DIPROM Japan Desk ผนึกกำลัง SMRJ และหน่วยงานภาคีเครือข่ายจัดงานสัมมนา New OTAGAI Forum ครั้งที่ ๒๑ สร้างโอกาสเชื่อมโยงภาคอุตสาหกรรมไทย – ญี่ปุ่น
เมื่อวันพุธที่ 9 มีนาคม 2565 เวลา 13.30 - 16.30 น. โต๊ะญี่ปุ่น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Japan Desk) ร่วมกับองค์การเพื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และนวัตกรรมภูมิภาค (SMRJ) ตลอดจนหน่วยงานภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชนของไทยและญี่ปุ่น จัดงานสัมมนา New OTAGAI Forum ครั้งที่ ๒๑ ขึ้นในรูปแบบไฮบริด (Hybrid) ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค (BITEC) ภายใต้งาน METALEX March โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่าง SMEs ไทยและญี่ปุ่นในด้านอุตสาหกรรม BCG (Bio-Circular-Green) และอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพเป็นหลัก มีผู้สนใจเข้าร่วมงานทั้งสิ้นกว่า 150 คน ซึ่งมีทั้งผู้แทนหน่วยงานไทยและญี่ปุ่น ตลอดจนผู้ประกอบการจากทั้งสองประเทศ งานสัมมนาดังกล่าวได้รับเกียรติจากผู้แทนสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย (Thai Subcon) นำเสนอภาพรวมของความต้องการทางธุรกิจ (Business Needs) ของผู้ประกอบการไทยที่มีต่อภาคอุตสาหกรรมญี่ปุ่น อีกทั้งยังได้รับเกียรติจากผู้ประกอบการไทยที่ได้ก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ ได้แก่ บริษัท เอส.พี. เมทัล พาร์ท จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ได้ริเริ่มการผลิตเตียงสำหรับผู้ป่วย และ บริษัท แม่น้ำ เมคคานิกา จำกัด ผู้ผลิตคลังสินค้าอัจฉริยะ (Smart Warehouse) และอื่น ๆ ที่ใช้ AI และ IoT รวมทั้งผลิตชุดป้องกัน PAPRs เพื่อบุคลากรทางการแพทย์ โดยผู้ประกอบการไทยทั้งสองรายคาดหวังถึงโอกาสในการร่วมทุน ตลอดจนการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีจากภาคอุตสาหกรรมญี่ปุ่น นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจากผู้ประกอบการญี่ปุ่นร่วมนำเสนอ Business Needs ประกอบด้วย บริษัท Shizen International จำกัด ผู้ผลิตและให้บริการติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Cell) อย่างครบวงจร บริษัท Hirose Products จำกัด ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์แปรรูปจากไม้ และไม้ไผ่ บริษัท Kanto Electronics จำกัด ผู้ผลิตเครื่องมืออัตโนมัติ เช่น Part Feeder ที่สามารถจัดเรียงและป้อนชิ้นส่วนที่มีขนาดเล็กมากได้อย่างแม่นยำ และบริษัท GPC Laboratory จำกัด Startup ที่มีจุดแข็งในการสร้างเซลล์ชนิดต่าง ๆ ที่ใช้วัดประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและเวชภัณฑ์ ซึ่งผู้ประกอบการทั้ง 4 รายล้วนมีความเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม BCG และมีเทคโนโลยีที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยต่างมุ่งหวังที่จะสร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการไทย รวมทั้งสนับสนุนในเชิงเทคโนโลยีเพื่อร่วมกันยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทย ภายใต้เทคโนโลยีที่หลากหลายจากผู้ประกอบการไทยและญี่ปุ่น แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการทุกรายมุ่งหวังร่วมกันคือความต้องการที่จะเชื่อมโยงภาคอุตสาหกรรมไทยและญี่ปุ่นเพื่อประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองฝ่าย (Win-Win) ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด OTAGAI ที่มีความหมายว่าช่วยเหลือซึ่งกันและกันอีกด้วย ภายในงานยังได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ไดสึเกะ มัทสึชิมะ ผู้มีบทบาทสำคัญในการริเริ่มการดำเนินงานภายใต้แนวคิด OTAGAI บรรยายพิเศษเพื่อนำเสนอแนวทางการฟื้นตัวให้แก่ธุรกิจ รวมทั้งการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ ๆ ในสภาวะปัจจุบัน รวมทั้ง คุณเท็ตสึยะ อิโนะอุเอะ ผู้แทน SMRJ ประจำโต๊ะญี่ปุ่น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Japan Desk) ได้ใช้โอกาสนี้แนะนำระบบฐานข้อมูล T-GoodTech และ J-GoodTech หนึ่งในเครื่องมือสำคัญในการเชื่อมโยงผู้ประกอบการไทยและญี่ปุ่น ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่าง DIPROM และ SMRJ ซึ่งมีผู้ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก
16 มี.ค. 2565
ดีพร้อม เดินหน้ายกระดับ CIV DIPROM มุ่งกระจายรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ
จ.นนทบุรี 10 กุมภาพันธ์ 2565 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติกล่าวต้อนรับคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา นำโดย ดร.สมชาย หาญหิรัญ รองประธานคณะกรรมาธิการ พร้อมคณะฯ เนื่องในโอกาสศึกษาดูงานหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Village DIPROM : CIV DIPROM) ร่วมด้วย นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายวัชรุน จุ้ยจำลอง ผู้อำนวยการกองพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม (DIPROM) คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ผู้นำชุมชนและสมาชิกชุมชนบ้านปลายบาง ณ บันดาลสุขสมาร์ทฟาร์ม ศูนย์เรียนรู้เกษตรแม่นยำ อำเภอบางใหญ่ ในรูปแบบออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน Zoom Meeting ชุมชนคนปลายบาง เป็นชุมชนเก่าแก่ อยู่ริมคลองมหาสวัสดิ์ในจังหวัดนนทบุรี มีวิถีการดำเนินชีวิตดั้งเดิมที่เรียบง่ายและเต็มไปด้วยเรื่องราววัฒนธรรม การท่องเที่ยวชุมชนจึงเป็นไปในแนวทางเชิงนิเวศและวัฒนธรรม มีแหล่งท่องเที่ยวน่าสนใจมากมาย อาทิ วัดศรีบุญเรือง สวนเกษตรลัดดาวัลย์ เป็นแหล่งเรียนรู้เชิงเกษตรอินทรีย์ของชุมชน สวนสมุนไพรเฉลิมพระเกียรติ บ้านโบราน 100 ปี และ ศาลเจ้าแม่ทับทิม สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวชุนชนปลายบาง โดยทางชุมชนได้เข้าร่วมโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Village DIPROM : CIV DIPROM) กับดีพร้อม ตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน เพื่อพัฒนาศักยภาพและเสริมทักษะรอบด้านให้กับชุมชน ได้แก่ 1. สร้างศักยภาพเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว 2. อุตสาหกรรมระดับหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และ 3. พัฒนาด้านมาตรฐาน โดยการจัดทำแผนธุรกิจเพิ่มศักยภาพการประกอบธุรกิจในยุค Next Normal นอกจากนี้ ชุมชนยังได้เข้าร่วมกิจกรรมเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการชุมชนสู่การพัฒนาหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เพื่อกระตุ้นให้เกิดเครือข่ายในการพัฒนาธุรกิจ พร้อมทั้งการสร้างจุดแข็งในทุกมิติให้กับชุมชนจนเกิดเป็นผลสำเร็จ และต่อยอดยกระดับชุมชนผ่านหลายกิจกรรม อาทิ โครงการ CIV 5 ดาว การพัฒนานักส่งเสริมการตลาดออนไลน์ (Marketeer/ Influencer) การพัฒนาชุมชนที่ต่อยอดจาก CIV Concept ขณะเดียวในปีงบประมาณ 2565 ดีพร้อม ยังดำเนินโครงการยกระดับหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายที่จะสร้าง DIPROM HERO ผ่านแนวทางการดำเนินงานในการมุ่งเน้นพัฒนาผู้นำชุมชนให้เป็นผู้นำหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรือ CIV Leader ผ่านกระบวนการติวเข้มหลักสูตรการสร้างนักบริหารจัดการธุรกิจเพื่อสังคม หลักสูตรผู้นำ การพัฒนาชุมชน และหลักสูตรการนำเสนอ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการรับรู้และตระหนักในการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนต่อชุมชน นอกจากนี้ ดีพร้อม ยังได้เชื่อมโยงเครือข่ายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน และต่อยอดธุรกิจ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมชุมชนในทุกระดับการพัฒนา ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายนำร่องการพัฒนา 20 ชุมชน เพื่อเสริมความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากในอนาค ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน /ภาพข่าว
11 มี.ค. 2565
ดีพร้อม ติดอาวุธ SMEs ไทย พร้อมเสริมแกร่งกว่า 30 ซอฟต์แวร์ ใช้ฟรี 6 เดือน
กรุงเทพฯ 9 มีนาคม 2565 - นายภาสกร ชัยรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานสัมมนาออนไลน์เสริมแกร่ง SMEs ด้วย Software ในระบบ i-Industry ร่วมด้วย ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกว่า 400 ราย โดยมี นายวาที พีระวรานุพงศ์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาดิจิทัลอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม (DIPROM) กล่าวรายงาน ซึ่งจัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน Zoom Meeting การสัมมนาดังกล่าว จัดขึ้นเพื่อให้เอสเอ็มอีและผู้ที่มีความสนใจในซอฟต์แวร์ที่มีให้บริการทดลองใช้ในระบบ i-Industry มีการพัฒนาความรู้ ความเข้าใจ รวมถึงส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใช้ซอฟต์แวร์ของไทยมากขึ้น ตลอดจนสร้างความสำคัญในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาบริหารจัดการธุรกิจ โดยได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทย (Software House) ร่วมดำเนินการให้บริการด้านซอฟต์แวร์แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี อาทิ การบริหารบัญชี การจัดซื้อจัดจ้าง การบริหารการผลิต การบริหารการขาย การบริหารสินค้าคงคลัง ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ที่ผลิตโดยคนไทย นอกจากนี้ ยังเป็นการเชื่อมโยงกันระหว่างเอสเอ็มอีผู้ใช้งาน (Demand) กับผู้ผลิตซอฟต์แวร์ไทย (Supply) อันจะส่งผลให้เกิดการเติบโตของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยและลดการนำเข้าซอฟต์แวร์จากต่างประเทศ เพื่อเป็นการยกระดับการดำเนินธุรกิจของเอสเอ็มอีให้เข็มแข็งและสามารถแข่งขันในเวทีโลกต่อไปได้ โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศได้ทดลองใช้ซอฟต์แวร์ฟรีเป็นระยะเวลา 6 เดือน รวมกว่า 30 ซอฟต์แวร์ ซึ่งคาดว่าผู้ประกอบการจะนำองค์ความรู้และทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัลไปประยุกต์ใช้กับการบริหารจัดการธุรกิจและสามารถปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์ปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ ในปี 2565 ดีพร้อมได้มีการปรับเปลี่ยนการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการให้ตอบโจทย์ความต้องการในทุกมิติและสอดรับกับบริบททั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้ นโยบาย “DIProm CARE: ดีพร้อม แคร์” ผ่านกระบวนการวิเคราะห์ปัญหาที่มีผลต่อการเติบโตทางธุรกิจ เพื่อทำให้ผู้ประกอบการและภาคธุรกิจอุตสาหกรรมเข้าใจถึงปัญหาที่แท้จริง (Customization) รวมทั้งมุ่งเน้นในการสรรหาเครื่องมือและเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับระดับของสถานประกอบการเพื่อให้ตรงกับปัญหาที่เป็นไปตามบริบทที่แท้จริง อีกทั้ง ยังมีการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาคเอกชน (Engagement) ที่มีความโดดเด่นในแต่ละด้านมาช่วยพัฒนาและสนับสนุนภาคธุรกิจอุตสาหกรรมให้มีความเข้มแข็งและเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป ### PR@DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
09 มี.ค. 2565
ส่งเสริมสนับสนุน สื่อรณรงค์ เป็นการปลูกฝังค่านิยมการต่อต้านการทุจริตและสร้างจิตสำนึกอันดีงามในด้านคุณธรรม จริยธรรม ให้กับเจ้าหน้าที่ กสอ.
ส่งเสริมสนับสนุน สื่อรณรงค์ เป็นการปลูกฝั่งค่านิยมการต่อต้านการทุจริตและสร้างจิตสำนึกอันดีงามในด้านคุณธรรม จริยธรรม ให้กับเจ้าหน้าที่ กสอ. เพื่อสร้างวัฒนธรรมที่ดี และปลูกฝังบุคลากรให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ สุจริต ไม่รับสินบน สร้างความตระหนักรู้ให้กับบุคลากร เพื่อป้องกันไม่ให้กระทำความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวมโดยเผยแพร่ให้เจ้าหน้าที่ของ กสอ. ทุกคน ได้รับทราบและถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งจัดทำโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ แสดงถึงนโยบายดังกล่าว
01 มี.ค. 2565
“ดีพร้อม” เชื่อมโยงเครือข่าย CIV DIPROM สร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้ทุกชุมชนทั่วประเทศ
กรุงเทพฯ 1 มีนาคม 2565 – นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานพิธีเปิดกิจกรรมเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการชุมชนสู่การพัฒนาหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Village DIPROM : CIV DIPROM) ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม (DIPROM) กลุ่มผู้ประกอบการหมู่บ้าน CIV DIPROM โดยมี โดยนายวัชรุน จุ้ยจำลอง ผู้อำนวยการกองพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน กสอ. กล่าวรายงาน ในรูปแบบออนไลน์ผ่านระบบแอปพลิเคชัน Zoom Meeting การจัดกิจกรรมดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อระดมความคิดเห็นจากผู้ประกอบการหมู่บ้าน CIV DIPROM จำนวน 251 ชุมชน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และความร่วมมือในการพัฒนาธุรกิจ จนสามารถยกระดับชุมชนให้เชื่อมโยงการท่องเที่ยวได้อย่างเต็มรูปแบบ พร้อมทั้งยังสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจจากการสร้างอาชีพและรายได้ให้กับคนในชุมชน โดยการระดมความคิดเห็นในหัวข้อต่าง ๆ ดังนี้ ปัญหาและผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ความต้องการด้านพื้นฐานและความต้องการการสนับสนุนด้านต่าง ๆ ได้แก่ ด้านผลิตภัณฑ์ (การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ มาตรฐานสินค้าและบริการ โอกาสทางการตลาด) ด้านกระบวนการ (การผลิต/เทคโนโลยี/เครื่องจักร การเชื่อมโยงเครือข่ายเพื่อส่งเสริมธุรกิจ) และด้านบุคลากร (การบริหารจัดการชุมชน ทักษะที่จำเป็นสำหรับผู้ประกอบการ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน) โดยการระดมความคิดเห็นดังกล่าวจะถูกนำไปรวบรวมเพื่อเป็นข้อมูลสาระสำคัญในการจัดทำแผนการดำเนินงาน/โครงการการเชื่อมโยงเครือข่ายร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา อาทิ การบูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อดึงพลังจากนักศึกษาที่เป็นคนรุ่นใหม่ จากหลากหลายสาขาวิชา เข้ามาร่วมพัฒนาชุมชนหมู่บ้าน CIV ซึ่งนักศึกษาจะได้ใช้องค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ ตลอดจนนวัตกรรมและเทคโนโลยี ไปพัฒนาและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้แก่ชุมชนเป็นการเพิ่มศักยภาพก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงานหรือ การประกอบธุรกิจ รวมถึงความร่วมมือกับ Big Brother บริษัท บิ๊ก คาเมร่า คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มามีส่วนช่วยในการพัฒนาและส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการตลาด (Marketing Public Relations: MPR) ให้กับผู้ประกอบการหมู่บ้าน CIV และนิสิตนักศึกษาในการสร้างสรรค์สื่อหรือเครื่องมือการประชาสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยวให้ชุมชนเป็นที่รู้จักผ่านโซเชียลมีเดีย (Social Media) เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวในชุมชนมากขึ้น เพื่อมุ่งหวังให้ทุกชุมชนมีความเข้มแข็งและอยู่ได้อย่างยั่งยืน ### PRDIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
01 มี.ค. 2565
ดีพร้อม เปิดตัว 101 สตาร์ แชมป์บรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน หวังสร้างมูลค่าเศรษฐกิจด้วยบรรจุภัณฑ์ไทย
กรุงเทพฯ 28 กุมภาพันธ์ 2565 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานมอบรางวัลและกล่าวแสดงความยินดีแก่ผู้ชนะการประกวดรางวัลการประกวดบรรจุภัณฑ์ไทย ประจำปี 2564 (ThaiStar Packging Awards 2021) พร้อมทั้งแถลงข่าวการจัดงาน ProPak Asia 2022 และการประกวดบรรจุภัณฑ์ไทยประจำปี 2565 (ThaiStar Packaging Awards 2022) ร่วมด้วย นายมนู เลียวไพโรจน์ ประธานบริษัท อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย และนางสาวรุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการภูมิภาคอาเซียน บริษัท อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ร่วมแถลงข่าวในครั้งนี้ โดยมี นายเจตนิพิฐ รอดภัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวรายงาน ในรูปแบบออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน Zoom Meeting และ Facebook Fanpage : กองพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ การจัดกิจกรรมประกวดบรรจุภัณฑ์ไทย (ThaiStar Packaging Awards) เป็นความร่วมมือระหว่าง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการบรรจุภัณฑ์ มาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 50 โดยในปีนี้ จัดขึ้น ภายใต้หัวข้อ “วิถีใหม่ที่ยั่งยืน” (Sustainability for Next Normal) ซึ่งเป็นโจทย์ให้ผู้ส่งผลงานทุกคนได้ท้าทายว่าจะต้องออกแบบอย่างไร ให้เกิดความยั่งยืนได้อย่างแท้จริง และตอบสนองต่อรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คนทั่วโลกที่กำลังเปลี่ยนไปเป็นวิถีแห่ง Next Normal อย่างสมบูรณ์ ซึ่ง นักเรียน นักศึกษา บริษัท ผู้ประกอบการ หน่วยงาน นักออกแบบอิสระ และประชาชนผู้สนใจ สามารถส่งผลงานบรรจุภัณฑ์เข้าประกวดได้ตั้งแต่บัดนี้ ถึงวันที่ 30 เมษายน 2565 นี้ โดยผลงานที่ได้รับรางวัลจะได้รับการพิจารณาให้เป็นตัวแทนประเทศไทย ในการประกวดบรรจุภัณฑ์ ระดับเอเชีย (AsiaStar Awards 2022) และระดับโลก (WorldStar Awards) เพื่อยกระดับมาตรฐานการประกวดบรรจุภัณฑ์ไทยให้ทัดเทียมการประกวดระดับสากล และเพื่อเป็นการพัฒนาการจัดการประกวดบรรจุภัณฑ์ไทยให้เป็นเวทีที่สามารถพัฒนาวงการอุตสาหกรรมไทยได้อย่างแท้จริงต่อไป และในโอกาสนี้ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติมอบรางวัลการประกวดบรรจุภัณฑ์ไทย ประจำปี 2564 (ThaiStar Packaging Award 2021) โดยมีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดทุกประเภทรวมทั้งสิ้น 245 ผลงาน และได้รับรางวัล จำนวนทั้งสิ้น 65 รางวัล ประกอบด้วยประเภทที่ได้รับรางวัล Thaistar Packaging Awards 2021 จำนวน 58 รางวัล รางวัลพิเศษการออกแบบบาร์โค้ดบนบรรจุภัณฑ์ จำนวน 4 รางวัล และรางวัลพิเศษการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จำนวน 3 รางวัล ทั้งนี้ ยังได้มีการมอบรางวัล AsiaStar 2020 จำนวน 24 รางวัล WorldStar Student 2020 และ WorldStar Student 2021 จำนวน 7 รางวัล และ WorldStar Awards 2021 จำนวน 5 รางวัล ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการเชิดชูเกียรติให้เจ้าของผลงานที่ชนะการประกวดแล้ว ยังเป็นการสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทย รวมถึงเป็นการประชาสัมพันธ์ ส่งเสริมและสนับสนุนนักออกแบบบรรจุภัณฑ์ไทยในเชิงธุรกิจต่อเหล่าสมาชิกประเทศในระดับสากล ### PRDIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
01 มี.ค. 2565
ดีพร้อม จัดกิจกรรม DIPROM Financial Literacy เดินหน้าเสริมแกร่งทางการเงินทุกมิติให้ผู้ประกอบการ
กรุงเทพฯ 23 กุมภาพันธ์ 2565 - นายเจตนิพิฐ รอดภัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกเพื่อวางแผนทางการเงินและการบริหารจัดการหนี้ (DIPROM Financial Literacy) ร่วมด้วย นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม (DIPROM) คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และ ผู้ประกอบการ โดยมี นายวรวิทย์ จิรัฐิติเจริญ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่ กล่าวรายงาน ณ ห้องประชุม Prime Hall B โรงแรม เดอไพรม์ แอทรางน้ำ ราชเทวี กิจกรรมดังกล่าว ดีพร้อม ได้ร่วมมือกับสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2564 โดยมุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้ประกอบการได้รับพัฒนาความรู้ด้านการเงินในหลากหลายมิติ ได้แก่ การวางแผนทางการเงิน การบริหารจัดการหนี้ รวมถึงความรู้ด้านธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มโอกาส ในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้แก่ ปัญหาภาระหนี้ ปัญหารายได้ลดลง ปัญหาการขาดสภาพคล่องและเงินทุน และช่วยเชื่อมโยงแหล่งเงินทุน จากสถาบันการเงินต่าง ๆ ให้สถานประกอบการได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน ผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้และให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญทางการเงินในด้านต่าง ๆ อาทิ การเขียนแผนธุรกิจ การบริหารธุรกิจ โรงงานอุตสาหกรรมและทรัพย์สินทางปัญญา การขอสินเชื่อและการวางแผนทาง การเงิน การบัญชีและภาษี และการตลาด เป็นต้น ทั้งนี้ จากการดำเนินกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปี 2564 ดีพร้อมสามารถเชื่อมโยงแหล่งเงินทุนหมุนเวียน ให้แก่ผู้เข้าอบรมในวงเงิน 9.5 ล้านบาท และ จากแหล่งเงินทุนของสถาบันการเงินอื่น ๆ ในวงเงินกว่า 142 ล้านบาท ### PRDIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
24 ก.พ. 2565
ดีพร้อม ปลุกพลังเครือข่าย ดีพร้อมฮีโร่ เสริมแกร่งกลุ่มธุรกิจเพื่อสังคม ตีโจทย์แก้ปัญหาเศรษฐกิจฐานราก ยกระดับชุมชนอยู่คู่อุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน
กรุงเทพฯ 22 กุมภาพันธ์ 2565 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธาน พิธีเปิดตัวกิจกรรมการสร้างเครือข่ายผู้นำธุรกิจใหม่ (DIPROM HEROES) ร่วมด้วยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ผู้แทนหน่วยงานภาคีเครือข่าย และ ผู้ประกอบการ ณ ห้องบอลรูม A ชั้น 7 โรงแรม เดอะ เวสทิน แกรนด์ สุขุมวิท กิจกรรมดังกล่าว เป็นการดำเนินงานให้คำปรึกษาแนะนำสำหรับผู้นำเครือข่ายรูปแบบใหม่ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาวิสาหกิจต้นแบบในการสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ให้สามารถบรรเทาปัญหาและฟื้นฟูเครือข่ายเอสเอ็มอี รวมถึงชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยให้ธุรกิจที่มีเทคโนโลยีหรือบริการเข้าไปสนับสนุน แบ่งปัน หรือช่วยเหลือเครือข่ายกับชุมชน ซึ่งการทำงานจะแบ่งกลุ่มเป้าหมายออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1 “ฮีโร่” (Hero) คือ กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs หรือวิสาหกิจชุมชน ที่ทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างมีความคิดสร้างสรรค์ โดยใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และการตลาด ไปปรับใช้ในธุรกิจและสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน และ 2 “แองเจิ้ล” (Angel) คือ องค์กรขนาดใหญ่หรือหน่วยงานที่มีศักยภาพ มาร่วมสนับสนุนธุรกิจของเครือข่ายของกลุ่มฮีโร่ ตั้งแต่ การซื้อขาย ร่วมงาน ให้ทุนร่วมลงทุน หรือ ประชาสัมพันธ์ ซึ่งจะได้ประโยชน์จากการทำงานร่วมกับกลุ่มฮีโร่ ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับการฝึกอบรม ภายใต้กรอบความคิด (Mindset) 3 องค์ประกอบคือ 1) สิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมภิบาล 2) การตลาด 5.0 เทคโนโลยีเพื่อมวลมนุษยชาติ และ 3) แก่นแท้ธุรกิจสตาร์ทอัพ โดยคาดว่าเมื่อจบโครงการผู้เข้าร่วมโครงจะสามารถต่อยอดธุรกิจในรูปแบบใหม่ และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 10 ล้านบาท ### PRDIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
23 ก.พ. 2565
ดีพร้อม ผนึกกำลัง บ.เดลต้าฯ คิกออฟกองทุนนางฟ้าปีที่ 7 พร้อมดึง 3 พันธมิตรเอกชน เปิด Business Camp ติดปีกสตาร์ทอัพไทย
กรุงเทพฯ 21 กุมภาพันธ์ 2565 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “การบริหารจัดการธุรกิจ (Business Camp)” ภายใต้ กิจกรรมเชื่อมโยงแหล่งเงินทุนสําหรับผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่อย่างดีพร้อม (Delta x DIProm Angel Fund) พร้อมร่วมเสวนาในหัวข้อ “ความร่วมมือในการสนับสนุนผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) และแนวทางการพิจารณาให้ทุนประจําปี พ.ศ. 2565” ร่วมด้วย นายจาง ช่าย ซิง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จํากัด (มหาชน) ดร.เมธินี เทียบรัตน์ หัวหน้างานเผยแพร่นวัตกรรม สํานักงานบริหารนวัตกรรม บริษัท เอสซีจี ซีเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จํากัด นายชาล เจริญพันธ์ ผู้บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท ฮับบา จํากัด โดยมี นายเจตนิพิฐ รอดภัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ผู้ประกอบการ และสื่อมวลชนเข้าร่วมงานดังกล่าว ณ The Grounds ชั้น 31 อาคาร G Tower ถนนพระราม 9 การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการดังกล่าว เป็นการบ่มเพาะทักษะทางธุรกิจอย่างเข้มข้น เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ในภาคปฏิบัติเกี่ยวกับการนำเสนอแผนธุรกิจที่สามารถนำไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของอุตสาหกรรมและนวัตกรรมที่ได้พัฒนาขึ้น โดยกิจกรรมดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ประกอบการพัฒนา 6 ทักษะทางธุรกิจ เพื่อเตรียมพร้อมก่อนเข้าสู่แหล่งเงินทุนคุณภาพ ประกอบด้วย การวางองค์ประกอบและโมเดลธุรกิจ การออกแบบนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ การออกแบบการสร้างรายได้แบบต่าง ๆ วิเคราะห์การวางแผนด้านการเงิน การทดสอบตลาด การสื่อสารและการนำเสนอผลงานเพื่อให้เกิดการตัดสินใจร่วมลงทุน โดยได้รับความร่วมมือจากบริษัท เอสซีจี ซีเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด และบริษัท ฮับบา จำกัด ร่วมเป็นที่ปรึกษาในการช่วยเพิ่มพูนองค์ความรู้และทักษะต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจให้กับสตาร์ทอัพก่อนการนำเสนอโมเดลธุรกิจต่อแหล่งทุนในกิจกรรม Pitching Day ยิ่งไปกว่านั้นได้มีความร่วมมือกับ บริษัท มีเดีย แท็งค์ จำกัด (Shark Tank Thailand) เพื่อส่งต่อสตาร์ทอัพเข้าร่วมรายการให้สามารถสร้างโอกาสในการเชื่อมโยงไปสู่นักลงทุนรายอื่น ๆ ได้เพิ่มขึ้น โดยในปี 2565 ดีพร้อม ได้ร่วมมือกับบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 ผ่านโครงการเชื่อมโยงแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่อย่างดีพร้อม หรือ Delta X DIProm Angel Fund เพื่อพัฒนาและส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น หรือสตาร์ทอัพให้มีขีดความสามารถที่สูงขึ้น และสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกด้วยการใช้นวัตกรรมหรือองค์ความรู้ในอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ได้มีความร่วมมือการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจใหม่ให้เชื่อมโยงแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่ (Angel Fund) มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งให้การสนับสนุนเงินทุนให้เปล่าสตาร์ทอัพไปแล้วจำนวน 183 ทีม และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจสูงถึง 650 ล้านบาท ซึ่งได้สอดรับกับนโยบาย “DIProm CARE: ดีพร้อมแคร์ ซึ่ง 2 ใน 4 ด้านหลักที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่ คือ 1. ด้านการพัฒนาและยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ภายใต้สถานการณ์ทุกการเปลี่ยนแปลง (Reformation) โดยการปฏิรูปกลไกการดำเนินงานให้สอดคล้องกับยุค New Normal และ 2. ด้านการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่มีความโดดเด่นในแต่ละด้านทั้งภาครัฐและเอกชน (Engagement) มาช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการใหม่ให้มีการเติบโตที่ดียิ่งขึ้น โดยมุ่งเน้นการเชื่อมโยงพันธมิตรต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมและเติมเต็มการพัฒนาให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ### PRDIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
21 ก.พ. 2565
“อธิบดีณัฐพล” เยี่ยมชมบูธและให้กำลังใจผู้ประกอบการ คพอ. ภายในงาน "DIPROM MOTOR SHOW 2022"
จ.ลำปาง 15 กุมภาพันธ์ 2565 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เยี่ยมชมบูธและให้กำลังใจผู้ประกอบการ คพอ. ภายในงาน "DIPROM MOTOR SHOW 2022" ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าอุตสาหกรรมภาคเหนือ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Meeting, Industrial Conference and Exhibition Center : DIPROM MICE CENTER) อำเภอเกาะคา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมคณะผู้บริหารดีพร้อม เยี่ยมชมและให้กำลังใจผู้ประกอบการ คพอ. ที่เข้าร่วมจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าภายในงาน "DIPROM MOTOR SHOW 2022" ระหว่างวันที่ 9 - 16 กุมภาพันธ์ 2565 โดยมีผู้ประกอบการ คพอ. จากทั่วประเทศเข้าร่วม จำนวน 40 ร้านค้า ประกอบด้วย สินค้าอุปโภคบริโภค ของตกแต่งบ้าน อาหารแปรรูป และของใช้เบ็ดเตล็ด รวมถึงผู้ประกอบการที่มีการปรับตัวเนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ด้วยการปรับเปลี่ยนธุรกิจ พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส เพื่อที่จะสามารถดำเนินธุรกิจได้ต่อไป อาทิ ผู้ประกอบการที่หันมารับซ่อม สร้าง และดัดแปลงรถไฟฟ้า ซึ่งจากเดิมรับตัดเย็บเสื้อผ้า รวมถึงผู้ประกอบการที่หันมาขายต้นกระท่อม ซึ่งจากเดิมขายเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน แต่พอเจอผลกระทบจากโรคโควิด-19 จึงปรับเปลี่ยนธุรกิจ และสามารถสร้างรายได้ได้มากกว่าเดิม ### PRDIProm (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
17 ก.พ. 2565