ปลัดฯ ณัฐพล ลงพื้นที่ตรวจติดตามการดำเนินงาน สอจ.อยุธยา และอ่างทอง ย้ำทุกจุดจี้โรงงานกรอกข้อมูลการประกอบการอุตสาหกรรม ภายในสิงหาคมนี้!
จ.พระนครศรีอยุธยา 18 สิงหาคม 2566 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายแนวทางการบูรณาการงานของหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีนางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายวิษณุ ทับเที่ยง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวณิรดา วิสุทธิชาติธาดา ผู้ช่วยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายวาที พีระวรานุพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมด้วย โดยมีนายธีระ แก้วพิมล อุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายบวรวิทย์ อัครจันทรโชติ อุตสาหกรรมจังหวัดอ่างทอง และนางสาววันรานี เลี่ยวไพโรจน์ ผู้จัดการเขต 7 ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย เป็นผู้นำเสนอข้อมูล ณ ห้องประชุมอโยธยา ศาลากลางจังหวัดพระศรีอยุธยา
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีโรงงานทั้งสิ้น 1,868 โรงงาน ปัจจุบันมีโรงงานที่กรอกข้อมูลการประกอบการอุตสาหกรรมกว่า 50% ซึ่งต้องผลักดันให้ได้ครบ 100% ภายในเดือนสิงหาคมนี้ ส่วนผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้กรอกข้อมูลและขาดการติดต่อกับกระทรวงฯ ก็จะทำการลงพื้นที่ตรวจโรงงานแบบสุดซอยเพื่อพิจารณาทบทวนการยกเลิกใบอนุญาตโรงงานออกจากระบบฐานข้อมูลโรงงานต่อไป ส่วนในด้านการร้องเรียนในพื้นที่ยังพบปัญหาโรงงานลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม ซึ่งได้ดำเนินการตามกฎหมายไปแล้ว ส่วนการร้องเรียนปัญหา PM 2.5 ที่มีสาเหตุทั้งจากโรงงานและการกำจัดวัชพืชด้วยการเผาของชุมชนทาง สอจ.พระนครศรีอยุธยา จะติดตามแก้ไขอย่างใกล้ชิดต่อไป
ด้านจังหวัดอ่างทอง มีโรงงานอุตสาหกรรม 324 โรงงาน ส่วนใหญ่พื้นที่กว่า 60% เป็นพื้นที่เกษตรกรรมปลูกนาข้าว รายได้ส่วนใหญ่จึงมาจากเกษตรกรรมและการท่องเที่ยว โดยวิสาหกิจชุมชนมีรายได้จากการจำหน่ายของที่ระลึก อาทิ ตุ๊กตาชาววัง กลอง เครื่องจักสาน ซึ่งอาจไม่เป็นที่นิยมมากนัก สอจ.อ่างทอง จึงมีแนวคิดตามนโยบาย MIND คือให้มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในลักษณะ Big Brother โดยให้โรงงานสนับสนุนผู้ประกอบการรายเล็ก ๆ ในท้องถิ่น เพื่อช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกให้น่าสนใจและเหมาะกับความนิยมของผู้ซื้อมากขึ้น ส่วนการแก้ปัญหาเรื่องร้องเรียนโรงงานได้ให้โรงงานนำนโบายทั้ง 4 มิติ ไปปรับใช้ทั้งในด้านการดูแลสังคมและการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับชุมชนโดยรอบเพื่อลดผลกระทบจากปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพในการจำกัดของเสีย การส่งเสริมเครือข่ายและเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อม เพื่อให้โรงงานและชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน
ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบนโยบายให้ทุกจังหวัดเน้นย้ำกับผู้ประกอบการให้รายงานข้อมูลประกอบกิจการผ่านระบบข้อมูลกลาง (iSingle Form) โดยกรอกข้อมูลด้วยตนเองให้ถูกต้องครบถ้วน เพื่อให้ข้อมูลเป็นข้อเท็จจริงที่สามารถนำไปวิเคราะห์และใช้ประโยชน์ต่อไปได้ นอกจากนี้ ยังทำให้การรับบริการจากกระทรวงอุตสาหกรรมสะดวกขึ้น เช่น การขอใบอนุญาตต่าง ๆ การชำระค่าธรรมเนียม อย่างไรก็ตามจะต้องให้ผู้ประกอบการรายงานข้อมูลการประกอบการอุตสาหกรรม ให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งหากเลยระยะเวลาที่กำหนดจะถือว่ามีความผิดตามกฎหมายและมีโทษปรับ โดยในช่วงก่อนจะครบกำหนด ขอให้ สอจ. เร่งลงพื้นที่ตรวจโรงงานแบบสุดซอยในทุกมิติของการรายงานตามข้อกำหนดของกฎหมาย โดยหากพบโรงงานที่ผิดกฎหมายขอให้ดำเนินการตามระเบียบอย่างจริงจัง รวมทั้งหากพบโรงงานที่มีการหยุดการดำเนินการมาเป็นเวลานาน ขอให้พิจารณาทบทวนการยกเลิกใบอนุญาตประกอบโรงงาน เพื่อให้ระบบฐานข้อมูลโรงงานมีความถูกต้องและเป็นปัจจุบันต่อไป
ด้าน รองปลัดฯ ณัฏฐิญา กล่าวเสริมว่า ขอให้จังหวัดพยายามชี้เป้าให้ได้ว่าอุตสาหกรรมอะไรในพื้นที่ที่มีศักยภาพและเหมาะสมต่อการพัฒนา ส่วนในด้านการนำข้อมูลระบบ iSingle Form ไปวิเคราะห์และใช้ประโยชน์ สามารถตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับพร้อมวิเคราะห์ไปถึงต้นทางเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมไปสู่การเป็น SPRING UP ที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องมีการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีความคิดสร้างสรรค์เชิงนวัตกรรม และมุ่งพัฒนาระบบมาตรฐาน เพื่อเพิ่มการส่งออกไปสู่ตลาดสากล นอกจากนี้ควรนำนโยบายดิน น้ำ ลม ไฟ ไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติให้โรงงานอุตสาหกรรมใส่ใจสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยลดข้อร้องเรียนได้ดียิ่งขึ้น ส่วนในด้านการส่งเสริมผู้ประกอบการรายเล็ก ควรดึงอัตลักษณ์ในพื้นที่มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เด่นประจำจังหวัดพร้อมผลักดันสู่ตลาดเชิงพาณิชย์ต่อไป
ด้าน หัวหน้าผู้ตรวจฯ ย้ำให้ สอจ. มีการจัดทำแผนและการกำกับการตรวจโรงงานที่ดี เพื่อแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียน ส่วนการแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนซ้ำซาก ขอให้บูรณาการกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง
ในการนี้ ผู้จัดการเขต 7 ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SME D Bank ได้นำเสนอผลการดำเนินงาน ของสาขาพระนครศรีอยุธยา สระบุรี และอ่างทอง ประกอบด้วย การให้สินเชื่อของ ธพว.เขต 7 การดำเนินการปล่อยสินเชื่อภายใต้กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ผลการเบิกจ่าย ยอดหนี้คงค้างของธนาคาร และจำนวน NPL ในพื้นที่ โดยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจประเภทรับเหมาก่อสร้าง ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจท่องเที่ยว เป็นต้น
ต่อมาในเวลา 17.00 น. ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมคณะ ได้ตรวจเยี่ยมธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย สาขาพระนครศรีอยุธยา เพื่อให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานและรับฟังสรุปผลการดำเนินการตลอดช่วงครึ่งปีแรก โดยมีเจ้าหน้าที่ ธพว.พระนครศรีอยุธยา ร่วมให้การต้อนรับ ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว