียนหรืออบรมมาปฏิบัติงานอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ โดยให้คณะกรรมการฯ พิจารณากำหนดการหมุนเวียนการปฏิบัติงานต่อไป ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปดีพร้อม ภายใต้นโยบาย "ดีพร้อมคอมมูนิตี้ ที่นี่มีแต่ให้"
28 เม.ย. 2025
“รสอ.สุรพล” ร่วมประชุมกับคณะอนุฯ ของบปี 69 เน้นยกระดับทักษะ ผปก.ไทย รับเศรษฐกิจใหม่ ตามนโยบาย “อธิบดีณัฏฐิญา”
กรุงเทพฯ 24 เมษายน 2568 - นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม มอบหมายให้นายสุรพล ปลื้มใจ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมด้วยนายพลาวุธ วงศ์วิวัฒน์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน (กง.กสอ.) เข้าร่วมประชุมกับคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ CB 401 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา โดยมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมเข้าประชุมด้วย ในการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาคำของบประมาณด้านการพัฒนาทักษะ (Reskill) และการส่งเสริมอุตสาหกรรม เพื่อรวบรวมข้อมูลสำหรับการศึกษา วิเคราะห์ และจัดทำรายงานเสนอรัฐสภา โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM) ได้เสนอคำของบประมาณโครงการพัฒนาทักษะ ความรู้ และศักยภาพของประชาชนทั่วไปและผู้ประกอบการ มุ่งเน้นการ ยกระดับทักษะเดิม (Upskill) สร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นต่อการทำงาน (Reskill) และทักษะใหม่ที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างเศรษฐกิจอุตสาหกรรมยุคใหม่ (New Skill) ทั้งนี้ กรมฯ ยังได้เสนอแนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านจากอุตสาหกรรมเดิมสู่เศรษฐกิจใหม่ ภายใต้นโยบาย “ดีพร้อมคอมมูนิตี้ ที่นี่มีแต่ให้” ของอธิบดีณัฏฐิญา เนตยสุภา
28 เม.ย. 2025
“ดีพร้อม” ร่วมประชุมคณะกรรมการจริยธรรมฯ มุ่งส่งเสริมการสร้างคุณธรรม จริยธรรมในองค์กรให้ยั่งยืน ผลักดันการทำงานด้วยความซื่อสัตย์โปร่งใสตาม "นโยบาย รมว.เอกนัฏ"
กรุงเทพฯ 24 เมษายน 2568 - นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการจริยธรรม ประจำกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ครั้งที่ 1/2568 ร่วมด้วย นางบุญเจือ วงษ์เกษม และนายเพทาย ล่อใจ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และนายติณห์ เจริญใจ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 4 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยมี นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานกรรมการประชุม ณ ห้องประชุม 3 ชั้น 3 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Headquarter) ถนนพระรามที่ 6 การประชุมครั้งนี้ ฝ่ายเลขานุการฯ ได้รายงานผลการดำเนินงานที่ผ่านมา พร้อมแจ้งที่ประชุมทราบ เรื่อง คำสั่งกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ที่มีการแต่งตั้งนางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นผู้บริหารด้านการส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรม (Chief Ethic Promotion Officer - CEPO) แทนนายวาที พีระวรานุพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ซึ่งพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากครบเกษียณอายุราชการเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2567 และคัดเลือกนายติณห์ เจริญใจ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 4 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นกรรมการของคณะกรรมกรรมการจริยธรรม ประจำกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม แทนนายวัชรุน จุ้ยจำลอง ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้ร่วมกันพิจารณารายงานผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม รอบ 6 เดือน (ตุลาคม 2567 - มีนาคม 2568)โดยมีกิจรรม/โครงการที่ต้องดำเนินการตามแผนทั้งสิ้น 22 กิจกรรม ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จ 11 กิจกรรม คิดเป็นร้อยละ 50 ของแผนฯ อาทิ กิจกรรมเชิดชูคนดี ศรี กสอ. กิจกรรมรางวัลอุตสาหกรรม 2567 กิจกรรมประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อนการเป็นองค์กรคุณธรรม 2568 เป็นต้น โดยกิจกรรมตามแผนฯ มุ่งเน้นสร้างเสริมและยกระดับคุณธรรม จริยธรรมให้กับบุคลากรทุกระดับ และสร้างสภาพแวดล้อมขององค์กรให้ดีพร้อม ตามนโยบาย “ปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส” ของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มุ่งปฏิรูปดีพร้อมให้เป็นองค์กรที่ทำงานด้วยความสะอาด โปร่งใส ทั้งนี้ ที่ประชุมให้ข้อสังเกตและเสนอแนะแนวทางการดำเนินกิจกรรม "DIPROM จิตอาสาอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สังคม และสิ่งแวดล้อม แนวกันไฟป่า” โดยมอบหมายให้ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคทั้ง 11 ศูนย์ของดีพร้อม เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินโครงการ และมีหน่วยงานส่วนกลางเป็นหน่วยร่วม เพื่อเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในการทำงานจิตอาสาเพื่อสังคม และส่งเสริมด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้ดีพร้อม นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ได้เน้นย้ำให้มีการดำเนินกิจกรรมการขับเคลื่อนคุณธรรม จริยธรรมขององค์กรอย่างต่อเนื่องเพื่อความยั่งยืน และสร้าง DNA ด้านคุณธรรม จริยธรรมให้บุคลากรของดีพร้อม รวมถึงให้นำกิจกรรมส่งเสริมสุขภาวะองค์กรในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมตามแนวทางมาตรฐานองค์กรแห่งความสุข (SMEs Happy and Productive Workplace : SHAP) ไปสอดแทรกการดำเนินงานร่วมกับสถานประกอบการและหน่วยงานภายในองค์กร เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายตามเกณฑ์การประเมินองค์กรคุณธรรม
25 เม.ย. 2025
ดีพร้อม เร่งยกระดับบุคลากร "Front Desk" สู่การเป็นผู้วินิจฉัยสถานประกอบการ มุ่งขับเคลื่อนธุรกิจอุตสาหกรรมไทยให้เติบโต ตามนโยบาย รมว.เอกนัฏ
กรุงเทพฯ 22 เมษายน 2568 - นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร "ทักษะการวินิจฉัยสถานประกอบการและการให้คำปรึกษาแนะนำเบื้องต้น" โดยมีนายวุฒิชัย ประชาพร ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวรายงาน ร่วมด้วยวิทยากรและเจ้าหน้าที่ดีพร้อม ณ ห้องโมโนเคิล ชั้น 1 โรงแรมกราฟ ห้วยขวาง กรุงเทพฯ การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร "ทักษะการวินิจฉัยสถานประกอบการและการให้คำปรึกษาแนะนำเบื้องต้น" เป็นหนึ่งกลไกในการดำเนินงานของ "ศูนย์บริการธุรกิจอุตสาหกรรมดีพร้อม หรือ DIPROM BSC" โดยมีวัตถุประสงค์ให้บุคลากรได้รับการพัฒนาองค์ความรู้ที่จำเป็น อาทิ ด้านการเงิน การบัญชี และการตลาด เพื่อสามารถเป็น Front Desk หรือหน้าต่างบานแรกในการให้บริการของดีพร้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ของผู้ประกอบการที่เข้ามาขอรับบริการในด้านต่าง ๆ ทั้งกระบวนการผลิตและการดำเนินธุรกิจ ผ่านการให้คำแนะนำด้วยทักษะการวินิจฉัยสถานประกอบการที่แม่นยำ ซึ่งจะต้องมีทักษะในการเชื่อมโยงพื้นฐานองค์ความรู้เกี่ยวกับสถานประกอบการนั้น ๆ ร่วมกับข้อมูลภาพรวมทางเศรษฐกิจ เพื่อให้คำแนะนำในการประกอบธุรกิจที่เหมาะสม เช่น ผลกระทบด้านต้นทุนจากการส่งออกนำเข้า หรือการปรับตัวจากผลกระทบต่อเนื่องจากธุรกิจในประเทศคู่แข่งที่เป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชน ทั้งนี้ การนำองค์ความรู้มาใช้ในการวินิจฉัยสถานประกอบการ จะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนให้เกิดระบบมาตรฐาน ผลิตภาพ และนวัตกรรมให้ไปในทิศทางเดียวกัน จึงจำเป็นที่ต้องมีความเข้าใจระบบการทำงานภายในของธุรกิจหรือโรงงาน ทั้งด้านแรงงาน บุคลากร และเครื่องจักรในการผลิต เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลสำหรับกำหนดแนวทางการส่งเสริม สนับสนุน หรือพิจารณาให้ความช่วยเหลือสถานประกอบผ่านโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องของดีพร้อม เช่น ด้านโลจิสติกส์ ด้านความยั่งยืน ด้านการพัฒนาเชิงธุรกิจ เป็นต้น รวมถึงการนำเครื่องมือสมัยใหม่ เช่น AI และ IoT เข้ามาช่วยในการวินิจฉัยและให้คำปรึกษา ตลอดจนการพัฒนาแนวทางการทำงานในรูปแบบ "คอมมูนิตี้" ในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ร่วมกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ตามกรอบนโยบาย “ดีพร้อมคอมมูนิตี้ ที่นี่มีแต่ให้” ของ นาวสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ภายใต้กลยุทธ์ 4 ให้ 1 ปฏิรูป ซึ่งเป็นการผนึกเครื่องมือที่จำเป็นมาใช้ในการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ เพื่อให้เกิดการเติบโต สามารถสร้างรายได้ในการดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืนสอดคล้องกับนโยบาย “ปฏิรูปอุตสาหกรรม สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส” ของ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
25 เม.ย. 2025
“รสอ.ดวงดาว” ติดตามการขับเคลื่อน การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) แผนปฏิบัติการด้านป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ และแผนบริหารความเสี่ยงการทุจริต ประจำปี 68
กรุงเทพฯ 23 เมษายน 2568 - นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้รับมอบหมายจาก นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานการประชุมคณะทำงานการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงาน (ITA) และขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ และแผนบริหารความเสี่ยงการทุจริต กสอ. ครั้งที่ 2/2568 พร้อมด้วยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 3 ชั้น 3 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Headquarter) การประชุมดังกล่าว ฝ่ายเลขานุการคณะทำงานฯ ได้มีการรายงานความคืบหน้าการดำเนินการในส่วนของการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ (Open Data Integrity and Transparency Assessment: OIT) ให้ที่ประชุมได้รับทราบ ซึ่งได้มีการมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันและอัพโหลดขึ้นเว็บไซต์ เพื่อเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนและผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวได้ นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการคัดเลือกโครงการที่เป็นการดำเนินงานตามภารกิจหลักของดีพร้อม เพื่อดำเนินการจัดเก็บข้อมูลการประเมินแบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก (External Integrity and Transparency Assessment : EIT) ตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กำหนด รวมทั้งมีการรายงานแผนการประเมินความเสี่ยงการทุจริต ทั้ง 4 ประเด็น ได้แก่ 1) การอนุมัติ อนุญาต ตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 2) การใช้อำนาจตามกฎหมายหรือการให้บริการตามภารกิจ 3) การจัดซื้อจัดจ้าง และ 4) การบริหารงานบุคคล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ซึ่งที่ประชุมได้รับทราบและมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการคณะทำงานฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามมติที่ประชุม เพื่อยกระดับผลการประเมิน ITA ของดีพร้อม ให้เป็นไปตามเป้าหมาย รวมถึงสร้างความความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอนการปฏิบัติงาน ซึ่งสอดรับตามนโยบาย “ปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส” ของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มุ่งปฏิรูปดีพร้อมให้เป็นองค์กรที่ทำงานด้วยความสะอาด โปร่งใส และเปิดเผยข้อมูลได้
25 เม.ย. 2025
“รสอ.ดวงดาว” เปิดงาน “JGAB 2025” เวทีอัญมณีและเครื่องประดับอาเซียน ค้นหาดีไซน์เนอร์หน้าใหม่ ผลักดันไทยสู่ศูนย์กลางการค้าและการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับระดับโลก ตามนโยบาย รมว.เอกนัฏ
กรุงเทพฯ 23 เมษายน 2568 - นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้รับมอบหมายจาก นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดงาน Jewellery & Gem ASEAN Bangkok 2025 (JGAB 2025) งานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับแห่งภูมิภาคอาเซียน โดยมี นายมนู เลียวไพโพจน์ ประธาน อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย นายอภิชิต ประสพรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นางอภิรดี ขาวเธียร รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการ และสื่อมวลชน เข้าร่วม ณ ฮอลล์ 5-7 ชั้น LG ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ งาน Jewellery & Gem ASEAN Bangkok 2025 คือ เวทีระดับอาเซียนที่เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับให้เติบโตอย่างยั่งยืน บนพื้นฐานของนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และการเชื่อมโยงตลาดระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นการรวมตัวครั้งสำคัญของผู้ผลิต ผู้ออกแบบ ผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับทั่วโลก โดยมีผู้ประกอบการชั้นนำจากหลากหลายประเทศร่วมออกงานแสดงสินค้ารวมกว่า 400 บริษัท จาก 15 ประเทศ อาทิ จีน ฮ่องกง อินเดีย อิตาลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และตุรกี เป็นต้น นับเป็นการเปิดโอกาสให้นักลงทุนและผู้ประกอบการได้พบปะเจรจาธุรกิจ สร้างโอกาสในการเติบโตและขยายธุรกิจ นอกจากนี้ ยังเป็นพื้นที่ให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs ได้มีโอกาสแสดงศักยภาพสินค้าที่ผลิตโดยฝีมือคนไทยให้เป็นที่ประจักษ์ในระดับนานาชาติ สามารถเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างรายได้และสร้างโอกาสให้กับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ตามนโยบาย "ปฏิรูปอุตสาหกรรม ไทย สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส" ของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ทั้งนี้ “ดีพร้อม” เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งเป็นหนึ่งในสาขาอุตสาหกรรมซอฟท์พาวเวอร์ด้านแฟชั่น ผ่านการพัฒนาและสร้างทักษะ (Up-Re Skill) ที่จำเป็นในการดำเนินธุรกิจ การบริหารจัดการ รวมถึงการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการเชื่อมโยงเครือข่ายและสามารถสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับจัดตั้งและยกระดับธุรกิจแฟชั่น ซึ่งสอดรับกับนโยบาย "ดีพร้อมคอมมูนิตี้ ที่นี่มีแต่ให้" ของนางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมอีกด้วย งาน Jewellery & Gem ASEAN Bangkok 2025 มีกิจกรรม hi light ที่น่าสนใจมากมาย อาทิ - การสัมมนาระดับนานาชาติที่รวบรวมผู้เชี่ยวชาญ นักวิเคราะห์การตลาด และผู้ประกอบการชั้นนำ เพื่อร่วมกันวิเคราะห์และเจาะลึกแนวโน้มธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับในอนาคต ตลอดจนกำหนดกลยุทธ์การทำตลาดดิจิทัล และเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น AI และ Blockchain ที่เข้ามามีบทบาทในการซื้อขายอัญมณีและเครื่องประดับ - The ASEAN’s Masterpieces Gallery การจัดนิทรรศการพิเศษที่นำเสนอผลงานเครื่องประดับอันล้ำค่าจากทั่วอาเซียน สะท้อนเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม และงานฝีมืออันประณีต - The Next Gem Awards 2025 เวทีเฟ้นหานักออกแบบเครื่องประดับรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ ให้ได้มีโอกาสนำเสนอผลงานสู่ตลาดระดับโลก นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมแฟชั่นโชว์เครื่องประดับสุดอลังการ เพื่อถ่ายทอดศิลปะและความงดงามผ่านเครื่องประดับที่สะท้อนวัฒนธรรมและแนวโน้มแฟชั่นแห่งอนาคต โดยงาน Jewellery & Gem ASEAN Bangkok 2025 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 - 26 เมษายน 2568 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ คาดการณ์ว่า ปีนี้จะมีนักธุรกิจและผู้ประกอบการผลิตและออกแบบในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับให้ความสนใจเข้าร่วมงานมากกว่า 10,000 ราย และคาดว่าจะสามารถเกิดการเจรจาทางธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการจากทั่วโลกและเกิดการซื้อขายต่อไปในอนาคต
25 เม.ย. 2025
“ดีพร้อม” หารือ “เมืองโยโกฮาม่า” เตรียมกระชับความร่วมมือ ส่งเสริมผู้ประกอบการไทย-ญี่ปุ่น มุ่งเน้น  "Decarbonization (การลดคาร์บอน)" และ "Biofuel Vehicles (ยานยนต์เชื้อเพลิงชีวภาพ)" ส่งเสริมอุตสาหกรรม BCG ตามนโยบาย รมว.เอกนัฏฯ
กรุงเทพฯ 23 เมษายน 2568 - นายดุสิต อนันตรักษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้รับมอบหมาย จากนางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นประธานการประชุมหารือร่วมกับคณะผู้บริหารจากเมืองโยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่น นำโดย นายโอริอิ เรียวอิจิโระ ผู้อำนวยการสำนักงานต่างประเทศ พร้อมคณะทำงานจากเมืองโยโกฮาม่า ร่วมด้วย ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ดีพร้อมที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุม 2 ชั้น 3 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Headquarter) การประชุมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อหารือถึงทิศทางการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยและญี่ปุ่น และเป็นการสานต่อความสัมพันธ์อันดี ระหว่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) กับเมืองโยโกฮาม่า โดยได้มีการกล่าวถึงประเด็นความร่วมมือเกี่ยวกับอุตสาหกรรมยั่งยืน ภายใต้แนวคิด "Decarbonization" ที่สอดรับตาม BCG Economy Model และสอดคล้องกับทิศทางของโลก อีกทั้งสามารถเชื่อมโยงไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve Industries) และอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ เป็นต้น รวมถึงแนวคิดของ รัฐบาลญี่ปุ่นในการผลักดันให้ผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศญี่ปุ่นผลิตและใช้ “ยานยนต์เชื้อเพลิงชีวภาพ” (Biofuel Vehicles) โดย “ดีพร้อม” หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเกิดความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศ ในการสนับสนุนอุตสาหกรรมที่สอดรับและเกี่ยวข้องใน Supply Chain นอกจากนี้ ยังได้มีการหารือถึงแนวทางในการส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อมในมิติอื่น ๆ อาทิ การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในเรื่องของระบบการกำจัดกากอุตสาหกรรม ซึ่งประเทศญี่ปุ่นได้ดำเนินการอย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพ และต่อเนื่อง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้ความสำคัญ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและอยู่กับชุมชนได้อย่างยั่งยืน ตามนโยบาย "สู้ เซฟ สร้าง" ภายใต้แนวทาง "ปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส" ของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดย “ดีพร้อม” ได้ขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวผ่านการส่งเสริม สนับสนุนให้ SMEs มีการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีมาตรฐานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้กลไกต่าง ๆ ภายใต้นโยบาย “ดีพร้อมคอมมูนิตี้ ที่นี่มีแต่ให้ ของนางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
24 เม.ย. 2025
“อธิบดีณัฏฐิญา” ระดมทีมดีพร้อม เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณปี 68 พร้อมเดินเกมรุก! ยกระดับอุตสาหกรรมเต็มกำลัง ตามนโยบาย รมว.เอกนัฏ
กรุงเทพฯ 21 เมษายน 2568 - นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานการประชุมผู้บริหาร กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIPROM) ครั้งที่ 96 - 3/2568 พร้อมด้วย นางดวงดาว ขาวเจริญ นายสุรพล ปลื้มใจ และนายดุสิต อนันตรักษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ดีพร้อม เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 6 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พระรามที่ 6 (DIPROM Headquarter) และในรูปแบบออนไลน์ผ่านระบบ Zoom Meeting การประชุมดังกล่าว มีการรายงานผลการเบิกจ่ายงบประมาณและผลการดำเนินงานโครงการของหน่วยงานในไตรมาสที่ 2 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดยมีการเน้นย้ำขอให้แต่ละหน่วยงานติดตามเร่งรัดการดำเนินงานโครงการให้เป็นไปตามแผน เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการใช้จ่ายงบประมาณ พร้อมทั้งขอให้เตรียมการจัดทำเอกสารที่เกี่ยวข้องตามร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 สำหรับใช้ประกอบการชี้แจงงบประมาณฯ ในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ นอกจากนั้น ที่ประชุมได้ให้แต่ละหน่วยงานรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการสำคัญตามนโยบาย อาทิ การดำเนินงานโครงการ Soft Power ในอุตสาหกรรมแฟชั่นและอาหาร ความคืบหน้าการเข้าร่วมจัดนิทรรศการแสดงศักยภาพอุตสาหกรรมสู่ตลาดโลกในงาน Expo 2025 Osaka Kansai และความคืบหน้าการเตรียมการจัดงานอุตสาหกรรมแฟร์ ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการบูรณาการร่วมกับกระทรวงคมนาคมในการจัดงานมหกรรมสินค้า โดยเครือสหพัฒน์จะร่วมนำสินค้าอุปโภคบริโภคมาจัดจำหน่ายในราคาประหยัด ร่วมกับ SMEs /OTOP จะนำสินค้ามาจำหน่าย เป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการและกระตุ้นเศรษฐกิจ สอดรับกับนโยบายของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่เน้นการปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ให้ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส เพื่อสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันของ SMEs ไทย นอกจากนี้ “อธิบดีณัฏฐิญา” ได้ติดตามเรื่องการปรับปรุงการดำเนินงานของเงินทุนหมุนเวียน เพื่อให้มีความเข้มแข็งและสามารถเป็นแหล่งทุนในการสนับสนุนผู้ประกอบการได้อย่างมีประสิทธิภาพ การติดตามรายงานการตรวจสอบอาคารและแนวทางการปรับเสริมกำลัง (สล.กสอ.) โครงสร้างอาคารของดีพร้อม พระรามที่ 6 (DIPROM Headquarter) และพระรามที่ 4 (DIPROM Rama IV Campus) รวมทั้งความคืบหน้าการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อรองรับการจัดเก็บข้อมูลผู้สมัครเข้าร่วมกิจกรรม การแจ้งเตือน และรายงานสถานะการจัดซื้อจัดจ้างภายใต้โครงการ Soft Power ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ทำให้สามารถติดตามและควบคุมการเร่งรัดเบิกงจ่ายงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการปฏิรูปการดำเนินงานของดีพร้อมให้รองรับการให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามนโยบาย “ดีพร้อมคอมมูนิตี้ ที่นี่มีแต่ให้” ของ นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม อีกด้วย
24 เม.ย. 2025
“รสอ.ดวงดาว" ร่วมประชุมบอร์ดสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ วิเคราะห์ปัจจัยความเสี่ยงเพื่อกำหนดแผนการดำเนินงานด้านอัญมณีและเครื่องประดับไทย ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมตามนโยบายของ "รมว.เอกนัฏ"
กรุงเทพฯ 22 เมษายน 2568 - นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้ นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2568 โดยมีคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมชั้น 6 อาคารสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ และในรูปแบบออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชั่น Zoom Meeting การประชุมดังกล่าว มีการรายงานให้ที่ประชุมให้ทราบเกี่ยวกับสถานการณ์การนำเข้าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2568 มีมูลค่าการนำเข้า 4,768.29 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีการนำเข้าสินค้าหลัก คือ ทองคำ รองลงมา คือ เครื่องประดับแท้ พลอยสี เพชรเจียระไน และโลหะเงิน ในด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น คิดเป็นมูลค่า 6,133.71 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งตลาดสำคัญในการส่งออกของไทย ได้แก่ อินเดีย สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และอิตาลี โดยปัจจัยบวกส่งเสริมการส่งออก คือ ความต้องการบริโภคอัญมณีและเครื่องประดับเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลสำคัญ และความนิยมพลอยสีทั้งพลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไนเพิ่มมากขึ้น ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม คือ การปรับเปลี่ยนนโยบายการค้าของสหรัฐอเมริกา ซึ่งการขึ้นภาษีนำเข้าอาจทำให้ไทยส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไปยังสหรัฐอเมริกาได้ลดลง ในขณะที่ความผันผวนของราคาทองคำ ซึ่งมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อความต้องการ ทั้งนี้ มีการรายงานให้ที่ประชุมทราบข้อมูลรายได้จากผลการดำเนินงานประจำเดือนมีนาคม 2568 ที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นรายได้ที่มาจากค่าบริการการตรวจสอบอัญมณี การตรวจสอบโลหะ และการฝึกอบรม เป็นหลัก นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้ร่วมกันพิจารณาผลการดำเนินงานของสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ ตามข้อกำหนดของสำนักงาน ก.พ.ร. รอบ 6 เดือน (ตุลาคม 2567 - มีนาคม 2568) โดยประเมินจากการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ คือ 1. การยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมอัญมณี โลหะมีค่าและเครื่องประดับของประเทศไทยให้ครอบคลุมด้านธรรมาภิบาลและความยั่งยืน 2. การส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรม โดยมุ่งเน้นการพัฒนาต่อยอดเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่ออุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทย 3. การเป็นศูนย์กลางความร่วมมือของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในตลาดโลก 4. การเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านอัญมณีและเครื่องประดับของไทยอย่างครบวงจร และ 5. การพัฒนาไปสู่องค์กรดิจิทัลที่มีสมรรถนะสูงและเสริมสร้างภาพลักษณ์ความเป็นมืออาชีพขององค์กรไปสู่ระดับสากล รวมทั้งมีการพิจารณาการบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายในของสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ เพื่อให้การดำเนินงานด้านอัญมณีและเครื่องประดับไทย เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรม ตามนโยบาย “ปฏิรูปอุตสาหกรรม สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส” ของ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
24 เม.ย. 2025