Category
บริษัท เกรซ ออฟ อาร์ต จำกัด เสริมศักยภาพการผลิตด้วยไอที
เมื่อวงการเครื่องประดับอยู่ในสภาวะการแข่งขันสูง บริษัท เกรซ ออฟ อาร์ต จำกัด ผู้ผลิตอัญมณีไทยขนาดกลาง จึงตัดสินใจปรับกลยุทธ์ธุรกิจจากการรับจ้างผลิตตามคำสั่งซื้อของลูกค้า มาเป็นการออกแบบเครื่องประดับด้วยดีไซน์ที่โดดเด่นของตนเองแล้วนำไปเสนอขายให้ลูกค้าแทนทำให้กระบวนการผลิตมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น ทั้งเรื่องของขั้นตอนการทำงาน รวมถึงปริมาณของวัตถุดิบที่ต้องบริหารจัดการ “เมื่อก่อนแหวนหนึ่งวงใช้พลอยอย่างมาก 10 เม็ด ออร์เดอร์เข้ามา 1,000 ชิ้น ก็เตรียมพลอยแค่ 10,000 เม็ด แต่พอเป็นงานแฟชั่นเน้นดีไซน์ กำไลบางชิ้นต้องใช้พลอยถึง 1,000 เม็ด คละกัน 10 สี 10 ไซส์ ช่างที่ต้องเตรียมวัตถุดิบ เดิมใช้วิธีเขียนลงกระดาษแล้วไปเบิกของมาผลิต ก็ทำงานยากขึ้นและช้าลง” โจทย์ใหม่อันท้าทายนี้ ทำให้คุณธันยพร เชี่ยวหัตถ์พงษ์ ทายาทรุ่นที่สองที่เข้ามาบริหารกิจการ ต้องมองหาตัวช่วย นั่นก็คือระบบไอที ซึ่งจะมาเสริมศักยภาพการผลิตให้กับองค์กรเป็นที่มาของการเข้าร่วมโครงการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ (ECIT) ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยนำระบบ ERP (Enterprise Resource Planning) ที่ชื่อว่า Double M JeGe’++ 2 ซึ่งเป็นระบบบริหารจัดการธุรกิจเครื่องประดับมาใช้ เพื่อช่วยในการบริหารจัดการการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งโปรแกรมนี้พัฒนาโดยบริษัท ดับเบิล เอ็ม เทคโนโลยี แมเนจเม้นท์ จำกัด ที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเชิญมาเป็นที่ปรึกษาช่วยพัฒนาธุรกิจให้กับ SMEs หลังจากการเข้าร่วมโครงการ ECIT ผลอย่างเป็นรูปธรรมในด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น ทราบข้อมูลและขั้นตอนการผลิตโดยละเอียด เพื่อใช้ในการวางแผนการผลิต สามารถประมวลผลและจัดทำรายงานที่เป็นข้อมูลในการตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว สามารถบริหารทรัพยากรในการผลิตได้แบบเรียลไทม์ ช่วยลดการสูญเสียวัตถุดิบ ทำให้บริษัทสามารถลดต้นทุนการผลิตได้เห็นผลชัดเจน ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ของบริษัทอยู่ที่การส่งออก 80 เปอร์เซ็นต์ และรายได้จากตลาดในประเทศ 20 เปอร์เซ็นต์ ส่วนรายได้โดยรวมมีการเติบโตราว 15-20 เปอร์เซ็นต์ ต่อเนื่องมา 2 ปี หลังจากที่บริษัทเปลี่ยนกลยุทธ์มาเน้นงานดีไซน์ คุณธันยพรยอมรับว่าหากไม่มีระบบไอทีซึ่งเป็นผู้ช่วยสำคัญแล้ว เธอคงไม่สามารถฝ่าวิกฤตธุรกิจมาได้อย่างเช่นทุกวันนี้ คุณธันยพร เชี่ยวหัตถ์พงษ์ ผู้จัดการฝ่ายส่งออก บริษัท เกรซ ออฟ อาร์ต จำกัด 315, 60/2 ถ.ประชาชื่น แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ โทรศัพท์ : 0 2587 0030-5 ที่มา : หนังสือ 72 ปี แห่งการพัฒนาอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ธ.ค. 2014
บริษัท อุดรกระจกรถยนต์ จำกัด พลิกธุรกิจสู่ผู้นำกระจกรถยนต์ภาคอีสาน
“เมื่อก่อนตอนตั้งร้านใหม่ๆ รถยนต์เข้ามาติดตั้งกระจกแค่ 3 คันต่อวันก็ดีใจแล้ว” คุณศมน ชคัตธาดากุล ย้อนเล่าถึงอดีตสมัยเริ่มเปิดร้านเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ซึ่งตรงข้ามกับภาพความสำเร็จในปัจจุบัน บริษัท อุดรกระจกรถยนต์ จำกัด มีตัวแทนจำหน่ายครอบคลุมกว่า 17 จังหวัดทั่วภาคอีสาน ขึ้นแท่นผู้นำตลาดกระจกรถยนต์อันดับหนึ่งของภาคอีสาน มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทต่อปี คุณศมนเริ่มต้นธุรกิจจากการค้าส่ง-ปลีกกระจกทุกยี่ห้อ โดยไม่มีการผลิตเอง เป็นเพียงแค่ซื้อมาขายไป ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำยาก แต่เธอมีความคิดว่า ถ้ารู้ลึก รู้จริงในงานของตัวเอง แม้จะไม่มีโรงงานผลิต ก็สามารถที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้ จึงมุ่งมั่นขวนขวายหาความรู้ด้วยการเข้าร่วมอบรมและสัมมนาอยู่เสมอ โดยมีโอกาสเข้าอบรมหลักสูตรกลยุทธ์การบริหารการตลาดยุคใหม่และหลักสูตรการตลาดเชิงกลยุทธ์เสริมพลังทัพธุรกิจอย่างยั่งยืน ภายใต้โครงการ คพอ. ซึ่งเปรียบเสมือนการส่องกระจกให้มองเห็นตัวเองชัดเจนขึ้น เริ่มตั้งแต่เรื่องการทำบัญชี ระบบหลังบ้านซึ่งทำผิดมาตลอด รวมถึงการให้บริการลูกค้าที่ยังไม่ได้มาตรฐาน การบริหารบุคลากรและการขนส่สินค้าก็ยังไม่เป็นระบบ เมื่อปรับปรุงแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้สำเร็จ อุดรกระจกรถยนต์ก็สามารถปรับโฉมภาพลักษณ์พร้อมขยายกลุ่มเป้าหมาย ด้วยศักยภาพการให้บริการที่ได้มาตรฐานระดับมืออาชีพเป็นที่มาของการเปลี่ยนสถานภาพจาก “ร้านค้า” กลายเป็น “ศูนย์กระจกรถยนต์” “ดิฉันได้มองเห็นข้อผิดพลาดที่ไม่เคยรู้มาก่อน อย่างเรื่องการทำบัญชี ระบบหลังบ้านซึ่งสำคัญมาก แต่ปรากฏว่าเราทำผิดมาตลอดต้องใช้เวลาเป็นปีๆ เซ็ตระบบกันใหม่ หรือเมื่อก่อนเราไม่เคยมีการอบรมพนักงานว่าต้องให้บริการลูกค้าอย่างไร อาจารย์ที่ปรึกษาได้เข้ามาช่วยสร้างมาตรฐานขึ้นจนปัจจุบันเราได้จัดทำเป็นคู่มือพนักงาน ด้านขนส่งสินค้าแต่เดิมขนส่งไปจังหวัดต่างๆ เพียงอาทิตย์ละ 1 รอบ อาจารย์ก็ช่วยวางแผนให้มีระบบขนส่งที่กระจายสินค้าได้มากขึ้นถึงอาทิตย์ละ 3 รอบ” ทุกวันนี้คุณศมนยังให้ความสำคัญกับการเพิ่มพูนความรู้ ด้วยการเข้าอบรมโครงการอื่น ๆ ของกรมฯ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเธอเปรียบว่าเป็นเหมือนการค่อย ๆ ปรับแต่งพลิกโฉมบ้าน แก้ไขจุดบกพร่อง ขยายพื้นที่ จนบ้านหลังนี้กลายเป็นบ้านหลังใหม่ที่มั่นคง มั่งคั่งและยิ่งใหญ่กว่าเดิม คุณศมน ชคัตธาดากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อุดรกระจกรถยนต์ จำกัด 235/1-4 ถ.เลี่ยงเมือง ต.หนองบัว อ.เมือง จ.อุดรธานี โทรศัพท์ : 0 4220 4115-6 โทรสาร : 0 4232 3866 เว็บไซต์ : www.facebook.com/UdonAutoglass.co.th ที่มา : หนังสือ 72 ปี แห่งการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ธ.ค. 2014
บริษัท แอ๊ดด้า (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ก้าวสู่ผู้นำรองเท้าลำลองในอาเซียน
บริษัท แอ๊ดด้า (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) เริ่มต้นจากการเป็นผู้รับจ้างผลิตรองเท้าส่งตลาดยุโรปอันดับหนึ่งของไทยจนเมื่อ 12 ปีที่แล้ว ผู้บริหารจึงได้ตัดสินใจสร้างแบรนด์รองเท้า ADDA ของตัวเองขึ้น โดยมีจุดแข็งที่ความได้เปรียบในเรื่องคุณภาพและการออกแบบเป็นหลัก ผลิตรองเท้าตอบโจทย์เมืองร้อน จนส่งขายทั่วไทยและส่งออกไปยังตลาดเอเชยี โดยมีตลาดหลักอยู่ที่ประเทศอินเดีย ไต้หวัน รวมถึงอาเซียน แต่เดิมผลิตภัณฑ์รองเท้าของ ADDA เป็นรองเท้าแตะลำลองที่เน้นสวมใส่สบาย ราคาถูก แต่ด้วยความมุ่งมั่นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง คุณวรกฤษณ์ ทองเต่าหมก ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด จึงให้ความสำคัญกับการส่งบุคลากรเข้าร่วมอบรมโครงการต่าง ๆ ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยเฉพาะด้านการออกแบบ แรงบันดาลใจที่ทีมงานแอ๊ดด้าได้จากการเข้าร่วมอบรม คือจุดประกายไอเดียการออกแบบรองเท้า ADDA ที่ปรับโฉมรูปลักษณ์ใหม่ให้โดนใจคนยุคใหม่อย่างต่อเนื่อง จนถึงรุ่นล่าสุดอย่าง ADDA Play และ ADDA Jump ที่พัฒนามาจากรองเท้าลำลองสีพื้นเรียบไม่มีสายรัดข้อ ผนวกกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ ที่นิยมสวมใส่เครื่องแต่งกายที่เข้าชุดกันทั้งเสื้อผ้าและรองเท้า รวมถึงหยิบเทรนด์สีสดที่ไม่เคยทำมาก่อนมาลองทำ “การเข้าร่วมอบรมกับทางกรมฯ ช่วยพัฒนาคนของเราให้เริ่มกล้าคิดต่าง หลุดจากกรอบการดีไซน์รองเท้าลำลองแบบเดิม ๆ ทำให้ผลิตภัณฑ์มีความแตกต่างจากคู่แข่งมาก และสร้างยอดขายให้เติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี และแบรนด์รองเท้าไทยอย่าง ADDA เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในไทยและประเทศอาเซียน” ทุกวันนี้บริษัทแอ๊ดด้ายังคงมุ่งมั่นแข่งขันกับตนเองอย่างไม่หยุดนิ่ง ทั้งด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และด้านการตลาด เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ว่า “บริษัทแอ๊ดด้าจะต้องเป็นผู้นำผลิตภัณฑ์รองเท้าลำลองในอาเซียน” คุณวรกฤษณ์ ทองเต่าหมก ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท แอ๊ดด้า (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) 45 ซ.พระยามนธาตุราชศรีพิจิตร์ แขวงบางบอน เขตบางบอน กรุงเทพฯ โทรศัพท์ : 0 2416 0026 โทรสาร : 0 2899 8589 เว็บไซต์ : www.adda.co.th ที่มา : หนังสือ 72 ปี แห่งการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน
31 ธ.ค. 2014
บริษัท ที.เอ็ม.ซี.อุตสาหกรรม จำกัด ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยพลังความรู้
โรงกลึงเล็กๆ ก้าวสู่การเป็นกลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องจักรระบบไฮดรอลิก ที่ได้รับการยอมรับจากบริษัทชั้นนำของโลก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์หรืออุตสาหกรรมประเภทที่ต้องใช้เครื่องปั๊มขึ้นรูป นอกจากรับจ้างผลิตให้กับอุตสาหกรรมอื่น ๆ แล้ว ยังเป็นผู้ผลิตเครื่องอัดชิ้นงาน เครื่องกดชิ้นงาน และเครื่องจักรระบบไฮดรอลิก ภายใต้แบรนด์ TMC อันเป็นตราสินค้าของตนเองด้วย คุณสุรเชษฐ์ กมลมงคลสุข กรรมการผู้จัดการบริษัท ที.เอ็ม.ซี.อุตสาหกรรม จำกัด ทายาทธุรกิจและบุตรชายคนโตของคุณทวีมิตร กมลมงคลสุข ผู้ก่อตั้งบริษัท ได้เล่าถึงเส้นทางกว่า 40 ปีที่คนรุ่นพ่อได้บุกเบิกไว้ จนถึงวันนี้ที่ TMC คือแบรนด์ไทยหนึ่งเดียวที่ขับเคี่ยวอยู่ในตลาดท่ามกลางคู่แข่งจากต่างประเทศ ผลิต และพัฒนาเครื่องจักรไทยให้มีคุณภาพมาตรฐานทัดเทียมเครื่องจักรนำเข้าจากต่างประเทศ จนกล่าวได้ว่า คนไทยสามารถคิดค้นและผลิตเครื่องจักรระบบไฮดรอลิกขึ้นมาใช้เองภายในประเทศได้ “ตั้งแต่รุ่นคุณพ่อ ท่านเรียนจบแค่ ป.4 แต่เป็นคนที่พยายามศึกษาหาความรู้มาก อย่างอบรม คพอ. (โครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม) นี่คุณพ่อเป็นรุ่น 3 ของประเทศ คุณพ่ออบรมก่อนตั้งบริษัท ที.เอ็ม.ซี. อุตสาหกรรมอีก ส่วนคุณแม่รุ่น 17 โครงการเดียวกัน เป็นการอบรมแผนธุรกิจการอบรมโครงการนี้ทำให้คุณพ่อสามารถเขียนแผนไปขอเงินกู้ธนาคารได้ จากแรก ๆ ที่ต้องใช้เงินกู้นอกระบบไปกู้คนนั้นคนนี้มาลงทุน การเข้าอบรมนี้ถือเป็นโครงการที่ทำให้เราเข้าถึงแหล่งเงินกู้ธนาคารได้ ซึ่งนักธุรกิจหรือคนเริ่มธุรกิจใหม่ ๆ ส่วนใหญ่ก็จะไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้” นอกจากรุ่นพ่อแม่ ผู้บริหารบริษัท ที.เอ็ม.ซี.อุตสาหกรรม จำกัด ล้วนเข้าร่วมอบรมในโครงการ คพอ. เริ่มตั้งแต่ คุณสุรเชษฐ์ เข้าอบรมรุ่น 64 ภรรยาของคุณสุรเชษฐ์ เข้าอบรมรุ่น 186 และคุณธีรภาพ น้องชายคนเล็กของคุณสุรเชษฐ์ เข้าอบรมในรุ่น 94 เรียกได้ว่าเป็นครอบครัว คพอ.ขนานแท้มายาวนาน ความรู้ที่ได้ทั้งในเชิงกลยุทธ์และแผนงานสร้างพลังให้พวกเขาขับเคลื่อนธุรกิจ และมั่นใจในศักยภาพที่ตนเองมีจนสามารถขยายงานรุกเข้าสู่ตลาดในยุคแห่งการแข่งขันเสรีได้ นอกจากความรู้แล้ว การเข้าร่วมอบรม ยังได้รู้จักเครือข่ายผู้ประกอบการที่สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นพลังหนุนเสริมซึ่งกันและกันมาตลอด วันนี้ TMC เป็นผู้ผลิตเครื่องจักรระบบไฮดรอลิกรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย แต่กว่าจะมีวันนี้การก่อร่างสร้างธุรกิจไม่มีระบบไฮดรอลิกใดมาช่วยทุ่นแรง TMC สั่งสมชื่อเสียงและผลงานคุณภาพมาเกือบ40 ปี บนความมุ่งมั่นและพลังแห่งการเรียนรู้อันเต็มเปี่ยมของคุณทวีมิตร กมลมงคลสุข คนรุ่นพ่อที่อาจเรียกได้ว่า ‘วิศวกรห้องแถว’ ใช้วิธีเรียนแบบครูพักลักจำ ขวนขวายเรียนรู้ด้วยตนเอง รับไม้สานต่อโดยคนรุ่นลูก ผู้สืบต่อทั้งแนวคิดการบริหาร และตระหนักมาจากประสบการณ์ของคนรุ่นพ่อว่า ความรู้คือพลัง ความรู้เป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญที่ส่งให้ธุรกิจก้าวเดินมาได้จนถึงจุดนี้ คุณสุรเชษฐ์ กมลมงคลสุข กรรมการผู้จัดการบริษัท ที.เอ็ม.ซี.อุตสาหกรรม จำกัด 125/10 หมู่ 5 ต. บ้านสวน อ. เมือง จ. ชลบุรี โทรศัพท์ : 0 3827 1933 โทรสาร : 0 3827 1931 เว็บไซต์ : www.tmc.co.th ที่มา : หนังสือ 72 ปี แห่งการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน
31 ธ.ค. 2014
ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ธนไพศาล ย่นระยะความสำเร็จบนเส้นทางสิ่งทอ
ธนไพศาลเป็นองค์กรเก่าแก่ด้านสิ่งทอที่เติบโตมายาวนานกว่า 100 ปี หากแต่ย้อนกลับไปสมัยที่เข้ามารับช่วงต่อกิจการใหม่ๆ เมื่อ 35 ปีที่แล้ว ผู้บริหารรุ่นหลานอย่างคุณปิลันธน์ ธรรมมงคล ยอมรับว่าตนเองแทบไม่มีความรู้พื้นฐานเรื่องการฟอกย้อมและด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอเลย จึงเริ่มต้นด้วยการเข้าอบรมเวิร์กช็อปต่างๆ ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มพูนความรู้และพัฒนาศักยภาพในการแข่งขัน จนปัจจุบันธนไพศาลมีความโดดเด่นด้านการออกแบบวัสดุสิ่งทอใหม่ๆเช่น การออกแบบเส้นใย การทอ การฟอกย้อมและตกแต่งสำเร็จ การเข้าร่วมอบรมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง เป็นแรงบันดาลใจให้คุณปิลันธน์ตระหนักถึงการพัฒนาต่อยอดธุรกิจของตนเองโดยเน้นการทำงานวิจัยและพัฒนา เพื่อนำองค์ความรู้นั้นมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์และผลลัพธ์ที่สร้างมูลค่า เป็นการสร้างจุดแข็งทางการค้าตลอดจนยกระดับสิ่งทอไทยให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น “น้อยมากที่จะมี SMEs ทำงานวิจัยเป็นสิบๆปี แต่เราทำ” คุณปิลันธน์ยกตัวอย่างความสำเร็จของการทำงานวิจัยพัฒนาให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าไหมของธนไพศาลเมื่อ 8 ปีที่ผ่านมา และได้สร้างโรงทอต้นแบบเพื่อสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ขึ้น จนสุดท้ายได้สร้างแบรนด์ผ้าไหมขึ้นเองในชื่อ GV Silk วางตำแหน่งสินค้าเป็นผ้าไหมไฮเทคที่ดูแลรักษาง่าย(Easy Care Silk) ซึ่งนับว่าแตกต่างจากคู่แข่งอื่นมาก และเป็นความภาคภูมิใจที่เขากล้าการันตี ล่าสุดคุณปิลันธน์มีไอเดียพัฒนาต่อยอดธุรกิจด้วยเทคนิคเคลือบวัสดุสิ่งทอ หรือการโค้ตติ้ง (Coating) ผ้า จึงได้ติดต่อพี่เลี้ยงคนสำคัญอย่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเพื่อขอเข้าร่วมกิจกรรมปรึกษาแนะนำเชิงลึกรายสาขา ซึ่งทางกรมฯ ได้เชิญวิทยากรหรือผู้ประกอบการที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางในสาขานั้นๆ มาให้คำปรึกษาแนะนำ ชนิดลงมาเทรนอย่างเคี่ยวกรำแบบพี่สอนน้อง “นอกจากสอนหลักการ กิจกรรมนี้ยังสอนให้เราปฏิบัติ โดยใช้องค์ความรู้จริงจากผู้รู้จริง เราไม่ต้องเสียเวลาลองผิดลองถูกเพราะผู้ประกอบการที่เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆเขาได้สรุปบทเรียนมาให้เราแล้ว ทำให้เรามีโอกาสเดินหน้า และประสบผลสำเร็จค่อนข้างสูง” ขณะนี้โครงการอยู่ในช่วงการวิจัยต้นแบบและนำเข้าวัสดุ อีกไม่นานเราคงจะได้เห็นผลิตภัณฑ์จากแนวคิดสร้างสรรค์ของธนไพศาลที่พัฒนาต่อยอดจากเทคนิคเคลือบผ้าออกสู่ตลาดในเร็วๆ นี้ คุณปิลันธน์ ธรรมมงคล กรรมการผู้จัดการ หสน. ธนไพศาล 218 หมู่ที่ 1 ถ.สุขุมวิท ซ.บีไทย 80 ต.บางปูใหม่ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ โทรศัพท์ : 0 2323 9447 โทรสาร : 0 2323 1556 เว็บไซต์ : www.thanapaisal.co ที่มา : หนังสือ 72 ปี แห่งการพัฒนาอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ธ.ค. 2014
กลุ่มสตรีสหกรณ์ย้อมสีทอผ้าธรรมชาติ เติมเอกลักษณ์ใหม่ให้ผ้าทอตีนจก
ด้วยความรักในการทอผ้าที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากผู้เป็นมารดา ตั้งแต่อายุเพียง 12 ปี และได้ฝึกฝนฝีมือจนหาใครเทียบได้ยาก ที่โดดเด่นเป็นพิเศษคือการทอผ้าตีนจกที่สวยงาม มีชีวิตชีวา หลังจากทำงานด้านอนุรักษ์ลวดลายผ้าตีนจกโบราณเมืองลอง เป็นเวลา 30 ปีเศษ คุณประนอม ทาแปง จึงได้รวมตัวชาวบ้านในชุมชน จัดตั้งกลุ่มสตรีสหกรณ์ทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ จังหวัดแพร่ และลงมือถ่ายทอดความรู้การทอผ้าตีนจกให้แก่สมาชิกของกลุ่มจนสมาชิกเพิ่มจำนวนมากขึ้นและสามารถสร้างรายได้หลังฤดูเก็บเกี่ยว คุณประนอมเป็นผู้ที่ชอบศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ จึงได้คิดค้นลวดลายผ้าขึ้นใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยศึกษาลวดลายผ้าและสีสันจากผ้าโบราณแล้วนำมาทอใหม่ รวมถึงได้คิดค้นเทคนิคใหม่ที่ช่วยให้การทอลวดลายประสมกันทำได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะลวดลายโบราณที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน เช่น ลายผักแว่น ลายขอไล่ ลายงวงน้ำคุ ลายนกกินน้ำร่วมต้น และพัฒนาผ้าทอให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าแปรรูปอื่นๆ ด้วย เช่น เสื้อ กระเป๋า กระโปรงผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ แต่กว่าจะประสบความสำเร็จอย่างเช่นทุกวันนี้ ผลิตภัณฑ์ผ้าทอตีนจกของคุณประนอมต้องพบกับปัญหาเนื้อผ้าแข็งและสีตกจนเมื่อได้เข้าร่วมอบรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์กับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จึงได้ค้นพบวิธีแก้ปัญหานี้ได้สำเร็จ “เดิมผ้าย้อมครามของเราสีตก เพราะใช้สีจากวัตถุดิบธรรมชาติเป็นหลัก เช่น ใบไม้ เปลือกไม้ มะเกลือ คั่ง หลังเข้าร่วมอบรมกับทางกรมฯ ทำให้ได้รับความรู้เรื่องเทคนิคการย้อมผ้าและเทคโนโลยีที่ทำให้เนื้อผ้านุ่ม ซึ่งช่วยปิด จุดอ่อนของเรา จากเดิมที่ผ้าทอเคยขายได้อยู่ที่ 70% ต่อมาเราพัฒนาให้มีจุดแข็งเพิ่มเติมคือ เนื้อนุ่ม ใส่สบาย สีไม่ตก ยอดจำหน่ายก็ขึ้นมาเป็น 100 เปอร์เซ็นต์” หลังจากนั้นคุณประนอมยังได้รับความช่วยเหลือด้านการพัฒนาการตลาดจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยมีโอกาสได้ออกบูธจำหน่ายสินค้าร่วมกับกิจกรรมของทางกรมฯและเข้าร่วมอบรมความรู้อย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันผลิตภัณฑ์ผ้าทอตีนจก อำเภอลอง จังหวัดแพร่ ได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) และได้รับการคัดเลือกให้เป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ระดับ 4 ดาว และระดับ 5 ดาว และก้าวหน้าถึงขั้นรับผลิตส่งออกแม้จะเป็นออร์เดอร์จำนวนไม่มากนัก เพราะกำลังการผลิตจำกัด แต่ก็นับเป็นก้าวย่างของผ้าไทยที่สดใสไม่น้อย คุณประนอม ทาแปง ประธานกลุ่มสตรีสหกรณ์ย้อมสีทอผ้าธรรมชาติ จ.แพร่ 97/2 หมู่ 9 ต.หัวทุ่ง อ.ลอง จ.แพร่ โทรศัพท์ : 0 5458 3441 , 08 1951 6639 โทรสาร : 0 5466 0784 ที่มา : หนังสือ 72 ปี แห่งการพัฒนาอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ธ.ค. 2014
บริษัท นารายณ์ อินเตอร์เทรด จำกัด เดินเคียงข้างแม้ยามยาก
มหาอุทกภัยในปี 2554 ไม่เพียงสร้างความเสียหายให้กับกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเท่านั้น แต่กินอาณาบริเวณกว้างครอบคลุมหลายจังหวัดเกือบค่อนประเทศ รวมไปถึงจังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีโรงงานสาขาของแบรนด์นารายาตั้งอยู่ ธุรกิจของนารายาเผชิญอุปสรรคมาแล้วมากมาย แต่ไม่ว่าอุปสรรคจะหนักหนาสักเพียงใด ก็ฝ่าฟันมาได้ทุกครั้ง แต่กระแสน้ำที่กำลังไหลบ่ามาทุกทิศทุกทางในครั้งนั้น ทำให้ คุณวาสนา รุ่งแสนทอง ประธานบริหารบริษัท นารายณ์ อินเตอร์เทรด จำกัด รู้สึกกังวลใจเป็นอย่างมาก ขณะที่น้ำท่วมกำลังจวนเจียนเข้ามาใกล้ตำบลพระลับ ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งโรงงานสาขาของนารายา หลังจากประเมินสถานการณ์ดูแล้วคุณวาสนาจึงตัดสินใจติดต่อขอรับความช่วยเหลือจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 5 จังหวัดขอนแก่น ได้ยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือด้านสถานที่ คือ อาคารโรงงานปฏิบัติการ 2 หลัง และอาคารโรงอาหาร 1 หลัง เพื่อใช้ดำเนินกิจการชั่วคราวและจัดเก็บวัตถุดิบ โดยมีการเร่งอพยพทั้งเครื่องจักร วัตถุดิบ และคนงานกว่า 300 คน ได้ทันก่อนที่โรงงานจะถูกน้ำท่วมเพียงสองวัน ไม่เช่นนั้นอาจสร้างความเสียหายสูงถึง 12 ล้านบาท ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมในครั้งนั้น ทำให้นารายณ์ไม่ต้องปิดโรงงาน และยังเป็นการช่วยเหลือแรงงานไม่ให้ประสบปัญหาการว่างงานซ้ำเติม ขณะเดียวกันหลังย้ายฐานการผลิตไปยังที่แห่งใหม่ ยังทำให้ได้ชาวบ้านในท้องถิ่นมาสมัครเป็นแรงงานเพิ่มขึ้น ทำให้การผลิตเดินหน้าต่อไปได้อย่างไม่สะดุด “เหตุการณ์ครั้งนี้เตือนใจเราว่า ในยามที่ประสบความเดือดร้อน อย่างน้อยยังมีหน่วยงานหนึ่ง ซึ่งก็คือกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลอื ผู้ประกอบการอย่างเรา” วิกฤตน้ำท่วมในครั้งนี้นับเป็นเครื่องพิสูจน์อีกครั้งหนึ่งว่า ไม่ว่าจะในยามสุขหรือยามทุกข์กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมพร้อมจะเดินเคียงข้างผู้ประกอบการตลอดไป คุณวาสนา รุ่งแสนทอง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท นารายณ์ อินเตอร์เทรด จำกัด (NaRaYa) 220/4 หมู่ที่ 4 ถ.แจ้งวัฒนะ ต.ปากเกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี โทรศัพท์ : 0 2502 2000 โทรสาร : 0 2502 2011 เว็บไซต์ : www.naraya.co.th ที่มา : หนังสือ 72 ปี แห่งการพัฒนาอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ธ.ค. 2014
กลุ่มจักสานกระจูดบ้านห้วยลึก สอดสานอย่างมีดีไซน์
บ้านห้วยลึก อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นแหล่งกระจูดตามธรรมชาติ ชาวบ้านละแวกนี้จึงยึดอาชีพจักสานกระจูดสืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น จนเมื่อกำนันของหมู่บ้านนำผลงาน “สมุก” ซึ่งเป็นที่ใส่หมากพลูของชาวใต้โบราณ ไปประกวด และได้รับรางวัลกลับมา จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ชาวบ้านต้องการที่จะเก็บรักษาภูมิปัญญานี้ไว้ไม่ให้สูญหายจึงได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มจักสานเส้นใยพืช (กระจูด) เมื่อ พ.ศ. 2538 ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น กลุ่มวิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมจักสานกระจูดบ้านห้วยลึก โดยมีคุณปรีฑา แดงมา ผู้คลุกคลีกับงานหัตถกรรมประเภทนี้มาอย่างยาวนาน เป็นประธานกลุ่ม คุณชยาวัฒน์ แดงมา บุตรชายของคุณปรีฑาซึ่งรับหน้าที่ด้านการทำตลาด เล็งเห็นว่าหากมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ จะช่วยทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น จึงได้เข้าไปขอความช่วยเหลือจากศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 จังหวัดสุราษฎร์ธานี มาให้คำแนะนำ และทำการฝึกสอน โดยเน้นการตัดเย็บเป็นผลิตภัณฑ์แบบต่าง ๆ เช่น หมวก กระเป๋า ที่รองแก้ว ที่รองจาน แฟ้มเอกสาร กระเป๋าเดินทาง เบาะรองนั่ง และของใช้เบ็ดเตล็ด ซึ่งช่วยเพิ่มช่องทางการตลาด ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์จักสานกระจูดเป็นที่รู้จักมากขึ้น “วิธีการทอลายกระจูดของบ้านห้วยลึกมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่สวยงามอยู่แล้ว แต่ทางกลุ่มฯ ต้องการต่อยอดพัฒนากระจูดให้เป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ มากขึ้น เพื่อช่วยทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น จึงได้ขอความช่วยเหลือจากศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 จ.สุราษฎร์ธานี มาให้คำแนะนำ” คุณชยาวัฒน์ เล่าถึงจุดเปลี่ยนสำคัญของกลุ่มฯหลังจากที่มีการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เริ่มจากนำกระจูดมาย้อมสีเพื่อเพิ่มความสดใส และเพิ่มความทันสมัยสวยงามด้วยวัสดุหลากชนิด เช่น ผ้าไหม ผ้าบาติก นิกเกิล กระดุมต่าง ๆ กะลามะพร้าว สายหนังหลากขนาด รวมทั้งใช้เทคนิคอื่น ๆ เข้ามาผสมผสาน เช่น เทคนิคสไตล์เดคูพาจ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในขณะนี้ ทางกลุ่มฯ ได้นำสินค้าไปจำหน่ายที่ตลาดนัดสวนจตุจักร ปรากฏว่าได้รับผลการตอบรับเป็นอย่างดี รวมถึงมีลูกค้าชาวต่างชาติมาสั่งให้ผลิตเพื่อนำไปจำหน่ายต่อเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันการจักสานกระจูดได้กลายเป็นอาชีพเสริมของชาวบ้านห้วยลึกแทบทุกครัวเรือน สามารถพัฒนาฝีมือการจักสานออกมาได้อย่างสวยงาม จนได้รับรางวัลต่าง ๆ หลายประเภท ส่งผลให้สมาชิกมีกำลังใจที่จะสร้างสรรค์ผลงานใหม่ ๆ ออกสู่ตลาดจนเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง และแน่นอนว่าทุกวันนี้ เมื่อเอ่ยถึงผลิตภัณฑ์จากกระจูด ชื่อแรกที่นึกถึงต้องเป็นหัตถกรรมจักสานกระจูดบ้านห้วยลึก จังหวัดสุราษฎร์ธานี คุณชยาวัฒน์ แดงมา ผู้จัดการฝ่ายการตลาด กลุ่มจักสานกระจูดบ้านห้วยลึก 31/1 หมู่ 6 ต.ท่าสะท้อน อ.พุนพิน จ.สุราษฏร์ธานี โทรศัพท์ : 0 7729 4008, 09 1825 6138 โทรสาร : 0 7729 4008 ที่มา : หนังสือ 72 ปี แห่งการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน
31 ธ.ค. 2014
โรงงานขันลงหินเจียม แสงสัจจา ต่อลมหายใจมรดกงานศิลป์จากยุคกรุงศรีฯ
ขันลงหินบ้านบุถือเป็นมรดกตกทอดของชุมชนบ้านบุ ริมคลองบางกอกน้อย ที่สืบสานกันมายาวนานย้อนไปไกลถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา ในอดีตชาวบ้านบุทำงานหัตถกรรมขันลงหินกันแทบทุกบ้าน แต่วันนี้กลับเหลือผู้ที่ยังสืบทอดเพียงหลังคาเดียว และเป็นแห่งเดียวในประเทศไทย โดยคุณเมตตา เสลานนท์ ทายาทรุ่นที่ 6 ได้ดำเนินกิจการโรงงานขันลงหินเจียม แสงสัจจาต่อจากมารดา แต่แล้วมรดกงานศิลป์อย่างขันลงหินบ้านบุเกือบจะต้องสิ้นชื่อ เมื่อกลางดึกคืนหนึ่งได้เกิดเพลิงไหม้ขึ้นในชุมชนบ้านบุสร้างความเสียหายแก่บ้านเรือนหลายสิบหลัง รวมถึงบ้านที่ทำขันลงหินแห่งเดียวในชุมชนแห่งนี้ ห้องแสดงสินค้าขันลงหินของเก่าของหายากมากมาย รวมทั้งสต็อกสินค้าที่เตรียมส่งให้ลูกค้า ถูกไฟไหม้เสียหายทั้งหมด แต่ในความโชคร้ายยังมีโชคดีอยู่บ้าง เปลวไฟลุกลามไปไม่ถึงส่วนของโรงงาน ซึ่งเป็นที่เก็บอุปกรณ์และสถานที่ผลิต ไม่เช่นนั้นแล้วอุปกรณ์ทำขันลงหินบางอย่างที่อายุเป็นร้อยปี ซึ่งตอนนี้นับว่าหาได้ยากแล้ว ก็คงไหม้ไปหมด ด้วยความมุ่งมั่นที่จะสืบสานการทำขันลงหินบ้านบุนี้ต่อไป คุณเมตตาตั้งใจว่าจะต้องเปิดโรงงานอีกครั้งให้ได้ ปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้า คือเรื่องของเงินทุน เพราะของในสต็อกที่เตรียมขายลูกค้ามอดไหม้ไปในกองเพลิง เพื่อนสนิทของเธอจึงแนะนำให้เข้าไปขอคำปรึกษาจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยภายหลังคุณเมตตาได้เข้าโครงการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย (Revolving Fund for Cottage and Handicraft Industries: CF) ทำให้มีเงินทุนมาจัดหาวัตถุดิบและหมุนเวียนใช้ในกิจการ นับเป็นการต่อลมหายใจให้โรงงานขันลงหินเจียม แสงสัจจากลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง “เงินทุนก้อนนั้นช่วยต่อลมหายใจให้เรา ทำให้มีเงินไปซื้อวัตถุดิบ ชำระหนี้เก่า จ่ายค่าแรงให้ช่างฝีมือ ถ้าเราหยุดไปตั้งแต่วันนั้นช่างฝีมือดี ๆ ก็จะหายไป ภูมิปัญญาขันลงหิน อาจไม่ได้สานต่อมาถึงวันนี้” จากเหตุการณ์เพลิงไหม้ในวันนั้น ปัจจุบันผ่านไป 15 ปี โรงงานขันลงหินเจียม แสงสัจจา ยังคงยืนหยัดทำงานหัตถกรรมขันลงหินอย่างแข็งขัน พร้อมจัดพื้นที่ส่วนหนึ่งของโรงงาน เป็นพิพิธภัณฑ์ที่เก็บเรื่องราวของขันลงหินบ้านบุไว้ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน พร้อมรอต้อนรับนักท่องเที่ยวและแขกผู้มาเยือน คุณเมตตา เสลานนท์ เจ้าของกิจการโรงงานขันลงหินเจียม แสงสัจจา 133 ตรอกบ้านบุ ถ.จรัญสนิทวงศ์ 32 แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ โทรศัพท์ : 0 2424 1689, 08 1615 7840 โทรสาร : 0 2424 1689 อีเมล : jiamssiam@hotmail.com ที่มา : หนังสือ 72 ปี แห่งการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน
31 ธ.ค. 2014
หจก.เชียงใหม่อินเตอร์เนชั่นแนล เดค กระดาษสาไทยไปนอก
หลังจากสำรวจตลาดว่าสินค้าใดมีโอกาสทางธุรกิจ และตัวเองมีศักยภาพผลิตได้ คุณสังวร ลานยศ เริ่มมองเห็นช่องทางสร้างรายได้จากธุรกิจผลิตภัณฑ์กระดาษสา เพราะตนเองเป็นชาวสันกำแพง พื้นฐานครอบครัวผลิตร่มขายอยู่ในหมู่บ้านบ่อสร้าง จึงมีความคุ้นเคยกับงานหัตถกรรมประเภทนี้เป็นอย่างดี ใน พ.ศ. 2534 คุณสังวรตัดสินใจเริ่มต้นธุรกิจนี้ โดยเข้าไปขอคำปรึกษาจากศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ และได้ก่อตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด เชียงใหม่อินเตอร์เนชั่นแนล เดค ผู้ประกอบการโอทอปผลิตภัณฑ์จากกระดาษสารุ่นแรก ๆ ของเชียงใหม่ และใช้องค์ความรู้ที่ได้รับมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลาย เช่น เครื่องเขียนการ์ดอวยพร สมุดบันทึก อัลบั้ม ของขวัญ ของที่ระลึก เครื่องตกแต่งบ้าน ฯลฯ ในช่วงแรกคุณสังวรเน้นออกงานแสดงสินค้าต่างประเทศแทบทุกเดือน ซึ่งล้วนเป็นงานขนาดใหญ่ กลุ่มลูกค้าตรงเป้า ทำให้มียอดการสั่งซื้อเป็นจำนวนมาก แต่ด้วยแรงงานที่ไม่เพียงพอ จึงมักประสบปัญหาผลิตไม่ทันตามคำสั่งซื้อของลูกค้า คุณสังวรจึงนึกถึงพี่เลี้ยงคนสำคัญอย่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมอีกครั้ง และได้เข้าร่วมโครงการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมชนบท (สอช.) เพื่อสร้างกลุ่มคลัสเตอร์กระดาษสา กระจายการผลิตสู่ท้องถิ่น โดยใช้วิธีส่งพี่เลี้ยงลงไปอบรมการผลิตกระดาษสาให้กับชาวบ้าน พร้อมดูแลการผลิตทุกขั้นตอนเพื่อคุมคุณภาพสินค้า ขณะที่วัตถุดิบทุกอย่างจัดหาให้ ชาวบ้านก็มีงานมีรายได้ จากเริ่มต้นมีสมาชิกเพียง 30 คน ทุกวันนี้มีชาวบ้านที่เป็นแรงงานให้กับเชียงใหม่อินเตอร์เนชั่นแนล เดค ถึง 1,500 คน ในพื้นที่ประมาณ 10 ตำบล ในเขตอำเภอสันกำแพง ดอยสะเก็ด สารภี และกิ่งอำเภอแม่ออน แน่นอนว่าเมื่อมีแรงงานผลิตมากขึ้น ยอดขายก็พุ่งทะยานขึ้นเป็นเงาตามตัว ต่อมาคุณสังวรยังได้เข้าร่วมโครงการชุบชีวิตนักธุรกิจไทย จากปัญหาด้านกระบวนการผลิตที่มีการสั่งซื้อวัตถุดิบซ้ำ ไม่มีการบันทึกยอดการผลิตอย่างเป็นระบบ ส่งผลให้เกิดการทำงานซ้ำซ้อนและสื่อสารข้อมูลภายในผิดพลาดโดยมีการนำระบบไอทีมาใช้ในการผลิตที่มีกว่า 20 ขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการคุมคลังสินค้าเบิกจ่ายสินค้า ตรวจนับสินค้า ฯลฯ โดยเชื่อมโยงข้อมูลถึงกัน ช่วยให้ประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ซึ่งโปรแกรมที่ใช้เขียนขึ้นเองให้เหมาะสมกับการทำงาน ใช้ทุนเพียงประมาณแสนกว่าบาท เมื่อเทียบกับขนาดของธุรกิจถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด “ผมมีเป้าหมายส่งเสริมหัตถกรรมของไทยสู่ตลาดโลกแบบมีแบบแผน ซึ่งมีทางเป็นไปได้ เพราะลูกค้าต่างชาติชอบงานหัตถกรรมแฮนด์เมด ซึ่งเราใช้จุดนี้ กับการออกแบบที่โดดเด่น แตกต่างจากคู่แข่ง ทำให้ตลาดต่างประเทศยอมรับ” ในวันนี้ความฝันของคุณสังวรเป็นความจริงแล้ว เมื่อผลิตภัณฑ์กระดาษสาของเขาในชื่อ “Inter paper” ก้าวสู่เวทีโลกได้สำเร็จ ด้วยจุดเด่นของสินค้าที่เป็นงานทำมือคุณภาพมาตรฐานส่งออก การออกแบบที่สร้างสรรค์ ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้หลากหลายรูปแบบ คุณสังวร ลานยศ กรรมการผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด เชียงใหม่อินเตอร์เนชั่นแนล เดค 96/14 หมู่ที่ 2 ต. สันกำแพง อ. สันกำแพง จ.เชียงใหม่ โทรศัพท์ : 0 5333 2520, 08 1882 2013 โทรสาร : 0 5339 2154 เว็บไซต์ : www.interdec.com ที่มา : หนังสือ 72 ปี แห่งการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน
31 ธ.ค. 2014