โทรศัพท์ 1358
Advanced Search

Category
กลุ่มแปรรูปผ้าพื้นเมืองนาบัว จับรสนิยมสากล
“ผ้าพื้นเมืองของไทยหลายแห่งมีการผลิตที่ก้าวหน้ากว่าเพื่อนบ้าน เลยมีปัญหาถูกก๊อบปี้สินค้าบ้าง แต่ไม่ต้องห่วง เราจะพยายามหนีให้ไกลเลย ไม่ให้ตามทัน” คุณพนิดา คุณธรรมประธานกลุ่มแปรรูปผ้าพื้นเมืองนาบัวกล่าวด้วยน้ำเสียงเปี่ยม พลังคุณพนิดาเป็นช่างตัดเย็บเสื้อผ้าตั้งแต่วัยสาวในอำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี และสังเกตเห็นว่าผู้เฒ่าสูงวัยในหมู่บ้านเน้นทอผ้าผืนมัดหมี่ย้อมคราม มิได้นำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อื่นใด เมื่อคุณพนิดาทดลองนำผ้าย้อมครามมาแปรรูปเป็นกล่องทิชชู พวงกุญแจ เสื้อผ้าบุรุษ-สตรี ย่าม และออกร้านที่กรุงเทพฯ ปรากฏว่าได้รับผลตอบรับที่ดี จึงเดินหน้ารวมกลุ่มแม่บ้านในชุมชน ๖-๗ คน ขยายการผลิตซึ่งต่อมาได้รับการสนับสนุนเงินทุนและอุปกรณ์ตัดเย็บจากหน่วยงานราชการต่าง ๆ เป็นระยะ อาทิ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม กรมประชาสงเคราะห์ และอุตสาหกรรมจังหวัด เป็นต้น สมาชิกกลุ่มขยายตัวมากขึ้น และได้รับการสนับสนุนจากศูนย์ ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ ๔ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เข้าอบรม ‘กิจกรรมเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการหลักสูตรการพัฒนาออกแบบ’ และได้เข้าร่วม ’กิจกรรมการพัฒนาการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงอุตสาหกรรม (Industrial Cluster Development)’ เมื่อ ๔ ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มผู้เกี่ยวข้องกับการแปรรูปผ้าพื้นเมืองตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกันและรวมกันเพื่อสร้างอำนาจต่อรองให้ได้วัตถุดิบราคาถูกลง และในปี ๒๕๕๔ ยังได้รับสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย ความภูมิใจของคุณพนิดาคือการได้นำผลิตภัณฑ์ของกลุ่มไปออกงานแสดงสินค้าในฝรั่งเศสและอิตาลี แม้ยอดขายจะไม่มากมายนัก แต่เป็นการเปิดหูเปิดตาและได้นำสินค้าฝีมือไทยไปอวดโฉมในต่างประเทศ ดังนั้น การค้าเสรีตามข้อตกลงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน สำหรับคุณพนิดาแล้ว เป็นความภูมิใจและเป็นโอกาสที่สินค้าไทยมีโอกาสไปได้กว้างไกลขึ้น คุณพนิดา คุณธรรม ประธานกลุ่มแปรรูปผ้าพื้นเมืองนาบัว บ.นาบัว หมู่ 9 ต.นาบัว อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี 41150 โทรศัพท์ : 08 1380 0393 ที่มา : รายงานประจำปี 2554 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2011
ทำเล-อิ่มบุญ ส่งศิลป์ไทยสู่สากล
แม้ว่า AEC จะเป็นฐานการตลาดและการผลิตเดียวกัน ทว่าในความเป็นจริงแต่ละประเทศยังมีวัฒนธรรมและมีอัตลักษณ์ของตน จึงเป็นมนต์เสน่ห์ที่ไม่อาจผลิตสินค้าเลียนแบบกันได้ โดยเฉพาะสินค้าหัตถกรรมที่มีจิตวิญญาณ อารยธรรมเฉพาะของแต่ละชุมชน บริษัท ทำเล-อิ่มบุญ จำกัด เริ่มต้นจากการรวมตัวกันในนาม ‘กลุ่มพิทักษ์ชุมชนสร้างงานหัตถกรรมเพื่อการส่งออก’ เพื่อสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้ชาวบ้านในตำบลดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา ภายหลังได้ตั้งเป็นบริษัทเมื่อ ๓ ปีที่แล้ว สินค้าหลักคือหัตถกรรมเพนต์สีฝีมือของชาวบ้านราว ๒๐-๕๐ คน โดยมีแหล่งจำหน่ายอยู่ที่สวนจตุจักร โดยคุณอังศุมาลิน บุญทา รับหน้าที่ดีไซน์ลวดลายบนกระเป๋า หมวก เนกไท เพื่อให้แบรนด์ Aimbun (อิ่มบุญ) ได้ชิ้นงานที่มีดีไซน์พิเศษ ขณะที่คุณพิทักษ์ บุญทา หมั่นเสริมความรู้ด้านการบริหารธุรกิจอยู่เสมอ โดยได้เข้าร่วมอบรม ‘โครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ (NEC)’ ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นการเพิ่มพูนความรู้ด้านบัญชีและการตลาด ก่อให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีทิศทางยิ่งขึ้น เช่น การสร้างอัตลักษณ์ของแบรนด์อิ่มบุญ การหมั่นออกร้านในงานแสดงสินค้าต่างประเทศ เพื่อมองหากลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ เป็นต้น นอกจากนั้นยังเข้าร่วม ‘โครงการพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจชุมชนในภาคอุตสาหกรรม (TOPOTOP)’ ซึ่งได้ความรู้ด้านการจัดจำหน่ายและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งคุณพิทักษ์ได้นำความรู้ดังกล่าวมาถ่ายทอดให้กับเครือข่ายชาวบ้านด้วย กลุ่มลูกค้าหลักของอิ่มบุญคือชาวต่างชาติที่นิยมสินค้าทำมือที่มีชิ้นเดียวในโลก และมีรูปลักษณ์ไม่เหมือนใคร การที่สินค้าต่าง ๆ จะเคลื่อนย้ายได้ง่ายขึ้นตามข้อตกลง AEC นั้น จึงเป็นโอกาสของสินค้าหัตถกรรมเพนต์สีจากดอกคำใต้ จังหวัดพะเยาที่จะได้อวดโฉมแก่ผู้บริโภคที่พิสมัยศิลปะมากขึ้น คุณพิทักษ์ บุญทา บริษัท ทำเล-อิ่มบุญ จำกัด ๑๗๔ หมู่ ๗ ต.ดอกคำใต้ อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา ๕๖๑๒๐ โทรศัพท์ : ๐๕๔ ๔๙๑ ๕๓๓, ๐๘ ๑๕๖๒ ๗๕๒๙ โทรสาร : ๐๕๔ ๔๙๑ ๕๓๔ เว็บไซต์ : www.aimbun.com ที่มา : รายงานประจำปี 2554 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2011
เอกลักษณ์หมอนไทย แข่งได้ในอาเซียน
“ปีที่ผ่านมา ผมไปออกงาน Expo ที่ลาว พบปัญหาภาษีแพงมาก เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าภาษีลดลง ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มจะขายได้มากขึ้น เพราะวัฒนธรรมเราใกล้เคียงกัน” คุณนัฐพร มหิพันธ์ ผู้นำกลุ่มด่านเหนือหมอนไทยให้ความเห็นต่อประเด็น AEC ตามข้อตกลงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ประเทศสมาชิกจะทยอยลดภาษีลงเป็นระยะ รวมถึงขจัดมาตรการกีดกันที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers) ซึ่งตามแผนงาน กลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม) จะลดภาษีและขจัดมาตรการต่าง ๆ ภายใน ๑ มกราคม ๒๕๕๘ ในระยะ ๓ ปีจากนี้ไป จึงเป็นช่วงเวลาเตรียมตัวของกลุ่มด่านเหนือหมอนไทยในการขยายตลาดในประเทศเพื่อนบ้าน คุณนัฐพรสืบสานความรู้การทำหมอนขิดมาจากบิดามารดา ซึ่งแต่เดิมมักทำผลิตภัณฑ์ในรูปลักษณ์เดิม จำหน่ายในแหล่งเดิม มาสู่การพัฒนาแบบแปลกใหม่และออกหาตลาดมากขึ้น เช่น งานออกร้านแสดงสินค้า งานนิทรรศการ ตลอดจนออกงานในประเทศเพื่อนบ้านซึ่งสามารถเพิ่มยอดขายได้ดีพอสมควร ทั้งนี้ได้ส่งเสริมให้สมาชิกภายในกลุ่มเข้าอบรมความรู้ใหม่ ๆ อยู่เสมอ ซึ่งในปีที่ผ่านมาได้เข้ารับบริการ ‘กิจกรรมส่งเสริมนวัตกรรมอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์’ กับศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ ๕ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยพัฒนาหมอนรองนั่งขึ้นเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ และสร้างดีไซน์ใหม่ให้ผลิตภัณฑ์เดิม ซึ่งผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีความแตกต่างสามารถตั้งราคาจำหน่ายสูงขึ้นด้วย สิ่งที่คุณนัฐพรกังวลคือการเลียนแบบสินค้า แต่ตราบใดที่ยังรักที่จะทำอาชีพผลิตภัณฑ์จากพื้นเมืองนี้ ก็ต้องฉีกตัวเองออกจากคู่แข่ง หมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง “ต่อไปจะมีผู้บริโภคมากขึ้น เป็นผู้บริโภคทั้งอาเซียน ตราบใดที่เรามุ่งสร้างสรรค์และพัฒนาก็ยังมีโอกาสอยู่เสมอ” คือคำยืนยันความพร้อมจากผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนเล็ก ๆ ในจังหวัดกาฬสินธุ์ คุณนัฐพร มหิพันธ์ ประธานกลุ่มด่านเหนือหมอนไทย ๑๑๖/๒ บ.ด่านเหนือ ต.โพนงาม อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ ๔๖๑๓๐ โทรศัพท์ : ๐๘ ๑๙๖๕ ๖๗๓๙ ที่มา : รายงานประจำปี 2554 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2011
เอราวัณล้านนา เอกลักษณ์ไทยเด่นในสหวัฒนธรรม
“วิญญาณของคนไทยในงานหัตถกรรมมีความละเอียดสูง ในโลกนี้ไม่มีใครสู้ได้ ยิ่งโลกก้าวหน้าไปในทางอุตสาหกรรมมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นโอกาสของงานหัตถกรรม” คุณธีระพงศ์ คำสิงห์แก้ว ผู้จัดการร้านเอราวัณล้านนา จังหวัดเชียงใหม่ ตอบอย่างมั่นใจต่อคำถามว่า “AEC จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจหัตถกรรมไทยอย่างไรบ้าง” คุณธีระพงศ์เติบโตมาในครอบครัวผู้ผลิตงานหัตถกรรมล้านนาซึ่งเขาให้ความสำคัญกับ ‘การพัฒนาสินค้า (Product Development)’ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเรื่องการตลาด การเปิดโลกทัศน์ทางธุรกิจครั้งสำคัญเกิดขึ้นเมื่อครั้งได้เข้ารับการอบรม ‘โครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม (คพอ.)’ กับศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ ๑ จังหวัดเชียงใหม่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เมื่อปี ๒๕๔๙ นอกจากนั้นยังได้รับการสนับสนุน ‘เงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย’ เมื่อปี ๒๕๕๐ ทำให้ร้านเอราวัณล้านนามีศักยภาพในการขยายธุรกิจด้วยความเปี่ยมประสบการณ์ คุณธีระพงศ์ได้เข้าร่วม ‘โครงการ Creative Lanna’ ของศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ ๑ เมื่อปี ๒๕๕๔ รวมทั้งได้รับโอกาสเป็นผู้จัดการศูนย์คัดเลือกและกระจายสินค้าหัตถกรรมกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน (Northern-Thai Handicraft Center : NTHC) ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือจากหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมให้มีการเปิดศูนย์จำหน่ายสินค้าที่คุนหมิงและสิบสองปันนา ประเทศจีนเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาโครงการ ๘ เดือน คุณธีระพงศ์จึงลงทุนและรับดำเนินการต่อซึ่งประสบความสำเร็จด้วยดี ความสำเร็จในการทำตลาดร้านเอราวัณล้านนาที่จีนทำให้คุณธีระพงศ์มั่นใจว่า เมื่อเปิดเสรีอาเซียนแล้ว เอกลักษณ์ความเป็นไทยยังคงโดดเด่นท่ามกลางความเป็นสหวัฒนธรรม (multi-culture) “เมื่อคนมีฐานะ ก็มักสนใจงานศิลปะ งานแฮนด์เมดมากขึ้นซึ่งกรณีของจีนน่าจะสะท้อนสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับอาเซียนได้เช่นกัน” คุณธีระพงศ์ คำสิงห์แก้ว ร้านเอราวัณล้านนา ๒๑๑ หมู่ ๕ ต.สันปูเลย อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ๕๐๒๒๐ โทรศัพท์ : ๐๕๓ ๐๑๑ ๖๔๙, ๐๘ ๕๐๓๓ ๐๓๙๒ ที่มา : รายงานประจำปี 2554 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2011
บริษัท เอส พี เอ็ม อาหารสัตว์ จำกัด รักษาอันดับแข่งขันของประเทศ
แม้การรวมตัว AEC จะส่งผลให้เกิดการแข่งขันสูง แต่ประเทศที่มีความชำนาญในบางอุตสาหกรรมอย่างเด่นชัด หากมีการพัฒนาต่อยอดประสิทธิภาพ ก็จะคงความได้เปรียบในการแข่งขันนั้นไว้ได้ สำหรับบริษัท เอส พี เอ็ม อาหารสัตว์ จำกัด ผู้บริหารประเมินว่า บริษัทมีความได้เปรียบในด้านการแข่งขันกับบริษัทอื่น ๆ ในกลุ่มอาเซียน เนื่องจากเทคโนโลยีการผลิต คุณภาพฝีมือแรงงานและประสิทธิภาพการจัดการของธุรกิจปศุสัตว์และอาหารสัตว์ของประเทศไทยนั้นนับได้ว่าเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียนและเอเชียเลยทีเดียว การถูกแทรกแซงตลาดจากสินค้านำเข้าจึงเป็นไปได้น้อยมาก แต่ผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงงานและต้นทุนการผลิตอื่น ๆ ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญ ในปี ๒๕๕๔ บริษัทได้เข้าร่วม ‘โครงการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกแก่ SMEs ด้วยระบบ LEAN’ ของสำนักพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ซึ่งได้ผลสัมฤทธิ์ที่ดี เช่น ประสิทธิภาพการผลิตที่เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ ๒๕ สามารถส่งมอบสินค้าได้ทันเวลา ทีมงานมีความพร้อมและรู้สึกมีส่วนร่วมที่จะพัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วยตนเอง ซึ่งต่างจากอดีตที่มักรอคำสั่งจากผู้บริหาร เป็นต้น นอกจากเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตแล้ว บริษัทยังพิจารณาการขยายการลงทุนไปตั้งโรงงานในประเทศอื่น ๆ ที่มีปัจจัยการผลิตต่าง ๆ ต้นทุนต่ำกว่าประเทศไทย “เราต้องรักษาสภาพความเป็นผู้นำในเรื่องประสิทธิภาพการผลิตที่มีต้นทุนการผลิตต่ำที่สุดต่อไป เพื่อขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศในกลุ่ม AEC ได้ง่ายขึ้น” คุณสรพหล นิติกาญจนา รองกรรมการผู้จัดการบริษัท เอส พี เอ็ม อาหารสัตว์ จำกัด แสดงความเห็นที่บ่งบอกถึงทิศทางการเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต คุณสรพหล นิติกาญจนา บริษัท เอส พี เอ็ม อาหารสัตว์ จำกัด ๑๔๙ หมู่ ๕ ต.วังมะนาว อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี ๗๐๑๔๐ โทรศัพท์ : ๐๓๒ ๓๕๘ ๕๘๒, ๐๓๒ ๓๕๘ ๕๘๑, ๐๓๒ ๒๘๑ ๒๐๑, ๐๓๒ ๓๕๘ ๕๘๓, ๐๓๒ ๒๘๑ ๒๐๒-๓, ๐๓๒ ๓๐๓ ๐๐๕-๖ เว็บไซต์ : www.spmgroup-thailand.com ที่มา : รายงานประจำปี 2554 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2011
บริษัท เทคโนเปีย (ไทยแลนด์) จำกัด ลดต้นทุนและความสูญเสีย = เพิ่มผลผลิต
ผู้บริหารองค์กรที่มีวิสัยทัศน์ มักมีความกระตือรือร้นในการปรับองค์กรเพื่อรับมือการแข่งขันในยุค AEC โดยนำเครื่องมือต่าง ๆ มาช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ลดต้นทุน ลดความสูญเสียในกระบวนการผลิต และเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต บริษัท เทคโนเปีย (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ผลิตยาจุดกันยุงชนิดขดก็เช่นเดียวกัน ได้มีการดำเนินการหาเครื่องมือที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ลดความสูญเสียในกระบวนการผลิตดังกล่าวข้างต้น โดยได้เข้าร่วม ‘โครงการ Lean Manufacturing’ กับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในช่วงแรก บริษัทประสบปัญหาความร่วมมือของพนักงาน แต่หลังจากการฝึกอบรมโดยคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งในด้านความรู้และความสามารถ พนักงานจึงให้ความร่วมมือในการปรับปรุงกระบวนการทำงานโดยลำดับ หลังจากที่ได้นำ Lean TPM (Total Productivity Management) หรือการบริหารผลิตภาพโดยรวมมาใช้ บริษัทเห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นขององค์กร โดยเฉพาะการทำงานเป็นทีมของพนักงาน การค้นหาสาเหตุของปัญหา และการวิเคราะห์ปัญหา โดยใช้เครื่องมือต่าง ๆ ที่ได้รับการอบรมอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดผลการพัฒนากระบวนการผลิตอย่างเห็นได้ชัด บริษัทมีความมุ่งมั่นที่จะนำเครื่องมือต่าง ๆ ที่ได้รับจากการอบรมมาพัฒนาต่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดความสูญเปล่ายิ่งขึ้น ทั้งยังมุ่งมั่นที่จะพัฒนากระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดที่จะเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต คุณสุเมธ จำปาทอง บริษัท เทคโนเปีย (ไทยแลนด์) จำกัด ๓๒๓ หมู่ ๖ เขตอุตสาหกรรมสุรนารี ถ.ราชสีมา-โชคชัย ต.หนองระเวียง อ.เมือง จ.นครราชสีมา ๓๐๐๐๐ โทรศัพท์ : ๐๔๔ ๒๑๒ ๙๙๐-๓ โทรสาร : ๐๔๔ ๒๑๒ ๙๙๔ ที่มา : รายงานประจำปี 2554 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2011
ก้าวสู่ Service Provider มืออาชีพ ความรู้-ทักษะ-จิตบริการ
การบริหารจัดการองค์กรให้มีประสิทธิภาพ เปลี่ยนแปลงให้เท่าทันต่อโลกภายนอก ไม่เพียงแต่เป็นการมองจากภายในสู่ภายนอก (inside-out) เท่านั้น แต่การมองจากภายนอกเข้ามาในองค์กร (outside-in) ก็จะช่วยเพิ่มมุมมองที่แตกต่าง ผู้บริหารที่ดีจึงมักเปิดโลกทัศน์ของตนด้วยการรับฟังคำแนะนำจากที่ปรึกษามืออาชีพ ซึ่งเป็นโอกาสของผู้ดำเนินอาชีพที่ปรึกษา (Consultant)หรือผู้ประกอบการการให้บริการธุรกิจอุตสาหกรรม (Service Provider : SP) คุณรัชดา เทพนาวา เป็นผู้ประกอบการ Service Providerโดยได้เข้าร่วม ‘โครงการอบรมผู้ให้บริการธุรกิจอุตสาหกรรม’เพื่อเพิ่มพูนความรู้รอบด้านทั้งเทคนิควิศวการ การจัดการ การตลาด การเงิน การบัญชี ตลอดจนทักษะและจรรยาบรรณการให้คำปรึกษา เพื่อนำความรู้เหล่านั้นไปช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจเช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้านอุตสาหกรรมยางพารา และด้านพลังงาน เป็นต้น ทั้งนี้ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่จะมีผลในปี ๒๕๕๘ จะส่งผลให้ผู้ประกอบการ SMEs จำนวนมากต้องปรับตัวเพื่อแข่งขัน SP ที่เตรียมพร้อมก็จะให้คำปรึกษาได้อย่างถูกทิศทาง “SP ก็ต้องมีการพัฒนาตนเองจากการเป็นนักบริการธุรกิจอุตสาหกรรมไปสู่ที่ปรึกษาเชิงลึก ซึ่งควรมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางอย่างน้อย ๑-๒ สาขาที่ไทยมีความโดดเด่น เช่น ธุรกิจเกษตรแปรรูป ธุรกิจการแพทย์และสุขภาพ เป็นต้น รวมถึงทักษะการใช้ภาษาต่างประเทศ พร้อมด้วยจิตบริการ เพื่อรองรับการเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการแก่ธุรกิจอุตสาหกรรมในตลาดขนาดใหญ่ ซึ่งเกิดจากการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” การดำเนินงานของคุณรัชดาจึงเป็นการเตรียมพร้อมพัฒนาศักยภาพตนเอง ตลอดจนให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้ประกอบการเพื่อเดินเข้าหาโอกาสที่เกิดขึ้นจาก AEC มากกว่าจะเห็นเป็นอุปสรรค คุณรัชดา เทพนาวา บริษัท เจเอ็มทู จำกัด ๒๒๑ หมู่ ๖ ต.ทุ่งใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ๙๐๑๑๐ โทรศัพท์ : ๐๘ ๑๕๙๙ ๔๙๒๐ ที่มา : รายงานประจำปี 2554 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2011
กลุ่มอุตสาหกรรมนมพาสเจอร์ไรซ์ จ.มหาสารคาม เตรียมนมชั้นดีเสิร์ฟอาเซียน
ประวัติศาสตร์การดำเนินธุรกิจในแต่ละภูมิภาค แต่ละทวีปล้วนเคยรวมกลุ่มเพื่อสร้างศักยภาพทางการค้าหรือความได้เปรียบบางประการร่วมกัน AEC ก็เช่นเดียวกัน หาก SMEs เข้าใจ ก็สามารถจำลองแนวคิดการรวมกลุ่มนี้มาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างพลังให้กับกลุ่มหรือชุมชนของตนได้ สหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมโคกก่อ จำกัด โชคจำเริญฟาร์ม โรงงานอุตสาหกรรมนมพาสเจอร์ไรซ์ในจังหวัดมหาสารคาม รวมตัวกันกว่า ๓๐ ราย จัดตั้งเป็น ‘กลุ่มอุตสาหกรรมนมพาสเจอร์ไรซ์’ และได้เข้าร่วม ‘โครงการพัฒนาการรวมกลุ่ม และเชื่อมโยงอุตสาหกรรม (Cluster)’ ของส่วนส่งเสริมการรวมกลุ่มอุตสาหกรรม สำนักพัฒนาการจัดการอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ทำให้เกิดการสานประโยชน์ภายในกลุ่ม รวมทั้งยังได้จัดจ้างคณะที่ปรึกษาเข้ามาให้คำแนะนำในการสร้างอุตสาหกรรมให้ทันสมัย (Industrial Modernization) นอกจากนั้นกลุ่มยังได้เข้าร่วมอบรม ‘Creative Innovation Thinking’ กิจกรรมต่อเนื่องของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ต่อยอดจากผลิตภัณฑ์เดิม เช่น การคิดผลิตภัณฑ์นมรูปแบบใหม่ และรสชาติใหม่ ๆ เป็นต้น ปัจจุบันวัวกว่า ๑๐๐ ตัวในโชคจำเริญฟาร์ม รีดน้ำนมได้วันละ ๕๕๐-๖๐๐ ลิตร เมื่อได้น้ำนมดิบจะบรรจุใส่ถุงขายและส่งต่อไปยังสหกรณ์เพื่อปรับอุณหภูมิน้ำนม จากนั้นจะส่งเข้าโรงงานพาสเจอร์ไรซ์ที่อยู่ในกลุ่มคลัสเตอร์ เพื่อผลิตนมส่งตามโรงเรียนและร้านค้า กลุ่มมีแผนจะเพิ่มจำนวนโคนมเพื่อเพิ่มผลผลิตน้ำนมให้ได้มากขึ้น โดยเพิ่มสมาชิกในกลุ่ม และจะเข้าควบรวมกิจการโรงงานอื่นมาเป็นของกลุ่ม “เราจะผลิตเพิ่มขึ้น โดยไม่ลืมว่าน้ำนมทุกถังต้องผ่านการตรวจเข้มด้านคุณภาพทุกวัน ทุกครั้ง ในด้านคุณภาพ จึงเชื่อได้ว่าเราเข้มแข็งไม่แพ้เพื่อนบ้าน ดังนั้น ถ้าจะแข่งขันเรื่องนมหรือโคนมในกลุ่มประเทศอาเซียน เชื่อว่าสู้ได้แน่นอน” คุณจำเริญกล่าวอย่างมั่นใจ คุณจำเริญ ศิริตื้นลี ประธานกรรมการกลุ่มอุตสาหกรรมนมพาสเจอร์ไรซ์ ๑๕๖ หมู่ ๕ ต.หนองปลิง อ.เมือง จ.มหาสารคาม ๔๔๐๐๐ โทรศัพท์ : ๐๘ ๙๒๗๖ ๒๘๘๗ ที่มา : รายงานประจำปี 2554 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2011
สหกรณ์ฯ สวนยางควนโพธิ์ พิสูจน์ยางไทยอันดับ 1
ประเทศไทยมีชื่อเสียงในการผลิตยางคุณภาพส่งออกเป็นอันดับหนึ่งของโลก แต่เกษตรกรจำนวนมากขาดการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง ทั้งพันธุ์ยาง ต้นยาง กระบวนการได้มาซี่งน้ำยาง การทำยางแผ่น และการรมควัน เนื่องงจากขาดเงินทุนและเทคโนโลยีความรู้ใหม่ๆ โดยโรงงานผลิตยางแผ่นรมควันหลายแห่งของการเกษตรในชุมชนควนโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ก็ประสบปัญหาเดียวกันนี้ "เมื่อปี 2537 รัฐบาลมีนโบายส่งเสริมและพัฒนาอย่างจริงจัง จนทำให้มีโรงงานผลิตยางรมควันเพิ่มขึ้นมากถึง 700 แห่ง แต่พอผ่านมานานเกือบ 20 ปี เตาและอุปกรณ์ต่างๆ ก็เริ่งชำรุด ทำให้ผลผลิตที่ไม่ดีเท่าที่ควรปกติการรมควัน 3 คืน ก็สุกแล้ว แต่ถ้าเตามีปัญหาจะใช้เวลานานขึ้นและต้องใช้ฟืนมาก" คุณการีม ยูหันนัน ประธานสหกรณ์กองทุนสวนยางควนโพธิ์เล่าถึงสภาพการผลิตซึ่งการใช้เวลาและเชื้อเพลิงมากขึ้น ก็เท่ากับต้นทุนมากขึ้นนั่นเอง คุณการีม และสามชิกสหกรณ์อีกจำนวนหนึ่งจึงได้เข้าร่วม 'โครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตยางในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้' ของศูนย์กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เมื่อสองปีที่แล้ว และได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาคุณภาพการผลิตยางรมควัน เช่น การใช้มอเตอร์อัดลมเพื่อเพิ่มความร้อนในเตา การสำรวจและซ่อมจุดชำรุดเพื่อให้เตาเก็บความร้อนได้ดีที่สุด เป็นต้น รวมถึงจัดหาช่างซ่อมบำรุงเตาที่มีความชำนาญ ทำให้สถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้น คุณการีมให้ความเห็นว่า หากยังต้องการรักษาการเป็นอันดับหนึ่งของผู้ส่งออกยางพาราโลก ควรต้องมีพัฒนาอย่างต่อเนื่องและจริงจัง เช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีคณะทำงานด้านปาล์มน้ำมันโดยเฉพาะ ซี่งสวนยางแต่ละพื้นที่ภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ มีอายุการปลูกต่างกัน เทคโนโลยีการผลิตต่างกัน ย่อมต้องการการพัฒนาที่แตกต่างกันด้วย หากมีความรู้และมีกำลังพร้อม การค้าเสรีก็จะไม่ใช่สิ่งน่ากลัวสำหรับอุตสาหกรรมยาง คุณการีม ยูหันนัน ประธานสหกรณ์กองทุนสวนยางควนโพธิ์ 243 หมู่ 2 ต.ควนโพธิ์ อ.เมือง จ.สตูล 91140 ที่มา : รายงานประจำปี 2554 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2011
ไอศกรีมโฮมเมด IceGoodies คุณภาพไม่มีวันละลาย
ไอศกรีม IceGoodies เกิดจากครอบครัวเล็ก ๆ ที่ชอบทานไอศกรีมเป็นประจำ แต่พบว่าไอศกรีมทั่วไปมีการปรุงแต่งรสชาติมากเกินความจำเป็นแทนที่จะเลือกใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพดีตามธรรมชาติ หากต้องการให้รสชาติอร่อยต้องใช้วัตถุดิบปริมาณมากไอศกรีมที่มีคุณภาพดี รสชาติอร่อยจึงมักมีราคาสูง ครอบครัวเล็ก ๆ นี้จึงสร้างทางเลือกด้วยการทำทานกันเองภายในครอบครัว แจกจ่ายให้ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงได้ลองรับประทาน และได้รับแรงเชียร์ให้เปิดร้านเล็ก ๆ ขายในชุมชนที่อาศัยอยู่ เมื่อได้รับการตอบรับดี จึงขยับขยายวางจำหน่ายในร้านอาหารและร้านกาแฟ รวม ๕ แห่ง โดยมีสินค้ามากถึง ๑๕ รสชาติ โดยคุณบุษรินทร์ เกษมชัยนันท์ ได้เข้าอบรม ‘โครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ (NEC)’ กับศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ ๘ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ทำให้เข้าใจถึงจุดอ่อนของสินค้าที่ต้องปรับปรุง จึงเป็นที่มาของการสร้างแบรนด์ไอศกรีม โฮมเมด IceGoodies และได้ความรู้เรื่องช่องทางการจัดจำหน่ายตลอดจนมีสายสัมพันธ์ที่ดีจากเพื่อนร่วมรุ่นอบรม IceGoodies ขยายการรับรู้ของแบรนด์โดยใช้ Social Network ในการโปรโมทสินค้า และมีโอกาสต่อยอดรับผลิตไอศกรีมตามออร์เดอร์ต่าง ๆ แม้กิจการไอศกรีมนี้ยังเป็นเพียงกิจการเล็กๆ และยังไม่ได้เตรียมการใด ๆ สำหรับ AEC แต่อนาคตหากคิดขยับขยาย ส่งจำหน่ายไม่ว่าในประเทศหรือต่างประเทศ ย่อมต้องคำนึงเรื่องคุณภาพผลิตภัณฑ์ มาตรฐานการผลิต อนามัย บรรจุภัณฑ์ และช่องทางการจำหน่ายเป็นสำคัญ จึงจะแข่งขันได้กับขนมและอาหารหวานนานาชนิดที่วางจำหน่ายในประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีแหล่งผลิตใหญ่อยู่ในประเทศสมาชิกอาเซียนนี่เอง เพราะไม่ว่ากฎเกณฑ์การค้าจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ‘คุณภาพ’ เท่านั้นที่จะช่วยให้แข่งขันได้ยืนนาน คุณบุษรินทร์ เกษมชัยนันท์ ไอศกรีมโฮมเมด IceGoodies ๙๙/๔๗๖ หมู่ ๘ ต.บางรักพัฒนา อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี โทรศัพท์ : ๐๘ ๓๙๐๐ ๖๖๐๖ เว็บไซต์ : www.facebook.com/IceGoodies ที่มา : รายงานประจำปี 2554 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2011