Category
“อสอ.ณัฐพล” ร่วมคณะ “รมว.สุริยะ” ลงพื้นที่บ้านหัวเขาจีน รุดผลักดันอัตลักษณ์ท้องถิ่น เสริมแกร่งชุมชน อัพเกรดขึ้นแท่น CIV หวังสร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน
จ.ราชบุรี 11 พฤศจิกายน 2562 - นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายภาสกร ชัยรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และคณะผู้บริหารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ร่วมคณะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (CIV) ร่วมด้วย นายธีระยุทธ วานิชชัง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม นายสุชาติ ไตรแสงรุจิระ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่ากระทรวงอุตสาหกรรม นายภิรมย์ พลวิเศษ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม โดยมี นางวีณา สุขอยู่ เลขานุการวิสาหกิจชุมชนผ้าทอไทยทรงดำบ้านหัวเขาจีน ให้การต้อนรับและพาเยี่ยมชมชุมชนดังกล่าว “ชุมชนบ้านหัวเขาจีน” เป็น 1 ใน 215 ชุมชน ที่ทางกระทรวงอุตสาหกรรม โดย กองพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชนและศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 8 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ให้การส่งเสริม พัฒนา และสนับสนุนเป็น“หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์” (Creative Industry Village : CIV) หรือ “หมู่บ้าน CIV” ชุมชนดังกล่าวยังคงรักษาและอนุรักษ์ประเพณี วัฒนธรรมที่โดดเด่น ภาษาพูด การแต่งกาย การประกอบ อาชีพ และการดำรงชีวิตแบบดั้งเดิมของชาวบ้านไทยทรงดำไว้อย่างเหนียวแน่น จนได้รับการคัดเลือกให้เป็นหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของจังหวัดราชบุรี นอกจากนี้ ชาวบ้านยังคงดำรงประเพณีการทอผ้า ซึ่งมีผ้าซิ่นลายแตงโมทอมือเป็นเอกลักษณ์ของชุมชน โดยมีกลุ่มสตรีทอผ้าไทยทรงดำที่เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มของสตรีที่มีความรู้และความสามารถในการทอผ้า ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังมีประเพณีและขนบธรรมเนียมที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์ของชุมชน อาทิ การแสดงอิ้นกลอน ฟ้อนแกรน ซึ่งเป็นการรำท่วงท่าทำนองของชาวไทยทรงดำที่สื่อถึงการสืบทอดประเพณีวัฒนธรรมที่อ่อนช้อย พิธีเรียกขวัญ ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่ชาวไทยทรงดำไว้ใช้เรียกขวัญผู้มาเยือน เพื่อเป็นการปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกจากตัวและให้พบแต่สิ่งดีในชีวิต อีกทั้ง ยังมีโฮมสเตย์บ้านพักสไตล์ไทยทรงดำพร้อมชุดเครื่องนอน และสิ่งอำนวยความสะดวกแบบครบครัน กระทรวงอุตสาหกรรม โดย กองพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชนและศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 8 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้ให้การส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยต่อยอดภูมิปัญญาดั้งเดิม สะท้อนให้เห็นอัตลักษณ์ของชาวไทยทรงดำโดยการนำเอาลักษณะเด่นและลวดลายมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตรงต่อความต้องการของผู้บริโภคและผลิตได้ในชุมชน อาทิ ชุดเสื้อผ้าสตรี สร้อยคอ ต่างหู ของที่ระลึก รวมทั้งการพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) สามารถสร้างรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ประมาณ 270,000 – 300,000 บาท ต่อเดือน ### PR.DIP (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน
13 พ.ย. 2019
เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาวัสดุอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ลงพื้นที่และประชุมปรึกษาหารือ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ร่วมกับหัวหน้าชุดปฏิบัติการโครงการพระราชดำริทุ่งจี้
นายสิงห์คำ อายะชู ผกพ.ศว.กสอ. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาวัสดุอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ลงพื้นที่และประชุมปรึกษาหารือ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ร่วมกับหัวหน้าชุดปฏิบัติการโครงการพระราชดำริทุ่งจี้ ตำบลทุ่งกว๋าว อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง เพื่อร่วมวางแผนแนวทางการดำเนินงานกิจกรรมการยกระดับศักยภาพวิสาหกิจชุมชนสู่การเป็นผู้ประกอบการมืออาชีพ (พระราชดำริ)
12 พ.ย. 2019
ขอเชิญผู้ประกอบการเข้าร่วมกิจกรรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยสารสกัดธรรมชาติ
วัตถุประสงค์ 1. เพื่อคัดเลือกสารสกัดธรรมชาติที่มีคุณภาพไปประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์ 2. เพื่อพัฒนาและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง หรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องด้วยสารสกัดธรรมชาติสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ กลุ่มเป้าหมายวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมเครื่องสำอางหรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เกณฑ์การพิจารณา 1. สถานประกอบการมีระบบมาตรฐานและมีผลิตภัณฑ์มานำเสนอ 2. สถานประกอบการอยู่ในพื้นที่ กทม.หรือปริมณฑล สิทธิประโยชน์ (สำหรับผู้ที่ผ่านการคัดเลือก) 1. ได้ผลิตภัณฑ์จากสารสกัดธรรมชาติจากผู้เชี่ยวชาญ 1 ผลิตภัณฑ์ ต่อ 1 กิจการ 2. การรับคำแนะนำ และปรึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผู้เชี่ยวชาญ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กลุ่มพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา กองพัฒนาขีดความสามารถธุรกิจอุตสาหกรรม อภิรักษ์ รักท้วม วรวรรณ พงษ์ขจรธน โทรศัพท์ 0 2354 3400, 0 2202 4534 มือถือ 063 273 4398 โทรสาร 0 2202 4527, 0 2354 0308 เฟสบุ๊ค @dbcd.dip2019
12 พ.ย. 2019
“รองอธิบดีเดชา” เปิดงานมหกรรมแสดงสินค้ามาตรฐานไทยและจีนส่งออก ครั้งที่ 9 หวังผลักดันผู้ประกอบการไทยเจาะตลาดจีน
จ.นนทบุรี 8 พฤศจิกายน 2562 - นายเดชา จาตุธนานันท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน "มหกรรมแสดงสินค้ามาตรฐานไทยและจีนส่งออก ครั้งที่ 9" (2019 ASEAN CHINA (Bangkok) China Import & Export Commodities Fair) โดยมี คุณจาง เสี่ยว ลี ประธานสมาคมผู้นำเข้าส่งออกจีน และคุณหวัง หยิงหลิง รองอธิบดีกรมการพาณิชย์ มณฑลกานซู่ กล่าวแสดงความยินดี ร่วมด้วย นายกสมาคมผู้ผลิตรายการภาพและเสียง นายกสมาคมการค้าและการลงทุนเอเชียน-สากล ผู้บริหารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ผู้แทนจากหน่วยงานพันธมิตร ผู้ประกอบการไทยและจีน และสื่อมวลชน เข้าร่วมงานดังกล่าว ณ ห้อง Hall 9-10 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี สำหรับงานมหกรรมแสดงสินค้ามาตรฐานไทยและจีนส่งออกเป็นความร่วมมือระหว่าง สมาคมการค้าและการลงทุนเอเชียนกับเขตปกครองตนเองมองโกเลียในมณฑลกานซู่ สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางด้านการค้าและการลงทุนระหว่างไทย-จีน และสานความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น รวมถึงเป็นสะพานเชื่อมโยงการค้า การลงทุนและวัฒนธรรมระหว่างไทย-จีน โดยภายในงานมีการจัดแสดงสินค้าจีนที่มีคุณภาพและมีชื่อเสียงกว่า 10 มณฑล และสินค้าไทยที่มีชื่อเสียงและมีศักยภาพในการขยายสู่ตลาดจีน สินค้าที่มีชื่อเสียงจากประเทศลาวและกัมพูชา รวมทั้งสิ้นกว่า 200 บูธ นอกจากนี้ ยังมีการสัมมนาให้ความรู้ทางด้านการค้าการลงทุน การเตรียมความพร้อมสู่ตลาดจีน ตลอดจนกิจกรรมเจรจาธุรกิจ (Business Matching) เพื่อให้ผู้ประกอบการทั้งไทยและจีนได้พบปะเจรจาทางธุรกิจระหว่างกัน ถือเป็นการเปิดโอกาสสําหรับผู้ประกอบการไทยในการขยายตลาดสู่สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในทวีปเอเซีย ทั้งนี้ สินค้าที่นำมาจัดแสดงในงาน ได้แก่ กลุ่มโลจิสติกส์ อีคอมเมอร์ช อุปกรณ์การแพทย์ เครื่องจักรอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์การก่อสร้าง เครื่องจักรกลการเกษตร เครื่องไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์อนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม อะไหล่ยานยนต์และจักรยานยนต์ สิ่งทอ อาหาร เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ยาจีน ยาสมุนไพรจีน เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์บำรุงหน้าและผิวกาย อาหารแปรรูป สำหรับกลุ่มประกอบการจีนที่น่าจับตามองเป็นพิเศษและมีไฮไลท์เทคโนโลยีสำคัญ ได้แก่ ผู้ประกอบการจากเมืองเสิ่นหยาง มณฑลเหลียวหนิง ซึ่งนำนวัตกรรมหุ่นยนต์ให้บริการ ซึ่งเหมาะสำหรับการให้บริการในร้านอาหารหรือภัตตาคารต่าง ๆ มาจัดแสดงภายในงานอีกด้วย โดยงานดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-10 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 10,000 คน และก่อให้เกิดเงินสะพัดมากกว่า 30 ล้านบาท ### PR.DIP (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน /ภาพข่าว
08 พ.ย. 2019
รองปลัดภานุวัฒน์ ให้การต้อนรับรองผู้ว่าราชการจังหวัดโออิตะ
กรุงเทพฯ 8 พฤศจิกายน 2562 - นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้การต้อนรับ Mr. Kenji ONO รองผู้ว่าราชการจังหวัดโออิตะ และคณะผู้แทนหน่วยงานภาครัฐจากจังหวัดโออิตะ ประเทศญี่ปุ่น ในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะและหารือความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมร่วมกัน ณ ห้องประชุมชุณหะวัณ ชั้น 3 กระทรวงอุตสาหกรรม จังหวัดโออิตะ ถือเป็นจังหวัดต้นแบบของโครงการ OTOP ในประเทศไทย และยังเป็นจังหวัดที่มีความโดดเด่นในด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และการพัฒนาอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ ซึ่งคาดว่าจะเป็นอุตสาหกรรมที่จะเกิดการเชื่อมโยงร่วมกันระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมและจังหวัดโออิตะในอนาคต ### PR. DIP (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
08 พ.ย. 2019
คิดเห็นแชร์ : ทรานส์ฟอร์ม "เอสเอ็มอีไทย" สู้ศึกยุคดิสรัปชั่น
คอลัมน์ : คิดเห็นแชร์ (มติชนออนไลน์) ผู้เขียน : นายณัฐพล รังสิตพล (อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) สวัสดีแฟน ๆ คิด เห็น แชร์ ที่เคารพทุกท่านครับ…ฉบับนี้เป็นฉบับแรกที่ทุกท่านจะได้พบกับผมในบทบาทใหม่ เนื่องจากมีมติคณะรัฐมนตรีให้ผมย้ายไปดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมาครับ ซึ่งผมก็ได้รับการบ้านโจทย์ใหม่ที่ท้าทาย โดยมีหลายภารกิจที่ผมต้องเร่งดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ การทรานส์ฟอร์มพี่น้องผู้ประกอบการอุตสาหกรรมโดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีให้แข็งแกร่งและเติบโตอย่างยั่งยืนในยุคดิสรัปชั่น ก่อนอื่นผมต้องขอฉายภาพภารกิจของ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ทุกท่านได้รับทราบกันเบื้องต้นครับ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมีภารกิจสำคัญในการส่งเสริม สนับสนุน พัฒนาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในทุกระดับ โดยเน้นที่ระดับกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือที่คุ้นหูกันว่า “เอสเอ็มอี (SMEs)” ซึ่งถือได้ว่าเป็นกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่มีจำนวนมากที่สุด และเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ โดยปัจจุบันมีเอสเอ็มอีกว่า 3 ล้านราย ที่ดำเนินธุรกิจท่ามกลางสถานการณ์การค้าโลกที่มีความผันผวนอยู่ตลอดเวลา ในช่วงที่การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วฉับพลัน เรียกกันว่า “ดิสรัปชั่น (Disruption)” โดยเฉพาะการเข้ามาของระบบดิจิทัลที่เริ่มส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของผู้บริโภค ซึ่งหากมองในแง่บวก ถือเป็นการสร้างโอกาสและรูปแบบทางธุรกิจใหม่ ๆ ที่เป็นความท้าทายของภาครัฐในฐานะฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนนโยบายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อทรานส์ฟอร์มเอสเอ็มอีไทยให้ก้าวทันโลกและเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ด้วยการสร้างความตระหนักและกระตุ้นให้เอสเอ็มอีทุกระดับเห็นความสำคัญของการปรับตัวให้สอดรับกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลก จากแนวคิดการดำเนินธุรกิจแบบเดิม ไปสู่การดำเนินธุรกิจสมัยใหม่ที่รู้จักการนำเทคโนโลยีและระบบดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เติมรายได้ และยกระดับธุรกิจเอสเอ็มอีไทยไปสู่เวทีตลาดโลก จากปัจจัยความท้าทายเหล่านี้ จึงเป็นที่มาของการบ้านโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาล ได้มอบนโยบายเร่งด่วนให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เร่งดำเนินการทรานส์ฟอร์มพี่น้องผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ผ่านกลไกการส่งเสริมและสร้างระบบนิเวศให้ครบทุกองค์ประกอบ เพื่อปรับกระบวนยุทธ์ให้กับธุรกิจของเอสเอ็มอี ใน 3 เรื่องหลัก ๆ คือ ส่งเสริมธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม ยกระดับการใช้ระบบดิจิทัล (Digital Transformation) และพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) เริ่มจากกลไกแรก การส่งเสริมเกษตรอุตสาหกรรม โดยปรับบทบาทศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมที่กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ ตั้งแต่ศูนย์ภาคที่ 1 ไปจนถึงศูนย์ภาคที่ 11 ให้เน้นการส่งเสริมผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรม โดยมุ่งเน้นการสร้างและพัฒนาความเข้มแข็งให้ ระบบนิเวศ (Eco system) ของการให้บริการเครื่องจักรกลเกษตรอุตสาหกรรม ทั้งในส่วนของ ต้นน้ำและกลางน้ำ เพื่อให้เอสเอ็มอีที่ทำเกษตรอุตสาหกรรมแปลงเล็ก สามารถเข้าถึงการใช้บริการได้ง่าย ตรงกับความต้องการ มีประสิทธิภาพและราคาเหมาะสม โดยใช้หลักคิดที่ว่า “ทำง่าย..ได้ราคาดี” เนื่องจากคุณลักษณะส่วนใหญ่ของเกษตรกรไทยจะเน้นกระบวนการทำการเกษตรที่สะดวก รวดเร็ว และที่สำคัญคือต้นทุนไม่แพง..สำหรับกลไกต่อมา ยกระดับการใช้ระบบดิจิทัล (Digital Transformation) เพื่อเร่งยกระดับ Business Efficiency ซึ่งเป็นจุดอ่อนประการสำคัญ ของการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยกระตุ้นให้เอสเอ็มอีเปิดใจและปรับตัวมาใช้แอพพลิเคชั่นซึ่งเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการธุรกิจในยุคดิจิทัล โดยเฉพาะแอพพลิเคชั่นที่พัฒนาโดยบริษัทสตาร์ตอัพคนไทย ซึ่งกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจะเป็นสื่อกลางให้บริษัทสตาร์ตอัพได้มาพบปะกับกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นเครือข่ายของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกว่า 9 หมื่นราย ซึ่งจะเป็นฐานลูกค้ากลุ่มใหญ่ของบริษัทสตาร์ตอัพเหล่านี้ ซึ่งผมมองว่า กลไกนี้จะเป็นประโยชน์กับทั้งเอสเอ็มอีที่นำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ และกลุ่มสตาร์ตอัพที่สามารถเติบโตและขยายฐานลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว…และกลไกลสุดท้าย พัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) โดยการสร้างมูลค่าให้กับ สินค้า บริการ และทุกกิจกรรมของเอสเอ็มอี จากการใช้ “ความสร้างสรรค์” ของคนรุ่นใหม่ ที่มีแนวคิดแบบใหม่ๆ กล้าคิดนอกกรอบ ด้วยการดึงนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยและสถานศึกษาในพื้นที่ เข้ามาช่วยกันพัฒนาเศรษฐกิจของพื้นที่ให้มีความสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น เช่น การออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีอัตลักษณ์ สร้างเรื่องราวให้น่าสนใจ ควบคู่กับการนำศาสตร์วิศวกรรมและการบริหารจัดการมาช่วยเติมเต็มศักยภาพของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าท้องถิ่น ยกระดับรายได้ให้พี่น้องในชุมชน และที่สำคัญคือ การสร้างโอกาสให้นักศึกษาคนรุ่นใหม่ ได้มีเวทีในการลองใช้วิชาชีพที่ได้เล่าเรียนมาลงมือปฏิบัติงานจริง เห็นผลลัพธ์จริง เป็นแนวทางในการสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพให้สามารถเป็นเจ้าของธุรกิจ (Entrepreneur) ได้จริง แม้ว่าโลกปัจจุบันจะก้าวสู่ยุคเทคโนโลยีดิสรัปชั่นหลากหลายรูปแบบ แต่ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีจะต้องไม่ปล่อยให้ธุรกิจของตนถูกดิสรัปต์ ด้วยการปรับตัวให้ทันต่อกระแสดิจิทัลให้ได้ สำหรับรายละเอียดแบบเจาะลึกของโจทย์การบ้านทั้งสามเรื่องนั้น ผมจะขออนุญาตนำมาแชร์ให้แฟน ๆ คิด เห็น แชร์ ทุกท่านได้อ่านในครั้งต่อ ๆ ไปครับ…to be continue!! ที่มา https://www.matichon.co.th/economy/news_1736756
02 พ.ย. 2019
ประชาสัมพันธ์การติดตามข้อมูลของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์
ปัจจุบันกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ดำเนินการจัดทำช่องทางทางสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ต่าง ๆ ในการประชาสัมพันธ์ข้อมูลของกรมฯ เพื่อให้ผู้ประกอบการหรือประชาชนที่สนใจ สามารถรับข้อมูล และ/หรือบริการ ต่าง ๆ ได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น ช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ ช่องทางการเข้าสู่สื่อสังคมออนไลน์ของ กสอ. (ก) สำหรับหน้าจอคอมพิวเตอร์ ช่องทางการเข้าสู่สื่อสังคมออนไลน์ของกรมฯ จะถูกตรึงไว้บริเวณด้านล่างขวา (ข) สำหรับหน้าจอ Smartphone ช่องทางการเข้าสู่สื่อสังคมออนไลน์ของกรมฯ จะถูกตรึงไว้บริเวณด้านล่าง
01 พ.ย. 2019
กสอ. ระดมทีมจัดสรรงบประมาณฯ มุ่งพัฒนาทุกโครงการให้เกิดประสิทธิผล
กรุงเทพฯ 31 ตุลาคม 2562 - นายณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานการประชุมแนวทางการดำเนินโครงการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ไปพลางก่อนและงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยมี นายเดชา จาตุธนานันท์ และ นายภาสกร ชัยรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เข้าร่วม ณ ห้องประชุมโซนบี ชั้น 6 อาคาร กสอ. การประชุมดังกล่าว เป็นการพิจารณาภาพรวมของการจัดสรรงบตามกรอบวงเงินงบประมาณปี 2562 ไปพลางก่อน ตั้งแต่ งบบุคลากร งบดำเนินงาน งบลงทุน งบอุดหนุน ตลอดจนงบรายจ่ายอื่น ๆ ที่มุ่งให้การดำเนินงานของโครงการกิจกรรมต่าง ๆ นั้นเป็นไปตามเป้าหมายทั้งในไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 2 รวมถึงเป็นการเตรียมแนวทางการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เพื่อให้เกิดประสิทธิผลกับองค์กรต่อไป ### PR. DIP (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
01 พ.ย. 2019
ขุนพล กสอ. เข้าร่วมแถลงข่าวโชว์ผลงาน “99 วัน อุตสาหกรรมทำแล้ว”
กรุงเทพฯ 31 ตุลาคม 2562 - นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานในการแถลงข่าวผลการดำเนินงานของกระทรวงอุตสาหกรรม “99 วัน อุตสาหกรรมทำแล้ว” โดยมีนายณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมด้วย ผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าร่วม ณ ห้องประชุม อก. 1 ชั้น 2 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม การแถลงข่าวในครั้งนี้ เป็นการแถลงผลการดำเนินงานภารกิจสำคัญของกระทรวงอุตสาหกรรมในช่วงระยะเวลา 99 วันของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ) ใน 5 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1. การสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคอุตสาหกรรมและสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน โดยบูรณาการร่วมกับสภาอุตสาหกรรมฯ อย่างใกล้ชิด 2. การพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงพื้นที่ โดยเฉพาะการพัฒนานิคมในพื้นที่ EEC 3. การปฏิรูปกระทรวงอุตสาหกรรมไปสู่ Smart Government โดยการนำระบบ i-Industry มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่มาติดต่อรับบริการ 4. การทะลวงอุปสรรค ลดขั้นตอนของผู้ประกอบการ SMEs และ Start up ในการเข้าถึงสินเชื่อ โดยดำเนินโครงการ “สินเชื่อ SME โตไว ไทยยั่งยืน” ภายใต้กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงิน 3,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยต่ำเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ต่อปี วงเงินกู้สูงสุด 3 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 7 ปี และ 5. การดูแลประชาชนและผู้ประกอบการสอดรับกับนโยบายสำคัญและเร่งด่วนของรัฐบาล โดยเฉพาะการปฏิรูปและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย สู่ประเทศไทย 4.0 ### PR.DIP (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน /ภาพข่าว
01 พ.ย. 2019