“รัฐมนตรีฯ พิมพ์ภัทรา” นั่งหัวโต๊ะ แถลงยืนยัน เหตุเพลิงไหม้ที่มาบตาพุดไร้กังวลแจงดับสนิทแล้ว พร้อมส่งทีมแพทย์ดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่ ด้าน “วีริศ” กำชับทุกนิคมฯ เข้มงวดมากขึ้น อย่าให้เกิดซ้ำอีก!
จ.ระยอง 10 พฤษภาคม 2567 - นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่บริษัท มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด จ.ระยอง โดยมี นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวไพลิน เทียนสุวรรณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายวิษณุ ทับเที่ยง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม รองศาสตราจารย์วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย และคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ณ บริษัท มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด
การลงพื้นที่ดังกล่าว สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว โดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และบริษัทฯ ได้ทำการควบคุมเพลิงไว้ได้อย่างเด็ดขาด แต่ขณะเดียวกันยังทำการฉีดโฟมหล่อเย็นไว้ เพื่อควบคุมอุณหภูมิจากสภาวะอากาศที่มีอุณหภูมิสูง ด้านการดูแลประชาชนในพื้นที่โดยรอบนั้น ได้อพยพประชาชนไปยังที่ทำการชุมชนตากวนอ่าวประดู่ จ.ระยอง รวมทั้งประสานกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยคณะสหเวชศาสตร์ เพื่อส่ง
ทีมแพทย์เข้ามาดูแลสุขภาพ และตรวจรักษาให้กับพี่น้องประชาชนแล้ว ส่วนการตรวจวัดคุณภาพน้ำชุมชนโดยรอบพื้นที่ โดยรถโมบายของสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด (สนพ.) จำนวน 2 จุด ได้แก่ คลองชากหมาก และบริเวณบริษัท ไทยพลาสติกเคมีภัณฑ์ พบว่าคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ขณะที่คุณภาพในบรรยากาศพบว่า ผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศจำนวน 3 จุด ได้แก่ จุดตรวจสถานีอนามัยตากวน จุดตรวจสถานีหนองเสือเกือก และจุดตรวจสถานีเทศบาลเมืองมาบตาพุด อยู่ในเกณฑ์ปกติ “สำหรับผู้ได้รับบาดเจ็บ 5 ราย และเสียชีวิต 1 ราย เบื้องต้นทางบริษัทฯ ยืนยันว่าจะดูแลและเยียวยาอย่างเต็มที่ และดิฉันได้มอบเงินช่วยเหลือให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย
นอกจากนี้ ยังกำชับ กนอ. ให้กำกับดูแลการประกอบกิจการในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม และท่าเรืออุตสาหกรรมอย่างเข้มงวดและรัดกุมมากขึ้น อีกทั้งต้องกำกับให้ปฏิบัติตามกฎข้อบังคับตาม พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535 ที่แก้ไขเพิ่มเติมอย่างจริงจังด้วย” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า กนอ. จะตรวจวิเคราะห์หาสาเหตุของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยเร่งด่วน จัดทำมาตรการด้านความปลอดภัยเพื่อป้องกันการเกิดซ้ำ ซึ่งต้องได้รับการรับรองจากหน่วยงานภายนอกที่ให้การรับรองด้านความปลอดภัย (Third Party) พร้อมทั้งชี้แจงแนวทางและมาตรการในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเกิดอุบัติเหตุดังกล่าวด้วย อย่างไรก็ตาม ได้กำชับทุกนิคมอุตสาหกรรมให้เพิ่มความเข้มงวดของมาตรการรักษาความปลอดภัยภายในพื้นที่ ตามมาตรฐาน “การจัดการความปลอดภัยกระบวนการผลิต”(Process Safety Management : PSM) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบกิจการ และประชาชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรม เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน