“รัฐมนตรีฯ พิมพ์ภัทรา” ลงพื้นที่สวนโกโก้ป้าเตี้ยงหัวคู
จ.นครศรีธรรมราช 6 มิถุนายน 2567 – นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่สวนโกโก้ป้าเตี้ยงหัวคู แปลงใหญ่สวนโกโก้สระแก้ว โดยมี นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายศุภกิจ บุญศิริ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นางดวงธิดา จันทร์พุ่ม อุตสาหกรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช นายวัชรินทร์ ไชยานุพงศ์ อุตสาหกรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายโดม ถนอมบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรม เข้าร่วม ณ แปลงใหญ่สวนโกโก้สระแก้ว ตำบลสระแก้ว อำเภอท่าศาลา การรวมกลุ่มโกโก้แปลงใหญ่ตำบลสระแก้ว ตั้งขึ้นตามความต้องการของเกษตรกรผู้ปลูกโกโก้ตำบลสระแก้วและพื้นที่ตำบลใกล้เคียง เพื่อร่วมกันผลิตโกโก้คุณภาพ แก้ไขปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ ตัดปัญหาพ่อค้าคนกลาง นอกจากนี้ ยังทำให้เกษตรกรได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาและพัฒนาศักยภาพสินค้า ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 40 ราย ลักษณะเด่นของโกโก้แปลงใหญ่ตำบลสระแก้ว คือ เป็นโกโก้พันธุ์ดั้งเดิมที่มีอายุมากกว่า 40 ปี เหมาะสำหรับการแปรรูปช็อคโกแลตเนื่องจากมีปริมาณน้ำมันสูง รสชาติเป็นเอกลักษณ์ ผลโต เปลือกบางไส้เล็ก เมล็ดโต เกษตรกรผู้ปลูกโกโก้ตำบลสระแก้วและพื้นที่ตำบลใกล้เคียงแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความได้เปรียบในเรื่องผลผลิตทางการเกษตรโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นแหล่งที่มีทรัพยากรและวัตถุดิบที่อุดมสมบูรณ์ สามารถนำองค์ความรู้และทรัพยากรในพื้นที่มาเป็นวัตถุดิบในการผลิตและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่าง ๆ ให้มีคุณลักษณะตรงกับความต้องการของตลาด รวมทั้งการสร้างมูลค่าเพิ่มโดยการพัฒนาคุณภาพ ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ให้มีมาตรฐานตรงกับความต้องการของผู้บริโภค การลงพื้นที่ในวันนี้ นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับฟังความคิดเห็นของสมาชิกกลุ่มสวนโกโก้ป้าเตี้ยงหัวคูซึ่งมีต้องการการสนับสนุนในด้านเครื่องมือและอุปกรณ์การผลิต โดยเฉพาะเครื่องโม่เมล็ดแห้ง 20 กิโลกรัม นอกจากนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 ได้เตรียมการจัดหลักสูตรการหมักโกโก้ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อเสริมสร้างความรู้ด้านโกโก้ให้กับผู้ประกอบการต่อไป ซึ่งการสนับสนุนจากภาครัฐจะส่งผลให้มีการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของประชาชนในพื้นที่ เพื่อเตรียมความพร้อมของเศรษฐกิจฐานรากรองรับอนาคต นำไปสู่การสร้างงานสร้างอาชีพ มีการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจและการกระจายได้รายสู่ชุมชนภายในจังหวัดนครศรีธรรมราชที่เพิ่มขึ้น
07 มิ.ย. 2567
"รสอ.วาที" ติวเข้มบุคลากรเงินหมุนเวียนฯ พร้อมมอบนโยบายเพื่อยกระดับศักยภาพการทำงานอย่างมีประสิทธิผล
จ.นครนายก 6 มิถุนายน 2567 - นายวาที พีระวรานุพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้รับมอบหมายจาก นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เป็นประธานเปิดงานสัมมนา หลักสูตร "การเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานเงินทุนหมุนเวียน เพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรม ในครอบครัวและหัตถกรรมไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567" พร้อมด้วย นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านเงินทุนหมุนเวียนฯ จากส่วนกลางและภูมิภาค ณ รอยัล ฮิลล์ กอล์ฟ รีสอร์ต แอนด์ สปา ตำบลสาลิกา อำเภอเมืองนครนายก การสัมมนาดังกล่าว เป็นการมอบนโยบายการปฏิบัติงานเงินทุนหมุนเวียนฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เพื่อยกระดับการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกในการเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการตามนโยบาย RESHAPE THE FUTURE : โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต ภายใต้กลยุทธ์ ปรับเพิ่มการเข้าถึงโอกาส (RESHAPE THE ACCESSIBILITY) ผ่านการสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยการดำเนินงานของเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทยในปีนี้จะเป็นการยกระดับการปฏิบัติงานเชิงรุกเพิ่มมากขึ้น ตั้งแต่การบริหารหนี้ค้างชำระโดยติดตามลูกหนี้ในปีแรกอย่างใกล้ชิด และเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้อย่างเต็มที่ พร้อมหามาตรการลดหนี้คงค้างและหาผู้รับสินเชื่อรายใหม่ เพื่อสร้างการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการขยายกิจการให้แก่ผู้ประกอบการ รวมถึงเน้นการประชาสัมพันธ์การให้บริการเงินทุนหมุนเวียนฯ และบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานเครือข่ายพันธมิตร เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจไปยังกลุ่มเป้าหมายให้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ รสอ.วาทีฯ ได้ให้คำแนะนำเพิ่มเติมถึงการปรับโครงสร้างทีมงานให้สร้างแรงจูงใจในการทำงาน การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเพิ่มประสิทธิภาพการวิเคราะห์สินเชื่อ และบริหารจัดการลูกค้าเงินทุนหมุนเวียนฯ ให้มีศักยภาพในการประกอบการธุรกิจผ่านเครื่องมือและกลไกต่าง ๆ ของดีพร้อม เพื่อให้มีความสามารถในการชำระหนี้ตามกฎหมายต่อไป
07 มิ.ย. 2567
“รัฐมนตรีฯ พิมพ์ภัทรา” เปิดอบรมแปรรูปอาหาร ยกระดับเศรษฐกิจชุมชนสู่ความยั่งยืน
จ.นครศรีธรรมราช 6 มิถุนายน 2567 – นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “แปรรูปอาหาร” ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจชุมชนสู่ความยั่งยืน โดยมี นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายศุภกิจ บุญศิริ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายโดม ถนอมบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 นางดวงธิดา จันทร์พุ่ม อุตสาหกรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช นายวัชรินทร์ ไชยานุพงศ์ อุตสาหกรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายวัฒนา แก้วประจุ ผู้อำนวยการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ภาค 7 นายเอกชัย สุนทร นายอำเภอท่าศาลา คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรม ผู้เข้าร่วมอบรม เข้าร่วมงานดังกล่าว ณ ศาลาอเนกประสงค์ประจำหมู่บ้าน หมู่ที่ 4 ตำบลกลาย อำเภอท่าศาลา การอบรมในวันนี้ จัดขึ้นโดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM) เพื่อขับเคลื่อนนโยบายในการส่งเสริมเศรษฐกิจระดับชุมชนท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง พัฒนาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ผนวกกับวิถีและอัตลักษณ์ท้องถิ่น ให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำ และเติมเต็มโอกาสในการสร้างรายได้จากต้นทุนที่มีในพื้นที่ ส่งเสริมอัตลักษณ์ของชุมชนเพื่อนำไปสู่การผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของตลาดและเชื่อมโยงการท่องเที่ยว และอุตสาหกรรม Soft power การจัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร “แปรรูปอาหาร” ในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมอบรมจำนวน 200 คน ถือเป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคใต้ โดยการสร้างองค์ความรู้และพัฒนาต่อยอดธุรกิจให้กับประชาชนในพื้นที่ประยุกต์ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นให้เกิดมูลค่าเพิ่ม ยกระดับวิสาหกิจชุมชน สร้างงาน สร้างรายได้ สร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนให้กับชุมชนต่อไป โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการจัดกิจกรรมการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้เกิดการนำองค์ความรู้ไปต่อยอดเพื่อสร้างอาชีพ กระจายรายได้ให้แก่ชุมชนในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดใกล้เคียง
07 มิ.ย. 2567
“รมว.พิมพ์ภัทรา” นั่งหัวโต๊ะ ประชุมผู้บริหารระดับสูง อก. กำชับ เร่งสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชนในการขนย้ายกากอุตสาหกรรม พร้อมเผย กรมโรงงานอุตสาหกรรม ออกใบอนุญาต รง.4 ได้เสร็จทันเป้าหมาย ตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี
กรุงเทพฯ 5 มิถุนายน 2567 - นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงอุตสาหกรรม ครั้งที่ 9 /2567 โดยมีนายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวไพลิน เทียนสุวรรณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายเอกภัทร วังสุวรรณ นายบรรจง สุกรีฑา นายใบน้อย สุวรรณชาตรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายวิษณุ ทับเที่ยง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) ร่วมประชุม ณ ห้องประชุม อก.1 ชั้น 2 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวพิมพ์ภัทรา ได้แจ้งต่อที่ประชุมถึงข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ที่ให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน ผ่านการออกใบอนุญาต รง.4 รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากจีดีพีอุตสาหกรรมลดต่ำลงต่อเนื่อง จึงขอมอบหมายให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมหามาตรการเพื่อกระตุ้นผู้ประกอบการและทำแผนไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการประชุมครั้งถัดไป ทั้งนี้ในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้มีการหารือถึงปัญหาทางด้านแรงงานที่ส่งผลกระทบต่อโรงงานหลายแห่งจนต้องปิดตัวลง ดังนั้นในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรม ต้องมีการคาดการณ์ตัวเลขโรงงานที่ได้รับผลกระทบด้วย นอกจากนี้ยังได้กำชับให้มีการสำรวจ สวัสดิการข้าราชการ อัตราตำแหน่งของอุตสาหกรรมจังหวัด รวมถึงตำแหน่งอื่น ๆ ที่ยังว่างลง และดำเนินการแต่งตั้งให้แล้วเสร็จ ทั้งนี้เพื่อเป็นเครือข่ายการทำงานของกระทรวงได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ที่ประชุมยังได้สรุปผลสำเร็จจากการเดินทางเยือนมณฑลหูหนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน เข้าพบหารือนักลงทุนจีน สาขาอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลหนัก อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และระบบอัจฉริยะ กระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรม อนุภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้าง และจีนรายมณฑล นอกจากนี้ ทางกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ยังได้สรุปการขนย้ายกากตะกอนแร่แคดเมียม จำนวน 12,948 ตัน กลับไปฝังกลบที่ จังหวัดตาก ว่า ขณะนี้ได้ขนกลับไปแล้ว 47% หรือประมาณ 6,052 ตัน ใช้พื้นทีในโรงพักคอยไปแล้วประมาณ 50% ซึ่งอาจไม่เพียงพอต่อการรองรับจึงได้มีการขยายพื้นที่ออกไปอีก 1,000 ตารางเมตร โดยได้ทำการบดอัดดิน ปูด้วย HOPE และแผ่นดินเหนียวสังเคราะห์ เช่นเดียวกับการดำเนินการก่อนหน้า ส่วนปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาในปัจจุบันยังสามารถรับมือได้ ด้านความพร้อมของบ่อฝังกลบอยู่ระหว่างการประเมิน ตรวจสอบ และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งทำความเข้าใจกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการยอมรับและสร้างความเข้าใจในการนำกากตะกอนแร่แคดเมียมไปฝังกลบ อย่างไรก็ตามเนื่องจากปัจจุบันการขนย้ายกากแคดเมียม ต้องใช้รถตู้คอนเทนเนอร์ 100% ด้วยข้อจำกัดในปริมาณรถ ซึ่งหากยังไม่สามารถหาจำนวนรถได้เพียงพอต่อการขนส่งอาจต้องใช้ระยะเวลาในการขนย้ายมากกว่ากำหนดการเดิมคือ 17 มิถุนายน ไปอีกประมาณ 10 วัน ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของประชาชน รมว.อุตสาหกรรม ได้สอบถามถึงการเร่งรัดออกใบอนุญาต รง.4 ให้แล้วเสร็จตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับการยืนยันจากอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ว่า คาดว่าจะแล้วเสร็จอย่างแน่นอนภายในวันที่ 6 มิถุนายนนี้ ซึ่ง รมว.อุตสาหกรรมได้กำชับว่า จากนี้ไปขอให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม จัดทำแผนพร้อมรายงานอย่างต่อเนื่อง หากพบปัญหาอุปสรรคจะได้เร่งดำเนินการแก้ไขต่อไป ส่วนเรื่องการของงบกลางเพื่อขนย้ายสารเคมีจากโรงงาน วิน โพรเสส จังหวัดระยอง และเอกอุทัย ที่อำเภออุทัย และอำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทางอธิบดีกรมโรงงานฯ ได้นำเสนอแผนงบประมาณการจัดการของเสียในที่ประชุมเป็นครั้งแรก ซึ่ง รมว.อุตสาหกรรม ได้ขอให้จัดทำรายละเอียดให้ชัดเจนและให้มาร่วมกันหารือเพื่อวางแนวทางต่อไป “เป็นโอกาสที่ดีที่ให้กรมโรงงานฯ ได้แสดงผลงานในสถานการณ์วิกฤตนี้ ท่านทำได้ดีแล้ว หลายปัญหาก็ได้รับการคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น แต่ท่านต้องสื่อสารและสร้างความเข้าใจให้มากยิ่งขึ้น เมื่อมีปัญหาจะได้ช่วยเหลือกันแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมและสารเคมีอันตราย ดิฉันเชื่อว่าท่านสามารถจัดการปัญหาวิกฤตเหล่านี้ได้ เนื่องจากเป็นปัญหาเดิม ๆ และครั้งนี้มีการลงดาบให้เห็นว่าถ้าใครทำผิดก็ต้องได้รับโทษ ดังนั้นจึงควรออกแบบระบบให้รัดกุม ควบคุมได้ดีขึ้น เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นต่อการดำเนินงานของกรมโรงงานฯ ที่สำคัญเรื่องการสร้างความเข้าใจกับประชาชน ที่เรามองต่างมุมกันอยู่ เราต้องทำงานโดยยึดประโยชน์ต่อประชาชนเป็นสำคัญ ” รมว.อุตสาหกรรม กล่าว
06 มิ.ย. 2567
“ดีพร้อม” ประชุมบอร์ดบริหารเงินทุนหมุนเวียนฯ ครั้งที่ 5/2567 ดันแผนพีอาร์สร้างการรับรู้ทั่วประเทศ
กรุงเทพฯ 4 มิถุนายน 2567 - นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารเงินทุนหมุนเวียนฯ ครั้งที่ 5/2567 พร้อมด้วย นายวาที พีระวรานุพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายเจตนิพิฐ รอดภัย ที่ปรึกษากรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 3 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Headquarter) และในรูปแบบออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชั่น Zoom Meeting การประชุมดังกล่าว ได้ร่วมกันพิจารณาแผนปรับปรุงพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานของเงินทุนหมุนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย ในช่วงระยะเวลา 15 มิ.ย. 2567 – 30 ก.ย. 2568 การดำเนินงานประกอบด้วย การจัดทำแผนเชิงป้องกันการเปิดลูกหนี้ค้างชำระเกิน 1 ปีเพิ่มขึ้น โดยให้ผู้เชี่ยวชาญดำเนินการวินิจฉัยสถานประกอบการเชิงลึก เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการให้ผ่านเกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อเพิ่มขึ้น พร้อมบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่ายภายนอกในการส่งต่อผู้ประกอบการที่มีศักยภาพเพื่อเข้าถึงบริการสินเชื่อของเงินทุนหมุนเวียนฯ และจัดให้มีการประชาสัมพันธ์เชิงรุกเพื่อสร้างการรับรู้ไปยังผู้ประกอบการในภาคการผลิต ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้เพิ่มประเด็นในส่วนของการบูรณาการด้านประชาสัมพันธ์เชิงรุกร่วมกับหน่วยงานส่วนภูมิภาคและหน่วยงานภายนอก เพื่อขยายฐานการรับรู้ในบริการและผลิตภัณฑ์สินเชื่อต่าง ๆ แก่ผู้ประกอบการทั่วประเทศ
05 มิ.ย. 2567
"รสอ.วาที" นำทีมดีพร้อมร่วมพิธีพิธีจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคลเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 3 มิถุนายน 2567
กรุงเทพฯ 3 มิถุนายน 2567 - นายวาที พีระวรานุพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในนามผู้แทนของกระทรวงอุตสาหกรรม นำคณะผู้บริหารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ร่วมพิธีพิธีจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคลเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 3 มิถุนายน 2567 ณ ท้องสนามหลวง
04 มิ.ย. 2567
"รสอ.ดวงดาว" ร่วมประชุมหารือรายละเอียดแพลตฟอร์มซอฟต์พาวเวอร์ด้านอาหาร
กรุงเทพฯ 31 พฤษภาคม 2567 - นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เข้าร่วมประชุมหารือรายละเอียด Platform และ e-learning ซอฟต์พาวเวอร์ด้านอาหาร พร้อมด้วย ดร.อาศิส อัญญะโพธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) นายชุมพล แจ้งไพร (เชฟชุมพล) ผู้แทนจากสถาบันอาหาร คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) ณ ห้องประชุม 2 ชั้น 3 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Headquarter) และในรูปแบบออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชั่น Zoom Meeting การประชุมครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมได้หารือถึงรายละเอียดแพลตฟอร์มอบรมหลักสูตรเชฟอาหารไทยมืออาชีพ (Professional Thai Chef) 240 ชั่วโมง โดยตั้งเป้าหมายผู้เรียนในปี 2567 จำนวน 10,000 ราย ในรูปแบบ Hybrid (ออนไซต์และออนไลน์) รวมถึงหลักสูตร MBA Chef, หลักสูตรทำกินได้ ทำขายดี และหลักสูตรการเป็นเจ้าของกิจการ 250,000 ราย ในรูปแบบออนไลน์ โดยมีสำนักงานกองทุนหมู่บ้านรับผิดชอบในการรับสมัครตัวแทนหมู่บ้านเพื่อเข้าอบรมผ่านระบบออนไลน์ ทีมเชฟฯ ดำเนินการคัดเลือกผู้เข้าร่วมอบรมของดีพร้อม และ สถาบันอาหารได้ดำเนินการพัฒนาหลักสูตร e-learning ซึ่งมีเป้าหมายให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสามารถนำองค์ความรู้นำไปใช้ ประโยชน์ สามารถสร้างงานสร้างรายได้ และสร้างอาชีพได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ ทั้งนี้ แพตฟอร์มด้านอาหาร ถือเป็นแพลตฟอร์มนำร่อง ซึ่งจะไปเชื่อมต่อกับระบบ OFOS ของ THACCA Academy ต่อไปในอนาคต
04 มิ.ย. 2567
“ดีพร้อม” ร่วมงาน IGNITE AGRICULTURE HUB ยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเกษตรและอาหารของโลก
กรุงเทพฯ 31 พฤษภาคม 2567 – นายวาที พีระวรานุพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้รับมอบหมายจาก นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เข้าร่วมงาน แถลงวิสัยทัศน์และแนวทางเพื่อขับเคลื่อน IGNITE THAILAND จุดพลัง รวมใจ ไทยต้องเป็นหนึ่ง ยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเกษตรและอาหารของโลก โดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล การเข้าร่วมงานดังกล่าว เพื่อร่วมรับฟังนโยบายเรื่องการเกษตร ที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับภาคเกษตรซึ่งเป็นรากฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยมีประชากรไทยกว่า 40% เกี่ยวข้องกับภาคเกษตร ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายและมาตรการสำคัญเพื่อยกระดับภาคเกษตรกรรมและเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร เช่น การสร้างความเข้มแข็งภาคการเกษตรโดยพัฒนาปัจจัยการผลิตให้เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย พัฒนาและปรับปรุงพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ แก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง เพื่อให้เกษตรกรสามารถประกอบอาชีพได้อย่างเต็มที่ นโยบายเหล่านี้จะนำไปสู่การเติบโตของภาคเกษตรและสร้างรายได้มหาศาลให้แก่ประเทศ ทั้งนี้ รัฐบาลเน้นใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมส่งเสริมการทำเกษตรแม่นยำ โดยมุ่งเน้นการใช้เครื่องจักรกล โดรนทางการเกษตร และการบริหารจัดการสภาพดิน น้ำ ปุ๋ย รวมถึงการสร้างความแข็งแกร่งทางการเงินและรับมือกับปัญหา Climate Change รัฐบาลยังส่งเสริมการปฏิบัติจริงด้วยมาตรการความยั่งยืน ไม่เผา เพื่อลดผลกระทบจาก PM2.5 และลดผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าด้าน Carbon Emission
04 มิ.ย. 2567
“อธิบดีภาสกร” นั่งหัวโต๊ะ หารือแนวทางขับเคลื่อนการดำเนินงานดีพร้อม
กรุงเทพฯ 31 พฤษภาคม 2567 – นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานในการประชุมคณะทำงานสนับสนุนการขับเคลื่อนการดำเนินงานกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4/2567 โดยมี นายวาที พีระวรานุพงศ์ นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 2 ชั้น 3 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Headquarter) และในรูปแบบออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชั่น Zoom Meeting การประชุมในวันนี้ ได้มีการหารือเกี่ยวกับแนวทางการปรับตัวชี้วัดโครงการและกิจกรรมของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ความคืบหน้าการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ แนวทางการพัฒนาด้านประชาสัมพันธ์เพื่อให้ดีพร้อมสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น ความคืบหน้าการดำเนินการเชื่อมโยงฐานลูกค้าใหม่กับหน่วยงานเครือข่าย และการจัดการคลังความรู้ในระบบ Ecosystem (DIPROM E-Service) ความคืบหน้าโครงการติดปีก SMEs หลักทรัพย์ไม่มี DIPROM ค้ำประกันให้ นอกจากนี้ คณะทำงานฯ ได้รายงานเกี่ยวกับสถานการณ์อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ไทยในปัจจุบัน ผลการดำเนินโครงการ Research Connect ซึ่งเกิดการจับคู่งานวิจัยระหว่างผู้มีเทคโนโลยีและผู้ต้องการใช้เทคโนโลยี ความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (Gistda) ในการพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศ ซึ่งจะส่งเสริม Start up สนับสนุนด้านการทดสอบวัสดุและชิ้นส่วนด้านอากาศยานและการบิน ส่งเสริมการเชื่อมโยงและการใช้ประโยชน์จากข้อมูลดาวเทียมในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนส่งเสริมการเชื่อมโยงข้อมูลนวัตกรรมภูมิสารสนเทศสู่การพัฒนาด้านเกษตรอุตสาหกรรม อีกทั้ง ยังได้รายงานถึงการจัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด โดยจะจัดขึ้นในวันที่ 27 มิถุนายน 2567 นี้
04 มิ.ย. 2567