“แม่ทัพณัฐพล” ติวเข้ม เติมทักษะ ปั้นอาชีพ สร้างรายได้ชุมชน นำร่อง 11 จ. หวังกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก สร้างมูลค่าเพิ่มทาง ศก. โตกว่า 66 ลบ.
กรุงเทพฯ 20 กรกฎาคม 2565 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นประธานในการประชุมหารือเตรียมการดำเนินงานโครงการ DIPROM เติมทักษะ ปั้นอาชีพ เสริมสร้างรายได้ให้ชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ร่วมด้วย นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) จากส่วนกลาง และศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค หรือ ดีพร้อมเซ็นเตอร์ (DIPROM CENTER) ในรูปแบบออนไลน์ผ่านระบบแอปพลิเคชัน Zoom Meeting โดยภายในที่ประชุม ได้ร่วมหารือแนวดำเนินงานโครงการดังกล่าว กับหน่วยงานดีพร้อมเซ็นเตอร์ และหลักสูตรต่าง ๆ ที่จะนำไปฝึกอาชีพระยะสั้นให้กับวิสาหกิจชุมชนในแต่ละพื้นที่ ซึ่งประกอบด้วย 4 หลักสูตร ได้แก่ 1) พัฒนาทักษะอาชีพพื้นฐานด้านการผลิต 2) พัฒนาทักษะอาชีพพื้นฐานด้านการบริการ 3) พัฒนาด้านผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ และ 4) พัฒนาต่อยอดทักษะที่จำเป็นต่อการประกอบธุรกิจ โดยนำร่องส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจชุมชน 4,800 คน ในพื้นที่ 11 จังหวัด และคาดว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นกว่า 66 ล้านบาท นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังได้ร่วมกันเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะต่าง ๆ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการกำหนดระยะเวลาการดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมาย ตลอดจนการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ในการดำเนินงานดังกล่าว ทั้งนี้ การดำเนินงานโครงการดังกล่าว เป็นการนำร่องในการส่งเสริม ฝึกอาชีพ และพัฒนาทักษะการประกอบอาชีพให้แก่ชุมชน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างรายได้แก่ชุมชนให้ดียิ่งขึ้น อีกทั้ง ยังเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง โดยการจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการพัฒนาสินค้าชุมชน สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ เสริมทักษะการผลิต และเพิ่มประสิทธิภาพทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการและชุมชนในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ ### PRDIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
21 ก.ค. 2565
“อธิบดีณัฐพล” ร่วมบันทึกเทปถวายพระพรเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 12 สิงหาคม 2565
กรุงเทพฯ 19 กรกฎาคม 2565 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมบันทึกเทปถวายพระพรเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 12 สิงหาคม 2565 เพื่อแสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ โดยมี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายสุชาติ ไตรแสงรุจิระ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายกฤชนนท์ อัยยปัญญา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และหัวหน้าส่วนราชการของกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าร่วมในครั้งนี้ ณ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) ถนนวิภาวดีรังสิต #PRDIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน
21 ก.ค. 2565
“อธิบดีณัฐพล” นำทีมดีพร้อม เข้ารอบสุดท้าย 1 ใน 7 หน่วยงาน ผ่านการ site visit ตรวจประเมินรางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ หมวด 1 การนำองค์การและความรับผิดชอบต่อสังคม
กรุงเทพฯ 18 กรกฎาคม 2565 - ดร. ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรตินำเสนอผลงาน เพื่อรับการพิจารณาตรวจประเมินรางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ณ พื้นที่ปฏิบัติงาน ประจำปี พ.ศ. 2565 ร่วมด้วย นายภาสกร ชัยรัตน์ นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมด้วย คณะกรรมการตรวจประเมินรางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ หมวด 1 การนำองค์การและความรับผิดชอบต่อสังคม ประกอบไปด้วย นายนรชิต สิงหเสนี อดีตปลัดกระทรวงต่างประเทศ นางทองอุไร ลิ้มปิติ อดีตรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นายปวิณ ชำนิประศาสน์ อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย และเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) ผ่านระบบออนไลน์ทางแอปพลิเคชัน Zoom Meeting อธิบดีณัฐพล ได้นำเสนอผลงานของดีพร้อม ที่แสดงถึงความโดดเด่น แนวทางปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ การนำองค์การ Leadership : Direction >> Rebrand >> Reform / Strategy & Planning : Action Plan 2565 - 2570 >> Policy ปั้น ปรุง เปลี่ยน , STI , CARE >> COVID 19 MODE & เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ / Communication : Formal - Semi - formal ภายใน - ภายนอก (ผู้มี ส่วนได้ส่วนเสีย) และ Monitoring and Evaluation การประเมินรายบุคคล การติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน KPI และการกำกับความโปร่งใส จริยธรรม ฯลฯ ความรับผิดชอบต่อสังคม ในด้านต่าง ๆ ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านสาธารณสุข #PRDIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
19 ก.ค. 2565
“อธิบดีณัฐพล” จับมือรัฐบาลท้องถิ่นจังหวัดชิบะ ขับเคลื่อนนโยบาย BCG ขยายผลเทคโนโลยีรถยนต์พลังงานไฮโดรเจน เพื่อเป็นทางเลือกให้ภาคยานยนต์และโลจิสติกส์ไทย
ประเทศญี่ปุ่น 16 กรกฎาคม 2565 - ดร. ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมด้วยนายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมหารือแนวทางความร่วมมือกับคณะผู้แทนรัฐบาลท้องถิ่นจังหวัดชิบะ และแนวทางการดำเนินงานเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์การสร้างสังคมปราศจากคาร์บอนโดยการประยุกต์ใช้พลังงานไฮโดรเจน โดยมีบริษัท Idemitsu Kosan ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำด้านพลังงานของญี่ปุ่นให้ข้อมูล พร้อมลงพื้นที่สำรวจและศึกษาข้อมูล ณ สถานีไฮโดรเจนชิบะคิตะ การหารือในครั้งนี้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการสร้างสังคมปราศจากคาร์บอน โดยเป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับนโยบาย BCG ของไทย และนโยบาย Carbon Neutrality ของญี่ปุ่น ซึ่งจังหวัดชิบะให้ความสำคัญในการใช้พลังงานไฮโดรเจนเป็นพลังงานทดแทน จึงได้มีการเชิญผู้แทนจากบริษัท Idemitsu Kosan เข้าให้ข้อมูลเกี่ยวกับพลังงานไฮโดรเจน โดยมีแนวทางที่จะพัฒนาความร่วมมือในการดำเนินงานระหว่างกันในด้านที่เกี่ยวข้อง เช่น การวิจัยและพัฒนากระบวนการผลิตก๊าซไฮโดรเจน รวมทั้งการขยายผลการใช้แบตเตอร์รี่พลังงานไฮโดรเจนในรถยนต์ขนาดใหญ่ เช่น รถบรรทุก ในการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าว เพื่อให้ทันต่อความต้องการในอนาคตของธุรกิจโลจิสติกส์ โดยทั้งสองฝ่ายคาดหวังว่าจะมีความร่วมมือในด้านดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยไทยได้มีการสร้างนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ Smart Park และจะมีการนำพลังงานไฮโดรเจนเข้ามาใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถรับส่งแรงงานภายในนิคมอุตสาหกรรมดังกล่าว ซึ่งองค์ความรู้ที่ได้รับจากการหารือในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการกำหนดแนวทางการดำเนินงานของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยด้วย ทั้งนี้ ในการสำรวจข้อมูลเชิงพื้นที่ ณ สถานีไฮโดรเจนชิบะคิตะ ของบริษัท Idemitsu Kosan ซึ่งเป็นหนึ่งในห้าแห่งของสถานีไฮโดรเจนภายในจังหวัดชิบะนั้น ผู้แทนจากบริษัท Idemitsu Kosan ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารจัดการภายในสถานี พร้อมทั้งสาธิตวิธีการเติมไฮโดรเจนสำหรับรถยนต์พลังงานไฮโดรเจน (FVC) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดมลพิษต่ำ และมีความโดดเด่นในการเติมเชื้อเพลิง ทำให้ได้รับความสนใจจากภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ และโลจิสติกส์ #PRDIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน
18 ก.ค. 2565
"อธิบดีณัฐพล" รุดหารือ SMRJ เสริมแกร่ง SMEs สร้างโอกาสสู่ตลาดสากล ดันโต๊ะญี่ปุ่นเชื่อมโยงความร่วมมือ ช่วยสตาร์ทอัพ ยกระดับ DIPROM Incubation Center
ประเทศญี่ปุ่น 15 กรกฎาคม 2565 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมประชุมกับนายโทโยนากะ อัทสึชิ ผู้บริหารองค์การเพื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และนวัตกรรมภูมิภาคแห่งประเทศญี่ปุ่น (Organization for Small & Medium Enterprises and Regional Innovation, Japan : SMRJ) และคณะ ณ สำนักงาน SMRJ กรุงโตเกียว พร้อมทั้งร่วมหารือแนวทางส่งเสริมสตาร์ทอัพ ณ ศูนย์ส่งเสริมสตาร์ทอัพ โตได คาชิวะ เวนเจอร์ พลาซ่า การประชุมดังกล่าว ได้กล่าวถึงความร่วมมือระหว่าง ดีพร้อม และ SMRJ ที่ได้มีการแลกเปลี่ยนบุคลากรระหว่างกัน โดยปัจจุบัน นายอิโนะอุเอะ เท็ตสึยะ คือผู้แทนจาก SMRJ ที่มาประจำการ ณ โต๊ะญี่ปุ่น ดีพร้อม (DIPROM Japan Desk) ซึ่งได้มีบทบาทสำคัญในการสร้างโอกาสการเข้าสู่ตลาดสากลให้แก่ SMEs ของไทยผ่านการเชื่อมโยงข้อมูลบนแพลตฟอร์ม และฐานข้อมูลผู้ประกอบการ SME ไทยและญี่ปุ่น ต่อยอดสู่การจัดกิจกรรม Online Matching Café ซึ่งเป็นกิจกรรมการจับคู่ธุรกิจออนไลน์ พร้อมทั้งผลักดันผู้ประกอบการไทยเข้าสู่เวทีการเชื่อมโยง CEO Business Meeting จากหลากหลายอุตสาหกรรม โดย ดีพร้อม และ SMRJ ได้เห็นพ้องกันถึงการเผยแพร่แนวทางการดำเนินงานส่งเสริมร่วมกันของทั้งสองหน่วยงาน รวมทั้งผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น เพื่อดึงดูดผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ เข้ารับการสนับสนุนต่อไป พร้อมทั้งหารือเรื่องการส่งบุคลากรดีพร้อมมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการส่งเสริมผู้ประกอบการ ณ SMRJ อีกครั้งเพื่อยกระดับการดำเนินงานส่งเสริมผู้ประกอบการ SME ในเครือข่ายของดีพร้อม ภายหลังจากที่กิจกรรมดังกล่าวต้องหยุดชะงักลงอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกทั้งยังได้มีการร่วมกันหารือกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเพื่อต่อยอดสู่การดำเนินงานความร่วมมือต่อไปในอนาคตอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการส่งเสริมการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมไทย นอกจากนี้ SMRJ ยังได้แนะนำแนวทางการส่งเสริมสตาร์ทอัพ และมาตรการการสนับสนุนการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในสถานประกอบการ หรือ Digital Transformation (DX) ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพและสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานในด้านที่เกี่ยวข้องของดีพร้อมได้เช่นกัน และในเวลาต่อมา อธิบดีณัฐพล และคณะ ได้เดินทางไปยังศูนย์ส่งเสริมสตาร์ทอัพ โตได คาชิวะ เวนเจอร์ พลาซ่า เพื่อร่วมหารือเกี่ยวกับมาตรการการส่งเสริมสตาร์ทอัพของ SMRJ โตได คาชิวะ เวนเจอร์ พลาซ่า ซึ่งเป็นหนึ่งในศูนย์ส่งเสริมสตาร์ทอัพของ SMRJ จากทั้งหมด 29 แห่ง ตั้งอยู่ภายในเมืองคาชิวะ จังหวัดชิบะ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2547 เพื่อเป็นศูนย์ส่งเสริมสตาร์ทอัพอย่างครบวงจรผ่านความร่วมมือของ SMRJ รัฐบาลท้องถิ่นจังหวัดชิบะ เทศบาลเมืองคาชิวะ รวมทั้งสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ในปัจจุบันมีสตาร์ทอัพที่เข้ารับการส่งเสริมอยู่ทั้งสิ้น 13 ราย ที่ล้วนแล้วแต่เป็นสตาร์ทอัพที่มีคุณภาพ โดยสตาร์ทอัพที่เข้าร่วมจะได้รับการส่งเสริมอย่างครบวงจรทั้งในด้านสถานที่ เทคโนโลยี การสร้างเครือข่ายสตาร์ทอัพ การพัฒนาทักษะบุคลากร รวมทั้งการให้คำปรึกษาแนะนำในด้านการบริหารธุรกิจและการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งการหารือร่วมกันในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการยกระดับการดำเนินงานของศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการ DIPROM Incubation Center เพื่อให้สามารถพัฒนาสตาร์ทอัพที่มีความเข้มแข็งเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมไทยต่อไป #PRDIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน
18 ก.ค. 2565
"อธิบดีณัฐพล" เยือน METI ร่วมกำหนดเป้าหมายสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันบนเวทีโลกควบคู่ไปกับการส่งเสริมการลงทุนในไทย ภายใต้แนวคิด Co-Creation
ประเทศญี่ปุ่น 15 กรกฎาคม 2565 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม ร่วมด้วย นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมประชุมหารือกับนายมัตสึโอะ ทาเคฮิโกะ อธิบดีกรมนโยบายการค้า กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (Ministry of Economy, Trade and Industry: METI) และคณะ ณ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ในการหารือดังกล่าว ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันกำหนดเป้าหมายการดำเนินงานความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม โดยจะเร่งยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทย - ญี่ปุ่นและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันระดับสากลให้แก่ SMEs ไทยและญี่ปุ่น ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการลงทุนในประเทศไทยให้มีความสอดคล้องกับกรอบนโยบาย Thailand 4.0 ซึ่งแนวทางการดำเนินงานสู่เป้าหมายที่ร่วมกันกำหนดจะเป็นการใช้ประโยชน์จากกรอบความร่วมมือ Framework Document on Co-Creation for Innovative and Sustainable Growth ที่กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวง METI ได้มีการแลกเปลี่ยนกันเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา โดยทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันสร้างและพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมผ่านการขับเคลื่อนโครงการของดีพร้อม ภายใต้ความร่วมมือ LASI/ LIPE (หลีเป๊ะ)/ และโครงการ Smart Monozukuri รวมทั้งพัฒนาระบบการรับรองบุคลากรทักษะสูงเหล่านี้สู่การเป็นที่ปรึกษาเพื่อขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้ ทีมผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นจะเดินทางมาประเทศไทยเพื่อร่วมกันวางโครงสร้างของระบบการรับรองที่ปรึกษาต่อไป ทั้งนี้ คณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมได้ใช้โอกาสนี้ในการขอความร่วมมือจากกระทรวง METI ในการสนับสนุนและเชิญชวนนักลงทุนญี่ปุ่นไปลงทุนที่ประเทศไทย เพื่อใช้เป็นฐานการลงทุนและสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาค ที่จะช่วยก่อให้เกิดระบบห่วงโซ่อุปทานที่เข้มแข็งในภูมิภาค ต่อยอดสู่การเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในระดับสากลต่อไปได้ต่อไปในอนาคต อีกทั้ง การนิคมอุตสาหกรรมได้มีการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม Smart Park บริเวณพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง การพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC เพื่อรองรับการขยายความเชื่อมโยงอุตสาหกรรมสู่ระดับภูมิภาค โดยการนิคมอุตสาหกรรมมุ่งหวังที่จะสร้างนิคมอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงได้มีการวางแผนเพื่อนำพลังงานสะอาดเข้ามาใช้เป็นการทดแทนด้วยเช่นกัน ซึ่งโครงการดังกล่าวจะช่วยดึงดูดนักลงทุนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมไทยได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวง METI ยังได้มีการหารือกันในประเด็นต่าง ๆ อาทิ นโยบายเกี่ยวกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ การผลักดันการใช้รถยนต์ไฟฟ้า การสร้างสังคมปราศจากคาร์บอน รวมทั้งการใช้พลังงานทดแทน อาทิ พลังงานไฮโดรเจน ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะได้มีการร่วมกันหารือเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสาร พร้อมกำหนดรายละเอียดและแนวทางการดำเนินงานความร่วมมือที่เกี่ยวข้องต่อไป #PRDIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน
18 ก.ค. 2565
"อธิบดีณัฐพล" ชี้รูปแบบโครงการมินาโตะมิไร 21 การพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน เปลี่ยนพื้นที่ท่าเรือเก่าให้กลายเป็นศูนย์กลางเมืองใหม่ ร่วมทีมการนิคมฯ ต่อยอดสู่โมเดลประเทศไทยในอนาคต
ประเทศญี่ปุ่น 14 กรกฎาคม 2565 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม ร่วมด้วย นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คณะกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมพบปะผู้บริหารเขตมินาโตะมิไร 21 พร้อมรับฟังการบรรยายรูปแบบการพัฒนาเมืองตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ณ โยโกฮามะ แลนด์มาร์ก ทาวเวอร์ เมืองโยโกฮามะ สำหรับโครงการสร้างเมืองอัจฉริยะมินาโตะมิไร เป็น 1 ใน 6 โครงการ ของเมืองโยโกฮามะ ซึ่งนับว่าเป็นเมืองท่าและเมืองอุตสาหกรรมที่มีความรุ่งเรือง ซึ่งในปี 2503 เทศบาลเมืองนครโยโกฮามะ ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาเมืองผ่าน 6 โครงการ ได้แก่ การถมทะเลเพื่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม การสร้างเมืองอัจฉริยะ มินาโตะมิไร 21 การสร้างสะพานเชื่อมเมืองโยโกฮามะและจังหวัดโตเกียว การสร้างเขตที่อยู่อาศัยนิวทาวน์ การสร้างโครงข่ายการคมนาคม และการสร้างโครงข่ายระบบรางภายในเมือง โดยโครงการสร้างเมืองอัจฉริยะมินาโตะมิไร เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2526 ซึ่งได้มีการพัฒนาเมืองจากเมืองอุตสาหกรรมสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะที่มีท่าเรือ นิคมอุตสาหกรรม รวมถึงเขตที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร โดยมีการคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดจากการตั้งโรงงานอุตสาหกรรม โดยปัจจุบันเขตมินาโตะมิไร 21 เป็นแหล่งรวมศูนย์วิจัยและพัฒนาของบริษัทชั้นนำมากมาย อาทิ Sony Nissan Hitachi Shiseido LG รวมทั้งสิ้นกว่า 20 บริษัท นอกจากนี้ ภายในเขตมินาโตะมิไร 21 ยังมีสภาพแวดล้อมและโครงสร้างพื้นที่ฐานที่เหมาะสมสำหรับนักวิจัยและวิศวกร จึงทำให้บริษัทชั้นนำต่าง ๆ ให้ความไว้วางใจแล้วเลือกตั้งศูนย์วิจัยภายในพื้นที่ ตลอดจนได้รับการพัฒนามาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ซึ่งภาคอุตสาหกรรมไทยสามารถใช้เขตมินาโตะมิไร 21 เป็นต้นแบบในการพัฒนาและสร้างเมืองอัจฉริยะต่อไป ##PRDIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน
18 ก.ค. 2565
รมว.สุริยะ มอบหมาย อธิบดีณัฐพล นำคณะ อก. แท็คทีมญี่ปุ่น เซ็นแล้ว! ความร่วมมือยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทย ต่อยอดพัฒนาและสนับสนุนเอสเอ็มอี ดึงดูดการลงทุนภาคอุตสาหกรรมของสองประเทศ
ประเทศญี่ปุ่น 14 กรกฎาคม 2565 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และ นายยามานากะ ทาเคฮารุ นายกเทศมนตรีเมืองโยโกฮามะ ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรม ระหว่าง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) และ เมืองโยโกฮามะ โดยมี นายสิงห์ทอง ลาภพิเศษพันธุ์ เอกอัคราชทูตประจำกรุงโตเกียว นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายชาญ ตุลยะเสถียร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายโสภณ ตันประสิทธิกุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามความร่วมมือดังกล่าว ณ ศาลากลางโยโกฮามะ เมืองโยโกฮามะ การลงนาม MOU ดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อการแลกเปลี่ยนบุคลากรในการดำเนินงานผลักดันให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยและญี่ปุ่น และต่อยอดสู่การขยายความร่วมมือเพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยผ่านกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การจับคู่ธุรกิจ การจัดสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้ รวมถึงการเสริมสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งให้กับหน่วยงานที่ดำเนินงานด้านการส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของทั้ง 2 ประเทศ สำหรับเมืองโยโกฮามะ ประเทศญี่ปุ่น (City of Yokohama : COY, Japan) ถือเป็นเมืองท่าที่สำคัญในจังหวัดคานากาวะ และมีการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมของบริษัทชั้นนำมากมาย จึงทำให้เมืองโยโกฮามะเป็นศูนย์กลางพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมที่สำคัญ รวมทั้งมีแนวทางการดำเนินงานด้านการส่งเสริมผู้ประกอบการของเมืองอย่างเป็นระบบโดยหน่วยงานภาครัฐ ทำให้การเชื่อมโยงผู้ประกอบการไทยและผู้ประกอบการในเมืองโยโกฮามะที่จะเกิดขึ้นในอนาคตมีแนวโน้มที่จะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ที่ผ่านมา ดีพร้อม ได้มีความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่นในลักษณะต่าง ๆ ได้แก่ การลงนามบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding: MOU) ในหนังสือแสดงเจตจํานง (Letter of Intent: LOI) และการลงนามบันทึกความร่วมมือ (Memorandum of Cooperate: MOC) กับรัฐบาลท้องถิ่น จำนวน 21 แห่ง 22 ฉบับ รัฐบาลกลาง จำนวน 4 แห่ง 6 ฉบับ และหน่วยงานเอกชน จำนวน 4 แห่ง 4 ฉบับ เพื่อส่งเสริมการดำเนินงานด้านการพัฒนาขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมไทยผ่านการรับการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการผลิต รวมทั้งเสริมสร้างเครือข่ายการเชื่อมโยงผู้ประกอบการของไทยและญี่ปุ่นให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันญี่ปุ่นมีความสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยเป็นอย่างมาก อุตสาหกรรมหลักของประเทศไทย อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ล้วนมีรากฐานมาจากประเทศญี่ปุ่นทั้งสิ้น ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เดินทางไปประเทศญี่ปุ่นเป็นที่แรก ภายหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความพร้อมให้นักลงทุนจากญี่ปุ่นมั่นใจว่า ไทยมีศักยภาพในการเป็นฐานการผลิตในภาคอุตสาหกรรมในยุค Next Normal และพร้อมดึงดูดให้นักลงทุนจากญี่ปุ่นมาลงทุนขยายฐานการผลิตเพิ่มในไทยต่อไป ##PRDIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน
18 ก.ค. 2565
“ดร.ณัฐพล” นำทัพผู้บริหารกระทรวงอุตฯ เยือนโตเกียว เดินหน้าสร้างความมั่นใจการลงทุนในไทย จับมือผู้ประกอบการญี่ปุ่นขับเคลื่อน New S-Curve และ BCG สู่เศรษฐกิจยุคใหม่
ประเทศญี่ปุ่น 14 กรกฎาคม 2565 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้รับมอบหมายจาก นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นำคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าร่วมการประชุม Round Table กับกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-Curve) และกลุ่มอุตสาหกรรมชีวภาพ และ BCG ของญี่ปุ่น ร่วมด้วย นายสิงห์ทอง ลาภพิเศษพันธุ์ เอกอัคราชทูตประจำกรุงโตเกียว นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายชาญ ตุลยะเสถียร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายโสภณ ตันประสิทธิกุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรม เข้าร่วมประชุมดังกล่าว ณ หอประชุม ณ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว การประชุมดังกล่าวจัดขึ้น เพื่อเชิญชวนนักลงทุนจากญี่ปุ่นให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย และประชาสัมพันธ์นโยบายการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมจากหน่วยงานต่าง ๆ ของไทย อาทิ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ขณะเดียวกัน การประชุมดังกล่าว ยังมีผู้บริหารจากบริษัทชั้นนำของประเทศญี่ปุ่นเข้าร่วมกว่า 50 บริษัท อาทิ TORAY DAIKIN DENSO โดยได้มีการหารือเกี่ยวกับพื้นที่ที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุน สิทธิประโยชน์ที่นักลงทุนจะได้รับ ความคืบหน้าในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ตลอดจนแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม โดยมีความมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และสนับสนุนให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ขึ้นในประเทศไทย รวมทั้งเห็นพ้องร่วมกันที่จะเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างนโยบายเศรษฐกิจ BCG และการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve ของไทยกับญี่ปุ่นเพื่อก้าวไปสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ซึ่งมีความสอดคล้องกัน ทั้งนี้ นักลงทุนชาวญี่ปุ่นที่เข้าร่วมการประชุมได้ให้ความสนใจในการขยายการลงทุนในประเทศไทย รวมทั้งมีแผนการขยายธุรกิจในอนาคตอันใกล้นี้เป็นจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้ความสัมพันธ์ในด้านอุตสาหกรรมระหว่างไทยและญี่ปุ่นมีความแน่นแฟ้นและเข้มแข็ง และนำไปสู่การลงทุนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคตร่วมกันของทั้งสองประเทศ ##PRDIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน
18 ก.ค. 2565
รัฐมนตรีสุริยะฯ ลงนามแสดงความอาลัย นายอาเบะ ชินโซ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุน ถึงแก่อสัญกรรม
กรุงเทพฯ 12 กรกฏาคม 2565 - นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมลงนามแสดงความอาลัยแด่ นายอาเบะ ชินโซ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ถึงแก่อสัญกรรม ณ สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน ทั้งนี้ นายอาเบะ ชินโซ อายุ 67 ปี เป็นนักการเมืองชาวญี่ปุ่นที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นและประธานพรรคเสรีประชาธิปไตย ตั้งแต่ปี 2549 - 2550 และอีกครั้งในปี 2555 - 2563 ซึ่งถือเป็นนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดเป็นอันดับ 3 ของญี่ปุ่น ###
18 ก.ค. 2565