Category
กสอ. รุดติดอาวุธตลาดอีคอมเมิร์ซเอสเอ็มอี หวังยกระดับสู่ตลาดสากล สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 10 ล้านบาท
กรุงเทพฯ 12 กุมภาพันธ์ 2563 – นายภาสกร ชัยรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดกิจกรรมการยกระดับ SME สู่ Global ด้วยการตลาดออนไลน์ e-commerce ร่วมด้วย ผู้บริหารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) และผู้ประกอบการ เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว โดยมี นายวาที พีระวรานุพงศ์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัล กล่าวรายงาน ณ ห้องอโนมา 2-3 โรงแรมอโนมา แกรนด์ กิจกรรมดังกล่าว จัดขึ้นเพื่อพัฒนาความรู้ด้านอีคอมเมิร์ซและเพิ่มศักยภาพเอสเอ็มอีให้มีช่องทางการทำตลาดออนไลน์ให้มียอดขายเพิ่มขึ้น บนต้นทุนที่ไม่สูง สามารถสร้างรายได้ให้กับธุรกิจและเกิดการขยายธุรกิจให้เข้มแข็งและเติบโตต่อไป โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ให้คำปรึกษา พร้อมทั้ง แนะนำเทคนิค กลยุทธ์ในการทำตลาดออนไลน์ระดับสากลที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มรายได้จากช่องทางการตลาดออนไลน์ ทั้งนี้ คาดว่าหลังจบกิจกรรมจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของเอสเอ็มอีได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 และสามารถลดของเสีย ลดต้นทุน หรือเพิ่มยอดขายได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 และคาดเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท ### PR.DIProm (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สล.กสอ. : ภาพข่าว / รายงาน)
13 ก.พ. 2020
"รสอ.เจตนิพิฐ" ลุยปักษ์ใต้ต่อเนื่องมุ่งยกระดับเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน
จ.พัทลุง 12 กุมภาพันธ์ 2563 - นายเจตนิพิฐ รอดภัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นางวันเพ็ญ รัตนกังวาล ผู้อำนวยการกองพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ว่าที่ร้อยตรีพงษ์ศักดิ์ เรืองศรีใส ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 และเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ลงพื้นที่รับฟังความต้องการของผู้ประกอบการชุมชน โดยมี คุณมนัทพงศ์ เซ่งฮวด รองประธานวิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมกระจูดวรรณี ให้การต้อนรับ ณ ศูนย์เรียนรู้หัตถกรรมกระจูดวรรณี (Green Activity) อ.ควนขนุน การลงพื้นที่ดังกล่าว เป็นการติดตามรับฟังแนวทางการดำเนินงานและรับฟังความต้องการของชุมชน พร้อมทั้งให้คำปรึกษาแนะนำแก่วิสาหกิจชุมชนกระจูดวรรณี ตามข้อสั่งการของรองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ซึ่งมอบหมายให้ กสอ. เร่งดำเนินการให้การสนับสนุนแก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมกระจูดวรรณีในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าแก่ผลิตภัณฑ์ พร้อมยกระดับสู่ตลาดระดับบน (High-end market) วิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมกระจูดวรรณี เป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์จากกระจูดในหลากหลายรูปแบบทั้งกระเป๋า เครื่องใช้ในครัวเรือน ของที่ระลึก เครื่องตกแต่งภายในที่พัก ร้านค้า และโรงแรม ภายใต้แบรนด์ VARNI โดยเป็นการต่อยอดนำกระจูดที่เป็นเพียงวัชพืชมาสร้างให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจและยังให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งผลักดันให้ชาวบ้านในชุมชนมีอาชีพและรายได้เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้รับฟังความคิดเห็นและความต้องการของชุมชนดังกล่าว และได้มอบหมายให้ กองพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 กสอ. ลงพื้นที่ให้คำปรึกษาเชิงลึกในด้านต่าง ๆ อาทิ การต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ในรูปแบบใหม่ ๆ การเพิ่มเติมองค์ความรู้ด้านการทำแพทเทิร์นกระเป๋าแก่ชุมชน โดยให้เร่งจัดหาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาดำเนินการภายใน 30 วัน พร้อมกันนี้ รองอธิบดีฯ ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมสวนไผ่ขวัญใจ ตลาดป่าไผ่สร้างสุข ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชิม ช้อป ของกินของฝากประจำ อ.ควนขนุน เพื่อสำรวจพื้นที่และให้คำแนะนำในการผลิตภาชนะอาหารจากไผ่ ทั้งแม่พิมพ์จานชามจากกาบไผ่ การผลิตแก้วน้ำจากกระบอกไม้ไผ่แบบไร้รา โดยมอบหมายให้ กองพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอุตสาหกรรมและศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 กสอ. ดำเนินการโดยด่วนต่อไป ### PR.DIProm (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
13 ก.พ. 2020
"รสอ.เจตนิพิฐ" ลงพื้นที่ปักษ์ใต้ เสริมแกร่งแปรรูปยางพาราไทยเต็มสูบ!
จ.พัทลุง 12 กุมภาพันธ์ 2563 - นายเจตนิพิฐ รอดภัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นางวันเพ็ญ รัตนกังวาล ผู้อำนวยการกองพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ว่าที่ร้อยตรีพงษ์ศักดิ์ เรืองศรีใส ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 นายธรรมนูญ เกตุแก้ว อุตสาหกรรมจังหวัดพัทลุง และเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ลงพื้นที่รับฟังความต้องการของสหกรณ์การเกษตรบ้านแพรกหา จำกัด อ.ควนขนุน การลงพื้นที่ดังกล่าว เป็นการติดตามรับฟังแนวทางการดำเนินงานและรับฟังความต้องการของชุมชน พร้อมทั้งให้คำปรึกษาแนะนำแก่ สหกรณ์การเกษตรบ้านแพรกหา จำกัด ตามข้อสั่งการของรองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ซึ่งมอบหมายให้ กสอ. เร่งดำเนินการให้การสนับสนุนแก่ผู้ประกอบการสหกรณ์การเกษตรบ้านแพรกหาในถอดแบบเครื่องจักรสำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์ยางพารา (เครื่องฉีดโฟม Latex Foaming Matchine) เพื่อลดต้นทุนในการผลิตยางพาราและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ยางพารา สหกรณ์การเกษตรบ้านแพรกหา จำกัด เป็นแหล่งผลิตหมอนและที่นอนยางพาราที่ใหญ่ที่สุดใน จ.พัทลุง ซึ่งผลิตน้ำยางข้นพาราฟิต ParaFIT เพื่อใช้แปรรูปเป็นหมอนและที่นอนยางพาราที่ได้คุณภาพจากฝีมือเกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดพัทลุง ภายใต้แบรนด์ ‘ตะลุงลาเท็กซ์’ โดยหมอนยางพารา รุ่น ‘เปี่ยมสุข’ ประกอบด้วย หมอนหนุน หมอนรองคอ หมอนเด็ก ที่นอนเด็ก และหมอนข้าง ซึ่งเน้นเรื่องสุขภาพเพื่อส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากยางพาราให้มีมากขึ้น ทั้งนี้ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้รับฟังความคิดเห็นและความต้องการของชุมชนดังกล่าว และได้มอบหมายให้ กองพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ กองพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สำนักงานเลขานุการกรม และศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 กสอ. ลงพื้นที่ให้คำปรึกษาเชิงลึกในด้านต่าง ๆ อาทิ การถอดแบบเครื่องจักรสำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์ยางพารา (เครื่องฉีดโฟม Latex Foaming Matchine) เพื่อลดต้นทุน โดยการรวบรวมข้อมูลและจัดหาผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะด้านมาดำเนินการภายใน 30 วัน การประสานงานกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ในเรื่องการขอมาตรฐานผลิตภัณฑ์ (มอก.) ให้แก่ผลิตภัณฑ์ การประสานงานกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดพัทลุง เพื่อดำเนินการระบบบำบัดน้ำเสีย การสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก ด้วยการออกแบบคอลเลคชั่นให้กับผู้ประกอบการเพื่อเป็นการทดสอบตลาด รวมถึงการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความน่าสนใจตรงกับความต้องการของตลาดมากขึ้น ตลอดจนการช่วยเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์แปรรูปยางพาราของผู้ประกอบการให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขว้างเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการสร้างรายให้แก่ชุมชน ถือเป็นอีกหนึ่งกลไกที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศไทย ### PR.DIProm (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
13 ก.พ. 2020
ประชาสัมพันธ์โครงการ Business Meeting Tour in Fukuoka, Japan
Business meeting Tour in FUKUOKA โอกาสดีที่ SMEs ห้ามพลาด จังหวัดฟูกูโอกะและบริษัทที่เกี่ยวข้องด้านอาหารของไทย จัดโครงการจับคู่ทางธุรกิจระหว่างภาคเอกชนจังหวัดฟูกูโอกะกับเอกชนไทยในอุตสาหกรรมอาหาร โอกาสดีสำหรับ SMEs ที่ต้องการสานฝันทางการค้าและการลงทุนในประเทศญี่ปุ่น โดยงานนี้ได้รับความร่วมมือจากสถานกงสุลใหญ่ประเทศไทย ณ เมืองฟูกูโอกะ การันตีคู่ค้าที่สามารถไว้ใจได้โดยรัฐบาลท้องถิ่น SMEs ที่สนใจงานเจรจาธุรกิจกับบริษัทผู้ซื้อจากต่างประเทศ ผู้นำเข้า ผู้ค้าปลีกรายย่อย สามารถส่งใบสมัครได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันพุธที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ทางอีเมล intercoop.dip@gmail.com คลิกเพื่อดาวน์โหลดใบสมัคร ด่วน‼️ ช้าหมดตกไฟล์ท ✈ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม.- 02-202-4592 คุณเกวลี ล่อใจ
12 ก.พ. 2020
กว.สล.กสอ. เชิญชวนเจ้าหน้าที่เข้าร่วมโครงการ “การขับเคลื่อนองค์กรคุณธรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563”
กลุ่มวินัยและนิติการ โดยสำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมดำเนินการเชิญชวนเจ้าหน้าที่ภายใน กสอ. เข้าร่วมโครงการ “การขับเคลื่อนองค์กรคุณธรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการบริหาจัดการในการขับเคลื่อนการส่งเสริมคุณธรรมของหน่วยงานในสังกัด อก. เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน เกิดความร่วมมือในการขับเคลื่อนไปสู่องค์กรคุณธรรมตามที่กำหนด
12 ก.พ. 2020
"รสอ.เจตนิพิฐ" นำทีมขุนพล กสอ. ล่องใต้ รุกเสริมแกร่งชุมชน หวังขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้ยั่งยืน
จ.ตรัง 11 กุมภาพันธ์ 2563 - นายเจตนิพิฐ รอดภัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นางวันเพ็ญ รัตนกังวาล ผู้อำนวยการกองพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ว่าที่ร้อยตรีพงษ์ศักดิ์ เรืองศรีใส ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 และเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ลงพื้นที่รับฟังความต้องการของวิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี ณ ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี อ.นาโยง การลงพื้นที่ชุมชนดังกล่าว เป็นการติดตามรับฟังแนวทางการดำเนินงานและรับฟังความต้องการของชุมชน พร้อมทั้งให้คำปรึกษาแนะนำแก่วิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี ตามข้อสั่งการของรองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ซึ่งมอบหมายให้ กสอ. เร่งดำเนินการให้การสนับสนุนแก่ชุมชนในการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึก ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การออกแบบ การสร้างแบรนด์ และการตลาด วิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี เป็น 1 ในชุมชน หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน (Creative Industry Village : CIV) เป็นแหล่งผ้าทอมือที่มีความโดดเด่น เป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนระดับ 5 ดาว ผ้าทอนาหมื่นศรีกลายเป็นเอกลักษณ์พื้นเมืองที่หน่วยงานต่าง ๆ นําไปออกแบบเป็นเครื่องแบบประจําองค์กร หรือการสวมใส่ผ้าไทยของคนตรัง โดยกลุ่มทอผ้านาหมื่นศรี มีกิจกรรมที่ต่อเนื่องจากการทอผ้า การผลิตภัณฑ์จากผ้าทอมาจําหน่าย เช่น กระเป๋า เสื้อผ้าสําเร็จรูป หมวก และมีการจัดทําศูนย์เรียนรู้ เพื่อให้บริการ เยาวชนของสถานศึกษา หรือผู้ที่มีความสนใจได้เข้ามาเรียนรู้ ศึกษาดูงาน กลุ่มทอผ้านาหมื่นศรี ยังได้ส่งเสริมกิจกรรมให้สมาชิกมีรายได้เสริม ทั้งนี้ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้รับฟังความคิดเห็นและความต้องการของชุมชนดังกล่าว และได้มอบหมายให้ กองพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ กองพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน และศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 กสอ. ลงพื้นที่ให้คำปรึกษาเชิงลึกในด้านต่าง ๆ อาทิ การยกระดับการทอผ้าด้วยการจัดหากี่ทอผ้าที่มีขนาดกว้างมากขึ้น เพื่อรองรับการพัฒนาต่อยอดผ้าผืน การให้ความรู้และพัฒนาด้านการออกแบบลายผ้า การจัดทำแพทเทิร์น การตัดเย็บ การสำรวจความต้องการของตลาดเพื่อนำมาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ให้แก่ชุมชน รวมถึงการสร้างแบรนด์ให้แก่ชุมชนและการออกแบบบรรจุภัณฑ์ เพื่อพัฒนาต่อยอดไปสู่การทำการตลาดต่อไป ซึ่งจะเป็นการสร้างรายให้แก่ชุมชน ถือเป็นอีกหนึ่งกลไกที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศไทย ### PR.DIProm (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
11 ก.พ. 2020
"รสอ.เจตนิพิฐ" นำทีมลงพื้นที่ภาคใต้ ร่วมหารือแนวทางส่งเสริมพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก
จ.นครศรีธรรมราช 11 กุมภาพันธ์ 2563 - นายเจตนิพิฐ รอดภัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นางวันเพ็ญ รัตนกังวาล ผู้อำนวยการกองพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ว่าที่ร้อยตรีพงษ์ศักดิ์ เรืองศรีใส ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 และเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ลงพื้นที่รับฟังความต้องการของชุมชนวังไทร ณ ห้องประชุมสถาบันการเงินชุมชนบ้านวังไทร ต.เขาโร อ.ทุ่งสง การลงพื้นที่ในครั้งนี้ เป็นการติดตามรับฟังแนวทางการดำเนินงานและรับฟังความต้องการของชุมชน พร้อมทั้งให้คำปรึกษาแนะนำแก่ชุมชนบ้านวังไทร ตามข้อสั่งการของรองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ซึ่งมอบหมายให้ กสอ. เร่งดำเนินการให้การสนับสนุนแก่ชุมชนเพื่อลดต้นทุนการผลิตยางพารา เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ยางพารา ชุมชนบ้านวังไทร เป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมในการผลิตยางพาราที่มีคุณภาพ โดยได้จัดตั้งโรงงานยางอัดแท่ง STR 5L และแปรรูปผลิตภัณฑ์กองทุนหมู่บ้านบ้านวังไทร เพื่อเป็นหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชุมชน คาดว่าจะเริ่มดำเนินการผลิตในเดือน พ.ค.2563 ทั้งนี้ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้รับฟังความคิดเห็นและความต้องการของชุมชนดังกล่าว และได้มอบหมายให้ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 กสอ. ลงพื้นที่ให้คำปรึกษาเชิงลึกในด้านต่าง ๆ อาทิ การบริหารจัดการกระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน การจัดทำระบบบำบัดน้ำเสียที่มีคุณภาพ การเตรียมความพร้อมในการจัดทำมาตรฐาน ISO ต่าง ๆ เพื่อให้โรงงานมีความพร้อมในการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูง เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้ชุมชนสามารถดำเนินการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพได้อย่างยั่งยืนต่อไป ### PR.DIProm (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
11 ก.พ. 2020
คิดเห็นแชร์ : "เกษตรอุตสาหกรรม" ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก
คอลัมน์ : คิดเห็นแชร์ (มติชนออนไลน์) ผู้เขียน : นายณัฐพล รังสิตพล (อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) สวัสดีแฟน ๆ คิดเห็นแชร์ทุกท่านครับ พบกันอีกครั้งในเดือนแห่งความรัก ซึ่งปีนี้มาพร้อมกับปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่ดูหนักหนาสาหัสกว่าเดิม และยังควงคู่มากับปัญหาไวรัสโคโรนาอีกด้วย ผมขอให้ทุกท่านดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อจะได้มีกำลังกายและกำลังใจช่วยกันขับเคลื่อนประเทศเราให้ผ่านพ้นวิกฤตการณ์ครั้งนี้ไปให้ได้ครับ…ซึ่งถ้าแฟน ๆ ท่านใดติดตามคอลัมน์คิดเห็นแชร์มาโดยตลอด ท่านคงเคยอ่านเรื่องที่ผมได้แชร์ถึงปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ไปแล้ว ซึ่งผมเชื่อว่าทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง คงกำลังดำเนินการแก้ไขปัญหานี้กันอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เกิดเป็นปัญหาซ้ำซากในอนาคต ที่จะบั่นทอนสุขภาพและวิถีชีวิตของคนไทย รวมถึงส่งผลกระทบกับภาคเศรษฐกิจไทยในระยะยาวครับ สำหรับเรื่องที่ผมอยากแชร์ในวันนี้ เป็นเรื่องต่อเนื่องจากตอนที่แล้ว ผมได้แชร์นโยบายการดำเนินงานของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมในปี 2563 ตามแนวทาง “ปั้น ปรุง เปลี่ยน เอสเอ็มอี ให้ดีพร้อม (DIProm)” เพื่อขับเคลื่อนภารกิจต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ซึ่งหนึ่งในเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งลงมือปฏิบัติโดยเร็ว คือ การ “ปั้น” เอสเอ็มอีเกษตรอุตสาหกรรม ผมจึงขอใช้พื้นที่นี้ขยายความถึงนิยามของคำว่าเกษตรอุตสาหกรรม และเหตุผลว่าทำไมเราจึงต้อง “ปั้น” เอสเอ็มอีเกษตรอุตสาหกรรมครับ หลายท่านคงคุ้นเคยกับประโยคที่ว่า “ประเทศไทย ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยได้อย่างชัดเจน ทั้งในด้านวัตถุดิบและผลผลิตทางการเกษตรที่มีอุดมสมบูรณ์ หากเราสามารถพัฒนาจุดแข็งในข้อนี้ ด้วยการส่งเสริมและยกระดับการทำเกษตร ให้มีมิติของการจัดการในแบบอุตสาหกรรม ผ่านการนำองค์ความรู้และแนวคิดการบริหารจัดการภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการใช้นวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีดิจิทัลมาต่อยอด เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตผลทางการเกษตร และเสริมสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร “เกษตรอุตสาหกรรม” จึงเป็นคำตอบที่ “ใช่” สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างครบถ้วนและเป็นรูปธรรม ผมจึงขอนิยามคำว่าเกษตรอุตสาหกรรมให้เข้าใจง่าย ๆ ว่า “เกษตรอุตสาหกรรม คือ ธุรกิจทางการเกษตรหรืออุตสาหกรรมการเกษตร ที่นำองค์ความรู้ทางด้านธุรกิจอุตสาหกรรม ทั้งในด้านการบริหารจัดการ การมาตรฐาน การเชื่องโยงห่วงโซ่การผลิตอย่างเป็นระบบ การสร้างให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย และการตอบสนองต่อความต้องการของตลาดมาประยุกต์ใช้” ซึ่งกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมพร้อมให้การส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรให้เป็นนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม ผ่านกลไกที่กรมกำลังดำเนินงานใน 3 แนวทาง คือ 1. ปั้นนักธุรกิจเกษตร จากการ “ปรุง” โครงการต่าง ๆ ที่มุ่งเน้นส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรให้เป็นนักธุรกิจเกษตรอย่างพิถีพิถัน ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อสร้างแนวคิดและองค์ความรู้การบริหารจัดการธุรกิจให้เกษตรกรมีความพร้อมที่จะก้าวไปสู่การเป็นนักธุรกิจเกษตรที่มีศักยภาพครบเครื่อง ทั้งในเรื่องขององค์ความรู้และเงินทุนเพื่อต่อยอดธุรกิจ 2. สร้างระบบนิเวศเครื่องจักรกลการเกษตรและเครื่องจักรแปรรูปผลิตผลเกษตร ด้วยการนำระบบดิจิทัลแพลตฟอร์มมาใช้ในการส่งเสริมและพัฒนาให้เกิดธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับเกษตรอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร โดยเน้นการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรกลเกษตรแปลงเล็ก ทั้งการทำแปลงเกษตรและการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงการรับบริการจากผู้ให้บริการได้ตรงกับความต้องการ มีประสิทธิภาพ ในอัตราค่าบริการที่เหมาะสม ขณะเดียวกัน จะส่งเสริมให้เกษตรกรนำระบบการผลิตและการบริหารจัดการที่ใช้ในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มาประยุกต์ใช้ในการทำเกษตรอุตสาหกรรม เช่น ระบบ Toyota Production System (TPS), Kaizen และนำนวัตกรรม เทคโนโลยีดิจิทัลมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตทางการเกษตรเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย 3. สร้างนักธุรกิจเกษตรอัจฉริยะ ผ่านโครงการ Genius The Idol เพื่อยกระดับ “นักธุรกิจเกษตร” ที่มีพื้นฐานของความองค์ความรู้ในด้านการบริหารจัดการเป็นทุนเดิม ให้ก้าวไปสู่การเป็น “นักธุรกิจเกษตรอัจฉริยะ” เพื่อเป็นหัวขบวนหลักในการขับเคลื่อนและเชื่อมโยงเครือข่ายเกษตรกรที่อยู่ในระบบห่วงโซ่การผลิต ให้มีช่องทางการตลาด เกิดการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง ครอบคลุมในทุกระดับและทุกพื้นที่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง พร้อมที่จะ “ปั้น ปรุง เปลี่ยน” ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม ให้ไม่ใช่แค่ “ดี” แต่ต้อง “ดีพร้อม” โดย “เกษตรอุตสาหกรรม” จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศไทยให้แข็งแกร่ง ก้าวหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ที่มา https://www.matichon.co.th/economy/news_1954015
08 ก.พ. 2020
กสอ. เปิดตัวขุนพลเบอร์ 3 คนใหม่ พร้อมต้อนรับพลพรรคเสริมทัพ กสอ.
กรุงเทพฯ 6 กุมภาพันธ์ 2563 - นายจุลพงษ์ ทวีศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติร่วมกันเป็นประธานการประชุมผู้บริหารของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมทั้งมอบกระเช้าแสดงความยินดีและต้อนรับ นายเจตนิพิฐ รอดภัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (รสอ.)ในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง รสอ. คนใหม่ นอกจากนี้ ยังให้การต้อนรับ นางสาวชลาริน นิลพิฤกษ์ ผู้อำนวยการกองโลจิสติกส์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง โดยมี ผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ กสอ. เข้าร่วมด้วย ณ ห้องประชุม301 อาคารกองพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (กน.กสอ.) ถนนพระรามที่ 4 คลองเตย ### PR.DIProm (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน /ภาพข่าว
07 ก.พ. 2020
“อธิบดีณัฐพล” ให้การต้อนรับคณะผู้แทนจากแดนอาทิตย์อุทัย
กรุงเทพฯ 5 กุมภาพันธ์ 2563 - นายณัฐพล รังสิตพลอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นางสุขาดา โพธิ์เจริญ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) และคณะเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้การต้อนรับคณะ นายเออิจิโระ มิยาซากิ ประธานสภาจังหวัดไซตามะพร้อมด้วยคณะ ณ ห้องประชุม 2 ชั้น 3 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยการเข้าเยี่ยมคารวะและหารือของสภาจังหวัดไซตามะในครั้งนี้ เพื่อหารือแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือให้มีการขยายผลต่อไปในอนาคต โดยรูปแบบของความร่วมมือจะเป็นในลักษณะที่มุ่งเน้นในระดับท้องถิ่น เพื่อให้ธุรกิจรายย่อยในระดับจังหวัดได้มีโอกาสในการเข้าถึงตลาดต่างประเทศได้มากขึ้น ซึ่งจังหวัดไซตามะ มีศักยภาพในด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยมีธุรกิจจำนวนมากที่สนใจในการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ปัจจุบันมีธุรกิจจำนวน 209 บริษัท ที่มีการเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยแล้ว ซึ่งการที่คณะเดินทางมา กสอ. ในวันนี้ ส่วนหนึ่งเพื่อการแลกเปลี่ยนความเห็นและหารือแนวทางการพัฒนาความสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันการพัฒนาผู้ประกอบการและภาคธุรกิจอุตสาหกรรมของทั้ง 2 ประเทศร่วมกันต่อไป นอกจากนี้ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมยังให้ข้อมูลว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายที่ชัดเจนและให้ความสำคัญกับการพัฒนาและส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่น และที่ผ่านมา กสอ. ได้มีการพัฒนาความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่นมาอย่างต่อเนื่อง โดยการจัดตั้งโต๊ะญี่ปุ่น (Japan Desk) เมื่อปี 2552 ซึ่งปัจจุบันดำเนินการมาครบ 10 ปี อีกทั้ง ยังมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับรัฐบาลท้องถิ่นของประเทศญี่ปุ่นจำนวน 21 จังหวัด โดยจังหวัดไซตามะเป็นจังหวัดแรกที่มีการลงนามความร่วมมือกับ กสอ. เมื่อปี 2556 ทั้งสองฝ่ายหารือร่วมกันถึงแนวทางการแลกเปลี่ยนและพัฒนาบุคลากรร่วมกัน โดยเฉพาะในด้าน IoT / AI ซึ่งเป็นสิ่งที่จังหวัดไซตามะมีศักยภาพอย่างมาก รวมไปถึงการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบ T - Goodtech เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสการเชื่อมโยงธุรกิจในลักษณะ B2B ของทั้งสองฝ่ายอีกทางหนึ่งด้วย ### PR.DIProm (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
07 ก.พ. 2020