Category
มีมาตรฐานรองรับ ยกระดับสินค้า อีกหนึ่งวิธีพัฒนาคลัสเตอร์
สินค้าดี มีมาตรฐานรองรับ ตรวจสอบย้อนกลับได้ ถึงจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคได้ คลัสเตอร์อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ (Organic Herbs Thailand) เป็นกลุ่มที่เน้นธุรกิจแบบกลางน้ำ ด้วยวิธีการแปรรูปสมุนไพรจากวัตถุดิบแบบออร์แกนิก เพื่อนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพที่ใช้ภายนอก ไม่ว่าจะเป็น สกินแคร์ เซร่ำบำรุงผิวต่างๆ สบู่ แชมพู รวมไปถึงสินค้าประเภท Health Care อย่างน้ำขมิ้น น้ำมัลเบอร์รี เป็นต้น ก่อนที่จะมารวมกลุ่มเป็นคลัสเตอร์เหมือนทุกวันนี้ คุณแม็ค ศิริพัฒน์ มีทับทิม ประธานกลุ่มเล่าให้ฟังว่า พวกเขามีการรวมตัวกันเป็นเครือข่าย เพื่อศึกษาข้อมูลเรื่องมาตรฐาน ACT C and H มาก่อน จากนั้นจึงพัฒนากลุ่มขึ้นมาเป็นคลัสเตอร์ เพื่อผลักดันให้ผลิตภัณฑ์ของสมาชิกภายในกลุ่ม ได้รับการรองรับตามมาตรฐาน ACT C and H ซึ่งในปัจจุบันอยู่ระหว่างกระบวนการการตรวจสอบเกิน 50% แล้ว และคาดว่าผลิตภัณฑ์ทั้งหมดน่าจะได้มาตรฐานดังกล่าวมารองรับครบ 100% ภายในปี 2565 เมื่อสินค้ามีคุณภาพ ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน ACT C and H แล้ว การสร้างแบรนด์ และหาช่องทางการตลาด เพื่อส่งเสริมทางด้านการขายให้กับผู้ประกอบการ จึงเป็นสเต็ปต่อไปที่อยู่ในแผนของคุณแม็ค โดยคุณแม็คและทีมคณะกรรมการเอง ก็ช่วยกันสร้างเว็บไซต์ออนไลน์ อย่าง https://www.herbsstarter.com ขึ้นมา ซึ่งเว็บไซต์นี้จะเป็นเหมือนเครื่องมือที่เข้ามาช่วยในเรื่องของการสร้างแบรนด์ ตั้งแต่การออกแบบ Packaging ถ่ายภาพ ทำโลโก้ หลังจากที่ผลิตภัณฑ์ได้รับการแปรรูปเรียบร้อยแล้ว ก็จะนำข้อมูลของผลิตภัณฑ์นั้นๆ เข้าสู่แพลตฟอร์มการตลาดที่มีชื่อว่า “Health Harvest” https://healthharvest.bentoweb.com/th/mobile เพื่อช่วยโปรโมต และเป็นช่องทางในการจำหน่าย ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันนี้ผลิตภัณฑ์ภายในกลุ่ม ได้มีการส่งออกไปยังประเทศจีนแล้วด้วย นอกจากมาตรฐานแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่จะช่วยเสริมให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจในผลิตภัณฑ์ของสมาชิกเพิ่มมากขึ้นก็คือ “ระบบการตรวจสอบย้อนกลับ” ที่จะมีข้อมูลระบุไว้ตั้งแต่วัตถุดิบต้นทาง กระบวนการผลิต ผลิตภัณฑ์มีมาตรฐานอะไรมารองรับหรือไม่ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเช็กข้อมูลย้อนกลับได้เลยว่าผลิตภัณฑ์ที่คุณซื้อไปนั้น มีคุณภาพ และเป็นของจริง ซึ่งข้อมูลตรงนี้จะขึ้นตรงกับกระทรวงพาณิชย์เลย สามารถเชื่อถือได้แน่นอน การเข้ามารวมกลุ่มจนกลายเป็นคลัสเตอร์เหมือนดั่งทุกวันนี้ ไม่เพียงแต่จะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเข้ามาแลกเปลี่ยนความรู้ หรือสร้างคอนเน็กชันในแวดวงธุรกิจของตัวเองเท่านั้น แต่สมาชิกในกลุ่มเองยังได้รับการสนับสนุนและความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ อีกไม่น้อย เช่น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ที่เข้ามาเป็นที่ปรึกษาตั้งแต่เพิ่งเริ่มเข้าสู่คลัสเตอร์ในช่วงแรกๆ รวมไปถึงสำนักงานมาตรฐานเกษต อินทรีย์ (มกท.) ที่เข้ามาให้ความรู้เรื่องมาตรฐาน ACT C and H. การดำเนินงานภายในกลุ่มจะไม่สามารถเดินต่อไปได้เลย หากขาดจิ๊กซอว์ส่วนสำคัญ อย่าง “ความร่วมมือร่วมใจของสมาชิก” ไป เมื่อไรก็ตามที่คนในกลุ่มมีทัศนคติตรงกัน มองเห็นเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกัน มุ่งเน้นการแชร์ข้อมูลเพื่อพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพ มากกว่าจะมานั่งแข่งขันกันเอง ก็จะทำให้กลุ่มเข้าใกล้เป้าหมายได้เร็วมากยิ่งขึ้น
03 มี.ค. 2022
ทุกคนต้องได้ประโยชน์ร่วมกัน กลุ่มจึงพัฒนาและไปต่อได้
โจทย์ของการมารวมกลุ่มกัน คือต้องทำให้พวกเขาเห็นภาพไปพร้อมกันว่าผลลัพธ์คืออะไร นี่คือกุญแจหลักของการดำเนินงานภายใน “คลัสเตอร์อุตสาหกรรมสมุนไพรและอาหารเพื่อสุขภาพ จังหวัดอำนาจเจริญ” คุณสตีฟ สถิตย์ ม่วงกรุง ตัวแทนของคลัสเตอร์ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการมารวมกลุ่มให้ฟังว่า เขาต้องการที่จะสร้างเครือข่ายในการผลิตสินค้าออร์แกนิก เพื่อตอบโจทย์ให้ตรงตามปริมาณความต้องการของผู้บริโภคที่มีมากขึ้น เนื่องจากคนเริ่มหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพ ซึ่งการดำเนินงานภายในกลุ่ม ก็ต้องอาศัยแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน เพื่อช่วยพัฒนาและขับเคลื่อนให้กลุ่มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ทุกคนต้องได้ประโยชน์ร่วมกัน สเต็ปแรกของการมารวมกลุ่มกันเลยก็คือ ต้องทำให้เขาเห็นภาพเดียวกันกับเราก่อน เล่าให้เขาฟังว่าการเข้ามารวมกลุ่มนั้นจะช่วยธุรกิจของเขาในด้านใด และภายในอีก 2-3 ปีข้างหน้า จะเกิดผลลัพธ์อะไรบ้างกับธุรกิจของเขา เช่น สินค้าจะได้รับการพัฒนาด้วยเทคโนโลยีต่างๆ มีมาตรฐานรองรับ ราคาดีขึ้น ขายง่าย นอกจากนี้ยังถือเป็นการสร้างอาชีพให้กับพี่น้องเกษตรกร ได้มีพื้นที่ทำกิน และไม่ถูกกดราคาในการขายสินค้าอีกด้วย ปั้นพื้นฐานความรู้ด้านการผลิตให้แน่น เครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการผลิตสินค้าออกมาได้อย่างมีคุณภาพ นั่นก็คือ “ความรู้พื้นฐานของการผลิต” ที่คุณสตีฟวางแผนไว้ว่าอยากจะต่อยอดให้กับสมาชิก ด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ เข้ามาช่วยยกระดับสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น มาตรฐานของสินค้าคือการสร้างความน่าเชื่อถือ ยิ่งผลิตภัณฑ์ของสมาชิกมีมาตรฐานรองรับมากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้สินค้าของพวกเขาน่าเชื่อถือเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น เพราะฉะนั้นการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพ ตรงตามมาตรฐานจึงเป็นสิ่งที่ทางกลุ่มให้ความสำคัญ โดยคุณสตีฟบอกว่า ตั้งใจอยากจะให้สินค้าของทุกๆ กิจการภายในคลัสเตอร์ มีมาตรฐานมารองรับ ไม่ว่าจะเป็น มาตรฐาน อย. GMP หรือ Organic วางแผนการผลิตด้วยวิธีพรีออเดอร์ โรงงานกลางของกลุ่ม เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่อยู่ในแผนการดำเนินงาน โดยคุณสตีฟอยากให้โรงงานนี้ เป็นศูนย์รวมผลผลิตจากธุรกิจของสมาชิก ที่สามารถเปิดรับการผลิตสินค้าแบบ Pre-order จากการสำรวจความต้องการของผู้บริโภค ว่ามีแนวโน้มต้องการสินค้าชนิดไหนเป็นพิเศษ เพื่อนำมาเป็นฐานข้อมูลในการผลิตสินค้าล่วงหน้าต่อไป พาอำนาญเจริญสู่ฮับของสินค้าออร์แกนิก เป้าหมายสูงสุดของกลุ่มที่คุณสตีฟและสมาชิกอยากจะผลักดันร่วมกัน เพื่อส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ สมุนไพร และอาหารเพื่อสุขภาพ เป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น เมื่อไรก็ตามที่ผู้บริโภคต้องการสินค้าออร์แกนิก อำนาจเจริญก็จะเป็นที่แรกที่พวกเขานึกถึงนั่นเอง ถึงแม้ว่าคลัสเตอร์ของคุณสตีฟจะเพิ่งเริ่มดำเนินงานในปีนี้เป็นปีแรก แต่การมีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน ก็สามารถช่วยพัฒนาทั้งศักยภาพของสมาชิก ผลผลิต และขับเคลื่อนกลุ่มให้ไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้
03 มี.ค. 2022
หลากอาชีพ หลายผลิตภัณฑ์ สู่การรวมกลุ่มผลักดันให้เก่งกว่าเดิม
ทำสิ่งที่เด่นให้เก่งขึ้นมา อยากทำให้คนเกิดความรู้สึกว่า ถ้ามาอีสานต้องมาเที่ยวสปา ซื้อยาสมุนไพร คลัสเตอร์สบายดี เฮิร์บแอนสปา ศูนย์กลางอุตสาหกรรมสมุนไพรแปรรูปและสปา อิสานเหนือ เป็นอีกหนึ่งคลัสเตอร์ที่อยู่ในแวดวงสมุนไพรไทย คุณน็อต รจสิทธิ์ ไกรวงศ์ ประธานคลัสเตอร์เล่าให้ฟังว่า ภายในกลุ่มจะมีผลิตภัณฑ์ที่ค่อนข้างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ตะไคร้ ขมิ้น ฟ้าทะลายโจร น้ำมันนวดสมุนไพร ยาหม่อง ยาดม ลูกประคบ นอกจากจะมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายแล้ว กลุ่มของคุณน็อตยังรวบรวมผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญในแวดวงสมุนไพรเอาไว้อย่างครอบคลุม โดยมีตั้งแต่ผู้ที่ปลูกสมุนไพรโดยตรง ผู้ที่นำสมุนไพรไปแปรรูป ผู้ประกอบการสินค้า OTOP ผู้จำหน่ายสินค้าน้ำสมุนไพร คุณหมอแพทย์แผนไทยที่เปิดคลินิกแพทย์แผนไทย โรงเรียนนวดแผนไทย โรงเรียนสปา ซึ่งจุดนี้ถือเป็นจุดที่ทำให้คลัสเตอร์ของคุณน็อตแตกต่างไปจากคลัสเตอร์สมุนไพรอื่นๆ เนื่องจากสมาชิกในกลุ่มมีความหลากหลาย มาจากสายอาชีพที่แตกต่างกัน ทางคลัสเตอร์ของคุณน็อตจึงมีวิธีแบ่งสมาชิกออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ ฝ่ายแพทย์แผนไทย ฝ่ายสปา ฝ่ายเกษตรแปรรูป และฝ่ายตลาด นอกจากจะบริหารงานได้อย่างเป็นสัดส่วนแล้ว ยังทำให้สมาชิกสามารถเข้าถึงความรู้ที่ตัวเองต้องการได้ง่ายขึ้นด้วย กลุ่มของคุณน็อตไม่ได้มีแค่สินค้า หรือบริการเท่านั้น แต่จุดเด่นของกลุ่มอยู่ที่มีการให้ความรู้ คำปรึกษา เรื่องแพทย์แผนไทยจากคุณหมอที่มีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะ ซึ่งตรงนี้ก็จะทำให้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรของสมาชิกในกลุ่ม มีความน่าเชื่อถือเพิ่มมากยิ่งขึ้น การผลักดันให้แพทย์แผนไทยและสมุนไพรเป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้น เป็นเป้าหมายหลักของกลุ่มที่คุณน็อตอยากดำเนินงานต่อไป คุณน็อตอยากให้สมุนไพรไทยเป็นเหมือนของดีอีกอย่างหนึ่งของภาคอีสาน เมื่อไรที่มาก็จะต้องมาเที่ยวสปา และซื้อยาสมุนไพรติดไม้ติดมือกลับไป เหมือนกับที่เมื่อเราพูดถึงทุเรียนเมื่อไร ก็จะต้องนึกถึงจังหวัดจันทบุรี หรือตราดก่อนนั่นเอง เมื่อแพทย์แผนไทยและสมุนไพรเป็นที่รู้จักแล้ว คนก็จะเริ่มหันมาให้ความสนใจ เดินทางมาถึงถิ่นอีสานเพิ่มมากขึ้น นอกจากสมาชิกในกลุ่มจะได้ส่งต่อความรู้ดีๆ เกี่ยวกับสมุนไพรไทยแล้ว ยังถือเป็นการสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการ รวมถึงคนในพื้นที่นั้นๆ อีกด้วย ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมาหลังจากได้เข้ามารวมกลุ่มกันจนเป็นคลัสเตอร์ สิ่งหนึ่งที่อยู่ในความตั้งใจของคุณน็อตเลยก็คือ การพัฒนาศักยภาพของสมาชิก เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ด้วยวิธีการลงไปพูดคุย ไปดูว่าธุรกิจของสมาชิกคนนั้นๆ ติดปัญหาเรื่องอะไร อยากรู้เรื่องไหนเป็นพิเศษ เช่น การนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยแปรรูปผลิตภัณฑ์ ความรู้เรื่องการตลาด เป็นต้น คุณน็อตมองว่าการลงไปพูดคุยโดยตรงกับสมาชิกเลย จะทำให้แก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด เมื่อเขามีความรู้ในเรื่องนั้นๆ แล้ว เขาก็จะนำไปพัฒนาธุรกิจของเขาต่อได้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการที่กลุ่มจะเข้มแข็งได้นั้น ต้องมาจากโครงสร้างที่แข็งแรง ทั้งทางด้านทัศนคติของสมาชิก การบริหารจัดการ รวมไปถึงแผนการดำเนินงานที่สามารถเข้ามาช่วยเหลือ และแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะช่วยพัฒนาให้ธุรกิจของสมาชิกเติบโตเท่านั้น แต่ยังเป็นการขับเคลื่อนให้กลุ่มเดินทางไปสู่เป้าหมายที่วางร่วมกันไว้ได้อีกด้วย
03 มี.ค. 2022
เปิดใจให้ความรู้กันแบบไม่กั๊ก จุดเริ่มต้นการสร้างกลุ่มให้แข็งแรง
เมื่อสมาชิกมีความรู้จริงในงานแล้ว เดี๋ยวผลสัมฤทธิ์จะตามมาเอง… คลัสเตอร์อุตสาหกรรมไม้ยางพาราจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่เพิ่งรวมตัวกันในช่วงเดือนมีนาคม ปี 2564 ที่ผ่านมา โดยธุรกิจหลักๆ จะเป็นขั้นตอนกลางน้ำ ที่นำพืชทางเศรษฐกิจของภาคใต้ อย่าง “ไม้ยางพารา” มาแปรรูปแล้วส่งออก เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับไม้ยางพารา ที่ให้น้ำยางได้น้อยลง หรือไม่สามารถให้น้ำยางได้อีกต่อไป คุณชาลี นราพงศ์ เมืองศรี ตัวแทนของคลัสเตอร์เล่าให้ฟังว่า กลุ่มของเขาอยากจะผลักดันเรื่องการทำผลผลิตออกมาให้ได้คุณภาพใกล้เคียงกันมากที่สุด ซึ่งสมาชิกภายในกลุ่มเองก็ต้องมาช่วยกันหาตรงกลางว่า จะกำหนดคุณภาพแบบไหน ถึงจะทำให้โรงงานทั้ง 19 แห่งที่อยู่ภายในกลุ่มสามารถแปรรูปไม้ยางพาราออกมาได้ตรงตามความต้องการของลูกค้ามากที่สุด แต่ก่อนที่จะกำหนดคุณภาพไม้ยางพาราร่วมกันได้นั้น สิ่งที่สมาชิกต้องเรียนรู้ก่อนเลยก็คือ “กระบวนการผลิต” ว่าจะต้องใช้วิธีการอย่างไร ถึงจะทำให้ผลผลิตออกมาอย่างมีคุณภาพตามที่วางไว้ ซึ่งความรู้ในส่วนนี้ก็จะได้มาจากการแชร์และพูดคุยอย่างเปิดใจ ไม่ว่าจะเป็น ขั้นตอนวิธีการเลื่อยไม้ การอาบน้ำยา การอบแห้ง หรือต้องอบไม้อย่างไรให้ได้ไม้ที่มีสีขาวนวล เพื่อนำไปขายในราคาที่สูงขึ้นได้ นอกจากนี้การเข้ามารวมกลุ่มกัน ยังเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่เปิดโอกาสให้โรงงานใหญ่ๆ และโรงงานเล็กๆ ได้ทำความรู้จักกันเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล เข้าไปศึกษาดูงานในโรงงานของกันและกัน หากมีอะไรจะได้ช่วยกันคิด ช่วยกันขาย ช่วยกันสร้างรายได้ไปด้วยกัน หรือถ้าโรงงานใดติดปัญหา ก็สามารถให้ความช่วยเหลือ หรือช่วยผลิตให้กันได้ ในสเต็ปต่อไปทางกลุ่มวางแผนไว้ว่า จะขอความช่วยเหลือกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน พัฒนาหลักสูตรการเลื่อยไม้ หรือโรงเรียนนายม้า เพื่อพัฒนาศักยภาพของคนให้มีความเชี่ยวชาญในเรื่องของการเลื่อย และแปรรูปไม้ยางพาราเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากนายไม้จะเป็นผู้ที่ควบคุมกระบวนการผลิตที่คอยเลื่อยไม้ ยกไม้ที่มีน้ำหนักมาก รวมไปถึงการทำงานกับเครื่องจักรที่มีความเสี่ยงอันตราย เพราะฉะนั้นคนที่จะมาทำหน้าที่ตรงนี้ได้ จะต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญ และความระมัดระวังค่อนข้างสูง อีกหนึ่งสิ่งที่คุณชาลีและกลุ่มอยากต่อยอดเพิ่มเติมเลยก็คือ การใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วยเหลือในการทำงาน อย่างนวัตกรรมออโตเมชัน เครื่องเลื่อยไม้ที่ทางกลุ่มมีอยู่แล้ว แต่อาจจะยังใช้งานได้อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากไม้ยางพารามีตำหนิตามธรรมชาติที่ต้องคัดออก และรูปทรงที่ไม่สม่ำเสมอ แต่เครื่องนี้เหมาะที่จะนำมาเลื่อยไม้ที่มีลักษณะกลมและไม่มีตำหนิ นอกจากนี้ทางกลุ่มของคุณชาลียังอยากพัฒนาโปรแกรมโต๊ะเลื่อยเพิ่มเติมด้วย ซึ่งตรงนี้อาจจะต้องขอความช่วยเหลือจากอาจารย์ และหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาให้ความรู้เพิ่มเติม การเข้ามารวมกลุ่มกันจนเป็นคลัสเตอร์ดั่งในทุกวันนี้ แม้จะเป็นระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน แต่ก็เป็นสัญญาณเริ่มต้นที่ดี ที่ทุกคนจะหันมาช่วยกันส่งเสริมธุรกิจไม้ยางพาราของไทย ทั้งในเรื่องของการช่วยกันขาย รวมถึงการให้คำปรึกษา เพื่อพัฒนาให้ไม้ยางพารามีคุณภาพใกล้เคียงกันมากขึ้น ซึ่งสเต็ปแรกของการนำไปสู่การทำงานที่เวิร์กเลยก็คือ การแชร์ความรู้กันอย่างเปิดใจ และมองสมาชิกร่วมกลุ่มเป็นเหมือนเพื่อนคู่ค้าที่ไม่ใช่คู่แข่ง แล้วร่วมกันพัฒนาให้ธุรกิจและคลัสเตอร์ค่อยๆ แข็งแรงไปด้วยกัน
03 มี.ค. 2022
สร้างตลาด .. ด้วยคุณภาพของสินค้า
“เพราะเราใส่ใจเรื่องคุณภาพ ทุกคนเลยตั้งใจทำกันมากเราเชื่อว่าถ้าสินค้าดี เดี๋ยวจะมีคนซื้อตามมา…” คลัสเตอร์ขอนแก่นเกษตรแปรรูป เป็นกลุ่มที่รวบรวมสินค้าประเภทพืชผัก ผลไม้ และสมุนไพรเข้าไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น ผักสลัด มะนาว หน่อไม้ ตะไคร้แห้ง กระเจี๊ยบแห้ง มันญี่ปุ่น สมุนไพรอบแห้ง โดยคุณทิด อาทิตย์ แสงโลกีย์ ประธานคลัสเตอร์ขอนแก่นเกษตรแปรรูป เล่าให้ฟังว่า จุดเด่นของกลุ่มเขาอยู่ที่ความหลากหลายทางด้านผลผลิต ที่สามารถหยิบจับมาพัฒนาเป็นอะไรก็ได้ แต่ไม่ว่าจะทำหรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ตัวไหน สิ่งที่คุณทิดให้ความสำคัญมากที่สุดเลยก็คือ “คุณภาพของสินค้า” เพราะคุณทิดเคยมีประสบการณ์ตรงจากการแนะนำสินค้าให้กับคนใกล้ตัว แต่พอเขาไปซื้อมากลับได้สินค้าที่มีคุณภาพต่างไปจากรอบที่คุณทิดเคยซื้อ คุณทิดเลยคิดว่าคุณภาพมีส่วนสำคัญ ที่จะทำให้ลูกค้ากลับมาซื้อสินค้าอีกครั้ง รวมไปถึงการบอกต่อ เพื่อให้เกิดตลาดใหม่ๆ ได้อีกด้วย ตอนนี้คุณทิดและสมาชิกกำลังพัฒนา “แกงหน่อไม้กึ่งสำเร็จรูป” สินค้าตัวแรกของกลุ่มออกมา โดยผู้ซื้อสามารถเทน้ำใส่ลงไป แล้วถ้วยจะร้อนเอง พร้อมทานได้ภายในไม่กี่นาที คุณทิดได้ไอเดียนี้มาจากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบ Hot Cup เลยนำมาจับคู่กับหน่อไม้ ซึ่งเป็นผลผลิตที่ปลูกง่าย แถมสมาชิกหลายๆ คนยังปลูกไว้อยู่แล้วด้วย ตอนนี้แกงหน่อไม้กึ่งสำเร็จรูปอยู่ในช่วงทดลอง และปรับสูตรให้มีความคงที่ เพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพมากที่สุด หากทำออกมาให้ดี ก็มีโอกาสที่จะส่งออกไปยังต่างประเทศได้ ซึ่งตรงจุดนี้ก็ได้อุตสาหกรรมภาค 5 เข้ามาช่วยซัพพอร์ตด้วย ผลิตภัณฑ์อย่างแกงหน่อไม้กึ่งสำเร็จรูปจะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้าไม่ได้มารวมกลุ่มจนเป็นคลัสเตอร์เหมือนทุกวันนี้ นอกจากสมาชิกในกลุ่มจะได้พูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ของผลผลิตในด้านต่างๆ แล้ว ธุรกิจของสมาชิกบางคนก็ยังได้ไอเดียสำหรับนำไปต่อยอดผลิตภัณฑ์ของตัวเองอีกด้วย เช่น สมาชิกที่ปลูกเห็ด ก็ได้ไอเดียทำข้าวเกรียบจากสมาชิกที่ปลูกมันเทศญี่ปุ่น หรือแม้กระทั่งสมาชิกที่ทำสมุนไพรอบแห้ง ก็ได้ไอเดียในการทำชาสมุนไพรบัวสวยงาม จากสมาชิกที่ทำบัวสวยงามขาย ด้วยความที่กลุ่มของคุณทิด เพิ่งจะดำเนินงานมาได้เพียง 1 ปี คุณทิดเลยตั้งใจอยากที่จะพัฒนาแผนการดำเนินงาน ควบคู่ไปกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วย ซึ่งหนึ่งในแผนที่คุณทิตวางไว้เลยก็คือ อยากให้มีหน้าร้านสำหรับกลุ่ม เพื่อจัดจำหน่ายสินค้าของสมาชิก รวมถึงสินค้าในนามกลุ่มเพิ่มเติม นอกจากจะทำให้ผู้ซื้อรู้จักกับผลิตภัณฑ์ต่างๆ แล้ว ยังได้รู้จักกลุ่มของคุณทิดไปในตัวด้วย การมารวมกลุ่มเพื่อช่วยกันพัฒนาทั้งศักยภาพของสมาชิก และผลิตภัณฑ์เองเป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว แต่สิ่งที่คุณทิดย้ำกับสมาชิกอยู่เสมอเลยก็คือ ต้องไม่ลืมที่จะใส่ใจเรื่องคุณภาพของสินค้า เพราะไม่ใช่แค่ผู้ประกอบการจะขายสินค้าได้เท่านั้น แต่ผู้บริโภคก็จะได้รับสินค้าที่ดี มีคุณภาพไปด้วยนั่นเอง
03 มี.ค. 2022
พูดคุยอย่างเปิดใจ .. ก้าวสำคัญของการรวมกลุ่ม
สเต็ปแรกของการมารวมกลุ่มกันเลยก็คือ ต้องพูดคุย และเปิดใจให้กันเยอะๆ คุณแก้ว แก้วตา โชติสิงห์ ประธานของกลุ่มเล่าให้ฟังว่า สิ่งนี้ก็เป็นสิ่งที่สำคัญไปไม่น้อยกว่า การเซ็ตระบบ หรือวางแผนการดำเนินงานเลย เมื่อสมาชิกพูดคุยอย่างเปิดใจ ก็จะเกิดเป็นความเชื่อใจกันภายในกลุ่ม จนนำไปสู่การทำงานแบบเพื่อน ที่เข้ามาเพื่อพัฒนา ไม่ได้มาเพื่อประโยชน์ของตัวเอง เมื่อก้าวแรกที่เป็นความสัมพันธ์ของคนในกลุ่มแข็งแรงแล้ว ก้าวต่อไปก็จะเป็นเรื่องของการพัฒนากลุ่ม คลัสเตอร์สมุนไพรไทยมีดี เป็นกลุ่มที่รวบรวมธุรกิจที่เกี่ยวกับสมุนไพร เวชสำอาง ยารักษาโรค อาหารเสริม เข้าไว้ด้วยกัน แม้ปีนี้จะเพิ่งดำเนินงานเป็นปีแรก แต่จากการปูรากฐานเรื่องการพูดคุยอย่างเปิดใจ ก็ทำให้สมาชิกในกลุ่มได้อะไรติดไม้ติดมือกลับไปไม่น้อย อย่างแรกเลยก็คือ การแลกเปลี่ยนความรู้ในเรื่องของสมุนไพรชนิดต่างๆ รวมไปถึงวิธีการทำธุรกิจ ที่มีส่วนช่วยให้สมาชิกในกลุ่มเกิดการพัฒนาทั้งศักยภาพ และผลิตภัณฑ์ของแต่ละคน นอกจากนี้การรวมกลุ่มกันยังนำไปสู่ Business Matching ได้อีกด้วย เมื่อสมาชิกมีไอเดียอยากที่จะทำผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ หรือต้องการวัตถุดิบเพื่อนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมให้ดียิ่งขึ้น ก็จะติดต่อคนในกลุ่มเพื่อขอซื้อวัตถุดิบนั้นๆ เรียกได้ว่าเป็นธุรกิจแบบครบวงจร ที่มีทั้งผู้ปลูกสมุนไพร ไปจนถึงผู้ประกอบการที่จะนำวัตถุดิบไปแปรรูปต่อเล แม้กลุ่มของเราจะทำธุรกิจเกี่ยวกับสมุนไพร แต่ก็ต้องอาศัยความรู้ส่วนอื่นๆ เพื่อช่วยผลักดันให้สมุนไพรไทยเป็นที่รู้จักให้มากขึ้น ซึ่งตรงนี้ถือเป็นเป้าหมายหลักของกลุ่มที่คุณแก้ววางไว้เลย โดยคุณแก้วจะระดมความคิด พูดคุยกับสมาชิกในกลุ่มว่าต้องการความรู้ส่วนไหนเพิ่มเติม หากเป็นเรื่องที่สมาชิกในกลุ่มอาจจะยังไม่มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ ก็จะติดต่อให้ผู้ที่มีความรู้โดยเฉพาะ และหน่วยงานภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือเพิ่มเติม เช่น การทำผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามมาตรฐานของ อย. การพัฒนา Packaging ความรู้ทางด้านโซเชียลมีเดีย รวมไปถึงการทำการตลาด เพื่อเพิ่มยอดขายให้กับผลิตภัณฑ์ของสมาชิกในกลุ่ม ไม่ใช่แค่การปูพื้นฐานความรู้ทักษะต่างๆ เท่านั้น แต่การจัดอีเวนต์ ก็เป็นอีกหนึ่งโปรเจ็กต์ที่อยู่ในแผนการดำเนินงานของคุณแก้ว โดยอีเวนต์นี้จะจัดขึ้นเพื่อรวบรวมสินค้าของคนในกลุ่มออกมาขาย และทำให้ผู้บริโภคได้รู้จักผลิตภัณฑ์ที่เป็นสมุนไพรไทยอีกทางหนึ่งด้วย เพราะคุณแก้วเชื่อว่ายังมีผู้บริโภคอีกหลายคน ที่ต้องการเห็นและสัมผัสสินค้าโดยตรง แถมการจัดอีเวนต์ยังช่วยให้สมาชิกในกลุ่มได้รับรู้ถึงความต้องการของผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้นด้วย คลัสเตอร์ที่เพิ่งมารวมกลุ่มกัน ยิ่งต้องพูดคุยกัน อาศัยความร่วมมือ และเชื่อใจในตัวสมาชิกมากๆ หากตั้งใจอยากจะมาตักตวงผลประโยชน์ อยากจะเข้ามาแย่งตลาด หรือมาแข่งกันเอง นอกจากกลุ่มจะไม่เดินไปไหนแล้ว ความตั้งใจอยากที่จะผลักดันสมุนไพรไทยให้เป็นที่รู้จักก็จะไม่เกิดขึ้นจริงด้วย เพราะฉะนั้นความสัมพันธ์ของสมาชิกในกลุ่ม จึงเป็นสเต็ปแรกที่คุณแก้วให้ความสำคัญ
03 มี.ค. 2022
เปิดตำราพัฒนากลุ่ม จากคลัสเตอร์น้องใหม่ จ.ตาก
“การเริ่มต้นมารวมกลุ่มกันในช่วงแรกๆ มักจะยากเสมอ…” แบบฝึกหัดด่านแรก ที่ผู้ประกอบการหลายๆ คนต้องเจอ เมื่อเริ่มต้นเข้ามารวมกลุ่มกัน ซึ่งคุณไอซ์ อรรถกร หมูนวล ในฐานะประธานคลัสเตอร์น้องใหม่อย่าง “อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร จังหวัดตาก” ที่เพิ่งเริ่มต้นดำเนินงานมาได้ปีกว่าๆ ก็บอกไว้เลยว่า ถึงผลลัพธ์จะยังไม่ชัด แต่ก็ใช่ว่าจะไม่สามารถพัฒนา และประสบความสำเร็จได้ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร จังหวัดตาก เป็นคลัสเตอร์ที่รวบรวมธุรกิจเกี่ยวกับการปลูกพืช การเลี้ยงสัตว์ การแปรรูปสินค้าทางการเกษตร ตั้งแต่ต้นน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำของจังหวัดตาก เข้าไว้ด้วยกัน และด้วยความที่ จ.ตาก มีทรัพยากรค่อนข้างเยอะ ทำให้กลุ่มของเขามีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ซึ่งคุณไอซ์มองว่านี่แหละคือ “จุดเด่นของคลัสเตอร์เขา” ผลิตภัณฑ์หลากหลาย ทรัพยากรที่จะนำมาทำเป็นวัตถุดิบก็มีให้เลือกมากมาย คุณไอซ์เลยอยากจะต่อยอดจุดเด่นตรงนี้ออกมาในรูปแบบ “ผลิตภัณฑ์ในนามของกลุ่ม” เพื่อพรีเซนต์ของดีจังหวัดตากให้เป็นที่รู้จัก แถมยังเป็นการสร้างแบรนด์ให้กับคลัสเตอร์ของเขาอีกด้วย สำหรับผลิตภัณฑ์ของกลุ่มที่กำลังอยู่ในช่วงต่อยอดด้วยการนำวัตถุดิบในพื้นที่มาพัฒนา ก็จะมีการนำบุกมานำแปรรูปเป็นเส้นบุกสด เส้นบุกกึ่งสำเร็จรูปในถ้วยพร้อมรับประทาน และอะโวคาโด ที่จะนำมาแปรรูปเป็นแป้งแผ่นสำหรับห่ออาหารรับประทาน ซึ่งจะมีความคล้ายกับแป้งห่อแหนมเนือง งานนี้ทางกลุ่มของคุณไอซ์เองก็ได้รับความรู้และความช่วยเหลือจากศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 2 (พิษณุโลก) ด้วย แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นจริงเลย ถ้าไม่มีวิธีการดำเนินงานที่ชัดเจน ทางกลุ่มของคุณไอซ์จะมีการประชุมกันทุกๆ เดือน ซึ่งกิมมิกของการประชุมจะอยู่ตรงสถานที่ในการประชุมจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามสถานประกอบการของสมาชิก นอกจากจะได้อัปเดต พูดคุยกันแล้ว ยังเหมือนเป็นการลงพื้นที่ ศึกษางานในสถานที่จริง เพื่อให้ได้ไอเดียไปพัฒนาในธุรกิจของตัวเองอีกด้วย Business Matching ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่ได้รับจากการเข้ามารวมกลุ่มกัน เมื่อไรก็ตามที่สมาชิกในกลุ่มมีไอเดียอยากที่จะพัฒนา หรือต่อยอดผลิตภัณฑ์ สิ่งที่พวกเขาจะมองหาก่อนเลยก็คือ ภายในกลุ่มเอง ใครมีวัตถุดิบที่ต้องการบ้าง เช่น การผลิตน้ำพริก ที่จะเลือกใช้วัตถุดิบทางเกษตรอย่างพวกพริก หอม กระเทียมจากคนในกลุ่มกันเอง หรือการทำทาร์ต ก็จะอุดหนุนกล้วยกวนจากสมาชิกในกลุ่ม เพื่อนำมาทำเป็นไส้ของขนมทาร์ต จะเห็นได้ว่าการช่วยเหลือ และสนับสนุนของสมาชิกด้วยกันเอง เป็นเหมือน “พลังกลุ่ม” ที่มีส่วนสำคัญในการช่วยพัฒนา และผลักดันให้คลัสเตอร์เติบโตขึ้นได้ แม้ในช่วงเริ่มต้นอาจจะยากสักหน่อย แต่เชื่อเถอะว่าสักวันกลุ่มจะเดินต่อไปข้างหน้าได้ ด้วยกำลังสำคัญจากการร่วมมือของสมาชิกทุกคน
03 มี.ค. 2022
ไม่ควรเป็นคู่แข่ง แต่ควรเป็นคู่ค้า เพื่อพัฒนาไปด้วยกัน
“สินค้าเหมือนกัน จำเป็นต้องแข่งกันเองหรือเปล่า…?” คำตอบก็คือ “ไม่จำเป็น” คุณธา สิทธา สุขกันท์ ประธานคลัสเตอร์อุตสาหกรรมข้าวคนอินทรีย์ มองว่าถึงแม้ในกลุ่มของเราจะทำข้าวอินทรีย์เป็นหลักเหมือนกัน แต่เราก็สามารถช่วยกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ในกลุ่มให้ดีขึ้นได้ ในแบบที่เป็นคู่ค้า ไม่ใช่คู่แข่ง ขอแค่มีโฟกัสที่จะเดินไปในเส้นทางเดียวกัน “ข้าวอินทรีย์” เป็นจุดเริ่มต้นของการมารวมกลุ่มกันของชาวนา ที่อยากจะพัฒนาข้าวอินทรีย์อย่างครบวงจร ตั้งแต่การปลูก แปรรูป ส่งออก การหาตลาด รวมไปถึงการสร้างมาตรฐานการผลิตข้าวให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน มาตรฐานของการผลิตข้าวเป็นสิ่งที่กลุ่มของเราให้ความสำคัญ ก่อนที่จะส่งผลผลิตออกไปได้นั้น จะต้องรู้ก่อนว่าตลาดของประเทศนั้นๆ มีมาตรฐานในการวัดแบบไหน เช่น การส่งออกข้าวไปที่อเมริกา ก็จะต้องยึดตามมาตรฐาน NOP หรือ Nation Organic Program (USDA) ซึ่งเป็นตลาดหลักๆ ของกลุ่มเรา แต่ถ้าส่งผลผลิตไปขายภายในประเทศไทย ก็จะต้องยึดตามมาตรฐาน Organic Thailand แน่นอนว่าก่อนที่ผลิตภัณฑ์จะได้รับการตรวจว่าตรงตามมาตรฐานของตลาดหรือไม่นั้น สมาชิกภายในกลุ่มของเราก็จะมีการตรวจแบบภายในกันเองก่อน ผ่านการบันทึกข้อมูลของฟาร์มให้ตรงตามหลักมาตรฐานอินทรีย์สากล ตั้งแต่วัตถุดิบที่ใช้ในการปลูก การป้องกันการปนเปื้อน หลังจากนั้นจึงจะเชิญผู้ตรวจภายนอกเข้ามาช่วยตรวจให้อีกครั้งหนึ่ง อย่างที่ผ่านมาก็จะมีผู้ตรวจประเมินจากประเทศเยอรมันเข้ามาตรวจเช็ก และรับรองตั้งแต่เอกสารระบบควบคุมภายในกลุ่ม (ICS) แปลงนา ไปจนถึงผลผลิตข้าว นอกจากนี้ผลของการบันทึกข้อมูลฟาร์ม ยังเป็นเหมือนข้อมูลส่วนกลาง ที่ช่วยให้คุณธาทราบอีกด้วยว่าในแต่ละพื้นที่จะปลูกข้าวประเภทไหน ผลิตข้าวได้ปริมาณเท่าไร และคาดการณ์ว่าจะเก็บเกี่ยวได้ช่วงเวลาไหน เมื่อเวลามีผู้ซื้อมาติดต่อขอซื้อผลผลิต คุณธาจะสามารถแนะนำได้ทันทีเลยว่าพื้นที่ตรงไหน มีผลผลิตตรงตามความต้องการของผู้ซื้อ การมารวมกลุ่มกันจนกลายเป็นคลัสเตอร์ นอกจากจะถือเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ที่ทำให้สมาชิกได้รับองค์ความรู้ในเรื่องของการผลิต จนได้ข้าวอินทรีย์กลับมาแบบ 100% ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ไม่ต้องใช้สารเคมี แถมยังช่วยลดต้นทุนการผลิต ด้วยการใช้ปุ๋ยน้ำหมัก จุลินทรีย์สรรพสิ่งจากคุณธาแล้ว ภายในกลุ่มเรายังมีแผนงานในการลงไปเยี่ยมสมาชิกในทุกๆ จังหวัดปีละครั้ง เพื่อพูดคุย หาแนวทางพัฒนาและเพิ่มผลผลิต ให้สอดคล้องไปกับความต้องการของตลาดอีกด้วย “เป้าหมายหลักที่ทางกลุ่มของเราอยากผลักดันต่อไป คือการทำแปลงข้าวแข็งอินทรีย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เพราะข้าวแข็งเป็นเหมือนจุดเด่นของกลุ่มเรา แถมยังมีความต้องการทางตลาดค่อนข้างสูง เหมาะที่จะนำไปแปรรูป แล้วผลิตเป็นเส้นพาสต้า หรือเส้นราเมง เพื่อส่งออกให้อเมริกาและยุโรปต่อไป” หากเราสามารถพัฒนาผลผลิตให้ดี ตอบโจทย์กับความต้องการของตลาดได้ สมาชิกในกลุ่มของเราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมาแข่งกันขายอีกต่อไป เพราะผลผลิตของพวกเขาจะมีคนมาจับจองไปโดยปริยาย ซึ่งจุดนี้ก็จะทำให้ความตั้งใจที่อยากจะยกระดับตลาดข้าวอินทรีย์ไทยให้ไปไกลสู่สากล อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม… หลายคนอาจมองว่าการทำข้าวอินทรีย์ หรือเกษตรอินทรีย์ คือเรื่องที่เป็นไปได้ยาก แต่สำหรับคุณธาเอง เขามองว่าการไม่ลงมือทำต่างหาก ที่จะทำให้ผลลัพธ์ไม่เกิดขึ้นจริง หากสมาชิกมีโฟกัสเดียวกัน พัฒนาไปพร้อมกัน ก็จะช่วยให้เราเข้าใกล้กับเป้าหมายได้ไม่ยาก
03 มี.ค. 2022
หัวใจ ใจกล้า กุญแจหลักช่วยพัฒนาอุตสาหรรมคลัสเตอร์
“ทีมจะเข้มแข็งได้ ทุกคนต้องมาด้วยใจ แล้วพัฒนาไปร่วมกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” คติในการดำเนินงานของประธานอุตสาหกรรมคลัสเตอร์เกษตรแปรรูป จังหวัดน่าน อย่างคุณแอ๋ว วัชรี พรมทอง ที่เล่าให้เราฟังว่า จุดเริ่มต้นของคลัสเตอร์เกิดมาจากความร่วมมือร่วมใจกันของ “ชุมนุมกาแฟน่าน” จนมองเห็นโอกาส และพัฒนามาเป็นคลัสเตอร์เหมือนดั่งทุกวันนี้ แต่กว่าที่จะผลักดันคลัสเตอร์ให้ประสบความสำเร็จได้ ก็ต้องอาศัยปัจจัยหลายๆ อย่างเช่นกัน หัวไวใจกล้าพากลุ่มSuccess คนที่จะเข้ามาอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับเราได้ จะต้องเป็นคนที่หัวไวใจกล้า ทุ่มเทให้กับการทำงานร่วมกัน โดยที่ไม่หวังผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นหลัก เราจะให้ความช่วยเหลือกันเสมอ เช่น หากครั้งไหนที่เราได้งบมาจำกัด ก็จะให้ผู้ประกอบการ 30 รายแรกไปก่อน เมื่อได้งบครั้งถัดไป ผู้ประกอบการ 30 รายแรก เขาก็ยินดีที่จะสละให้ผู้ประกอบการ 30 รายถัดไป เน้นพัฒนาเป็นเป้าหมายหลัก ด้วยความที่คลัสเตอร์ของเราตั้งมา 4 ปี สมาชิกส่วนใหญ่ก็จะปรับตัวกันได้แล้ว เพราะฉะนั้นในปีนี้เราจะเน้นไปที่ “การพัฒนา” เป็นหลัก โดยจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกจะเป็นสมาชิกที่เริ่มเดินได้แล้ว ก็จะช่วยพัฒนาในเรื่องของตลาด ไม่ว่าจะเป็น เทคนิคการทำตลาด ทั้งออนไลน์ หรือการเชื่อมต่อกับ Modern trade รวมไปถึงการสร้างคอนเทนต์ต่างๆ ให้แข็งแรง ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งจะเป็นสมาชิกที่เพิ่งตั้งไข่ ที่จะต้องช่วยเสริมในเรื่องของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การสร้าง Branding การทำ Packaging ทำระบบโรงงาน หรือคุณภาพสินค้าต่างๆ ให้สอดคล้องไปกับมาตรฐานของ อย. หน่วยงานรัฐช่วยผลักดันเหมือนพี่เลี้ยง อีกหนึ่งกำลังสำคัญที่ทำให้คลัสเตอร์ของเราเดินหรือวิ่งได้เร็วขึ้นก็คือ ภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ ที่คอยซัพพอร์ตทั้งด้านองค์ความรู้ และเงินทุน ไม่ว่าจะเป็นการจัดอบรม รวมไปถึงช่วยพัฒนาเทคโนโลยีหลังบ้านของแบรนด์ต่างๆ เช่น โรงงานเห็ด ที่ได้รับความช่วยเหลือจาก NIA ทำเป็นเห็ดเมืองหนาวของน่านจนประสบความสำเร็จ ด้วยการใช้ตู้แช่เย็น แล้วนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยพัฒนา ตีตลาดให้ครอบคลุมพฤติกรรมผู้บริโภค แม้ตลาดออนไลน์จะเป็นเหมือนจุดยุทธศาสตร์ของการขายของในช่วงภาวะวิกฤตแบบนี้ แต่ตลาดการขายปลีกอย่าง Modern trade ในแม็คโคร หรือโลตัสเอง ก็สามารถสร้างรายได้ให้กับเราได้ไม่น้อย เนื่องจากพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภค ชอบที่จะจ่ายเงินแล้วได้ของเลย อยากเห็นอยากทดลองก่อนซื้อ ช่องทางนี้ก็จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้กับผู้บริโภคได้ เมื่อเรามีช่องทางการขายอย่างหลากหลาย ก็จะตอบโจทย์พฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคได้อย่างครอบคลุม ไม่ตกแถวเรื่องคุณภาพสินค้า “อย่ามุ่งตลาด จนขาดคุณภาพสินค้า” นี่เป็นหัวใจหลักของผู้ประกอบการเลย สินค้าของเราจะเกิดการบอกต่อ จนแปรผันกลับมาเป็นรายได้ได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าคุณรักษาคุณภาพสินค้าได้มากน้อยแค่ไหน หากคุณทำได้ ไม่เพียงแต่ผู้บริโภคคนเดิมจะกลับมาซื้อซ้ำเท่านั้น แต่คุณอาจจะได้ลูกค้าคนใหม่ๆ ที่เกิดจากการบอกต่อของผู้บริโภคคนเดิมก็เป็นได้ และนี่ก็คือ 5 ปัจจัยหลัก ที่ช่วยเสริมสร้างให้อุตสาหกรรมคลัสเตอร์เกษตรแปรรูป จังหวัดน่าน ของคุณแอ๋ว วัชรี พรมทอง เดินทางมาอย่างเข้มแข็ง จนถึงจุดที่เรียกได้ว่า “ประสบความสำเร็จ” นั่นเอง
03 มี.ค. 2022
ไขกลยุทธ์ Thai Food Forward ขับเคลื่อนยังไงให้คลัสเตอร์แข็งแกร่ง
รวมกลุ่มเป็นคลัสเตอร์ ช่วยพัฒนาธุรกิจให้ก้าวไกล วันนี้เราจะพามาไขเคล็ดลับ มุมมองการบริหารคลัสเตอร์ของคุณชัย พิธาน อิมราพร ประธานคลัสเตอร์กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ขนม และเครื่องดื่ม พร้อมรับประทาน (Thai Food Forward) ว่าทำอย่างไร ถึงขับเคลื่อนคลัสเตอร์ TFF ไปได้ด้วยความแข็งแกร่ง มีใจให้กับการรวมกลุ่ม ไม่ว่าธุรกิจของคุณจะเป็นแบรนด์เล็กหรือแบรนด์ใหญ่ ก็สามารถเข้ามาเป็นหนึ่งในสมาชิกของคลัสเตอร์ TFF ได้ ขอแค่ “ต้องมีใจให้กับการรวมกลุ่ม” ก็พอ เพราะภายในคลัสเตอร์ TFF เอง จะมีข้อตกลงร่วมกันอยู่ 1 เรื่อง นั่นก็คือ คุณจะต้องจัดสรรเวลามาเข้าร่วมการประชุมกลุ่มให้ได้ ซึ่งคลัสเตอร์ของเราจะประชุมร่วมกัน 1 ครั้ง/เดือน ในกรณีที่มาไม่ได้ก็สามารถส่งตัวแทน ไม่ว่าจะเป็น เพื่อน หรือญาติที่รู้เรื่องธุรกิจของคุณ มาเข้าประชุมแทนได้ ซึ่งในการประชุมแต่ละครั้ง จะทำให้เกิดกิจกรรม รวมไปถึงการแบ่งปันความรู้ต่างๆ ที่จะช่วยขับเคลื่อนทั้งธุรกิจ และคลัสเตอร์ให้เติบโตขึ้นไปอย่างยั่งยืน แต่งตัวให้Brandingคือสิ่งสำคัญ สมาชิกแต่ละคนล้วนมีความรู้ ประสบการณ์ และความสามารถที่แตกต่างกันออกไป คลัสเตอร์ TFF จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพ ทั้งตัวผลิตภัณฑ์และผู้ประกอบการเอง โดยเฉพาะเรื่องการสร้าง Branding ที่คุณชัยจะจัดให้สมาชิกแต่ละท่านเวียนกันนำผลิตภัณฑ์ของตัวเอง มาเป็น Case study เพื่อให้สมาชิกท่านอื่นๆ ช่วยกันดูและคอมเมนต์ ตั้งแต่ Branding Packaging รวมไปถึงการชิมผลิตภัณฑ์ เพื่อเป็นข้อมูลให้กับเจ้าของธุรกิจได้นำไปพัฒนาต่อ เพราะคุณชัยเชื่อว่า สมาชิกทุกคนเป็นเหมือนกูรูที่อยู่ในวงการอาหาร สามารถช่วยกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้นได้ ก่อนจะส่งออกสู่ตลาดจนไปถึงมือผู้บริโภค เพิ่มโอกาสด้วยการออกตลาด “มองหาโอกาส” เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะช่วยขับเคลื่อนให้ธุรกิจและคลัสเตอร์ก้าวไปข้างหน้าได้ ซึ่งหนึ่งในแผนของคุณชัย ในฐานะที่เป็นประธานคลัสเตอร์ TFF เลยก็คือ การผลักดันให้คนอื่นรู้จักแบรนด์ต่างๆ ของผู้ประกอบการในกลุ่ม เช่น การวางแผนจะจัด Mini exhibition ในห้างสรรพสินค้า เพื่อ Roadshow สินค้าให้กับผู้บริโภคได้รู้จัก การวางแผนจะจัด Open house โดยการเชิญผู้ประกอบการทางด้านโรงแรม ภัตตาคาร ร้านค้า ซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ มาชมสินค้าภายในกลุ่มของเรา หากผู้ประกอบการสนใจสินค้าชิ้นไหน ก็สามารถ Matching กับเจ้าของธุรกิจได้เลย นอกจากนี้คุณชัยยังวางแผนในระยะยาวไว้ว่า อยากจะผลักดันธุรกิจของสมาชิก ให้เป็นที่รู้จักในตลาดต่างประเทศอีกด้วย นอกจากกลยุทธ์การดำเนินงานแล้ว การได้รับความร่วมมือจากสมาชิกในคลัสเตอร์ ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ ที่จะช่วยผลักดันให้ธุรกิจ และคลัสเตอร์พัฒนาต่อไปได้ เหมือนที่คุณชัยกล่าวเอาไว้ตั้งแต่ตอนต้น ก่อนจะเข้ามาเป็นสมาชิกในกลุ่มแล้วว่า “ต้องมีใจให้กับการรวมกลุ่ม”
03 มี.ค. 2022