รัฐมนตรีฯ พิมพ์ภัทรา นำคณะผู้บริหาร ลุยเหนือ ดัน ซอฟส์พาวเวอร์ อุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ
จ.เชียงใหม่ 2 พฤศจิกายน 2566 - นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่เชียงใหม่ หารือร่วมเอกชน ถึงแนวทางขับเคลื่อน ภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย นางสาวศิรินันท์ ศิริพานิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวไพลิน เทียนสุวรรณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายเอกภัทร วังสุวรรณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และคณะผู้บริหารระดับสูง กระทรวงอุตสาหกรรม เข้าร่วม โดยมี นางพัชรี ใบยา อุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ และหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ที่เกี่ยวข้องร่วมต้อนรับ ณ ห้องประชุมนารายณ์ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่
สำหรับในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ มีผู้ประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรม จำนวน 1,066 โรง 73 ราย มีจำนวนการจ้างงาน 35,277 คน โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มการผลิตอื่น ๆ เช่น ขุดดิน ดูดทราย ผลิตไฟฟ้า คัดแยกวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว จำนวน 214 โรงงาน กลุ่มผลิตภัณฑ์จากพืช เช่น สีข้าว อบพืชผลทางการเกษตร คัดแยกขนาดผลผลิตทางการเกษตร จำนวน 185 โรงงาน กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร เช่น ผลิตน้ำแข็ง เครื่องดื่ม แปรรูปผลผลิตทางการเกษตร จำนวน 172 โรงงาน กลุ่มผลิตภัณฑ์อโลหะ เช่น ผลิตคอนกรีตผสมเสร็จ อิฐ เซรามิค จำนวน 120 โรงงาน และกลุ่มผลิตยานพาหนะ และอุปกรณ์รวมทั้งการซ่อมยานพาหนะและอุปกรณ์ จำนวน 96 โรงงาน นอกจากนี้ ยังมีประทานบัตรเปิดการทำเหมือง จำนวน 11 ประทานบัตร
สำหรับผลงานสำคัญในปีงบประมาณ ที่ผ่านมา ได้แก่ โครงการเตรียมความพร้อมพื้นที่อุตสาหกรรมสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้กับโรงงานในพื้นที่ การบูรณาการข้อมูลสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และสัดส่วนพื้นที่สีเขียว กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่รับผิดชอบ สนับสนุนให้โรงงานในพื้นที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ตลาดชุมชน เพื่อสร้างการกระจายรายได้สู่ชุมชนอย่างยืน อีกทั้งยังผลักดันให้โรงงานในพื้นที่จัดกิจกรรม CSR และการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ร่วมกับชุมชนในพื้นที่ เพื่อสร้างเครือข่ายดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม โครงการสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรมสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจเชียงใหม่ (Chiang Mai Startup Driven Economy) บ่มเพาะ Startup ในจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 60 ราย โครงการพัฒนาศูนย์กลางอุตสาหกรรมและธุรกิจกาแฟในภูมิภาค ระยะที่ 2 บ่มเพาะผู้ประกอบการ และเกษตรกรในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 จำนวน 40 ราย โครงการส่งเสริมตลาดเชิงรุกผลิตภัณฑ์เมืองเชียงใหม่ สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์และสินค้าสร้างสรรค์จังหวัดเชียงใหม่ และโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เพื่อชุมชน
รัฐมนตรีฯ พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า รัฐบาลพร้อมสนับสนุนศักยภาพภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย ให้สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก โดยมีโยบายในการส่งเสริมการจัดทำโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อดึงดูดการลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศให้มากยิ่งขึ้น พร้อมส่งเสริมอุตสาหกรรมเศรษฐกิจ ด้วยการสร้าง ซอฟส์พาวเวอร์ ให้มีความเข้มแข็ง พร้อมทั้งขอบคุณสภาอุตสาหกรรม ที่สนับสนุนกระทรวงฯ เพราะการจะทำให้เศรษฐกิจอุตสาหกรรมเติบโตได้ จะต้องอาศัยการสนับสนุนจากภาคผู้ประกอบการ ซึ่งที่ผ่านมา ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น การจัดกิจกรรมต่าง ๆ การจัดมหกรรมแสดงสินค้า และอุตสาหกรรมแฟร์
ทั้งนี้ ปลัดฯ ณัฐพล กล่าวเพิ่มเติมว่า จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเมืองท่องเที่ยว ดังนั้น ซอฟส์พาวเวอร์ ที่ดีที่สุดของเชียงใหม่ ต้องเน้นไปในเรื่องของการท่องเที่ยวเป็นหลัก ส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย NEC (ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ) ได้แก่ 1. อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เช่น กิจกรรมการออกแบบและพัฒนาเชิงสร้างสรรค์ เขตอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ ซีรีส์ เป็นต้น 2. อุตสาหกรรมดิจิทัล เช่นกิจกรรมพัฒนาซอฟต์แวร์ แพลตฟอร์มเพื่อให้บริการดิจิทัล ซอฟส์แวร์ ดีไซส์ ตามโจทย์ที่ว่าอยู่ที่ไหนในโลกก็สามารถ ทำงานได้ 3. อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และ 4. อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ด้วยการส่งเสริมอาหารที่เป็นต้นทุนสำคัญของประเทศไทย ให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม) รายงาน