ดีเดย์ “อธิบดีณัฐพล” คิกออฟ “อาชีพดีพร้อม” วันแรก บุกพื้นที่ กทม. สร้างอาชีพ เสริมรายได้ ให้ชุมชนคลองสาน เปิดตัว job.diprom แพลตฟอร์มโครงการฯ
กรุงเทพฯ 20 สิงหาคม 2565 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติกล่าวเปิดกิจกรรมพัฒนาทักษะอาชีพพื้นฐานด้านการผลิตในรูปแบบการอบรมฝึกอาชีพระยะสั้น จำนวน 4 ฐาน พร้อมพัฒนาระบบ job.diprom รองรับการดำเนินงานภายใต้ โครงการพัฒนาอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้ชุมชนดีพร้อม หรือ อาชีพดีพร้อม ร่วมด้วย นายภาสกร ชัยรัตน์และนางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) ณ ศาลาการเปรียญ วัดทองธรรมชาติ คลองสาน
กิจกรรมดังกล่าว เป็นกิจกรรมที่เริ่มจัดวันแรกในพื้นที่เขตคลองสาน กรุงเทพฯ โดยการพัฒนาทักษะอาชีพพื้นฐานด้านการผลิต ประกอบด้วย 2 หลักสูตร ดังนี้ 1. หลักสูตรลดรายจ่าย และ 2. หลักสูตรเพิ่มรายได้ ซึ่งจะเป็นการลดค่าครองชีพให้กับครอบครัว รวมถึงสามารถสร้างรายได้และอาชีพเสริมให้กับชุมชน โดยกิจกรรมดังกล่าว จัดขึ้น ภายใต้โครงการพัฒนาอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้ชุมชนดีพร้อม หรือ อาชีพดีพร้อม เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และเพิ่มทักษะการประกอบการธุรกิจให้กับชุมชน ซึ่งจะสามารถช่วยยกระดับศักยภาพชุมชน เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ และอาชีพในชุมชน อันจะส่งผลให้เศรษฐกิจฐานรากเติบโตและมีความเข้มแข็งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
สำหรับโครงการอาชีพดีพร้อม ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง กรอบวงเงิน 1,249 ล้านบาท เพื่อดำเนินการเพิ่มทักษะและรายได้ให้ชุมชนกว่า 400 แห่ง ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งตั้งเป้าในการพัฒนาประชาชนกว่า 700,000 ราย และคาดว่าจะเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 12,000 ล้านบาท โดยดำเนินการผ่านรูปแบบหลักสูตรการพัฒนา 4 หลักสูตรหลัก ๆ ได้แก่ หลักสูตรที่ 1 กิจกรรมพัฒนาทักษะอาชีพพื้นฐานด้านการผลิต หลักสูตรที่ 2 กิจกรรมพัฒนาทักษะอาชีพพื้นฐานด้านการบริการ หลักสูตรที่ 3 กิจกรรมพัฒนาด้านผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ และหลักสูตรที่ 4 กิจกรรมพัฒนาต่อยอดทักษะที่จำเป็นต่อการประกอบธุรกิจ
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ดีพร้อมได้ดำเนินโครงการ “DIPROM ยกระดับสินค้าชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก นำสู่รายได้คืนถิ่นชุมชน ซึ่งเป็นการนำร่องในพื้น 7 จังหวัด ได้แก่จ.สุโขทัย พิจิตร นครสวรรค์ ชัยนาท สงขลา ชลบุรี และยะลา ซึ่งสามารถสร้างทักษะอาชีพให้กับประชาชนได้กว่า 2,000 ราย ขณะเดียวกัน ยังฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศภายหลังวิกฤตโควิด-19 ให้สามารถฟื้นตัวกลับมาอย่างเข้มแข็ง ด้วยการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ถึง 24.7 ล้านบาท หรือคิด 8.82 เท่า ของงบประมาณที่ดำเนินการดังกล่าว ### PRDIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว