ปลัดฯ ณัฐพล เยือนแดนบั้งไฟพญานาค ย้ำ สอจ. นำนโยบาย MIND กำกับดูแลโรงงานครอบคลุมทั้ง 4 มิติ พร้อมกำชับให้กำหนดหลักเกณฑ์ส่งเสริมการประกอบการที่ดีให้ภาคอุตสาหกรรมเติบโตอย่างยั่งยืน
จ.หนองคาย 25 สิงหาคม 2566 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นำคณะผู้บริหาร MIND ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามผลการดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับ ดูแล และส่งเสริมการประกอบการเหมืองแร่ ตามแนวอุตสาหกรรมวิถีใหม่ "เหมืองแร่ดี คู่ชุมชน" ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ พร้อมด้วยนางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายวิษณุ ทับเที่ยง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายเดชา จาตุธนานันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวณิรดา วิสุทธิชาติธาดา ผู้ช่วยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นางสุชาดา โพธิ์เจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหาร MIND โดยมีอุตสาหกรรมจังหวัดหนองคายและบึงกาฬ ให้การต้อนรับ ณ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดหนองคาย นายสุรศักดิ์ จันทร์ชุม อุตสาหกรรมจังหวัดหนองคาย นำเสนอข้อมูลอุตสาหกรรมของจังหวัดหนองคาย มีโรงงานอุตสาหกรรม 223 โรงงาน อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ เช่น อาหาร แปรรูปผลิตภัณฑ์จากไม้ ยานพาหนะและอุปกรณ์ มีเหมืองแร่ 1 เหมือง มีอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรเป็นเป้าหมายมุ่งต่อยอดสู่อุตสาหกรรมชีวภาพ ภายใต้ BCG Model โดยขณะนี้มีโรงงานลงระบบศูนย์ข้อมูลกลางกระทรวงอุตสาหกรรม (i-industry) และระบบรายงานข้อมูลกลางของกระทรวงอุตสาหกรรม (iSingleForm) ครบแล้ว 100% ส่วนในด้านนโยบาย MIND 4 มิติ บริษัท ถาวรอุตสาหกรรมยางพารา (อีสาน) จำกัด ผลิตยางแท่งเอส ที อาร์ 20 เป็นตัวอย่างของความสำเร็จในการพัฒนาปรับปรุงกระบวนการผลิต สามารถส่งออกไปยังยุโรป มีการเพิ่มประสิทธิภาพการขจัดกลิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ ได้มาตรฐาน ISO 14001 และยังมีแผนติดตั้ง Solar Rooftop เพื่อผลิตไฟฟ้า ขณะเดียวกันก็มีการสร้างงานให้ชุมชนโดยสนับสนุนช่องทางการจำหน่ายสินค้าหน้าโรงงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชนโดยรอบ นายเศรษฐา ขันติ อุตสาหกรรมจังหวัดบึงกาฬ รายงานว่า บึงกาฬมีอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่า คือ ยางและผลิตภัณฑ์ยาง รองลงมา แปรรูปไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ ผลิตยานพาหนะและอุปกรณ์ นอกจากนี้ในพื้นที่ยังมีการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราแบบครบวงจร มีการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางพารา และการนำหลัก BCG มาใช้ในโรงงาน ปัจจุบันมีโรงงานลงระบบศูนย์ข้อมูลกลางกระทรวงอุตสาหกรรม (i-industry) และระบบรายงานข้อมูลกลางของกระทรวงอุตสาหกรรม (iSingleForm) ครบทั้ง 100% โดยตัวอย่างความสำเร็จของสถานประกอบการแปรรูปยางที่ได้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิต และเฝ้าระวังกลิ่นเหม็นรอบรัศมี 5 กิโลเมตร ล่าสุดได้รับการรองมาตรฐาน ISO 45001 มีการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ และปลูกต้นไม้ในโรงงานถึง 23% เพื่อป้องกันฝุ่นและกลิ่น และมีการรับซื้อยางพาราจากเกษตรกรในพื้นที่กว่า 13.5 ล้านบาทต่อปี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบนโยบายด้านการแก้ไขข้อร้องเรียน ควรวางแนวทางหรือปรับปรุงมาตรฐาน เงื่อนไข พร้อมกำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้ประกอบการถือปฏิบัติ ส่วนเรื่องนโยบาย MIND เน้นย้ำให้ สอจ. กำกับดูแล สร้างความเข้าใจกับโรงงานในพื้นที่ให้ครอบคลุมทั้ง 4 มิติ มุ่งสร้างความสำเร็จให้ภาคธุรกิจ ดูแลสังคมโดยรอบ การรักษาสิ่งแวดล้อม และกระจายรายได้ให้ประชาชน เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมมีการเติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ในด้านความรับผิดชอบต่อสังคมควรนำแนวทาง "อุตสาหกรรมรวมใจ ดูแลสิ่งแวดล้อม 4 ด้าน" ไปปรับใช้ ดังนี้ "ดิน" การดูแลกากอุตสาหกรรม โดยควบคุมอย่างเข้มงวดไม่ให้มีการลักลอบทิ้ง "น้ำ" การดูแลแม่น้ำลำคลอง ไม่ให้มีการระบายน้ำเสียออกสู่แม่น้ำลำคลอง "ลม" การดูแลอากาศ ฝุ่นละออง มุ่งกำกับดูแลการเผาอ้อย ควบคู่การส่งเสริมการตัดอ้อยสด เพื่อลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 และลดคาร์บอนไดออกไซด์และลดสารเรือนกระจก "ไฟ" การดูแลโรงงานไฟไหม้ โดยการกำกับตรวจสอบความปลอดภัยภายในโรงงานให้เป็นไปตามมาตรฐาน รองปลัดฯ ณัฏฐิญา ได้เสนอแนะว่า ให้พิจารณาอุตสาหกรรมเศรษฐกิจของจังหวัด โดยชี้เป้าอุตสาหกรรมที่เหมาะสม เพื่อให้จังหวัดมีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และมองหาอัตลักษณ์ของพื้นที่เพื่อพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ผู้บริโภค ส่วนในด้านการส่งเสริม SME ควรนำกลไกของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในด้านการพัฒนาการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงอุตสาหกรรม (คลัสเตอร์) มาใช้ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยางพาราในพื้นที่ ซึ่งมีโรงงานถึง 15 แห่ง และมี Supply Chain ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ อีกทั้งยังเป็นแหล่งปลูกยางพาราสูงที่สุดในภาคอีสาน จึงเหมาะกับการพัฒนาตามแนวทางคลัสเตอร์ นอกจากนี้ยังควรมีการพัฒนานวัตกรรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราให้มีมูลค่าที่สูงขึ้น ควบคู่กับการยกระดับกระบวนการผลิตให้มีมาตรฐาน หัวหน้าผู้ตรวจฯ วิษณุ กล่าวว่า เมื่อครบกำหนดการรายงานในระบบรายงานข้อมูลกลางของ อก. (iSingleForm) ขอให้มีการสรุปผลแยกเป็นหัวข้อ เช่น จำนวนโรงงานแต่ละอุตสาหกรรม ทั้งในเชิงพื้นที่ และปริมาณ เป็นต้น ผู้ตรวจฯ เดชา กล่าวว่า สอจ. ควรมีการปรับรูปแบบการดำเนินงานให้สอดคล้องกับนโยบาย MIND และให้กองยุทธศาสตร์และแผนงาน ถ่ายทอดแนวทางสู่จังหวัด เพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรมต่อไป ด้านนายทรงศักดิ์ กองทรง รองผู้อำนวยการผู้จัดการเขต 8 ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ได้รายงานผลการดำเนินงานของสำนักงานเขต 8 โดยรายงานผลการดำเนินงานตั้งแต่ 2563-2566 รายงาน Productivity ภาพรวม Outstanding PL/NPL ทั้งนี้ SME ที่ขอสินเชื่อส่วนใหญ่ประกอบกิจการ ด้านการบริการ ค้าปลีกค้าส่ง ผู้รับเหมาก่อสร้าง โรงงานน้ำตาลขนาดเล็ก เป็นต้น ในเวลาต่อมา ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมคณะ ได้ตรวจเยี่ยมสภาพปัจจุบันของบ้านพักสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดหนองคาย และเยี่ยมชมธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย สาขาหนองคาย เพื่อให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติ โดยมีเจ้าหน้าที่ ธพว.หนองคาย ร่วมให้การต้อนรับ ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน
28 ส.ค 2023
“อธิบดีใบน้อย” นำคณะสื่อมวลชน ชมความสำเร็จโตไว "แฟรนไชส์หมูสะเต๊ะ" เจ้าดังบ้านบึง
จ.ชลบุรี 26 สิงหาคม 2566 - นายใบน้อย สุวรรณชาตรี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นำคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่เยี่ยมชมบริษัท มาเธอส์ฟู้ด (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมด้วย ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ดีพร้อม โดยมี นางสาวอารดา เกียรติเสรี ให้การต้อนรับ ณ บริษัท มาเธอส์ฟู้ด (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท มาเธอส์ฟู้ด (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ผลิตสินค้าประเภทอาหารแช่แข็ง อาหารพร้อมทาน อาหารพร้อมปรุง น้ำจิ้ม น้ำซอส น้ำแกง เป็นต้น โดยมีการพัฒนาธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง จากรูปแบบร้านค้าข้างทาง สู่การเป็นธุรกิจแฟรนไชส์หมูสะเต๊ะภายใต้แบรนด์ "โอ๊ะ โอ" พร้อมขยายตลาดไปยังช่องทางต่าง ๆ เช่น Modern trade ส่งออกไปยังโรงแรมชั้นนำ ร้านอาหาร และคาเฟ่ของประเทศฮ่องกง ทั้งนี้ ดีพร้อม ได้ช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการด้านโตไว (Speed) ผ่านโครงการ DIPROM Capital Market ส่งผลให้บริษัทฯ ได้เจรจาจับคู่ธุรกิจกับบริษัทต่าง ๆ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจพัฒนาและวางระบบแฟรนไชส์มากกว่า 50 บริษัท ได้ขยายเฟรนไชส์ ให้มีจำนวนสาขาเพิ่มขึ้น และขยายตลาดเพื่อเพิ่มยอดขายให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
28 ส.ค 2023
“อธิบดีใบน้อย” นำคณะสื่อมวลชนฯ เยี่ยมชมความก้าวหน้าผู้ประกอบการอัจฉริยะ
จ.ชลบุรี 26 สิงหาคม 2566 - นายใบน้อย สุวรรณชาตรี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นำคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่เยี่ยมชมสถานประกอบการผู้ผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรม พร้อมด้วย คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) โดยมี นายพัฒนา พระไชยบุญ กรรมการผู้จัดการ ให้การต้อนรับ ณ บริษัท ไคฮะซึ เอ็นจิเนียริ่ง อำเภอบ้านบึง บริษัท ไคฮะซึ ไคเซน เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เป็นบริษัทที่ให้บริการผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมหลากหลายครบวงจร ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ภายใต้คอนเซปต์การทำงาน "เตรียมเครื่องจักรให้พร้อม คนงานพร้อม เทคโนโลยีพร้อม" การที่บริษัทฯ ยังเป็น SME ขนาด M ทำให้ที่ผ่านมาต้องประสบปัญหาด้านแรงงานที่เสียเปรียบโรงงานขนาดใหญ่และการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ดีพร้อม จึงได้เร่งการจัดตั้งและขยายธุรกิจของผู้ประกอบการอัจฉริยะ หรือ NEC DIPROM กับทางบริษัทฯ ทำให้มีการยกระดับตามนโยบายดีพร้อมโต ในด้านโตได้ (Start) เกิดศักยภาพด้านต่างๆ เพื่อพัฒนาธุรกิจ ได้แก่ ทักษะการเขียนโมเดลธุรกิจ ระบบการบริหารคุณภาพในบริษัท แนวทางพัฒนาบุคลากรที่รับนักศึกษาฝึกงานและบรรจุเป็นพนักงาน ตลอดจนการเชื่อมโยงกับแหล่งเงินทุนจาก SME D BANK ทำให้ได้เงินทุนมาพัฒนาวิจัยผลิตภัณฑ์ และซื้อเครื่องจักรที่ทันสมัย ตอบโจทย์เป้าหมายในอนาคตของบริษัทฯ ที่มุ่งมั่นจะเป็นบริษัทฯ ที่มีคุณภาพสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในทุกอุตสาหกรรมได้ในอนาคต" ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
28 ส.ค 2023
ปลัดฯ ณัฐพล ระดมหัวกะทิ MIND วางแนวทางบทบาทภารกิจ โครงสร้างการแบ่งส่วนราชการภายในของ อก.
กรุงเทพฯ 24 สิงหาคม 2566 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานการประชุมหารือการปรับปรุงบทบาทภารกิจและโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการภายในกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) โดยมีนายเอกภัทร วังสุวรรณ นายวันชัย พนมชัย นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายวิษณุ ทับเที่ยง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายวีระกิตติ์ รันทกิจธนวิชญ์ นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวณิรดา วิสุทธิชาติธาดา ผู้ช่วยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายใบน้อย สุวรรณชาตรี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายวัชรุน จุ้ยจำลอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ ร่วมประชุม ณ ห้องประชุม อก.1 ชั้น 2 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (สปอ.) และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ Zoom Meeting รองปลัดฯ ณัฏฐิญา กล่าวถึงแนวทางการแบ่งส่วนราชการมี 2 กรณี คือ กรณีที่ 1 การมอบอำนาจการแบ่งส่วนราชการภายในกรม โดยไม่เพิ่มจำนวนกอง ซึ่งประกอบด้วย 1) การจัดโครงสร้างส่วนราชการระดับกองโดยไม่เพิ่มจำนวนกองในภาพรวมของส่วนราชการ ตามกฎกระทรวง 2) การจัดหน่วยงานของราชการบริหารส่วนกลางที่ตั้งในภูมิภาคใหม่ โดยไม่เพิ่มจำนวนหน่วยงาน และ 3) การจัดหน่วยงานในต่างประเทศใหม่ โดยไม่เพิ่มจำนวนหน่วยงาน ส่วนกรณีที่ 2 การเสนอจัดตั้งหน่วยงานเพิ่มใหม่ สำหรับสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เสนอขอจัดตั้งกองบริหารทรัพยากรบุคคลเพิ่มใหม่ จำนวน 1 กอง และทบทวนภารกิจและโครงสร้างกองกลาง ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และกองกฎหมาย เพื่อให้มีค่างาน และครอบคลุมภารกิจการดำเนินงานอย่างครบถ้วนมากขึ้น หลังจากนั้น หน่วยงานในสังกัด อก. ได้รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานการปรับปรุงบทบาทภารกิจและโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการภายใน อก. ดังนี้ 1) กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เสนอการยกระดับมาตรฐานงานกำกับดูแลให้มีมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ ลดปัญหาที่เกิดจากการประกอบกิจการอุตสาหกรรม 2) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เสนอปรับบทบาทภารกิจกองพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม และเสนอจัดตั้งกองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมและศูนย์วิจัยและพัฒนาวัสดุอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ใหม่ 3) กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เสนอขอจัดตั้งสำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เขตเพิ่ม 4 เขต ได้แก่ เขต 4 ภูเก็ต เขต 5 พิษณุโลก เขต 6 สระบุรี และเขต 7 ราชบุรี 4) สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เสนอขอจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และกองอุตสาหกรรมชีวภาพ เพิ่มขึ้นใหม่ 5) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เสนอปรับปรุงภารกิจกองกำกับองค์กรด้านการมาตรฐาน กองควบคุมมาตรฐาน กองส่งเสริมและพัฒนาด้านการมาตรฐาน และศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 6) สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ยังคงภารกิจ โครงสร้าง และอัตรากำลังเท่าเดิม ส่วนภารกิจที่ต้องทบทวนร่วมกับ สปอ. คืองานความร่วมมือระหว่างประเทศ และการประชุมเจรจากับองค์การหรือหน่วยงานต่างประเทศ รวมถึงด้านอุตสาหกรรม และภารกิจเพิ่ม คือ อุตสาหกรรมเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบนโยบายว่า การปรับปรุงบทบาทภารกิจและโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการภายใน อก. หรือข้อเสนอการจัดตั้งกองทุนอุตสาหกรรม ควรวางแนวทางให้ครอบคลุมสู่การพัฒนาภาคอุตสาหกรรม และให้สอดคล้องกับการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วย และฝากเรื่องการทบทวนภารกิจและโครงสร้างกองกฎหมาย การขอเพิ่มอัตรากำลังและจัดตั้งกลุ่มสนับสนุนงานอุตสาหกรรมจังหวัดเป็นการเฉพาะเร่งด่วน เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานด้านการกำกับดูแลโรงงานได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที นอกจากนี้ยังได้เสนอแนะหน่วยงานของ กรอ. สอน. กสอ. กพร. ในการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ โดยให้เป็นการจัดหน่วยงานของราชการบริหารส่วนกลางที่ตั้งในภูมิภาค และให้มีการกำหนดภารกิจการดำเนินงานในลักษณะเฉพาะหรือตามความเชี่ยวชาญเชิงพื้นที่ เพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ส่วน สมอ. ฝากถึงการตั้งกองส่งเสริมมาตรฐานหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้บริการพัฒนาระบบการทำงานให้กับหน่วยงานภาครัฐมีมาตรฐานในระดับสากล และ สศอ. ภารกิจที่เพิ่มเข้ามา คือ อุตสาหกรรมเศรษฐกิจ หรือ กอช. อาจหาแนวทางพัฒนาสู่การเป็นสำนักงานพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติในอนาคต ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน
28 ส.ค 2023
“อธิบดีใบน้อย” ลงพื้นที่เยี่ยมชมโรงงานน้ำดื่มย่านบางละมุง
จ.ชลบุรี 25 สิงหาคม 2566 - นายใบน้อย สุวรรณชาตรี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ลงพื้นที่เยี่ยมชมสถานประกอบการผู้ผลิตน้ำดื่มรายใหญ่ พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) โดยมี นายเขมลัทธ์ พัฒนสิน ผู้จัดการฝ่ายผลิต ให้การต้อนรับและสรุปภาพรวม ณ บริษัท น้ำดื่มบางละมุง จำกัด อำเภอบางละมุง บริษัท น้ำดื่มบางละมุง จำกัด เป็นผู้ผลิตน้ำดื่มคุณภาพรายใหญ่ในพื้นที่จังหวัดชลบุรีกว่า 60 ปี ภายใต้แบรนด์ไทเกอร์ และรับจ้างผลิตแบบ OEM กว่า 400 แบรนด์ โดยที่ผ่านมาบริษัทฯ ประสบปัญหาด้านต่างๆ ได้แก่ พื้นที่คลังสินค้าไม่เพียงพอ การผลิตเกินออเดอร์ สต๊อกสินค้าคลาดเคลื่อน ได้เข้าร่วมกิจกรรมการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชน ภายใต้โครงการพัฒนาประสิทธิภาพโลจิสติกส์ภายในองค์กรของภาคอุตสาหกรรม ส่งผลให้บริษัทฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงและแก้ไขปัญหา จนทำให้สามารถลดต้นทุนที่เกิดจากปัญหาข้างต้นได้ อาทิ ลดค่าการก่อสร้างคลังสินค้าใหม่ ลดสินค้าเกินสต๊อก ลดค่าเสียโอกาสในการขาย ควบคุมสินค้าที่เกินออเดอร์ รวมลดต้นทุนได้กว่าสิบล้านบาท ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
28 ส.ค 2023
“อธิบดีใบน้อย” มอบนโยบายแก่บุคลากร เครือข่ายผู้ให้บริการธุรกิจอุตสาหกรรม
จ.ชลบุรี 25 สิงหาคม 2566 - นายใบน้อย สุวรรณชาตรี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวมอบนโยบายแนวทางการบูรณาการความร่วมมือของเครือข่ายเพื่อให้บริการแก่เอสเอ็มอีในพื้นที่ ในงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “ธุรกิจโตไว ไปกับเครือข่ายบริการ SMEs” (DIPROM SMEs Support Network Conference) พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) เจ้าหน้าที่หน่วยงานเครือข่ายให้บริการธุรกิจอุตสาหกรรม (BDSP) และผู้ให้บริการธุรกิจอุตสาหกรรม (SP) ในพื้นที่ ณ โรงแรมเซนเตอร์ พอยต์ ไพรม์ พัทยา งานดังกล่าว เป็นการขับเคลื่อนและยกระดับธุรกิจด้านโตไว (Speed) ให้กับผู้ประกอบการ ผ่านการบูรณาการความร่วมมือจากเครือข่ายพันธมิตร ได้แก่ เครือข่ายให้บริการธุรกิจอุตสาหกรรม (BDSP) และผู้ให้บริการธุรกิจอุตสาหกรรม (SP) ผ่านการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เครื่องมือ และความเชี่ยวชาญที่หลากหลาย อีกทั้ง ดีพร้อม ยังเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงการให้บริการเครือข่าย (One Stop Service) ทั่วประเทศ เพื่อรองรับการบริการแก่ผู้ประกอบการได้สะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ เช่น การให้บริการทดลองเครื่องจักร การออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ อันเป็นปัจจัยพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับวิสาหกิจ รวมทั้งเติบโตในเศรษฐกิจและสังคมโลกยุคใหม่อย่างมั่นคงต่อไป ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
28 ส.ค 2023
กระทรวงอุตฯ เสิร์ฟ “เมนูเด็ดชุมชนดีพร้อม” ปั้นเชฟชุมชน ดัน Soft Power อาหาร สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ
กรุงเทพฯ 24 สิงหาคม 2566 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานในงานเปิดตัว “โครงการยกระดับวัตถุดิบท้องถิ่นด้วย Soft Power ด้านอาหาร” ประจำปีงบประมาณ 2566 โดยมี นายใบน้อย สุวรรณชาตรี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวรายงานและให้การต้อนรับ และมีนายวัชรุน จุ้ยจำลอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ดีพร้อม) ร่วมเป็นเกียรติ และมีสื่อมวลชนเข้าร่วมงาน ณ ห้องประชุมแพรวา ชั้น 7 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Headquarter) (กล้วยน้ำไท) พระรามที่ 4 คลองเตย โครงการการยกระดับวัตถุดิบท้องถิ่นด้วย Soft Power ด้านอาหาร หรือเมนูเด็ดชุมชนดีพร้อม เป็นการมุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในสาขาอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ด้วยการนำอัตลักษณ์ หรือจุดเด่นของวัตถุดิบดั้งเดิมในท้องถิ่นมาสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยใช้แนวคิดเชิงสร้างสรรค์มาประยุกต์ต่อยอดอาหารพื้นถิ่นของแต่ละชุมชนให้เกิดความโดดเด่นและจุดขายมากยิ่งขึ้น รวมถึงการสร้างเชฟชุมชนดีพร้อม หรือผู้เชี่ยวชาญด้านอาหาร การสร้างเนื้อหาและนวัตกรรมที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่เพื่อขยายโอกาสทางการตลาด ตลอดจนการเสริมเทคนิคสรรค์สร้างรูปแบบการจัดจานให้ดูน่าสนใจ และยังนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ผสมผสานต่อยอดภูมิปัญญาและวัฒนธรรม ผนวกกับความคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้างมนต์เสน่ห์อาหารพื้นถิ่นดั้งเดิมให้กลายเป็นเมนูเด็ดชุมชนดีพร้อม 22 เมนู ที่มีคุณค่าและเกิดการสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยตั้งเป้านำร่อง 22 ชุมชนทั่วประเทศ และคาดว่าจะสามารถกระตุ้นมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นได้กว่า 25 ล้าน โดยเป็นการดำเนินงานที่ใช้นโยบาย 4 มิติ ของกระทรวงอุตสาหกรรม ในการสร้างและกระจายรายได้ให้กับประชาชน สร้างงาน สร้างอาชีพ ส่งเสริมพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นมาเป็นหลักดำเนินงาน นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมได้เยี่ยมชม pilot plant ที่มีเครื่องคัดแยกวัตถุดิบและเครื่องคัดแยกเส้นใย ซึ่งเปิดให้บริการสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการเส้นใยสำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้ และอุตสาหกรรมกระดาษ และเป็นการรองรับการให้บริการแก่อุตสาหกรรมพืชกัญชงสู่พืชเศรษฐกิจใหม่ รวมถึงอุตสาหกรรมวัสดุอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรมพืชกัญชงสู่การเป็นพืชเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมวัสดุอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตภัณฑ์อนาคตได้อย่างยั่งยืน ## PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
25 ส.ค 2023
"รสอ.วาที" ลงพื้นที่เยี่ยมชมกลุ่มศรียะลาบาติก และกลุ่มผลิตภัณฑ์สีมายา
จ.ยะลา 23 สิงหาคม 2566 - นายวาที พีระวรานุพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ลงพื้นที่เยี่ยมชมและพบปะกลุ่มศรียะลาบาติก พร้อมด้วย นางสาววรรณี พุฒแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 11 นายโดม ถนอมบูรณ์ อุตสาหกรรมจังหวัดนราธิวาส นายสมบัติ สุวรรณมณี อุตสาหกรรมจังหวัดยะลา คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) โดยมี นายปิยะ สุวรรณพฤกษ์ ผู้นำกลุ่มศรียะลาบาติก ให้การต้อนรับ ณ กลุ่มศรียะลาบาติก ตำบลสะเตง อำเภอเมืองยะลา กลุ่มศรียะลาบาติก เป็นกลุ่มที่ได้อนุรักษ์ภูมิปัญญาและกรรมวิธีการผลิตผ้าพื้นเมืองลายโบราณและต่อยอดภูมิปัญญาดั้งเดิมของชุมชน ตลอดจนการสร้างสรรค์กระบวนการผลิตผ้าบาติก ให้มีรูปแบบที่ทันสมัยเข้ากับความต้องการในตลาดปัจจุบัน รวมถึงการต่อยอดการตลาดในอนาคต นอกจากนี้ รสอ.วาที ยังได้เข้าเยี่ยมชมกลุ่มชุมชนหน้าถ้ำ ผู้ผลิตภัณฑ์ผ้าสีมายาที่ได้มีการสร้างลวดลายมัดย้อมที่เป็นเอกลักษณ์ โดยดีพร้อมได้ส่งเสริมและพัฒาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ให้กับกลุ่ม โดยการนำผ้ามาแช่ไว้ใน ‘น้ำดินมายา’ ที่ได้มาจากการสกัดดินพิเศษจากถ้ำ ทำให้เกิดอัตลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ ## PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
24 ส.ค 2023
"รสอ.วาที" ลงพื้นที่เยี่ยมชมโรงงาน Hand in Hand เพื่อการสร้างงานที่ยั่งยืนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
จ.นราธิวาส - จ.ยะลา 22 สิงหาคม 2566 - นายวาที พีระวรานุพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าของโครงการอุตสาหกรรมเพื่อการสร้างงานที่ยั่งยืนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (Hand in Hand) ร่วมด้วย นางสาววรรณี พุฒแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 11 นายโดม ถนอมบูรณ์ อุตสาหกรรมจังหวัดนราธิวาส นายสมบัติ สุวรรณมณี อุตสาหกรรมจังหวัดยะลา คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) และภาคีเครือข่าย ณ โรงงานแฮนด์อินแฮนด์ อำเภอรือเสาะ และอำเภอรามัน โครงการดังกล่าว เป็นโครงการที่ดีพร้อมบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การจัดการ และการตลาดของโรงงาน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทักษะการผลิตแรงงานการตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป ทำให้เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพ และยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในพื้นที่ รวมถึงการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อันเป็นปัจจัยในการสร้างรากฐานที่แข็งแรงให้กับเศรษฐกิจชุมชนและท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืนต่อไป ## PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
24 ส.ค 2023
“อธิบดีใบน้อย” นำประชุมบอร์ดบริหารเงินทุนหมุนเวียนฯ ครั้งที่ 5/2566 เดินหน้าเคาะ 3 แผนทำงาน ยิงยาวถึงปี 69
กรุงเทพฯ 22 สิงหาคม 2566 - นายใบน้อย สุวรรณชาตรี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารเงินทุนหมุนเวียนฯ ครั้งที่ 5/2566 พร้อมด้วย นางสุชาดา โพธิ์เจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรรมการจากหน่วยงานภาคีเครือข่าย คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 3 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Headquarter) และในรูปแบบออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชั่น Zoom Meeting การประชุมครั้งนี้ เป็นการพิจารณาแผนการดำเนินงานด้านเงินทุนหมุนเวียนฯ ทั้งหมด 3 แผน ทั้งรูปแบบแผนระยะยาว พ.ศ. 2567 – 2569 และรูปแบบแผนปฏิบัติการประจำปีบัญชี 2567 ได้แก่ 1. แผนปฏิบัติการเงินทุนหมุนเวียนฯ 2. แผนการบริหารทรัพยากรบุคคลเงินทุนหมุนเวียนฯ และ 3. แผนปฏิบัติการดิจิทัลเงินทุนหมุนเวียนฯ นอกจากนี้ ยังได้อนุมัติแผนและประมาณการรายรับรายจ่ายเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย ประจำ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ในส่วนของรายรับ-รายจ่าย และการจัดสรรประมาณการรายจ่ายประจำปีและวงเงินให้กู้ยืม ให้แก่หน่วยปฏิบัติตามความจำเป็นและความเหมาะสมภายในวงเงินประมาณการรายจ่ายประจำปีที่กระทรวงการคลังอนุมัติ ## PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
23 ส.ค 2023