"อสอ.ภาสกร" นำประชุมบอร์ดบริหารเงินทุนหมุนเวียนฯ 2/2567
กรุงเทพฯ 15 กุมภาพันธ์ 2567 – นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารเงินทุนหมุนเวียนฯ ครั้งที่ 2/2567 พร้อมด้วย นายวาที พีระวรานุงพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายเจตนิพิฐ รอดภัย ที่ปรึกษากรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรรมการจากหน่วยงานภาคีเครือข่าย คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 3 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Headquarter) และในรูปแบบออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชั่น Zoom Meeting ในที่ประชุมได้เร่งให้ประชาสัมพันธ์สินเชื่อธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม (DIPROM Pay for BCG) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีไว้สำหรับเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับธุรกิจภายใต้โมเดลเศรษฐกิจใหม่ หรือ BCG Moddel ให้กับผู้ประกอบการรายย่อยโดยได้ปรับปรุงรายละเอียดให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นประกอบด้วย การเพิ่มกลุ่มเป้าหมาย และอัตราดอกเบี้ย พร้อมมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปดำเนินการได้ทันที นอกจากนี้ ยังได้หารือถึงร่างตัวชี้วัดการประเมินผลการดำเนินงาน เพื่อความเหมาะสมและให้การดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ให้บรรลุเป้าหมายต่อไป ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
16 ก.พ. 2024
รมว.อุตสาหกรรม หารือ JETRO และ JCC ถกแนวโน้มทางเศรษฐกิจ ไทย-ญี่ปุ่น
วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมหารือกับนายคุโรดะ จุน ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น และนายยามาชิตะ โนริอากิ ประธานหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพ และคณะกรรมาธิการวิจัยทางเศรษฐกิจของหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ ในประเด็นเข้ารายงานสรุปผลการสำรวจแนวโน้มความเชื่อมั่นทางธุรกิจของบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทย โดยมีนายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวไพลิน เทียนสุวรรณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมเข้าร่วมด้วย ณ ห้องประชุม อก.1 ชั้น 2 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า การหารือในวันนี้ทางหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ หรือ JCCB ได้สรุปแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย ในรอบปลายปี 2566 และต้นปี 2567 โดยสรุปว่า แนวโน้มดัชนีเศรษฐกิจ (ID) อยู่ที่ -16 (ตัวเลขคาดการณ์) อันเนื่องมาจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจโลก และอุปสงค์การส่งออกที่ลดลง แต่มีการปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 10 ในช่วงครึ่งปีแรกของปี พ.ศ. 2567 เนื่องจากมีการขยายตัวเรื่องการท่องเที่ยว และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ตนและคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ไปเยือนญี่ปุ่น มีโอกาสเข้าร่วมหารือกับกระทรวง METI เพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรม ใน 4 มิติ ได้แก่ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การกำจัดซากรถยนต์ และการศึกษาเพื่อพัฒนาเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์สมัยใหม่ เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันและเกิดโอกาสใหม่ ๆ ในการลงทุน “กระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมส่งเสริม สนับสนุน และดูแลอำนวยความสะดวก ผู้ประกอบการจากประเทศญี่ปุ่น และทุก ๆ ประเทศที่ให้ความสนใจใช้ประเทศไทยเป็นฐานการลงทุน และขอให้ทางเชื่อมั่นว่า ไทยจะยังคงให้ความร่วมมืออันดีตลอดไป ทั้งในส่วนของนโยบายของรัฐบาลและทิศทางการลงทุนต่าง ๆ และขอขอบคุณที่ทาง JETRO และ JCC ได้ให้ความสำคัญต่อประเทศไทยเสมอมา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว ทั้งนี้ หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCC) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1954 ซึ่งจะครบรอบการก่อตั้ง 70 ปีในปีหน้า มีสมาชิกกว่า 1,650 บริษัท มีภารกิจในการดำเนินกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อส่งเสริมสมาชิกทั้งในด้านการค้า การลงทุน และการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างประเทศญี่ปุ่นและไทย ตลอดจนช่วยเหลือสังคมไทย อาทิ การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างสองประเทศ และการสนับสนุนด้านการศึกษา ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
15 ก.พ. 2024
ดีพร้อม เดินหน้าคัดเลือก “คนดี ศรี กสอ.” และ ข้าราชการพลเรือนดีเด่น กสอ. ปี 66
กรุงเทพฯ 12 กุมภาพันธ์ 2567 – นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือก “คนดี ศรี กสอ.” และข้าราชการพลเรือนดีเด่น กสอ. ประจำปี พ.ศ. 2566 ร่วมด้วย นายวาที พีระวรานุพงศ์ นายวัชรุน จุ้ยจำลอง และ นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะกรรมการฯ คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 3 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Headquarter) และทางออนไลน์ ผ่านระบบ ZOOM Meeting การประชุมในครั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้ร่วมพิจารณา รับทราบขั้นตอนเกณฑ์การคัดเลือกคนดี ศรี กสอ. โดยจะพิจารณาผลลงคะแนนโหวตเพื่อให้ได้คนดี ศรี กสอ. จำนวน 10 คน แล้วจึงจะพิจารณาคัดเลือกข้าราชการพลเรือนดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2566 จากผู้ได้รับเลือกเป็นคนดี ศรี กสอ. ให้ได้จำนวน 2 คน (เป็นข้าราชการหรือลูกจ้างประจำ) โดยพิจารณาจากการครองตน ครองคน ครองงาน การปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม และผลงานดีเด่น เพื่อแจ้งรายชื่อให้กระทรวงศึกษาธิการต่อไป ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
13 ก.พ. 2024
นายกรัฐมนตรีมอบรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี พ.ศ. 2566 เชิดชูเกียรติ 44 องค์กรต้นแบบทั่วประเทศ ย้ำสนับสนุนผู้ประกอบการ ยกระดับอุตสาหกรรมไทยให้พร้อมแข่งขันในเวทีโลก
กรุงเทพฯ 12 กุมภาพันธ์ 2567 - นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว ในพิธีมอบรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี พ.ศ. 2566 (The Prime Minister's Industry Award 2023) โดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธี เพื่อเชิดชูเกียรติ 44 องค์กรต้นแบบทั่วประเทศที่มีความเป็นเลิศด้านอุตสาหกรรม ภายใต้แนวคิด “อุตสาหกรรมเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน” สร้างขวัญกำลังใจในการพัฒนานวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ ยกระดับขีดความสามารถในแข่งขัน และนำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน และมีนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าร่วมเป็นเกียรติ ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายกรัฐมนตรี กล่าวแสดงความยินดีกับผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยมและรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่นทั้ง 44 องค์กร พร้อมขอบคุณกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ได้จัดการมอบรางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยมและรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่นขึ้นเป็นประจำทุกปี ซึ่งนับว่าเป็นการสนับสนุนและเป็นกำลังใจให้ผู้ประกอบการที่จะพัฒนาคุณภาพและผลิตภัณฑ์ของตนเองให้มีมาตรฐานและสามารถแข่งขันในเวทีโลกต่อไปได้ ซึ่งรัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของภาคอุตสาหกรรมที่มีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศมาโดยตลอด เนื่องจากเป็นแหล่งการจ้างงานและที่สำคัญเป็นภาคเศรษฐกิจที่ทำรายได้ให้กับประเทศไทยมากที่สุด นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งบ่มเพาะความรู้ เทคโนโลยีให้ก้าวหน้าและกระจายไปสู่เศรษฐกิจภาคอื่น ๆ การสะสมประสบการณ์และความชำนาญของผู้ประกอบการไทย ทำให้ภาคอุตสาหกรรมไทยไม่เป็นรองใคร โดยรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี พ.ศ. 2566 (The Prime Minister’s Industry Award 2023) รวมจำนวน 14 ประเภทรางวัล ประกอบด้วย 1. รางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม (The Prime Minister’s Best Industry Award) จำนวน 1 รางวัล 2. รางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น (The Prime Minister’s Industry Award) แบ่งเป็น 9 ประเภท ประกอบด้วย 1) ประเภทการเพิ่มผลผลิต 2) ประเภทการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม 3) ประเภทการบริหารความปลอดภัย 4) ประเภทการบริหารงานคุณภาพ 5) ประเภทการจัดการพลังงาน 6) ประเภทการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน 7) ประเภทอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต 8) ประเภทความรับผิดชอบต่อสังคม และ 9) ประเภทเศรษฐกิจหมุนเวียน 3. รางวัลอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมดีเด่น (The Prime Minister’s Small and Medium Industry Award) แบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1) ประเภทการบริหารจัดการที่ดี 2) ประเภทการพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ 3) ประเภทการจัดการเทคโนโลยีเชิงนวัตกรรม และ 4) ประเภทบริหารธุรกิจสู่สากล ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
13 ก.พ. 2024
"ดีพร้อม" ต้อนรับคณะจังหวัดอิชิกาวะ ประเทศญี่ปุ่น หารือแนวทางความร่วมมือด้านอุตสาหกรรม
กรุงเทพฯ 12 กุมภาพันธ์ 2567 – นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นำคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) ให้การต้อนรับ นายมัทสึชิมะ ไดสึเกะ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยคานาซาวะ (Kanazawa University) คณะผู้แทนจากจังหวัดอิชิกาวะ ประเทศญี่ปุ่น ในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะและหารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านอุตสาหกรรม ณ ห้องประชุม 3 ชั้น 3 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Headquarter) การพบกันครั้งนี้ ได้มีการแนะนำผู้ประกอบการจากประเทศญี่ปุ่นและนักศึกษาญี่ปุ่นที่มาศึกษา ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งสองฝ่ายและได้หารือถึงความร่วมมือในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม ภายใต้การดำเนินงานที่สอดรับกับแนวนโยบายในการสนับสนุนผู้ประกอบการของทั้ง 2 ประเทศ ตั้งแต่ การปรับตัวธุรกิจให้ก้าวทันกับเศรษฐกิจยุคใหม่ การพัฒนาและส่งเสริมผู้ประกอบการในสาขาอุตสาหกรรมที่มีความสนใจร่วมกัน โดยทั้งสองหน่วยงานยังได้เห็นพ้องถึงการต่อยอดความสัมพันธ์สู่การร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ หรือ MOU กับจังหวัดต่าง ๆ ในประเทศญี่ปุ่นเพิ่มเติม ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและขับเคลื่อนการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม ในฐานะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ของกันและกันต่อไป นอกจากนี้ ยังได้มีการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับงาน OTAGAI Forum ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 24 พฤษภาคม 2567 ณ ประเทศญี่ปุ่น อีกด้วย ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
13 ก.พ. 2024
"รวอ.พิมพ์ภัทรา" ร่วมประชุมองค์กรส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศญี่ปุ่น (JAHADEP) ผลักดันฮาลาลไทยสู่ระดับโลก
ประเทศญี่ปุ่น 9 กุมภาพันธ์ 2567 – นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมประชุมกับองค์กรส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศญี่ปุ่น (JAHADEP) โดยมีนายโอซามุ อุราเบะ ประธานองค์กรฯ ให้การต้อนรับ ณ สถานเอกอัครราชทูตไทย กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น การประชุมในวันนี้ เป็นการหารือแนวทางการพัฒนาและต่อยอดอุตสาหกรรมฮาลาลของไทย ตามนโยบายของรัฐบาล และได้มีการเชิญชวนให้บริษัทญี่ปุ่นที่อยู่ภายใต้เครือข่ายของ JAHADEP ประมาณ 800 กิจการ เข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพื่อใช้ประโยชน์จากความอุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรของไทย ในการเป็นฐานการผลิตและส่งออกอาหารฮาลาลไปยังตลาดที่มีศักยภาพสูง เช่น ตะวันออกกลางและอาเซียนต่อไป ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
12 ก.พ. 2024
"รวอ.พิมพ์ภัทรา" เยือนแดนปลาดิบ ต่อยอดความร่วมมือ SMRJ แลกเปลี่ยนบุคลากร ยกระดับผู้ประกอบการไทย-ญี่ปุ่น
ประเทศญี่ปุ่น 9 กุมภาพันธ์ 2567 – นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมประชุมกับองค์การเพื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และนวัตกรรมภูมิภาค แห่งประเทศญี่ปุ่น (SMRJ) โดยมีนายโทโยนากะ อัทสึชิ ประธาน SMRJ ให้การต้อนรับ ณ สถานเอกอัครราชทูตไทย กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น การประชุมในวันนี้ เป็นการต่อยอดความร่วมมือที่มีกันมาอย่างยาวนานกว่า 2 ทศวรรษ ทั้งในด้านการแลกเปลี่ยนบุคลากรมาประจำการที่ประเทศไทย เพื่อประสานและดำเนินงานร่วมกันให้เห็นผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น และความร่วมมือในการเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการไทย-ญี่ปุ่น ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ รวมถึงกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสและช่องทางขยายธุรกิจสู่ระดับโลก โดยในอนาคตจะมีแผนการร่วมกันในการพัฒนากลุ่ม Start-Up โดยเฉพาะสาขาเทคโนโลยีเชิงลึก การแพทย์ สิ่งแวดล้อม และอวกาศ ซึ่งมีความสำคัญต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการเจริญเติบโตของทั้งสองประเทศในยุคปัจจุบัน ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
12 ก.พ. 2024
"รมว.พิมพ์ภัทรา" สานต่อความร่วมมือ กระชับความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น
ประเทศญี่ปุ่น 9 กุมภาพันธ์ 2567 – นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นำทีมผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้ากระชับความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น พร้อมด้วย นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรม สมาชิกองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม แห่งประเทศญี่ปุ่น (NEDO) ณ สถานเอกอัครราชทูตไทย กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น กิจกรรมในวันนี้ เป็นการสานต่อและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม และ NEDO ที่มีต่อกันมายาวนานกว่า 30 ปี พร้อมหารือถึงโอกาสการพัฒนาความร่วมมือด้านเทคโนโลยี ด้านพลังงาน และด้านอุตสาหกรรม เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคปัจจุบัน อาทิ โครงการศึกษาพฤติกรรมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อให้สอดรับกับความต้องการของตลาดภายในประเทศ โครงการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และการนำกลับมาใช้ใหม่ และโครงการส่งเสริมการใช้รถบรรทุกและฟอล์คลิฟท์ที่ใช้พลังงานไฮโดรเจน เพื่อก้าวสู่อุตสาหกรรมสีเขียว ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
12 ก.พ. 2024
SMEs เฮทั่วไทย! กระทรวงอุตฯ ใจดี หลักทรัพย์ไม่มี ดีพร้อมค้ำประกันให้
รมว.พิมพ์ภัทรา สั่งการ ดีพร้อม ผนึกกำลัง บสย. และ 4 สถาบันการเงิน เพิ่มโอกาสให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุน แจ้งผลภายใน 7 วัน คาดสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 8,000 ล้านบาท กรุงเทพฯ 6 กุมภาพันธ์ 2567 - นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานและสักขีพยานในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเพื่อเข้าถึงหลักประกันและแหล่งเงินทุน ระหว่าง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาย่อม (บสย.) และสถาบันการเงินทั้ง 4 แห่ง เพื่อร่วมกันพัฒนากลไกสนับสนุน SMEs ให้มีโอกาสได้รับสินเชื่อจากสถาบันการเงินผ่านการช่วยค้ำประกันสินเชื่อจาก บสย. ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น นางสาวพิมพ์ภัทรา เปิดเผยว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีความซับซ้อนมากขึ้น ทั้งในเรื่องความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การชะลอตัวของระบบเศรษฐกิจทั่วโลก และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคต่าง ๆ ส่งผลให้เอสเอ็มอีไม่สามารถเริ่มต้นหรือขยายธุรกิจได้อย่างอย่างเต็มกำลัง อย่างไรก็ตาม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้กำหนดนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทยที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในระบบเศรษฐกิจ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สู่ความยั่งยืน รวมถึงการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพให้มีความเข้มแข็งภายใต้สถานการณ์ความเสี่ยงต่าง ๆ และความท้าทายรอบด้าน นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวต่อว่า กระทรวงอุตสาหกรรมพบว่าอุปสรรคหนึ่งที่สำคัญต่อการก้าวข้ามปัญหา และความท้าทายดังกล่าว คือ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ทำได้ยากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ เนื่องจากไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน รัฐบาลโดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม ได้ออกกลไกการค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อช่วยให้เอสเอ็มอีที่มีศักยภาพ แต่ขาดหลักประกันได้รับวงเงินที่เพียงพอกับความต้องการ อย่างไรก็ตาม จากการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่ายังมีเอสเอ็มอีจำนวนมากต้องใช้ทรัพย์สินของกิจการเพื่อค้ำประกันในสัดส่วนที่สูง เกิดต้นทุนค่าเสียโอกาส และทำให้เอสเอ็มอีที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ต้องแบกรับภาระต้นทุนทางการเงินมากเกินความจำเป็นจากการใช้สินเชื่อผิดประเภท “กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เล็งเห็นสภาพปัญหาดังกล่าว และนำมาเป็นโจทย์เพื่อหาแนวทางแก้ไข อย่างต่อเนื่อง จึงได้สั่งการให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เร่งหากลไกการค้ำประกันที่มีประสิทธิภาพ เพื่อสนับสนุนให้เอสเอ็มอีที่มีศักยภาพ แต่ขาดหลักประกัน ได้รับวงเงินสินเชื่อธุรกิจที่เพียงพอกับความต้องการในการต่อยอดธุรกิจ เป็นกลไกหมุนเวียนรายได้และกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ จนสามารถสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนในประเทศ จนส่งผลให้ธุรกิจสามารถแข่งขันในระดับประเทศและสากลได้” รมว. กล่าว นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม ตอบรับข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เร่งส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการทุกระดับ ให้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยร่วมมือกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย. พัฒนากลไกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วยการใช้การค้ำประกันสินเชื่อที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้ประกอบการมีโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้นโดยใช้หนังสือค้ำประกันแทนหลักทรัพย์ นอกจากนี้ยังมีการให้คำปรึกษาทางการเงิน ผ่าน โครงการ “ติดปีกเอสเอ็มอี หลักทรัพย์ไม่มี ดีพร้อมค้ำประกันให้” ซึ่งมี 4 พันธมิตรสถาบันการเงินเข้าร่วมสนับสนุน สอดรับกับนโยบาย Reshape the Future: โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต ผ่านกลยุทธ์การปรับตัวเพิ่มการเข้าถึงโอกาส (Reshape the accessibility) ภายใต้นโยบาย DIPROM Connection เพื่อขยายเครือข่ายความร่วมมือ สร้างโอกาสและยกระดับขีความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในครั้งนี้ เป็นการประสานความร่วมมือระหว่าง ดีพร้อม กับหน่วยงานพันธมิตรทั้ง 5 ได้แก่ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยผู้ประกอบการสามารถยื่นเรื่องผ่านดีพร้อมเพื่อขอรับการพิจารณาการค้ำประกันและส่งต่อให้กับทางสถาบันการเงินทั้ง 5 แห่ง ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 โดย ดีพร้อม และ บสย. ร่วมกันพิจารณาการค้ำประกันและสามารถแจ้งผลพิจารณาเบื้องต้นภายใน 7 วันทำการ ซึ่งคาดว่าจะมีเอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้วงเงินไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท และสามารถต่อยอดการเริ่มต้นธุรกิจและสร้างโอกาสเติบโตคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 8,000 ล้านบาท ด้าน นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ในนามของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐภายใต้กระทรวงการคลัง รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง และมั่นใจว่าความร่วมมือในครั้งนี้ บสย. โดย ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน “บสย. F.A. Center” จะช่วยให้ SMEs ที่มีมากกว่า 3.2 ล้านราย โดยเฉพาะรายที่ขาดหลักประกันสินเชื่อสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยการใช้กลไกการค้ำประกันสินเชื่อของ บสย. ร่วมกับธนาคารพันธมิตรทั้ง 4 สถาบันการเงิน ภายใต้แนวนโยบายของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม DPROM Connection เชื่อมโยงกับทิศทางการเป็น Digital SMEs Gateway ของ บสย. กับบทบาทการเป็นตัวกลางทางการเงิน (Credit Mediator) เพื่อยกระดับการเข้าถึงสินเชื่อพร้อมการค้ำประกันและการให้คำปรึกษาทางการเงิน การปรับแผนธุรกิจ และการแก้หนี้ให้กับ SMEs ในลักษณะการปรับโครงสร้างหนี้ โดย บสย. F.A. Center ทั้งนี้ บสย. ได้เปิดช่องทางให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่สมัครและผ่านการพิจารณาเบื้องต้นจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สามารถลงทะเบียน Online เข้าร่วมโครงการผ่าน LINE Official Account @tcgfirst ได้ โดยผู้ประกอบการที่สมัครภายใน 30 วันหลังจากวันที่เปิดรับสมัครและได้รับอนุมัติสินเชื่อพร้อมวงเงินค้ำประกัน 100 รายแรก จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นค่าดำเนินการค้ำประกันหรือค่าออกหนังสือค้ำประกันทันที นายสิทธิกร กล่าวทิ้งท้าย ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม) รายงาน/ภาพข่าว
12 ก.พ. 2024
ดร.ณัฐพล แถลงข่าว ก.อุตฯ เตรียมจัดงานมอบ "รางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี 2566" เชิดชูศักยภาพ 44 องค์กรต้นแบบ รับรางวัลจากนายกรัฐมนตรี 12 ก.พ. นี้
กรุงเทพฯ 7 กุมภาพันธ์ 2567 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม แถลงข่าวเตรียมจัดงานมอบ "รางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี 2566" เชิดชูศักยภาพ 44 องค์กรต้นแบบ พร้อมด้วย นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายวิษณุ ทับเที่ยง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวณิรดา วิสุทธิชาติธาดา ผู้ช่วยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายวาที พีระวรานุงพงศ์ นายวัชรุน จุ้ยจำลอง นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าร่วม ณ ห้องประชุม อก.1 ชั้น 2 สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ปลัดฯ ณัฐพล กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมจัดงานมอบรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี พ.ศ. 2566 (The Prime Minister’s Industry Award 2023) ในวันจันทร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยได้รับเกียรติจากนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นประธานมอบรางวัลให้แก่สถานประกอบการที่มีความเป็นเลิศ ทั้งในด้านการเพิ่มผลผลิต คุณภาพ ความปลอดภัย การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงาน โลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทาน อุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต ความรับผิดชอบต่อสังคม เศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมสร้างสรรค์ที่เป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของประเทศ นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับผู้ประกอบการที่พัฒนานวัตกรรมสร้างสรรค์ที่เป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของประเทศ โดยในปีนี้ มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม เป็นหน่วยงานหลักในการจัดงานรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี พ.ศ. 2566 ซึ่งมีสถานประกอบการให้ความสนใจสมัครเข้ารับการคัดเลือก จำนวน 273 ราย แบ่งเป็นรางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม จำนวน 3 ราย รางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น และรางวัลอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม ทั้ง 13 ประเภท รวม 270 ราย เกณฑ์การพิจารณารางวัลอุตสาหกรรมประจำปี พ.ศ. 2566 จะมุ่งเน้นให้รางวัลกับสถานประกอบการที่มุ่งสู่การพัฒนาและปรับเปลี่ยนการประกอบการภาคอุตสาหกรรม ภายใต้แนวคิด "อุตสาหกรรมเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน" โดยเน้นมาตรการและกลไกมุ่งสู่ความสำเร็จ 4 มิติ ประกอบด้วย มิติที่ 1 ความสำเร็จทางธุรกิจ มิติที่ 2 ความอยู่ดีกับสังคมโดยรวม มิติที่ 3 ความลงตัวกับกติกาสากล ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมสู่อุตสาหกรรมสีเขียว และมิติที่ 4 การกระจายรายได้สู่ชุมชนที่ตั้ง ซึ่งทุกรายผ่านการพิจารณาคัดเลือกจากคณะทำงานฯ แต่ละประเภทรางวัล โดยผู้ประกอบการที่ได้รับการพิจารณาคัดเลือกต้องผ่านหลักเกณฑ์ที่เข้มงวดหลายด้าน เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่น วิริยะอุตสาหะในการพัฒนาศักยภาพทั้งในด้านการเพิ่มผลผลิต คุณภาพ ความปลอดภัย การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงาน โลจิสติกส์และโซ่อุปทานอุตสาหกรรม และบริการแห่งอนาคต ความรับผิดชอบต่อสังคม เศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมสร้างสรรค์ที่เป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมโดยรวม โดยมีผู้ได้รับรางวัลทั้งสิ้น 44 ราย และสถานประกอบการที่ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม ได้แก่ บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) สำหรับรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี พ.ศ. 2566 (The Prime Minister’s Industry Award 2023) มีจำนวน 14 ประเภทรางวัล ประกอบด้วย 1. รางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม (The Prime Minister’s Best Industry Award) จำนวน 1 รางวัล ซึ่งคัดเลือกจากสถานประกอบการที่เคยได้รับรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่นมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ประเภท และเป็นสถานประกอบการที่มีการพัฒนาศักยภาพขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีมาตรฐานการผลิตในระดับสากล และมีความเป็นเลิศทั้งในด้านการผลิต การบริหารจัดการ การตลาด และการลงทุน มีการนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมทั้งนวัตกรรมมาใช้ในการเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจของตนเอง และสามารถสร้างการพัฒนาให้กับอุตสาหกรรมในภาพรวมได้อย่างชัดเจน 2. รางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น (The Prime Minister’s Industry Award) แบ่งเป็น 9 ประเภท ประกอบด้วย 1) ประเภทการเพิ่มผลผลิต 2) ประเภทการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม 3) ประเภทการบริหารความปลอดภัย 4) ประเภทการบริหารงานคุณภาพ 5) ประเภทการจัดการพลังงาน 6) ประเภทการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน 7) ประเภทอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต 8) ประเภทความรับผิดชอบต่อสังคม และ 9) ประเภทเศรษฐกิจหมุนเวียน 3. รางวัลอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมดีเด่น (The Prime Minister’s Small and Medium Industry Award) แบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1) ประเภทการบริหารจัดการที่ดี 2) ประเภทการพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ 3) ประเภทการจัดการเทคโนโลยีเชิงนวัตกรรม และ 4) ประเภทบริหารธุรกิจสู่สากล ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม) รายงาน/ภาพข่าว
12 ก.พ. 2024