Category
ดีพร้อมหนุนนโยบายเปิดประเทศ อัพเกรดผลผลิตเกษตร - เพิ่มมูลค่ากาแฟภาคเหนือตอนบน พร้อมปั้น “แลนด์มาร์คอาราบิก้า”
จ.เชียงราย 26 พฤจิกายน 2564 – นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมชมสถานประกอบการอุตสาหกรรมกาแฟขานรับนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรมในการยกระดับกาแฟอาราบิก้าอย่างครบวงจร ร่วมด้วย นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมด้วย คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) นางกฤษนันท์ ทะวิชัย อุตสาหกรรมจังหวัดเชียงราย และคณะจากอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงราย โดยมี จีรศักดิ์ จูเปาะ ผู้บริหาร บริษัท หญ่าโย ดีซี จำกัด ให้การต้อนรับ พร้อมทั้งสรุปภาพรวมการดำเนินงานและนำเยี่ยมชมสถานประกอบการ บริษัท หญ่าโย ดีซี จำกัด ดำเนินธุรกิจมาเป็นระยะเวลา 6 ปี เป็นผู้ปลูกกาแฟโดยมีพื้นที่ปลูกที่ดอยช้าง จังหวัดเชียงราย และเป็นผู้ผลิตเมล็ดกาแฟดิบหรือสารกาแฟ โดยใช้กระบวนการผลิตแบบเปียก หรือ Wet Process โดยสามารถทำผลผลิตได้ 5 ตันต่อเดือน แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบทำให้ยอดสั่งลดลง จึงได้ริเริ่มการพัฒนากาแฟชนิดพิเศษ เพื่อเพิ่มมูลค่าเมล็ดกาแฟ ปัจจุบันได้จัดตั้งโรงคั่วเมล็ดกาแฟซึ่งผ่านการตรวจมาตรฐานและได้รับเลขสาระบบอาหาร (เลข อย.) นอกจากนี้ ยังจัดทำร้านคาเฟ่และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ “YAYO COFFEE” เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวในประเทศ โดยบริษัทฯ เข้าร่วมโครงการกับทางดีพร้อมในกิจกรรมการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานเมล็ดกาแฟ ภายใต้โครงการยกระดับศูนย์กลางการพัฒนาอัตลักษณ์กาแฟอะราบิก้าภาคเหนือ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ทำให้ได้รับการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานเมล็ดกาแฟเมล็ดเพื่อเพิ่มมูลค่าเชิงอัตลักษณ์ของกาแฟชนิดพิเศษ ได้รับการส่งเสริมและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมกาแฟในพื้นที่ สร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้านการพัฒนาคุณภาพเมล็ดกาแฟ จากแหล่งปลูกที่มีความสูงมากกว่า 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเลขึ้นไป ให้มีอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นในด้านกลิ่นรสชาติ และลักษณะปรากฎเฉพาะของกาแฟ ด้วยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ แบบครบวงจร จนสามารถแข่งขันได้ในตลาดสากลภายใต้ภาพลักษณ์กาแฟไทย ในเวลาต่อมาอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้นำคณะสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชม บริษัท เดอะ คอฟฟี่ แฟ็คทอรี่ จำกัด โดยมีนางสาวปิยะดา คำก้อน กรรมการผู้จัดการ ให้การต้อนรับ บริษัทดังกล่าวดำเนินการธุรกิจกาแฟทั้งในรูปแบบของร้านกาแฟและมีโรงงานแปรรูปที่ครบวงจร ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานระดับสากลทั้ง GMP CODEX, HACCP CODEX และ FDA ดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญด้านกาแฟที่มีประสบการณ์มากกว่า 15 ปี พร้อมทั้งรับให้คำปรึกษาสำหรับผู้ที่สนใจทำธุรกิจเกี่ยวกับกาแฟอีกด้วย ผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ในปัจจุบันนั้นมีทั้งกาแฟสาร และคั่วเมล็ดกาแฟพร้อมบรรจุซอง” โดยหลังจากทางบริษัทฯ ได้เข้าร่วมโครงการการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานเมล็ดกาแฟกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมทำให้ได้รับการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเมล็ดกาแฟเพื่อเพิ่มมูลค่า เกิดผลสำเร็จจากการเข้าร่วมโครงการ ได้แก่ 1. Coffee Concentrate Espresso ผลิตภัณฑ์กาแฟเข้มข้น ตอบโจทย์สำหรับผู้ที่รักการดื่มกาแฟ บริโภคสะดวก เพิ่มชนิดผลิตภัณฑ์กาแฟให้มีความหลากหลายมากขึ้น แตกต่างจากผลิตภัณฑ์เดิมที่ผู้ประกอบการดำเนินกิจการที่มีเพียงเมล็ดกาแฟคั่ว และสารกาแฟ เป็นหลัก ซึ่งผลิตภัณฑ์มีอายุการเก็บรักษานาน 6 เดือน 2. ด้านบรรจุภัณฑ์ ภายใต้แนวความคิด “ผลิตภัณฑ์กาแฟเข้มข้น” บรรจุภัณฑ์เป็นขวดพลาสติกทนความร้อน ขนาด 220 มิลลิลิตร ออกแบบฉลากโดยใช้โทนสีขาว สบายตา โดยชื่อของผลิตภัณฑ์มีขนาดใหญ่วางอยู่ตรงกลาง เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนและเป็นที่จดจำ ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้เดินหน้ายกระดับกาแฟอาราบิก้าแบบครบวงจรมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2562 ภายใต้อัตลักษณ์กาแฟภาคเหนือ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์กาแฟที่มีคุณภาพและทำให้ภาคเหนือตอนบนเป็นแหล่งผลิตเมล็ดกาแฟที่มีชื่อเสียง และได้ผลักดันทักษะของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมกาแฟในภาคการผลิตและภาคบริการให้ก้าวสู่ทิศทางที่ดีขึ้น นับเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้มูลค่าของตลาดกาแฟของภาคเหนือตอนบน เติบโตมากขึ้นถึง 5,000 ล้านบาท และเมื่อศึกษาภาพรวมในตลาดกาแฟซึ่งพบว่ามีหลายปัจจัยที่เป็นตัวเร่งให้ผู้ประกอบการต้องปรับรูปแบบในการดำเนินธุรกิจ จึงได้มีแนวทางเพิ่มโอกาสการเติบโตของผู้ผลิตกาแฟในพื้นที่ภาคเหนือผ่านโครงการยกระดับศูนย์กลางการพัฒนาอัตลักษณ์กาแฟอะราบิก้าภาคเหนือ ด้วยแนวทางที่สำคัญดังนี้ 1. การพัฒนาคุณภาพมาตรฐานเมล็ดกาแฟอาราบิก้า ให้มีอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นในด้านกลิ่น รสชาติ และลักษณะปรากฎเฉพาะของกาแฟ 2. ส่งเสริมกระบวนการคั่ว มุ่งลดปัญหาและสร้างมาตรฐานการกำจัดของเสียจากการแปรรูปกาแฟ 3.ยกระดับธุรกิจผ่านแนวทางการเกษตรสร้างสรรค์ ด้วยการผลักดันกาแฟในแต่ละดอยมีอัตลักษณ์เฉพาะตัวของตัวเอง รวมถึงปรับบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสมกับการขนส่ง 4. เพิ่มโอกาสในการขยายตลาด ด้วยการผลักดันให้กาแฟแต่ละแหล่งเพาะปลูกมีโอกาสเข้าถึงช่องทางการค้าออนไลน์ พร้อมทั้งส่งเสริมการออกแบบสินค้า การจดสิทธิบัตร 5. การรวมกลุ่มของอุตสาหกรรมกาแฟผ่านคลัสเตอร์ (Cluster) และ 6. การส่งเสริมธุรกิจกาแฟของภาคเหนือตอนบนผ่านศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 และศูนย์พัฒนาและทดสอบอัตลักษณ์กาแฟอาราบิก้าภาคเหนือ (Northern Boutique Arabica Coffee Center : NBACC) ของดีพร้อม ทั้งนี้ ในปี 2565 ดีพร้อม ได้วางแนวทางผลักดันให้ผลผลิตจากเกษตรกร-ผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาดผู้บริโภคที่หลากหลาย ผ่านการพัฒนาคุณภาพและรสชาติ ซึ่งมีกลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพและสามารถพัฒนาได้อย่างเป็นรูปธรรม คือ การผลิตและเพาะปลูกบนดอยรวมกว่า 20 แห่ง ซึ่งจะพัฒนาทั้งพันธุ์กาแฟอาราบิก้าที่เหมาะสมกับแต่ละลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ สร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวของผลิตภัณฑ์กาแฟ และยกระดับศักยภาพให้เป็นพื้นที่สำคัญของการเพาะปลูก - การแปรรูปในระดับสากลต่อไป
30 พ.ย. 2021
ภาษีที่เกี่ยวข้องกับ SME
“ภาษีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ SME มีอะไรบ้าง” ในบทนี้จะขออธิบายถึงภาษีอากรทั้งหมดยกเว้นภาษีรายได้นิติบุคคลที่ได้อธิบายไปในบทที่แล้วภาษีอากรที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจที่เป็นบริษัทและห้างหุ้นส่วนนั้นเจ้าของกิจการและผู้บริหารจำเป็นต้องทราบให้มากเพราะขณะที่ดำเนินกิจการอาจถูกปรับเรื่องภาษีจากหน่วยงานภาครัฐได้ ขั้นตอนการยื่นแบบต่างๆ ของผู้ประกอบการนิติบุคคล ดังนั้นมีภาษีอากรที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจดังนี้ 1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล ได้อธิบายไปแล้วในหัวข้อเรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคลต้องเสียยังไง 2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) คือ ภาษีที่เรียกเก็บจากมูลค่าสินค้าหรือบริการที่มีการซื้อขาย โดยผู้มีหน้าที่ต้องจดทะเบียน VAT ก็คือผู้ประกอบการที่มียอดขายมากกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าถ้าธุรกิจจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้วต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ทันที ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่เสมอไป เพราะถ้าเป็นนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาก็ตามมียอดขายที่น้อยกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปีก็ไม่ต้องไปจดทะเบียน VAT ได้ แต่กิจการที่เป็นธุรกิจบุคคลธรรมดาหรือจดทะเบียนพาณิชย์ ถ้ามีรายได้จากการขายหรือบริการมากกว่า 1.8 ล้านบาทก็ต้องไปจดทะเบียน VAT เช่นกัน ในปัจจุบัน(2559) อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มคือร้อยละ 7 จากยอดมูลค่าสินค้าและบริการ มาทำความรู้จักกับภาษีมูลค่าเพิ่มที่ประกอบไปด้วยภาษีขายและภาษีซื้อ ภาษีขาย คือ ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้จดทะเบียน VAT เรียกเก็บจากผู้ซื้อในการขายสินค้าบริการเป็นภาษีที่ต้องนำส่งกรณีขายมากกว่าซื้อ ภาษีซื้อ คือ ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ซื้อสินค้าหรือบริการต้องชำระให้ผู้ขายในการซื้อสินค้า เป็นภาษีที่ขอคืนได้ถ้าน้อยกว่าภาษีขายในรอบนั้น นอกจากธุรกิจที่มียอดขายไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปีไม่ต้องจดทะเบียน VAT แล้วยังมีธุรกิจที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่มอีก ซึ่งดูรายละเอียดได้ ที่นี่ Download ผู้ประกอบการที่จดทะเบียน VAT จำเป็นต้องยื่นภาษีมูลค่าเพิ่มโดยใช้แบบ ภพ. 30 และต้องยื่นภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป รวมทั้งต้องจัดทำเอกสารดังนี้มีใบกำกับภาษี, รายงานภาษีขาย, รายงานภาษีซื้อ, รายงานสินค้าและวัตถุดิบ 3. ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เป็นภาษีที่กฎหมายกำหนดให้ผู้มีหน้าที่จ่ายเงินตามมาตรา 40 ต้องมีหน้าที่หัก ณ ที่จ่ายตามอัตราที่กฎหมายกำหนดเพื่อนำส่งให้รัฐ หากไม่หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ต้องมีโทษปรับและต้องร่วมรับผิดชอบกับผู้มีเงินได้ด้วย กรณีกิจการจดเป็นนิติบุคคลและจ่ายเงินเดือนให้กับลูกจ้างไปหรือจ่ายให้กับผู้รับจ้างทำของไป นิติบุคคลนั้นมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้และเหลือเท่าไหร่ก็จ่ายเป็นเงินไปพร้อมใบภาษีหัก ณ ที่จ่ายให้กับผู้รับเงิน ยกตัวอย่าง บริษัทยินดี ได้ว่าจ้างทำสินค้ากับคุณสินเป็นเงิน 50,000 บาท อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายคือ ร้อยละ 3 ถูกหักเท่ากับ 1,500 บาท เมื่อบริษัทยินดีจ่ายเงินก็จะจ่ายในจำนวน 48,500 บาทพร้อมใบหักภาษี ณ ที่จ่ายอีก 1,500 บาทให้กับคุณสินซึ่งรวมเป็นเงินได้ทั้งสิ้น 50,000 บาทตามค่าจ้างทำของนั้น หลังจากนั้นบริษัทยินดีจะต้องก็ไปยื่นแบบภาษีหัก ณ ที่จ่าย 1,500 บาทนี้ที่สรรพากรภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป ซึ่งบริษัทยินดีได้ทำหน้าที่หักและนำส่งสรรพากรเรียบร้อยตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว สำหรับคุณสินซึ่งเป็นผู้ทำของก็จะไปยื่นภาษีรายได้บุคคลธรรมดาในปีถัดไปว่าตัวเองมีรายได้รวมในปีที่ผ่านมาจำนวนเท่าไหร่ซึ่งจะมีรายได้จากบริษัทยินดีจำนวน 50,000 บาทรวมอยู่ด้วยสำหรับอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายมีกำหนดไว้ดังนี้ อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย 4. ภาษีป้าย และภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีป้าย เป็นภาษีที่ต้องเสียเมื่อมีป้ายที่แสดงชื่อ ยี่ห้อเครื่องหมายที่ใช้ในการประกอบการค้าหรือเพื่อหารายได้ หรือเป็นป้ายโฆษณา ผู้มีหน้าที่เสียภาษีก็คือเจ้าของป้ายนั่นเอง อัตราภาษีป้ายอ่านรายละเอียดได้ที่ https://www.dip.go.th ภาษีโรงเรือนและที่ดินเป็นภาษีที่จัดเก็บจากโรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง และที่ดินที่ใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างนั้นๆ ผู้มีหน้าที่เสียภาษีคือผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สิน หากเจ้าของทรัพย์สินนำที่ดิน สิ่งปลูกสร้างและโรงเรือนนั้นไปให้ผู้อื่นเช่าก็จะต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 12.5 ของค่ารายปี (ค่าเช่าทั้งปี) ในกรณีที่เจ้าของไม่ได้ให้เช่าแต่ดำเนินการเอง พนักงานเจ้าหน้าที่จะประเมินค่ารายปี โดยสามารถใช้วิธีเทียบเคียงกับค่ารายปีของทรัพย์สินที่มีขนาด พื้นที่หรือทำเลที่ตั้ง ที่คล้ายกันได้ รายละเอียดการยื่นภาษีสามารถอ่านได้ที่ http://taxclinic.mof.go.th นอกจากภาษีทั้ง 4 ประเภทที่กล่าวมาแล้วยังมีภาษีสรรพาสามิต ถ้ากิจการของคุณเป็นกิจการที่ขายน้ำ เครื่องดื่ม และมีภาษีศุลกากร กรณีเป็นกิจการนำเข้าและส่งออก แต่โดยส่วนใหญ่นิติบุคคลทั่วไปจะมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับภาษีทั้ง 4 ประเภทที่กล่าวมาแล้วในข้างต้นซึ่งถือเป็นสิ่งที่ควรรู้ในการดำเนินธุรกิจเพื่อป้องกันความเสี่ยงในการถูกปรับได้ภายหลัง
29 พ.ย. 2021