โทรศัพท์ 1358
ดีพร้อม เปิดตัว 101 สตาร์ แชมป์บรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน หวังสร้างมูลค่าเศรษฐกิจด้วยบรรจุภัณฑ์ไทย
ดีพร้อม เปิดตัว 101 สตาร์ แชมป์บรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน หวังสร้างมูลค่าเศรษฐกิจด้วยบรรจุภัณฑ์ไทย
กรุงเทพฯ 28 กุมภาพันธ์ 2565 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานมอบรางวัลและกล่าวแสดงความยินดีแก่ผู้ชนะการประกวดรางวัลการประกวดบรรจุภัณฑ์ไทย ประจำปี 2564 (ThaiStar Packging Awards 2021) พร้อมทั้งแถลงข่าวการจัดงาน ProPak Asia 2022 และการประกวดบรรจุภัณฑ์ไทยประจำปี 2565 (ThaiStar Packaging Awards 2022) ร่วมด้วย นายมนู เลียวไพโรจน์ ประธานบริษัท อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย และนางสาวรุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการภูมิภาคอาเซียน บริษัท อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ร่วมแถลงข่าวในครั้งนี้ โดยมี นายเจตนิพิฐ รอดภัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวรายงาน ในรูปแบบออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน Zoom Meeting และ Facebook Fanpage : กองพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ การจัดกิจกรรมประกวดบรรจุภัณฑ์ไทย (ThaiStar Packaging Awards) เป็นความร่วมมือระหว่าง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการบรรจุภัณฑ์ มาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 50 โดยในปีนี้ จัดขึ้น ภายใต้หัวข้อ “วิถีใหม่ที่ยั่งยืน” (Sustainability for Next Normal) ซึ่งเป็นโจทย์ให้ผู้ส่งผลงานทุกคนได้ท้าทายว่าจะต้องออกแบบอย่างไร ให้เกิดความยั่งยืนได้อย่างแท้จริง และตอบสนองต่อรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คนทั่วโลกที่กำลังเปลี่ยนไปเป็นวิถีแห่ง Next Normal อย่างสมบูรณ์ ซึ่ง นักเรียน นักศึกษา บริษัท ผู้ประกอบการ หน่วยงาน นักออกแบบอิสระ และประชาชนผู้สนใจ สามารถส่งผลงานบรรจุภัณฑ์เข้าประกวดได้ตั้งแต่บัดนี้ ถึงวันที่ 30 เมษายน 2565 นี้ โดยผลงานที่ได้รับรางวัลจะได้รับการพิจารณาให้เป็นตัวแทนประเทศไทย ในการประกวดบรรจุภัณฑ์ ระดับเอเชีย (AsiaStar Awards 2022) และระดับโลก (WorldStar Awards) เพื่อยกระดับมาตรฐานการประกวดบรรจุภัณฑ์ไทยให้ทัดเทียมการประกวดระดับสากล และเพื่อเป็นการพัฒนาการจัดการประกวดบรรจุภัณฑ์ไทยให้เป็นเวทีที่สามารถพัฒนาวงการอุตสาหกรรมไทยได้อย่างแท้จริงต่อไป และในโอกาสนี้ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติมอบรางวัลการประกวดบรรจุภัณฑ์ไทย ประจำปี 2564 (ThaiStar Packaging Award 2021) โดยมีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดทุกประเภทรวมทั้งสิ้น 245 ผลงาน และได้รับรางวัล จำนวนทั้งสิ้น 65 รางวัล ประกอบด้วยประเภทที่ได้รับรางวัล Thaistar Packaging Awards 2021 จำนวน 58 รางวัล รางวัลพิเศษการออกแบบบาร์โค้ดบนบรรจุภัณฑ์ จำนวน 4 รางวัล และรางวัลพิเศษการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จำนวน 3 รางวัล ทั้งนี้ ยังได้มีการมอบรางวัล AsiaStar 2020 จำนวน 24 รางวัล WorldStar Student 2020 และ WorldStar Student 2021 จำนวน 7 รางวัล และ WorldStar Awards 2021 จำนวน 5 รางวัล ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการเชิดชูเกียรติให้เจ้าของผลงานที่ชนะการประกวดแล้ว ยังเป็นการสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทย รวมถึงเป็นการประชาสัมพันธ์ ส่งเสริมและสนับสนุนนักออกแบบบรรจุภัณฑ์ไทยในเชิงธุรกิจต่อเหล่าสมาชิกประเทศในระดับสากล ### PRDIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
01 มี.ค. 2565
ดีพร้อม จัดกิจกรรม DIPROM Financial Literacy เดินหน้าเสริมแกร่งทางการเงินทุกมิติให้ผู้ประกอบการ
ดีพร้อม จัดกิจกรรม DIPROM Financial Literacy เดินหน้าเสริมแกร่งทางการเงินทุกมิติให้ผู้ประกอบการ
กรุงเทพฯ 23 กุมภาพันธ์ 2565 - นายเจตนิพิฐ รอดภัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกเพื่อวางแผนทางการเงินและการบริหารจัดการหนี้ (DIPROM Financial Literacy) ร่วมด้วย นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม (DIPROM) คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และ ผู้ประกอบการ โดยมี นายวรวิทย์ จิรัฐิติเจริญ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่ กล่าวรายงาน ณ ห้องประชุม Prime Hall B โรงแรม เดอไพรม์ แอทรางน้ำ ราชเทวี กิจกรรมดังกล่าว ดีพร้อม ได้ร่วมมือกับสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2564 โดยมุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้ประกอบการได้รับพัฒนาความรู้ด้านการเงินในหลากหลายมิติ ได้แก่ การวางแผนทางการเงิน การบริหารจัดการหนี้ รวมถึงความรู้ด้านธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มโอกาส ในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้แก่ ปัญหาภาระหนี้ ปัญหารายได้ลดลง ปัญหาการขาดสภาพคล่องและเงินทุน และช่วยเชื่อมโยงแหล่งเงินทุน จากสถาบันการเงินต่าง ๆ ให้สถานประกอบการได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน ผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้และให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญทางการเงินในด้านต่าง ๆ อาทิ การเขียนแผนธุรกิจ การบริหารธุรกิจ โรงงานอุตสาหกรรมและทรัพย์สินทางปัญญา การขอสินเชื่อและการวางแผนทาง การเงิน การบัญชีและภาษี และการตลาด เป็นต้น ทั้งนี้ จากการดำเนินกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปี 2564 ดีพร้อมสามารถเชื่อมโยงแหล่งเงินทุนหมุนเวียน ให้แก่ผู้เข้าอบรมในวงเงิน 9.5 ล้านบาท และ จากแหล่งเงินทุนของสถาบันการเงินอื่น ๆ ในวงเงินกว่า 142 ล้านบาท ### PRDIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
24 ก.พ. 2565
ดีพร้อม ปลุกพลังเครือข่าย ดีพร้อมฮีโร่ เสริมแกร่งกลุ่มธุรกิจเพื่อสังคม ตีโจทย์แก้ปัญหาเศรษฐกิจฐานราก ยกระดับชุมชนอยู่คู่อุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน
ดีพร้อม ปลุกพลังเครือข่าย ดีพร้อมฮีโร่ เสริมแกร่งกลุ่มธุรกิจเพื่อสังคม ตีโจทย์แก้ปัญหาเศรษฐกิจฐานราก ยกระดับชุมชนอยู่คู่อุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน
กรุงเทพฯ 22 กุมภาพันธ์ 2565 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธาน พิธีเปิดตัวกิจกรรมการสร้างเครือข่ายผู้นำธุรกิจใหม่ (DIPROM HEROES) ร่วมด้วยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ผู้แทนหน่วยงานภาคีเครือข่าย และ ผู้ประกอบการ ณ ห้องบอลรูม A ชั้น 7 โรงแรม เดอะ เวสทิน แกรนด์ สุขุมวิท กิจกรรมดังกล่าว เป็นการดำเนินงานให้คำปรึกษาแนะนำสำหรับผู้นำเครือข่ายรูปแบบใหม่ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาวิสาหกิจต้นแบบในการสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ให้สามารถบรรเทาปัญหาและฟื้นฟูเครือข่ายเอสเอ็มอี รวมถึงชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยให้ธุรกิจที่มีเทคโนโลยีหรือบริการเข้าไปสนับสนุน แบ่งปัน หรือช่วยเหลือเครือข่ายกับชุมชน ซึ่งการทำงานจะแบ่งกลุ่มเป้าหมายออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1 “ฮีโร่” (Hero) คือ กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs หรือวิสาหกิจชุมชน ที่ทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างมีความคิดสร้างสรรค์ โดยใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และการตลาด ไปปรับใช้ในธุรกิจและสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน และ 2 “แองเจิ้ล” (Angel) คือ องค์กรขนาดใหญ่หรือหน่วยงานที่มีศักยภาพ มาร่วมสนับสนุนธุรกิจของเครือข่ายของกลุ่มฮีโร่ ตั้งแต่ การซื้อขาย ร่วมงาน ให้ทุนร่วมลงทุน หรือ ประชาสัมพันธ์ ซึ่งจะได้ประโยชน์จากการทำงานร่วมกับกลุ่มฮีโร่ ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับการฝึกอบรม ภายใต้กรอบความคิด (Mindset) 3 องค์ประกอบคือ 1) สิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมภิบาล 2) การตลาด 5.0 เทคโนโลยีเพื่อมวลมนุษยชาติ และ 3) แก่นแท้ธุรกิจสตาร์ทอัพ โดยคาดว่าเมื่อจบโครงการผู้เข้าร่วมโครงจะสามารถต่อยอดธุรกิจในรูปแบบใหม่ และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 10 ล้านบาท ### PRDIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
23 ก.พ. 2565
ดีพร้อม ผนึกกำลัง บ.เดลต้าฯ คิกออฟกองทุนนางฟ้าปีที่ 7 พร้อมดึง 3 พันธมิตรเอกชน เปิด Business Camp ติดปีกสตาร์ทอัพไทย
ดีพร้อม ผนึกกำลัง บ.เดลต้าฯ คิกออฟกองทุนนางฟ้าปีที่ 7 พร้อมดึง 3 พันธมิตรเอกชน เปิด Business Camp ติดปีกสตาร์ทอัพไทย
กรุงเทพฯ 21 กุมภาพันธ์ 2565 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “การบริหารจัดการธุรกิจ (Business Camp)” ภายใต้ กิจกรรมเชื่อมโยงแหล่งเงินทุนสําหรับผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่อย่างดีพร้อม (Delta x DIProm Angel Fund) พร้อมร่วมเสวนาในหัวข้อ “ความร่วมมือในการสนับสนุนผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) และแนวทางการพิจารณาให้ทุนประจําปี พ.ศ. 2565” ร่วมด้วย นายจาง ช่าย ซิง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จํากัด (มหาชน) ดร.เมธินี เทียบรัตน์ หัวหน้างานเผยแพร่นวัตกรรม สํานักงานบริหารนวัตกรรม บริษัท เอสซีจี ซีเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จํากัด นายชาล เจริญพันธ์ ผู้บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท ฮับบา จํากัด โดยมี นายเจตนิพิฐ รอดภัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ผู้ประกอบการ และสื่อมวลชนเข้าร่วมงานดังกล่าว ณ The Grounds ชั้น 31 อาคาร G Tower ถนนพระราม 9 การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการดังกล่าว เป็นการบ่มเพาะทักษะทางธุรกิจอย่างเข้มข้น เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ในภาคปฏิบัติเกี่ยวกับการนำเสนอแผนธุรกิจที่สามารถนำไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของอุตสาหกรรมและนวัตกรรมที่ได้พัฒนาขึ้น โดยกิจกรรมดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ประกอบการพัฒนา 6 ทักษะทางธุรกิจ เพื่อเตรียมพร้อมก่อนเข้าสู่แหล่งเงินทุนคุณภาพ ประกอบด้วย การวางองค์ประกอบและโมเดลธุรกิจ การออกแบบนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ การออกแบบการสร้างรายได้แบบต่าง ๆ วิเคราะห์การวางแผนด้านการเงิน การทดสอบตลาด การสื่อสารและการนำเสนอผลงานเพื่อให้เกิดการตัดสินใจร่วมลงทุน โดยได้รับความร่วมมือจากบริษัท เอสซีจี ซีเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด และบริษัท ฮับบา จำกัด ร่วมเป็นที่ปรึกษาในการช่วยเพิ่มพูนองค์ความรู้และทักษะต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจให้กับสตาร์ทอัพก่อนการนำเสนอโมเดลธุรกิจต่อแหล่งทุนในกิจกรรม Pitching Day ยิ่งไปกว่านั้นได้มีความร่วมมือกับ บริษัท มีเดีย แท็งค์ จำกัด (Shark Tank Thailand) เพื่อส่งต่อสตาร์ทอัพเข้าร่วมรายการให้สามารถสร้างโอกาสในการเชื่อมโยงไปสู่นักลงทุนรายอื่น ๆ ได้เพิ่มขึ้น โดยในปี 2565 ดีพร้อม ได้ร่วมมือกับบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 ผ่านโครงการเชื่อมโยงแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่อย่างดีพร้อม หรือ Delta X DIProm Angel Fund เพื่อพัฒนาและส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น หรือสตาร์ทอัพให้มีขีดความสามารถที่สูงขึ้น และสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกด้วยการใช้นวัตกรรมหรือองค์ความรู้ในอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ได้มีความร่วมมือการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจใหม่ให้เชื่อมโยงแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่ (Angel Fund) มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งให้การสนับสนุนเงินทุนให้เปล่าสตาร์ทอัพไปแล้วจำนวน 183 ทีม และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจสูงถึง 650 ล้านบาท ซึ่งได้สอดรับกับนโยบาย “DIProm CARE: ดีพร้อมแคร์ ซึ่ง 2 ใน 4 ด้านหลักที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่ คือ 1. ด้านการพัฒนาและยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ภายใต้สถานการณ์ทุกการเปลี่ยนแปลง (Reformation) โดยการปฏิรูปกลไกการดำเนินงานให้สอดคล้องกับยุค New Normal และ 2. ด้านการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่มีความโดดเด่นในแต่ละด้านทั้งภาครัฐและเอกชน (Engagement) มาช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการใหม่ให้มีการเติบโตที่ดียิ่งขึ้น โดยมุ่งเน้นการเชื่อมโยงพันธมิตรต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมและเติมเต็มการพัฒนาให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ### PRDIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
21 ก.พ. 2565
“อธิบดีณัฐพล” เยี่ยมชมบูธและให้กำลังใจผู้ประกอบการ คพอ. ภายในงาน "DIPROM MOTOR SHOW 2022"
“อธิบดีณัฐพล” เยี่ยมชมบูธและให้กำลังใจผู้ประกอบการ คพอ. ภายในงาน "DIPROM MOTOR SHOW 2022"
จ.ลำปาง 15 กุมภาพันธ์ 2565 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เยี่ยมชมบูธและให้กำลังใจผู้ประกอบการ คพอ. ภายในงาน "DIPROM MOTOR SHOW 2022" ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าอุตสาหกรรมภาคเหนือ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Meeting, Industrial Conference and Exhibition Center : DIPROM MICE CENTER) อำเภอเกาะคา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมคณะผู้บริหารดีพร้อม เยี่ยมชมและให้กำลังใจผู้ประกอบการ คพอ. ที่เข้าร่วมจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าภายในงาน "DIPROM MOTOR SHOW 2022" ระหว่างวันที่ 9 - 16 กุมภาพันธ์ 2565 โดยมีผู้ประกอบการ คพอ. จากทั่วประเทศเข้าร่วม จำนวน 40 ร้านค้า ประกอบด้วย สินค้าอุปโภคบริโภค ของตกแต่งบ้าน อาหารแปรรูป และของใช้เบ็ดเตล็ด รวมถึงผู้ประกอบการที่มีการปรับตัวเนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ด้วยการปรับเปลี่ยนธุรกิจ พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส เพื่อที่จะสามารถดำเนินธุรกิจได้ต่อไป อาทิ ผู้ประกอบการที่หันมารับซ่อม สร้าง และดัดแปลงรถไฟฟ้า ซึ่งจากเดิมรับตัดเย็บเสื้อผ้า รวมถึงผู้ประกอบการที่หันมาขายต้นกระท่อม ซึ่งจากเดิมขายเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน แต่พอเจอผลกระทบจากโรคโควิด-19 จึงปรับเปลี่ยนธุรกิจ และสามารถสร้างรายได้ได้มากกว่าเดิม ### PRDIProm (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
17 ก.พ. 2565
อธิบดีณัฐพล ประชุมนโยบายการใช้โลโก้ "ดีพร้อม" เร่งสร้างความจดจำต่อสาธารณชน
อธิบดีณัฐพล ประชุมนโยบายการใช้โลโก้ "ดีพร้อม" เร่งสร้างความจดจำต่อสาธารณชน
จ.ลำปาง 15 กุมภาพันธ์ 2565 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานการประชุมผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ร่วมด้วย นายภาสกร ชัยรัตน์ และนางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม ณ ห้องประชุม ชั้น 1 ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าอุตสาหกรรมภาคเหนือ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Meeting, Industrial Conference and Exhibition Center : DIPROM MICE CENTER) อำเภอเกาะคา และในรูปแบบออนไลน์ผ่านระบบแอปพลิเคชัน Zoom Meeting โดยอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้แนวทางรูปแบบการนำตราสัญลักษณ์กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม (DIPROM) และการปรับเปลี่ยนชื่อโครงการ/กิจกรรมให้มีความสอดคล้องและสื่อถึงความเป็นดีพร้อม โดยมีรายละเอียดสำคัญ ดังนี้ 1. การปรับเปลี่ยนชื่อโครงการ/กิจกรรม ขอให้ทุกหน่วยงานปรับเปลี่ยนโดยการนำชื่อดีพร้อมไปใส่ในชื่อทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ซึ่งต้องมีความหมายที่สอดคล้องและสื่อสารได้ หากไม่สามารถทำได้ให้ใช้ชื่อกิจกรรมเดิม แต่ขอให้นำชื่อกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ไปต่อท้ายชื่อโครงการ/กิจกรรม 2. ให้ทุกโครงการ/กิจกรรมใช้โลโก้ของกรมฯ เท่านั้น รวมถึงขอให้งดใช้โลโก้ของที่ปรึกษาซึ่งเป็นผู้รับจ้างของกรมฯ ทุกกรณี ยกเว้นแต่เป็นหน่วยงานที่ร่วมจัดงาน หรือ มีการบูรณาการความร่วมมือกับทางกรมฯ เท่านั้น จึงสามารถใช้โลโก้คู่กันได้ 3. โครงการ/กิจกรรมที่มีโลโก้ของตนเอง ขอให้ใช้เพียงโลโก้กรมฯ เท่านั้น ยกเว้นที่มีบุคคลภายนอกนำไปใช้ด้วยสามารถใช้ได้เหมือนเดิม ประกอบด้วย CIV คพอ. Thailand Textiles Tag ThaiStar 4. โครงการ/กิจกรรมที่มีการอบรม หรือสัมมนาระหว่างการจัดฝึกอบรม หรือ สัมมนาขอให้ใช้โลโก้กรมฯ เท่านั้น 5. สำหรับในส่วนของโครงการ/กิจกรรมอื่น ๆ ที่ยังไม่มีโลโก้ให้ใช้โลโก้กรมฯ เท่านั้น 6. ชื่อศูนย์ ITC และ Thai-IDC จะเหลือเพียงเฉพาะส่วนกลาง และให้นำชื่อดีพร้อมเข้าไปใส่ในชื่อเดิม 7. สำหรับส่วนภูมิภาคให้ใช้รวมกันเป็นชื่อ DIPROM CENTER (ดีพร้อมเซ็นเตอร์) 1-11 เท่านั้น (IPC+ITC+Thai-IDC) 8. ให้ใช้โลโก้ ดีพร้อม แทน โลโก้เดิม ITC และ Thai-IDC ไม่ให้ใช้คู่กัน 9. ให้ที่ปรึกษา/ผู้รับจ้างใส่เสื้อดีพร้อม เพื่อให้รู้ว่าเป็นโครงการ/กิจกรรมของกรมฯ และ 10. การขอใช้โลโก้ดีพร้อมจาก ผปก./หน่วยงานต่าง ๆ จะเป็นการแสดงให้เห็นว่าได้รับบริการจากดีพร้อม ไม่ได้เป็นการรับรองคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์แต่อย่างใด ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
15 ก.พ. 2565
“อธิบดีณัฐพล” เยี่ยมชมและให้กำลังใจทีมดีพร้อม ศว.กสอ. ในลำปางเซรามิกแฟร์
“อธิบดีณัฐพล” เยี่ยมชมและให้กำลังใจทีมดีพร้อม ศว.กสอ. ในลำปางเซรามิกแฟร์
จ.ลำปาง เมื่อเร็วๆ นี้ (14 กุมภาพันธ์ 2565) - ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ลงพื้นที่เยี่ยมชมและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ดีพร้อมที่ร่วมออกบูธภายในงาน Lampang Ceramic World Class หรือ ลำปางเซรามิกแฟร์ ครั้งที่ 34 ณ บริเวณลานอเนกประสงค์ด้านหน้าห้างไทวัสดุ สาขาลำปาง อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมคณะผู้บริหารดีพร้อม เยี่ยมชมและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ดีพร้อม ณ บูธของศูนย์วิจัยและพัฒนาวัสดุอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ กรมส่งเสริมอตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (ศว.กสอ.) ภายในงานลำปางเซรามิกแฟร์ ซึ่งทาง ศว.กสอ. ได้ร่วมบูรณาการความร่วมมือในเชิงพื้นที่กับทางจังหวัดลำปางและเครือข่ายภาครัฐและเอกชน โดยการร่วมออกบูธเพื่อให้บริการด้านวิชาการและให้คำปรึกษาแนะนำเบื้องต้นเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเซรามิก การให้บริการด้านสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียน การสาธิตการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์เซรามิก รวมถึงการให้บริการของศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมดีพร้อม หรือ ศูนย์ ITC DIPROM นอกจากนี้ อธิบดีณัฐพล ยังได้เยี่ยมชมและให้กำลังใจผู้ประกอบการ คพอ. และ SMEs ที่ได้รับบริการจากดีพร้อม ซึ่งได้เข้าร่วมออกบูธจำหน่ายสินค้าเพื่อเป็นการทดสอบตลาดภายในงานครั้งนี้อีกด้วย ทั้งนี้ งานลำปางเซรามิกแฟร์ ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวและเป็นมหกรรมสินค้าแห่งภูมิปัญญาประจำท้องถิ่นที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดลำปาง โดยเป็นการเผยแพร่เชิดชูอัตลักษณ์ของจังหวัดลำปางให้สมกับที่ได้รับการยกย่องให้เป็น "ลำปาง-นครแห่งเมืองเซรามิก" รวมถึงเพื่อประชาสัมพันธ์สินค้าเซรามิกของ จังหวัดลำปาง ให้ได้เป็นที่รู้จักแพร่หลายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ถือได้ว่าเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวให้กับจังหวัด อีกทั้ง ยังเปิดโอกาสให้เจ้าของโรงงานเซรามิกได้นำสินค้าผลิตภัณฑ์มาจัดแสดงออกสู่สายตาลูกค้า ซึ่งจะทำให้เกิดการจับคู่ทางธุรกิจเกิดการเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์จากชุมชนออกสู่ตลาดทั้งในประเทศและตลาดสากล เพื่อเตรียมการพัฒนาความพร้อมแก่ผู้ประกอบการให้สามารถก้าวสู่ระบบตลาดการค้าเสรีได้อย่างภาคภูมิ มั่นคงและยั่งยืน โดยงานดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 - 22 กุมภาพันธ์ 2565 ตั้งแต่เวลา 09.00 - 21.00 น. ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน
15 ก.พ. 2565
ทีมโต๊ะญี่ปุ่น (DIPROM Japan Desk) ชวนเที่ยวงานดีพร้อมมอเตอร์โชว์ ระหว่างวันที่ 9 - 16 กุมภาพันธ์ 2565 ณ  ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าอุตสาหกรรมภาคเหนือ
ทีมโต๊ะญี่ปุ่น (DIPROM Japan Desk) ชวนเที่ยวงานดีพร้อมมอเตอร์โชว์ ระหว่างวันที่ 9 - 16 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าอุตสาหกรรมภาคเหนือ
จ.ลำปาง เมื่อเร็ว ๆ นี้ (14 กุมภาพันธ์ 2565) - บุคลากรประจำโต๊ะญี่ปุ่น กสอ. (DIPROM Japan Desk) นายเท็ตสึยะ อิโนะอุเอะ ผู้แทนองค์การเพื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และนวัตกรรมภูมิภาคแห่งประเทศญี่ปุ่น (SMRJ) และนายนาโอกิ โทคุทสึ ผู้แทนรัฐบาลท้องถิ่นจังหวัดวากายามะ ประเทศญี่ปุ่น เยี่ยมชมงาน DIPROM MOTOR SHOW 2022 บริเวณโซนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ พร้อมทั้งเชิญชวนผู้ที่สนใจเข้าเที่ยวชมงานในครั้งนี้ ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าอุตสาหกรรมภาคเหนือ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM MICE Center) อำเภอเกาะคา ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน
15 ก.พ. 2565
“อธิบดีณัฐพล” นำคณะดีพร้อมลงพื้นที่ชุมชนหนองเงือก ดึงอัตลักษณ์พื้นถิ่นสู่ DIPROM CIV
“อธิบดีณัฐพล” นำคณะดีพร้อมลงพื้นที่ชุมชนหนองเงือก ดึงอัตลักษณ์พื้นถิ่นสู่ DIPROM CIV
จ.ลำพูน 14 กุมภาพันธ์ 2565 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นางจันทนา ไวยาวัจมัย อุตสาหกรรมจังหวัดลำพูน คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ดีพร้อม (DIPROM CIV: DIPROM Creative Industry Village) ณ ชุมชนบ้านหนองเงือก ตำบลแม่แรง อำเภอป่าซาง โดยมี นายสุรสิทธิ์ ชัยอุปาระ ประธานชุมชนหมู่บ้านหนองเงือก ให้การต้อนรับและนำเยี่ยมชมวิถีชุมชนและการดำเนินงานของชุมชน “ชุมชนบ้านหนองเงือก” เป็นชุมชนได้รับการสนับสนุนจากดีพร้อมผ่านหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ดีพร้อม (DIPROM CIV: DIPROM Creative Industry Village) จากศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 จ.เชียงใหม่ หรือ ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 1 โดยชุมชนดังกล่าวยังคงอนุรักษ์วิถีการดำเนินชีวิตที่เป็นตัวตนของท้องถิ่นเอาไว้อย่างมั่นคง มีทุนทางวัฒนธรรมที่โดดเด่น ได้แก่ วิถีชีวิตชาวยองและประเพณีต่าง ๆ ที่ยังคงมีการสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นและความโดดเด่นในการนำเสนอผ่านสื่อต่าง ๆ ได้ดี นอกจากนี้ ยังมีวัดหนองเงือกที่มีประวัติศาสตร์และความเป็นมาที่ชัดเจนให้ได้ศึกษาเรียนรู้ ขณะเดียวกัน ชุมชนหนองเงือก ยังมีผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ที่ชัดเจน ประกอบด้วย 1. รองเท้ายอง เป็นผลิตภัณฑ์งานฝีมือจากยางรถยนต์มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์รองเท้า โดยสอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยในการพัฒนา 3 ด้าน คือ เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) หรือโมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยการออกแบบผลิตภัณฑ์และการนำวัตถุดิบที่ผ่านการผลิตและบริโภคแล้วเข้าสู่กระบวนการแปรสภาพเพื่อกลับมาใช้ใหม่ (Recycle, Upcycle) ซึ่งยาง 1 เส้น ผลิตเป็นรองเท้าได้ 16 คู่ และมียอดการสั่งจองผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างช้อปปี้และลาซาด้า โดยทางดีพร้อมได้เข้าไปช่วยพัฒนารูปแบบแพทเทิร์นของรองเท้าให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ามากขึ้น 2. ผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายทอมือ ซึ่งชุมชนดังกล่าวถือเป็นแหล่งผลิตผ้าฝ้ายทอมือใหญ่ที่สุดของประเทศ เพราะมีจุดเด่นผ้าฝ้ายทอมือแบบโบราณ นอกจากนี้ ยังมีศูนย์รวมผลิตภัณฑ์เครือข่ายกลุ่มทอผ้าหัตถกรรมพื้นบ้านอำเภอป่าซางขึ้นในหมู่บ้าน รวมทั้งมีที่พักโฮมสเตย์ในชุมชนที่ได้มาตรฐานจำนวนหลายหลังเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่แวะเวียนกันมาซึมซับอัตลักษณ์พื้นถิ่นแห่งนี้ ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
15 ก.พ. 2565
แม่ทัพดีพร้อม นำคณะผู้บริหารลงพื้นที่เมืองล้านนา เยี่ยมชมผลสำเร็จชุมชนออนใต้ ดึงอัตลักษณ์ชุมชนอัพเกรดสู่การสร้าง แบรนด์อย่างยั่งยืน
แม่ทัพดีพร้อม นำคณะผู้บริหารลงพื้นที่เมืองล้านนา เยี่ยมชมผลสำเร็จชุมชนออนใต้ ดึงอัตลักษณ์ชุมชนอัพเกรดสู่การสร้าง แบรนด์อย่างยั่งยืน
จ.เชียงใหม่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ลงพื้นที่เยี่ยมชมความเข้มแข็งการท่องเที่ยววิถีชุมชนและรับฟังการบรรยายสรุปภาพรวมของชุมชนออนใต้ภายใต้โครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ดีพร้อม (DIPROM CIV : DIPROM Creative Industry Village) จาก นางสาวฉัตรรุ่ง ประกอบไวทยกิจ ประธานผู้นำชุมชน โดยมี นายสมศักดิ์ วงค์แก้วแปง นายกเทศมนตรีตำบลออนใต้ ให้การต้อนรับ ณ ชุมชนออนใต้ ตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้เยี่ยมชมจุดต่าง ๆ ตามเส้นทางการท่องเที่ยวของชุมชนออนใต้ อาทิ กลุ่มตัดเย็บกระเป๋าผ้า ออนใต้ฟาร์ม มัลเบอร์รี่ฟาร์ม อยากกาแฟ โดยอธิบดีณัฐพลได้เสนอแนะให้แนวทางการพัฒนาชุมชนออนใต้ในการสร้างแบรนด์ของชุมชนให้มีความเข้มแข็ง การนำเสนออัตลักษณ์ของออนใต้ให้นักท่องเที่ยวรู้จักกับแบรนด์ออนใต้ชัดเจนมากกว่าหมู่บ้าน CIV รวมถึงการจดลิขสิทธิ์ตราสัญลักษณ์ปลา 3 ตัว ซึ่งเป็นแบรนด์ของออนใต้ ตลอดจนการสร้างมาตรฐานอุตสาหกรรมเอส หรือ มอก.เอส ให้กับผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ในชุมชน เพื่อให้ผู้ประกอบการในชุมชนให้มีมาตรฐานเดียวกัน ทั้งนี้ ปัจจุบันชุมชนออนใต้ได้นำมาตรฐาน มอก.เอส การบริการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เพื่อการท่องเที่ยว (Creative Industrial Village Services for Tourism) มาประยุกต์ใช้กับชุมชน โดย มอก.เอส เป็นมาตรฐานความปลอดภัยและคุณภาพของผลิตภัณฑ์และบริการของผู้ประกอบการ ซึ่งการนำทุกจิ๊กซอว์ที่เป็นของดี ของเด่น ของชุมชนมารวมกันเป็นรูปแบบธุรกิจท่องเที่ยวชุมชนที่มาตรฐาน เพื่อยกระดับธุรกิจมาตรฐานการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพที่สามารถตอบสนองความต้องการด้านการท่องเที่ยวของลูกค้าได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งมีผู้ประกอบการที่ได้รับ มอก.เอส จำนวน 6 ราย จากทั้งหมด 44 ราย ของชุมชน “ชุมชนออนใต้” เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีการค้นพบหลักศิลาจารึกสมัยล้านนา ซึ่งมีทุนทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่ยังคงรักษาไว้ได้ในปัจจุบัน นับว่าเป็นชุมชนเข้มแข็งตัวอย่างที่มีการนำเรื่องราวประวัติศาสตร์ในพื้นที่ ผนวกกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่มาสร้างเป็นจุดขายในการดึงดูดนักท่องเที่ยว เชิงวัฒนธรรม พร้อมกับการนำผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่เดิมในท้องถิ่น มาพัฒนาและต่อยอดด้วยแนวทางสร้างสรรค์ จากการออกแบบ ปรับปรุงผลิตภัณฑ์ใหม่ให้สอดคล้องกับยุคสมัยจนประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ ยังเป็น 1 ในชุมชนต้นแบบหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ดีพร้อม (DIPROM CIV: DIPROM Creative Industry Village) ที่ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม (DIPROM) โดยศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 จ.เชียงใหม่ ในการออกแบบโลโก้และสโลแกนของชุมชน ที่ว่า “พันนาภูเลา ร้อยเรื่องเล่า เมืองเก่าออนใต้” ซึ่งสื่อถึงอัตลักษณ์และวีถีของชุมชน การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ ด้วยการประยุกต์ใช้ทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด รวมถึงการพัฒนาและเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัด เนื่องจากชุมชนดังกล่าวเป็นชุมชนที่มีทรัพยากรการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและยังคงรักษาวิถีชีวิตพื้นบ้านของชุมชนทั้ง 11 หมู่บ้านไว้ ซึ่งเป็นเสน่ห์อย่างดีที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือน อีกทั้ง ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวทั้งทางประวัติศาสตร์และธรรมชาติมากมาย อาทิ วัดป่าตึง วัดที่มีชื่อเสียงเรื่องหลวงปู่หล้าตาทิพย์และการเรียนรู้ประเพณีพื้นบ้านผ่านภาพวาดในวัด ดอยม่อนจิ๋ง ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่งดงามที่ได้รับการขนานนามว่า “ฟูจิออนใต้” และเป็นจุดชมวิวที่มองเห็นตัวอำเภอแม่ออน นอกจากนี้ ออนใต้ยังเป็นที่รวมของศิลปวัฒนธรรมล้ำค่า อาทิ สะล้อ ซอ ซึง การฟ้อนต่าง ๆ ซึ่งชาวบ้านทุกหมู่ยังมีการสืบทอดประเพณีวัฒนธรรมล้านนาโบราณ ขณะเดียวกัน ยังมีกิจกรรมและผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อของชุมชนออนใต้ที่นักท่องเที่ยวสามารถร่วมกิจกรรมได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการอีดฝ้าย (ปั่นด้าย) ทอผ้า การจักสานหวาย-ใบลาน การนวดแผนไทย และทำสมุนไพรเพื่อสุขภาพ กิจกรรมขันโตก ชมฟ้อน การทำบุญทานขันข้าวที่วัดป่าตึง การปั้นถ้วย ตลอดจนผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ขึ้นชื่อ อาทิ เครื่องเซรามิกลายปลาคู่นก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของชุมชน ข้าวแต๋นน้ำแตงโมสูตรกวนน้ำตาลในตัว น้ำพริกรสเด็ดจากกลุ่มแม่บ้านป่าตึง ชาสมุนไพรรางจืดลุงเกษมสำหรับให้นักท่องเที่ยวมาสัมผัสเมื่อได้มาเยือนที่แห่งนี้ ### PRDIP (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม) รายงาน / ภาพข่าว
15 ก.พ. 2565