กสอ. ลุยพื้นที่ภาคอีสาน มอบนโยบายเน้นการบูรณาการการทำงานเชิงพื้นที่
จ.อุดรธานี 28 กุมภาพันธ์ 2563 - นายจุลพงษ์ ทวีศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (รปอ.) พร้อมด้วย นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (อสอ.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 4 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ศภ.4 กสอ.) พร้อมทั้ง มอบนโยบายการทำงานด้วยการบูรณาการเชื่อมโยงเชิงพื้นที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมด้วย นายใบน้อย สุวรรณชาตรี รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายสมชัย เผ่าผา ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 4 นายวรวิทย์ จิรัฐิติเจริญ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 5 นางสาวอัญชลีย์พร เขียวเกษม ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 6 นายรุ่งโรจน์ อิฐรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 7 และเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เข้าร่วม ณ ห้องประชุมศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 4 อำเภอเมืองอุดรธานี การประชุมฯ ครั้งนี้ เป็นการรับฟังข้อมูลผลการดำเนินงานการส่งเสริมพัฒนาและให้บริการแก่ผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ความรับผิดชอบของ ศภ.4 กสอ. รวมถึงแผนการดำเนินงานทั้งในส่วนของงบประมาณปี 2562 (พลางก่อน) และปีงบประมาณ 2563 พร้อมทั้งเป็นการประชุมเพื่อมอบนโยบายบูรณาการการทำงานร่วมกันเชิงพื้นที่ของศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมในภูมิภาค (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ให้เกิดความเชื่อมโยงและสอดคล้องกับนโยบายหลัก "ปั้น ปรุง เปลี่ยน" ของ กสอ. ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงบริการของ กสอ. ได้อย่างเต็มที่และเกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมกันนี้ ได้เยี่ยมชมการขอรับบริการเครื่องจักรต้นแบบของผู้ประกอบการ ณ ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 (Industry Transformation Center : ITC 4.0) ได้แก่ การแปรรูปจิ้งหรีดด้วยเครื่องอบแห้งแบบถังหมุน และเครื่องทอดสุญญากาศ การผลิตยาสมุนไพรอัดเม็ด ด้วยเครื่องบรรจุแคปซูล และการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผ้าของศูนย์ออกแบบผ้าทอพื้นเมืองอีกด้วย นอกจากนี้ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมสัมมนาหัวข้อ "นวัตกรรมผ้าทอพื้นเมืองคอลลาเจน" ซึ่งจัดขึ้นเพื่อถ่ายทอดความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มยุค 4.0 ให้แก่ผู้ประกอบการในพื้นที่ และเกิดแรงบันดาลใจในการพัฒนาและต่อยอดผ้าทอพื้นเมืองให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดต่อไป ### PR.DIProm (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
28 ก.พ. 2563
"รสอ.ใบน้อย" นั่งหัวโต๊ะร่วมพิจารณาสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนฯ แก่ผู้ประกอบการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
จ.อุดรธานี 27 กุมภาพันธ์ 2563 - นายใบน้อย สุวรรณชาตรี รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (รสอ.) ให้เกียรติเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครั้งที่ 4/2563 โดยมี นายสมชัย เผ่าผา ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 4 นายวรวิทย์ จิรัฐิติเจริญ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 5 นางสาวอัญชลีย์พร เขียวเกษม ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 6 นายรุ่งโรจน์ อิฐรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 7 คณะกรรมการบริหารเงินทุนหมุนเวียนฯ และเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เข้าร่วม ณ ห้องประชุมศูนย์เรียนรู้หมู่บ้านคีรีวงกต ตำบลนาแค อำเภอนายูง การประชุมดังกล่าว จัดขึ้นเพื่อนำเสนอคำขอกู้สินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนฯ ของผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือต่อคณะอนุกรรมการฯ เพื่อร่วมกันพิจารณาอนุมัติสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนฯ วงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านบาท ให้แก่ผู้ประกอบการ จำนวน 3 ราย ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ได้พิจารณาเห็นชอบในหลักการให้อนุมัติสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนฯ แก่ผู้ประกอบการ ทั้ง 3 ราย เพื่อนำไปต่อยอดพัฒนากิจการ จัดซื้อเครื่องมือและเครื่องจักรที่จำเป็น รวมทั้งเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการต่อไป### PR.DIProm (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน /ภาพข่าว
28 ก.พ. 2563
"รสอ.ใบน้อย" ลงพื้นที่ CIV ภาคอีสาน “คีรีวงกต” ต่อยอดเสริมแกร่งให้ชุมชนสู่ความยั่งยืน
จ.อุดรธานี 27 กุมภาพันธ์ 2563 - นายใบน้อย สุวรรณชาตรี รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (รสอ.) พร้อมด้วย นายสุรพล ปลื้มใจ ผู้อำนวยการกองพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน นายสมชัย เผ่าผา ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 4 นายวรวิทย์ จิรัฐิติเจริญ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 5 นางสาวอัญชลีย์พร เขียวเกษม ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 6 นายรุ่งโรจน์ อิฐรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 7 และเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ลงพื้นที่รับฟังความต้องการของผู้ประกอบการชุมชน โดยมี นายนรินทร์ อนันทวรรณ์ ผู้ใหญ่บ้าน ให้การต้อนรับและนำเยี่ยมชมการดำเนินการของหมู่บ้าน ณ หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Village : CIV) บ้านคีรีวงกต ตำบลนาแค อำเภอนายูง หมู่บ้านคีรีวงกตเป็นหมู่บ้านเล็กกลางหุบเขา อยู่ห่างจากตัวเมืองอุดรธานี ประมาณ 140 กิโลเมตร มีจุดเด่นด้านทรัพยากรทางธรรมชาติที่สมบูรณ์และเป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยว อีกทั้ง ยังมีวัตถุดิบทางการเกษตรที่หลากหลายสามารถพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มากมาย อาทิ เครื่องจักสาน ผลิตภัณฑ์จากกล้วยและผลิตภัณฑ์จากผ้า ซึ่งหมู่บ้านคีรีวงกต ได้เข้าร่วมโครงการยกระดับหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ร่วมกับ กสอ. ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 โดยได้รับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมทั้งได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการพัฒนาเครือข่ายและการบริหารจัดการธุรกิจชุมชนให้เข้มแข็ง ซึ่งการลงพื้นที่ในครั้งนี้เป็นการรับฟังความต้องการของผู้ประกอบการชุมชน พร้อมทั้งแนะนำแนวทางการต่อยอดเสริมความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนในทุกมิติ ทั้งด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีชุมชน อาทิ การจัดกิจกรรมสนับสนุนด้านกีฬา (การจัดกิจกรรมวิ่งมาราธอน ปั่นจักรยาน ฯลฯ) กิจกรรมสันทนาการเสริมสร้างประสบการณ์ (การเดินป่า การถ่ายภาพ การดูดาว การถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น) เป็นต้น เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามามีส่วนร่วมกับชุมชนและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสูด ควบคู่กับการพัฒนาผลิตภัณฑ์เด่นของชุมชนเพื่อให้เกิดการกระจายรายได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ รสอ.ใบน้อย ได้มอบหมายให้ กองพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน และ ศภ.4 กสอ. ดำเนินการต่อเนื่องและประสานหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมมือกันสนับสนุนต่ออยอดให้เกิดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์แก่ชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งร่วมกันสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์หมู่บ้าน CIV ต่อไป ### PR.DIProm(กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
28 ก.พ. 2563
"อธิบดีณัฐพล" นำคณะสื่อมวลชนแอ่วเมืองน่าน ชูอัตลักษณ์ชุมชน ต่อยอดสมุนไพรพื้นถิ่นไทยติดลมบน
จ. น่าน 22 กุมภาพันธ์ 2563 - นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นำทีมคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมชมสถานประกอบการและวิสาหกิจชุมชนบ้านน้ำเกี๋ยน อ.ภูเพียงพร้อมด้วย นางสาวนิรามัย ศิริศรีสุดากุล ผู้อำนวยการศูนย์อุตสาหกรรมภาคที่ 1 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ศภ.1 กสอ.) นายสำเริง สวัสดีนฤนาท อุตสาหกรรมจังหวัดน่าน คณะเจ้าหน้าที่ กสอ. และคณะเจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดน่าน โดยมี นางธารารัตน์ ศรีจันทร์ดี ประธานวิสาหกิจชุมชนขวัญธารา และนางบุญตุ้ม ปานทอง เจ้าของกิจการกลุ่มวิสาหกิจชุมชนชาเมี่ยง ให้การต้อนรับพร้อมสรุปภาพรวมของกิจการ โดยการลงพื้นที่ในครั้งนี้ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้เยี่ยมชม 2 กลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับการส่งเสริม พัฒนา และสนับสนุนผ่านกิจกรรม/โครงการ และการให้บริการต่าง ๆ จากศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ศภ.1 กสอ.) จ.เชียงใหม่ ซึ่งสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปต่อยอดในธุรกิจจนประสบความสำเร็จ วิสาหกิจชุมชนขวัญธารา ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องสำอางจากสมุนไพรท้องถิ่นอย่างมะไฟจีน โดยนำมาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มในรูปแบบใหม่ ๆ ด้วยการนำเอานวัตกรรมเชิงพาณิชย์เข้ามาเสริมสร้างต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เซรั่ม แชมพู สบู่เหลว โฟมมูส แฮนด์ครีม และบอดี้โลชั่น โดยมีจุดเด่นที่นำเอาสารสกัดมะไฟจีนมาเป็นวัตถุดิบรายแรกของประเทศไทย ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติจากภูมิปัญญา ทำให้ผลิตภัณฑ์ของขวัญธาราได้รับคัดเลือกให้เป็นสินค้าโทอปที่มีชื่อเสียง และได้รับการวางขายในเว็บไซต์ Thaimall.com และบนแคตตาล็อคของสายการบินการบินไทย ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 60 นอกจากนี้ ในส่วนของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนชาเมี่ยง ผู้ผลิตชาเมี่ยง แบรนด์อินฟินิตี้ที ได้แก่ ชาเมี่ยง แชมพู เซรั่มบำรุงผมและหนังศรีษะ ครีมบำรุงผิวหน้า มือ เท้า และเล็บ โดยมียอดขายแบบก้าวกระโดด จาก 36,000 บาท ต่อปี เป็น 800,000 บาท ต่อปี จากยอดขายดังกล่าว จึงไม่คิดจะหยุดนิ่งยังคงเดินหน้าต่อในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ต่อยอด แตกไลน์สินค้าในรูปแบบอื่น ๆ โดยมีแผนจะนำใบชาไปสกัดและวิเคราะห์หาสารสำคัญที่ช่วยต้านอนุมูลอิสละและดูแลสุขภาพเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ 2 รายการ คือ น้ำยาบ้วนปาก และลูกอมระงับกลิ่นปากอีกด้วย ### PR.DIProm(กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
24 ก.พ. 2563
"อธิบดีณัฐพล" นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่เมืองน่าน ชมสถานประกอบการแปรรูปถั่วลิสง โชว์ความสำเร็จหลักสูตร NEC
จ. น่าน 21 กุมภาพันธ์ 2563 - นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นำทีมคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่เยี่ยมชมสถานประกอบการ บริษัท บ้านถั่วลิสง จำกัด พร้อมด้วย นางสาวนิรามัย ศิริศรีสุดากุล ผู้อำนวยการศูนย์อุตสาหกรรมภาคที่ 1 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ศภ.1 กสอ.) นายสำเริง สวัสดีนฤนาท อุตสาหกรรมจังหวัดน่าน คณะเจ้าหน้าที่ กสอ. และคณะเจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดน่าน โดยมี นางอารีย์ เพ็ชรรัตน์ เจ้าของสถานประกอบการให้การต้อนรับพร้อมสรุปภาพรวมของกิจการ บริษัท บ้านถั่วลิสง จำกัด เป็นธุรกิจที่ต่อยอดมาจากห้างหุ้นส่วนจำกัดซินกวงน่าน ผลิตและจัดจำหน่ายถั่วลิสงแปรรูปในรูปแบบของฝากจังหวัดน่าน ซึ่งผู้ประกอบการได้เข้าร่วมอบรมโครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ (NEC – SME) จากศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 (ศภ.1 กสอ.) ที่ช่วยทำให้มีพื้นฐานและทักษะในการบริหารงานอย่างผู้บริหารมืออาชีพ มีความเข้าใจ ด้านบัญชี ด้านการบริหารงานบุคคล และการวางแผนการดำเนินธุรกิจ จนสามารถพัฒนาแปรรูปถั่วลิสงออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ทั้งหมด 23 ผลิตภัณฑ์ อาทิ ถั่วคั่วทราย เค้กถั่ว นมถั่ว ภายใต้แบรนด์นันทบุรี และบ้านถั่วลิสง นอกจากนี้ ยังได้รับการอนุมัติสินเชื่อ 3 ล้านบาท จากกองทุนประชารัฐ ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 เพื่อสร้างร้าน "บ้านถั่วลิสง" ที่นอกจากจะเป็นการขยายช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ถั่วแปรรูปแล้ว ยังเป็นศูนย์รวบรวมการจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปของจังหวัดน่านในเครือข่ายคลัสเตอร์น่านอโกร-อินดัสทรี ตลอดจนเป็นศูนย์เรียนรู้ดูงานกระบวนการแปรรูปถั่วลิสง และเกษตรแปรรูปอื่น ๆ พร้อมกันนี้ผู้ประกอบการยังได้นำคณะผู้บริหาร กสอ. และสื่อมวลชนเข้าชมขั้นตอนกระบวนการผลิตภายในโรงงานอีกด้วย ทั้งนี้ กสอ. ได้ดำเนินโครงการสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ (New Entrepreneurs Creation : NEC) เพื่อพัฒนาบุคคลากรรองรับการเจริญเติบโต สามารถปรับตัวตามภาวะเศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีการปรับเปลี่ยนหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ได้รับการพัฒนาศักยภาพกว่า 86,000 ราย ก่อให้เกิดการจัดตั้งหรือขยายธุรกิจกว่า 19,000 ราย คิดเป็นร้อยละ 22 มีมูลค่าการลงทุนกว่า 28,000 ล้านบาท เกิดการจ้างงานกว่า 72,000 ราย ทั้งนี้ ในการติดตามประเมินผลแต่ละปีพบว่ามีผู้มีศักยภาพที่จะประสบความสำเร็จการจัดตั้งธุรกิจใหม่/ขยายธุรกิจเพิ่มขึ้น เฉลี่ยร้อยละ 10 – 15 ต่อปี ### PR.DIProm(กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
24 ก.พ. 2563
กสอ. ร่วมหารือประเด็นขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรม ดันแนวทางความร่วมมือส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการทุกระดับ
กรุงเทพฯ 20 กุมภาพันธ์ 2563 - นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมด้วยนายเจตนิพิฐ รอดภัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และผู้บริหารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการอำนวยการเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรม ครั้งที่ 5-1/2563 โดยมีนายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นประธานร่วมกันในการประชุมดังกล่าว ณ ห้องประชุม 802 ชั้น 8 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย อาคารปฏิบัติการเทคโนโลยีเชิงสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ การประชุมหารือในครั้งนี้เป็นการติดตามความก้าวหน้าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ใน 5 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1. การพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ (Industry 4.0 และ S-curve) 2. การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน 3. การพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงพื้นที่ 4. การแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการประกอบการอุตสาหกรรม และ 5. การส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่ง กสอ. ได้รับมอบหมายให้เป็นคณะทำงานและดำเนินการประสานความร่วมมือระหว่าง กสอ. และ ส.อ.ท. ทั้งนี้ อธิบดีณัฐพล ได้นำเสนอที่ประชุมให้รับทราบถึงประเด็นความร่วมมือระหว่าง กสอ. และ ส.อ.ท. ในการดำเนินการส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการภายใต้นโยบาย “ปั้น ปรุง เปลี่ยน เอสเอ็มอีให้ดีพร้อม (DIProm)” อาทิ การส่งเสริมเอสเอ็มอีเกษตรอุตสาหกรรม โดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีเครื่องจักรทางการเกษตร การสนับสนุนด้านการประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรเพื่อให้เกิดการกระตุ้นสร้างการรับรู้และส่งเสริมการสร้างนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมที่แปรรูปด้วยแนวคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมที่ดีในภูมิภาค การส่งเสริมเอสเอ็มอีให้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ การถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตเพื่อยกระดับสินค้าชุมชนเพื่อให้มีมูลค่าเพิ่ม การส่งเสริมทางด้านการตลาดด้วยการจัดหาพื้นที่จำหน่ายสินค้าชุมชน การสนับสนุนสินค้าชุมชนโดยมีคำสั่งซื้อสินค้าชุมชนล่วงหน้าสำหรับใช้เป็นของขวัญในเทศกาลต่าง ๆ เป็นต้น ### PR.DIProm (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สล.กสอ. : ภาพข่าว / รายงาน)
21 ก.พ. 2563
นายใบน้อย สุวรรณชาตรี รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ลงพื้นที่รับฟังความต้องการของผู้ประกอบการชุมชน ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี
จ.ชลบุรี 17 กุมภาพันธ์ 2563 - นายใบน้อย สุวรรณชาตรี รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายวุฒิชัย ประชาพร ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 9 และเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ลงพื้นที่รับฟังความต้องการของผู้ประกอบการชุมชน โดยมี นางศลิษา ศัลยกำธร ผู้อำนวยการศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง ให้การต้อนรับ ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง อ.บ้านบึง การลงพื้นที่ในครั้งนี้ เป็นการรับฟังแนวทางการดำเนินงานและความต้องการของชุมชน พร้อมทั้งให้คำปรึกษาแนะนำแก่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง ตามข้อสั่งการของรองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ซึ่งมอบหมายให้ กสอ. เร่งดำเนินการให้การสนับสนุนแก่ชุมชน เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนฐานราก เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้เกษตรกร และส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบวิถีชุมชนโดยการรักษาวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของชุมชนไว้ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง เป็น ศูนย์เรียนรู้ “เกษตรทฤษฎีใหม่และเศรษฐกิจพอเพียง” ตามแนวพระราชดำริ ของในหลวง รัชกาลที่ 9 หรือ เรียกอีกชื่อว่า "มหาวิทยาลัยคอกหมู" โดยมีการฝึกอบรม ถ่ายทอด เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรพอเพียง ปลอดภัย ไร้สารเคมี และกิจกรรมตลาดนัด 9 ฐาน เป็นฐานการเรียนรู้ที่ฝึกคุณธรรม ความเพียร และวินัยในตนเอง ให้สามารถดำรงชีวิตให้อยู่รอดได้อย่างยั่งยืน
18 ก.พ. 2563
นายใบน้อย สุวรรณชาตรี รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 9 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ศภ.9 กสอ.)
จ.ชลบุรี 17 กุมภาพันธ์ 2563 - นายใบน้อย สุวรรณชาตรี รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 9 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ศภ.9 กสอ.) เพื่อติดตามการดำเนินงานส่งเสริม SMEs และวิสาหกิจชุมชน พร้อมทั้งมอบนโยบายแนวทางการดำเนินงาน โดยมี นายวุฒิชัย ประชาพร ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 9 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และเจ้าหน้าที่ ให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 7 ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 9 ในโอกาสนี้ ท่านรองอธิบดีได้รับฟังการนำเสนอผลการปฏิบัติงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 และแผนการปฏิบัติงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 - 2564 และการให้บริการของศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 ตลอดจนรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการดำเนินงานในอนาคต นอกจากนี้ ท่านรองอธิบดียังได้เยี่ยมชมพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการ พื้นที่การให้บริการออกแบบบรรจุภัณฑ์ และพื้นที่ให้บริการเครื่องจักรกลางของศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 ของศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 9 อีกด้วย
18 ก.พ. 2563
นายใบน้อย สุวรรณชาตรี รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการกิจกรรมพัฒนาผู้ประกอบการสู่การบริหารธุรกิจแบบมืออาชีพ (Smart SME Program)
จ.ชลบุรี 17 กุมภาพันธ์ 2563 - นายใบน้อย สุวรรณชาตรี รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการกิจกรรมพัฒนาผู้ประกอบการสู่การบริหารธุรกิจแบบมืออาชีพ (Smart SME Program) ภายใต้โครงการพัฒนาผู้ประกอบการสู่การเป็นสมาร์ท SME และโกลบอล SME (คพอ.รุ่นที่ 365 จังหวัดชลบุรี) โดยมี นายวุฒิชัย ประชาพร ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่9 เป็นผู้กล่าวรายงาน และนายสุรเชษฐ์ กมลมงคลสุข อุปนายกสมาคมส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการไทย จังหวัดชลบุรี กล่าวต้อนรับ ณ โรงแรมเคปราชา อำเภอศรีราชา กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้น เพื่อพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้มีองค์ความรู้และทักษะในการวางแผนธุรกิจและการบริหารจัดการด้านต่าง ๆ ทั้งการผลิต บัญชีการเงิน การตลาด เพื่อพร้อมก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 นอกจากนี้ ยังมีการบรรยายการให้บริการของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดย นายวันชัย ปานเปี่ยมเกียรติ ผู้อำนวยการกลุ่มบริการธุรกิจอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการ ในโครงการของศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 หรือ ITC 4.0 , EEC , EFC , SSCE ฯลฯ และการเสวนาของหน่วยงานที่ให้บริการ SME จาก ศูนย์ให้บริการ SME ครบวงจร จังหวัดชลบุรี ศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 4 (BOI) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ( SME bank) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM bank) ธนาคารออมสิน และธนาคารกสิกรไทย ทั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมอบรมจำนวน 43 คน ระหว่างวันที่ 17 กุมภาพันธ์ -12 มีนาคม 2463
18 ก.พ. 2563
กระทรวงอุตฯ ฟุ้งส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจเกษตร 100,000 ราย
กรุงเทพฯ 14 กุมภาพันธ์ 2563 – นายจุลพงษ์ ทวีศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานปิดโครงการปรับโครงสร้างปั้นนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม ร่วมด้วย ผู้บริหารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการสถาบันส่งเสริมคุณภาพเกษตรไทย องค์กรเครือข่ายภาครัฐและเอกชน ที่ปรึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กลุ่มผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน และเกษตรกรเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว โดยมี นายใบน้อย สุวรรณชาตรี รองอธิการบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวรายงาน ณ แม็คโคร สาขารามคำแหง 24 บางกะปิ สำหรับโครงการการปรับโครงสร้างปั้นนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม เป็นการสร้างเครือข่ายนักธุรกิจเกษตรพันธุ์ใหม่ โดยการสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ซึ่งมุ่งที่จะส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจเกษตรให้ได้ 100,000 ราย ภายใน 4 ปี และเกิดต้นแบบธุรกิจอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและมูลค่าเพิ่มสูงมากกว่า 50 ต้นแบบ และสามารถสร้างรายได้ให้กับภาคการเกษตรเพิ่มขึ้นได้อย่างน้อย 5 เท่า นอกจากนี้ ภายในงานยังได้มอบใบประกาศนียบัตรให้แก่ผู้ประกอบการที่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรปรับโครงสร้างปั้นนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมอีกด้วย ### PR.DIProm (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สล.กสอ. : ภาพข่าว / รายงาน)
14 ก.พ. 2563