“ดีพร้อม” เปิดทางอุตฯ มุ่ง บีซีจี 12 อุตสาหกรรมเอสเคิร์ฟโต พร้อมสตาร์ท 50 ธุรกิจ "อัพไซคลิ่ง" ปั้นผลิตภัณฑ์จากของเสีย สู่ของสวย สร้างมูลค่าใหม่ในตลาดสินค้ารักษ์โลก
กรุงเทพฯ 16 ธันวาคม 2564 - นายเจตนิพิฐ รอดภัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานเปิดโครงการสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Creative Value Design in Circular Economy Fashion & Lifestyle) โดยมี นางวันเพ็ญ รัตนกังวาล ผู้อำนวยการกองพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม กล่าวรายงาน ณ พื้นที่ Siam Smile Space ชั้น 4 ศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี ปทุมวัน รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เร่งขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยการลดสิ่งของเหลือใช้จากกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรม และใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม ได้เร่งพัฒนาผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมดังกล่าวให้มีโอกาสเติบโตในช่วงที่วิถีชีวิตของคนทั่วโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง พร้อมผลักดันโอกาสในด้านการเข้าถึงองค์ความรู้ ช่องทางการตลาด รวมทั้งนำนวัตกรรมมาต่อยอดของเหลือใช้ หรือ ธุรกิจที่ลดการใช้ทรัพยากร - พลังงาน เพิ่มมูลค่าบนช่องทางการค้าให้มากขึ้น ดังนั้น ดีพร้อม จึงได้จัดทำโครงการสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Creative Value Design in Circular Economy Fashion & Lifestyles เพื่อส่งเสริมการนำความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และการออกแบบมาใช้ในการผลิตสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ เร่งผลักดันการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ด้าน “อัพไซคลิ่ง (Upcycling)” ซึ่งเป็นแนวทางการแปรรูป – ผสมผสานการใช้ซ้ำ (Reuse) และการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) สิ่งเหลือใช้จากการผลิตสินค้าทั้งภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการและการท่องเที่ยว รวมไปถึงวัสดุเหลือใช้จากการอุปโภคและบริโภคในท้องถิ่น และวัสดุรีไซเคิลอื่น ๆ ให้กลายเป็นสินค้าหรือบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม เพื่อเจาะตลาดธุรกิจและบริการรักษ์โลกที่ขณะนี้ผู้บริโภคให้ความสำคัญและมีอัตราการใช้จ่ายสินค้าที่มีความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมในปริมาณที่สูง สำหรับโครงการนี้จะคัดเลือกกลุ่ม SMEs นิติบุคคล หรือ บุคลากรต่าง ๆ เช่น ทายาทธุรกิจ พนักงานในอุตสาหกรรมแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ อุตสาหกรรมเกษตร - อาหารแปรรูป และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์อื่น ๆ มาร่วมบ่มเพาะกลยุทธ์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการจากของเหลือใช้ปรับให้เป็นแบรนด์ที่รู้จักในท้องตลาด สามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ใหม่ ๆ ได้ เช่น การอยู่อาศัย การบริโภค การทำงาน การนันทนาการ ฯลฯ รวมถึงปั้นผู้นำเทรนด์ (TrendSetter) ในด้านการออกแบบที่คำนึงถึงอรรถประโยชน์และสิ่งแวดล้อมในสาขาอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้ไม่น้อยกว่า 50 ราย ซึ่งผู้ที่สนใจเข้าร่วมในโครงการดังกล่าว สามารถสมัครได้ตั้งแต่วันนี้ ถึง 31 ธันวาคม 2564 ผ่านช่องทาง www.diprom.go.th หรือ facebook.com/dipromindustry” และในโอกาสนี้ ดีพร้อม ได้มอบโล่รางวัลและเกียรติบัตรให้แก่ตัวแทนผู้เข้าร่วมโครงการ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่สนใจต่อไป ### PR.DIProm (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
17 ธ.ค. 2564
“ดีพร้อม” เร่งเครื่องส่งออกเอสเอ็มอีไทย เสริมแกร่งฮับ CLMV
กรุงเทพฯ 16 ธันวาคม 2564 - นายเจตนิพิฐ รอดภัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานเปิดกิจกรรมนำเสนอแผนงาน “พิชิตตลาดส่งออก CLMV ด้วยการค้าออนไลน์ในยุคโควิด” ภายใต้ กิจกรรมช่วย SMEs ฝ่าวิกฤตโควิด นำธุรกิจไทย บุกตลาดใน CLMV โดยมี นายวรวิทย์ จิรัฐิติเจริญ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม กล่าวรายงาน ณ ห้องประชุมโซน A ชั้น 6 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 ราชเทวี รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบกับวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการปิดกั้นการขนส่งและการเดินทางระหว่างประเทศ พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปในการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ ทำให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม เห็นถึงความสำคัญในการเร่งผลักดันผู้ประกอบการให้ไปสู่ยุคความปกติใหม่ที่พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงแบบพลวัตรของโลกและการเข้ามาเป็นปัจจัยสำคัญของธุรกิจดิจิทัล จึงได้จัดกิจกรรมนำเสนอแผนงาน “พิชิตตลาดส่งออก CLMV ด้วยการค้าออนไลน์ในยุคโควิด” เพื่อส่งเสริมความรู้ด้านดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง (Digital Marketing) สำหรับการขยายตลาดในประเทศ CLMV ให้กับ SMEs ต่อไป สำหรับกิจกรรมนำเสนอแผนงาน “พิชิตตลาดส่งออก CLMV ด้วยการค้าออนไลน์ในยุคโควิด” ผู้ประกอบการสามารถนำความรู้ในการใช้เครื่องมือดิจิทัลประเภท Social Media เพื่อทำการตลาดแบบ Online ซึ่งใช้ต้นทุนไม่มาก แต่สามารถเจาะตลาดกลุ่มเป้าหมายในต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงสามารถใช้เครื่องมือดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง หรือ Facebook ในการขยายตลาดไปยังกลุ่มประเทศ CLMV ได้ด้วยตนเอง ทั้งนี้ จ ากการใช้ Facebook ในการทำตลาดในระหว่างโครงการ มีคู่ค้าที่มีศักยภาพในประเทศ CLMV ที่สนใจในผลิตภัณฑ์และสนใจเป็นตัวแทนจำหน่ายให้กับผู้ประกอบการไทยในตลาด CLMV ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจาธุรกิจรวมทั้งสิ้น 35 ราย และสามารถสร้างยอดขายในต่างประเทศได้ในระหว่างการอบรมเชิงปฏิบัติมูลค่ากว่า 6 แสนบาท และคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศ CLMV ได้อย่างน้อย 10 ล้านบาท ### PR.DIProm (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
17 ธ.ค. 2564
นรม. มอบ 63 รางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี 2564 พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยสู่ความมั่งคั่งและยั่งยืน
กรุงเทพฯ 13 ธันวาคม 2564 - พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีมอบรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี พ.ศ. 2564 (The Prime Minister’s Industry Award 2021) โดยมี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวรายงาน พร้อมด้วย นายธีระยุทธ วานิชชัง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม นายกฤชนนท์ อัยยปัญญา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม คณะผู้บริหาร ข้าราชการกระทรวงอุตสาหกรรม สื่อมวลชน และผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม และในโอกาสนี้ นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายภาสกร ชัยรัตน์ นายเจตนิพิฐ รอดภัย และนางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ผู้บริหาร และข้าราชการกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม เข้าร่วมในพิธีดังกล่าว ณ ห้องมัฆวานรังสรรค์ สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต พิธีมอบรางวัลอุตสาหกรรม (The Prime Minister’s Industry Award) จัดขึ้นโดยกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน นับเป็นปีที่ 29 ซึ่งรางวัลอุตสาหกรรมนี้ เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อสร้างขวัญกำลังใจและประกาศเกียรติคุณเชิดชูเกียรติผู้ประกอบการทุกระดับที่มีความคิดริเริ่ม มีความวิริยะอุตสาหะ การสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ ตลอดจนมีความเป็นเลิศในแต่ละด้านตามประเภทรางวัลอุตสาหกรรมที่กำหนด ซึ่งได้ดำเนินการตามแนวนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมและสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมของประเทศให้มีศักยภาพทั้งในด้านพลังงาน เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อลดต้นทุนของผู้ประกอบการ การยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าเพื่อให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และสามารถแข่งขันได้ในเวทีการค้าโลก โดยมีเกณฑ์การพิจารณาที่เข้มข้นในการคัดเลือกผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัลในแต่ละปี เพื่อให้สถานประกอบการพัฒนาธุรกิจ บุคลากร สร้างทักษะ ปรับปรุง และพัฒนาองค์ความรู้ด้าน ต่างๆ ให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน และอนาคต สำหรับในปีนี้มีสถานประกอบการที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกและได้รับรางวัล ประจำปี 2564 รวมจำนวนทั้งสิ้น 63 รางวัล ประกอบด้วย 3 กลุ่ม ดังนี้ รางวัลกลุ่มที่ 1 ได้แก่ รางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม จำนวน 1 รางวัล ได้แก่ บริษัท มาบตาพุดโอเลฟินส์ จำกัด ซึ่งรางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยมนี้ เป็นการตัดสินจากสถานประกอบการที่เคยได้รับรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่นมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ประเภท และเป็นสถานประกอบการที่มีการพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีมาตรฐานการผลิตในระดับสากล และมีความเป็นเลิศทั้งในด้านการผลิต การตลาด และการลงทุน มีการนำความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมสมัยใหม่มาใช้ในการเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจของตนเอง และสามารถสร้างการพัฒนาให้กับอุตสาหกรรมในภาพรวมอย่างชัดเจน รางวัลกลุ่มที่ 2 ได้แก่ รางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น แบ่งเป็น 9 ประเภท จำนวน 37 รางวัล และ รางวัลกลุ่มที่ 3 รางวัลอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมดีเด่น แบ่งเป็น 5 ประเภท จำนวน 25 รางวัล จากจำนวนผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกทั้งสิ้น 332 ราย ทั้งนี้ รางวัลอุตสาหกรรมทุกประเภท ล้วนเป็นส่วนสำคัญในการสร้างรากฐานภาคอุตสาหกรรมไทยให้มีความแข็งแกร่ง พัฒนาผู้ประกอบการให้มีศักยภาพสามารถแข่งขันได้ในเวทีการค้าโลก และสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในการส่งเสริมและสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมไทยให้ก้าวหน้า พร้อมทั้งสร้างความเชื่อมั่นในสินค้าไทยให้เป็นที่ยอมรับในตลาดสากล ขณะเดียวกัน กระทรวงอุตสาหกรรมมุ่งหวังให้มีสถานประกอบการสมัครเข้ารับการพิจารณาคัดเลือกให้มากยิ่งขึ้นไปทุก ๆ ปี เพื่อให้เกิดการแข่งขันในการพัฒนามาตรฐานในด้านต่าง ๆ เพื่อยกระดับขีดความสามารถและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางการค้า ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการเจริญเติบโตของประเทศโดยรวมต่อไป ### PR.DIProm (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
14 ธ.ค. 2564
กระทรวงอุตฯ ดึงผู้ประกอบการพื้นที่อีสานกว่า 100 ร้านค้า ร่วมทดสอบตลาด “เอิ้นมา BUY สไตล์อีสาน” คาดสร้างรายได้หมุนเวียนในพื้นที่กว่า 5 ล้านบาท
จ.อุดรธานี 10 ธันวาคม 2564 – นายจุลพงษ์ ทวีศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดงาน “เอิ้นมา BUY สไตล์อีสาน” I-San Fashion Design Week ร่วมด้วยนายภาสกร ชัยรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นางสาวนิลเนตร โลหะพจน์พิลาศ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 5 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ศภ.5 กสอ.) นายรุ่งโรจน์ อิฐรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 7 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ศภ.7 กสอ.) คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม และผู้แทนจากหน่วยงานภาคีเครือข่าย นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจาก นายถาวอน สีหาพม รองกงสุลใหญ่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ณ ขอนแก่น นายเหงี้ยน หง็อก เหียบ กงสุลสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามประจำจังหวัดขอนแก่น โดยมี นายจำรัส กังน้อย รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวต้อนรับ และ นายติณห์ เจริญใจ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 4 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ศภ.4 กสอ.) กล่าวรายงาน ณ ลานโปรโมชั่น ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา อ.เมืองอุดรธานี กิจกรรมงาน “เอิ้นมา BUY สไตล์อีสาน” I-San Fashion Design Week เป็นการดำเนินงานภายใต้โครงการยกระดับผ้าทอมืออัตลักษณ์อีสานสู่สากล โดยมุ่งให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการสามารถนำความรู้ที่ได้มาปรับใช้ในการพัฒนาธุรกิจทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ในสาขาแฟชั่นผ้าและเครื่องแต่งกายเกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ และตรงความต้องการของกลุ่มลูกค้า ซึ่งกิจกรรมดังกล่าว ถือเป็นการทดสอบตลาดงานแรกในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลังจากการเปิดประเทศ โดยเป็นการบูรณาการร่วมกันของศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 4-7 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มองค์ความรู้ในการใช้วัตถุดิบและภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ามาส่งเสริมการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงเครือข่าย รวมถึงพัฒนาผ้าทอมืออีสานซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่มีอัตลักษณ์ เพื่อเพิ่มมูลค่าและรองรับความต้องการของตลาด พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการกลุ่มผลิตผ้าทอมือที่ได้รับการพัฒนาผ่านโครงการของดีพร้อมทั้ง 20 จังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้เข้าร่วมจัดแสดงและจำหน่ายกว่า 100 ร้านค้า ทั้งในส่วนที่เป็นผลิตภัณฑ์เดิมและผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนาใหม่กว่า 170 ผลิตภัณฑ์ โดยแบ่งเป็นโซนแสดงสินค้าผ้าและเครื่องแต่งกาย โซนเจรจาธุรกิจและให้คำปรึกษาแนะนำ ซึ่งดีพร้อมได้เล็งเห็นว่าการจัดกิจกรรมดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ในการทำธุรกิจให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่ ตั้งแต่การทดสอบตลาดให้กับผู้ประกอบการที่ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทั้งในส่วนออนไลน์และออฟไลน์ และยังเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเพิ่มโอกาสในการทดลองตลาดสู่เชิงพาณิชย์ สร้างการเข้าถึงและรับรู้ความต้องการของตลาดเพื่อนำมาปรับปรุงให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ รวมถึงตอบโจทย์ทุกกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่ประชาชนทั่วไปตลอดจนผู้สนใจเริ่มต้นธุรกิจ ทั้งนี้ คาดว่าการจัดงานเพื่อทดสอบตลาดในครั้งนี้ จะสามารถสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมงานกว่า 5 ล้านบาท ###PR.DIProm (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
13 ธ.ค. 2564
ดีพร้อม ร่วมลงพื้นที่เยี่ยมชมหมู่บ้าน CIV ชุมชนบ้านเชียง นับถอยหลังพร้อมดึงรายได้เข้าชุมชนหลังเปิดประเทศ
จ.อุดรธานี เมื่อเร็วๆ นี้ (9 ธันวาคม 2564) - นายจุลพงษ์ ทวีศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายภาสกร ชัยรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ลงพื้นที่เยี่ยมชมพื้นที่หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Village : CIV) ร่วมด้วยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม ณ ชุมชนบ้านเชียง อ.หนองหาน หมู่บ้าน CIV ชุมชนบ้านเชียง มีอารยธรรมครอบคลุมแหล่งโบราณคดีในภาคอีสาน สะท้อนให้เห็นถึงขั้นตอนสำคัญของวิวัฒนาการทางวัฒนธรรมรวมถึงภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมายาวนานในด้านศิลปกรรม อาทิ ปั้นดินเผา ผ้าฝ้ายย้อมคราม เครื่องจักรสาน โดยที่ผ่านมาชุมชนบ้านเชียงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้รายได้หลักลดลงจากการท่องเที่ยวที่หยุดชะงัก ธุรกิจการค้าและบริการที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างมาก ชุมชนจำเป็นจะต้องเดินหน้าปรับตัวเพื่อความอยู่รอดและฟื้นฟูเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยชุมชนบ้านเชียงได้เข้าร่วมโครงการ/กิจกรรมของดีพร้อมเพื่อพัฒนาทักษะในหลากหลายมิติ เช่น การพัฒนาออกแบบบรรจุภัณฑ์ การตลาดออนไลน์เพื่อขยายช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของชุมชน เพื่อยกระดับชุมชนบนพื้นฐานอัตลักษณ์ท้องถิ่นรวมถึงกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ของชุมชนบ้านเชียงเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวหลังเปิดประเทศ ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน /ภาพข่าว
13 ธ.ค. 2564
ดีพร้อม เร่งติดอาวุธดิจิทัล SMEs เสริมแกร่งสู่ความยั่งยืน
กรุงเทพฯ 9 ธันวาคม 2564 - นายภาสกร ชัยรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานเปิดกิจกรรมการประยุกต์ใช้ระบบดิจิทัลในการบริหารจัดการธุรกิจ โดยมี นางนวลจิตต์ เรืองศรีใส นักวิเคราะห์นโยบายและแผนเชี่ยวชาญ กองพัฒนาดิจิทัลอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม กล่าวรายงาน ทั้งนี้ จัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ผ่านระบบแอปพลิเคชัน Zoom Meeting กิจกรรมการประยุกต์ใช้ระบบดิจิทัลในการบริหารจัดการธุรกิจ จัดขึ้นภายใต้ โครงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจไทยด้วยดิจิทัล มีเป้าหมายในการส่งเสริม พัฒนา ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ให้นำความรู้และแนวคิดของเทคโนโลยีในยุคดิจิทัลมาประยุกต์ใช้กับการบริหารจัดการธุรกิจ เพื่อตอบรับกับผลกระทบจาก Digital Disruption และสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น โดยมีผู้ประกอบการเข้าร่วมสัมนมนาในครั้งนี้ไม่น้อยกว่า 200 ราย ### PR.DIProm (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
09 ธ.ค. 2564
ดีพร้อม ปูแนวทางการทำงาน ผลักดันผลผลิตโครงการ/กิจกรรม ปีงบฯ 65 ตอบโจทย์สถานการณ์ปัจจุบัน
กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้ (8 ธันวาคม 2564) - นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมให้เกียรติเป็นประธานการประชุมรับฟังการนำเสนอแนวทางการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงภายใต้บริบทต่าง ๆ ร่วมด้วย นายภาสกร ชัยรัตน์ นายเจตนิพิฐ รอดภัย และนางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคของดีพร้อม โดยมี นางสุชาดา โพธิ์เจริญ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กสอ. กล่าวเกริ่นนำภาพรวม ในรูปแบบออนไลน์ผ่านระบบแอปพลิเคชัน Zoom Meeting การประชุมดังกล่าว จัดขึ้นเพื่อให้หน่วยงานส่วนกลางและส่วนภูมิภาคร่วมกันนำเสนอวิธีการทำงานภายใต้กรอบเป้าหมายผลผลิต และงบประมาณที่ได้รับจัดสรรในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ผ่านการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลจากการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตลอดจนการประเมินผลการดำเนินงาน กสอ. เพื่อนำมาปรับปรุงการดำเนินโครงการ/กิจกรรมในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ให้สอดรับและตอบโจทย์ความต้องการของทุกภาคส่วน โดยแต่ละหน่วยงานได้นำเสนอรายละเอียดการดำเนินงาน เป้าหมาย ผลผลิต ผลลัพธ์ ในโครงการ/กิจกรรมของ กสอ. สู่โมเดลหรือรูปแบบการดำเนินการใหม่ ๆ ในอนาคตต่อไป ### PR.DIProm (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน /ภาพข่าว
09 ธ.ค. 2564
“อธิบดีณัฐพล” นำทีม 3 ทหารเสือดีพร้อม ร่วมงานแถลงข่าว งานมอบรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี 2564
กรุงเทพฯ 8 ธันวาคม 2564 - นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายภาสกร ชัยรัตน์ นายเจตนิพิฐ รอดภัย และนางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม เข้าร่วมงานแถลงข่าวการจัดงานพิธีมอบรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี พ.ศ. 2564 (The Prime Minister's Industry Award 2021) โดยมี นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานในการแถลงข่าวครั้งนี้ ร่วมด้วย นายกฤชนนท์ อัยยปัญญา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม คณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม และสื่อมวลชน ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 2 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พิธีมอบรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี พ.ศ. 2564 (The Prime Minister's Industry Award 2021) จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 เป็นต้นมา จนถึงวันนี้นับเป็นปีที่ 29 โดยนายกรัฐมนตรีให้เกียรติเป็นประธานมอบรางวัล เพื่อประกาศเกียรติคุณและเชิดชูเกียรติผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทุกระดับ ที่มีความเป็นเลิศในแต่ละด้านตามประเภทรางวัลที่กำหนด ทั้งในด้านคุณภาพ ความปลอดภัย การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พลังงาน ความรับผิดชอบต่อสังคม รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าได้ในตลาดโลก โดยที่ผ่านมามีสถานประกอบการได้รับรางวัลประเภทต่าง ๆ แล้ว จำนวน 997 บริษัท สำหรับรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี พ.ศ. 2564 ในปีนี้ มีจำนวน 15 ประเภทรางวัล โดยมีสถานประกอบการสมัครเข้ารับการคัดเลือก จำนวนทั้งสิ้น 332 ราย แบ่งเป็นรางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม จำนวน 6 ราย และรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่นทั้ง 14 ประเภท รวม 326 ราย ซึ่งทุกรายผ่านการพิจารณาคัดเลือกจากคณะทำงานแต่ละประเภทรางวัลอย่างเข้มข้น โดยผู้ประกอบการที่ได้รับการพิจารณาคัดเลือกต้องผ่านหลักเกณฑ์ที่กำหนดในแต่ละด้าน เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่น วิริยะอุตสาหะ ในการพัฒนาศักยภาพทั้งในด้านคุณภาพ ความปลอดภัย การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงาน รวมไปถึงการพัฒนานวัตกรรมสร้างสรรค์ที่เป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมโดยรวม ซึ่งมีผู้ได้รับรางวัลจำนวนทั้งสิ้น 63 ราย ได้แก่ รางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม จำนวน 1 รางวัล ซึ่งคัดเลือกจากสถานประกอบการที่เคยได้รับรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่นมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 3 ประเภท และเป็นสถานประกอบการที่มีการพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีมาตรฐานการผลิตในระดับสากล และมีความเป็นเลิศ ทั้งในด้านการผลิต การตลาด และการลงทุน มีการนำความรู้ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมทั้งนวัตกรรมมาใช้ในการเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจของตนเองและสามารถสร้างการพัฒนาให้กับอุตสาหกรรมในภาพรวมได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้กำหนดการมอบรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี พ.ศ. 2564 ในวันจันทร์ที่ 13 ธันวาคม 2564 เวลา 14.00 น. ณ ห้องมัฆวานรังสรรค์ สโมสรทหารบก โดยท่านนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลดังกล่าว ### PR.DIProm (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
08 ธ.ค. 2564
“อธิบดีณัฐพล” ดีพร้อม ร่วมปลูกต้นไม้ของพ่อทำความดีด้วยหัวใจ เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม 2564
กรุงเทพฯ 3 ธันวาคม 2564 - นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายภาสกร ชัยรัตน์ นายเจตนิพิฐ รอดภัย และนางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นำคณะผู้บริหารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือดีพร้อม ร่วมกิจกรรมจิตอาสาสาธารณประโยชน์ “รู้รักสามัคคี รักษ์สิ่งแวดล้อมพัฒนาคุณภาพชีวิต” ณ บริเวณหน้าห้องนิทรรศการ ชั้น 1 อาคาร กสอ. พระรามที่ 6 ราชเทวี โดยกิจกรรมดังกล่าว ดีพร้อมจัดขึ้น เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม 2564 เพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อเหล่าปวงชนชาวไทย ซึ่งเป็นผู้สถิตในดวงใจของอาณาประชาราษฎร์ โดยดีพร้อม ได้จัดให้บุคลากรได้มีส่วนร่วมในการปลูกต้นดาวเรือง ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำพระองค์และปรับปรุงภูมิทัศน์รอบอาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม อันเป็นการแสดงถึงการน้อมนำแนวพระราชดำริมาปฏิบัติให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยการทำความดีเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ทั้งนี้ การปลูกดอกดาวเรือง ดอกไม้ประจำพระองค์ เนื่องด้วยดอกดาวเรืองมีสีเหลืองอร่ามตรงกับ “วันจันทร์” ซึ่งเป็นวันประสูติของพระองค์ จึงเปรียบเหมือนพระจริยวัตรที่งดงามของพระองค์ ที่เรียบง่าย และพอเพียง แต่ทรงคำนึงถึงการพัฒนาชาติบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้าอยู่เสมอ อีกทั้ง ทรงบำเพ็ญแต่ความดีงามประทับไว้ในใจคนไทยตราบเท่านาน นอกจากนี้ คณะผู้บริหารดีพร้อม ยังได้นำดอกดาวเรืองที่ร่วมกันปลูกไปจัดวางบริเวณหน้าอาคาร กสอ. เพื่อเป็นการปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบของอาคารสำนักงานอีกด้วย ### PR.DIProm (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน /ภาพข่าว
03 ธ.ค. 2564
“อธิบดีณัฐพล” นำทีม 3 ขุนพล ร่วมกิจกรรมจิตอาสาสาธารณประโยชน์ เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ (5 ธันวาคม 2564)
กรุงเทพฯ 2 ธันวาคม 2564 - นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายภาสกร ชัยรัตน์ นายเจตนิพิฐ รอดภัย และนางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมกิจกรรมจิตอาสาสาธารณประโยชน์ “ชุมชน วัด โรงเรียน รอบกระทรวงอุตสาหกรรม ปลอดเชื้อ COVID-19” โดยมี นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานจัดกิจกรรมฯ ร่วมด้วย นายสุรพล ชามาตย์ นางวรวรรณ ชิตอรุณ นายจุลพงษ์ ทวีศรี นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายวิษณุ ทับเที่ยง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะผู้บริหารของกระทรวงอุตสาหกรรม ณ บริเวณห้องโถง ชั้น 1 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พระรามที่ 6 ราชเทวี โดยกิจกรรมดังกล่าว กระทรวงอุตสาหกรรมจัดขึ้น เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ (5 ธันวาคม 2564) โดยได้มีการมอบชุดวัสดุป้องกัน COVID-19 ประกอบด้วย หน้ากากอนามัยแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อโรค และชุดตรวจ COVID-19 ให้กับประชาชนในชุมชน วัดและโรงเรียนโดยรอบกระทรวงอุตสาหกรรม ได้แก่ ชุมชนวัดมะกอก ชนวัดมะกอกส่วนหน้า ชุมชนกลางสวน ชุมชนสุขสวัสดิ์ ชุมชนวัดมะกอกสวนหลัง (ตรอกแขก) และโรงเรียนสวนมิสกวัน ### PR.DIProm (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน /ภาพข่าว
02 ธ.ค. 2564