รัฐมนตรีฯ พิมพ์ภัทรา นำคณะผู้บริหาร อก. บันทึกเทปถวายพระพร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567
รัฐมนตรีฯ พิมพ์ภัทรา นำคณะผู้บริหาร อก. บันทึกเทปถวายพระพร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 กรุงเทพฯ 26 มิถุนายน 2567 - นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวศิรินันท์ ศิริพานิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวไพลิน เทียนสุวรรณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมบันทึกเทปถวายพระพร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 เพื่อแสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ณ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) ถนนวิภาวดีรังสิต โดยมี นายเอกภัทร วังสุวรรณ นายบรรจง สุกรีฑา นายใบน้อย สุวรรณชาตรี นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายวิษณุ ทับเที่ยง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายเดชา จาตุธนานันท์ นายศุภกิจ บุญศิริ นายเอกนิติ รมยานนท์ นายเศรษฐรัชต์ เลือดสกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายอดิทัต วะสีนนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ นายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ร่วมด้วย โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กล่าวคำถวายพระพร ดังนี้ อภิวันท์ องค์ราชัน ขวัญปวงราษฎร์ บรมนาถ องค์ภูมี จักรีสยาม เทิดเหนือเกล้า เกศประชา เกริกพระนามทั่วเขตคาม แซ่ซ้อง ก้องไผท ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอดธรรมทรงน้อมนำ ทศพิธ สถิตสมัย ธ ธำรง คงครรลอง ครองหทัยภูวไนย ทรงครองธรรม นำแผ่นดิน ยี่สิบแปด กรกฎาคม อุดมสมัยผองชาวไทย ประนมกร ภูธรถวิล วอนเทพไท้ อำนวยชัย นฤบดินทร์องค์ภูมินทร์ ทรงพระ เกษมสราญ รวมดวงใจ ผองชาวไทย ถวายพระพรขออมร ทวยเทพ อธิษฐาน เฉลิมพระชน มพรรษา พระภูบาลชนมายุ ยิ่งยืนนานทรงพระเจริญ ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้า นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยผู้บริหาร ข้าราชการ และ พนักงาน กระทรวงอุตสาหกรรม
27 มิ.ย. 2024
“อธิบดีภาสกร” ร่วมเปิดโครงการ Phenix จุดหมายปลายทางด้านอาหารระดับโลก
กรุงเทพฯ 26 มิถุนายน 2567 - นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เข้าร่วมพิธีเปิดโครงการ Phenix จุดหมายปลายทางด้านอาหารระดับโลก โดยมี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) เข้าร่วม ณ โถงจัดงาน ชั้น G ศูนย์การค้า Phenix ประตูน้ำ โครงการ Phenix ศูนย์กลางด้านอาหารครบวงจรระดับโลกที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างมาตรฐานใหม่ให้อุตสาหกรรมอาหารของไทย สร้างสรรค์จุดหมายปลายทางระดับโลกแห่งใหม่ที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมอาหาร บนพื้นที่ยุทธศาสตร์ย่านประตูน้ำ รวบรวมผู้ซื้อผู้ขายอาหารชั้นนำจากประเทศไทยและทั่วโลก นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่เพื่อการสังสรรค์และเจรจาธุรกิจ พื้นที่ด้านความบันเทิง ห้องประชุม ห้องสัมมนา และจะเป็นสถานที่ที่มอบประสบการณ์ที่น่าประทับใจให้แก่ผู้บริโภคทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวนานาชาติ และเป็นอีกหนึ่งพลังของ Soft Power ด้านอาหารไทยที่รัฐบาลมุ่งส่งเสริมให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ Must Eat ใน 5 Must Do in Thailand
27 มิ.ย. 2024
“พิมพ์ภัทรา” พบ ผู้บริหาร JETRO และ JCC หารือปัญหาอุปสรรคทางธุรกิจ ยืนยัน กระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมดูแลผู้ประกอบการญี่ปุ่น เพื่อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของสองประเทศ
กรุงเทพฯ 26 มิถุนายน 2567 - นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายดนัยณัฎฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายบรรจง สุกรีฑา รองปลัดกระทรวงกระทรวงอุตสาหกรรม นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นางสาวนลินี กาญจนามัย รองผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ให้การต้อนรับ นายคุโรดะ จุน ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO Bangkok) ซึ่งได้นำกรรมาธิการวิจัยทางเศรษฐกิจของหอการค้าญี่ปุ่น (JCC) ณ ห้องประชุมชุณหะวัณ ชั้น 3 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ทางคณะฯ เข้าพบ เพื่อรายงานสรุปผลการสำรวจแนวโน้มความเชื่อมั่น โอกาส ปัญหาและอุปสรรคทางธุรกิจของบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทย ประจำครึ่งปีแรกของปี 2567 โดยสะท้อนถึงยอดการจำหน่ายรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปลดลง จึงขอให้รัฐบาลไทยช่วยหามาตรการและเร่งรัดให้มีการกระตุ้นยอดขายของรถยนต์ ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการญี่ปุ่นเองก็พร้อมที่จะปรับตัวในการผลิตรถยนต์ให้สอดคล้องกับมาตรฐาน EURO 6 ที่จะมีประกาศใช้อนาคต นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวว่า รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน พิมพ์ภัทรา มีนโยบายหลัก IGNITE Thailand ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน ใน 8 วิสัยทัศน์ ได้แก่ ท่องเที่ยว การแพทย์และสุขภาพ อาหาร การบิน ขนส่ง ดิจิทัล การเงิน ยานยนต์แห่งอนาคต อย่างไรก็ตามแม้รัฐบาลจะมีนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมอีวี เพื่อลดการปล่อยคาร์บอน แต่ก็พร้อมสนับสนุนเครื่องยนต์สันดาป ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยังพร้อมดูแลอำนวยความสะดวกผู้ประกอบการญี่ปุ่น รวมทั้งการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดประโยชน์กับเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ “อย่างไรก็ตามขอบคุณท่านประธาน JETRO ที่ให้ความสนใจนโยบาย IGNITE Thailand ในวิสัยทัศน์ที่เกี่ยวข้องกับ logistic การผลิตยานยนต์แห่งอนาคต การท่องเที่ยว และการแพทย์และสุขภาพ ซึ่งเราก็หวังว่าจะมีความร่วมมือกันในโอกาสต่อไป” รมว.อุตสาหกรรม กล่าว
27 มิ.ย. 2024
รัฐมนตรีฯ พิมพ์ภัทรา ร่วมให้กำลังใจผู้ประกอบการในกิจกรรม“DIPROM Green fair 2024 : งานแฟร์สีเขียวของคนรักษ์โลก” สร้างช่องทาง โอกาสในการจำหน่ายสินค้า และผลิตภัณฑ์อุตฯ รักษ์โลกสู่การผลิตที่ยั่งยืน
กรุงเทพฯ 26 มิถุนายน 2567 – นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายดนัยณัฎฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมให้กำลังใจผู้ประกอบการในกิจกรรม “DIPROM Green fair 2024 : งานแฟร์สีเขียวของคนรักษ์โลก” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-28 มิถุนายน 2567 ณ ห้องนิทรรศการ ชั้น 1 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กิจกรรมดังกล่าว จัดขึ้นเพื่อสร้างช่องทางและโอกาสในการจำหน่ายสินค้า การทดสอบตลาด รวมถึงสร้างการรับรู้ในตราสินค้าและผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรักษ์โลกให้กับผู้ประกอบการ SME ให้เกิดความตระหนักและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการผลิตไปสู่การผลิตที่ยั่งยืน อีกทั้งเพื่อแสดงผลงานและศักยภาพของผู้ประกอบการที่ได้รับการพัฒนาและสนับสนุนจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยภายในงานได้คัดสรรสินค้าที่รักษ์โลก รวมถึงการรณรงค์และเน้นการใช้ภาชนะใส่อาหารและบรรจุภัณฑ์ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิ ถุงกระดาษ ถุงผ้า แก้วกระดาษ หรือ การนำภาชนะมาใส่เอง เพื่อนำมาเป็นส่วนลดราคา พร้อมลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ควบคู่กัน โดยมีร้านค้ารวมจำนวนกว่า 90 บูธ และมีกลุ่มคลัสเตอร์ที่ได้รับการพัฒนาจากดีพร้อม ได้แก่ กลุ่มอาหารแปรรูป งานหัตถกรรม เครื่องสำอาง ผ้าและเครื่องแต่งกาย อาหารพร้อมทานนานาชนิด เป็นต้น
27 มิ.ย. 2024
"รสอ.วาที" ติดตามการดำเนินงานของดีพร้อม
จ.เชียงใหม่ 25 มิถุนายน 2567 - นายวาที พีระวรานุพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินโครงการของพร้อม ร่วมด้วย นางเกษราภรณ์ โกวิทลวากุล ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน นายวิจักขณ์ รัตนสุวรรณ ผู้อำนวยการกองพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม นายกิตติโชติ ศุภกำเนิด ผู้อำนวยการกองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม นายสุรพล ปลื้มใจ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 นางเกษสุดา ดอนเมือง ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 3 คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) ณ บริษัท สยามออร์คิด จำกัด ตำบลท่าศาลา อำเภอเมืองเชียงใหม่ การลงพื้นที่ดังกล่าว เป็นการติดตามโครงการยกระดับสินค้าเกษตรสู่เกษตรอุตสาหกรรม กิจกรรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปเป้าหมาย (สมุนไพร เครื่องสำอาง และอาหารแปรรูป) ซึ่งทางบริษัท สยามออร์คิด จำกัด ได้รับการพัฒนาผลิตภัณฑ์แผ่นมาส์กหน้าจากข้าวก่ำ ที่เป็นผลิตภัณฑ์เวชสำอางด้วยการนำนวัตกรรมที่ทันสมัยผสานกับส่วนผสมที่ได้รับการพัฒนาด้วยใส่ใจในรายละเอียดของความปลอดภัยและเห็นผลลัพธ์ที่พิสูจน์ได้ เพื่อการดูแลผิวพรรณและสุขภาพของผู้บริโภค
26 มิ.ย. 2024
“รสอ.ดวงดาว” ประชุม TCG Stakeholders Day 2024 : ความเห็นของท่าน สำคัญกับ บสย.
กรุงเทพฯ 25 มิถุนายน 2567 - นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้รับมอบหมายจาก นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เข้าร่วมการประชุม “TCG Stakeholders Day 2024 : ความเห็นของท่าน สำคัญกับ บสย.” ร่วมบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ณ ห้องรองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ชั้น 3 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และในรูปแบบออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชั่น Zoom Meeting การประชุมในครั้งนี้ ได้มีการแถลงวิสัยทัศน์ ทิศทางและผลการดำเนินงาน ของ บสย. ซึ่งประกอบไปด้วย 1) ยุทธศาสตร์การดำเนินงานของ บสย. 2) การขับเคลื่อนองค์กรด้วยนโยบาย GRC และการบริหารความเสี่ยง เพื่อให้องค์กรบรรลุเป้าหมาย 3) การบริหารจัดการนวัตกรรม และ 4) การมุ่งเน้นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของ บสย. โดยมีการเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้มีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลและเสนอข้อคิดเห็นอย่างโปร่งใสและเหมาะสม พร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ดำเนินงาน เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ และสนับสนุนการขับเคลื่อนภารกิจของ บสย. รวมไปถึงการออกแบบกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ นำไปสู่เป้าหมายด้านผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ตอบโจทย์ร่วมกับทุกภาคส่วนอย่างสมดุลและยั่งยืน
26 มิ.ย. 2024
“รสอ.วาที” ร่วมประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ครั้งที่ 4/2567
จ.เชียงใหม่ 25 มิถุนายน 2567 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม มอบหมายให้ นายวาที พีระวรานุพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ครั้งที่ 4/2567 พร้อมด้วย คณะกรรมการและผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม โดยมี นายถาวร ชลัษเฐียร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นประธานการประชุม ในรูปแบบออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชั่น Zoom Meeting การประชุมดังกล่าว เป็นการร่วมกันรับฟังผลการพิจารณาอนุมัติการให้เงินช่วยเหลือหรืออุดหนุนตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 และเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมร่วมพิจารณาประเด็นขอรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงาน ขยายเวลาการกำหนดใช้อัตราดอกเบี้ยร้อยละศูนย์ต่อปี แผนปฏิบัติการด้านกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน และแผนปฏิบัติการประจำปี รวมถึงการขออนุมัติประมาณการรายจ่ายเงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน และแผนการปฏิบัติงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และการปรับแผนการใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
26 มิ.ย. 2024
ดีพร้อม ชวนช้อปสินค้ารักษ์โลกในงาน “DIPROM Green fair 2024”
กรุงเทพฯ 25 มิถุนายน 2567 - นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม "DIPROM Green fair 2024 : งานแฟร์สีเขียวของคนรักษ์โลก" ภายใต้กิจกรรมการเชื่อมโยงเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ ร่วมด้วย นายวัชรุน จุ้ยจำลอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) และผู้ประกอบการ โดยมี นายวุฒิชัย ประชาพร ผู้อำนวยการกองพัฒนาขีดความสามารถธุรกิจอุตสาหกรรม กล่าวรายงาน ณ บริเวณด้านหน้าห้องแสดงนิทรรศการ ชั้น 1 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Headquarter) “DIPROM Green fair 2024 : งานแฟร์สีเขียวของคนรักษ์โลก” เป็นงานแสดงและจำหน่ายสินค้าของผู้ประกอบการที่ได้รับการพัฒนาและสนับสนุนจาก “ดีพร้อม” มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างช่องทางและโอกาสในการจำหน่ายสินค้า การทดสอบตลาด การสร้างการรับรู้ในตราสินค้าและผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม อีกทั้งยังเป็นการแสดงผลงานและศักยภาพของผู้ประกอบการอีกด้วย โดยกำหนดจัดขึ้น ตั้งแต่วันที่ 25 - 28 มิถุนายน 2567 ซึ่งภายในงานได้คัดสรรสินค้ารักษ์โลก รวมถึงการรณรงค์ใช้ภาชนะใส่อาหารและบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยมีร้านค้าเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 70 บูธ ประกอบด้วยกลุ่มคลัสเตอร์ที่ได้รับการพัฒนาจากดีพร้อม ได้แก่ กลุ่มอาหารแปรรูป งานหัตถกรรม เครื่องสำอาง ผ้าและเครื่องแต่งกาย เป็นต้น รวมทั้งร้านอาหารยอดนิยมที่ได้รับความร่วมมือจากเครือข่าย กว่า 20 บูธ ตลอดการจัดงานทั้ง 4 วัน
26 มิ.ย. 2024
ธนาคาร ADB เข้าพบ “พิมพ์ภัทรา” หารือความร่วมมือสนับสนุนเอสเอ็มอี ปรับตัวรับกติกาใหม่โลก พร้อมสนับสนุนเพื่อพัฒนาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย
กรุงเทพฯ 25 มิถุนายน 2567 - นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้การต้อนรับ นายสก็อตต์ มอร์ริส รองประธานฝ่ายกำกับดูแลกิจการในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) พร้อมคณะ เข้าพบ เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ระหว่างธนาคาร ADB กับประเทศไทย รวมทั้งการสนับสนุนเพื่อพัฒนาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย โดยมี นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายเดชา จาตุธนานันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายจงรักษ์ โรจน์พลาเสถียร ผู้อำนวยการสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ นายพิชิต มิทราวงศ์ กรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าร่วม ณ ห้องประชุม อก.1 สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐมนตรีฯ พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า ในสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปเอสเอ็มอีจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้ทันกติกาใหม่ของโลก เราตระหนักดีว่าผู้ประกอบการจะประกอบกิจการได้ต้องมีความรู้และเงินทุน ซึ่งถือเป็นความโชคดีที่เรามี SME D BANK กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กรมโรงงาน สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ฯลฯ ที่ช่วยกันสร้างและสนับสนุนผู้ประกอบการให้เข้มแข็งมีผลิตภาพสีเขียว (Green Productivity) ที่สูงขึ้น โดยเฉพาะความรู้เรื่อง คาร์บอนเครดิต คาร์บอนฟุตปรินท์ ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการปรับตัวและประกอบอาชีพใหม่ภายใต้กติกาใหม่ได้ “นี่คือความตั้งใจของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ต้องการ สร้างโลกใบนี้ให้สวยงาม ส่งต่ออากาศบริสุทธิ์สะอาดและนวัตกรรมสีเขียวให้กับรุ่นลูก รุ่นหลานของเราต่อไป ซึ่งหากมีอะไรที่จะแนะนำกระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานต่าง ๆ ก็พร้อมรับฟัง และนำไปปรับปรุงและพัฒนาต่อไป” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว โดยผู้บริหารของธนาคาร ADB ได้กล่าวถึงความร่วมมือที่ดำเนินการร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม ว่า ธนาคาร ADB ได้ให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคแก่ SME D Bank เพื่อพัฒนากรอบการเงินที่ยั่งยืนในปี 2564 และ 2565 และพัฒนากระบวนการระดมทุนทั้งในรูปแบบพันธบัตรและผลิตภัณฑ์เงินฝาก เพื่อนำไปปล่อยสินเชื่อสำหรับสนับสนุน SME ไทย ยกระดับสู่เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Model (BioCircular-Green Economy) ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายเคลื่อนพัฒนาประเทศไทยยุคใหม่ ด้วย BCG Model และขณะนี้ อยู่ระหว่างหารือกับสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ (MASCI) ซึ่งเป็นหน่วยรับรองระบบงานต่าง ๆ ตามกติกาสากล ในประเทศไทย เพื่อให้การรับรองตราสารหนี้สีเขียว (Green Bonds) ในพื้นที่ที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะสำหรับ SME ขณะเดียวกันก็ได้สำรวจความต้องการของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อขยายขอบเขตและปรับปรุงการดำเนินงานของกองทุนลดคาร์บอน (Decarbonization Fund) ซึ่งรวมถึงการพัฒนาตัวชี้วัดผลกระทบที่เหมาะสมซึ่ง MASCI สามารถรองรับได้ จากนี้ธนาคารเอดีบี ซึ่งจัดหาเงินทุนเพื่อสนับสนุนการออกแบบและการดำเนินการสำหรับสิ่งอำนวยความสะดวกทางการเงินสีเขียว (Green Finance) ซึ่งอาจอยู่ภายใต้กองทุนเพื่อสนับสนุน SMEs ของไทยในสาขาสำคัญ เช่น ยานพาหนะไฟฟ้าและสถานีชาร์จไฟฟ้า เกษตรกรรมและการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม “เราเห็นความสำคัญของนโยบายสิ่งแวดล้อมและการปรับตัวของ SME และเราก็มีประสบการณ์ ที่ได้ถ่ายทอดและสนับสนุนเอสเอ็มอีในหลาย ๆ ประเทศ เป็นโอกาสดีที่จะส่งเสริมและสนับสนุนการให้สินเชื่อผ่านทางภาครัฐ ในด้านความรู้และเทคนิค โดยเงินทุนจากจากหลายภาคส่วน และภายใน 3-6 เดือนข้างหน้าเราจะทำงานกับเอสเอ็มอี เพื่อที่จะทำเป็น Action Plan เพื่อดำเนินการต่อไป
26 มิ.ย. 2024
"รสอ.ดวงดาว" ติดตามความคืบหน้า Thailand Textiles Tag
กรุงเทพฯ 24 มิถุนายน 2567 – นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานการประชุมติดตามคณะกรรมการพิจารณาหลักเกณฑ์และข้อกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์สิ่งทอสำหรับการให้การรับรองติดฉลาก Thailand Textiles Tag ครั้งที่ 3/2567 โดยมี นายชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ นางสาวอังสนา โสมาภา ผู้อำนวยการกองพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ผู้ทรงคุณวุฒิสถาบันสิ่งทอ คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม ชั้น 3 อาคารอำนวยการ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซอยตรีมิตร ถนนพระรามที่ 4 การประชุมดังกล่าว เพื่อรับฟังความก้าวหน้าของกิจกรรมปีงบประมาณ 2567 ซึ่งมีการจัดสัมมนาให้ความรู้ด้านสิ่งทอไทย จำนวน 3 ครั้ง มีผู้เข้าร่วม จำนวน 154 คน และคัดเลือกผู้ประกอบการเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 30 กิจการจากผู้สมัคร จำนวน 53 กิจการ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ประกอบการ SME ซึ่งกระจายอยู่ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล ภาคเหนือ และจังหวัดอุดรธานี กิจกรรมพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์สิ่งทอเข้าสู่มาตรฐานอุตสาหกรรม (DIPROM Thailand Textiles Tag) เพื่อให้ผู้ประกอบการผลิตสินค้าคุณภาพตามมาตรฐาน ลดการนำเข้าสิ่งทอจากต่างประเทศ และกระตุ้นให้คนไทยใช้สินค้าไทยมากขึ้น ซึ่งบริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านดิจิทัลของจีนกำลังจะจัดทำ Travel Platform สำหรับการนำเที่ยวในประเทศไทยและมีเมนูที่บรรจุรายการสินค้าที่มีคุณภาพของไทยไว้ให้คนจีนที่มาเที่ยวไทยได้สืบค้น คาดว่าหาก Platform ดังกล่าวเปิดใช้งานจะสามารถสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการสิ่งทอไทยและจะทำให้มีการยื่นขอการรับรองเครื่องหมาย Thailand Textiles Tag เพิ่มเข้ามามากขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก
25 มิ.ย. 2024