Category
การปรับปรุงคุณภาพและพัฒนางาน ตอนที่ 2
รับปรุงคุณภาพและพัฒนางาน จากตอนที่ 1 ซึ่งใช้วงจร PDCA ในตอนนี้จะกล่าวถึงการปรับปรุงคุณภาพและพัฒนางาน ด้วยวิธีการใช้กิจกรรมกลุ่มคุณภาพหรือที่เรียกว่า QCC กิจกรรมกลุ่มคุณภาพ หรือ Quality Control Circle : QCC เป็นกิจกรรมที่พนักงานกลุ่มเล็ก ๆ ประมาณ 3 – 10 คนร่วมมือร่วมใจกันนำปัญหาในบริษัทหรือโรงงานตนมาศึกษาวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ ใช้เหตุผล ใช้ข้อมูล และวิธีการทางสถิติประกอบการตัดสินใจโดยยึดหลักการของวงจร PDCA และเครื่องมือคุณภาพในการแก้ปัญหา ทั้งนี้การทำกิจกรรมกลุ่มคุณภาพจะต้องไม่ขัดต่อนโยบายของบริษัทหรือโรงงาน และกระทำอย่างต่อเนื่องสามารถนำผลงานที่ทำสำเร็จมาแสดงได้ หลักการของกลุ่มกิจกรรม QCC. มีรายละเอียดดังต่อไปนี้ 1. พนักงานทุกคนในกลุ่มส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและปรับปรุงงาน 2. การปฏิบัติกิจกรรมเป็นไปอย่างอิสระ โดยนำเครื่องมือและเทคนิคการจัดการคุณภาพมาใช้ในการแก้ไขปัญหา 3. มีการควบคุมและติดตาม ตลอดจนดำเนินการปรับปรุงงานอย่างต่อเนื่อง วัตถุประสงค์ของกลุ่มกิจกรรม QCC. มีรายละเอียดดังต่อไปนี้ วัตถุประสงค์ของกลุ่มกิจกรรม QCC. มีรายละเอียดดังต่อไปนี้ 1. เพื่อให้เกิดความร่วมมือจากพนักงานในการปรับปรุง และพัฒนางานของตน 2. เพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาของกลุ่มด้วยกลุ่ม 3. เพื่อให้เปิดโอกาสให้พนักงานได้คิดสร้างสรรค์ และแสดงความสามารถอย่างอิสระภายใต้ขอบเขต และความเหมาะสม 4. เพื่อให้มีการยอมรับและรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน การดำเนินกิจกรรม QCC. ในกิจการ เริ่มด้วยการจัดตั้งกลุ่ม แต่ละกลุ่มมีสมาชิกกลุ่มประมาณ 3-10 คน ประกอบด้วย 1. หัวหน้ากลุ่ม 2. เลขานุการกลุ่ม 3. สมาชิกกลุ่ม 4. ที่ปรึกษากลุ่ม หลังจากจัดตั้งกลุ่มแล้ว แต่ละกลุ่มจะทำการค้นหาปัญหาเพื่อทำกิจกรรม QCC. วิธีการค้นหาปัญหา ใช้วิธีการประชุมกลุ่มเพื่อพิจารณาปัญหาร่วมกัน โดยปัญหาที่จะนำมาดำเนินกิจกรรม QCC. จะต้องมีองค์ประกอบดังนี้ เป็นปัญหาจริงที่เกิดขึ้น มีความเกี่ยวข้องกับทุกคนในกลุ่ม ทุกคนในกลุ่มมองเห็นปัญหานั้น สามารถแก้ไขปรับปรุงได้ภายใน 3-6 เดือน มีผลในทางสร้างสรรค์ กลุ่มสามารถทำได้เอง ทำแล้วทุกคนพอใจ แนวทางการค้นปัญหาเพื่อกิจกรรม QCC. 1. ปัญหาเกี่ยวกับตัวพนักงาน ได้แก่ รู้สึกมีความลำบากในการทำงาน มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อย มีการหยุดงานบ่อย การมาทำงานสาย ขาดการประสานงาน ทำงานไม่ได้เป้าหมาย งานผิดพลาดบ่อย 2. ปัญหาเรื่องความสกปรก และไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ภายในสถานที่ทำงาน 3. ปัญหาเกี่ยวกับการผลิต ได้แก่ ผลผลิตตกต่ำ มีของเสียมาก เครื่องจักรเสียบ่อย ผลิตสินค้าไม่ทันขาย หรือส่งของไม่ทันตามกำหนด ต้นทุนผลิตสูง ขาดการประสานงานกัน 4. ปัญหาค่าใช้จ่ายต่างๆ มีค่าใช้จ่ายมากเกินไป 5. ปัญหาการซ่อมบำรุง พบว่า เครื่องจักรเสียบ่อยเกินไป มีอุบัติเหตุภายในการผลิตสูง 6. ปัญหาสิ่งรบกวนจากสภาพแวดล้อม ได้แก่ เสียงดัง มีฝุ่นและกลิ่นเหม็น น้ำเสีย แสงสว่างไม่พอ ขั้นตอนการแก้ปัญหาแบบ QCC.
26 พ.ย. 2021
การแก้ไขปัญหาด้านคุณภาพ
ปัญหาหลักของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมการผลิตทุกขนาดมีอยู่ 5 ประการดังนี้ 1. ของเสีย 2. ความผิดพลาด 3. ความล่าช้า 4. ความสิ้นเปลือง 5. อุบัติเหตุ หรือการบาดเจ็บของพนักงาน เพื่อป้องกันปัญหาทั้ง 5 ที่กล่าวมา ผู้ประกอบการจึงต้องกำหนดมาตรฐานทั้งวัตถุดิบ กระบวนการผลิต และสินค้าสำเร็จรูป โดยให้มีการควบคุมและตรวจสอบคุณภาพให้ได้ตามมาตรฐาน และหากมีสิ่งใดที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ผู้ประกอบการจึงต้องหาแนวทางในการแก้ไขและปรับปรุง แนวความคิดสําคัญของการแก้ปัญหา ประกอบด้วย 1. การแก้ไขปัญหาจะต้องวางอยู่บนหลักการของการจัดลําดับก่อนหลังตามความสำคัญ ปัญหาในกิจการมีจํานวนมากมาย แต่ปัญหาที่มีความสําคัญจะมีจํานวนน้อย ปัญหาที่เลือกมาแก้ไขก่อนจะเป็นปัญหาที่มีความสําคัญมากหรือส่งผลกระทบต่อกิจการมาก ปัญหาจํานวนมากที่เหลืออาจจะมีผลต่อคุณภาพน้อยมาก 2.ปัญหาย่อมมีที่มาจากสาเหตุเสมอ ซึ่งแนวความคิดนี้จะสอดคล้องกับหลักการควบคุมคุณภาพด้วยเหตุและผล จึงเป็นไปไม่ได้ที่ปัญหาเกิดขึ้นเองแล้วก็หายไปเองโดยที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข สิ่งที่หายไปคงเป็นเพียงอาการของปัญหาเท่านั้น เนื่องจากการเกิดปัญหามีพฤติกรรมเกิดแบบสุ่ม แต่ตราบใดก็ตามที่ยังมิได้ค้นหาสาเหตุและกําจัดสาเหตุปัญหาดังกล่าว ย่อมจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้อีกเสมอ 3. สาเหตุบางสาเหตุสามารถแก้ไขได้ แต่สาเหตุทุกสาเหตุสามารถป้องกันได้ โดยแนวความคิดนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการวิเคราะห์การตัดสินใจเพื่อเลือกทางเลือก ปัญหาบางอย่างอาจไม่สามารถแก้ปัญหาจากสาเหตุได้ แต่สามารถป้องกันสาเหตุดังกล่าวได้ ด้วยการออกแบบใหม่ 4. แนวทางการป้องกันจะประหยัดกว่าแนวทางการแก้ไขเสมอ ซึ่งแนวความคิดนี้จะสอดคล้องกับเรื่องของต้นทุนคุณภาพ ดังที่กล่าวมาแล้วในเรื่องต้นทุนคุณภาพ แนวทางในการแก้ไขปัญหาด้านคุณภาพ การแก้ไขปัญหาทางด้านคุณภาพในอุตสาหกรรมการผลิต แบ่งออกเป็น 2 แนวทางหลักดังนี้ 1. แนวทางที่ต้องทำเป็นประจำในกระบวนการผลิต เป็นแนวทางที่ทำเพื่อให้สินค้าที่ผลิตออกมามีคุณภาพตามที่กำหนดและมีคุณภาพสม่ำเสมอ โดยมีของเสียน้อยที่สุด ได้แก่ 1.1 ทำการควบคุมของวัตถุดิบที่รับเข้า โดยทำการสุ่มตัวอย่างวัตถุดิบก่อนรับเข้ามาใช้ เพื่อตรวจสอบว่ามีคุณสมบัติตรงตามมาตรฐานที่กำหนดไว้หรือไม่ 1.2 ทำการควบคุมกระบวนการผลิต โดยควบคุมในทุกขั้นตอนการผลิตให้ตรงตามมาตรฐาน และสุ่มตัวอย่างผลผลิตที่ออกมาในแต่ละขั้นตอนมาตรวจสอบว่า มีคุณสมบัติตรงตามมาตรฐานที่กำหนดไว้หรือไม่ ก่อนส่งมอบไปยังขั้นตอนผลิตถัดไป 1.3 ตรวจสอบสินค้าสำเร็จรูป เมื่อวัตถุดิบได้ผ่านการแปรรูปออกมาจนเป็นสินค้าสำเร็จรูป ทุกขั้นตอนการผลิตได้ผ่านการตรวจสอบมาแล้ว ก็น่าที่จะได้สินค้าสำเร็จรูปที่ได้มาตรฐาน แต่เพื่อความมั่นใจในคุณภาพของผลิตภัณฑ์ จึงควรสุ่มตัวอย่างสินค้าสำเร็จรูปมาทำการตรวจสอบคุณภาพอีกครั้งว่ามีคุณสมบัติตรงตามมาตรฐานหรือไม่ 2. แนวทางเพื่อการปรับปรุงหรือพัฒนาคุณภาพ เป็นแนวทางเพื่อการปรับปรุงหรือพัฒนาสินค้าไม่ให้มีของเสียหรือลดปริมาณของเสีย ได้แก่ 2.1 การจัดเก็บข้อมูลการผลิต ข้อมูลปัญหา เพื่อจะได้เป็นฐานข้อมูลในการวิเคราะห์หาสาเหตุ 2.2 วิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหา นำข้อมูลที่จัดเก็บไว้มาวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหา เช่น ปัญหาความล่าช้า หรือปัญหาของเสีย เมื่อวิเคราะห์จนทราบสาเหตุของปัญหา จะได้กำหนดวิธีการแก้ไข และแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำอีกต่อไป 2.3 หาแนวทางป้องกันการเกิดของเสีย มี 3 แบบ คือ การออกแบบขบวนการผลิตใหม่หรือขั้นตอนการทำงานใหม่ ซึ่งเป็นแนวทางที่ออกแบบใหม่เพื่อให้หลีกเลี่ยงการเกิดของเสียได้ การกำจัดสาเหตุที่ทำให้เกิดของเสียออกไป และกำหนดความรับผิดชอบของผู้ปฏิบัติงาน การกำจัดสาเหตุที่ทำให้ของเสียเรื้อรัง ปัจจุบันตลาดการค้ามีการแข่งขันสูง ผู้บริโภคมีความรู้มากขึ้น มีช่องทางในการหาข้อมูลสินค้าเพื่อทำการเปรียบเทียบคุณภาพและราคาได้สะดวกขึ้น รวมถึงผู้บริโภคในยุคนี้มีต้องการความหลากหลายมากขึ้น และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้ผลิตจึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาคุณภาพของสินค้าให้เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค และยังต้องเป็นผู้นำในการพัฒนาสินค้าใหม่ เพื่อโน้มน้าวจิตใจของผู้บริโภคให้เกิดความต้องการสินค้าที่ได้พัฒนาขึ้นมา ในสภาวะการตลาดที่แข่งขันอย่างรุนแรงนี้ สินค้าที่มีคุณภาพเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคเท่านั้นจึงจะยืนหยัดอยู่ในตลาดได้ ดังนั้นภารกิจในการควบคุมคุณภาพจึงเป็นหน้าที่ของทุกคนในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายผลิต ฝ่ายสนับสนุนการผลิต ฝ่ายบริหารหรือฝ่ายการตลาด ซึ่งภารกิจในการควบคุมคุณภาพเป็นภารกิจที่ไม่มีจุดสิ้นสุด เป็นภารกิจที่มีลักษณะเป็นขั้นบันได ซึ่งจะต้องพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเป็นที่พึงพอใจของผู้บริโภคและของผู้ปฏิบัติงาน โดยรักษาต้นทุนให้อยู่ในระดับที่แข่งขันได้และมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
26 พ.ย. 2021
เครื่องมือในการควบคุมคุณภาพ
เครื่องมือในการจัดการคุณภาพนั้นมิได้เป็นเครื่องมือสำหรับบุคคลที่ทำงานเกี่ยวกับการผลิตเท่านั้น ยังเกี่ยวข้องกับฝ่ายอื่นๆ เช่น ฝ่ายบุคคล ฝ่ายบัญชีการเงิน ฝ่ายจัดซื้อ ฝ่ายช่างซ่อมบำรุง ฝ่ายสินค้าคงคลัง เป็นต้น เครื่องมือในควบคุมคุณภาพมีมากมายหลายรูปแบบ ขึ้นกับแต่ละกิจการจะเลือกนำมาใช้ให้เหมาะสมกับขนาดและประเภทของกิจการ ในปัจจุบันที่สภาพการแข่งขันสูง กิจการจะอยู่รอดต่อไปได้อย่างยั่งยืนนั้น กิจการจะต้องให้ความสำคัญเรื่อง “คุณภาพ” ทั้งในส่วนของการพัฒนาปรับปรุงคุณภาพของสินค้าและบริการ รวมถึงการพัฒนาคุณภาพบุคลากร เพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับผู้บริโภคและผู้ปฏิบัติงาน เครื่องมือที่ใช้ได้แก่ 1. ใบรายการตรวจสอบ (Check sheet) เป็นเครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูลจากการสังเกตที่มีต่อปัญหาใดปัญหาหนึ่ง ใบรายการตรวจสอบคือ แบบฟอร์มตารางที่ออกแบบไว้ล่วงหน้า ช่วยให้การรวบรวมข้อมูลทำได้ง่ายขึ้นและเป็นระบบยิ่งขึ้น ทำให้สะดวกในการบันทึกข้อมูล วิธีการใช้ใบรายการตรวจสอบ แบ่งได้เป็นตามวัตถุประสงค์คือ ใช้บันทึก เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลก่อนเริ่มโครงการเพื่อทราบสภาพของปัญหา ทราบความรุนแรงของปัญหา และเพื่อทำการวิเคราะห์ปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งหมด ใช้ตรวจสอบ เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล เป็นการติดตามตรวจสอบ (Check) ผลของการแก้ไขปัญหาหรือการพัฒนา ใช้ติดตามเก็บรวบรวมข้อมูลการผลิตประจำวัน เพื่อติดตามการเปลี่ยนของข้อมูลการผลิต 2. กราฟ(Graphs) คือเครื่องมือสำหรับใช้ในการแปลงข้อมูลที่เป็นตัวเลขออกมาให้เห็นรูปภาพ เพื่อสะดวกในการวิเคราะห์ข้อมูลที่เป็นตัวเลข ข้อดีของกราฟ คือ อ่านง่าย เข้าใจง่าย ช่วยให้ตีความหมายของข้อมูลได้รวดเร็ว และสามารถเปรียบเทียบข้อมูลหลาย ๆ ชุดให้เห็นความแตกต่างได้ชัดเจน กราฟที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายและเป็นที่คุ้นเคยกันดี ได้แก่ กราฟเส้น (Line Graphs) เป็นชนิดที่นิยมใช้กันทั่วไปมากที่สุด กราฟแท่งแนวตั้ง (Column Graphs) มีลักษณะตามชื่อ คือ เป็นแท่งคอลัมน์ แสดงข้อมูลตามที่ต้องการนำเสนอ กราฟแท่งแนวนอน (Bar Graphs) มีลักษณะตามชื่อ คือ เป็นแท่งคล้ายกราฟคอลัมน์ เพียงแต่เป็นแท่งตามแนวนอน กราฟวงกลม (Pie Graphs) มักใช้ในการแสดงค่าร้อยละขององค์ประกอบต่าง ๆ ที่รวมกันเป็นร้อย เช่น ค่าใช้จ่ายประเภทต่าง ๆ ยอดขายของสินค้าประเภทต่าง ๆ เป็นต้น 3. ฮีสโตแกรม (Histograms) คือกราฟแท่งแบบเฉพาะที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลที่เป็นหมวดหมู่กับความถี่ของข้อมูล เพื่อดูการกระจายของข้อมูล ลักษณะของข้อมูลที่เป็นหมวดหมู่จะเรียงลำดับจากน้อยไปหามากโดยจำนวนหมวดหมู่ของข้อมูลจะจัดตามความเหมาะสม โดยแกนตั้งจะเป็นตัวเลขแสดง “ ความถี่ ” และแกนนอนจะเป็นข้อมูลคุณสมบัติของสิ่งที่เราสนใจ แท่งกราฟแต่ละแท่งจะมีความกว้างเท่ากันซึ่งเท่ากับกว้างของชั้นข้อมูล ส่วนความสูงของกราฟแต่ละแท่งนั้นจะสูงเท่ากับจำนวนความถี่ของแต่ละชั้นข้อมูล 4. แผนภูมิพาเรโต (Pareto Diagrams) แผนภูมิพาเรโต เป็นการรวมกราฟพื้นฐาน 2 ชนิด มาไว้ด้วยกันคือ กราฟคอลัมน์และกราฟเส้นโดยการจัดการลำดับความสูงของแต่ละแท่งให้เรียงแถวลดหลั่นกันลงมาจากซ้ายมาขวา แกนนอนใช้เป็นฐานสำหรับคอลัมน์ต่าง ๆ แต่ละคอลัมน์เป็นตัวแทนของประเภทรายการข้อมูลที่กำลังพิจารณา ความสูงของคอลัมน์แต่ละแท่งแสดงสัดส่วนของ "ขนาด" ของรายการแต่ละประเภท ส่วนที่เป็นกราฟเส้นมีไว้เพื่อแสดงค่าสะสมของความสูงของคอลัมน์เรียงจากซ้ายมาขวา 5. แผนภูมิเหตุและผล (Cause and Effect Diagrams) แผนภูมิเหตุและผล หรือบางครั้งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "แผนภูมิอิชิกาวา" (Ishikawa Diagram) ทั้งนี้เป็นการให้เกียรติแก่ผู้พัฒนาแผนภูมินี้ขึ้นเป็นคนแรกคือ ศาสตราจารย์เคโอรุ อิชิกาวา(Professor Karu Ishikawa) แห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว (The University of Tokyo) แต่เนื่องจากแผนภูมินี้เมื่อสร้างเสร็จแล้วมีรูปร่างคล้ายปลา จึงมีผู้นิยมเรียกว่า "ผังก้างปลา" (Fishbone Diagram) แผนภูมิเหตุและผลจะแสดงความสัมพันธ์ของสาเหตุ (Cause) ซึ่งทำให้คุณภาพเปลี่ยนแปลงกับผลที่เกิด (effect) ที่แสดงถึงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ 6. แผนภูมิการกระจาย (Scatter Diagrams) เป็นเครื่องมือที่ใช้แสดงว่าข้อมูล 2 ชุดหรือตัวแปร 2 ตัวมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันหรือไม่ และระดับความสัมพันธ์นั้นมีมากหรือน้อยเพียงใด 7. แผนผังการควบคุม (Control Charts) "แผนภูมิควบคุม" คือ แผนภูมิที่ใช้สำหรับเฝ้าติดตาม (Monitoring) ค่าของตัวแปรที่ต้องการควบคุมคุณภาพว่า เกิดความผันแปรเกินพิกัด (ขีดจำกัด) ที่กำหนดไว้หรือไม่ และความผันแปรนั้นมีแนวโน้มอย่างไร ลักษณะที่สำคัญของแผนภูมิควบคุม มีลักษณะคล้าย "กราฟเส้น" แต่เนื่องจากมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเฝ้าติดตามดูความผันแปรของค่าของข้อมูล จึงมีองค์ประกอบเพิ่มเติม ได้แก่ เส้นพิกัดด้านบน (Upper Control Limit : UCL) เส้นพิกัดด้านล่าง (Lower Control Limit : LCL) เส้นกลาง (Center Line : CL) ถ้าข้อมูลอยู่ภายใต้ความผันแปรตามธรรมชาติ ข้อมูลจะมีพฤติกรรมแบบสุ่มอยู่รอบ ๆ เส้นกลาง และมีขนาดของความผันแปรอยู่ภายในเส้นพิกัดด้านบนและเส้นพิกัดด้านล่าง การนำเครื่องมือในการควบคุมคุณภาพมาใช้ในกิจการ อาจต้องใช้เครื่องมือหลาย ๆ อย่างให้เหมาะสมกับการทำงานภายในองค์กร โดยต้องมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาองค์กร พัฒนาคุณภาพสินค้า และต้องมั่นใจว่าเป็นเครื่องมือที่จำเป็นต้องใช้ และได้รับการยอมรับในการจัดการคุณภาพ โดยกิจการควรเริ่มต้นดังนี้ 1. การฝึกอบรม เพื่อให้พนักงานสามารถนำสิ่งที่เรียนไปปฏิบัติได้เป็นขั้นตอน 2. จัดตั้งทีมปรับปรุงคุณภาพให้ชัดเจน และฝึกอบรจากตัวอย่างจริงที่สามารถเชื่อมโยงไปสู่การปฏิบัติได้ 3. การเริ่มนำเครื่องมือไปใช้ควรทำอย่างมีแผนงาน 4. ผู้บริหารต้องให้ความสำคัญระบบคุณภาพภายในอง์กร 5. พึงระลึกว้าเสมอว่าเทคนิคเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาทุกอย่างได้ 6. ปฏิบัติด้วยความอดทนและแน่วแน่ 7. กระตุ้นให้คนเข้ามามีส่วนร่วมในการวัด และวิเคราะห์ผลงานให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ สรุปบทบาทสำคัญของเครื่องมือในการจัดการคุณภาพ 1. เครื่องมือในการจัดการคุณภาพบางชนิดมีความสลับซับซ้อน ต้องมีการใช้ความคิด การพัฒนาทักษะ และการฝึกอบรมก่อนนำไปปฏิบัติ 2. การนำเครื่องมือในการจัดการคุณภาพมาใช้ในองค์กร อาจจะต้องใช้ร่วมกันหลาย ๆเครื่องมือให้เข้ากับการทำงานประจำวัน
26 พ.ย. 2021
อ่านงบการเงินเป็นได้อย่างไร
การที่จะอ่านงบการเงินให้เป็นได้นั้น ผู้อ่านจำเป็นต้องทราบก่อนว่างบการเงินคืออะไร สำหรับคนที่จบการเงินและบัญชีคงมีความเข้าใจเป็นอย่างดี แต่บทนี้ BSC จะเน้นที่จะอธิบายสำหรับคนที่ไม่ได้จบหรือมีความรู้เรื่องบัญชีการเงินมาก่อน ดังนั้นคำว่างบการเงินคือรายงานทางเงินที่มีส่วนประกอบดังนี้ 1. งบดุล (เรียกอีกชื่อว่างบแสดงฐานะทางการเงิน) 2. งบกำไรขาดทุน 3. งบกระแสเงินสด 4. หมายเหตุประกอบงบการเงิน (ส่วนนี้เป็นส่วนสุดท้ายของงบที่ให้รายละเอียดงบข้างต้นทั้งหมด) ผู้ประกอบการรายเล็กที่ไม่ได้จดทะเบียนนิติบุคคล ไม่ต้องจัดทำงบการเงินส่งกระทรวงพาณิชย์เลยเพราะงบการเงินจะบังคับให้จัดทำและส่งให้หน่วยงานราชการเฉพาะกิจการที่เป็นนิติบุคคลเท่านั้น บทนี้จึงให้ความรู้เรื่องการอ่านงบการเงินกับเจ้าของกิจการที่เป็นนิติบุคคล หรือหากท่านเป็นบุคคลธรรมดาก็สามารถศึกษาการอ่านงบการเงินได้ เผื่อไว้สำหรับการลงทุนในกิจการที่เป็นนิติบุคคลหรือเพื่อซื้อหุ้นของบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนไว้ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็ได้ หลายท่านที่เป็นเจ้าของกิจการนิติบุคคลยังอาจไม่เข้าใจถึงวิธีการอ่านงบการเงินและประโยชน์ของการอ่านงบการเงินเป็นซึ่งมีหลายอย่างดังนี้ 1. เพื่อให้เครดิตกับลูกหนี้การค้าของกิจการ (เราอ่านงบการเงินของลูกค้าเราได้ก็จะไม่เกิดหนี้เสียตามมาภายหลัง 2. เพื่อการลงทุน ในกรณีซื้อหุ้นหรือร่วมทุนกับกิจการอื่นที่มาเสนอขาย 3. ป้องกันความเสี่ยงของกิจการเราเอง เพราะเราจะได้ทราบถึงฐานะทางการเงินและความสามารถในการดำเนินกิจการด้วย 4. เพื่อทราบถึงฐานะและความสามารถในการบริหารของคู่แข่งขัน เมื่อเราอ่านงบการเงินของคู่แข่งขันได้ เราก็รู้สถานการณ์ของเขาดีขึ้น 5. เพื่อเป็น Benchmark ให้ทั้งกิจการตัวเองและยังนำไปเปรียบเทียบกับกิจการอื่นที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจเดียวกันด้วย ขอขยายความเรื่องงบแต่ละงบที่รวมเป็นงบการเงินให้เข้าใจว่าแต่ละงบนั้นแสดงผลต่างกันโดยเริ่มจากงบดุลเป็นอันดับแรก งบดุล หรือ งบแสดงฐานะทางการเงิน เป็นรายงานที่แสดงฐานะทางการเงินของกิจการ ณ สิ้นปี หรือวันใดวันหนึ่งที่กำหนดไว้(เช่น สิ้นไตรมาส หรือสิ้นเดือน) งบดุลมาจากสมการบัญชีที่สองฝั่งจะเท่ากัน นั่นคือ สินทรัพย์ เท่ากับ หนี้สินบวกกับทุนของผู้ถือหุ้น นั่นแสดงให้เห็นว่าการที่กิจการจะได้สินทรัพย์อะไรมา เงินที่ซื้อสินทรัพย์นั้นก็ต้องได้จากการลงทุนของผู้ถือหุ้นหากไม่เพียงพอก็จะต้องไปกู้ยืมเงินนั่นเอง ขอยกตัวอย่าง บริษัทแห่งหนึ่งได้ซื้อรถบรรทุกขนาดใหญ่มาหนึ่งคันในราคาสองล้านบาท หากบริษัทมีทุนเพียงหนึ่งล้านบาทก็จำเป็นต้องกู้เงินมาอีกจำนวนหนึ่งล้านบาทเพื่อจะได้ซื้อสินทรัพย์ (รถบรรทุก) ในราคา 2 ล้านบาทได้ ดังนั้น การอ่านงบดุลก็เพื่อให้ทราบถึงฐานะของกิจการนั้นว่ามีความมั่นคงหรือไม่ หากมีทรัพย์สินจำนวนมาก แต่มีทุนเพียงเล็กน้อยที่เหลือมาจากการกู้เงินก็ถือว่ากิจการไม่ค่อยมั่งคงนั่นเอง การอ่านงบดุลก็เหมือนเราดูฐานะของบุคคลธรรมดาคนหนึ่ง เราเห็นว่าเขามีรถหลายคันมีบ้านหลายหลังใส่แหวนเพชรสร้อยเพชรจำนวนมาก แต่ทรัพย์สินที่ซื้อมาส่วนใหญ่มาจากการกู้ยืมเงินมาทั้งสิ้น เราก็พอจะสรุปได้ว่าคนคนนี้มีหนี้มาก อาจล้มละลายได้หากเขาไม่มีความสามารถหาเงินมาชำระหนี้ได้ทันท่วงทีเมื่อเจ้าหนี้มาทวงเงิน ในการอ่านงบดุลเราควรเริ่มอ่านข้างทรัพย์สินก่อนว่าทรัพย์สินมีอะไรบ้าง ถ้าทรัพย์สินเป็นสินค้าคงเหลือที่หมดอายุหรือขายไม่ได้แล้วก็จะลำบากในการขายสินค้าเหล่านั้นมาชำระหนี้ หรือถ้าทรัพย์สินเป็นลูกหนี้ที่ค้างชำระเป็นส่วนใหญ่และลูกหนี้เหล่านั้นก็เป็นหนี้เสีย ก็แสดงว่ากิจการนั้นมีลูกหนี้ที่ไม่สามารถเก็บหนี้ได้นั่นเอง จากภาพบนทำให้เราทราบว่ากิจการ B มั่นคงกว่ากิจการ A เพราะมีหนี้เท่ากับทุน หากเกิดอะไรขึ้นกิจการ B ก็สามารถชำระหนี้ที่ค้างได้ดีกว่ากิจการ A งบกำไรขาดทุน เป็นงบที่แสดงผลการดำเนินการของกิจการ มีการคำนวณที่ง่ายมากคือ รายได้หักต้นทุนและค่าใช้จ่ายทั้งหมด หากรายได้มากกว่าก็แสดงว่ามีกำไร หากรายได้น้อยกว่าก็ แปลว่าขาดทุน การปิดงบกำไรขาดทุนนิยมจัดทำทุกเดือน และรวบรวมให้ครบ 12 เดือนเพื่อปิดบัญชีและปิดงบการเงินเพื่อส่งให้กับกระทรวงพาณิชย์และกรมสรรพากรในการชำระภาษีรายได้นิติบุคคลต่อไป งบกำไรขาดทุนมักจัดทำในรูปแบบดังนี้ การอ่านงบกำไรขาดทุนเราควรเริ่มจากบรรทัดสุดท้ายของงบคือ กำไรหรือขาดทุนสุทธิ เพื่อให้ทราบว่ากิจการมีกำไรหรือขาดทุนไหม หากขาดทุนก็ดูว่าขาดทุนจากอะไร เป็นค่าใช้จ่ายประเภทไหน สำหรับกิจการที่ได้กำไรก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีความสามารถในการดำเนินธุรกิจเสมอไป อาจเป็นเพราะได้กำไรจากการขายทรัพย์สิน หรือประนอมหนี้ หรือกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราก็ได้ ดังนั้นผู้อ่านงบกำไรขาดทุนก็ควรอ่านให้ละเอียดว่ารายได้มาจากทางใด ต้นทุนและค่าใช้จ่ายสูงหรือไม่ มีค่าใช้จ่ายอะไรที่ผิดปกติบ้าง และกำไรมากน้อยเพียงใด งบกระแสเงินสด เป็นงบที่บริษัทขนาดใหญ่มักจัดทำและรวมอยู่ในงบการเงิน สำหรับบริษัทขนาดเล็กมักจัดทำเพียงงบดุลและงบกำไรขาดทุนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เราก็ควรทราบว่างบกระแสเงินสดเป็นงบที่ทำให้เราทราบถึงแหล่งที่มาของเงินสดและแหล่งที่ใช้ไปของเงินสด ซึ่งกระแสเงินสดที่ใช้ไปและได้มาของกิจการมักจะมาจาก 3 กิจกรรมของธุรกิจเท่านั้นคือ 1. กิจกรรมจากการดำเนินงาน (จากการผลิตและจำหน่ายของกิจการ) 2. กิจกรรมการลงทุน (จากการไปซื้อหรือขายเครื่องจักร หรือไปลงทุนในกิจการอื่น) 3. กิจกรรมการจัดหาแหล่งเงินทุน (จากการกู้หรือคืนเงินกู้) หมายเหตุประกอบงบการเงิน เป็นส่วนสุดท้ายที่ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของงบการเงินซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้เราได้ทราบถึงเกณฑ์ที่ใช้ในการจัดทำงบการเงิน นโยบายทางการบัญชีและข้อมูลอื่นๆที่นอกเหนือจากที่นำเสนอในงบการเงิน หมายเหตุประกอบงบจะช่วยให้เราเข้าใจในงบการเงินนั้นมากขึ้นเพราะจะอธิบายรายละเอียดของงบดุล งบกำไรขาดทุน ที่รายการนั้นๆเขียนไว้ว่าหมายเหตุข้อ... ทำให้ผู้อ่านงบการเงินสามารถพลิกไปอ่านรายละเอียดของงบนั้นได้ในหัวข้อหมายเหตุที่อ้างไว้ เมื่อเราอ่านงบการเงินของกิจการใดอย่าลืมไปอ่านหมายเหตุประกอบงบการเงินนั้นด้วยเพื่อความเข้าใจมากขึ้น สรุปว่าการอ่านงบการเงินทำให้เราทราบถึงฐานะทางการเงินของกิจการ (ดูงบดุล) ทราบถึงความสามารถในการหารายได้และทำกำไร (งบกำไรขาดทุน) รวมทั้งทราบว่ากิจการมีแหล่งที่มาและใช้ไปของเงินสดในกิจกรรมอะไรบ้าง (งบกระแสเงินสด) และเข้าใจถึงนโยบายการจัดทำบัญชี การจ่ายเงินปันผล และเกณฑ์การหักค่าเสื่อมราคาต่างๆและข้อมูลอื่นๆของกิจการได้ (จากหมายเหตุประกอบงบการเงิน) โดยสรุปได้เป็นภาพข้างล่างดังนี้
26 พ.ย. 2021
เทคนิคการวิเคราะห์งบการเงิน
เราได้เรียนรู้เรื่องการอ่านงบการเงินไปแล้วในบท อ่านงบการเงินเป็นได้อย่างไร เพื่อให้ผู้อ่านมีความรู้ในการวิเคราะห์ผลการดำเนินงานของกิจการตนเองหรือเพื่อลงทุนในกิจการอื่นได้ จึงจำเป็นต้องเรียนรู้การวิเคราะห์งบการเงินในวิธีอื่นๆให้มากขึ้น การอ่านงบการเงินก็เหมือนการทำอาหารนั่นเอง พอทำอาหารแบบง่ายๆได้เก่งแล้วเช่นทอดไข่ ผัดผัก เป็นต้น เราก็อยากจะทำอาหารที่ยากขึ้นเช่น แกงเผ็ด แกงกะทิ ผัดฉ่า เราจึงต้องเรียนรู้วิธีการและสูตรอาหารที่มากขึ้นเพราะมีความยากขึ้นนั่นเอง ดังนั้นการวิเคราะห์งบการเงินที่ละเอียดขึ้นก็ต้องมีการจัดวางตัวเลขให้ดูง่ายขึ้น นำงบจำนวนหลายปีมาวิเคราะห์ โดยส่วนใหญ่การวิเคราะห์จะใช้งบการเงินประมาณ 3-5 ปี นำมาเรียงกันเพื่อวิเคราะห์ได้ง่ายขึ้น การวิเคราะห์งบการเงินเป็นกระบวนการที่ค้นหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลดำเนินงานของกิจการว่ามีผลการดำเนินงานเป็นอย่างไร มีจุดดีจุดเสียที่รายการใดบ้าง และหาแนวทางการแก้ไขเพราะการวิเคราะห์จะช่วยให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น วัตถุประสงค์หลักของการวิเคราะห์งบการเงินมีดังนี้ 1. เพื่อดูผลดำเนินงานที่ผ่านมาแล้ว 2. เพื่อเปรียบเทียบกับกิจการเองและกิจการอื่นที่เป็นคู่แข่งขัน 3. เพื่อวิเคราะห์หาแนวโน้มว่ากิจการจะดีขึ้นและแย่ลง 4. เพื่อวางแผนการดำเนินงานในอนาคต (จัดทำงบประมาณการ) 5. เพื่อปรับปรุงแก้ไขผลการดำเนินงานให้ดีขึ้น ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากวัตถุประสงค์หลักในการวิเคราะห์เพื่อบริหารจัดการภายในแล้ว กลุ่มบุคคลที่มักใช้ประโยชน์จากการวิเคราะห์งบการเงินจะมีดังนี้ 1. ผู้บริหารระดับสูงของกิจการนั้นๆ 2. นักลงทุน 3. เจ้าหนี้หรือสถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อ 4. หน่วยงานรัฐบาล 5. บริษัทตรวจสอบและผู้สอบบัญชีรับอนุญาต การวิเคราะห์การเงิน( Financial Analysis) มีเทคนิคในการวิเคราะห์ 4 แบบคือ เทคนิคที่ 1 การวิเคราะห์แบบแนวนอน (Horizontal Analysis) หรือบางครั้งก็เรียก Comparative analysis เป็นการวิเคราะห์แบบเปรียบเทียบปีต่อปี เดือนต่อเดือนนั่นเอง ประโยชน์ของการวิเคราะห์แบบแนวนอน คือ เพื่อวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของรายการต่างๆในงบโดยเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้านี้ เพื่อวิเคราะห์รายการต่างๆในงบว่ามีรายการใดเพิ่มขึ้นหรือลดลงในจำนวนเงินและเปอร์เซ็นต์เท่าใด เพื่อดูแนวโน้มแต่ละรายการในงบว่าดีขึ้นหรือแย่ละ เพื่อนำมาพยากรณ์ทางธุรกิจ เทคนิคที่ 2 การวิเคราะห์แบบแนวตั้งหรือแนวดิ่ง (Vertical analysis) มีอีกชื่อว่า Common-size Analysis จะวิเคราะห์แบบแนวนอน โดยใช้งบปีใครก็ปีมันแล้วค่อยนำมาเปรียบเทียบปีต่อปี เช่น ต้นทุนการผลิตของปี 2557 เท่ากับร้อยละ 45 ของยอดขายปี 2557 และต้นทุนการผลิตปี 58 เท่ากับร้อยละ 43 ของยอดขายปี 58 เราก็พอสรุปได้ว่าต้นทุนผลิตปี 58 ต่ำลงกว่าปี 57 เป็นร้อยละ 2 ต่อยอดขาย แล้วเราค่อยมาหาสาเหตุเพื่อนำมาต่อยอดในการลดต้นทุนต่อไปได้ ในงบกำไรขาดทุน เราจะใช้ยอดขายเป็นตัวหารโดยให้รายการอื่นๆเป็นสัดส่วนต่อยอดขาย สำหรับงบดุลเราจะสินทรัพย์เป็นตัวหาร ประโยชน์ของการวิเคราะห์แนวดิ่งคือ ใช้ในการเปรียบเทียบสัดส่วนต่อยอดขายหรือสัดส่วนต่อสินทรัพย์ของแต่ละรายการในงบกำไรขาดทุนหรืองบดุล การวิเคราะห์นี้ทำให้เราทราบว่ารายการใดมีสัดส่วนมากหรือน้อยแค่ไหน เช่นค่าใช้จ่ายเงินเดือนเป็นสัดส่วนร้อยละ 20 ของยอดขายเมื่อเรานำไปเทียบกับคู่แข่งขันที่จ่ายเงินเดือนเป็นร้อยละ 10 ของยอดขายทำให้เราทราบว่าเรามีค่าใช้จ่ายรายการนี้สูงกว่าคู่แข่งขันมาก เพื่อลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายได้ทันท่วงที เพื่อเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของแต่ละปีและแต่ละรายการในงบได้ เทคนิคที่ 3 การวิเคราะห์แบบแนวโน้ม (Trend analysis) เป็นการวิเคราะห์คล้ายแบบแนวนอน แต่ไม่ได้เปรียบเทียบปีต่อปี จะเป็นปีแรกที่วิเคราะห์เป็นปีฐาน เช่น เราจะวิเคราะห์ 5 ปี โดยเริ่มจากปี 2554-2558 เราก็จะใช้ตัวเลขของปี 2554 เป็นปีฐานคือเป็นปีที่นำมาลบและนำมาหารกับปีถัดไปนั่นเองเพื่อดูแนวโน้มว่าตั้งแต่ปี 2554 รายการใดมีแนวโน้มดีขึ้นหรือแย่ลง มักนิยมทำเป็นรูปแบบเปอร์เซนต์มากกว่าตัวเลข แต่นักวิเคราะห์การเงินบางคนก็ทำทั้งสองรูปแบบคือตัวเงินและเปอร์เซ็นต์ ประโยชน์ของการวิเคราะห์แบบแนวโน้มคือ ใช้ดูแนวโน้มของกิจการว่ายอดขายดีขึ้นหรือแย่ลงจากปีฐาน และดูรายการอื่นๆที่สำคัญเช่นกำไรหรือสินทรัพย์เพิ่มขึ้นหรือไม่ เพื่อนำไปพยากรณ์หรือจัดทำประมาณการงบกำไรขาดทุนในอนาคตเพราะเราทราบถึงแนวโน้มของแต่ละรายการแล้ว เทคนิคที่ 4 การวิเคราะห์แบบอัตราส่วนทางการเงิน (Financial ratio analysis) เป็นการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างรายการในงบการเงินเดียวกันและนำผลไปเปรียบเทียบกับปีอื่นๆด้วย รวมทั้งยังสามารถนำไปเปรียบเทียบกับอัตราส่วนทางการเงินของคู่แข่งขันหรือบริษัทใหญ่ๆที่เราต้องการจะเปรียบเทียบก็ได้ การวิเคราะห์ในแบบอัตราส่วนนี้นักวิเคราะห์การเงิน เจ้าหน้าที่สินเชื่อและนักลงทุนนิยมจัดทำเพื่อใช้ดูสถานะความแข็งแรงของกิจการนั้น ดูความสามารถของผู้บริหารว่าดำเนินธุรกิจดีหรือไม่และดูฐานะของกิจการว่ามั่นคงไหม บางคนเรียกการวิเคราะห์แบบนี้ว่าเป็นการตรวจสุขภาพทางการเงินของกิจการ การวิเคราะห์แบบอัตราส่วนนี้จะทำให้ผู้บริหารและนักวิเคราะห์ทราบถึงสภาพที่แท้จริงของกิจการได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยมีการวัดอัตราส่วนทางการเงินเป็น 4 ด้านดังนี้ วัดสภาพคล่องทางการเงิน (Liquidity ratio) วัดความสามารถในการทำกำไร (Profitability ratio) วัดประสิทธิภาพในการจัดการสินทรัพย์ (Asset management ratio) วัดความสามารถในการชำระหนี้ (Debt management ratio หรือ Leverage ratio) เทคนิคการวิเคราะห์งบการเงินทั้งสี่แบบทำให้เราทราบถึงรายละเอียดของกิจการมากขึ้นนอกเหนือจากการอ่านงบการเงินเพียงอย่างเดียว สำหรับนักวิเคราะห์และผู้บริหารระดับสูงของกิจการนิยมใช้พร้อมกันทั้งสี่เทคนิคในการวิเคราะห์การเงิน ซึ่ง BSC จะอธิบายการจัดทำการวิเคราะห์ในบทถัดไปเพื่อให้ง่ายและสะดวกในการวิเคราะห์ของคุณ โดยจัดทำเป็นรูปแบบ spread sheet ให้ผู้สนใจนำไปฝึกใช้ได้ และเพื่อประโยชน์ให้กับเจ้าของกิจการในการพยากรณ์ยอดขายและจัดทำประมาณการเพื่อวางแผนกิจการต่อไปได้
26 พ.ย. 2021
วิธีการจัดทำและวิเคราะห์งบการเงิน
จากบทที่แล้วที่ได้กล่าวถึง เทคนิคการวิเคราะห์การเงิน 4 เทคนิค ซึ่งอธิบายถึงประโยชน์และรูปแบบการวิเคราะห์งบการเงินในแต่ละเทคนิคไปแล้ว สำหรับบทนี้จะเป็นเรื่องของการจัดทำและเตรียม spread sheet เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ เปรียบเหมือนกับการทำอาหารที่ยากขึ้นก็ต้องเตรียมทั้งวัตถุดิบและเครื่องปรุงซึ่งมีวิธีการหั่นและเตรียมที่มากขึ้น หากไม่เตรียมเลยก็คงทำอาหารไม่ได้อย่างแน่นอน เช่นเดียวกับการวิเคราะห์งบการเงินในแบบเทคนิคที่หนึ่งถึงสาม เราสามารถจัดทำให้อยู่ในไฟล์เดียวกันก็ได้แต่อาจอยู่ในคนละ worksheet ผู้อ่านหลายท่านคงอยากถามว่าถ้าใช้คอมพิวเตอร์ไม่เป็นจะเตรียมวิเคราะห์ได้ไหม ขอตอบว่าได้แต่จะใช้เวลานานมาก ควรใช้คอมพิวเตอร์ทำการวิเคราะห์จะช่วยในการประหยัดเวลามากขึ้น หากทำไม่ได้จริงๆก็ต้องเขียนและคำนวณทีละบรรทัดซึ่งก็คงใช้เวลาในการจัดทำนานไป แต่เพื่อความสะดวกสำหรับผู้สนใจจะวิเคราะห์งบการเงิน ทาง BSC ได้จัดทำspread sheet เพื่อกรอกตัวเลขของงบได้เลย โดยจะแนบไฟล์ที่เป็นแบบฟอร์มให้ในแต่ละเทคนิคที่ใช้ เพียงท่านกรอกตัวเลขเฉพาะช่องที่ไฮไลท์เป็นสีเหลืองเท่านั้น เพราะช่องที่ไม่ใช่สีเหลือง มีการผูกสูตรไว้และล๊อคไม่ให้เติมตัวเลขได้ โดยสามารถจำแนบเป็นเทคนิคต่างๆ ดังนี้ การวิเคราะห์แบบแนวนอน (Horizontal Analysis) บางครั้งก็เรียก Comparative analysis เป็นการวิเคราะห์เปรียบเทียบรายการแต่ละรายการเป็นปีต่อปี รายการต่อรายการเพื่อดูว่ารายการใดที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง มีทั้งเป็นจำนวนเงินและเป็นเปอร์เซ็นต์ จากตัวอย่างข้างบน เราก็จะทราบว่าสินทรัพย์รวมของปี 2557 น้อยกว่าปี 2556 อยู่ 10,000 บาท หรือน้อยกว่าร้อยละ 1.85 ซึ่งอาจมาจากการตัดค่าเสื่อมราคาของโรงงานและเครื่องจักร 20,000 บาท รวมทั้งการลดลงของลูกหนี้การค้า 35,000 บาท สำหรับเงินสดในปี 2557 สูงกว่าปี 2556 จำนวน 20,000 บาทและกิจการยังมีสินค้าคงเหลือมากขึ้นในปี 2557 อีกจำนวน 25,000 บาท การวิเคราะห์แนวนอนสามารถทำได้ทุกงบโดยเฉพาะอย่างยิ่งงบกำไรขาดทุนจะทำให้เราทราบว่ายอดขายเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนเงินเท่าใด และเพิ่มขึ้นอีกกี่เปอร์เซ็นต์ การจัดทำ spread sheet ทาง BSC จะจัดทำให้เฉพาะงบกำไรขาดทุน เพื่อให้ผู้สนใจกรอกตัวเลขของกิจการที่ต้องการวิเคราะห์เองได้ โดยให้ใส่ตัวเลขในช่องที่ไฮไลค์สีเหลืองเท่านั้น ผู้สนใจดาวน์โหลด แบบฟอร์มวิเคราะห์แบบแนวนอนได้ ที่นี่ Download เมื่อคุณได้กรอกรายละเอียดก็ลองวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของรายการที่น่าสนใจก่อน เช่น ยอดขาย ต้นทุน ค่าใช้จ่าย กำไร สำหรับผู้ที่ต้องการวิเคราะห์งบดุลด้วยก็อาจจะต้องเพิ่มเติมรายการเอง การวิเคราะห์แบบแนวตั้งหรือแนวดิ่ง (Vertical analysis) มีอีกชื่อว่า Common-size Analysis เป็นการวิเคราะห์เปรียบเทียบในปีของตนเองแต่ละปีแล้วค่อยนำผลไปเปรียบเทียบกับปีอื่นๆ สำหรับงบกำไรขาดทุนเราจะใช้ยอดขายเป็นหลักและเป็นตัวหารของรายการทั้งหมดที่อยู่ในงบกำไรขาดทุนเพื่อให้ทราบว่าเป็นสัดส่วนเท่าใดต่อยอดขายของรายการนั้น สำหรับงบดุล (งบแสดงฐานะทางการเงิน) เราจะใช้สินทรัพย์รวมเป็นตัวหารสำหรับด้านสินทรัพย์ และสำหรับด้านหนี้สินบวกทุนเราก็จะใช้หนี้สินบวกทุนรวมเป็นตัวหาร หรือเราจะใช้สินทรัพย์รวมเป็นตัวหารเลยก็ได้เพราะงบดุลเป็นงบที่ทั้งสองฝั่งเท่ากันตามสมการบัญชีของงบดุล คือ สินทรัพย์ = หนี้สิน+ทุน จากภาพข้างบน เป็นการวิเคราะห์งบจำนวนสองปีในแบบแนวตั้ง เราพอวิเคราะห์ได้ว่าเงินสดในปี 2556 เป็นสัดส่วนต่อสินทรัพย์รวมน้อยกว่าปี 2557 คือเป็นร้อยละ 12.04 ในปี56 แต่เป็นร้อยละ 16.04 ในปี 57 รายการที่มีสัดส่วนสูงสุดคือสินทรัพย์ซึ่งเป็นโรงงานรวมทั้งเครื่องจักรที่สูงถึงร้อยละ 52.77 ในปี 56 และร้อยละ 50 ในปี 57 ที่รองลงมาก็คือลูกหนี้การค้าที่มีสัดส่วนต่อสินทรัพย์ร้อยละ 28.7 ในปี 56 และ22.64 ในปี 57 เราก็จะสรุปได้ว่าทรัพย์สินส่วนใหญ่ของกิจการคือโรงงานและเครื่องจักรรองลงมาคือลูกหนี้การค้า และที่สามคือเงินสดในมือสำหรับปี 56 แต่เป็นสินค้าคงเหลือในปี 57 จากตัวอย่างการวิเคราะห์แบบแนวตั้งของงบกำไรขาดทุน จะเห็นว่าเราจะใช้ยอดขายเป็นตัวหารซึ่งทำให้เท่ากับ 100% และนำยอดขายไปหารกับรายการอื่นทำให้ทราบว่ารายการนั้นมีสัดส่วนเป็นเท่าไรต่อยอดขาย ต้นทุนขายในปี 2557 เท่ากับ 54.72% มีกำไรหลังหักภาษี 17.71% ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเป็น 23.14% หากเรามีตัวเลขปี 2556 หรือปีอื่นๆจำนวนหลายปีมากขึ้นเราก็จะวิเคราะห์ได้มากขึ้นว่าสัดส่วนกำไรสุทธิต่อยอดขายปีใดสูงและปีใดต่ำรวมทั้งทำให้ทราบว่าต้นทุนต่อยอดขายของแต่ละปีเป็นเท่าไหร่ ผู้สนใจที่จะฝึกวิเคราะห์สามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มการวิเคราะห์งบการเงินแบบแนวตั้งได้ ที่นี่ Download และขอให้กรอกตัวเลขเฉพาะช่องสีเหลืองเท่านั้น การวิเคราะห์แบบแนวโน้ม (Trend analysis)เป็นการวิเคราะห์คล้ายแบบแนวนอนแต่ต่างกันที่ใช้ปีแรกที่จะวิเคราะห์เป็นปีฐาน เช่นเริ่มปี 2554 ก็ใช้ตัวเลขของปี 54 เป็นปีฐาน การวิเคราะห์แนวโน้มควรจัดทำอย่างน้อย 3 ปีขึ้นไปเพื่อดูแนวโน้มในอนาคตว่ารายการต่างๆในงบการเงินนั้นจะดีขึ้นหรือแย่ลง เช่นดูยอดขายก็จะทราบว่าแนวโน้มยอดขายดีขึ้นหรือแย่ลงได้ หากมีขึ้นบ้างลงบ้างไม่แน่นอนเราก็ต้องหาสาเหตุว่าเป็นเพราะอะไรเพื่อวางแผนธุรกิจได้ในอนาคต จากตัวอย่างรูปด้านบน เราสามารถวิเคราะห์ได้ว่าแนวโน้มเงินสดในมือมีจำนวนมากขึ้น เพราะจากปีฐานคือปี 2554 เท่ากับ 100% ค่อยๆเพิ่มขึ้นจาก 104.84, 137.10 จนปี57 เพิ่มเป็น 155% จากปี 54 สำหรับรายการที่ลดลงคือลูกหนี้การค้า, โรงงานและเครื่องจักรซึ่งค่อยๆลดลงทุกปีและลงต่ำกว่าปีฐาน (ปี 54) ซึ่งรายการลูกหนี้การค้าที่น้อยลงเราถือว่าดีเพราะหมายถึงเราเก็บหนี้ได้ดีขึ้นแต่ทั้งนี้เราก็ต้องไปดูยอดขายด้วยว่าดีขึ้นหรือไม่หากยอดขายดีขึ้นลูกหนี้น้อยลงก็ถือว่าผลการดำเนินงานดีขึ้น จากตัวอย่างนี้จะเห็นว่าสินทรัพย์รวมมีแนวโน้มที่น้อยลงทุกปี อาจเป็นเพราะไม่ได้ซื้อเครื่องจักรเพิ่มก็ได้และในขณะเดียวกันก็มีการหักค่าเสื่อมราคาทุกปี การจัดทำการวิเคราะห์แบบแนวโน้มนี้ผู้สนใจสามารถไปดาวน์โหลดแบบฟอร์มเพื่อกรอกตัวเลขในการวิเคราะห์ได้ ที่นี่ Download (กรอกเฉพาะช่องสีเหลืองเท่านั้น) การวิเคราะห์ทั้งสามเทคนิคที่อธิบายมาข้างต้น ทำให้ผู้วิเคราะห์ทราบถึงสถานะการณ์ของกิจการได้ดีขึ้นรวมทั้งนำตัวเลขแนวโน้มมาวางแผนตลาดและการเงินได้อีกด้วย นอกจากนั้นยังสามารถไปจัดทำประมาณการงบการเงินในอนาคตได้ด้วย
26 พ.ย. 2021
มาตรฐานคุณภาพสำหรับผลิตภัณฑ์เพื่อการยอมรับ
ประเทศไทยให้ความสำคัญของการควบคุมคุณภาพสินค้า โดยรัฐบาลได้จัดตั้งสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นสถาบันมาตรฐานแห่งชาติ ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 มีหน้าที่ดำเนินงานด้านมาตรฐานของประเทศ เพื่อความปลอดภัยและเศรษฐกิจของประเทศแล้ว ยังมีหน้าที่ส่งเสริมอุตสาหกรรม เพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจละสังคมแห่งชาติอีกด้วย
26 พ.ย. 2021
ขอเชิญผู้ประกอบการเข้าร่วม กิจกรรมฝึกอบรมออนไลน์ หลักสูตร "Change For the future business" ปรับธุรกิจ...สู่อนาคต
ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 9 ขอเชิญผู้ประกอบการเข้าร่วม กิจกรรมฝึกอบรมออนไลน์ หลักสูตร "Change For the future business" ปรับธุรกิจ...สู่อนาคต ผ่านระบบออนไลน์ (Zoom Video Conference) วันที่ 8 ธันวาคม 2564 เวลา 09.00 - 16.00 น. สมัครได้ที่ https://shorturl.asia/S1Y8r สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : กลุ่มบริการธุรกิจอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการ คุณฐิตาภา คงมา โทร. 092-2415953 คุณณัฐชานันท์ บวบทอง โทร. 099-2619982
26 พ.ย. 2021
อาหารประเภทใดบ้างที่ต้องมี อย.
การแสดงเครื่องหมาย อย. หรือที่ปัจจุบันเรียกว่า เลขสารบบอาหาร หมายถึง การแสดงเครื่องหมายหรือรูปแบบของอาหาร ที่ได้รับอนุญาตขึ้นทะเบียนตํารับอาหาร อนุญาตใช้ฉลากอาหาร จดทะเบียนอาหาร หรือแจ้งรายละเอียดของ อาหารแล้ว ประกอบด้วยเครื่องหมาย และเลขสารบบอาหาร เลขสารบบอาหาร ประกอบด้วยตัวเลขสิบสามหลักที่แบ่งเป็นห้ากลุ่ม ซึ่งแสดงถึงสถานที่ผลิตอาหาร หรือสถานที่นําเข้าอาหารแล้วแต่กรณี หน่วยงานที่เป็นผู้อนุญาต และลําดับที่ของอาหาร โดยแสดงในเครื่องหมายตามลักษณะข้างล่างนี้ อาหารที่ต้องแสดงเลขสารบบอาหาร ได้แก่ 1. อาหารควบคุมเฉพาะ ได้แก่ เครื่องดื่มในภาชนะปิดสนิท นมโค นมปรุงแต่ง นมเปรี้ยว ผิตภัณฑ์ของนม อาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท ไอศกรีม อาหารเสริมสำหรับทารกและเด็กเล็ก และวัตถุเจือปนอาหาร 2. อาหารที่กําหนดคุณภาพ ได้แก่ น้ำมันถั่วลิสง น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว ช็อคโกแลต ข้าวเติมวิตามิน เกลือบริโภค เครื่องดื่มเกลือแร่ ชา กาแฟ น้ำนมถั่วเหลืองในภาชนะปิดสนิท น้ำแร่ธรรมชาติ ซอสบางชนิด ผลิตภัณฑ์ปรุงรสที่ได้จากการย่อยโปรตีนของถั่วเหลือง น้ำปลา น้ำส้มสายชู น้ำมันและไขมัน น้ำมันเนย เนยเทียม ครีม เนยแข็ง อาหารกึ่งสำเร็จรูป น้ำผึ้ง รอยัลเยลลี ผลิตภัณฑ์รอยัลเยลลี แยม เยลลีและมาร์มาเลด ในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท เนยใสหรือกี เนย ไข่เยี่ยวม้า และสุรา 3. อาหารที่รัฐมนตรีประกาศให้เป็นอาหารที่ต้องมีฉลาก ได้แก่ แป้งข้าวกลอง วุ้นสําเร็จรูปและขนมเยลลี อาหารที่มีการใช้กรรมวิธีการฉายรังสี ซอสในภาชนะบรรจุทิ่ปิดสนิท วัตถุแต่งกลิ่นรส ขนมปัง น้ำเกลือปรุงอาหาร หมากฝรั่งและลูกอม อาหารพร้อมปรุงและอาหารสําเร็จรูปที่พร้อมบริโภคทันที อาหารมีวัตุถประสงค์พิเศษ ผลิตภัณฑ์กระเทียม ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ อาหารที่ได้จากเทคนิคการดัดแปรพันธุกรรมหรือพันธุวิศวกรรม ผลิตภัณฑ์อาหารที่กำหนดให้ต้องมีฉลากแสดง อย. ได้แก่ 1. กลุ่มอาหารที่ต้องมีเครื่องหมาย อย. แต่ไม่ต้องส่งตัวอย่างอาหารตรวจวิเคราะห์ ได้แก่ - เครื่องปรุงรสและน้ำ จิ้ม - น้ำพริกที่สำเร็จรูปที่รับประทานได้ทันที - ผลิตภัณฑ์อบกรอบ ทอด กวน ตาก หมัก ดอง จากผลไม้ - ผลิตภัณฑ์ปรุงสุกจากสัตว์ - ขนมและอาหารขบเคี้ยว - ลูกอมและทอฟฟี่ 2. กลุ่มอาหารที่ต้องมีเครื่องหมาย อย. และมีรายงานผลการตรวจวิเคราะห์อาหารไว้ให้ตรวจสอบ ได้แก่ - น้ำส้มสายชู - น้ำมันสำหรับปรุงอาหาร - ไข่เยี่ยวม้า - กาแฟ ชนิดคั่วเมล็ด / ผงสำเร็จรูป / ปรุงสำเร็จ - ชา ชนิดชาใบ / ผงสำเร็จรูป / ปรุงสำเร็จ - น้ำพริกแกง - เครื่องปรุงโปรตีนของถั่ว - แยม เยลลี่ และมาร์มาเลด - อาหารกึ่งสำเร็จรูป - ลูกอมและทอฟฟี่ 3. กลุ่มอาหารที่ต้องมีเครื่องหมาย อย. และต้องส่งตัวอย่างอาหารตรวจวิเคราะห์ ได้แก่ - เครื่องดื่มชนิดน้ำและผง ที่ทำจากพืช ผัก ผลไม้ สมุนไพร ธัญพืช ถั่วเมล็ดแห้ง น้ำตาลสด เครื่องดื่มรังนก กาแฟ ถั่วเหลือง - อาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท เช่น อาหารกระป๋อง อาหารบรรจุขวดแก้วที่ฝามียางรองด้านใน อาหารที่บรรจุกล่อง ซอง ถุงอลูมิเนียมฟอยล์ที่ปิดผนึก - นมและผลิตภัณฑ์นม เช่น นมโค นมปรุงแต่ง นมเปรี้ยว ไอศกรีม เนยแข็ง เนย - น้ำดื่ม / น้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท นอกจากนี้ยังมีอาหารที่ไม่ต้องมีเครื่องหมาย อย. อาหารกลุ่มนี้ ผู้ผลิตไม่ต้องขออนุญาตผลิตภัณฑ์ แต่ต้องแสดงฉลากตามที่กฎหมายกำหนด 1. ผลิตภัณฑ์จากพืช ได้แก่ ข้าวกล้อง ธัญพืชต่างๆ เมล็ดถั่วแห้ง งา พริกแห้ง ข้าวเกรียบ (ไม่ทอด) ธัญพืชชนิดบด ผง พริกป่น 2. ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ได้แก่ปลาแห้ง กุ้งแห้ง รังนกแห้ง ไข่เค็มดิบ กะปิ ปลาร้าผง/ดิบ ปลาส้ม น้ำบูดู น้ำผึ้ง (ที่ผลิตจากสถานที่ผลิตไม่เป็นโรงงาน)
26 พ.ย. 2021
อาหารใดบ้างที่ต้องมีฉลาก
อาหารที่ต้องมีฉลาก ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 194) พ.ศ.2543 เรื่อง ฉลาก กำหนดให้อาหารดังต่อไปนี้ต้องมีฉลาก กลุ่ม 1 อาหารควบคุมเฉพาะ มี 17 ชนิด ได้แก่
26 พ.ย. 2021