ก.อุตฯ เยี่ยมชม "กะละแมทูลใจ" นครพนม ขึ้นแท่นของฝาก ครม. สร้างเป็น Soft Power ปั้นแบรนด์ท้องถิ่น เตรียมบุกตลาดสากล
29 เมษายน 2568 นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายศุภกิจ บุญศิริ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายกฤศ จันทร์สุวรรณ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายสุรพล ปลื้มใจ และ นายดุสิต อนันตรักษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมวิสาหกิจชุมชนกะละแมทูลใจ (เฮง เฮง กะละแม) จังหวัดนครพนม กะละแมสูตรโบราณของพื้นที่ ซึ่งได้รับคัดเลือกให้เป็นสินค้าพื้นถิ่นและของฝากที่ระลึกเพื่อต้อนรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ ครั้งที่ 2/2568 ที่จังหวัดนครพนม โดยมี นายธนชัย คำบ้อง รองประธานกลุ่มฯ เป็นตัวแทนเครือข่ายกะละแมธาตุพนม นำเสนอข้อมูลการดำเนินงานและนำคณะเยี่ยมชมกระบวนการผลิต ณ สถานประกอบการวิสาหกิจชุมชนกะละแมทูลใจ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม
นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม “ชื่นชมกะละแมทูลใจที่มีส่วนช่วยชุมชนในการพัฒนาเครือข่ายรับซื้อใบตองและไม้กลัด ช่วยสร้างงานและอาชีพแก่ชุมชน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมยินดีสนับสนุนโดยนำกลไก soft power มาช่วยสร้างคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์กะละแมนครพนม ค้นหาอัตลักษณ์ที่แตกต่าง เพื่อสร้างแบรนด์และเรื่องราว (Storytelling) เพื่อให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง และยังมีอีกหลายส่วนที่สามารถพัฒนาได้ เช่น การปรับปรุงเครื่องจักรที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อลดต้นทุน การประหยัดพลังงาน การปรับกระบวนการโลจิสติกต์ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง พร้อมกับการพัฒนาสุขอนามัย (Food Safety, GMP) โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์ใบตอง และบรรจุภัณฑ์อย่างอื่นที่ช่วยยืดอายุการเก็บรักษา (shelf life)ให้นานยิ่งขึ้น รวมถึงการทดสอบตลาดขายในโมเดิร์นเทรด“
นอกจากนี้ ผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ยังได้ให้คำแนะนำในการต่อยอดกะละแมแก่ผู้ประกอบการ ซึ่งที่ผ่านมา วิสาหกิจกะละแมทูลใจ ได้รับการส่งเสริมจากศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 5 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้ออกแบบพัฒนาเครื่องหยอดกะละแมกึ่งอัตโนมัติ ทำให้ช่วยลดระยะเวลาห่อบรรจุ เพิ่มรายได้ 21,000 บาท/วัน รวมทั้งเครื่องกวนกะละแมกึ่งอัตโนมัติ ทำให้ปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 50 สามารถเพิ่มมูลค่ายอดขาย 10,605 บาท/วันด้านสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครพนม ให้การสนับสนุนในเรื่องการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน และเข้าร่วมโครงการค่าใช้จ่ายแปรรูปสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม 1 จังหวัด 1 ชุมชน (OPOAI-C) พัฒนาข้าวพองไส้กะละแม และไอศกรีมกาละแม
ทั้งนี้ ”กะละแมทูลใจ“ ต้องการยืดอายุสินค้า จาก 1 สัปดาห์ เป็น 1 เดือน และต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายยิ่งขึ้น จากกะละแมรสชาติดั้งเดิม รสผลไม้ และรสผสมข้าวเม่า โดยต่อยอดขยายแบรนด์ “เฮง เฮง กะละแม” เพื่อจำหน่ายกะละแมสูตรที่แตกต่างและในรูปแบบแพคเกจจิ้งใหม่ เจาะตลาดออนไลน์และตลาดสากล โดยกะละแมทูลใจมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือ เนื้อเหนียวนุ่ม สีดำเข้ม หวานมัน ห่อด้วยใบตองรีดเตาถ่าน และกลัดด้วยไม้ไผ่เล็ก ๆ ทั้งยังสอดแทรก “ผญา” หรือคติสอนใจแบบอีสานบนบรรจุภัณฑ์ เพื่อสะท้อนรากเหง้าวัฒนธรรมท้องถิ่น
นายศุภกิจ บุญศิริ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า “กระทรวงอุตสาหกรรมโดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครพนม พร้อมเป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานกับหน่วยงานในสังกัด และให้คำปรึกษาแนะนำเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการกะละแมในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นด้านมาตรฐาน ด้านโรงงาน น้ำเสีย-ของเสีย หากมีการผลิตมากขึ้น เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ประกอบการกะละแมที่เป็นเศรษฐกิจฐานราก ก้าวสู่เกษตรแปรรูป และเป็นเกษตรอุตสาหกรรมในอนาคต”
02
พ.ค.
2025