Category
ก้านเห็ดหอมปรุงรส i hed มุ่งมั่นพัฒนา สู่ของฝากชั้นนำ
i hed เริ่มต้นจากการเป็นเมนูอร่อยประจำบ้าน ผลิตจากก้านเห็ดหอมปรุงรสคุณภาพดี หมักปรุงรสและทอดตามหลักสุขอนามัยและหลังจากมีโอกาสเข้าร่วม “กิจกรรมเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ (New Entrepreneur Creation: NEC)” ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเมื่อ ๕ ปีก่อน คุณณัชชา นันทกาญจน์ จึงเห็นโอกาสในการพัฒนาก้านเห็ดหอมปรุงรสให้กลายเป็นธุรกิจทำเงิน จนกระทั่งในปี ๒๕๕๕ เธอได้จดทะเบียนแบรนด์ i hed และตัดสินใจลาออกจากงานประจำ โดยผันตัวเองมาเป็นสถาปนิกอิสระเพื่อจะได้มีเวลาในการเริ่มต้นธุรกิจอย่างจริงจัง ด้วยมีประสบการณ์ธุรกิจน้อย จึงหมั่นแสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่องหนึ่งในนั้นคือการเข้าร่วมเวิร์กช็อปเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้ดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภค ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ทำให้ได้ความรู้ด้านการพัฒนากระบวนการผลิตที่ช่วยยืดอายุการเก็บสินค้าให้ยาวนานขึ้น การปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ที่ช่วยคงสภาพสินค้าหลังการผลิตและยังสร้างภาพลักษณ์แบรนด์ให้ดูทันสมัย ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ i hed ยังเป็นเพียงธุรกิจในครัวเรือน ที่จำหน่ายในชุมชนเล็ก ๆ เพราะคุณณัชชาต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์จนมั่นใจว่าสามารถรับมือกับตลาดผู้บริโภคในวงกว้าง แต่เมื่อถามถึงการเตรียมความพร้อมรับมือกับยุค AEC เธอกล่าวอย่างมีความหวังว่า “เมื่อครั้งที่ได้เข้าร่วมโครงการที่ NEC ร่วมมือกับศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) มีผู้ให้แนวคิดว่าเราสามารถสร้างสินค้าให้เป็นเหมือนสินค้า OTOP คือมีสินค้าบางจำพวกที่ชาวต่างชาติต้องซื้อติดกลับไปเป็นของฝาก ไม่ว่าจะเป็นของเล่นอาหาร หรือของที่ระลึกอะไรต่าง ๆ แต่ก็คงจะดีถ้าเราสามารถสร้างแบรนด์ i hed ให้กลายเป็นสินค้าที่นักท่องเที่ยวที่มากรุงเทพฯ รู้สึกว่านี่คือผลิตภัณฑ์ที่ควรซื้อติดไม้ติดมือเป็นของที่ระลึก” คุณณัชชา นันทกาญจน์ เจ้าของกิจการ Healthy Republic ๓๐๑/๑๘๘ ม. ๖ ซ. ประชาชื่น แยก ๑-๒-๑๗ ถ. ประชาชื่น แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ ๑๐๒๑๐ โทรศัพท์ : ๐๘ ๕๙๒๐ ๕๕๓๐ อีเมล : marketing.ihed@gmail.com ที่มา : รายงานประจำปี 2555 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2012
บริษัท ชัยจินดาซีฟู้ด จำกัดความรู้บริหารเชิงลึกผสานความรู้พื้นบ้าน
คุณวันชัย โพธิเพียรทอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชัยจินดาซีฟู้ด จำกัด เป็นหนึ่งใน SMEs ที่สร้างกิจการบนศักยภาพพื้นฐานของจังหวัดสมุทรสาครที่เป็นเมืองท่าติดชายทะเล โดยดำเนินธุรกิจผลิตอาหารแห้งและการทำประมงในแบบฉบับพื้นบ้านมาร่วม ๒๐ ปีสามารถนำพากิจการเติบใหญ่ มีรายได้ต่อปีประมาณ ๑๐๐ ล้านบาท แต่คุณวันชัยตระหนักดีว่า ความรู้และประสบการณ์จากการปฏิบัติและการบริหารแบบกิจการครอบครัวไม่เพียงพอต่อการเปิดเสรีการค้าอาเซียนที่จะเกิดขึ้น ตลอดจนสภาพเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและเงื่อนไขการค้าที่ปรับเปลี่ยนไปตลอดเวลา ความรู้เชิงลึกในการบริหารจัดการทั้งด้านการเงิน การค้า การลงทุน การบริหารบุคคล ความรู้ด้านกฎหมาย ความรู้ด้านการตลาดและอีกมากมายจะเป็นสิ่งจำเป็นในการนำพาองค์กรให้ดำเนินไปอย่างมีระเบียบแบบแผน ซึ่งหลังจากคุณวันชัยได้เข้าร่วมอบรมการพัฒนาการสร้างภาวะผู้นำรุ่นที่ ๘ “กิจกรรมพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม (คพอ.)” ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้นำความรู้มาใช้ในการพัฒนาองค์กร และถ่ายทอดความรู้สู่พนักงาน เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างมีส่วนร่วม “ในการบริหารกิจการมีปัญหาเกิดขึ้นตลอด เวลา ไม่ต้องดูไกลระดับอาเซียน แค่ในไทยเองก็มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เช่น ค่าแรงขึ้น ๓๐๐ บาท ต้องคิด ต้องหาวิธีการทำอย่างไรให้ดำเนินกิจการต่อไปได้โดยต้นทุนไม่มากขึ้น ความรู้ที่ได้จาก คพอ.เป็นความรู้ที่สามารถปฏิบัติและแก้ไขปัญหาได้จริง และสิ่งสำคัญผมได้มิตรภาพมากมาย เป็นห้องเรียนธุรกิจที่ได้แลกเปลี่ยนวิธีคิด วิธีบริหาร ซึ่งสำคัญมาก กิจการ SMEs จะอยู่รอดและเดินหน้าได้ก็ต่อเมื่อสามารถจัดการกับปัญหา” เมื่อเปิดการค้าเสรีอาเซียนในปี ๒๕๕๘ จังหวัดสมุทรสาครจะมีศักยภาพเติบโตอีกมาก พื้นที่ติดชายฝั่งทะเลเป็นประตูเปิดรับวัตถุดิบอาหารทะเลและแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตสำคัญ แต่ก็เป็นประตูสำหรับนักลงทุนรายใหญ่ทั้งในและต่างประเทศด้วยเช่นกัน คุณวันชัย โพธิเพียรทอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชัยจินดาฟู้ด จำกัด ๓๕/๓๙ หมู่ ๔ ต. โคกคาม อ. เมือง จ. สมุทรสาคร ๗๔๐๐๐ โทรศัพท์ : ๐๓๔ ๘๔๐ ๓๕๒-๓ อีเมล : dryfood@hotmail.com ที่มา : รายงานประจำปี 2555 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2012
ชิตา ออร์แกนิคฟู้ด เพิ่มรสชาติ ปราศจากสารพิษ กิจกรรมพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปครบวงจร
บริษัท ชิตา ออร์แกนิคฟู้ด จำกัด ก่อตั้งเมื่อปี ๒๕๕๔ มุ่งผลิตวัตถุดิบเกษตรออร์แกนิกเพื่อผลิตเครื่องปรุงอาหารไทย อาทิ น้ำจิ้มไก่ ซอสพริก และน้ำจิ้มเครื่องเคียงต่าง ๆ ซึ่งจัดว่าเป็นตลาดใหม่ เนื่องจากปัจจุบัน วัตถุดิบส่วนใหญ่ใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลงจำนวนมาก โดยได้สร้างไร่ชิตาไว้เป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบ ส่วนโนว์ฮาวการผลิตก็รับถ่ายทอดจากบริษัทแม่คือ บริษัท เอสแอนด์เจ โปรดักท์ จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรในจังหวัดลำพูน ในปีที่ผ่านมา บริษัท ชิตาฯ ได้เข้าร่วม กิจกรรมพัฒนาเชื่อมโยงนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าสู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “กิจกรรมพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปครบวงจร” กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมก่อให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เช่น น้ำสลัดชนิดข้นและใสที่ใช้ส่วนผสมน้ำส้มสายชูหมักจากสับปะรดออร์แกนิค มีสารต้านอนุมูลอิสระ มีเส้นใยอาหารสูงและเอ็นไซม์ที่ช่วยย่อยโปรตีนจากธรรมชาติในขณะเดียวกันก็มีรสชาติกลมกล่อมและสีสันสวยงาม นอกจากนั้นยังพัฒนาผลิตภัณฑ์อินทรีย์ใหม่ ๆ อีกหลายชนิด ซึ่งเป็นที่ต้องการของกลุ่มรักสุขภาพที่มีกำลังซื้อทั้งในและต่างประเทศ คุณสมเกียรติโอวรารินท์ ผู้บริหารด้านการตลาด บริษัท ชิตา ออร์แกนิคฟู้ด เห็นว่า มีโอกาสเติบโตสูงมาก “เราพุ่งเป้าไปที่กลุ่มลูกค้าผู้มีกำลังซื้อสูงในประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ซึ่งมีการศึกษาคุณภาพและประโยชน์ของสินค้าประเภทนี้กันอยู่แล้ว นอกจากนั้นยังมีโอกาสขยายพื้นที่ผลผลิตเกษตรอินทรีย์ในประเทศกลุ่ม AEC ไม่ว่าในลาวหรือในเวียดนาม ซึ่งขณะนี้มีอยู่ ๑-๒ ราย ที่สนใจที่จะมาร่วมเป็นแหล่งปลูกพืชอินทรีย์ให้กับทางบริษัท” ขนาดตลาดที่ขยายใหญ่ขึ้นจากข้อตกลง AEC แนวโน้มความนิยมในผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ล้วนเป็นวัตถุดิบชั้นดีที่จะช่วยเพิ่มรสชาติให้กับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องปรุงรสของไทย คุณสมเกียรติ โอวรารินท์ ผู้บริหารด้านการตลาด บริษัท ชิตา ออร์แกนิคฟู้ด จำกัด ๒๙๙ ม.๗ ต. นครเจดีย์ อ. ป่าซาง จ. ลำพูน ๕๑๑๒๐ โทรศัพท์ : ๐๕๓ ๕๕๕ ๒๔๘-๙ โทรสาร : ๐๕๓ ๕๕๕ ๒๔๙ ที่มา : รายงานประจำปี 2555 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2012
โรงงานแปรรูปเนื้อสุกร บมจ. ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) ลดพลังงาน – ลดต้นทุน – ลดโลกร้อน
โรงงานผลิตสุกรของบริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งปี ๒๕๔๖ ดำาเนินธุรกิจผลิตเนื้อสุกรแปรรูปแช่เย็นและแช่แข็งปัจจุบันมีปริมาณการผลิตประมาณ ๔๑,๐๐๐,๐๐๐ ตัน/ปี การที่กิจการมีความก้าวหน้า เนื่องจากมีการนำระบบมาตรฐานต่าง ๆ มาใช้ในการพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการสร้างความพร้อมสำหรับการแข่งขันในทุกสถานการณ์ โดยเฉพาะการแข่งขันเสรีในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่จะมีผลในปี ๒๕๕๘ นี้ หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ซีพีเอฟให้ความสำคัญคือ การใช้พลังงานและการจัดหาพลังงานทดแทนสำหรับใช้ในกระบวนการผลิต “ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเรื่องของนโยบายการปรับค่าแรงทั่วประเทศหรือเรื่องของพลังงาน หากได้ความช่วยเหลือจากทางการในเรื่องการจัดหาพลังงานทดแทน เช่น การลงทุนในส่วนของโซลาร์เซลล์ ประเทศไทยน่าจะใช้ประโยชน์จากพลังงานตรงนี้ได้มาก” คุณอนันต์ วงษ์เจริญ รองกรรมการผู้จัดการ บมจ. ซีพีเอฟ แสดงความเห็น เพื่อปรับปรุงการจัดการด้านพลังงาน บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ได้เข้าร่วม “กิจกรรมการจัดการพลังงานแบบสมบูรณ์เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการใช้พลังงานสำหรับอุตสาหกรรม (Total Energy Management: TEM) รุ่นที่ ๑๐” ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเมื่อจบกิจกรรมสามารถลดค่าปริมาณการใช้พลังงานรวมได้ ๒,๐๙๕,๐๘๒ MJ/ปี มีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานลดลง ๑,๘๔๐,๐๕๑ บาท/ปี คิดเป็นร้อยละ ๗.๕๑ จากค่าใช้จ่ายการใช้พลังงานรวมก่อนเข้าร่วมกิจกรรม ๒๔,๔๙๑,๒๕๔.๘๕ บาท/ปี ซึ่งหากภาคอุตสาหกรรมร่วมมือร่วมใจในการบริหารจัดการพลังงาน จะไม่เพียงยังประโยชน์ ต่อองค์กร แต่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมโดยรวมของประเทศด้วย คุณอนันต์ วงษ์เจริญ รองกรรมการผู้จัดการ บมจ. ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) ๒๖/๒ หมู่ ๗ ถ. สุวินทวงศ์ ต. คลองนครเนื่องเขต อ. เมือง จ. ฉะเชิงเทรา ๒๔๐๐๐ โทรศัพท์ : ๐๓๘ ๕๙๓ ๖๘๔-๖ โทรสาร : ๐๓๘ ๕๙๓ ๖๘๔๗ ที่มา : รายงานประจำปี 2555 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2012
ยูนิเกรนมาร์เกตติ้ง สร้างเอกลักษณ์ ‘ข้าวธรรม’
สินค้าเกษตรคุณภาพดี สามารถขยับชั้นจากการเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ธรรมดา (Commodity Goods) มาสู่สินค้ามีแบรนด์ได้ เช่น กล้วยหอมโดล แอปเปิ้ลฟูจิ และกีวีเซสปรี เป็นต้น ผลิตภัณฑ์ของไทยก็เช่น ส้มธนาธร หรือผักผลไม้โครงการหลวง ซึ่งการสร้างแบรนด์และการวางตำแหน่งสินค้าในระดับสูงได้ ย่อมหมายถึงการใส่ใจคุณภาพทุกขั้นตอนการผลิต คุณปนิธิ เหล่าธรรมทัศน์ ซีอีโอ บริษัท ยูนิเกรนมาร์เก็ตติ้ง (1999) จำกัด ผู้คร่ำหวอดอยู่ในธุรกิจค้าข้าวมากว่า ๓๐ ปี มองเห็นโอกาสเดียวกันนี้ จึงได้พัฒนาข้าวพรีเมียมแบรนด์ “ข้าวธรรม” ออกสู่ตลาดด้วยการปูทางเรื่องแบรนด์มาก่อนล่วงหน้าหลายปี ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะเป็นการสร้างความแตกต่างจากข้าวในประเทศและต่างประเทศในยุคที่เงื่อนเวลา AEC กระชั้นเข้ามา เนื่องจากหลายประเทศ ในอาเซียนล้วนผลิตข้าวได้จำนวนมากและผู้บริโภคไม่ทราบถึงความแตกต่าง ระยะแรกของการสร้างแบรนด์ในตลาดค้าปลีก ยูนิเกรนฯ พบปัญหามากมาย เนื่องจากเดิมมีความชำนาญด้านค้าส่ง โดยครอบครัวมีประสบการณ์ค้าส่งข้าวมานานถึง ๖๐ ปี แต่ผู้บริหารหมั่นแสวงหาความรู้ใหม่อยู่เสมอ โดยเฉพาะเมื่อได้เข้าร่วม “กิจกรรมพัฒนาการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงอุตสาหกรรม (Cluster)” ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในนาม “ไทยฟู๊ดคลัสเตอร์” ผลจากการเข้าร่วมกิจกรรมคุณปนิธิ เห็นว่ามีประโยชน์อย่างมาก ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสมาชิกภายในกลุ่ม มีการพัฒนาทั้งด้านผลิตภัณฑ์ และการตลาดอย่างต่อเนื่อง “คอนเซ็ปต์ของกลุ่ม คือ ทุกคนในกลุ่มต้องช่วยตัวเองส่วนหนึ่งและทางกรมฯ ช่วยสนับสนุนในส่วนหนึ่ง เช่น ในเรื่องของการออกงานและการอบรม สมาชิกในกลุ่มอาจอยู่คนละสายงาน แต่พอมานั่งคุยกันรับฟังการทำงานในอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน ทำให้ได้รับความรู้มากขึ้น เหมือนมี consult เพราะว่าเจ้าของธุรกิจมาแนะนำถ่ายทอดประสบการณ์ด้วยตัวเอง ผมได้ความรู้จากเพื่อน ๆ มากมาย ผมว่าแค่นี้ก็คุ้มค่ามากแล้ว” การมุ่งสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์ แบรนด์องค์กร รวมทั้งการผนึกกำลังสร้างแบรนด์ให้กับประเทศไทย จึงเป็นภารกิจสำคัญร่วมกันของผู้ประกอบการไทยในเวลานี้ คุณปนิธิ เหล่าธรรมทัศน์ ซีอีโอ บริษัท ยูนิเกรนมาร์เก็ตติ้ง (1999) จำกัด สำนักงาน : ๑๕๖ ถ. เฉลิมเขตร์ ๑ แขวงวัดเทพศิรินทร์ เขตป้อมปราบฯ กทม. ๑๐๑๐๐ โรงงาน : ๕๐/๕ ม. ๑๒ ถ. พุทธมณฑล สาย ๕ ต. ไร่ขิง อ. สามพราน จ. นครปฐม ๗๓๒๑๐ โทรศัพท์ : ๐ ๒๘๑๑ ๙๖๗๐-๓ ที่มา : รายงานประจำปี 2555 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2012
คุณภาพทุกขั้นตอนการผลิต ลมใต้ปีกของ “นกพิราบ”
แม้ผัก ผลไม้ดอง และอาหารกระป๋องตรา “นกพิราบ” จะเป็นที่รู้จักของสังคมไทยมานานกว่ากึ่งศตวรรษ แต่ก็ไม่อาจหยุดนิ่งในการพัฒนาตรงกันข้าม การปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้แบรนด์นกพิราบดำรงอยู่ในใจผู้บริโภคหลากหลายกลุ่ม การผลิตอาหารกระป๋อง คุณภาพวัตถุดิบตั้งแต่ต้นทางนับเป็นหัวใจสำคัญ “เรามีการปรับปรุงกิจการอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เป็นการแก้ปัญหาด้านประสิทธิภาพพื้นฐาน แต่ยังมีปัญหาด้านคุณภาพ ซึ่งมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ส่งผลต่อวัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์ ทำให้ยากในการวิเคราะห์หาสาเหตุที่แท้จริง” คุณวิสุทธิ์ รัชตสวรรค์ กรรมการบริหาร บริษัท สันติภาพ (ฮั่วเพ้ง 1958) จำกัด อธิบาย เมื่อมีโอกาสได้เข้าร่วม“กิจกรรมพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิต เพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขัน (Manufacturing Development to Improve Competitiveness Programme : MDICP-PIA)” ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ทำให้ได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในการใช้เทคนิค SPC (Statistical Process Control) ในการปรับปรุงกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพดีกว่าเครื่องมือพื้นฐานทั่วไป เช่น การปรับปรุงคุณภาพผักหัวห่อแน่น ซึ่งเดิมอุณหภูมิการเพาะปลูกเป็นปัจจัยที่ควบคุม ไม่ได้ แต่สามารถชดเชยด้วยปัจจัยที่ควบคุมได้ เช่น ระยะปลูก ปริมาณ ปุ๋ย และอายุตัด หรือการใช้ปัจจัยน้ำหนักต่อพื้นที่ของโคนก้านและปลายก้านมาช่วยคำนวณเพื่อกำหนดขนาดผักหั่น หรือการปรับปรุงรสชาติ ซึ่งจากการศึกษาวิจัยพบว่าลูกค้าให้ความสำคัญกับรสชาติมากกว่ากลิ่นและเนื้อสัมผัส อันนำมาสู่การวิเคราะห์ตรวจสอบทางเคมีและย้อนกลับสู่กระบวนการปลูกและกระบวนการผลิตวัตถุดิบเพื่อให้ได้รสชาติสม่ำเสมอ นอกจากการรักษามาตรฐานผลิตภัณฑ์ คุณวิสุทธิ์เห็นว่า การใช้เทคโนโลยีเพื่อทดแทนแรงงาน การหาพันธมิตรจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อขยายฐานการผลิตและขยายตลาดเพื่อรองรับ AEC ล้วนเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินควบคู่กันไป คุณวิสุทธิ์ รัชตสวรรค์ กรรมการบริหาร บริษัท สันติภาพ (ฮั่วเพ้ง 1958) จำกัด ๓๗ หมู่ ๑ ซ. สุขสวัสดิ์ ๔๓ ถ. สุขสวัสดิ์ ต. บางครุ อ. พระประแดง จ. สมุทรปราการ ๑๐๑๓๐ โทรศัพท์ : ๐ ๒๘๑๙ ๓๑๑๑ โทรสาร : ๐ ๒๘๑๙ ๓๔๒๒ อีเมล : info@peacecanning.com ที่มา : รายงานประจำปี 2555 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2012
โปรดักส์ ดีเวลลอปเม้นท์ เมนูแฟคเจอร์ริง ไม่ละเลยธรรมาภิบาล
การเกิดขึ้นของ AEC จะส่งผลให้บริษัทธุรกิจทั้งในและนอกอาเซียนเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยมากขึ้น บริษัทเหล่านี้ย่อมต้องมองหาพันธมิตรทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นเชิงการลงทุนหรือเชิงยุทธศาสตร์ ทั้งนี้ประเด็นหนึ่งที่ต่างฝ่ายต่างพิจารณาต่อกันคือ ประเด็นด้านธรรมาภิบาล SMEs ไทยจึงไม่ควรละเลยการพัฒนาประเด็นนี้ควบคู่ไปกับการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต บริษัท โปรดักส์ ดีเวลลอปเม้นท์ เมนูแฟคเจอร์ริง จำกัด (PDM) หนึ่งในกลุ่มบริษัท เวลลอย คอร์เปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับจ้างผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่นและจาระบีคุณภาพสูงสำหรับเครื่องยนต์เบนซิน ดีเซล และเครื่องจักรอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์จาระบีและน้ำมันสำหรับโรงงานอาหาร (Food Grade Grease and Oil) เป็นองค์กรหนึ่งที่ให้ความสำคัญต่อประเด็นธรรมาภิบาล โดยได้รับรางวัลองค์กรดีเด่นด้านความปลอดภัยถึง ๘ ปีซ้อน และได้รับ CSR-DIW (มาตรฐานความรับผิดชอบของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่อสังคม ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม) เมื่อปี ๒๕๕๔ คุณวิทวัส บุญญสถิตย์ บริษัท โปรดักส์ ดีเวลลอปเม้นท์ เมนูแฟคเจอร์ริง จำกัด (PDM) ๑๒๗๓-๑๒๗๔ ถ.วิเชียรโชฎก ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ๗๔๐๐๐ โทรศัพท์ : ๐๓๔ ๔๒๘ ๐๐๙-๑๓, ๐๓๔ ๔๒๙ ๓๐๒-๕ โทรสาร : ๐๓๔ ๔๒๙ ๓๐๑ เว็บไซต์ : www.pdm.co.th ที่มา : รายงานประจำปี 2554 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2011
ซันสยาม หล่อลื่นองค์กรด้วยไอที
ปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศหรือไอทีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการองค์กรอย่างมาก บริษัท ซันสยาม จำกัด ผู้ผลิตน้ำมันหล่อลื่นและจัดจำหน่ายภายใต้ตราสินค้า “ซันซอยล์” (SUN’SOIL) จำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นองค์กรหนึ่งที่นำไอทีมาเสริมศักยภาพองค์กร “บริษัทมีแนวคิดที่จะพัฒนาระบบสารสนเทศในองค์กรตั้งแต่เริ่มก่อตั้งโรงงงาน โดยเริ่มนำโปรแกรมสำเร็จรูปมาช่วยในการบันทึกบัญชี เมื่อธุรกิจมีการขยายตัว ปริมาณข้อมูลมีมากขึ้น ทำให้ทางบริษัทมีความต้องการที่จะนำระบบ ERP (Enterprise Resource Planning) มาใช้เพื่อช่วยในการจัดการข้อมูลขององค์กรทั้งหมด” คุณสมสรรค์ หังสพฤกษ์ อธิบายถึงความสำคัญของไอที บริษัทจึงตัดสินใจเข้าร่วม ‘โครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ (ECIT)’ ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมในปี ๒๕๕๔ เพื่อนำโปรแกรม Enterprise Control System (ECONS) ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ระบบบริหารการผลิตออนไลน์มาประยุกต์ใช้ โดยมีบริษัท บิสซิเนส บูลเลทีน เซอร์วิส จำกัด เป็นที่ปรึกษา ตั้งแต่เดือนมีนาคม-มิถุนายน ๒๕๕๔ และใช้งานอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันบริษัทเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมในด้านต่าง ๆ เช่น ทราบข้อมูลสูตรการผลิตและขั้นตอนการผลิตโดยละเอียด ทำให้สามารถวางแผนการผลิตเพื่อลดต้นทุนการผลิตสินค้าแต่ละรายการได้ประมาณร้อยละ ๑-๓ ลดงานที่ซ้ำซ้อนในการรวบรวมและจัดทำรายงาน ทำให้ผู้บริหารได้รับรายงานที่เป็นข้อมูลในการตัดสินใจรวดเร็วขึ้นจากเดิมร้อยละ ๕๐ พัฒนาข้อมูลด้านการผลิต คลังสินค้า และการขายเป็นฐานข้อมูลเดียวกัน ช่วยลดความผิดพลาดในการจัดการกับใบสั่งซื้อและส่งมอบสินค้าได้ทันตามเวลาที่กำหนด เป็นต้น ทั้งนี้ บริษัทมีค่าใช้จ่ายในการพัฒนาระบบที่ไม่สูงมากนัก ประหยัดเงินลงทุนด้านอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ผู้ดูแลระบบ ค่าลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ทำให้บริษัทมีโครงสร้างพื้นฐานระบบสารสนเทศองค์กรที่แข็งแรง สามารถพัฒนาต่อไปในอนาคตได้ง่ายขึ้น คุณสมสรรค์ หังสพฤกษ์ บริษัท ซันสยาม จำกัด ๓๒๕, ๓๒๗, ๓๒๙ ซ.พัฒนาการ ๓ ถ.พัฒนาการ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ ๑๐๒๕๐ โทรศัพท์ : ๐ ๒๗๑๙ ๘๖๖๒-๔, ๐ ๒๓๑๙ ๒๖๐๙-๑๐ ที่มา : รายงานประจำปี 2554 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2011
กลุ่มแปรรูปผ้าพื้นเมืองนาบัว จับรสนิยมสากล
“ผ้าพื้นเมืองของไทยหลายแห่งมีการผลิตที่ก้าวหน้ากว่าเพื่อนบ้าน เลยมีปัญหาถูกก๊อบปี้สินค้าบ้าง แต่ไม่ต้องห่วง เราจะพยายามหนีให้ไกลเลย ไม่ให้ตามทัน” คุณพนิดา คุณธรรมประธานกลุ่มแปรรูปผ้าพื้นเมืองนาบัวกล่าวด้วยน้ำเสียงเปี่ยม พลังคุณพนิดาเป็นช่างตัดเย็บเสื้อผ้าตั้งแต่วัยสาวในอำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี และสังเกตเห็นว่าผู้เฒ่าสูงวัยในหมู่บ้านเน้นทอผ้าผืนมัดหมี่ย้อมคราม มิได้นำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อื่นใด เมื่อคุณพนิดาทดลองนำผ้าย้อมครามมาแปรรูปเป็นกล่องทิชชู พวงกุญแจ เสื้อผ้าบุรุษ-สตรี ย่าม และออกร้านที่กรุงเทพฯ ปรากฏว่าได้รับผลตอบรับที่ดี จึงเดินหน้ารวมกลุ่มแม่บ้านในชุมชน ๖-๗ คน ขยายการผลิตซึ่งต่อมาได้รับการสนับสนุนเงินทุนและอุปกรณ์ตัดเย็บจากหน่วยงานราชการต่าง ๆ เป็นระยะ อาทิ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม กรมประชาสงเคราะห์ และอุตสาหกรรมจังหวัด เป็นต้น สมาชิกกลุ่มขยายตัวมากขึ้น และได้รับการสนับสนุนจากศูนย์ ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ ๔ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เข้าอบรม ‘กิจกรรมเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการหลักสูตรการพัฒนาออกแบบ’ และได้เข้าร่วม ’กิจกรรมการพัฒนาการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงอุตสาหกรรม (Industrial Cluster Development)’ เมื่อ ๔ ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มผู้เกี่ยวข้องกับการแปรรูปผ้าพื้นเมืองตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกันและรวมกันเพื่อสร้างอำนาจต่อรองให้ได้วัตถุดิบราคาถูกลง และในปี ๒๕๕๔ ยังได้รับสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย ความภูมิใจของคุณพนิดาคือการได้นำผลิตภัณฑ์ของกลุ่มไปออกงานแสดงสินค้าในฝรั่งเศสและอิตาลี แม้ยอดขายจะไม่มากมายนัก แต่เป็นการเปิดหูเปิดตาและได้นำสินค้าฝีมือไทยไปอวดโฉมในต่างประเทศ ดังนั้น การค้าเสรีตามข้อตกลงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน สำหรับคุณพนิดาแล้ว เป็นความภูมิใจและเป็นโอกาสที่สินค้าไทยมีโอกาสไปได้กว้างไกลขึ้น คุณพนิดา คุณธรรม ประธานกลุ่มแปรรูปผ้าพื้นเมืองนาบัว บ.นาบัว หมู่ 9 ต.นาบัว อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี 41150 โทรศัพท์ : 08 1380 0393 ที่มา : รายงานประจำปี 2554 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2011
ทำเล-อิ่มบุญ ส่งศิลป์ไทยสู่สากล
แม้ว่า AEC จะเป็นฐานการตลาดและการผลิตเดียวกัน ทว่าในความเป็นจริงแต่ละประเทศยังมีวัฒนธรรมและมีอัตลักษณ์ของตน จึงเป็นมนต์เสน่ห์ที่ไม่อาจผลิตสินค้าเลียนแบบกันได้ โดยเฉพาะสินค้าหัตถกรรมที่มีจิตวิญญาณ อารยธรรมเฉพาะของแต่ละชุมชน บริษัท ทำเล-อิ่มบุญ จำกัด เริ่มต้นจากการรวมตัวกันในนาม ‘กลุ่มพิทักษ์ชุมชนสร้างงานหัตถกรรมเพื่อการส่งออก’ เพื่อสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้ชาวบ้านในตำบลดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา ภายหลังได้ตั้งเป็นบริษัทเมื่อ ๓ ปีที่แล้ว สินค้าหลักคือหัตถกรรมเพนต์สีฝีมือของชาวบ้านราว ๒๐-๕๐ คน โดยมีแหล่งจำหน่ายอยู่ที่สวนจตุจักร โดยคุณอังศุมาลิน บุญทา รับหน้าที่ดีไซน์ลวดลายบนกระเป๋า หมวก เนกไท เพื่อให้แบรนด์ Aimbun (อิ่มบุญ) ได้ชิ้นงานที่มีดีไซน์พิเศษ ขณะที่คุณพิทักษ์ บุญทา หมั่นเสริมความรู้ด้านการบริหารธุรกิจอยู่เสมอ โดยได้เข้าร่วมอบรม ‘โครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ (NEC)’ ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นการเพิ่มพูนความรู้ด้านบัญชีและการตลาด ก่อให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีทิศทางยิ่งขึ้น เช่น การสร้างอัตลักษณ์ของแบรนด์อิ่มบุญ การหมั่นออกร้านในงานแสดงสินค้าต่างประเทศ เพื่อมองหากลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ เป็นต้น นอกจากนั้นยังเข้าร่วม ‘โครงการพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจชุมชนในภาคอุตสาหกรรม (TOPOTOP)’ ซึ่งได้ความรู้ด้านการจัดจำหน่ายและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งคุณพิทักษ์ได้นำความรู้ดังกล่าวมาถ่ายทอดให้กับเครือข่ายชาวบ้านด้วย กลุ่มลูกค้าหลักของอิ่มบุญคือชาวต่างชาติที่นิยมสินค้าทำมือที่มีชิ้นเดียวในโลก และมีรูปลักษณ์ไม่เหมือนใคร การที่สินค้าต่าง ๆ จะเคลื่อนย้ายได้ง่ายขึ้นตามข้อตกลง AEC นั้น จึงเป็นโอกาสของสินค้าหัตถกรรมเพนต์สีจากดอกคำใต้ จังหวัดพะเยาที่จะได้อวดโฉมแก่ผู้บริโภคที่พิสมัยศิลปะมากขึ้น คุณพิทักษ์ บุญทา บริษัท ทำเล-อิ่มบุญ จำกัด ๑๗๔ หมู่ ๗ ต.ดอกคำใต้ อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา ๕๖๑๒๐ โทรศัพท์ : ๐๕๔ ๔๙๑ ๕๓๓, ๐๘ ๑๕๖๒ ๗๕๒๙ โทรสาร : ๐๕๔ ๔๙๑ ๕๓๔ เว็บไซต์ : www.aimbun.com ที่มา : รายงานประจำปี 2554 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2011