ปลัดฯ ณัฐพล ลงพื้นที่ จ. นครสวรรค์ เร่งเดินหน้านโยบาย MIND เน้นย้ำ สอจ. ดูแลชุมชนรอบโรงงาน บูรณาการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ ตอบรับแนวนโยบายของรัฐที่ส่งเสริม Bioeconomy
วันนี้ (1 กุมภาพันธ์ 2566) ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ (สอจ.นครสวรรค์) โดยมีนายชัชพล อินทโฉม อุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ นายสิทธิรงณ์ เร่งเงียบ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 3 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้การต้อนรับ
อุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ ได้รายงานผลการดำเนินงานของ สอจ.นครสวรรค์ ประกอบด้วย โครงสร้างบุคลากร การเบิกจ่ายงบประมาณ โครงการแผนปฏิบัติราชการประจำปี 2566 และคำของบประมาณ 2567 นอกจากนี้ทาง สอจ. ยังได้รายงานถึงการพัฒนาศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ ภายใต้แนวคิด BCG Model เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมฐานชีวภาพ มุ่งสู่การพัฒนาและปรับเปลี่ยนการประกอบการอุตสาหกรรมสู่วิถีใหม่ 4 มิติ ได้แก่ ความสำเร็จทางธุรกิจ ชุมชน/สังคม สิ่งแวดล้อม และกระจายรายได้ อันจะนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคการเกษตรและชุมชน และเชื่อมโยงตลอดห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ผ่านกิจกรรมการดำเนินงาน ดังนี้ 1) การจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมฐานชีวภาพจังหวัดนครสวรรค์ โดยพัฒนาระบบการผลิตทางการเกษตร เพื่อเพิ่มผลผลิตอ้อย มุ่งสู่เป้าหมาย 10 ล้านตัน/ปี ภายในปี 2570 2) ส่งเสริมการนำเศษวัสดุหรือกากอุตสาหกรรมที่ไม่ใช้แล้วมาเป็นวัตถุดิบในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อส่งเสริมงานฝีมือและหัตถกรรมสร้างรายได้กระจายสู่ท้องถิ่น 3) พัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ตำบลหนองโพ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ตามเกณฑ์และตัวชี้วัดการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ผ่านเกณฑ์การประเมินฯ ระดับที่ 4 ภายในปี 2570 และ 4) การสร้างและพัฒนาเครือข่ายอุตสาหกรรมรักษ์สิ่งแวดล้อม รณรงค์และส่งเสริมการใช้ระบบธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการ ตามหลักธรรมาภิบาลอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบนโยบายให้ สอจ.นครสวรรค์ เน้นการดำเนินงานภายใต้แนวคิด “MIND ปรับอุตสาหกรรมเข้าสู่วิถีใหม่” โดยให้ความสำคัญในการยกระดับทุกองค์ประกอบของภาคอุตสาหกรรม ควบคู่กับการสร้างความเข้มแข็งและกระจายรายได้สู่ชุมชน ด้วย “หัว” และ “ใจ” ของคนกระทรวงอุตสาหกรรม การสร้างภาพลักษณ์และคุณค่าใหม่ของอุตสาหกรรม ด้วยหลักการ “อุตสาหกรรมดี ชุมชนดี หน่วยงานดี” ตามแนวอุตสาหกรรมวิถีใหม่ เพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จ 4 มิติ พร้อมทั้งการให้รางวัลกับคนทำดี ได้แก่ มิติที่ 1 ความสำเร็จทางธุรกิจ มิติที่ 2 การดูแลสังคมโดยรอบโรงงานอุตสาหกรรม มิติที่ 3 การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมที่ตอบโจทย์ไทยและประชาคมโลก มิติที่ 4 การกระจายรายได้ให้กับประชาชนและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พร้อมเน้นย้ำให้ สอจ.นครสวรรค์ ช่วยเหลือประชาชนที่อยู่โดยรอบโรงงานอุตสาหกรรมและสถานประกอบการเหมืองแร่ และผู้ที่เข้าร่วมโครงการฝึกอาชีพดีพร้อมในจังหวัดนครสวรรค์ที่ผ่านมา กว่า 40,000 คน โดยต่อยอดและผลักดันให้สามารถเป็นผู้ประกอบการ มีอาชีพ และสร้างรายได้ที่ยั่งยืน รวมทั้งให้เชื่อมโยงการทำงานกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย เพื่อให้บริการด้านการเงินสำหรับนำไปพัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการ SMEs ต่อไป
หลังจากนั้น ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมคณะ ได้ตรวจเยี่ยมธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย สาขาจังหวัดนครสวรรค์ เพื่อรับฟังการดำเนินงานและให้กำลังใจบุคลากรทุกระดับ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป