"อธิบดีใบน้อย" ลงพื้นที่เยี่ยมชมชุมชนดีพร้อมเครื่องแกงใต้ เกาะยอ
จ.สงขลา 20 สิงหาคม 2566 - นายใบน้อย สุวรรณชาตรี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ลงพื้นที่เยี่ยมชม กลุ่มเครื่องแกงกุลญาดา พร้อมด้วย นางสาววรรณี พุฒแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 11 (DIPROM CENTER 11) ดร.พลาวุธ วงศ์วิวัฒน์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) โดยมี นางกุลญาดา เจริญศรุตา กรรมการกลุ่มเครื่องแกงกุลญาดา ให้การต้อนรับ ณ ตำบลเกาะยอ อำเภอเมืองสงขลา กลุ่มเครื่องแกงกุลญาดาผลิตและจำหน่ายพริกแกงปักษ์ใต้ น้ำพริก กะปิหวาน และน้ำพริกเผา มีรสชาติที่มีความเป็นอัตลักษณ์ของชาวชุมชนเกาะยอ ซึ่งได้รับเครื่องหมาย อย. และมาตรฐานฮาลาล จนได้รับการยอมรับจาก บริษัท เชฟรอน คอร์ปอเรชั่น ให้เป็นผู้ผลิตและจัดส่งวัตถุดิบในการทำอาหาร อาทิ เนื้อ หมู ปลา กุ้ง ผักสด ผลไม้ และขนม รวมถึงพริกแกง 7 ชนิด จำนวน 300 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ ไปที่แท่นขุดเจาะน้ำมัน จำนวน 15 แท่น ของบริษัทเชฟรอนฯ มาเป็นเวลายาวนานกว่า 26 ปี ขณะเดียวกัน กลุ่มเครื่องแกงกุลญาดายังรับเป็นศูนย์ฝึกเชฟมาตรฐานของเชฟรอน ก่อนส่งไปยังแท่นขุดเจาะอีกด้วย ทั้งนี้ ดีพร้อม ได้เข้าไปช่วยส่งเสริมและพัฒนาด้านของผลิตภัณฑ์เครื่องแกงพร้อมรับประทาน การรวมกลุ่มและเชื่อมโยงผู้ประกอบการเพื่อเสริมความเข้มแข็งของคลัสเตอร์ในพื้นที่ รวมถึงการให้ความรู้เรื่องการตลาดออนไลน์ และการทำบัญชี/ต้นทุนในการผลิต นอกจากนี้ ยังได้เชิญชวนชุมชนดังกล่าวเข้าร่วมโครงการ "เมนูเด็ดชุมชนดีพร้อม" โดยการส่งเสริมและพัฒนาในด้านต่าง ๆ อาทิ ดีพร้อมฮีโร่ เป็นจุดรวมวัตถุดิบในประเทศไทยผลิตเครื่องแกงเชื่อมโยงเครือข่ายวัตถุดิบ ได้แก่ พริก หอม และกระเทียม โดยส่งเสริมให้ชุมชนโดยรอบปลูกวัตถุดิบดังกล่าว พร้อมกำหนดราคาให้เป็นมาตรฐาน เน้นย้ำการถ่ายทอดองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่น เพื่อคงคุณภาพและอัตลักษณ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นออกสู่ตลาดต่อไป ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
21 ส.ค 2566
"ดีพร้อม" ลงพื้นที่เยี่ยมชม กลุ่มทอผ้าร่มไทร ต่อยอดสร้างอาชีพดีพร้อม
จ.สงขลา 20 สิงหาคม 2566 - นายใบน้อย สุวรรณชาตรี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ลงพื้นที่เยี่ยมชม กลุ่มทอผ้าร่มไทร พร้อมด้วย นางสาววรรณี พุฒแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 11 (DIPROM CENTER 11) ดร.พลาวุธ วงศ์วิวัฒน์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) โดยมี นางยมนา สินธุรัตน์ ประธานกลุ่มทอผ้าร่มไทร ให้การต้อนรับ ณ ตำบลเกาะยอ อำเภอเมืองสงขลา ผ้าทอเกาะยอ หรือ ผ้าเกาะยอ เป็นผ้าทอพื้นเมืองของตำบลเกาะยอ อำเภอเมืองสงขลา ที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี โดยกลุ่มทอผ้าร่มไทร เป็นกลุ่มผู้บุกเบิกผ้าทอเกาะยอ และเป็นผู้ริเริ่มผ้าทอลายเกล็ดปลาขี้ตัง (เป็นปลาเฉพาะที่ทะเลสาบ จ.สงขลา) ตามที่ได้รับการส่งเสริมการออกแบบจากดีพร้อม และด้วยเอกลักษณ์ของผ้าเกาะยอที่ทอเป็นลายเล็ก ๆ จึงเป็นเหตุให้ผู้ทอต้องมีสมาธิสูงมากในการทำดอกผ้าแต่ละดอก โดยมีลวดลายต่าง ๆ เช่น ลายดอกพยอม ลายดอกรสสุคนธ์ ลายพริกไทย และลายลูกหวาย เป็นต้น โดยปัจจุบันกลุ่มผ้าทอร่มไทรยังมีการถ่ายทอดความรู้การทอผ้าให้แก่ลูกหลานชาวเกาะยอ ถ่ายทอดองค์ความรู้การทอผ้าให้กับสามเณรกว่าร้อยชีวิตที่ศูนย์การเรียนรู้ ผ้าทอสีธรรมชาติ วัดโคกเปรี้ยว ให้ได้เรียนรู้วิชาชีพการทอผ้าซึ่งเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการเรียนรู้ของสามเณร "ตามวิถีของพระที่ต้องเย็บทำจีวรเอง" ตามที่เจ้าอาวาสบอกกล่าวไว้ เพื่อเป็นโอกาสในการสร้างอาชีพและสามารถหารายได้หลังลาสิกขาต่อไป ทั้งนี้ ดีพร้อม ได้สนับสนุนจักรเย็บผ้าให้แก่ศูนย์การเรียนรู้ฯ อีกทั้ง ยังได้ส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีอัตลักษณ์สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนเกาะยอในอนาคต ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
21 ส.ค 2566
ปลัดฯ ณัฐพล ลงพื้นที่ตรวจติดตามการดำเนินงาน สอจ.อยุธยา และอ่างทอง ย้ำทุกจุดจี้โรงงานกรอกข้อมูลการประกอบการอุตสาหกรรม ภายในสิงหาคมนี้!
จ.พระนครศรีอยุธยา 18 สิงหาคม 2566 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายแนวทางการบูรณาการงานของหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีนางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายวิษณุ ทับเที่ยง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวณิรดา วิสุทธิชาติธาดา ผู้ช่วยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายวาที พีระวรานุพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมด้วย โดยมีนายธีระ แก้วพิมล อุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายบวรวิทย์ อัครจันทรโชติ อุตสาหกรรมจังหวัดอ่างทอง และนางสาววันรานี เลี่ยวไพโรจน์ ผู้จัดการเขต 7 ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย เป็นผู้นำเสนอข้อมูล ณ ห้องประชุมอโยธยา ศาลากลางจังหวัดพระศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีโรงงานทั้งสิ้น 1,868 โรงงาน ปัจจุบันมีโรงงานที่กรอกข้อมูลการประกอบการอุตสาหกรรมกว่า 50% ซึ่งต้องผลักดันให้ได้ครบ 100% ภายในเดือนสิงหาคมนี้ ส่วนผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้กรอกข้อมูลและขาดการติดต่อกับกระทรวงฯ ก็จะทำการลงพื้นที่ตรวจโรงงานแบบสุดซอยเพื่อพิจารณาทบทวนการยกเลิกใบอนุญาตโรงงานออกจากระบบฐานข้อมูลโรงงานต่อไป ส่วนในด้านการร้องเรียนในพื้นที่ยังพบปัญหาโรงงานลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม ซึ่งได้ดำเนินการตามกฎหมายไปแล้ว ส่วนการร้องเรียนปัญหา PM 2.5 ที่มีสาเหตุทั้งจากโรงงานและการกำจัดวัชพืชด้วยการเผาของชุมชนทาง สอจ.พระนครศรีอยุธยา จะติดตามแก้ไขอย่างใกล้ชิดต่อไป ด้านจังหวัดอ่างทอง มีโรงงานอุตสาหกรรม 324 โรงงาน ส่วนใหญ่พื้นที่กว่า 60% เป็นพื้นที่เกษตรกรรมปลูกนาข้าว รายได้ส่วนใหญ่จึงมาจากเกษตรกรรมและการท่องเที่ยว โดยวิสาหกิจชุมชนมีรายได้จากการจำหน่ายของที่ระลึก อาทิ ตุ๊กตาชาววัง กลอง เครื่องจักสาน ซึ่งอาจไม่เป็นที่นิยมมากนัก สอจ.อ่างทอง จึงมีแนวคิดตามนโยบาย MIND คือให้มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในลักษณะ Big Brother โดยให้โรงงานสนับสนุนผู้ประกอบการรายเล็ก ๆ ในท้องถิ่น เพื่อช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกให้น่าสนใจและเหมาะกับความนิยมของผู้ซื้อมากขึ้น ส่วนการแก้ปัญหาเรื่องร้องเรียนโรงงานได้ให้โรงงานนำนโบายทั้ง 4 มิติ ไปปรับใช้ทั้งในด้านการดูแลสังคมและการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับชุมชนโดยรอบเพื่อลดผลกระทบจากปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพในการจำกัดของเสีย การส่งเสริมเครือข่ายและเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อม เพื่อให้โรงงานและชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบนโยบายให้ทุกจังหวัดเน้นย้ำกับผู้ประกอบการให้รายงานข้อมูลประกอบกิจการผ่านระบบข้อมูลกลาง (iSingle Form) โดยกรอกข้อมูลด้วยตนเองให้ถูกต้องครบถ้วน เพื่อให้ข้อมูลเป็นข้อเท็จจริงที่สามารถนำไปวิเคราะห์และใช้ประโยชน์ต่อไปได้ นอกจากนี้ ยังทำให้การรับบริการจากกระทรวงอุตสาหกรรมสะดวกขึ้น เช่น การขอใบอนุญาตต่าง ๆ การชำระค่าธรรมเนียม อย่างไรก็ตามจะต้องให้ผู้ประกอบการรายงานข้อมูลการประกอบการอุตสาหกรรม ให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งหากเลยระยะเวลาที่กำหนดจะถือว่ามีความผิดตามกฎหมายและมีโทษปรับ โดยในช่วงก่อนจะครบกำหนด ขอให้ สอจ. เร่งลงพื้นที่ตรวจโรงงานแบบสุดซอยในทุกมิติของการรายงานตามข้อกำหนดของกฎหมาย โดยหากพบโรงงานที่ผิดกฎหมายขอให้ดำเนินการตามระเบียบอย่างจริงจัง รวมทั้งหากพบโรงงานที่มีการหยุดการดำเนินการมาเป็นเวลานาน ขอให้พิจารณาทบทวนการยกเลิกใบอนุญาตประกอบโรงงาน เพื่อให้ระบบฐานข้อมูลโรงงานมีความถูกต้องและเป็นปัจจุบันต่อไป ด้าน รองปลัดฯ ณัฏฐิญา กล่าวเสริมว่า ขอให้จังหวัดพยายามชี้เป้าให้ได้ว่าอุตสาหกรรมอะไรในพื้นที่ที่มีศักยภาพและเหมาะสมต่อการพัฒนา ส่วนในด้านการนำข้อมูลระบบ iSingle Form ไปวิเคราะห์และใช้ประโยชน์ สามารถตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับพร้อมวิเคราะห์ไปถึงต้นทางเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมไปสู่การเป็น SPRING UP ที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องมีการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีความคิดสร้างสรรค์เชิงนวัตกรรม และมุ่งพัฒนาระบบมาตรฐาน เพื่อเพิ่มการส่งออกไปสู่ตลาดสากล นอกจากนี้ควรนำนโยบายดิน น้ำ ลม ไฟ ไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติให้โรงงานอุตสาหกรรมใส่ใจสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยลดข้อร้องเรียนได้ดียิ่งขึ้น ส่วนในด้านการส่งเสริมผู้ประกอบการรายเล็ก ควรดึงอัตลักษณ์ในพื้นที่มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เด่นประจำจังหวัดพร้อมผลักดันสู่ตลาดเชิงพาณิชย์ต่อไป ด้าน หัวหน้าผู้ตรวจฯ ย้ำให้ สอจ. มีการจัดทำแผนและการกำกับการตรวจโรงงานที่ดี เพื่อแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียน ส่วนการแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนซ้ำซาก ขอให้บูรณาการกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ในการนี้ ผู้จัดการเขต 7 ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SME D Bank ได้นำเสนอผลการดำเนินงาน ของสาขาพระนครศรีอยุธยา สระบุรี และอ่างทอง ประกอบด้วย การให้สินเชื่อของ ธพว.เขต 7 การดำเนินการปล่อยสินเชื่อภายใต้กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ผลการเบิกจ่าย ยอดหนี้คงค้างของธนาคาร และจำนวน NPL ในพื้นที่ โดยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจประเภทรับเหมาก่อสร้าง ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจท่องเที่ยว เป็นต้น ต่อมาในเวลา 17.00 น. ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมคณะ ได้ตรวจเยี่ยมธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย สาขาพระนครศรีอยุธยา เพื่อให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานและรับฟังสรุปผลการดำเนินการตลอดช่วงครึ่งปีแรก โดยมีเจ้าหน้าที่ ธพว.พระนครศรีอยุธยา ร่วมให้การต้อนรับ ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
21 ส.ค 2566
แม่ทัพ "ดีพร้อม" เปิดประตูรับฟังความเห็นแนวทางการส่งเสริมเอสเอ็มอีเมืองย่าโม
จ.นครราชสีมา 18 สิงหาคม 2566 - นายใบน้อย สุวรรณชาตรี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานในการประชุมรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากการดำเนินงานของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ครั้งที่ 2 พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมด้วย นางสุชาดา โพธิ์เจริญ นายวัชรุน จุ้ยจำลอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) กลุ่มผู้ประกอบการ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เข้าร่วมประชุม ณ ห้องอิมพีเรียล 2 - 4 ชั้น 1 โรงแรม ดิ อิมพีเรียล โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ และในรูปแบบออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชั่น Zoom Meeting การประชุมในครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 เพื่อรับฟังความคิดเห็น ปัญหาและความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วนของดีพร้อม ประกอบด้วย ผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มวิสาหกิจชุมชน หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการเงิน อาทิ สภาอุตสาหกรรม หอการค้า สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย สภาเกษตรกร ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยในจังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดอื่น ๆ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอื่น ๆ ในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดีพร้อม ได้เล็งเห็นความสำคัญของการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน เพื่อนำประเด็นปัญหาความต้องการมาร่วมกันกำหนดทิศทางการส่งเสริมพัฒนาที่จะนำไปสู่การจัดทำโครงการที่ตอบโจทย์ตามความต้องการ ตลอดจนเป็นแนวทางในการปรับบทบาทของดีพร้อมให้สอดรับกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยดีพร้อมได้ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาภาคอุตสาหกรรมให้สามารถเพิ่มศักยภาพและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศให้เข้มแข็งและเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
21 ส.ค 2566
"อสอ.ใบน้อย" นำทีมผู้บริหารดีพร้อม มอบวุฒิบัตรและแสดงความยินดีกับผู้ประกอบการ คพอ. พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
จ.นครราชสีมา 18 สิงหาคม 2566 - นายใบน้อย สุวรรณชาตรี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานมอบวุฒิบัตรและกล่าวแสดงความยินดีในพิธีปิดกิจกรรมการฝึกอบรมการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม (คพอ.ดีพร้อม) พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมด้วย นางสุชาดา โพธิ์เจริญ นายวัชรุน จุ้ยจำลอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) ผู้แทนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และสมาชิก คพอ. ดีพร้อม ผู้สำเร็จการฝึกอบรม โดยมี นายณัฐพล แสงฟ้า นายกสหพันธ์สมาคมผู้ประกอบการไทย กล่าวแสดงความยินดี และนางคนึงนิจ ทยายุทธ ผู้อำนวยการศูนย์ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 6 (DIPROM CENTER 6) กล่าวรายงาน ณ ห้องลำตะคอง โรงแรมแคนทารีโคราช ถนนมิตรภาพ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองจังหวัดนครราชสีมา กิจกรรมดังกล่าว เป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการภายใต้โครงการพัฒนาองค์ความรู้และศักยภาพด้านการบริหารจัดการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 128 ราย แบ่งเป็น 4 รุ่น ได้แก่ รุ่น 392 จังหวัดอุดรธานี รุ่นที่ 393 จังหวัดขอนแก่น รุ่นที่ 394 จังหวัดนครราชสีมา และรุ่นที่ 395 จังหวัดศรีสะเกษ โดยมีผู้ผ่านการฝึกอบรมกว่า 90 ชั่วโมง ทั้งนี้ ดีพร้อม ได้ตั้งเป้าหมายเพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบการ SMEs มีความพร้อมในการปฏิรูปธุรกิจด้วยการสร้างสรรค์หลักสูตรฝึกอบรมระยะยาวที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการของ SMEs ไม่ว่าจะเป็นองค์ความรู้ด้านการจัดตั้งธุรกิจ การวางแผนธุรกิจ การบริหารจัดการ การผลิต การบัญชี การเงิน การตลาด การสร้างแบรนด์สินค้า การจัดการทรัพยากรบุคคล ระบบมาตรฐาน ระบบเทคโนโลยีและนวัตกรรม และอื่น ๆ อีกมากมาย เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของธุรกิจและตัวผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบาย Thailand 4.0 อย่างสมบูรณ์ ไปประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้เป็นอย่างดี รวมทั้งมีการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงธุรกิจ กับผู้ประกอบการทั่วทุกภูมิภาคของประเทศและนับได้ว่าเป็นกำลังสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตต่อไป ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
21 ส.ค 2566
"อธิบดีใบน้อย" ลงพื้นที่เยี่ยมชมชุมชนดีพร้อมต้นแบบเมืองย่าโม
จ.นครราชสีมา 17 สิงหาคม 2566 – นายใบน้อย สุวรรณชาตรี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นางคนึงนิจ ทยายุทธ ผู้อำนวยการศูนย์ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 6 (DIPROM CENTER 6) นายสิทธิรงค์ เร่งเงียบ ผู้อำนวยการกองพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) ลงพื้นที่เยี่ยมชมวิสาหกิจต้นแบบโครงการส่งเสริมสุขภาวะองค์กรในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs Happy and Productivity Workplace : SHAP) และการพัฒนาโมเดล “ชุมชนดีพร้อมต้นแบบ” โดยมี นายชูศักดิ์ เสาร์แก้ว รักษาการผู้จัดการโรงงาน บริษัท เอบิโก้ แดรี่ ฟาร์ม จำกัด ให้การต้อนรับ ณ บริษัท เอบิโก้ แดรี่ ฟาร์ม จำกัด อำเภอปากช่อง บริษัทดังกล่าว เข้าร่วมโครงการของดีพร้อมในการส่งเสริมสุขภาวะองค์กรในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs Happy and Productivity Workplace : SHAP) และมีแนวทางในการดำเนินธุรกิจร่วมกับ 14 ชุมชนรอบพื้นที่โรงงาน ที่บริษัทให้การช่วยเหลือตามนโยบายของปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม “MIND: ปรับอุตสาหกรรมเข้าสู่วิถีใหม่" นอกจากนี้ อธิบดีใบน้อยฯ ได้นำคณะลงพื้นที่เยี่ยมชมชุมชนบ้านถ้ำเต่าพัฒนา ตำบลกลางดง อำเภอปากช่อง พร้อมเยี่ยมชมการทำปุ๋ยจากตะกอนนมของชุมชนที่ บริษัทฯ ได้ช่วยเหลือตามแนวทางการพัฒนาโมเดล “ชุมชนดีพร้อมต้นแบบ” พร้อมเชิญชวนให้ชาวชุมชนเข้าร่วมโครงการ "เมนูเด็ดชุมชนดีพร้อม" โดยดีพร้อมจะดำเนินการส่งเสริมด้านต่าง ๆ อาทิ เพื่อส่งเสริมพัฒนา ยกระดับการยืดอายุผลิตภัณฑ์ และชูเมนูเด็ด "น้ำพริกตาไหว" ที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนแห่งนี้ ตลอดจนได้ส่งเสริมช่องทางการตลาดออนไลน์เพื่อให้กลุ่มลูกค้าและนักท่องเที่ยวได้รู้จักสินค้าในชุมชนได้มากขึ้น ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
18 ส.ค 2566
"อธิบดีใบน้อย" นำทีม DIPROM JAPAN DESK ผนึกกำลัง DC6 เชื่อมโยงผู้ประกอบการไทย - ญี่ปุ่น
จ.นครราชสีมา 17 สิงหาคม 2566 - นายใบน้อย สุวรรณชาตรี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นางเกษราภรณ์ โกวิทลวากุล ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน นายไดสุเกะ สึดะ ตัวแทนจาก SMRJ และ นายนาโอกิ โทคุทสึ ตัวแทนจากจังหวัดวากายามะ ประเทศญี่ปุ่น คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) ลงพื้นที่ศูนย์ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 6 หารือเกี่ยวกับโอกาสการพัฒนาความร่วมมือและเชื่อมโยงผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในภูมิภาคของไทยและญี่ปุ่น ณ ศูนย์ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 6 ตำบลสูงเนิน อำเภอสูงเนิน การหารือดังกล่าว เป็นการเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการไทย-ญี่ปุ่น เพื่อยกระดับศักยภาพ และเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบธุรกิจในระดับสากลร่วมกันจังหวัดนครราชสีมา อีกทั้งยังติดตามการดำเนินงานของศูนย์ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 6 (DIPROM CENTER 6) และมอบนโยบายการให้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ ภายในองค์กรระหว่างบุคลากร พร้อมกับเยี่ยมชมแปลงเกษตรสาธิต เกษตรอัจฉริยะ โดยเน้นย้ำให้ปรับปรุงพื้นที่ของศูนย์ เป็นต้นแบบศูนย์การเรียนรู้เกษตรสาธิต เกษตรอัจฉริยะ เพื่อต่อยอดนักส่งเสริมอาชีพดีพร้อม และยกระดับเป็นให้อาชีพหลักเพื่อการดำรงเลี้ยงชีพให้ยั่งยืน ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
18 ส.ค 2566
"ดีพร้อม" ระดมความคิดคณะทำงานฯ เตรียมจัดงานรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี 2566
กรุงเทพฯ 17 สิงหาคม 2566 - นางสุชาดา โพธิ์เจริญ และนายวัชรุน จุ้ยจำลอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานร่วมในการประชุมคณะทำงานเลขานุการจัดงานรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี พ.ศ. 2566 ครั้งที่ 1/2566 ร่วมด้วย คณะทำงานฯ และผู้แทนหน่วยงานภายในดีพร้อม เข้าร่วมประชุมดังกล่าว ณ ห้องประชุม 2 ชั้น 3 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Headquarter) และในรูปแบบออนไลน์ผ่านระบบแอปพลิเคชั่น Zoom Meeting การประชุมดังกล่าว เป็นการหารือเกี่ยวกับการจัดงานรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี พ.ศ. 2566 ซึ่งในปีนี้ ดีพร้อมได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพในการจัดงานพิธีมอบรางวัลฯ โดยคณะทำงานฯ ได้ร่วมกันพิจารณาแนวทางและให้ข้อเสนอแนะในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้ 1) การจัดงานพิธีมอบรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี พ.ศ. 2566 และ 2) แผนการดำเนินงานการจัดงานรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี พ.ศ. 2566 ทั้งนี้ คณะทำงานฯ ได้เน้นย้ำแนวคิดของการจัดงานในปีนี้ โดยเน้นนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมใน 4 มิติ ที่มุ่งสู่ความสำเร็จเพื่อให้อุตสาหกรรมอยู่คู่ชุมชนอย่างยั่งยืน ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน / ภาพข่าว
18 ส.ค 2566
"อธิบดีใบน้อย" นำทีมชาวดีพร้อมรวมพลังจิตอาสาปลูกต้นหญ้าแฝก จำนวน 100,000 ต้น
กรุงเทพฯ 16 สิงหาคม 2566 – นายใบน้อย สุวรรณชาตรี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานกิจกรรมรวมพลังจิตอาสาร่วมปลูกต้นไม้เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยมี นางสุชาดา โพธิ์เจริญ นายวาที พีระวรานุพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) เข้าร่วมกิจกรรม ณ บริเวณรอบสระน้ำ พื้นที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พระรามที่ 4 (กล้วยน้ำไท) โครงการปลูกหญ้าแฝก เป็นโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งหญ้าแฝกนั้นสามารถช่วยป้องกันการพังทลายของหน้าดิน รักษาความชุ่มชื้นในดิน เก็บกักตะกอนดินและสารพิษต่าง ๆ ไม่ให้ไหลลงในน้ำ อนุรักษ์ความชุ่มชื้นไว้ในดิน ซึ่งจะประโยชน์อย่างยิ่งแก่การอนุรักษ์ดินและน้ำ ตลอดจนการฟื้นฟูดินให้สมบูรณ์ขึ้น ดีพร้อม น้อมสำนึกในพระราชปณิธานของพระองค์ จึงได้ดำเนินโครงการจิตอาสา โดยได้รับมอบต้นหญ้าแฝก จำนวน 100,000 ต้น จากสถานีพัฒนาที่ดินกรุงเทพมหานคร กรมพัฒนาที่ดิน เพื่อนำมาปลูกรักษาหน้าดินบริเวณโดยรอบสระน้ำ บริเวณพื้นที่พระราม 4 กล้วยน้ำไท เพื่อให้เกิดใช้การประโยชน์ มีความความสะอาด มีสิ่งแวดล้อมที่ดี เป็นระเบียบเรียบร้อย เกิดการสร้างภาพลักษณ์ และการสร้างการจดจำที่ดีต่อองค์กร ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
17 ส.ค 2566
“ดีพร้อม” เผยครึ่งปีแรก ดันมูลค่าเศรษฐกิจโตกว่า 5,000 ล้านบาท
กรุงเทพฯ 15 สิงหาคม 2566 - นายใบน้อย สุวรรณชาตรี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานงานแถลงข่าว "ดีพร้อมเผยผลสำเร็จครึ่งปีแรก ดัน SMEs โตพร้อมกางแผนเร่งเครื่องกระตุ้น GDP อุตสาหกรรมโตคู่ชุมชน” พร้อมด้วย นางสุชาดา โพธิ์เจริญ นายวัชรุน จุ้ยจำลอง และนายวาที พีระวรานุพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) ผู้ประกอบการ และสื่อมวลชน เข้าร่วมงาน ณ ห้องประชุม 2 ชั้น 6 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Headquarter) กิจกรรมดังกล่าว เป็นการแถลงผลสำเร็จการดำเนินงานครึ่งปีแรกของดีพร้อมในการยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการให้มีความเข้มแข็งในทุก ๆ มิติ ภายใต้นโยบาย ดีพร้อมโต “โตได้ โตไว โตไกล โตให้ยั่งยืน” ผ่านการขับเคลื่อนโครงการ/กิจกรรมต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมคู่ชุมชนอย่างเป็นรูปธรรมและยกระดับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชน และประชาชนไปแล้วกว่า 28,000 ราย สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 5,000 ล้านบาท อีกทั้งยังได้มีการเชื่อมโยงและขยายโอกาสทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ในรูปแบบการจัดงานแฟร์ การจับคู่ธุรกิจผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ตลอดจนงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติ พร้อมกันนี้ ยังได้ขับเคลื่อนยกระดับเศรษฐกิจฐานรากผ่านโมเดลชุมชนดีพร้อม เพื่อบูรณาการผู้ประกอบการที่มีศักยภาพและจิตสาธารณะ หรือดีพร้อมฮีโร่กับชุมชน จํานวน 21 ราย ประสานประโยชน์ไปยังชุมชนต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรมกว่า 3,080 ครัวเรือน 10,900 ราย และกระตุ้นให้เกิดการกระจายรายได้กว่า 600 ล้านบาท จากความสำเร็จข้างต้นส่งผลให้ครึ่งปีหลัง 2566 นี้ ดีพร้อมได้เดินหน้าวางแผนส่งเสริม พัฒนา และสนับสนุนผู้ประกอบการอย่างเข้มข้น ตลอดจนการต่อยอดความสำเร็จของโครงการอาชีพดีพร้อมและนักส่งเสริมอาชีพดีพร้อมด้วย Soft Power ด้านอาหาร หรือ เมนูเด็ดดีชุมชนพร้อม เพื่อยกระดับศักยภาพตามแนวทาง Soft Power ให้แก่ชุมชนนำร่อง 22 ชุมชนทั่วประเทศ ### PRDIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
16 ส.ค 2566