“อธิบดีณัฏฐิญา” ระดมทีมดีพร้อม รับฟังความเห็นจากภาคเอกชน เพื่อหาแนวทางรับมือการขึ้นภาษีสหรัฐฯ เน้นตรวจสอบแหล่งกำเนิดในไทย ป้องกันการสวมสิทธิส่งออก พร้อมเซฟ ผปก.ไทย ให้ปรับตัวทุกมิติ ตามนโยบาย รมว.เอกนัฏ
กรุงเทพฯ 23 เมษายน 2568 - นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานการประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรมไทยที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการขึ้นภาษีของประเทศสหรัฐอเมริกาต่อไทย ร่วมด้วย นายสุรพล ปลื้มใจ และ นายดุสิต อนันตรักษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาพันธ์สมาคมอุตสาหกรรมสนับสนุน สมาคมสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย สถาบันยานยนต์ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIPROM) ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 6 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Headquarter) ถ.พระรามที่ 6 ราชเทวี
การประชุมครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไทยที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการขึ้นภาษีของสหรัฐอเมริกาในกลุ่มประเทศที่ทำการค้าเกินดุล จำนวน 60 ประเทศ ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยที่มีผู้ประกอบการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ จำนวน 15 รายการ ใน 5 อุตสาหกรรม ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยางและผลิตภัณฑ์ยาง สินค้าเกษตร และอัญมณีและเครื่องประดับ
โดยผู้แทนจากเอกชนร่วมกันเสนอข้อคิดเห็นและสะท้อนมุมมองความต้องการที่จะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เพื่อเสริมความเข็มแข็งให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมไทย รวมถึงลดผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว อาทิ การกำหนดมาตรการ กฎหมาย และบทลงโทษอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะสาระสำคัญในกระบวนการผลิต การยืนยันแหล่งที่มาของสินค้าว่ามีแหล่งกำเนิดในไทยเพื่อป้องกันการสวมสิทธิส่งออก การกำหนดมาตรฐานสินค้าเพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าราคาถูกแต่ไม่ได้คุณภาพ การส่งเสริมและเชื่อมโยงผู้ประกอบการไทยให้สามารถเข้าถึงตลาดใหม่ ๆ การทบทวนหลักเกณฑ์ในการส่งเสริมการลงทุน เพื่อกลั่นกรองประะเภทอุตสาหกรรมจากต่างประเทศที่เข้ามาลงทุน การเป็นคนกลางเพื่อเชื่อมโยงและอำนวยความสะดวกในการเจรจาคู่ค้าทางธุรกิจในสหรัฐฯ เพื่อรักษาตลาดส่งออก รวมถึงกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อการป้องกันสินค้าจีนเข้ามาแย่งพื้นที่ส่วนแบ่งตลาดสินค้าของไทย นอกจากนี้ มีการเสนอให้รัฐบาลบูรณาการการทำงานเชิงนโยบาย รวมถึงการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ - เอกชน เพื่อปรับแผนรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ทันท่วงที ตลอดจนการสนับสนุนการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐให้มีสัดส่วนการใช้สินค้าของไทยเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ “ดีพร้อม” ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่มีบทบาทและภารกิจในการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไทย จะเร่งนำข้อมูลและความคิดเห็นในการประชุมฯ ไปใช้ในการกำหนดแนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไทยที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้รับผลกระทบจากการออกมาตรการดังกล่าวของสหรัฐฯ โดยการใช้กลไกและเครื่องมือต่าง ๆ ของดีพร้อม คือ 1) การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก 2) การนำเทคโนโลยี ดิจิทัล นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์มาประยุกต์ใช้ 3) การสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน 4) การเชื่อมสิทธิประโยชน์ 5) การเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตร และ 6) การผลักดันธุรกิจสู่สากล โดยใช้กลไก 4 ให้ 1 ปฏิรูป ภายใต้นโยบาย “ดีพร้อมคอมมูนิตี้ ที่นี่มีแต่ให้” ของนางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมเน้นการพัฒนาให้ผู้ประกอบการของไทยมีขีดความความสามรถและศักยภาพในการแข่งขัน พร้อมรับมือและสามารถปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในทุกมิติ สอดรับกับตามนโยบาย "สู้ เซฟ สร้าง" ภายใต้แนวทาง "ปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส" ของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มุ่งพัฒนาภาคอุตสาหกรรม ควบคู่กับการปกป้องเอสเอ็มอีไทยโดยการเสริมแกร่งห่วงโซ่อุปทาน และสร้างโอกาส และความเท่าเทียมในการแข่งขัน เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน