ดีพร้อม จับมือ สสส. โชว์ความสำเร็จสร้างองค์กรแห่งความสุข เพิ่มผลิตภาพให้ SMEs กว่า 64 ล้านบาท
กรุงเทพฯ 21 ธันวาคม 2565 - นายภาสกร ชัยรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ให้เกียรติมอบโล่รางวัลและเกียรติบัตรแก่วิสาหกิจต้นแบบโครงการส่งเสริมผลิตภาพและสุขภาวะองค์กรในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SHAP) พร้อมทั้งกล่าวแสดงความยินดีกับสถานประกอบการที่ได้รับรางวัลดังกล่าว ร่วมด้วย นายพงษ์ศักดิ์ ธงรัตนะ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร (สสส.) คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ดีพร้อมจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และผู้ประกอบการ โดยมี นายวุฒิชัย ประชาพร ผู้อำนวยการกองพัฒนาขีดความสามารถธุรกิจอุตสาหกรรม ดีพร้อม กล่าวรายงาน ณ ห้องประชุมอัศวิน แกรนด์ บอลรูม โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น โฮเต็ล
สำหรับโครงการส่งเสริมผลิตภาพและสุขภาวะองค์กรในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SHAP) ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มุ่งเน้นให้ความสำคัญของการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตที่มีคนเป็นศูนย์กลาง สร้างรูปแบบการดำเนินงานสำหรับการส่งเสริมองค์กรสุขภาวะที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพในการเพิ่มผลิตภาพทุกมิติควบคู่ไปกับการสร้างความสุขให้กับบุคลากรในสถานประกอบการ เพราะจะทำให้เกิดการพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่อง
โดยในปี 2565 นี้ มีผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัลวิสาหกิจต้นแบบโครงการ SHAP ประจำปี 2564 ภายใต้โครงการส่งเสริมสุขภาวะองค์กรในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมทั้งสิ้น 37 ราย โดยมีสถานประกอบการที่ได้รับรางวัลวิสาหกิจต้นแบบระดับเพชร 3 รางวัล รางวัลวิสาหกิจต้นแบบระดับแพลทตินั่ม 12 รางวัล รางวัลวิสาหกิจต้นแบบระดับทอง 30 รางวัล และรางวัลวิสาหกิจต้นแบบสุขสร้างสรรค์ 3 รางวัล และนอกจากนี้ ยังได้มอบเกียรติบัตรแก่เจ้าหน้าที่ดีพร้อม หรือ SHAP Agents ที่ทำหน้าที่ในการจัดฝึกอบรมสร้างองค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการผ่านโครงการต่าง ๆ ของดีพร้อมอีกด้วย
ทั้งนี้ โครงการส่งเสริมสุขภาวะองค์กรในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ได้จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นระยะที่ 3 ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งมี SMEs เข้าร่วมโครงการแล้ว 80 แห่ง คณะทำงานสร้างสุของค์กร จำนวน 1,132 คน และมีกิจกรรมสร้างสุขแล้วทั้งสิ้น 1,152 กิจกรรม ในส่วนผลสำเร็จของโครงการ สามารถสร้างความสุขให้กับบุคลากรของ SMEs ที่เข้าร่วมโครงการได้ อาทิ สามารถเลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ 107 คน สามารถลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 1,457,100 บาท และทำให้เลิกสูบบุหรี่ได้ถึง 53 คน ลดค่าใช้จ่ายได้ 958,600 บาท ส่วนกิจกรรมงดเหล้าเข้าพรรษาที่มีพนักงานวิสาหกิจเข้าร่วม 4,317 คน ทำให้ลดค่าใช้จ่ายเป็นเงินจำนวนถึง 8.55 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ยังมีจากการรวบรวมข้อมูลและร่วมประเมินผลพบว่าค่าความสุข (HAPPINOMETER) ใน 8 มิติ ก่อนการดำเนินโครงการ มีค่าความสุขอยู่ที่ร้อยละ 59.14 และหลังจากการดำเนินโครงการ ค่าเฉลี่ยความสุขเพิ่มมากขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 64.37 เพิ่มขึ้นเท่ากับร้อยละ 5.23 ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาผลิตภาพในมิติด้านคุณภาพ ต้นทุน การส่งมอบ ความปลอดภัยในการทำงาน ขวัญและกำลังใจของพนักงาน การจัดการสิ่งแวดล้อม จริยธรรมในการทำงาน โดยมีผลิตภาพที่เพิ่มขึ้นรวมมูลค่ารวมกว่า 64 ล้านบาท ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์) ภาพข่าว / รายงาน
22
ธ.ค.
2022