“ดีพร้อมแคร์” ดูแลทุกก้าว เพื่อยกระดับ SME ไทย
“ดีพร้อมแคร์” ดูแลทุกก้าว เพื่อยกระดับ SME ไทย
เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมมีการส่งสัญญาณการเติบโตมากขึ้น ตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี พ.ศ. 2564 หลังจากที่ภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการธุรกิจ SME ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ผ่านมา ดีพร้อมเห็นโอกาสในการเร่งฟื้นฟูและพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจ SME จึงได้มีการสำรวจปัญหา ความต้องการ และรับฟังความคิดเห็นของผู้ประกอบการธุรกิจ SME และวิสาหกิจชุมชน เพื่อนำข้อมูลมาพัฒนาและส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจ SME ไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ภายใต้นโยบาย “ดีพร้อมแคร์ : DIPROM CARE”
จากวิสัยทัศน์ของดีพร้อม ในปี พ.ศ. 2565-2570 ที่เน้น 3 ก้าวย่างสำคัญ ได้แก่ ก้าวแรก ก้าวกระโดด และก้าวนำ โดยความสำคัญของก้าวแรก คือ จุดเริ่มต้นในการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับธุรกิจไทย ก้าวเดินอย่างมั่นคงสู่เศรษฐกิจสังคมโลกยุคใหม่ ส่วนก้าวที่สอง คือ ก้าวกระโดด ที่สร้างความเติบโตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม และก้าวสุดท้าย คือ การก้าวนำ โดยวางเป้าหมายให้ธุรกิจไทยก้าวนำก่อนใครและก้าวไกลสู่เวทีโลก สอดคล้องกับนโยบาย “ดีพร้อมแคร์ : DIPROM CARE” ที่เริ่มดำเนินการในปี พ.ศ. 2565 ซึ่งหมายถึง ดีพร้อมมีหัวใจอย่างเต็มเปี่ยมที่จะพัฒนาและยกระดับองค์ประกอบของภาคอุตสาหกรรมไทย สนับสนุนให้เกิดการแบ่งปันในทุกภาคส่วนกับพันธมิตรของดีพร้อม และเน้นการช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจ SME โดยคำว่า CARE ประกอบด้วย Customization Accessibility Reformation และ Engagement โดยมีรายละเอียดดังนี้
Customization หมายถึง การตรวจสุขภาพธุรกิจ โดยนำศาสตร์ Shindan จากประเทศญี่ปุ่นมาวิเคราะห์ปัญหาธุรกิจ ผลกระทบ ความเสี่ยง หรือ ปัจจัยที่มีผลต่อการเติบโตทางธุรกิจเพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าใจถึงปัญหา ตลอดจนทำแผนเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเชิงพื้นที่เพื่อให้เป็นไปตามบริบทที่แท้จริง
Accessibility หมายถึง เข้าถึงการช่วยเหลือได้ทุกที่ ทุกเวลา ทุกช่องทาง ในรูปแบบ One Stop Service
Reformation หมายถึง ปฏิรูปกลไกการดำเนินงานในภาพรวมของทุกโครงการ โดยมีรูปแบบการทำงานที่สอดคล้องกับยุค New Normal
Engagement หมายถึง การอาศัยความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน มาเป็นผู้ร่วมสนับสนุนภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ในรูปแบบการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างกัน “คู่แข่งสู่คู่คิด พันธมิตรสู่คู่ค้า” ซึ่งเป็นการแบ่งปันและส่งเสริมธุรกิจแบบดีพร้อม
ภายใต้นโยบายดังกล่าวดีพร้อมได้วางรูปแบบและโปรแกรมสนับสนุนภาคธุรกิจ 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการสนับสนุนปัจจัยเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ด้านการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการสนับสนุนมาตรฐานและสินเชื่อ และด้านการสนับสนุนศักยภาพบุคลากร โดยมีรายละเอียดดังนี้
1.ด้านการสนับสนุนปัจจัยเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ประกอบด้วย (1) โครงการ CIV+ การยกระดับสินค้าและบริการในชุมชนท่องเที่ยวให้มีมูลค่าและเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศรวมถึงสามารถสร้างแรงจูงใจการจ้างงานได้ (2) โครงการถุงดีพร้อมช่วยธุรกิจชุบชีวิตชุมชน ซึ่งเป็นการทดสอบตลาดผ่านถุงดีพร้อมและช่วยผู้ได้รับผลกระทบในวิกฤต (3) การส่งเสริม E-Commerce 3.0 เพื่อยกระดับการบริหารจัดการระบบฐานข้อมูล นำไปสู่การวิเคราะห์พัฒนาผู้ประกอบการให้เติบโตอย่างรวดเร็ว (4) โลจิสติกส์สำหรับเกษตรอุตสาหกรรม เป็นการพัฒนาระบบควบคุมคุณภาพสินค้าเกษตรอย่างครบวงจร (5) การนำ Digital SI-for-SME โดยอาศัยการเชื่อมโยงผู้ประกอบการที่มีศักยภาพด้านออโตเมชันเข้ามาสนับสนุนการประกอบการของ SME (6) การสร้างธุรกิจที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมแห่งอนาคตภายใต้ S curve-for-SME
2.ด้านการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบด้วย (1) ITC-2-OEM ศูนย์ปฏิรูปเกษตรอุตสาหกรรมสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ OEM โดยเชื่อมโยงผู้รับจ้างผลิต เพื่อให้ผู้ประกอบการที่พัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ผ่านศูนย์ ITC สามารถนำไปผลิตเพื่อจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ (2) การขยายเครือข่าย IDC-2-Thai เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์สู่เชิงพาณิชย์ทั่วประเทศ (3) ศูนย์ทดสอบคุณภาพมาตรฐานและรับรองแหล่งกำเนิดในกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ อาหาร สินค้าฮาลาล กาแฟ เครื่องเรือน เซรามิก และผลิตภัณฑ์พืชเศรษฐกิจใหม่ 3ก ได้แก่ กัญชง กัญชา กระท่อม
3.ด้านการสนับสนุนมาตรฐานและสินเชื่อ ประกอบด้วย (1) สินเชื่อดีพร้อมเปย์เพื่อให้ธุรกิจ SME มีเงินทุนหมุนเวียน และนำไปปรับปรุงคุณภาพของสินค้าและบริการ (2) มาตรการ ได้แก่ มาตรการส่งเสริมธุรกิจในไทย เช่น โครงการ MIT และ SME-GP เพื่อทำให้กลุ่มธุรกิจขนาดเล็กและขนาดย่อมมีโอกาสเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และโครงการ Thailand Textile Tag ซึ่งเป็นโครงการที่รับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ผ้าที่ผลิตในประเทศไทย
4.ด้านการสนับสนุนศักยภาพบุคลากร ประกอบด้วย (1) ปั้นนักธุรกิจวิถีใหม่ในโครงการ NEC วิถีใหม่ โครงการ “ปลูกปั้น” (2) คอร์สอบรมคนดีพร้อม (3) โครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม หรือ คพอ+ : DIPROM MINI MBA
โดยสรุปแล้วในปี พ.ศ. 2565 นโยบาย “ดีพร้อมแคร์ : DIPROM CARE” จะดำเนินงานภายใต้งบประมาณ จำนวน 527.68 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายพัฒนาผู้ประกอบการในภาคธุรกิจอุตสาหกรรม จำนวน16,000 ราย ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ไม่น้อยกว่า 7,000 ล้านบาท
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
โทรศัพท์ 0 2430 6860
ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ www.dip.go.th หรือ www.facebook.com/dipromindustry
10
ต.ค.
2022