โทรศัพท์ 1358

กระทรวงอุตฯ เสิร์ฟ “เมนูเด็ดชุมชนดีพร้อม” ปั้นเชฟชุมชน ดัน Soft Power อาหาร สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ
กรุงเทพฯ 24 สิงหาคม 2566 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานในงานเปิดตัว “โครงการยกระดับวัตถุดิบท้องถิ่นด้วย Soft Power ด้านอาหาร” ประจำปีงบประมาณ 2566 โดยมี นายใบน้อย สุวรรณชาตรี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวรายงานและให้การต้อนรับ และมีนายวัชรุน จุ้ยจำลอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ดีพร้อม) ร่วมเป็นเกียรติ และมีสื่อมวลชนเข้าร่วมงาน ณ ห้องประชุมแพรวา ชั้น 7 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Headquarter) (กล้วยน้ำไท) พระรามที่ 4 คลองเตย โครงการการยกระดับวัตถุดิบท้องถิ่นด้วย Soft Power ด้านอาหาร หรือเมนูเด็ดชุมชนดีพร้อม เป็นการมุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในสาขาอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ด้วยการนำอัตลักษณ์ หรือจุดเด่นของวัตถุดิบดั้งเดิมในท้องถิ่นมาสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยใช้แนวคิดเชิงสร้างสรรค์มาประยุกต์ต่อยอดอาหารพื้นถิ่นของแต่ละชุมชนให้เกิดความโดดเด่นและจุดขายมากยิ่งขึ้น รวมถึงการสร้างเชฟชุมชนดีพร้อม หรือผู้เชี่ยวชาญด้านอาหาร การสร้างเนื้อหาและนวัตกรรมที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่เพื่อขยายโอกาสทางการตลาด ตลอดจนการเสริมเทคนิคสรรค์สร้างรูปแบบการจัดจานให้ดูน่าสนใจ และยังนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ผสมผสานต่อยอดภูมิปัญญาและวัฒนธรรม ผนวกกับความคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้างมนต์เสน่ห์อาหารพื้นถิ่นดั้งเดิมให้กลายเป็นเมนูเด็ดชุมชนดีพร้อม 22 เมนู ที่มีคุณค่าและเกิดการสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยตั้งเป้านำร่อง 22 ชุมชนทั่วประเทศ และคาดว่าจะสามารถกระตุ้นมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นได้กว่า 25 ล้าน โดยเป็นการดำเนินงานที่ใช้นโยบาย 4 มิติ ของกระทรวงอุตสาหกรรม ในการสร้างและกระจายรายได้ให้กับประชาชน สร้างงาน สร้างอาชีพ ส่งเสริมพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นมาเป็นหลักดำเนินงาน นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมได้เยี่ยมชม pilot plant ที่มีเครื่องคัดแยกวัตถุดิบและเครื่องคัดแยกเส้นใย ซึ่งเปิดให้บริการสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการเส้นใยสำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้ และอุตสาหกรรมกระดาษ และเป็นการรองรับการให้บริการแก่อุตสาหกรรมพืชกัญชงสู่พืชเศรษฐกิจใหม่ รวมถึงอุตสาหกรรมวัสดุอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรมพืชกัญชงสู่การเป็นพืชเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมวัสดุอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตภัณฑ์อนาคตได้อย่างยั่งยืน ## PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
25 ส.ค 2023
"รสอ.วาที" ลงพื้นที่เยี่ยมชมกลุ่มศรียะลาบาติก และกลุ่มผลิตภัณฑ์สีมายา
จ.ยะลา 23 สิงหาคม 2566 - นายวาที พีระวรานุพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ลงพื้นที่เยี่ยมชมและพบปะกลุ่มศรียะลาบาติก พร้อมด้วย นางสาววรรณี พุฒแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 11 นายโดม ถนอมบูรณ์ อุตสาหกรรมจังหวัดนราธิวาส นายสมบัติ สุวรรณมณี อุตสาหกรรมจังหวัดยะลา คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) โดยมี นายปิยะ สุวรรณพฤกษ์ ผู้นำกลุ่มศรียะลาบาติก ให้การต้อนรับ ณ กลุ่มศรียะลาบาติก ตำบลสะเตง อำเภอเมืองยะลา กลุ่มศรียะลาบาติก เป็นกลุ่มที่ได้อนุรักษ์ภูมิปัญญาและกรรมวิธีการผลิตผ้าพื้นเมืองลายโบราณและต่อยอดภูมิปัญญาดั้งเดิมของชุมชน ตลอดจนการสร้างสรรค์กระบวนการผลิตผ้าบาติก ให้มีรูปแบบที่ทันสมัยเข้ากับความต้องการในตลาดปัจจุบัน รวมถึงการต่อยอดการตลาดในอนาคต นอกจากนี้ รสอ.วาที ยังได้เข้าเยี่ยมชมกลุ่มชุมชนหน้าถ้ำ ผู้ผลิตภัณฑ์ผ้าสีมายาที่ได้มีการสร้างลวดลายมัดย้อมที่เป็นเอกลักษณ์ โดยดีพร้อมได้ส่งเสริมและพัฒาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ให้กับกลุ่ม โดยการนำผ้ามาแช่ไว้ใน ‘น้ำดินมายา’ ที่ได้มาจากการสกัดดินพิเศษจากถ้ำ ทำให้เกิดอัตลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ ## PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
24 ส.ค 2023
"รสอ.วาที" ลงพื้นที่เยี่ยมชมโรงงาน Hand in Hand เพื่อการสร้างงานที่ยั่งยืนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
จ.นราธิวาส - จ.ยะลา 22 สิงหาคม 2566 - นายวาที พีระวรานุพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าของโครงการอุตสาหกรรมเพื่อการสร้างงานที่ยั่งยืนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (Hand in Hand) ร่วมด้วย นางสาววรรณี พุฒแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 11 นายโดม ถนอมบูรณ์ อุตสาหกรรมจังหวัดนราธิวาส นายสมบัติ สุวรรณมณี อุตสาหกรรมจังหวัดยะลา คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) และภาคีเครือข่าย ณ โรงงานแฮนด์อินแฮนด์ อำเภอรือเสาะ และอำเภอรามัน โครงการดังกล่าว เป็นโครงการที่ดีพร้อมบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การจัดการ และการตลาดของโรงงาน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทักษะการผลิตแรงงานการตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป ทำให้เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพ และยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในพื้นที่ รวมถึงการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อันเป็นปัจจัยในการสร้างรากฐานที่แข็งแรงให้กับเศรษฐกิจชุมชนและท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืนต่อไป ## PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
24 ส.ค 2023
“อธิบดีใบน้อย” นำประชุมบอร์ดบริหารเงินทุนหมุนเวียนฯ ครั้งที่ 5/2566 เดินหน้าเคาะ 3 แผนทำงาน ยิงยาวถึงปี 69
กรุงเทพฯ 22 สิงหาคม 2566 - นายใบน้อย สุวรรณชาตรี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารเงินทุนหมุนเวียนฯ ครั้งที่ 5/2566 พร้อมด้วย นางสุชาดา โพธิ์เจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรรมการจากหน่วยงานภาคีเครือข่าย คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 3 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Headquarter) และในรูปแบบออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชั่น Zoom Meeting การประชุมครั้งนี้ เป็นการพิจารณาแผนการดำเนินงานด้านเงินทุนหมุนเวียนฯ ทั้งหมด 3 แผน ทั้งรูปแบบแผนระยะยาว พ.ศ. 2567 – 2569 และรูปแบบแผนปฏิบัติการประจำปีบัญชี 2567 ได้แก่ 1. แผนปฏิบัติการเงินทุนหมุนเวียนฯ 2. แผนการบริหารทรัพยากรบุคคลเงินทุนหมุนเวียนฯ และ 3. แผนปฏิบัติการดิจิทัลเงินทุนหมุนเวียนฯ นอกจากนี้ ยังได้อนุมัติแผนและประมาณการรายรับรายจ่ายเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย ประจำ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ในส่วนของรายรับ-รายจ่าย และการจัดสรรประมาณการรายจ่ายประจำปีและวงเงินให้กู้ยืม ให้แก่หน่วยปฏิบัติตามความจำเป็นและความเหมาะสมภายในวงเงินประมาณการรายจ่ายประจำปีที่กระทรวงการคลังอนุมัติ ## PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
23 ส.ค 2023
"แม่ทัพดีพร้อม" ตั้งโต๊ะรับฟังความเห็นแนวทางการส่งเสริมเอสเอ็มอี เมืองสองทะเล
จ.สงขลา 22 สิงหาคม 2566 - นายใบน้อย สุวรรณชาตรี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานการประชุมรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากการดำเนินงานของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ครั้งที่ 3 พื้นที่ภาคใต้ ร่วมด้วย นายวาที พีระวรานุพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นางจันทร์จิรา บางเสน อุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) กลุ่มผู้ประกอบการ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน เข้าร่วมประชุม ณ ห้อง สมิหลา ชั้น 2 โรงแรมหาดใหญ่ซิกเนเจอร์ และในรูปแบบออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชั่น Zoom Meeting ุการประชุมในครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 เพื่อรับฟังความคิดเห็น ปัญหา และความต้องการของกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ภาคใต้ ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วนของดีพร้อม ประกอบด้วย ผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มวิสาหกิจชุมชน หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการเงิน อาทิ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสตูล ศูนย์ให้บริการ SMEs จังหวัดสงขลา หอการค้าจังหวัดสงขลาและยะลา สมาคมธุรกิจไม้ยางพาราไทย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยสาขาจังหวัดสงขลา ปัตตานี นราธิวาส ยะลา และกระบี่ และสถาบันอาหาร รวมถึงสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ภาคใต้ถือได้ว่าเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพและความพร้อมที่หลากหลายทั้งในเชิงของเกษตรอุตสาหกรรม ที่มีการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ รวมไปถึงสาขาอุตสาหกรรมในประเภทต่าง ๆ อาทิ ถุงมือยาง แปรรูปไม้ยางพารา แปรรูปอาหารทะเล และการประมง รวมถึงการท่องเที่ยวที่ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษกิจสูงที่สุดในประเทศ นอกจากนี้ ในเชิงของศิลปวัฒนธรรม อัตลักษณ์ และภูมิปัญหาท้องถิ่น ถือได้ว่ามีเอกลักษณ์ความโดดเด่น และมีเสน่ห์ทั้งในเรื่องของ อาหาร การแต่งกาย ศิลปะการแสดงท้องถิ่น ถือเป็นโอกาสสำคัญในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจชุมชน ให้สามารถขับเคลื่อนสู่เศรษฐกิจวิถีใหม่ โดยอาศัยการร่วมด้วยช่วยกันจากทุกภาคส่วน เพื่อสนับสนุนให้ภาคใต้ฟื้นตัวและเติบโตได้อย่างมั่นคง พร้อมทั้งขยับออกจากโครงสร้างเศรษฐกิจที่ "กระจุกตัว และมูลค่าเพิ่มน้อย" ไปสู่เศรษฐกิจ "มูลค่าสูงและยั่งยืน" อธิบดีใบน้อยฯ ได้นำประเด็นปัญหาความต้องการมาร่วมกันกำหนดทิศทางการส่งเสริมพัฒนา ที่จะนำไปสู่การจัดทำโครงการของดีพร้อมที่ตอบโจทย์ตามความต้องการ ตลอดจนเป็นแนวทางในการปรับบทบาทของดีพร้อมให้สอดรับกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศให้เข้มแข็งและเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
23 ส.ค 2023
ปลัดฯ ณัฐพล ลงพื้นที่สระบุรี กำชับจี้โรงงานลงทะเบียนข้อมูลการประกอบการอุตสาหกรรมให้ครบ 100% ย้ำกำกับดูแลเหมืองแร่ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบ
จ.สระบุรี 20 สิงหาคม 2566 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี (สอจ.สระบุรี) โดยมีนางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายวิษณุ ทับเที่ยง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวณิรดา วิสุทธิชาติธาดา ผู้ช่วยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายวาที พีระวรานุพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมด้วย โดยมีนายนพดล ชีวะอิสระกุล อุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี เป็นผู้นำเสนอข้อมูล ณ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี อำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรีเป็นเมืองหน้าด่านจากภาคกลางไปสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมหนาแน่น มีโรงงานอุตสาหกรรม 1,484 โรงงาน และเป็นที่ตั้งกลุ่มผลิตปูนซีเมนต์จำนวนสูงสุดของประเทศ ซึ่งมีการเฝ้าระวังมลพิษทางอากาศอย่างเข้มงวด โดยโรงงานในพื้นที่ต้องมีการจัดการตามแผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในพื้นที่ นอกจากนี้ ยังมี SME อีกเกือบ 3 หมื่นราย และมีเหมืองแร่ที่มีประทานบัตรมากที่สุดในประเทศไทย จำนวน 210 แปลง ด้านการรายงานข้อมูลการประกอบกิจการผ่านระบบรายงานข้อมูลกลางของกระทรวงอุตสาหกรรม (iSingle Form) ปัจจุบันดำเนินการแล้ว 68% โดย สอจ.สระบุรี ได้มีช่องทางการติดต่อประสานงานให้เจ้าหน้าที่และผู้ประกอบการร่วมกันแก้ไขปัญหาในการกรอกข้อมูล นอกจากนี้ยังได้จัดเตรียมแผนการตรวจโรงงานแบบสุดซอยในทุกมิติของการรายงานตามข้อกำหนดของกฎหมายด้วย ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวชื่นชมการดำเนินงานของ สอจ.สระบุรีในการติดตามการรายงานข้อมูลในระบบ iSingle Form ทั้งนี้ ขอให้สร้างความเข้าใจร่วมกันในเป้าหมายหลักของการรายงานข้อมูลเป็นการดำเนินการในเรื่อง Digital Government และทบทวนสถานะการประกอบกิจการได้จากผู้ประกอบการมีปฏิสัมพันธ์กับกระทรวงฯ รวมถึงสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์ใช้ประโยชน์ในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม และเพิ่มความสะดวกในการรับบริการจากกระทรวงอุตสาหกรรมในอนาคต เช่น การขอใบอนุญาตต่าง ๆ การชำระค่าธรรมเนียม เป็นต้น จึงเน้นย้ำให้ผู้ประกอบการต้องเป็นผู้กรอกข้อมูลเอง เพื่อความถูกต้อง อีกทั้งให้ถือเป็นหน้าที่ของโรงงานที่ต้องปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ดี ในการกรอกข้อมูลฯ ต้องให้แล้วเสร็จ 100% ภายในเดือนสิงหาคมนี้ หากเลยกำหนดจะถือว่าเป็นความผิดและมีโทษปรับ ทั้งนี้ ขอให้ สอจ. ดำเนินการลงพื้นที่ตรวจโรงงานแบบเข้มข้น เพื่อตรวจสอบสาเหตุโรงงานที่ไม่กรอกข้อมูล พร้อมเร่งสำรวจตรวจสอบในทุกมิติของการรายงานตามข้อกำหนดของกฎหมาย หากพบโรงงานที่ผิดกฎหมายขอให้ดำเนินการตามระเบียบอย่างจริงจัง พร้อมทั้งเพิ่มเงื่อนไขในใบอนุญาตเพื่อการกำกับดูแลให้มากขึ้นต่อไป อย่างไรก็ตาม หากพบโรงงานที่มีการหยุดการดำเนินการมาเป็นเวลานาน ขอให้พิจารณาทบทวนการยกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการต่อไป ในส่วนการกำกับดูแลเหมืองแร่ในจังหวัดซึ่งมักเกิดการข้อร้องเรียนจากปัญหาฝุ่นละออง ขอให้บูรณาการความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาเพื่อดูแลชุมชนและสังคมโดยรอบ ให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขอย่างยั่งยืน รปอ.ณัฏฐิญา กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้ สอจ.สระบุรี มีการชี้เป้าอุตสาหกรรมในพื้นที่ให้ชัดเจนว่าอุตสาหกรรมใดมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสระบุรี เพื่อวางแผนการสนับสนุน ดูแล และกำหนดมาตรการส่งเสริมด้านต่าง ๆ ได้อย่างตรงจุด โดยมอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ช่วยชี้เป้าอุตสาหกรรมที่เหมาะสมในเชิงพื้นที่ต่อไป สำหรับในด้านการพัฒนาแอปพลิเคชัน (Super App) สำหรับใช้เป็นเครื่องมือในการตรวจโรงงานของเจ้าหน้าที่ ระบบจะมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเก็บข้อมูลด้วยอุปกรณ์ Smart Phone เช่น การถ่ายรูป การอัดเสียง การอัดวิดีโอ และการกำหนดโลเคชั่น เป็นต้น เพื่อให้เกิดความสะดวกในการตรวจโรงงาน ซึ่งระบบนี้สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการอัพเดทข้อมูลของโรงงานอุตสาหกรรมให้มีความเป็นปัจจุบันอย่างต่อเนื่องกระทรวงฯ ได้เร่งดำเนินการและคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายนนี้ ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
22 ส.ค 2023
"ดีพร้อม" พาตะลุยย่านเมืองเก่าจังหวัดสงขลา หวังขยายชุมชนดีพร้อม ให้โตได้โตไกลแบบยั่งยืน
จ.สงขลา 21 สิงหาคม 2566 - นายใบน้อย สุวรรณชาตรี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ลงพื้นที่และเยี่ยมชมสถานประกอบการชุมชนดีพร้อมบริเวณย่านเมืองเก่าจังหวัดสงขลา ร่วมด้วย นายวาที พีระวรานุพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นางจันทร์จิรา บางเสน อุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) โดยมี นางสาววรรณี พุฒแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 11 (DIPROM CENTER 11) พาเยี่ยมชม ณ ย่านเมืองเก่าจังหวัดสงขลา ย่านเมืองเก่า จังหวัดสงขลา มีประวัติความเป็นมาและมีอายุยืนยาวกว่า 200 ปี มีถนนที่สำคัญด้วยกัน 3 สาย คือ ถนนนางงาม ถนนนครใน นครนอก เป็นถนนเล็ก ๆ ตึก และบ้านเรือนร้านค้าในละแวกนี้สร้างตามสถาปัตยกรรมแบบจีนปนยุโรป มีลวดลายปูนปั้นประดับที่กรอบหน้าต่างและหัวเสาสวยงาม นอกจากนี้ ถนนนางงามนี้มีสถานที่สำคัญ คือ ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสงขลา ศาลเจ้าพ่อกวนอู ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ คู่บ้าน คู่เมือง ของชาวสงขลาและบริเวณนี้ยังเป็นย่านอาหารพื้นเมืองของสงขลา ในพื้นที่ดังกล่าวยังมี ดีพร้อมฮีโร่ คือ คุณปาริชาด สอนสุภาพ เจ้าของธุรกิจ บ้าน “สงขลาสเตชั่น“ ที่รับซื้อวัตถุดิบในชุมชนย่านเมืองเก่าจังหวัดสงขลามารังสรรค์เป็นเมนูอาหารต้อนรับแขกผู้มาเยือน เพื่อคงความอัตลักษณ์ของจังหวัดสงขลา พร้อมทั้ง ยังได้สนับสนุนการท่องเที่ยวในชุมชน โดยมีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสวิถีชีวิตของผู้คนในทะเลสาบสงขลาผ่านการนั่งเรือหางยาวไปกับชาวประมง ร่วมให้อาหารปลา ชมทิวทัศน์อันงดงาม และลิ้มรสเมนูอาหารพื้นเมืองแท้ ๆ ริมทะเลสาบสงขลาอีกด้วย นอกจากนี้ อธิบดีใบน้อยฯ ยังได้แนะนำการให้ดีพร้อมมีส่วนช่วยเหลือในเรื่องของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีหลากหลายรูปแบบโดยเชิญชวนผู้ประกอบการเข้าโครงการของศูนย์ Thai-idc การแปรรูปหัวปลาอินทรีย์ เพื่อเพิ่มมูลค่าโดยการปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ให้มีความน่าสนใจ ลูกค้าอยากซื้อกลับไปเป็นของฝาก และที่สำคัญคือยกระดับย่านเมืองเก่าที่มี 8 หมู่บ้าน 11 ชุมชน ให้เป็นจุดโชว์ "เมนูเด็ดชุมชนดีพร้อม" เพื่อเป็นประโยชน์ต่อคนในชุมชนย่านเมืองเก่าสามารถสร้างรายได้ยกระดับคุณภาพชีวิตให้เพิ่มขึ้นต่อไป ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
22 ส.ค 2023
"อธิบดีใบน้อย" ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานศูนย์ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 11
จ.สงขลา 21 สิงหาคม 2566 – นายใบน้อย สุวรรณชาตรี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 11 (DIPROM CENTER 11) ร่วมด้วย นายวาที พีระวรานุพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) โดยมี นางสาววรรณี พุฒแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 11 ให้การต้อนรับ ณ ศูนย์ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 11 (DIPROM CENTER 11) การลงพื้นที่ในครั้งนี้ เป็นการรับฟัง การให้บริการ ศูนย์ DIPROM ITC ที่ช่วยลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการด้านการบรรจุอาหาร และติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานการใช้จ่ายจ่ายงบประมาณ พร้อมการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณโดยรอบศูนย์ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 11 การพัฒนาหมู่บ้านอุตสาหกรรมชนบทเพื่อการท่องเที่ยว หรือ หมู่บ้าน JBIC และการดำเนินการ DIPROM BSC ที่มีผู้นสนใจมาศึกษาดูงานกว่า 350 คน และรวมทั้งโรงเรียนปัญญาภิวัตน์กว่า 100 คน คาดว่าในปีนี้จะมีบุคคลภายนอกกว่า 400 คน และที่ผ่านได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรนอกศูนย์ฯ เข้าร่วมเพิ่มมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ อธิบดีใบน้อยฯ ได้มอบแนวทางการพัฒนาศูนย์ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 11 ในเรื่องของอาทิ การเปิดถนนข้างศูนย์หัตถกรรม ปรับปรุงศูนย์บ่มเพาะให้เป็นหอพัก การทำรั้วกำแพงคอนกรีต เพื่อป้องการน้ำไหลออกนอกพื้นที่ การซ่อมบำรุงเครื่องจักรภายในศูนย์ DIPROM ITC รวมถึงการสืบทอดองค์ความรู้ระหว่างบุคลากร โดยได้กล่าวชื่นชมการเป็นกูรูของบุคลากรดีพร้อมว่าสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ของศูนย์ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 11 ได้ดีอีกด้วย ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
22 ส.ค 2023
"อธิบดีใบน้อย" ลงพื้นที่เยี่ยมชมชุมชนดีพร้อมเครื่องแกงใต้ เกาะยอ
จ.สงขลา 20 สิงหาคม 2566 - นายใบน้อย สุวรรณชาตรี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ลงพื้นที่เยี่ยมชม กลุ่มเครื่องแกงกุลญาดา พร้อมด้วย นางสาววรรณี พุฒแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 11 (DIPROM CENTER 11) ดร.พลาวุธ วงศ์วิวัฒน์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) โดยมี นางกุลญาดา เจริญศรุตา กรรมการกลุ่มเครื่องแกงกุลญาดา ให้การต้อนรับ ณ ตำบลเกาะยอ อำเภอเมืองสงขลา กลุ่มเครื่องแกงกุลญาดาผลิตและจำหน่ายพริกแกงปักษ์ใต้ น้ำพริก กะปิหวาน และน้ำพริกเผา มีรสชาติที่มีความเป็นอัตลักษณ์ของชาวชุมชนเกาะยอ ซึ่งได้รับเครื่องหมาย อย. และมาตรฐานฮาลาล จนได้รับการยอมรับจาก บริษัท เชฟรอน คอร์ปอเรชั่น ให้เป็นผู้ผลิตและจัดส่งวัตถุดิบในการทำอาหาร อาทิ เนื้อ หมู ปลา กุ้ง ผักสด ผลไม้ และขนม รวมถึงพริกแกง 7 ชนิด จำนวน 300 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ ไปที่แท่นขุดเจาะน้ำมัน จำนวน 15 แท่น ของบริษัทเชฟรอนฯ มาเป็นเวลายาวนานกว่า 26 ปี ขณะเดียวกัน กลุ่มเครื่องแกงกุลญาดายังรับเป็นศูนย์ฝึกเชฟมาตรฐานของเชฟรอน ก่อนส่งไปยังแท่นขุดเจาะอีกด้วย ทั้งนี้ ดีพร้อม ได้เข้าไปช่วยส่งเสริมและพัฒนาด้านของผลิตภัณฑ์เครื่องแกงพร้อมรับประทาน การรวมกลุ่มและเชื่อมโยงผู้ประกอบการเพื่อเสริมความเข้มแข็งของคลัสเตอร์ในพื้นที่ รวมถึงการให้ความรู้เรื่องการตลาดออนไลน์ และการทำบัญชี/ต้นทุนในการผลิต นอกจากนี้ ยังได้เชิญชวนชุมชนดังกล่าวเข้าร่วมโครงการ "เมนูเด็ดชุมชนดีพร้อม" โดยการส่งเสริมและพัฒนาในด้านต่าง ๆ อาทิ ดีพร้อมฮีโร่ เป็นจุดรวมวัตถุดิบในประเทศไทยผลิตเครื่องแกงเชื่อมโยงเครือข่ายวัตถุดิบ ได้แก่ พริก หอม และกระเทียม โดยส่งเสริมให้ชุมชนโดยรอบปลูกวัตถุดิบดังกล่าว พร้อมกำหนดราคาให้เป็นมาตรฐาน เน้นย้ำการถ่ายทอดองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่น เพื่อคงคุณภาพและอัตลักษณ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นออกสู่ตลาดต่อไป ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
21 ส.ค 2023
"ดีพร้อม" ลงพื้นที่เยี่ยมชม กลุ่มทอผ้าร่มไทร ต่อยอดสร้างอาชีพดีพร้อม
จ.สงขลา 20 สิงหาคม 2566 - นายใบน้อย สุวรรณชาตรี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ลงพื้นที่เยี่ยมชม กลุ่มทอผ้าร่มไทร พร้อมด้วย นางสาววรรณี พุฒแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 11 (DIPROM CENTER 11) ดร.พลาวุธ วงศ์วิวัฒน์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) โดยมี นางยมนา สินธุรัตน์ ประธานกลุ่มทอผ้าร่มไทร ให้การต้อนรับ ณ ตำบลเกาะยอ อำเภอเมืองสงขลา ผ้าทอเกาะยอ หรือ ผ้าเกาะยอ เป็นผ้าทอพื้นเมืองของตำบลเกาะยอ อำเภอเมืองสงขลา ที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี โดยกลุ่มทอผ้าร่มไทร เป็นกลุ่มผู้บุกเบิกผ้าทอเกาะยอ และเป็นผู้ริเริ่มผ้าทอลายเกล็ดปลาขี้ตัง (เป็นปลาเฉพาะที่ทะเลสาบ จ.สงขลา) ตามที่ได้รับการส่งเสริมการออกแบบจากดีพร้อม และด้วยเอกลักษณ์ของผ้าเกาะยอที่ทอเป็นลายเล็ก ๆ จึงเป็นเหตุให้ผู้ทอต้องมีสมาธิสูงมากในการทำดอกผ้าแต่ละดอก โดยมีลวดลายต่าง ๆ เช่น ลายดอกพยอม ลายดอกรสสุคนธ์ ลายพริกไทย และลายลูกหวาย เป็นต้น โดยปัจจุบันกลุ่มผ้าทอร่มไทรยังมีการถ่ายทอดความรู้การทอผ้าให้แก่ลูกหลานชาวเกาะยอ ถ่ายทอดองค์ความรู้การทอผ้าให้กับสามเณรกว่าร้อยชีวิตที่ศูนย์การเรียนรู้ ผ้าทอสีธรรมชาติ วัดโคกเปรี้ยว ให้ได้เรียนรู้วิชาชีพการทอผ้าซึ่งเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการเรียนรู้ของสามเณร "ตามวิถีของพระที่ต้องเย็บทำจีวรเอง" ตามที่เจ้าอาวาสบอกกล่าวไว้ เพื่อเป็นโอกาสในการสร้างอาชีพและสามารถหารายได้หลังลาสิกขาต่อไป ทั้งนี้ ดีพร้อม ได้สนับสนุนจักรเย็บผ้าให้แก่ศูนย์การเรียนรู้ฯ อีกทั้ง ยังได้ส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีอัตลักษณ์สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนเกาะยอในอนาคต ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
21 ส.ค 2023