ปลัดฯ ณัฐพล เยือนแดนบั้งไฟพญานาค ย้ำ สอจ. นำนโยบาย MIND กำกับดูแลโรงงานครอบคลุมทั้ง 4 มิติ พร้อมกำชับให้กำหนดหลักเกณฑ์ส่งเสริมการประกอบการที่ดีให้ภาคอุตสาหกรรมเติบโตอย่างยั่งยืน
จ.หนองคาย 25 สิงหาคม 2566 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นำคณะผู้บริหาร MIND ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามผลการดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับ ดูแล และส่งเสริมการประกอบการเหมืองแร่ ตามแนวอุตสาหกรรมวิถีใหม่ "เหมืองแร่ดี คู่ชุมชน" ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ พร้อมด้วยนางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายวิษณุ ทับเที่ยง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายเดชา จาตุธนานันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวณิรดา วิสุทธิชาติธาดา ผู้ช่วยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นางสุชาดา โพธิ์เจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหาร MIND โดยมีอุตสาหกรรมจังหวัดหนองคายและบึงกาฬ ให้การต้อนรับ ณ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดหนองคาย
นายสุรศักดิ์ จันทร์ชุม อุตสาหกรรมจังหวัดหนองคาย นำเสนอข้อมูลอุตสาหกรรมของจังหวัดหนองคาย มีโรงงานอุตสาหกรรม 223 โรงงาน อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ เช่น อาหาร แปรรูปผลิตภัณฑ์จากไม้ ยานพาหนะและอุปกรณ์ มีเหมืองแร่ 1 เหมือง มีอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรเป็นเป้าหมายมุ่งต่อยอดสู่อุตสาหกรรมชีวภาพ ภายใต้ BCG Model โดยขณะนี้มีโรงงานลงระบบศูนย์ข้อมูลกลางกระทรวงอุตสาหกรรม (i-industry) และระบบรายงานข้อมูลกลางของกระทรวงอุตสาหกรรม (iSingleForm) ครบแล้ว 100% ส่วนในด้านนโยบาย MIND 4 มิติ บริษัท ถาวรอุตสาหกรรมยางพารา (อีสาน) จำกัด ผลิตยางแท่งเอส ที อาร์ 20 เป็นตัวอย่างของความสำเร็จในการพัฒนาปรับปรุงกระบวนการผลิต สามารถส่งออกไปยังยุโรป มีการเพิ่มประสิทธิภาพการขจัดกลิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ ได้มาตรฐาน ISO 14001 และยังมีแผนติดตั้ง Solar Rooftop เพื่อผลิตไฟฟ้า ขณะเดียวกันก็มีการสร้างงานให้ชุมชนโดยสนับสนุนช่องทางการจำหน่ายสินค้าหน้าโรงงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชนโดยรอบ
นายเศรษฐา ขันติ อุตสาหกรรมจังหวัดบึงกาฬ รายงานว่า บึงกาฬมีอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่า คือ ยางและผลิตภัณฑ์ยาง รองลงมา แปรรูปไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ ผลิตยานพาหนะและอุปกรณ์ นอกจากนี้ในพื้นที่ยังมีการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราแบบครบวงจร มีการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางพารา และการนำหลัก BCG มาใช้ในโรงงาน ปัจจุบันมีโรงงานลงระบบศูนย์ข้อมูลกลางกระทรวงอุตสาหกรรม (i-industry) และระบบรายงานข้อมูลกลางของกระทรวงอุตสาหกรรม (iSingleForm) ครบทั้ง 100% โดยตัวอย่างความสำเร็จของสถานประกอบการแปรรูปยางที่ได้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิต และเฝ้าระวังกลิ่นเหม็นรอบรัศมี 5 กิโลเมตร ล่าสุดได้รับการรองมาตรฐาน ISO 45001 มีการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ และปลูกต้นไม้ในโรงงานถึง 23% เพื่อป้องกันฝุ่นและกลิ่น และมีการรับซื้อยางพาราจากเกษตรกรในพื้นที่กว่า 13.5 ล้านบาทต่อปี
ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบนโยบายด้านการแก้ไขข้อร้องเรียน ควรวางแนวทางหรือปรับปรุงมาตรฐาน เงื่อนไข พร้อมกำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้ประกอบการถือปฏิบัติ ส่วนเรื่องนโยบาย MIND เน้นย้ำให้ สอจ. กำกับดูแล สร้างความเข้าใจกับโรงงานในพื้นที่ให้ครอบคลุมทั้ง 4 มิติ มุ่งสร้างความสำเร็จให้ภาคธุรกิจ ดูแลสังคมโดยรอบ การรักษาสิ่งแวดล้อม และกระจายรายได้ให้ประชาชน เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมมีการเติบโตอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ในด้านความรับผิดชอบต่อสังคมควรนำแนวทาง "อุตสาหกรรมรวมใจ ดูแลสิ่งแวดล้อม 4 ด้าน" ไปปรับใช้ ดังนี้ "ดิน" การดูแลกากอุตสาหกรรม โดยควบคุมอย่างเข้มงวดไม่ให้มีการลักลอบทิ้ง "น้ำ" การดูแลแม่น้ำลำคลอง ไม่ให้มีการระบายน้ำเสียออกสู่แม่น้ำลำคลอง "ลม" การดูแลอากาศ ฝุ่นละออง มุ่งกำกับดูแลการเผาอ้อย ควบคู่การส่งเสริมการตัดอ้อยสด เพื่อลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 และลดคาร์บอนไดออกไซด์และลดสารเรือนกระจก "ไฟ" การดูแลโรงงานไฟไหม้ โดยการกำกับตรวจสอบความปลอดภัยภายในโรงงานให้เป็นไปตามมาตรฐาน
รองปลัดฯ ณัฏฐิญา ได้เสนอแนะว่า ให้พิจารณาอุตสาหกรรมเศรษฐกิจของจังหวัด โดยชี้เป้าอุตสาหกรรมที่เหมาะสม เพื่อให้จังหวัดมีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และมองหาอัตลักษณ์ของพื้นที่เพื่อพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ผู้บริโภค ส่วนในด้านการส่งเสริม SME ควรนำกลไกของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในด้านการพัฒนาการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงอุตสาหกรรม (คลัสเตอร์) มาใช้ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยางพาราในพื้นที่ ซึ่งมีโรงงานถึง 15 แห่ง และมี Supply Chain ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ อีกทั้งยังเป็นแหล่งปลูกยางพาราสูงที่สุดในภาคอีสาน จึงเหมาะกับการพัฒนาตามแนวทางคลัสเตอร์ นอกจากนี้ยังควรมีการพัฒนานวัตกรรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราให้มีมูลค่าที่สูงขึ้น ควบคู่กับการยกระดับกระบวนการผลิตให้มีมาตรฐาน
หัวหน้าผู้ตรวจฯ วิษณุ กล่าวว่า เมื่อครบกำหนดการรายงานในระบบรายงานข้อมูลกลางของ อก. (iSingleForm) ขอให้มีการสรุปผลแยกเป็นหัวข้อ เช่น จำนวนโรงงานแต่ละอุตสาหกรรม ทั้งในเชิงพื้นที่ และปริมาณ เป็นต้น
ผู้ตรวจฯ เดชา กล่าวว่า สอจ. ควรมีการปรับรูปแบบการดำเนินงานให้สอดคล้องกับนโยบาย MIND และให้กองยุทธศาสตร์และแผนงาน ถ่ายทอดแนวทางสู่จังหวัด เพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรมต่อไป
ด้านนายทรงศักดิ์ กองทรง รองผู้อำนวยการผู้จัดการเขต 8 ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ได้รายงานผลการดำเนินงานของสำนักงานเขต 8 โดยรายงานผลการดำเนินงานตั้งแต่ 2563-2566 รายงาน Productivity ภาพรวม Outstanding PL/NPL ทั้งนี้ SME ที่ขอสินเชื่อส่วนใหญ่ประกอบกิจการ ด้านการบริการ ค้าปลีกค้าส่ง ผู้รับเหมาก่อสร้าง โรงงานน้ำตาลขนาดเล็ก เป็นต้น
ในเวลาต่อมา ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมคณะ ได้ตรวจเยี่ยมสภาพปัจจุบันของบ้านพักสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดหนองคาย และเยี่ยมชมธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย สาขาหนองคาย เพื่อให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติ โดยมีเจ้าหน้าที่ ธพว.หนองคาย ร่วมให้การต้อนรับ ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน