Category
เชิญสมัครเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนานักเขียนบทละครเชิงสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม
กิจกรรมพัฒนานักเขียนบทละครเชิงสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม DIPROM Creative Drama Script – DCS 2025) Season 3 ดำเนินการโดย : กองพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ดีพร้อมสานฝัน ปั้นนักเขียนบทสร้างสรรค์อย่างมืออาชีพ OPEN CALL นักเขียนมืออาชีพ นักเขียนมือสมัครเล่น จะหน้าเก่า หรือ หน้าใหม่ เตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อม “ดีพร้อม” พร้อมแล้วที่จะพัฒนานักเขียนบทให้ไปสู่การเป็นยอดฝีมือด้านการเขียนบท ดีพร้อม คอมมูนิตี้ ที่นี่มีแต่ให้ให้ทักษะใหม่ ทั้ง Upskill / Reskill / New Skill เพื่อสามารถพัฒนาเป็นอาชีพและสร้างเป็นธุรกิจ Reskill พัฒนาทักษะเดิม โดยพี่อ่อน เอื้องอรุณ นักเขียนบทละครโทรทัศน์ระดับตำนาน, ปั้นบทในมุมมองผู้กำกับมากฝีมือ พี่นท พูนไชยศรี, พี่ส้วม นักแสดงตัวตึงจาก “Dear My Secretary” ที่มีผลงานการเขียนบทซิทคอมมาแล้วมากมาย และเจาะลึกอาชีพเขียนบทกับเจ้าแม่หนังรัก พี่บอลรูม วรลักษณ์ ที่จะมาร่วมปั้นฝันทุกคนให้เป็นจริง Upskill เพิ่มเติมทักษะใหม่ WORKSHOP กับ วิทยากรมืออาชีพระดับพระกาฬที่จะมาร่วมให้ความรู้กันแบบไม่พัก ไม่แผ่ว ทั้งด้านการเขียนบทและการสร้างรายได้จากบทละคร พร้อมอัพเดทเทรนด์ฮิตกับการเขียนบทซีรีส์ วาย และ ยูริ New Skill เสริมสร้างทักษะสุดท้าท้าย กับ Pitching Stage เปิดเวทีกับผู้จัด ผู้ผลิตละครและภาพยนตร์ชั้นนำของเมืองไทย พร้อมกิจกรรม Field Trip ณ สตูดิโอถ่ายทำภาพยนตร์ ตามรอย Location จากหนังและละครและมี Pocket Book ผลงานเขียนของตัวเอง สมัครได้แล้ววันนี้ – 19 มีนาคม 2568 ฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายตลอดโครงการ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม 08 1262 4029 dcsdiprom@gmail.com
24 ก.พ. 2025
“ดีพร้อม” รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานซอฟต์พาวเวอร์ เตรียมชง 4 โครงการอุตสาหกรรมอาหาร ปีงบประมาณ 68 ตามนโยบาย รมว.เอกนัฏ
กรุงเทพฯ 21 กุมภาพันธ์ 2568 – นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้รับมอบหมายจาก นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 2/2568 พร้อมด้วยคณะกรรมการจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยมี นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานคณะที่ปรึกษาด้านนโยบายของนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เป็นประธานการประชุม ณ วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ การประชุมในครั้งนี้ ได้มีการติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการภายใต้อุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์เป้าหมายที่ได้รับจัดสรรงบกลาง ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) และคณะอนุกรรมการด้านอาหาร ได้รายงานผลการดำเนินการขับเคลื่อน "โครงการหนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย" ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการตามนโยบาย One Family One Soft Power : OFOS ที่มุ่งเน้นส่งเสริมและเพิ่มทักษะให้ผู้ที่สนใจสามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้โดยปัจจุบ้นอยู่ระหว่างดำเนินงาน และ “โครงการพัฒนาร้านอาหารเชฟชุมชน อาหารถิ่นอาหารไทย” ที่ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งผลจากการดำเนินงานส่งผลให้มีผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารในท้องถิ่นเพิ่มขึ้น จำนวน 42 ร้าน ผู้ประกอบการ จำนวน 163 คน และขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำแผนการดำเนินงานโครงการตามงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2568 จำนวน 4 โครงการ ได้แก่ โครงการยกระดับหนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย โครงการพัฒนาร้านอาหารเชฟชุมชน อาหารถิ่นอาหารไทย โครงการยกระดับศูนย์นวัตกรรมอาหารชุมชน และโครงการส่งเสริมการใช้นวัตกรรมยกระดับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มไทยสู่ตลาดโลกอย่างยั่งยืน มุ่งหวังเพื่อให้เกิดการสร้างรายได้ให้ชุมชน และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำอย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ที่มุ่งเน้น “ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส” ต่อมา “ดีพร้อม” และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านแฟชั่น ได้รายงานผลการดำเนินการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแฟชั่น จำนวน 2 โครงการ คือ โครงการการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในอุตสาหกรรมแฟชั่น และโครงการการส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าแฟชั่นไทยสู่สากล ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จ และเกิดผลสำเร็จอย่างล้นหลาม โดยจากโครงการ ส่งผลให้บุคลากรในอุตสาหกรรมแฟชั่นใน 4 สาขา ได้แก่ 1) เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย (Apparel) 2) อัญมณีและเครื่องประดับ (Jewelry) 3) หัตถอุตสาหกรรม (Craft) และ 4) ผลิตภัณฑ์ความงาม (Beauty)ได้รับการยกระดับองค์ความรู้ความสามารถ ทักษะ และเทคนิคในด้านต่าง ๆ จนสามารถนำไปต่อยอดประกอบอาชีพได้กว่า 2,037 คน ทั้งนี้ ได้มีการพัฒนาและจัดทำหลักสูตรการเรียนรู้ออนไลน์ (E-Learning) จำนวน 10 หลักสูตร เพื่อกระตุ้นให้เกิดบุคลากรในอุตสาหกรรมแฟชั่นมากขึ้น ตลอดจนมีการส่งเสริมการนำอัตลักษณ์ที่เป็นทุนทางวัฒนธรรมมาต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์แฟชั่นให้มีมูลค่าเพิ่มเพื่อยกระดับสู่การเป็นแบรนด์ระดับสากล รวมทั้งการขยายโอกาสทางการตลาดให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแฟชั่น ผ่านการฝึกอบรมด้านการสร้างภาพลักษณ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อยกระดับสู่การเป็น Hero Brand ระดับสากล อีกกว่า 50 กิจการ ทั้งนี้ คณะกรรมการได้ร่วมกันพิจารณาในประเด็นสำคัญต่าง ๆ อาทิ การสนับสนุนการดำเนินโครงการตามนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาล โดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อนำเสนอแก่ กสทช. ในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณสนับสนุน รวมถึงประเด็นแนวทางการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทย บน THACCA Platform ทั้งเว็บไซต์ THACCA และระบบ OFOS Portal นอกจากนี้ คณะกรรมการได้มีการแต่งตั้งและเพิ่มบุคลากรในคณะอนุกรรมการ และคณะทำงานด้านต่าง ๆ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนแผนการดำเนินงานในภาพรวมซอฟต์พาวเวอร์ และในแต่ละสาขาอุตสาหกรรมที่กำลังจะจัดขึ้นให้สามารถดำเนินไปได้อย่างเป็นรูปธรรม จนเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และผลักดันเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
24 ก.พ. 2025
“อธิบดีณัฏฐิญา” ประชุมบอร์ดเงินทุนหมุนเวียนฯ “DIPROM PAY” เคาะแผนบริหารความเสี่ยงเงินทุนดีพร้อมเปย์ เตรียมติวเข้มหน่วยปฏิบัติทั่วทุกภูมิภาค
กรุงเทพฯ 19 กุมภาพันธ์ 2568 - นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย ครั้งที่ 1/2568 พร้อมด้วย นางดวงดาว ขาวเจริญ และ นายสุรพล ปลื้มใจ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ผู้แทนจากกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ คณะกรรมการบริหารเงินทุนหมุนเวียนฯ และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 3 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Headquarter) และในรูปแบบออนไลน์ผ่านระบบ Zoom Meeting การประชุมในครั้งนี้ ได้มีการพิจารณาเรื่องสืบเนื่องเกี่ยวกับแนวทางการตรวจสอบติดตามการดำเนินงานของทุนหมุนเวียนฯ ของ 12 หน่วยปฏิบัติ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ซึ่งกลุ่มตรวจสอบภายใน (ตสน.) มีการกำหนดรูปแบบการตรวจสอบออกเป็น 2 รูปแบบ คือ การลงพื้นที่ตรวจสอบและการตรวจสอบผ่านเอกสาร โดยคำนึงถึงหลักการตรวจสอบที่ครบถ้วน ครอบคลุมตั้งแต่ด้านการเงิน การบัญชี การติดตามเร่งรัดหนี้สิน การให้บริการสินเชื่อ รวมถึงการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามระเบียบและแนวทางที่เกี่ยวข้อง โดยประธานคณะกรรมการฯ ได้มอบหมายให้นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หารือศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศดีพร้อม เพื่อหาแนวทางการเชื่อมโยงฐานข้อมูลของเงินทุนหมุนเวียนฯ กับงานตรวจสอบภายใน เพื่อให้เป็นฐานข้อมูลเดียวกัน ซึ่งจะทำให้สะดวกในการบริหารจัดการ รวมถึงง่ายต่อการกำกับติดตามการดำเนินงาน สอดรับตามนโยบาย “ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส” ของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมกันนี้ คณะกรรมการบริหารฯ ยังมีการพิจารณาประเด็นการทบทวนคู่มือและการจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงของเงินทุนหมุนเวียนฯ ประจำปีบัญชี พ.ศ. 2568 โดยฝ่ายเลขานุการฯ ได้นำเสนอกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูล และกำหนดกิจกรรมเพื่อควบคุมความเสี่ยงที่ทำให้ไม่สามารถบรรลุตัวชี้วัดที่กำหนดได้ในปีบัญชี พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา ได้แก่ การรับชำระคืนเงินต้น การลดหนี้ค้างชำระทั้งที่ไม่เกิน 1 ปี และการลดหนี้ค้างชำระที่เกิน 1 ปี ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ วิเคราะห์ข้อมูลและนำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่จะเป็นกลไกในการดึงดูดผู้ประกอบการที่มีศักยภาพมาเป็นลูกค้ารายใหม่ เพื่อช่วยสร้างสมดุลในการบริหารจัดการหนี้ รวมถึงดำเนินการศึกษาแนวทางการจัดทำมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีความสามารถในการชำระหนี้ลดลง และลดโอกาสการเกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-performing Loan: NPL) ของทุนหมุนเวียนอีกด้วย นอกจากนี้ คณะกรรมการบริหารฯ ยังมีการพิจารณากำหนดเกณฑ์การประเมินผลการดำเนินงาน เพื่อนำมาใช้เป็นตัวชี้วัดการปฏิบัติงานของผู้บริหารทุน คือ เลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 – 11 และผู้อำนวยการกลุ่มบริหารเงินทุน โดยฝ่ายเลขานุการฯ ได้นำเสนอกรอบตัวชี้วัดการปฏิบัติงานของผู้บริหารทุน ประจำปีบัญชี พ.ศ. 2568 โดยมุ่งเน้นในส่วนของเกณฑ์วัดผลการดำเนินงานของผู้บริหารทุนจำนวน 4 ด้านประกอบด้วย ด้านการเงิน การสนองประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การปฎิบัติการ และการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล/กระทรวงการคลัง เพื่อให้เกิดความสำเร็จในการดำเนินงานเงินทุนหมุนเวียนฯ และเป็นแหล่งทุนในการสนับสนุนให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสอดรับกับนโยบาย “ดีพร้อมคอมมูนิตี้ ที่นี่มีแต่ให้” ที่มีกลไกการดำเนินงานผ่านกลยุทธ์ 4 ให้ 1 ปฏิรูป อีกด้วย
24 ก.พ. 2025
EMPOWERING สร้างพลังธุรกิจ พลิกโฉม SME MODERN SME
The Art of Selling เทคนิคการขายพิชิตใจลูกค้าด้วย Persona ดำเนินการโดย : กองพัฒนาขีดความสามารถธุรกิจอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดประตูสู่ความสำเร็จในการขาย เข้าใจลูกค้าอย่างลึกซึ้ง เข้าถึงให้ตรงจุด และปิดการขายได้อย่างมืออาชีพ โดย ผศ.ดร.ดวงสมร มะโนวรรณ ผู้เชี่ยวขาญทางด้านกลยุทธ์ ด้านการตลาด ด้านการจัดการธุรกิจและการเงิน และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในการพัฒนาศรษฐกิจ กำหนดการ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 09.00 - 16.00 น. โรงแรมเซ็นจูรี่ ปาร์ค กรุงเทพมหานคร รับด่วน จำนวนจำกัด วันนี้ ถึง 26 กุมภาพันธ์ 2568 หรือจนกว่าจะเต็ม สำหรับผู้ประกอบการและพนักงาน SME ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย เข้าร่วมอบรมและทำกิจกรรมครบตามที่กำหนด รับประกาศนียบัตร จากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม คุณปราวค์ฉาย (09 8791 4149)
21 ก.พ. 2025
อธิบดีณัฏฐิญา นำทีมดีพร้อม ร่วมคณะ รมว.เอกนัฏ ล่องใต้ตรวจราชการ ลุยยกระดับเศรษฐกิจฐานราก เน้นตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ชุมชน หวังกระตุ้น GDP ระดับพื้นที่
จ.สุราษฎร์ธานี 17 กุมภาพันธ์ 2568 - นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมลงพื้นที่ตรวจราชการกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย (ชุมพร นครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษฎร์ธานี และสงขลา) ในโอกาสการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2568 โดยมี นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เกียรตินำคณะฯ พร้อมด้วย ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม นางดวงดาว ขาวเจริญ และ นายสุรพล ปลื้มใจ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมจากส่วนกลางและในพื้นที่ภาคใต้ ณ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมจักสานกระจูดบ้านห้วยลึก อ.พุนพิน โดยมี นายบันดาล สถิรชวาล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวต้อนรับ และ นางพัชรี จิรดิลก ประธานกลุ่มฯ ให้การต้อนรับ พร้อมทั้งสรุปภาพรวมการดำเนินงานและนำเยี่ยมชมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนดังกล่าว นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่ตรวจราชการว่า กระทรวงอุตสาหกรรม มุ่งมั่นที่จะ “ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส” และวางรากฐาน สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนในพื้นที่ ด้วยการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรด้วยการนำวัตถุดิบในท้องถิ่นมาแปรรูปในเชิงอุตสาหกรรม การผนวกนวัตกรรมเข้ากับวิถีชุมชน เพื่อก้าวไปสู่การเป็นเกษตรอุตสาหกรรม นำเอาภูมิปัญญามาต่อยอดผ่านการใช้ความคิดสร้างสรรค์จนทำให้เกิดเป็นธุรกิจ สร้างอาชีพและรายได้ให้ชุมชน รวมทั้งเป็นการส่งเสริมการพัฒนาและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้สินค้าไทยเป็นซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) นำไปสู่การผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของตลาดภายใต้แนวทาง “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ซึ่งเป็นการกระจายความเจริญสู่ระดับพื้นที่ สร้างความสามารถในการเติบโตในตลาดโลก ตลอดจนสร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจชุมชนไทยต่อไป สำหรับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIPROM)ได้เข้าไปส่งเสริมและพัฒนากลุ่มวิสาหกิจฯ ในการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเส้นใยชีวภาพ ด้วยการนำเทคโนโลยีการปรับปรุงเส้นใยกระจูดที่สามารถป้องกันเชื้อรา การเพิ่มความทนทานให้เส้นใย และการใช้เทคโนโลยีการขึ้นรูปเส้นใยกระจูดเป็นแผ่นเคลือบ ซึ่งสามารถนำไปใช้แทนวัสดุประเภทหนังเทียม เพื่อทำของใช้และของตกแต่งได้ และเกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่หลากหลาย ส่งผลให้ยอดขายเพิ่มขึ้นจากเดิมไม่น้อยกว่าร้อยละ 15.90 ต่อปี นอกจากนี้ ยังให้บริการด้านเงินทุนหมุนเวียน ดีพร้อมเปย์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเส้นใยชีวภาพ โดยการประยุกต์ใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ด้วยการนำเส้นใยกระจูดที่เหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตมาวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากของเหลือทิ้งให้สามารถกลับมาใช้ประโยชน์ได้ ภายใต้นโยบาย “ดีพร้อมคอมมูนิตี้ ที่นี่มีแต่ให้” ผ่าน กลยุทธ์ 4 ให้ 1 ปฏิรูป ที่มุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการและวิสาหกิจไทยเดินหน้าเติบโตอย่างยั่งยืน รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ในพื้นที่และส่งเสริมให้อุตสาหกรรมดีอยู่คู่ชุมชน ทั้งนี้ กลุ่มวิสาหกิจดังกล่าว เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากเส้นใยกระจูด อาทิ กระเป๋า ของใช้ของตกแต่ง โดยนำภูมิปัญญาผนวกกับพืชพื้นถิ่นที่มีอยู่เดิม นำมาต่อยอดและพัฒนาออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ประยุกต์ให้เข้ากับยุคสมัยและใช้งานได้หลากหลายตรงความต้องการของลูกค้า มีคุณภาพและได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) จนเป็นสินค้า OTOP ระดับประเทศ อีกทั้ง ยังมีการขยายตลาดเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันมีสัดส่วนตลาดภายในประเทศร้อยละ 80 แบ่งเป็นค้าส่ง ร้อยละ 60 และค้าปลีก ร้อยละ 20 สำหรับตลาดต่างประเทศ มีสัดส่วนร้อยละ 20 โดยมีตลาดส่งออก อาทิ สวีเดน ญี่ปุ่น เกาหลี เป็นต้น ซึ่งตลาดข้างต้นถือว่าเป็นตลาดหลักที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี
21 ก.พ. 2025
พิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) กลับสาธารณรัฐประชาชนจีน ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง
15 กุมภาพันธ์ 2568 - นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการดำเนินโครงการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) เป็นประธานในพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร การนี้ สมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ไทย และท่านจง ซิ่ง รองประธานพุทธสมาคมจีน เป็นประธานสงฆ์ฝ่ายจีน ในโอกาสนี้ นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้ นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เข้าร่วมพิธีดังกล่าว โดยมี นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พลอากาศตรีสุพิชัย สุนทรบุระ รองเลขาธิการพระราชวัง นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ข้าราชการ ผู้แทนส่วนราชการ และประชาชน เข้าร่วมพิธีดังกล่าวด้วย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) จากสาธารณรัฐประชาชนจีนมาประดิษฐานเป็นการชั่วคราวในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2568 จนถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 รวมระยะเวลา 73 วัน เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม ๒๕๖๗ และเป็นการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 50 ปี แห่งความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน โดยมีประชาชนทั่วประเทศเดินทางเข้าร่วมสักการะพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ตลอด 73 วัน จำนวนทั้งสิ้น 2,993,737 คน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมถึงความสำเร็จของพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) หลังจากประดิษฐานเป็นการชั่วคราวในประเทศไทยครบ 73 วัน จนถึงการอัญเชิญกลับสู่สาธารณรัฐประชาชนจีนว่า เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญที่แสดงถึงสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างสองประเทศที่ยาวนานกว่า 50 ปี โดยระบุว่า "ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงสายใยแห่งศรัทธาและมิตรภาพของทั้งสองประเทศ" พร้อมเน้นย้ำว่าความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและจีนจะยังคงเป็นไปอย่างมั่นคงและยั่งยืนตลอดไป พิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) กลับคืนสู่สาธารณรัฐประชาชนจีน เริ่มขึ้นตั้งแต่เวลา 06.00 น. โดยมีคณะสงฆ์จากไทยและจีน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารจากทั้งสองประเทศเข้าร่วมในพิธี ท่ามกลางพุทธศาสนิกชนที่เดินทางมาร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก ภายในพิธีมีการถวายพวงมาลัย การสวดเจริญพระพุทธมนต์ และประกอบพิธีส่งมอบพระบรมสารีริกธาตุอย่างสมเกียรติ การอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) มาประดิษฐานในประเทศไทยครั้งนี้ ไม่ได้เป็นเพียงการแสดงออกถึงความศรัทธาร่วมกันในพระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่ยังเป็นสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพและความร่วมมือทางวัฒนธรรมที่สืบทอดมายาวนาน และจะยังคงดำเนินต่อไปอย่างยั่งยืนในอนาคต
21 ก.พ. 2025
เชิญเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อยกระดับสถานประกอบการเข้าสู่มาตรฐาน เพิ่มศักยภาพการแข่งขันในอุตสาหกรรมและเพิ่มประสิทธิภาพในการค้า
เชิญผู้ที่สนใจสมัครเข้าร่วมกิจกรรม การยกระดับผู้ประกอบการสมุนไพรเข้าสู่มาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice) ดำเนินงานโดย : กองพัฒนาขีดความสามารถธุรกิจอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) วิสาหกิจชุมชนหรือ OTOP ในสาขาอุตสาหกรรม เกษตรแปรรูปหรือสมุนไพร (ไม่ใช่อาหาร) อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปหรือเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ชงดื่ม กลุ่มเป้าหมาย ภาคการค้า การผลิต หรือการบริการ ในเขตพื้นที่ กรุงเทพมหานคร / นนทบุรี /ปทุมธานี / สมุทรปราการ /สมุทรสาคร/ สมุทรสงคราม /นครปฐม / ราชบุรี / เพชรบุรี/ พระนครศรีอยุธยา / สระบุรี /อ่างทอง / สิงห์บุรี / ชัยนาท /นครสวรรค์ / เชียงใหม่ / ลำพูน / ฉะเชิงเทรา / ชลบุรี / ระยอง / ปราจีนบุรี / นครนายก / นครราชสีมา / ศรีสะเกษ / สุรินทร์ / อุบลราชธานี / ขอนแก่น / หนองบัวลำภู / อุดรธานี และจังหวัดอื่น ๆ ที่ใกล้เคียง สิ่งที่ท่านจะได้รับ ประเมิน วินิจฉัย วิเคราะห์สถานประกอบการ ฝึกอบรมบุคลากรของสถานประกอบการ การให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ ไม่น้อยกว่า 5 ครั้ง เตรียมยื่นขอรับรองมาตรฐาน GMP รับสิทธิพิเศษในการขอยื่นหนังสือรับรองระบบมาตรฐาน GMP/GHP รับสมัครตั้งแต่วันนี้ - 24 ก.พ. 68 รับจำนวนจำกัด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม คุณศิลา ผู้ประสานงานกิจกรรม 08 3514 5260
21 ก.พ. 2025
“เอกนัฏ” ปาฐกถาพิเศษ FTI EXPO 2025 เสริมพลังอุตสาหกรรมไทย เพื่ออนาคตไทยที่ยั่งยืน
15 กุมภาพันธ์ 2568 - นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ แนวทางการปฏิรูปภาคอุตสาหกรรมไทยสู่อนาคต ในงาน FTI EXPO 2025 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “EMPOWERING THAI INDUSTRY, ELEVATING THAILAND’S FUTURE เสริมพลังอุตสาหกรรมไทย เพื่ออนาคตไทยที่ยั่งยืน” โดยมี นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย คณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะผู้บริหารสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้การต้อนรับ ณ Hall 5-8 ชั้น LG ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ รัฐมนตรีฯ เอกนัฏ กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความพร้อมและมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่สำคัญในภูมิภาคเอเชีย มีพื้นที่เศรษฐกิจ EEC พื้นที่การนิคมอุตสาหกรรมเป็นแรงผลักดันสำคัญในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และที่สำคัญมีสภาอุตสาหกรรมที่ช่วยผลัดดันภาคอุตสาหกรรมไทยก้าวสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ที่ทันสมัย และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว ปัญหาท้าทายภาคอุตสาหกรรมไทยในปัจจุบัน เช่น ปัญหาการเผาอ้อย จับสินค้าเถื่อนไม่ได้มาตราฐาน กระทรวงอุตสาหกรรมได้ใช้มาตราการอย่างเต็มที่เพื่อแก้ไขปัญหา แต่วันนี้ภารกิจที่กระทรวงอุตสาหกรรมเผชิญต้องได้ร่วมมือกับทางสภาอุตสาหกรรมในการปฏิรูปอุตสาหกรรม ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี Ai ปัญญาประดิษฐ์มาแก้ไขปัญหา และส่งเสริมสนับสนุนภาคเอกชนให้สามารถประกอบกิจการได้อย่างสะดวกและมีความรับผิดชอบ ในอนาคตกระทรวงอุตสาหกรรมจะนำเทคโนโลยี Ai ปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในกระบวนการออกใบอนุญาต ให้มีความโปร่งใส มีความสะดวกมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้ปลดล็อก“โซลาร์รูฟท็อป” โดยผู้ประกอบการหรือประชาชนไม่ต้องขอใบอนุญาต รง.4 เพื่ออำนวยความสะดวกและส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดในทุกภาคส่วน ปัจจุบันกระทรวงอุตสาหกรรมผลักดัน พรบ.กากอุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นกฎหมายสำคัญในการจัดการและแก้ไขปัญหากากอุตสาหกรรมในประเทศไทยที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน “กระทรวงอุตสาหกรรมและทุกภาคส่วนยินดีสนับสนุนผู้ประกอบการไทยอย่างเต็มที่เพื่อให้ทุกธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน กระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมที่จะปรับแก้ไขใช้เทคโนโลยีสร้างความสะดวกและโปร่งใส เตรียมความพร้อมให้ SME ไทยขยายตลาดสู่ต่างประเทศ ปฎิรูปอุตสาหกรรมไทยด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้เข้มแข็งและยั่งยืน“ รัฐมนตรีฯ เอกนัฏ กล่าวปิดท้าย
21 ก.พ. 2025
“อธิบดีณัฏฐิญา” แท็คทีมดีพร้อม ประชุมชี้แจงแนวทางการประเมินการทำงานฯ ปี 68 สร้าง “ดีพร้อมคอมมูนิตี้” เน้นปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ร่วมดัน GDP ตามนโยบาย รมว.เอกนัฏ
กรุงเทพฯ 11 กุมภาพันธ์ 2568 - นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานการประชุมชี้แจงแนวทางและรูปแบบการติดตาม การประเมินผลและการประเมินความคุ้มค่าการดำเนินงานโครงการของ กสอ. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ร่วมด้วย นางสุชาดา โพธิ์เจริญ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นางดวงดาว ขาวเจริญ นายสุรพล ปลื้มใจ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIPROM) และคณะที่ปรึกษาจาก บริษัท ทริส คอร์ปอเชั่น จำกัด ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 3 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Headquarter) พระรามที่ 6 ราชเทวี และในรูปแบบออนไลน์ผ่านระบบ Zoom Meeting การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อชี้แจงแนวทางและรูปแบบการติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการ/กิจกรรม กสอ. ปี 2568 และเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ดีพร้อม โดยการติดตามและประเมินผลฯ ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินงานให้ได้ผลผลิต ผลลัพธ์ตรงตามวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพและมีประโยชน์ที่สมดุลกับทรัพยากรที่ใช้ พร้อมทั้งดำเนินการวิเคราะห์และประเมินผลปัจจัยที่ทำให้เกิดความคุ้มค่าทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจและนโยบายของดีพร้อม และแผนยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง สำหรับปี 2568 ดีพร้อม มีแนวทางการพัฒนาผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรมผ่าน 6 กลไกสำคัญ คือ 1) การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก 2) การนำเทคโนโลยี ดิจิทัล นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์มาประยุกต์ใช้ 3) การสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน 4) การเชื่อมสิทธิประโยชน์ 5) การเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตร และ 6) การผลักดันธุรกิจสู่สากล ภายใต้นโยบาย “ดีพร้อมคอมมูนิตี้ ที่นี่มีแต่ให้” ผ่านกลยุทธ์ 4 ให้ 1 ปฏิรูป ได้แก่ 1) ให้ทักษะใหม่ 2) ให้เครื่องมือที่ทันสมัย 3) ให้โอกาสโตไกล 4) ให้ธุรกิจไทยที่ดีคู่ชุมชน และปฏิรูปดีพร้อม ซึ่งดีพร้อมคอมมูนิตี้นี้ จะสามารถช่วยให้ผู้ประกอบการปรับตัวให้ทันต่อเศรษฐกิจยุคใหม่ เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ และกระตุ้นเศรษฐกิจเชิงบวกในหลายมิติ ทั้งระดับพื้นที่และระดับประเทศ สอดรับกับการปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ "สู้ เซฟ สร้าง ปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย” พร้อมร่วมผลักดัน GDP ให้เพิ่มขึ้นอีก 1% ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ โดยดีพร้อมได้มอบหมายให้ บริษัท ทริส คอร์ปอเรชั่น จํากัด เป็นที่ปรึกษาในการดำเนินการติดตามและประเมินผลดังกล่าว ซึ่งจะมุ่งเน้นถึงความสอดคล้องและเชื่อมโยงกับนโยบายประเทศ นโยบายกระทรวงฯ การดำเนินงานที่สะท้อนความก้าวหน้าในการสนับสนุนแผนประเทศและบทบาท กสอ. ในการพัฒนาอุตสาหกรรมและส่งเสริมผู้ประกอบการตั้งแต่ต้นน้ำ – ปลายน้ำ รวมถึงความสอดคล้องการพัฒนาผู้ประกอบการเชิงพื้นที่และความต้องการของตลาดและรูปแบบการทำธุรกิจในอนาคต โดยในปีนี้ทางทีมที่ปรึกษาฯ จะเพิ่มเครื่องมือสำหรับการประเมินผลฯ จากเดิมที่ใช้เครื่องมือประเมินผล CIPPi Model เพียงอย่างเดียว แต่ด้วยข้อจำกัดในการประเมินฯ มีขอบเขตที่แคบ ทำให้เพิ่มเครื่องมือ OECD ในการประเมิน โดยเพิ่มเติมในส่วนของความยั่งยืนและความคุ้มค่าเข้ามา เพื่อให้ครอบคลุมทุกลักษณะการดำเนินงานของ กสอ. อันจะสะท้อนให้เห็นผลกระทบครอบคลุมทุกมิติ ทั้งนี้ ดีพร้อมมีแผนการดำเนินงานโครงการ/กิจกรรมต่าง ๆ ประกอบด้วย 9 แผนงาน และมีโครงการที่เป็น Flag Ship จำนวน 3 โครงการ อีกทั้ง ยังมีโครงการที่สำคัญตามนโยบายรัฐบาล คือ โครงการ Soft Power ทั้งสาขาอาหารและสาขาแฟชั่น โดยมีเป้าหมายพัฒนาผู้ประกอบการในปี 2568 กว่า 23,500 ราย และคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 8,500 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย
21 ก.พ. 2025
“ดีพร้อม" นำทีมร่วมประชุมบอร์ดจัดงานรางวัลอุตสาหกรรม 68 เพื่อส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมและเอสเอ็มอีที่ประกอบการดี ตามนโยบาย รมว.เอกนัฏ
กรุงเทพฯ 11 กุมภาพันธ์ 2568 - นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการจัดงานรางวัลอุตสาหกรรมประจำปี พ.ศ. 2568 ครั้งที่ 1 พร้อมด้วย นายศุภกิจ บุญศิริ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายเดชา จาตุธนานันท์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการ กระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นางดวงดาว ขาวเจริญ และนายสุรพล ปลื้มใจ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้บริหารหน่วยงานเอกชน คณะทำงาน ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ดีพร้อม เข้าร่วม ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 2 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม การประชุมครั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้เห็นชอบ (ร่าง) คำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานชุดต่าง ๆ ประกอบด้วย คณะทำงานพิจารณาคัดเลือกอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม อุตสาหกรรมดีเด่น และอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2568 คณะทำงานพิจารณากลั่นกรองรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี พ.ศ. 2568 และคณะทำงานจัดงานรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี พ.ศ. 2568 พร้อมให้ผู้แทนคณะทำงานแต่ละประเภทรางวัลนำเสนอองค์ประกอบคณะและชี้แจงหลักเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี พ.ศ. 2568 ทั้ง 14 ประเภทรางวัล ได้แก่ ประเภทรางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม 1 รางวัล ประเภทรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 9 รางวัล และประเภทรางวัลอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมดีเด่น 4 รางวัล โดยมุ่งเน้นให้เฟ้นหาผู้ประกอบการที่ดี ปฏิบัติตามแนวทางการปรับอุตสาหกรรมเข้าสู่วิถีใหม่ ภายใต้กรอบแนวคิดและทิศทางการทำงานตามนโยบาย “MIND” ของกระทรวงอุตสาหกรรม และสอดรับกับนโยบาย “ปฏิรูปอุตสาหกรรมไทยสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส” ของ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้ให้ข้อเสนอแนะแก่คณะทำงานเกี่ยวกับการคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ การเพิ่มความชัดเจนในหลักเกณฑ์การคัดเลือกแต่ละประเภทรางวัล การเปิดกว้างแก่ผู้สมัครรายใหม่เพื่อเป็นการส่งเสริมสถานประกอบการต้นแบบ การเข้มงวดกับคุณสมบัติของผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกรางวัลฯ เพื่อให้ได้สถานประกอบการที่ดีและสามารถเป็นต้นแบบให้แก่สถานประกอบการอื่น ๆ ต่อไป ตลอดจนเน้นย้ำให้กำหนดระยะเวลาในแผนการดำเนินงานให้เหมาะสมและสอดคล้องกับกิจกรรมต่าง ๆ ด้วย นอกจากนี้ ผู้แทนจาก บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด (โรงงานเกตเวย์) ในฐานะทูตอุตสาหกรรมภาคเอกชน หรือ MIND Ambassador ประจำปี 2567 ได้กล่าวเพิ่มเติมในที่ประชุมว่า บริษัทฯ กำลังทำหน้าที่เป็นต้นแบบของการเจริญเติบโตทางธุรกิจควบคู่กับการพัฒนาที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคม ให้เป็นไปอย่างสมดุลตามแนวทางที่วางไว้ ซึ่งจากการเข้าร่วมคัดเลือกรางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม ประจำปี 2567 ที่ผ่านมา ทำให้บริษัทฯ มีการเตรียมตัวเพื่อให้เกิดความพร้อมอย่างรอบด้าน โดยมีการแก้ปัญหาในเรื่องที่เป็นจุดอ่อนและเสริมศักยภาพทุกหน่วยอย่างเป็นระบบ ทำให้องค์กรพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังเห็นว่าสถานประกอบการที่ได้รับรางวัล ควรรักษามาตรฐานของรางวัลและพัฒนาให้ดีขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อตนเองและเป็นเอสเอ็มอีต้นแบบได้ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเสริมแกร่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทยให้เติบโตได้ไกลในระดับสากล
21 ก.พ. 2025