Category
อธิบดีณัฐพล ประธานบอร์ดเงินทุนหมุนเวียนของดีพร้อมสั่งการ "รสอ. เจตนิพิฐ" ประธานอนุกรรมการพื้นที่ภาคใต้ ลงพื้นที่กระบี่ เยี่ยมสถานประกอบการลูกค้าเงินทุนหมุนเวียนฯ ผู้จำหน่ายอุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้า
จ.กระบี่ 16 พฤศจิกายน 2564 - นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และประธานคณะกรรมการบริหารเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย สั่งการ นายเจตนิพิฐ รอดภัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และ ประธานคณะอนุกรรมการบริหารเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทยพื้นที่ภาคใต้ พร้อมด้วย ว่าที่ร้อยตรีพงษ์ศักดิ์ เรืองศรีใส ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ดีพร้อม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานประกอบการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด รวมช่างแอร์ โดยมี นายจุรุพงค์ โชคไพศาล เจ้าของสถานประกอบการให้การต้อนรับ พร้อมทั้งสรุปภาพรวมการดำเนินงาน หจก. รวมช่างแอร์ เป็นผู้จำหน่ายอุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้า และ ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ โดยดำเนินกิจการมาแล้วกว่า 20 ปี โดยได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากโครงการเงินทุนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวแเลยนะพี่ละหัตถกรรมไทยกับทาง ศภ.10 กสอ. เป็นครั้งที่ 2 แล้ว ซึ่งผู้ประกอบการได้วางแผนนำเงินทุนฯ มาใช้ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อบริหารสภาพคล่องทางการเงินและต่อยอดและรักษาอัตราการเติบโตของธุรกิจให้คงที่ พร้อมรับมือกับคู่แข่งทางการค้าในตลาด และกำลังซื้อของลูกค้าที่ลดลงในช่วงสถานการณ์ โควิด-19 โดย รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและคณะผู้บริหาร ได้ร่วมชื่นชมผู้ประกอบการที่สามารถบริหารกิจการฝ่าวิกฤตโควิด-19 มาได้ พร้อมแนะนำช่องทางการพัฒนาและขยายกิจการในอนาคตให้กับผู้ประกอบการ ### PR.DIProm (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
17 พ.ย. 2021
ดีพร้อม ลงพื้นที่กระบี่ เยี่ยมสถานประกอบการผ้าบาติกและน้ำพริก
จ.กระบี่ 16 พฤศจิกายน 2564 - นายเจตนิพิฐ รอดภัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายวัชรุน จุ้ยจำลอง ผู้อำนวยการกองพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม ว่าที่ร้อยตรีพงษ์ศักดิ์ เรืองศรีใส ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 กสอ. นายสิทธิรงค์ เร่งเงียบ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 กสอ. คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ดีพร้อม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานประกอบการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด วาริชกระบี่ บาติก โดยมี นายวริฤธิ นวลแก้ว เจ้าของสถานประกอบการให้การต้อนรับ พร้อมทั้งสรุปภาพรวมการดำเนินงานและนำเยี่ยมชมสถานประกอบการดังกล่าว โดย รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและคณะ ได้รับฟังสรุปภาพรวมการดำเนินงาน ปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะจากผู้ประกอบการ ซึ่งทาง หจก.วาริช ได้เสนอให้ทางดีพร้อมช่วยสนับสนุนในการต่อยอดและพัฒนาเครื่องเขียนลายเทียนผ้าบาติกระบบ CNC ด้วยหัว 3 แกน และการยกระดับงานศิลปะชุมชนสู่ภาคอุตสาหกรรม เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนโดยรอบ ซึ่งรองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้ให้ข้อเสนอแนะและแนวทางการพัฒนาต่อยอดและยกระดับศักยภาพของการผลิตชิ้นงานด้วยการนำระบบออโตเมชั่นเข้ามาใช้เพื่อลดต้นทุนและสามารถผลิตได้เป็นจำนวนมากขึ้นจากเดิม รวมถึงในส่วนของเงินทุนหมุนเวียนฯ ของดีพร้อม เพื่อนำไปเป็นทุนปรับปรุงและต่อยอดเครื่องเขียนลายเทียนดังกล่าว ตลอดจนการส่งเสริมและพัฒนาช่องทางการตลาดให้สอดรับกับสถานการณ์ในปัจจุบันและพฤติกรรมผู้บริโภค โดยได้มอบหมายให้ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 กสอ. เร่งดำเนินการให้การช่วยเหลือในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ห้างหุ้นส่วนจำกัด วาริชกระบี่ บาติก เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผ้าบาติกสำเร็จรูปแบบเพ้นท์แห่งแรกของกระบี่ ซึ่งมีเครื่องเขียนลายเทียนอัตโนมัติที่นำมาใช้ในการผลิตผ้าบาติก ทำให้ลดระยะเวลาในการทำงานลง รวดเร็ว อีกทั้งไม่ต้องใช่แรงงานมากโดยตลาดส่วนใหญ่จะจำหน่ายเป็นของที่ระลึกให้กับนักท่องเที่ยวในกระบี่ ซึ่งลวดลายบนผ้าจะสะท้อนบอกเล่าเรื่องราวและภูมิปัญญาของภาคใต้ โดยช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดที่ผ่านมาทางร้านได้มีการปรับตัวจำหน่ายในตลาดออนไลน์มากขึ้น ทั้งนี้ หจก.วาริชกระบี่ บาติก ได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากโครงการเงินทุนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทยกับทาง ศภ.10 กสอ. เพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจ ในเวลาต่อมา ได้เข้าเยี่ยมชมสถานประกอบการผลิตน้ำพริกและเครื่องแกง แบรนด์ ชากีราห์ เคอร์รี่ ซึ่งเป็นการผลิตในภาคอุตสาหกรรมครัวเรือน โดยทางผู้ประกอบการได้เสนอแผนการจัดการของผลิตภัณฑ์ในอนาคต อาทิ การขยายกลุ่มตลาดให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นทั้งในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ แก้ไขจุดอ่อนของบรรจุภัณฑ์เพื่อป้องกันการเสียหายในระบบขนส่ง ซึ่งรองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และคณะผู้บริหารได้ร่วมกันให้ข้อเสนอแนะและแนวทางการพัฒนาให้กับผู้ประกอบการในหลากหลายมิติ ได้แก่ การจดแจ้งเพื่อเป็นสถานประกอบการ การจัดทำระบบมาตรฐาน อย. และ ฮาลาล การศึกษาองค์ความรู้เรื่องการตลาดออนไลน์เพื่อขยายโอกาสและช่องทางในการจำหน่ายสินค้า การปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์โดยคำนึงถึงผลประโยชน์รอบด้านตั้งแต่ ความสวยงามคงทน ง่ายต่อการใช้งานและขนส่ง การยืดอายุผลิตภัณฑ์ การจดสถิติของการจำหน่ายแต่ละเดือนเพื่อให้เกิดจุดคุ้มทุนของการผลิตบรรจุภัณฑ์ รวมถึงการปรับรูปแบบเพื่อส่งเสริมการตลาดในช่วงเทศกาลต่าง ๆ นอกจากนี้ยังได้แนะนำผู้ประกอบการพัฒนาแปรรูปผลิตภัณฑ์ ให้สะดวกต่อการบริโภค เช่น เครื่องแกงรูปแบบซุปก้อน การทำผงแห้งแบบพ่นฝอย (Spray Dry) โดยสามารถเข้าขอรับคำปรึกษาแนวทางและบริการทดสอบการแปรรูปได้ที่ศูนย์ ITC ศภ.กสอ. ในพื้นที่ ### PR.DIProm (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
17 พ.ย. 2021
“อธิบดีณัฐพล” นั่งหัวโต๊ะ หารือแนวทางการทำงานพื้นที่ภาคใต้ พร้อมนำร่อง แพ็คเกจ “ดีพร้อมเพย์” กว่า 30 ล้านบาท
จ.กระบี่ 16 พฤศจิกายน 2564 - นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “แนวทางการบริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียน เพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทยของพื้นที่ภาคใต้ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 โดยมี นายเจตนิพิฐ รอดภัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และประธานคณะอนุกรรมการบริหารเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทยพื้นที่ภาคใต้ พร้อมด้วย นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา เลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม นายวัชรุน จุ้ยจำลอง ผู้อำนวยการกองพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน ว่าที่ร้อยตรีพงษ์ศักดิ์ เรืองศรีใส ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 นายสิทธิรงค์ เร่งเงียบ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 นางอรพิน อุดมธนะธีระ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนเชี่ยวชาญ คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ดีพร้อม ณ โรงแรมเซ็นทารา อ่าวนาง บีช รีสอร์ท แอนด์สปา กระบี่ โดย อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย ได้รับฟังสรุปภาพรวมการดำเนินงานเงินทุนหมุนเวียนฯ ปีงบประมาณ 2564 และปัญหาอุปสรรคในพื้นที่ พร้อมทั้งมอบนโยบายและแนวทางการดำเนินงานของเงินทุนหมุนเวียนฯ ปีงบประมาณ 2565 ซึ่งเน้นการลดจำนวนลูกหนี้ที่คงค้างหนี้ลง 10% การทำประกันหนี้สูญกรณีเสียชีวิตหรือไม่สามารถชำระหนี้ได้เมื่อครบสัญญา และการปรับกฎระเบียบในส่วนของเงื่อนไขดอกเบี้ย เพื่อให้ได้จำนวนผู้กู้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ขณะเดียวกัน ยังได้แจ้งให้ทราบถึงโครงการสินเชื่อพิเศษดีพร้อมเพย์ (DIProm Pay) กรอบวงเงิน 30 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการนำร่องเริ่มจากส่วนกลางที่ผนวกกับมาตรการของดีพร้อม เพื่อช่วยเหลือและส่งเสริมผู้ประกอบการของดีพร้อม ที่มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจและมีความพร้อมจะฟื้นฟูกิจการอีกครั้งภายหลังสถานการณ์โควิด – 19 โดยกำหนดกรอบวงเงินอนุมัติสูงสุด 5 ล้านบาทต่อราย ในอัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดเริ่มต้น 3% ระยะเวลาชำระคืนไม่เกิน 3 ปี นอกจากนี้ ยังได้รับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะ โดยในส่วนของ ศภ.10 กสอ. ได้เสนอแนะในด้านของการเพิ่มประสิทธิภาพผู้ประกอบการในด้านการผลิต การตลาด เพื่อต่อยอดกิจการและเพิ่มกำลังความสามารถในการชำระหนี้ ด้านการปรับโครงสร้างหนี้ เช่น เปลี่ยนการค้ำประกันจากบุคคลเป็นหลักทรัพย์ ปรับแนวทางการชำระหนี้ในราย NPL เพื่อให้กลับเข้าระบบ สำหรับในส่วนของ ศภ.11 กสอ. ได้เสนอแนวทางการประชาสัมพันธ์ จัดทำข้อมูลองค์ความรู้ให้กับผู้ประกอบการ การตรวจเยี่ยมลูกหนี้ เพื่อทราบสถานะของกิจการและสำรวจความต้องการของผู้ประกอบการ การส่งเสริมด้านการตลาดในระบบสินเชื่อทั้งในกลุ่มเป้าหมายเดิมและขยายกลุ่มเป้าหมายใหม่ในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน ขณะเดียวกัน ยังได้หารือแนวทางร่วมกันในการบริหารการชำระหนี้ที่มีประสิทธิภาพและไปในทิศทางเดียวกัน การยกระดับองค์ความรู้เรื่องการบริหารจัดการธุรกิจให้กับบุคลากรของเงินทุนหมุนเวียนฯ โดยผู้เชี่ยวชาญขององค์กรเพื่อเพิ่มศักยภาพและมุมมองความรู้ให้สามารถแนะนำผู้ประกอบการให้เข้าใจต่อไป ### PR.DIProm (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
16 พ.ย. 2021
เตรียมพบกับสัมมนาออนไลน์ “ BCG การพัฒนาและเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจที่ยั่งยืน ”
กองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม วันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 เวลา 13.00 – 16.30 น. ผ่าน ZOOM & Live streaming on FB : กองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พบกับ คุณเฉลิม โกกนุทาภรณ์ Thai Eastern Group Holdings คุณถิรวัฒน์ เธียรธนะรัตน์ Thai Eastern Industrial Land ร่วมพูดคุยและให้ความรู้ในหัวข้อ การพัฒนาเศรษฐกิจแบบใหม่เพื่อความยั่งยืน : BCG Model Case Study ในการพัฒนาธุรกิจ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน สมุนไพรไทย 3 ก (กัญชา กัญชง กระท่อม) หากท่านใดสนใจสามารถลงทะเบียนได้แล้ว ที่นี่ https://bit.ly/3F6Q5ka ที่สำคัญ ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย Live streaming on FB : กองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม https://th-th.facebook.com/iaid.dip/
16 พ.ย. 2021
“แม่ทัพณัฐพล” นำทีม ดีพร้อม ร่วมคณะ รมว.อุตฯ เยี่ยมชมสถานประกอบการ จ.กระบี่ เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าของฝากของที่ระลึก
จ.กระบี่ 15 พฤศจิกายน 2564 - นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายเจตนิพิฐ รอดภัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และคณะผู้บริหารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม ร่วมลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานประกอบการ บริษัท จี้ออ ฟู้ด จำกัด ในโอกาสตรวจราชการและเตรียมความพร้อมการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2564 กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (ภูเก็ต กระบี่ ตรัง พังงา ระนอง และสตูล) โดยมี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นำคณะฯ พร้อมด้วย นายธีระยุทธ วานิชชัง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม นายสุชาติ ไตรแสงรุจิระ และนายศันสนะ สุริยะโยธิน ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายกฤชนนท์ อัยยปัญญา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งมี นายอดิศร เตี่ยวประดิษฐ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จี้ออ ฟู้ด จำกัด และนางฐนผการจ เตี่ยวประดิษฐ์ รองผู้จัดการ บริษัท จี้ออ ฟู้ด จำกัด ให้การต้อนรับ พร้อมทั้งสรุปภาพรวมการดำเนินงานและนำเยี่ยมชมสถานประกอบการดังกล่าว โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและคณะฯ ได้รับฟังภาพรวมการดำเนินงาน ปัญหาและอุปสรรคของบริษัทฯ จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการ โดยสนับสนุนเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มศักยภาพการแปรรูปอาหารจากวัตถุดิบท้องถิ่น และช่วยเหลือช่องทางการตลาดทั้งออฟไลน์และออนไลน์ รวมถึงพิจารณาให้การสนับสนุนเงินทุนเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการให้มีศักยภาพทางการแข่งขันมากขึ้น ขณะเดียวกัน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้รับมอบนโยบายจากรัฐมนตรีว่าการฯ ในการส่งเสริม พัฒนา และสนับสนุน บริษัท จี้ออ จำกัด โดยได้สั่งการให้หน่วยงานในพื้นที่ของดีพร้อมเร่งดำเนินการ ดังนี้ - ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 จ.สุราษฎร์ธานี (ศภ.10 กสอ.) และ ภาคที่ 11 จ.สงขลา (ศภ.11 กสอ.) และกองพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (กส.กสอ.) ดำเนินการยกระดับผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ของฝากของที่ระลึกในรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อขยายโอกาสทางการตลาดต่างประเทศ รวมถึงยืดอายุผลิตภัณฑ์ ผ่านกลไกศูนย์ ITC ซึ่งมีเครื่องมือแปรรูป เช่น เครื่องอบทำผงแห้งแบบพ่นฝอย (Spray Dryer) เครื่องซีลฝาฟอยล์ เครื่องซีลสูญญากาศ เครื่องซีลไนโตรเจน หม้อนึ่งฆ่าเชื้อภายใต้แรงดัน (Retort) รวมถึงพัฒนาการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ของฝากของที่ระลึกให้ทันสมัย ตอบสนองความต้องการของตลาดในรูปแบบใหม่ ๆ ผ่านการดำเนินงานของโครงการดีพร้อมแพค : บรรจุภัณฑ์สร้างสรรค์วิถีใหม่ (The Next Diprom Packaging : Diprom Pack) และศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Thai - IDC) ซึ่งมีบุคลากรที่เชี่ยวชาญ และอุปกรณ์ในการสนับสนุนการพัฒนาด้านการออกแบบ เช่น เครื่องพิมพ์ 3D Printing เป็นต้น - ศภ.10 กสอ. ดำเนินการให้คำปรึกษาแนะนำโดยผู้เชี่ยวชาญ ของ ดีพร้อม เพื่อพัฒนาการผลิตและแรงงานในการผลิตสินค้าแปรรูป สำหรับเป็นของฝากของที่ระลึก - ศภ.10 กสอ. ดำเนินการสนับสนุนการขยายตลาดออนไลน์ โดยพัฒนาทักษะการทำสื่อสำหรับออนไลน์ให้แก่บุคลากรของบริษัท ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพในการขายผ่านช่องทางออนไลน์ ด้วยกระบวนการให้คำปรึกษาแนะนำโดยผู้เชี่ยวชาญ ของ ดีพร้อม บริษัท จี้ออ ฟู้ด จำกัด ประกอบกิจการผลิตและจำหน่าย ขนมและผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปพื้นเมือง อาทิ น้ำพริกกุ้งเสียบแปรรูป อาหารทะเลแห้งแปรรูป ขนมเต้าส้อ ผลไม้อบแห้ง ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนกว่า 6.4 ล้านบาท โดยบริษัทฯ ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์และออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม สร้างมูลค่าเพิ่มและต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น และนำเอานวัตกรรมการผลิตอาหารที่ทันสมัยและได้มาตรฐานสากลมาใช้รองรับลูกค้าทั้งในพื้นที่และลูกค้ากลุ่มออนไลน์ที่กำลังเติบโต ทั้งนี้ ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้เข้าร่วมโครงการกับดีพร้อม เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในด้านต่าง ๆ ได้แก่ โครงการสร้างเครือข่ายอุตสาหกรรม (Food Cluster) เพื่อสร้างความเข้มแข็งและมูลค่าเพิ่มภายใต้อัตลักษณ์ Andaman Brand โครงการปรับแผนธุรกิจและเพิ่มขีดความสามารถ SMEs โครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและอาหาร การจัดทำระบบมาตรฐานฮาลาล รวมถึงโครงการเพิ่มศักยภาพและยกระดับเทคโนโลยีอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยมีผลลัพท์การดำเนินงานที่สำคัญคือ โครงการเพิ่มผลิตภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ ซึ่งสามารถสร้างผลลัพธ์ลดต้นทุนการผลิตต่อหน่วย 10,000 บาท/ปี และผลิตภัณฑ์ที่พัฒนามีมูลค่ายอดขายเพิ่มขึ้นจากเดิม 4,800,000 บาท ### PR.DIProm (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
16 พ.ย. 2021
“อธิบดีณัฐพล” บินตรงกระบี่ ร่วมคณะ รมว.อุตฯ ตรวจเยี่ยมอุตฯ แปรรูปไม้ยาง พร้อมเร่งยกระดับผลิตภาพด้วยระบบออโตเมชั่น รองรับ BCG
จ.กระบี่ 15 พฤศจิกายน 2564 - นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายเจตนิพิฐ รอดภัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และคณะผู้บริหารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม ร่วมลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานประกอบการ บริษัท วู้ดเวอร์ค จำกัด ในโอกาสตรวจราชการและเตรียมความพร้อมการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2564 กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (ภูเก็ต กระบี่ ตรัง พังงา ระนอง และสตูล) โดยมี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นำคณะฯ พร้อมด้วย นายธีระยุทธ วานิชชัง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม นายสุชาติ ไตรแสงรุจิระ และนายศันสนะ สุริยะโยธิน ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายกฤชนนท์ อัยยปัญญา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ ซึ่งมี นายวิถี สุพิทักษ์ ประธานกรรมการ บริษัท วู้ดเวอร์ค จำกัด และนายธนพจน์ ศุภศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท วู้ดเวอร์ค จำกัด ให้การต้อนรับ พร้อมทั้งสรุปภาพรวมการดำเนินงานและนำเยี่ยมชมสถานประกอบการดังกล่าว โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและคณะฯ ได้รับฟังภาพรวมการดำเนินงาน รวมถึงปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอจากบริษัท วู้ดเวอร์ค จำกัด ซึ่งทางบริษัทฯ ได้เสนอให้ทางกระทรวงอุตสาหกรรมเข้ามาส่งเสริมและสนับสนุนในการยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพ ด้านกระบวนการผลิต/บุคลากร ด้วยนวัตกรรม เพื่อมุ่งสู่อุตสาหกรรม 4.0 รวมถึงการส่งเสริม พัฒนา และสนับสนุนด้านต่าง ๆ เพื่อตอบสนอง BCG ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ และคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้ข้อคิดเห็นและเสนอแนะแนวทางการส่งเสริมและยกระดับด้านระบบออโตเมชั่น การให้การสนับสนุนในเรื่องของกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ และการส่งเสริมให้บริษัทฯ นำขี้เลื่อยจากการแปรรูปไม้มาใช้เป็นวัตถุดิบ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะเลี้ยงฟาร์มเห็ด นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้หน่วยงานของกระอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการส่งเสริม พัฒนา และให้การสนับสนุนด้านต่าง ๆ ตามข้อเสนอแนะกับทางบริษัทฯ ขณะเดียวกัน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้รับมอบนโยบายจากรัฐมนตรีว่าการฯ ในการส่งเสริม พัฒนา และสนับสนุน บริษัท วู้ดเวอร์ค จำกัด ในทุก ๆ มิติ โดยอธิบดีฯ ได้สั่งการให้หน่วยงานในพื้นที่ของดีพร้อมเร่งดำเนินการ ดังนี้ - ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 จ.สุราษฎร์ธานี (ศภ.10 กสอ.) และภาคที่ 11 จ.สงขลา (ศภ.11 กสอ.) ประสานการเชื่อมโยงผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ไม้ยางแปรรูป รวมถึงต่อยอดความร่วมมือในลักษณะ Big Brother ซึ่งที่ผ่านมามี บริษัท สยามทิมเบอร์ แอนด์ แมชชีนเนอรี่ จำกัด ร่วมดำเนินงานกับ ดีพร้อม ด้วยการให้ บริษัท วู้ดเวอร์ค จำกัด ยืมเครื่องจักรและเป็นวิทยากรในการอบรมเพิ่มทักษะการคลองเลื่อยให้กับพนักงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการแปรรูป - ผู้อำนวยการ ศภ.10 กสอ. ศภ.11 กสอ. และผู้อำนวยการกองพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (กน.กสอ.) เข้าไปช่วยยกระดับการผลิตไม้ยางพาราสำเร็จรูป เพื่อสนับสนุนการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการบริหารจัดการและการผลิต โดยเฉพาะระบบ Automation หรือ ระบบ AI สำหรับการวิเคราะห์การตัดและการเลื่อยให้เกิดของเสียในกระบวนการผลิตน้อยที่สุด รวมถึงการเพิ่มศักยภาพการใช้หม้อไอน้ำ (Boiler) เพื่อเพิ่มศักยภาพการอบไม้ยางพารา เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากเดิม 250 บาท/ลูกบาศก์ฟุต เป็น 1600 บาท/ลูกบาศก์ฟุต อาทิ ไม้สำหรับงานตกแต่งและแผ่นพื้นไม้บันไดสำเร็จ - ผู้อำนวยการ ศภ.10 กสอ. ศภ.11 กสอ. และผู้อำนวยการกองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม (กอ.กสอ.) ประสานเพื่อเข้าไปช่วยส่งเสริมการรับรองมาตรฐาน และการส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจระหว่างประเทศ โดยส่งเสริมการเตรียมความพร้อมในการรับรองมาตรฐานสากล มาตรฐาน PEFC รวมถึงส่งเสริมการเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างประเทศ เพื่อกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจจากประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดหลักของไม้ยางพาราในปัจจุบัน - ดีพร้อม เร่งให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานกับกระทรวงแรงงาน เพื่อพัฒนาทักษะแรงงานในอุตสาหกรรมไม้ยางพารา ด้วยการสร้างหลักสูตรสำหรับการพัฒนาทักษะที่เกี่ยวข้องกับไม้ยางพาราโดยเฉพาะ รวมทั้งการส่งเสริมการเข้าร่วมโครงการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม โดยส่งต่อความต้องการไปยังสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ต่อไป ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ดีพร้อม ได้ให้การส่งเสริมและสนับสนุนในด้านการพัฒนาบุคลากรของบริษัทฯ ภายใต้ โครงการส่งเสริมสุขภาวะองค์กร (SHAP) ทำให้บริษัท วู้ดเวอร์ค จำกัด เกิดการพัฒนาทุนมนุษย์ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และสร้างความรักต่อองค์กรของพนักงานให้ดีขึ้น ส่งผลให้สามารถลดต้นทุนและเพิ่มผลิตภาพภาพรวมขององค์กรเพิ่มขึ้น รวมถึงทำให้สามารถลดต้นทุน 1,462,500 บาท/ปี นอกจากนี้ ยังประสบความสำเร็จในการควบคุมการติดเชื้อโคโรนา 2019 โดยไม่พบพนักงานติดเชื้อภายในสถานประกอบการอีกด้วย สำหรับบริษัทดังกล่าว ดำเนินธุรกิจแปรรูปไม้ยางพาราและไม้ที่ปลูกขึ้นโดยเฉพาะ 13 ชนิด ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2537 (ไม้ยูคาลิปตัส ไม้สะเดาเทียม ไม้สนทะเล ไม้สนปฏิพัทธ์ ไม้กระถินณรงค์ ไม้กระถินเทพา ไม้กระถินยักษ์ ไม้มะพร้าว ไม้มะขาม ไม้มะไฟบ้าน ไม้มะปรางบ้าน ไม้จามจุรี และไม้ตาล) รวมถึงไม้แปรรูปอบแห้ง ไม้แปรรูปสด ปีกไม้ ปลายไม้ และขี้เลื่อย ตลอดจนทำลังไม้และไม้รองสินค้าเพื่อหน่าย จำหน่ายทั้งภายในและต่างประเทศ ภายใต้มาตรฐานการผลิตด้วยการนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ภายใต้ระบบบริหารจัดการที่มีคุณภาพ โดยมีอัตรากำลังผลิต 720,000 ลูกบาศก์ฟุตต่อปี ส่งออกเฉลี่ย 850 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อเดือน ซึ่งมีสัดส่วนตลาดภายในประเทศร้อยละ 10 และตลาดต่างประเทศร้อยละ 90 ซึ่งมีประเทศจีนเป็นตลาดหลัก ทั้งนี้ บริษัทฯ ก่อตั้งมา 26 ปี มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่จังหวัดตรัง ปัจจุบันมีการดำเนินการ 9 สาขาในพื้นที่ภาคใต้ โดยมีพนักงานกว่า 2,000 คน และได้มีการนำระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วย เพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงานมากขึ้น ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ได้มุ่งเน้นการให้ความสำคัญกับการพัฒนาประสิทธิภาพและเทคโนโลยีในการผลิตควบคู่ไปกับการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง รวมถึงจัดเป็นโรงงานอุตสาหกรรมสะอาด มุ่งเน้นการประกอบการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รองรับนโยบาย Krabi Goes Green ### PR.DIProm (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
15 พ.ย. 2021
คิดเห็นแชร์ : ‘คน’ความท้าทายของการดำเนินธุรกิจในยุคหลังโควิด-19
คอลัมน์ : คิดเห็นแชร์ (มติชนออนไลน์) ผู้เขียน : นายพลาวุธ วงศ์วิวัฒน์ (ผู้อำนวยการกลุ่มสนับสนุนการจัดตั้งธุรกิจ กองส่งเสริมผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) สําหรับท่านผู้อ่านคอลัมน์คิดเห็นแชร์ทุกท่าน วันนี้ผมจะมาขอแชร์มุมมองถึงความท้าทายของการดำเนินธุรกิจในยุคหลังโควิด-19 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจอุตสาหกรรมที่ไม่สามารถรักษายอดขายและกำไรไว้ได้ ทำให้ธุรกิจส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะภาคการค้า การบริการและการท่องเที่ยว ต้องปิดกิจการ หรือต้องลดจำนวนแรงงานลง จากข้อมูลภาวะสังคมไทยในไตรมาสที่ 2 ปี 2564 ของสภาพัฒน์ พบว่า มีอัตราการว่างงานลดลงจากไตรมาสที่ 1 ที่ 1.89% คิดเป็นจำนวนผู้ว่างงานถึง 7.3 แสนคน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานใหม่จากกลุ่มนักศึกษาจบใหม่ประมาณ 2.9 แสนคน ซึ่งมียอดผู้ว่างงานสูงและสวนทางกับภาคอุตสาหกรรมที่มีความต้องการแรงงานในตลาดจากการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรม และจากการประมาณการโดยหน่วยงานภาคเอกชน ในเดือนกรกฎาคม 2564 พบว่า ปัจจุบันยังขาดแคลนแรงงานภาคอุตสาหกรรม จำนวนกว่า 5 แสนคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างชาติที่เดินทางกลับประเทศในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้สถานประกอบการหลายแห่งต้องชะลอการผลิตลงเพราะขาดแรงงาน จากสถานการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า กลุ่มผู้ว่างงาน หรือนักศึกษาจบใหม่ที่เข้าสู่ระบบการจ้างงานต่างๆ ของไทยเหล่านี้ ไม่ได้มีความต้องการที่จะทำงานในภาคอุตสาหกรรมอย่างเดียวเท่านั้น แต่มีโอกาส หรือทางเลือกอื่นในการสร้างรายได้แบบอิสระที่มีรายได้ดีหรือเริ่มดำเนินธุรกิจของตัวเองมากขึ้น ในขณะที่แรงงานไทยเองก็เลือกที่จะกลับสู่ภาคการเกษตรในท้องถิ่นที่มีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าและมีแหล่งงานที่ดีในท้องถิ่นของตนเองเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้ หากพิจารณาจากจำนวนการจดทะเบียนธุรกิจใหม่ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนกันยายน ปี 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 58,056 ราย หรือเพิ่มขึ้น 16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่ผ่านมา และมีจำนวนมากกว่าจำนวนธุรกิจที่ปิดตัวลง ดังนั้น เมื่อจำนวนธุรกิจเพิ่มมากขึ้นเช่นนี้ ในขณะที่สถานการณ์การกระจายตัวของคนในสังคมที่ถูกเร่งจากผลกระทบของโควิด-19 อัตราการเกิดของประชากรที่ไม่ได้เพิ่มขึ้น และการที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยแล้วนั้น จึงเห็นเป็นแนวโน้มชัดเจนได้ว่า ธุรกิจไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตร ภาคขนส่ง หรือภาคใดๆ นั้นจะมีจำนวนแรงงาน หรือพนักงานในองค์กรลดลง มีการแข่งขันในตลาดแรงงานที่มีคุณภาพมากขึ้น ดังนั้น “คน” จะเป็นความท้าทายที่สำคัญของการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าภาคธุรกิจใดในยุคต่อไปหลังโควิด-19 นี้ จึงมี 3 ประเด็นที่สำคัญคือ 1.ผลิตภาพ (Productivity) การบริหารจัดการผลิตภาพในองค์กร เนื่องจากแรงงานมีแนวโน้มจะลดน้อยลงและหายากขึ้น การใช้เทคโนโลยี ไอที เครื่องจักร และระบบอัตโนมัติ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นในการทำให้องค์กรสามารถดำเนินการต่อไปข้างหน้าได้ 2.นวัตกรรม (Innovation) การพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ หรือการบริการให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดและทิศทางของเทรนด์โลกในอนาคต รวมถึงการทำการตลาดที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นจุดสำคัญในการเจาะตลาดผู้ที่มีกำลังซื้อที่มีจำนวนลดลง หรือกลุ่มผู้ที่ยังพอมีกำลังซื้ออยู่ในยุคหลังโควิด-19 ได้ 3.ธรรมาภิบาลที่ดี (Good Governance) การให้ความสำคัญกับธรรมาภิบาลองค์กรที่ดี ดูแลพนักงาน ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข รักษาแรงงานในองค์กรให้อยู่ได้นานมากขึ้น ทำให้ชุมชนเป็นแหล่งป้อนแรงงานที่มีคุณภาพ อีกทั้งยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์อันดีให้กับผู้คนในสังคม และดึงดูดคน หรือแรงงานที่มีคุณภาพมาร่วมงานกับองค์กร สุดท้ายนี้ ขอเป็นกำลังใจให้ผู้อ่านคิดเห็นแชร์ทุกท่าน ก้าวผ่านความท้าทายของการดำเนินธุรกิจในยุคหลังโควิด-19 ไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากท่านเป็นผู้ประกอบการ หรือผู้ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่การเป็นผู้ประกอบการใหม่นั้น สำหรับในมุมมองของผู้ส่งเสริมผู้ประกอบการที่ผ่านมา เห็นว่าปัจจัยที่ทำให้นักธุรกิจสามารถฝ่าปัญหาและประสบความสำเร็จไปสู่จุดมุ่งหมายทางธุรกิจได้นั้น สิ่งสำคัญคือ จิตวิญญาณของผู้ประกอบการ หรือ Entrepreneurship Spirit ที่ไม่ได้มีการสอนในสถาบันการศึกษา แต่เป็นสิ่งที่ต้องได้มาจากประสบการณ์ในการลงมือปฏิบัติจริง และเรียนรู้จากความล้มเหลว ลองผิดลองถูก ซึ่งต้องอาศัยจิตใจที่มุ่งมั่นและทักษะในการแก้ปัญหาปรับตัวต่างๆ มากมาย ซึ่งท่านผู้ประกอบการที่เคยฝ่าวิกฤตมาตั้งแต่ครั้งวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง ในปี 2540 วิกฤตสินเชื่อซับไพรม์ ในปี 2550 วิกฤตการณ์น้ำท่วม ในปี 2554 จนถึงวิกฤตโควิด-19 ในครั้งนี้ ย่อมมีประสบการณ์และภูมิคุ้มกันในการเผชิญความท้าทายต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้เป็นอย่างดี ที่มา : คิดเห็นแชร์ : ‘คน’ความท้าทายของการดำเนินธุรกิจในยุคหลังโควิด-19 (matichon.co.th)
14 พ.ย. 2021