“อธิบดีณัฐพล” ประชุมเหล่าขุนพลดีพร้อม เตรียมพร้อมการทำงาน ปี 65 อย่างเต็มสูบ
กรุงเทพฯ 27 มกราคม 2565 – ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานการประชุมผู้บริหารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือดีพร้อม ครั้งที่ 72 – 1/2565 ร่วมด้วย นายภาสกร ชัยรัตน์ นายเจตนิพิฐ รอดภัย นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อมที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ ณ ห้องประชุมโซนเอ ชั้น 6 อาคาร กสอ. และในรูปแบบออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชั่น Zoom Meeting การประชุมในครั้งนี้ มีประเด็นสำคัญแจ้งในที่ประชุมให้ทราบ ประกอบด้วย การสรุปผลและวิธีการประเมินผลการปฏิบัติราชการบุคลากรของ กสอ. การลาออกจาราชการของบุคลากร กสอ. และการตัดโอนอัตรากำลังของ กสอ. ให้แก่กระทรวงอุตสาหกรรม รวมทั้งมีประเด็นพิจารณาหารือในที่ประชุมร่วมกันเกี่ยวกับการเร่งรัดติดตามการใช้จ่ายเงินงบประมาณและผลการดำเนินงาน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 (เงินกันเหลื่อมปี) และปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ซึ่งในที่ประชุมได้มีการชี้แจงรายละเอียดการเบิกจ่ายที่คงค้างและอยู่ระหว่างการดำเนินงานให้แล้วเสร็จ โดยประธานในที่ประชุมได้มอบหมายให้รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมที่กำกับดูแลกองฯ และศูนย์ภาคฯ ต่าง ๆ ในสังกัด กสอ. เร่งดำเนินเร่งติดตามการเบิกจ่ายให้เป็นไปตามระยะเวลาในไตรมาสที่กำหนด รวมถึงได้มีการแจ้งให้ทราบเกี่ยวกับคำของบประมาณประจำปี พ.ศ. 2566 โดยทาง กง.กสอ. ได้รายงานต่อที่ประชุมว่าได้มีการจัดส่งคำของบประมาณดังกล่าวไปยังสำนักงบประมาณเมื่อวันที่ 25 มกราคม ที่ผ่านมา และยังได้ขอความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ของ กสอ. ในการตรวจสอบการแจกแจงรายละเอียดค่าใช้จ่ายการดำเนินงานแต่ละโครงการ/กิจกรรมให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ค่าใช้จ่ายของสำนักงบประมาณปี 2564 รวมถึงได้มีการยกตัวอย่างและอธิบายให้ในที่ประชุมเห็นถึงการแจกแจงค่าใช้จ่ายให้สอดคล้องกับทางสำนักงบประมาณ เพื่อให้คำของบประมาณประจำปี 2566 เป็นไปตามที่ต้องการ โดยประธานในที่ประชุมได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานเตรียมเอกสาร ข้อมูล และตัวอย่างต้นแบบผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จจากการส่งเสริม พัฒนา และสนับสนุนจาก ดีพร้อม เพื่อนำเสนอต่อกรรมาธิการฯ พร้อมทั้งได้เน้นย้ำให้หน่วยงานดำเนินโครงการ/กิจกรรมตามนโยบาย DIPROM CARE ต่อไป ขณะเดียวกัน ยังได้มีการรายงานผลการดำเนินงานเงินทุนหมุนเวียนฯ ไตรมาส 1 ประจำปี 2565 รวมถึงความคืบหน้าโครงการสินเชื่อ DIProm Pay โดยได้มีการรายงานรายชื่อผู้ประกอบการที่ได้ยื่นคำร้องขอสินเชื่อดังกล่าวจากหน่วยงานทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคของ กสอ. ซึ่งได้มีการชี้แจงรายละเอียดผู้ประกอบการแต่ละรายให้ประธานในที่ประชุมทราบ และทาง สล.กสอ.ได้ขอความร่วมมือจากทุกหน่วยงานรวบรวมรายชื่อผู้ประกอบการที่มีความประสงค์ที่จะยื่นขอสินเชื่อจัดส่งให้ สล.กสอ. ภายในเดือน กุมภาพันธ์ 65 นอกจากนี้ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา) ยังได้รายงานความคืบหน้าการเตรียมการจัดงาน DIPROM MOTOR SHOW ระหว่างวันที่ 9 – 16 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดลำปาง โดยได้นำเสนอถึงรูปแบบการจัดงานและกิจกรรมภายในงาน ผังภาพรวมการจัดงาน แผนการประชาสัมพันธ์ พิธีเปิดงาน และการเตรียมอุปกรณ์และจุดอำนวยความสะดวกแก่ผู้เข้าร่วมงาน พร้อมทั้งมาตรการการป้องกันและลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของผู้เข้าร่วมงานในครั้งนี้ ### PRDIProm (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
28 ม.ค. 2565
ดีพร้อม ติวเข้มบุคลากรศึกษาโมเดลการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงพื้นที่ นำร่องพัฒนา 13 ชุมชน ทั่วประเทศ
กรุงเทพฯ 25 มกราคม 2565 – นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม “ศึกษารูปแบบการพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชนเชิงพื้นที่แบบองค์รวม” ร่วมด้วย นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม โดยมี นางสุชาดา โพธิ์เจริญ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กล่าวรายงาน ผ่านระบบออนไลน์ทางแอปพลิเคชั่น Zoom meeting กิจกรรมดังกล่าว ดำเนินการเพื่อศึกษารูปแบบการพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชนเชิงพื้นที่แบบองค์รวม (Holistic Area Based Community Development) รวมทั้งเป็นแนวทางให้เจ้าหน้าที่ของดีพร้อม สามารถจัดเก็บวิเคราะห์ข้อมูลและประเมินศักยภาพของพื้นที่เพื่อพัฒนารูปแบบในการส่งเสริมอุตสาหกรรมชุมชน ผ่าน 3 กิจกรรม คือ 1. การสร้างความเข้าใจให้กับเจ้าหน้าที่ถึงหลักการของการพัฒนาเชิงพื้นที่แบบองค์รวม ทั้ง 5 มิติ (มิติด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม) 2. การศึกษาเรียนรู้วิธีการพัฒนาชุมชนในพื้นที่ต้นแบบ 3. การศึกษารูปแบบการพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชนในพื้นที่นำร่อง โดยจะดำเนินการคัดเลือกชุมชนนำร่องในพื้นที่ของศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 – 11 ศูนย์วิจัยและพัฒนาวัสดุอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และส่วนกลาง รวม 13 ชุมชน เพื่อขยายผลไปสู่อีกหลายชุมชนให้เป็นฐานในการพัฒนา อีกทั้งยังพัฒนาบุคลากรให้เข้าใจในทิศทางการพัฒนาเชิงพื้นที่ สามารถวิเคราะห์ศักยภาพและเข้าถึงความต้องการที่แท้จริงและนำไปสู่แนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชนที่สร้างมูลค่าด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ได้ ### PRDIProm (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
27 ม.ค. 2565
“รสอ.ณัฏฐิญา” นำทีมประชุมคณะทำงานพิจารณารางวัลอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมดีเด่น 65
กรุงเทพฯ 25 มกราคม 2565 - นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานในการประชุมคณะทำงานพิจารณาคัดเลือกรางวัลอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2565 ประเภทการบริหารจัดการ ครั้งที่ 1 ร่วมด้วย นายวุฒิชัย ประชาพร ผู้อำนวยการกองพัฒนาขีดความสามารถธุรกิจอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือดีพร้อม นางนวลจิตต์ เรืองศรีใส นักวิเคราะห์นโยบายและแผนเชี่ยวชาญ กองพัฒนาดิจิทัลอุตสาหกรรม กสอ. และคณะเจ้าหน้าที่ดีพร้อม ณ ห้องประชุม 3 ชั้น 3 อาคาร กสอ. และในรูปแบบออนไลน์ทางแอปพลิเคชั่น Zoom meeting โดยในที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาแผนการดำเนินงานคัดเลือกรางวัลอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2565 ประเภทการบริหารจัดการ โดยกิจกรรมดังกล่าว เปิดให้ผู้ประกอบการสามารถสมัครเข้ารับการคัดเลือกได้ตั้งแต่วันนี้ - 28 กุมภาพันธ์ 2565 สามารถดาวน์โหลดใบสมัครและรายละเอียดการสมัครรับรางวัลฯ ได้ที่ https://shorturl.asia/EP0fH สนใจส่งใบสมัครได้ที่ E-Mail : mgtsmeaward@gmail.com เบอร์โทรติดต่อ 02-430-6869-1271,1216 ### PRDIProm (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
27 ม.ค. 2565
ดีพร้อม โชว์ผลสำเร็จดึงแพลตฟอร์มตลาดออนไลน์ “Social Commerce” ตัวช่วยผู้ประกอบการยุคใหม่ กระตุ้นยอดขายกว่า 90 ล้านบาท
กรุงเทพฯ 24 มกราคม 2565 – นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม แถลงผลสำเร็จกิจกรรมเพิ่มศักยภาพ e-Commerce ให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม พร้อมโชว์สุดยอด 3 Success case ซึ่งมีความโดดเด่นในการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจและมียอดขายเพิ่มขึ้นมากที่สุด ณ ห้องประชุมโซนเอ ชั้น 6 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) และในรูปแบบออนไลน์ผ่าน Facebook Live ทางเพจ Digital Dip โดยมีนายภาสกร ชัยรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายวาที พีระวรานุพงศ์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาดิจิทัลอุตสาหกรรม ผู้บริหารดีพร้อม ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมกิจกรรมฯ และสื่อมวลชนเข้าร่วมแถลงข่าวในครั้งนี้ กิจกรรมเพิ่มศักยภาพ e-Commerce ให้ดีพร้อม ภายใต้ โครงการ D-พร้อมสู้ อยู่ได้ ไปรอด กับการตลาดออนไลน์ 2.0 ในยุคโควิด หรือ DIProm Social Commerce เป็นการมุ่งเน้นการยกระดับศักยภาพด้านการทำตลาดออนไลน์ให้กับผู้ประกอบการ 3 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูป อุตสาหกรรมแฟชั่น และอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ความงามและสุขภาพ โดยการพัฒนาทักษะด้านการขายสินค้าออนไลน์ให้แก่ผู้ประกอบการที่กำลังมองหาช่องทางการตลาดในรูปแบบของตลาดดิจิทัลที่มีการลงทุนต่ำและเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ผ่าน 4 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1. การจัดฝึกอบรมออนไลน์ด้านการจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทาง Social Commerce โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมทั้งสิ้นกว่า 6,000 คน 2. การให้คำปรึกษาแนะนำแบบกลุ่มผ่านออนไลน์แก่ผู้ประกอบการที่ผ่านการคัดเลือก จำนวนกว่า 600 คน 3. การทดสอบการทำตลาดแก่ผู้ประกอบการที่ผ่านการคัดเลือก จำนวนกว่า 300 คน ซึ่งผู้ประกอบการได้เรียนรู้วิธีการดึงความสนใจของผลิตภัณฑ์ การทำการตลาดแบบ Live สด พร้อมเทคนิคต่าง ๆ จากบุคคลที่มีชื่อเสียงในโซเชียลมีเดีย (Influencer Marketing) และ 4. การถ่ายทอดสด (Live สด) เป็นการจำหน่ายสินค้าให้แก่ผู้ประกอบการที่ผ่านการคัดเลือกเป็น Success Case จำนวนกว่า 60 คน โดยการ Live สด ผ่าน Facebook Live ทางแฟนเพจ Digital Dip และผู้ประกอบการได้มีการขายสินค้าจริงและเรียนรู้วิธีการบริหารจัดการหลังบ้านบนแพลตฟอร์มดังกล่าว ซึ่งนำมาสู่การคัดเลือกผู้ประกอบการสุดยอดต้นแบบแห่งการเรียนรู้และนำไปประยุกต์ใช้จนประสบความสำเร็จในระยะสั้น “สุดยอด Success Case” ดีเด่น จำนวน 3 คน โดยได้นำความรู้ไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจและมียอดขายเพิ่มขึ้นมากที่สุด ได้แก่ 1. ASMA Halal Skincare Products ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องสำอาง 2. ร้านมาดามอร ผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ไส้กรอกอีสานสุขภาพแบบพร้อมทาน และ 3. Paweena Cloth&Craft ผู้จำหน่ายผ้าไทยและผ้าพื้นเมือง ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว ยังแสดงให้เห็นว่าแพลตฟอร์มตลาดออนไลน์ Social Commerce เป็นเครื่องมือและช่องทางสำคัญที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถ อยู่รอด พร้อม โต ได้จริง โดยเห็นได้ชัดจากผลลัพธ์กว่าร้อยละ 70 ของผู้เข้าร่วมกิจกรรม มีมูลค่ายอดขายเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 และกว่าร้อยละ 80 ของผู้เข้าร่วมกิจกรรม มีฐานลูกค้าที่เข้าถึงสินค้าเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนเข้าร่วมกิจกรรม อีกทั้ง ยังทำให้เกิดการค้าเชื่อมโยงระหว่างผู้ชื้อและผู้ขายกระจายไปทั่วทุกภูมิภาค และสามารถสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 23 หรือคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 90 ล้านบาท ส่งผลให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศดีขึ้น ### PRDIProm (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
27 ม.ค. 2565
ดีพร้อม ออกสตาร์ทภาคธุรกิจ เปิดนโยบาย “ดีพร้อมแคร์” หนุนทุกปัจจัยการเติบโต คาดปี 65 สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 7,000 ลบ.
กรุงเทพฯ 26 มกราคม 2565 – นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานแถลงนโยบาย “ดีพร้อมแคร์ : DIPROM CARE” ร่วมด้วย นายภาสกร ชัยรัตน์ นายเจตนิพิฐ รอดภัย และ นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม และสื่อมวลชน เข้าร่วมงาน ณ ห้องประชุมโซนบี ชั้น 6 อาคาร กสอ. และในรูปแบบออนไลน์ผ่านระบบ Zoom Meeting และ Facebook Live ใน Facebook Fanpage @DIPromindustry : กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม - DIProm (https://fb.watch/aMCpRUrSwn) นโยบาย “ดีพร้อมแคร์ : DIPROM CARE” เป็นแนวทางในการยกระดับและฟื้นฟูผู้ประกอบการหลังจากได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ด้วยการสำรวจปัญหาที่แท้จริง ศึกษาความต้องการ และรับฟังความคิดเห็นของผู้ประกอบการ เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการให้ตอบโจทย์ความต้องการให้ในทุกมิติและสอดรับกับบริบททั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคมผ่านแนวทางการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2565 ดังนี้ Customization การวิเคราะห์ปัจจัยเชิงสาเหตุที่มีผลต่อการเติบโตทางธุรกิจ พร้อมทั้งสนับสนุนการทำแผนเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในเชิงพื้นที่และจัดหาเครื่องมือที่เหมาะสมให้กับสถานประกอบการ Accessibility ขยายช่องทางการเข้าถึงความช่วยเหลือทั้งในส่วนของเครื่องมือ บุคลากรที่ให้คำปรึกษา รวมถึงโครงการต่าง ๆ Reformation การปฏิรูปกลไกการดำเนินงานในภาพรวมของทุกกิจกรรม/โครงการ และการดำเดินงานให้มีรูปแบบการทำงานที่สอดคล้องกับยุคเศรษฐกิจวิถีใหม่ Engagement การบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายเพื่อช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการให้มีการเติบโตที่ดียิ่งขึ้น ในรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่ การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การเชื่อมโยงพันธมิตรเพื่อจัดกิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจ ตลอดจนผสานความร่วมมือกับนานาชาติเพื่อร่วมพัฒนาภาคอุตสาหกรรมในไทยอีกด้วย ทั้งนี้ ในปี 2565 จะดำเนินงานภายใต้งบประมาณการทำงาน 527.68 ล้านบาท โดยตั้งเป้าพัฒนาศักยภาพบุคลากรในภาคธุรกิจอุตสาหกรรมไม่น้อยกว่า 16,000 ราย และคาดการณ์ว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 7,000 ล้านบาท ### PR.DIProm (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
27 ม.ค. 2565
ดีพร้อม ปั้นบุคลากรนักส่งเสริมการตลาดออนไลน์ DIProm Online Marketeer รุ่นที่ 2
กรุงเทพฯ 17 มกราคม 2565 - นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานพิธีเปิดกิจกรรมการฝึกอบรมหลักสูตร “การพัฒนาบุคลากร กสอ. สู่การเป็นนักส่งเสริมการตลาดออนไลน์ (DIProm Online Marketeer) รุ่นที่ 2” ร่วมด้วย นายเจตนิพิฐ รอดภัย และ นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม โดยมี นางสุชาดา โพธิ์เจริญ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กล่าวรายงาน ผ่านระบบออนไลน์ทางแอปพลิเคชั่น Zoom meeting การฝึกอบรมหลักสูตรดังกล่าวฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้บุคลากรของดีพร้อมมีทักษะในด้านการส่งเสริมการตลาดที่สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมุ่งเน้นพัฒนาบุคลากรของดีพร้อม ให้มีทักษะในการเป็น “นักส่งเสริมการตลาดออนไลน์” เพื่อขับเคลื่อนและเป็นพลังช่วยเหลือ วิสาหกิจชุมชน และ SMEs ด้านการตลาด พร้อมทั้งสนับสนุนการจำหน่ายสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์ในการนำสินค้าของผู้ประกอบการ SMEs มาดำเนินการส่งเสริมการตลาดผ่านระบบออนไลน์ และสื่อ Social Media โดยในกิจกรรมฯ มีบุคลากรดีพร้อมกว่า 60 คน ที่เข้าร่วมฝึกอบรมและพัฒนาทักษะดังกล่าว ให้กับผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชน หรือ SMEs จำนวน 12 ราย โดยจะได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ในด้านต่าง ๆ ได้แก่ 1. วางกลยุทธ์และการสร้าง Content สู่การขายสินค้า Online 2. เทคนิคการถ่ายภาพสินค้าใน Trend ปัจจุบัน 3. Application เพื่อการตัดต่อและตกแต่งคลิป VDO 4. Present สินค้าอย่างไรให้โดนใจลูกค้า เพื่อเป็นการส่งเสริมด้านการตลาดของดีพร้อมต่อไป ### PRDIProm (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
24 ม.ค. 2565
ดีพร้อม หารือภาคเอกชน เตรียมจัดงาน "DIPROM MOTOR SHOW"
กรุงเทพฯ 20 มกราคม 2565 - นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม ประชุมหารือเตรียมจัดงาน "DIPROM MOTOR SHOW" ร่วมกับ นายอรรถวิท เตชะวิบูลย์วงศ์ เลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย และนายพรรโษทก วงษ์สุวรรณ ผู้จัดการฝ่ายงานนิทรรศการ บริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์ เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 3 อาคาร กสอ. และในรูปแบบออนไลน์ผ่านระบบแอปพลิเคชัน Zoom Meeting การประชุมในวันนี้ เป็นการหารือเพื่อเตรียมความพร้อมการจัดงาน "DIPROM MOTOR SHOW" ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 - 16 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดลำปาง ซึ่งมีประเด็นที่สำคัญ ได้แก่ แผนการดำเนินงานจัดกิจกรรม 2. ผังภาพรวมการจัดงาน 3. ป้ายประชาสัมพันธ์ 4. กำหนดการพิธีเปิดงาน 5. ความคืบหน้าการจัดงาน 6. คู่มือผู้ร่วมงาน 7. แผนการประชาสัมพันธ์ และ 8. การเตรียมอุปกรณ์และจุดอำนวยความสะดวกแก่ผู้เข้าร่วมงาน พร้อมทั้งมาตรการการตรวจ ATK การฉีดวัคซีน และการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ของผู้เข้าร่วมงานดังกล่าว ### PRDIProm (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
21 ม.ค. 2565
ดีพร้อม เชิญชวนที่ปรึกษาส่งผลงานเข้าร่วม DIProm Consultant Award 2022 “เวทีศักยภาพที่ปรึกษา มุ่งพัฒนา MSMEs ให้ดีพร้อม”
กรุงเทพฯ 18 มกราคม 2565 – นายภาสกร ชัยรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม แถลงข่าวเปิดตัวโครงการการประกวดที่ปรึกษาตัวอย่างแห่งปี 2565 (DIProm Consultant Award 2022) ในรูปแบบออนไลน์ผ่าน Facebook Live ทางเพจ สถานีดีพร้อม (DIPROMSTATION) ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม มีการประชาสัมพันธ์เชิญชวนผู้ให้บริการธุรกิจอุตสาหกรรม ร่วมส่งผลงานเข้าประกวดที่ปรึกษาตัวอย่างแห่งปี 2565 หรือ DIProm Consultant Award 2022 ภายใต้สโลแกน “เวทีศักยภาพที่ปรึกษา มุ่งพัฒนา MSMEs ให้ดีพร้อม” เพื่อเชิดชูการทำงานของที่ปรึกษาซึ่งมีผลงานการให้บริการที่ดีเยี่ยม สามารถตอบโจทย์ ความต้องการของผู้ประกอบการ ช่วยให้ธุรกิจสามารถเติบโต และแข่งขันได้ อีกทั้ง ยังเป็นการสร้างการรับรู้ และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และวิสาหกิจชุมชนในคุณภาพของที่ปรึกษา ซึ่งการประกวดในครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. ที่ปรึกษาที่ให้บริการกับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME และ 2. ที่ปรึกษาที่ให้บริการกับวิสาหกิจชุมชน โดยแบ่งประเภทรางวัลออกเป็น 7 สาขา 1. การออกแบบผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ดีเด่น 2. การสร้างนวัตกรรมดีเด่น 3. การตลาด การขายดีเด่น 4. การบริหารต้นทุนดีเด่น 5. การปรับแผนธุรกิจดีเด่น 6. การสร้างเครือข่ายดีเด่น และ 7. การผลักดันสู่ระบบมาตรฐานดีเด่น
20 ม.ค. 2565
กระทรวงอุตฯ จับมือเมติ รวมพลังพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย พร้อมผลักดันแนวคิดบีซีจี เน้นเทคโนโลยี – นวัตกรรมขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม
กรุงเทพฯ 13 มกราคม 2565 - นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสากกรรม ให้การต้อนรับและ แถลงแนวทางความร่วมมือฟื้นฟูเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม กับ นายฮากิอูดะ โคอิจิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) ประเทศญี่ปุ่น และคณะ เนื่องในโอกาสเยือนประเทศไทย ร่วมด้วย นายสุชาติ ไตรแสงรุจิระ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายกฤชนนท์ อัยยปัญญา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม หัวหน้าส่วนราชการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม โดยมี นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และ นายภาสกร ชัยรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เข้าร่วมหารือ ณ โรงแรม แชงกรี-ลา เขตสาทร นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เนื่องในโอกาสการเยือนประเทศไทยของ นายฮากิอูดะ โคอิจิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) ประเทศญี่ปุ่น กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้มีการหารือแนวทางรองรับความเปลี่ยนแปลงและผันผวนที่เกิดขึ้น โดยการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model) ร่วมกับนโยบายการลงทุนเอเชีย-ญี่ปุ่นเพื่ออนาคต (ASIA-Japan Investing for the Future Initiative : AJIF) โดยกำหนดเป็นกรอบความร่วมมือ ภายใต้ชื่อ Framework Document on Co-Creation for Innovative and Sustainable Growth ประกอบด้วย 3 ด้าน ดังนี้ 1. ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ยั่งยืนและการสร้างขีดความสามารถในทุนมนุษย์ 2.ด้านการเร่งพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ผ่านศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคตสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในประเทศไทย และ 3.ด้านการร่วมกันสร้างห่วงโซ่อุปทาน โดยมุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี การสร้างขีดความสามารถในทุนมนุษย์ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลกระตุ้นการเติบโตให้กับ SME และการสร้างห่วงโซ่อุปทานที่เข้มแข็ง เพื่อผลักดันการลงทุนจากภาคอุตสาหกรรมของประเทศญี่ปุ่น โดยใช้ไทยเป็นฐานในการลงทุน สร้างความเชื่อมโยง และพัฒนาอุตสาหกรรมในระดับภูมิภาค รวมถึงแลกเปลี่ยนศักยภาพที่โดดเด่นของทั้งไทยและญี่ปุ่น เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตในมิติต่าง ๆ ร่วมกันต่อไป ### PRDIProm (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
14 ม.ค. 2565
ดีพร้อมรุกกระตุ้นตลาดยานยนต์ ประเดิมงาน “ดีพร้อม มอเตอร์ โชว์” จ.ลำปาง พร้อมเชื่อมโยงเครือข่ายอุตฯ ครบวงจร คาดเงินสะพัดภายในงาน 115 ลบ.
กรุงเทพฯ 5 มกราคม 2565 – นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายจำลักษ์ กันเพ็ชร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง นายสุวัชร์ ศุภกาญจน์เดชากุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย นายอรรถวิท เตชะวิบูลย์วงศ์ เลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย นายสกล สุพรรณบรรจง ประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดลำปาง และ ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) จังหวัดลำปาง ร่วมแถลงข่าว "DIPROM MOTOR SHOW" พร้อมด้วย นายเจตนิพิฐ รอดภัย และ นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม ผู้แทนจากหน่วยงานภาคีเครือข่ายภาครัฐ-เอกชน และสื่อมวลชน เข้าร่วมงานในรูปแบบออนไลน์ผ่านระบบ Zoom Meeting และ Facebook Live ใน Facebook Fanpage @DIPromindustry : กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม - DIProm DIPROM MOTOR SHOW เป็นกิจกรรมที่จะถูกจัดขึ้นในพื้นที่จังหวัดลำปาง เพื่อสอดรับนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมในการยกระดับศักยภาพอุตสาหกรรมยานยนต์และเพื่อกระตุ้นตลาดยานยนต์ โดยเฉพาะในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ ซึ่งเป็นความร่วมมือกับสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย รวมถึงจังหวัดลำปาง หอการค้าจังหวัดลำปาง และภาคีเครือข่าย ผ่านการเร่งยกระดับห่วงโซ่อุตสาหกรรมยานยนต์ ให้สามารถแข่งขันและปรับตัวได้ทันกับสถานการณ์โลก พร้อมทั้งสร้างความต่อเนื่องให้กับกระบวนการผลิต การพัฒนาทักษะให้กับบุคลากร รวมถึงการร่วมวางแผนสถานประกอบการให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์ยังคงเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ และเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตของมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งประเทศไทยยังคงเป็นฐานสำคัญในการผลิตทั้งชิ้นส่วนยานยนต์ การประกอบรถยนต์ รวมถึงการผลิตรถยนต์เชิงพาณิชย์ อีกทั้ง ยังเป็นการเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายสำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากค่ายรถยนต์และจักรยานยนต์ชั้นนำกว่า 15 แบรนด์ มาร่วมจัดแสดงในงาน นอกจากนี้ ยังได้เชื่อมโยงผู้ประกอบการที่ได้รับการพัฒนาจาก ดีพร้อม ผ่านโครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม หรือ คพอ. ในพื้นที่ภาคเหนือ จำนวนกว่า 40 ราย ในสาขากลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ เข้าร่วมงาน เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการด้วยกันเอง รวมถึงระหว่างผู้ประกอบการและผู้บริโภค เพื่อแสดงศักยภาพของผู้ประกอบการในระดับภูมิภาคที่สามารถนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาตอบโจทย์การทำตลาดในยุคปกติใหม่ ตลอดจนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคเพื่อให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าว จะจัดขึ้นที่อาคารศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดลำปาง ระหว่างวันที่ วันที่ 9 - 15 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งคาดว่าตลอดการจัดงานในครั้งนี้ จะมีเงินสะพัดภายในงานกว่า 115 ล้านบาท ### PRDIProm (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
06 ม.ค. 2565